วันพฤหัสบดีที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

การท่องเที่ยวจังหวัดกาฬสินธุ์

:: จังหวัดกาฬสินธุ์ ::

" ฟ้าแดดสูงยาง โปงลางเลิศล้ำ วัฒนธรรมผู้ไทย ผ้าไหมแพรวา ผาเสวยภูพาน มหาธารลำปาว
ไดโนเสาร์ สัตว์โลกล้านปี "


จังหวัดกาฬสินธุ์ :: ข้อมูลทั่วไป

กาฬสินธุ์ เป็นจังหวัดที่มีความอุดมสมบูรณ์จังหวัดหนึ่งในภาคอีสาน จากหลักฐานทางโบราณคดีบ่งบอกว่า เคยเป็นที่อยู่อาศัยของเผ่าละว้า ซึ่งมีความเจริญทางด้านอารยธรรมประมาณ 1,600 ปี จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์เริ่มตั้งเป็นเมืองในสมัยรัตนโกสินทร์ เมื่อปี พ.ศ. 2336 โดยท้าวโสมพะมิตร ได้อพยพหลบภัยมาจากดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงพร้อมไพร่พล และมาตั้งบ้านเรือนอยู่ริมน้ำปาว เรียกว่า “บ้านแก่งสำโรง” แล้วได้นำเครื่องบรรณาการเข้าถวาย สวามิภักดิ์ต่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ต่อมาได้รับพระกรุณาโปรดเกล้า ยกฐานะบ้านแก่งสำโรงขึ้นเป็นเมือง และพระราชทานนามว่า “เมืองกาฬสินธุ์” หรือ “เมืองน้ำดำ” ซึ่งเป็นเมืองที่สำคัญทางประวัติศาสตร์มาตั้งแต่สมัยโบราณกาล “กาฬ” แปลว่า “ดำ” “สินธุ์” แปลว่า “น้ำ” กาฬสินธุ์จึงแปลว่า “น้ำดำ” ทั้งมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งให้ท้าวโสมพะมิตรเป็น “พระยาชัยสุนทร” ครองเมืองกาฬสินธุ์เป็นคนแรก

อาณาเขต
ทิศเหนือ จดจังหวัดอุดรธานี สกลนคร
ทิศใต้ จดจังหวัดร้อยเอ็ด มหาสารคาม
ทิศตะวันออก จดจังหวัดร้อยเอ็ด มุกดาหาร
ทิศตะวันตก จดจังหวัดมหาสารคาม ขอนแก่น และอุดรธานี

กาฬสินธุ์ อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ 519 กิโลเมตร แบ่งการปกครองออกเป็น 14 อำเภอ 2 กิ่งอำเภอ คือ อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ อำเภอยางตลาด อำเภอกมลาไสย อำเภอสหัสขันธ์ อำเภอสมเด็จ อำเภอกุฉินารายณ์ อำเภอท่าคันโท อำเภอเขาวง อำเภอห้วยเม็ก อำเภอคำม่วง อำเภอหนองกุงศรี อำเภอนามน อำเภอห้วยผึ้ง อำเภอร่องคำ กิ่งอำเภอสามชัย และกิ่งอำเภอนาคู จังหวัดกาฬสินธุ์มีเนื้อที่ทั้งหมด 7,055.07 ตารางกิโลเมตร ลักษณะภูมิประเทศตอนบนเป็นภูเขาตามแนวเทือกเขาภูพาน ตอนกลางเป็นเนินเขาสลับป่าโปร่ง

หมายเลขโทรศัพท์สำคัญ (รหัสทางไกล 043)
ททท.สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขต 3 จ.ขอนแก่น
244-498-9

สำนักงานจังหวัด
811-695

เทศบาลเมือง
811-284

ตำรวจท่องเที่ยว
1155

ตำรวจทางหลวง ส.ทล.1 กก. จ.ร้อยเอ็ด
569-091

สถานีตำรวจภูธร อ.เมือง
811-111 , 812-191

ไปรษณีย์จังหวัด
811-142-3

สถานีขนส่งจังหวัด
811-298 , 813-451

รพ.กาฬสินธุ์
811-021 , 811-520

รพ.ยางตลาด
891-249

รพ.สมเด็จ
861-140 , 861-141

รพ.กุฉินารายณ์
851-292

รพ.สหัสขันธ์
871-217 , 871-030

รพ.คำม่วง
879-059

รพ.ห้วยเม็ก
889-090

รพ.เขาวง
859-059


จังหวัดกาฬสินธุ์ :: สถานที่ท่องเที่ยว อำเภอเมือง

อนุสาวรีย์พระยาชัยสุนทร (ท้าวโสมพะมิตร)
ตั้งอยู่หน้าที่ทำการไปรษณีย์โทรเลข จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นอนุสาวรีย์หล่อด้วยสัมฤทธิ์เท่าตัวจริงยืนบนแท่นมือขวาถือกาน้ำ มือซ้ายถือดาบอาญาสิทธิ์ ชาวกาฬสินธุ์ทุกหมู่เหล่าได้สละทรัพย์ก่อสร้างอนุสาวรีย์ เพื่อเป็นการแสดงกตเวทิตาคุณต่อผู้ให้กำเนิดเมืองกาฬสินธุ์

วัดกลาง
เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปองค์ดำ หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ หน้าตักกว้าง 20 นิ้ว มีพระพุทธลักษณะงดงาม สร้างในสมัยพระเจ้าคูนาข้าม พระชัยสุนทร (กิ่ง) ได้นำมาเป็นพระพุทธรูปศรีเมือง เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ หากปีใดฝนแล้งประชาชนชาวเมืองจะอัญเชิญพระพุทธรูปออกแห่ขอฝนเสมอ ที่พระแท่นมีรอยจารึกเป็นอักษรไทยโบราณ

นอกจากพระพุทธรูปองค์ดำแล้ว วัดกลางยังมีพระพุทธบาทจำลองขนาดกว้าง 1 ศอก ยาว 4 ศอก ทำด้วยศิลาแลง สันนิษฐานว่าในสมัยละว้าปกครอง เดิมอยู่ริมลำปาวใกล้แก่งสำโรงได้มีการสมโภชน์ทุกปี แต่ต่อมาตลิ่งลำปาวพังเข้ามาทุกปี ชาวเมืองเกรางจะถูกน้ำเซาะทำลาย จึงได้อัญเชิญมาไว้ในพระอุโบสถร่วมกับพระพุทธรูปองค์ดำ

วัดศรีบุญเรือง (วัดเหนือ)
เป็นวัดเก่าแก่ในเขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์แห่งหนึ่ง ซึ่งมีเสมาจำหลักเมืองฟ้าแดดสูงยางจำนวนหนึ่งเก็บรักษาไว้ โดยปักไว้รอบพระอุโบสถ หลักเสมาจำหลักที่สวยงามคือ หลักที่จำหลักเป็นรูปเทวดาเหาะอยู่เหนือปราสาททำเป็นซุ้มเรือนแก้ว (ศิลปะแบบพื้นเมืองอีสาน) ซ้อนกันเป็น 2 ชั้น ล่างสุดมีรูปกษัตริย์ พระมเหสี และพระโอรส

พระพุทธรูปสถานภูปอ
ตั้งอยู่ตำบลภูปอ ห่างจากจังหวัดกาฬสินธุ์ไปทางทิศเหนือประมาณ 28 กิโลเมตร ตามเส้นทางหมายเลข 2319 เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปโบราณปางไสยาสน์ ฝีมือช่างจากสมัยทวาราวดี จำหลักบนหน้าผา 2 องค์ เป็นที่เคารพบูชาของชาวจังหวัดกาฬสินธุ์และใกล้เคียง องค์แรกประดิษฐานอยู่บนเชิงเขาทางขึ้น องค์ที่ 2 ประดิษฐานอยู่บนภูปอ นอกจากภูปอจะเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปปางไสยาสน์อันศักดิ์สิทธิ์แล้ว ยังเป็นสถานที่ทิวทัศน์ตามธรรมชาติที่สวยงามเหมาะแก่การพักผ่อนหย่อนใจอย่างยิ่ง ประชาชนในท้องถิ่นจัดงานสมโภชน์พระพุทธไสยาสน์ขึ้นประมาณเดือนเมษายน ของทุกปี

ศูนย์ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว
อยู่ภายในโรงพยาบาลธีรวัฒน์ เป็นแหล่งให้ข้อมูลและความรู้แก่ผู้ที่สนใจด้านศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านของจังหวัดกาฬสินธุ์ พร้อมทั้งแสดงถึงชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในท้องถิ่นและในภาคอีสาน พร้อมทั้งจัดจำหน่ายสินค้าพื้นเมืองของกาฬสินธุ์ ซึ่งคัดเลือกมาแล้วทั้งคุณภาพและลวดลาย เช่น ผ้าแพรวา กะเตาะหรือเครื่องดนตรีพื้นเมืองอีสาน

สำหรับผู้ที่จะเข้าไปชมเป็นหมู่คณะและต้องการผู้บรรยาย กรุณาติดต่อล่วงหน้าได้ที่ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธีรวัฒน์ เลขที่ 269/3 ถนนชนะพล อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์ 46000 โทร. (043) 811757


จังหวัดกาฬสินธุ์ :: การเดินทาง

ทางรถยนต์
จากกรุงเทพฯ-กาฬสินธุ์ ระยะทาง 519 กิโลเมตร ใช้เส้นทาง กรุงเทพฯ-สระบุรี-นครราชสีมา (ทางหลวงหมายเลข 2) ถึงอำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น ต่อด้วยเส้นทางหลวงหมายเลข 23 และทางหลวงหมายเลข 213 มหาสารคาม-กาฬสินธุ์

ทางรถโดยสาร
บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เปิดบริการเดินรถกรุงเทพฯ-กาฬสินธุ์ทุกวัน โดยมีบริการทั้งรถธรรมดาและรถปรับอากาศ รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อสอบถามที่ สถานีขนส่งงสายตะวันออกเฉียงเหนือ ถนนกำแพงเพชร 2 โทร. 936-2852-66

ทางรถไฟ
ต้องเดินทางจากกรุงเทพฯ-สถานีรถไฟขอนแก่น จากขอนแก่นต่อรถประจำทางเข้ากาฬสินธุ์อีก 75 กิโลเมตร สำหรับกรุงเทพฯ-ขอนแก่นนั้น การรถไฟแห่งประเทศไทยเปิดบริการทั้งขบวนรถเร็ว รถด่วน และรถดีเซลรางปรับอากาศ รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อสอบถามได้ที่ หน่วยบริการเดินทางของการรถไฟแห่งประเทศไทย โทร. 223-7010, 223-7020

ทางเครื่องบิน
ต้องไปลงที่จังหวัดขอนแก่น แล้วต่อรถยนต์โดยสารเข้ากาฬสินธุ์ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) โทร. 280-0060, 628-2000

ระยะทางจากอำเภอเมืองไปอำเภอ และกิ่งอำเภอต่างๆ
อำเภอเมือง-อำเภอยางตลาด 16 กิโลเมตร
อำเภอเมือง-อำเภอกมลาไสย 13 กิโลเมตร
อำเภอเมือง-อำเภอสหัสขันธ์ 32 กิโลเมตร
อำเภอเมือง-อำเภอสมเด็จ 40 กิโลเมตร
อำเภอเมือง-อำเภอกุฉินารายณ์ 80 กิโลเมตร
อำเภอเมือง-อำเภอท่าคันโท 109 กิโลเมตร
อำเภอเมือง-อำเภอห้วยเม็ก 48 กิโลเมตร
อำเภอเมือง-อำเภอคำม่วง 85 กิโลเมตร
อำเภอเมือง-อำเภอหนองกุงศรี 62 กิโลเมตร
อำเภอเมือง-อำเภอนามน 44 กิโลเมตร
อำเภอเมือง-อำเภอเขาวง 98 กิโลเมตร
อำเภอเมือง-อำเภอห้วยผึ้ง 60 กิโลเมตร
อำเภอเมือง-อำเภอร่องคำ 38 กิโลเมตร
อำเภอเมือง-กิ่งอำเภอนาคู 90 กิโลเมตร
อำเภอเมือง-กิ่งอำเภอสามชัย 65 กิโลเมตร

การเดินทางในตัวจังหวัดกาฬสินธุ์มีรถ 3 ล้อถีบรับจ้างอยู่ทุกถนน และยังมีรถโดยสารระหว่างตัวจังหวัด วิ่งไปยังอำเภอต่างๆ อีกด้วย


จังหวัดกาฬสินธุ์ :: สถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ

อำเภอกมลาไสย (ทางหลวงหมายเลข 214 กาฬสินธุ์-ร้อยเอ็ด)

เมืองฟ้าแดดสูงยาง
หรือเรียกเพี้ยนไปเป็นฟ้าแดดสูงยาง บางแห่งเรียกว่า เมืองเสมา เนื่องจากมีผังเมืองรูปร่างคล้ายใบเสมา เป็นเมืองโบราณ มีซากอิฐปนดิน คูเมืองสองชั้นมีลักษณะเป็นท้องน้ำที่พอมองเห็น คือพระธาตุยาคู ผังเมืองรูปไข่แบบทวาราวดีแต่มีตัวเมืองสองชั้น เชื่อว่าเกิดจากการขยายตัวเมือง ชาวนามักขุดพบใบเสมาหินทรายมีลวดลายบ้าง ไม่มีบ้าง ที่ขึ้นทะเบียนไว้ทางกรมศิลปากร 130 แผ่น พระพิมพ์ดินเผามีลักษณะเป็นอิทธิพลของสกุลช่างคุปตะรุ่นหลัง อายุประมาณ 1,000-2,000 ปี มีอยู่ทั่วไป นอกจากนี้ยังพบกล้องยาสูบดินเผาลวดลายอมราวดี ก้านขดเป็นรูปตัวมังกร อายุ 7,000 ปี ที่น่าสนใจคือกล้องยาสูบชนิดเดียวกันแต่ทำด้วยทองสัมฤทธิ์ อายุประมาณ 5,000-6,000 ปี ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันว่ายุคโลหะของสุวรรณภูมิได้เริ่มมาก่อนทุกๆ แห่งในโลกนี้

เมืองฟ้าแดดสูงยาง จึงเป็นเมืองโบราณที่มีอายุระหว่าง พ.ศ. 1300-1600 ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านเสมา ตำบลหนองแปน ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 19 กิโลเมตร เดินทางตามเส้นทาง 214 (กาฬสินธุ์-ร้อยเอ็ด) แยกขวามือเข้าทางโรงเรียนกมลาไสย อำเภอกมลาไสย ประมาณ 13 กิโลเมตร แยกขวามือเข้าไปตามทางลูกรังอีก 6 กิโลเมตร นับเป็นสถานที่สำคัญในการศึกษาหาความรู้ เกี่ยวกับโบราณสถานโบราณวัตถุที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัด

พระธาตุยาคู
เดิมเรียกว่า “ธาตุใหญ่” เป็นพระสถูปสมัยทวาราวดี (ราวพุทธศตวรรษที่ 13-15) ตั้งอยู่กลางทุ่งนาทิศเหนือบ้านเสมา อำเภอกมลาไสย ห่างจากจังหวัดกาฬสินธุ์ประมาณ 19 กิโลเมตร เป็นศิลปะการก่อสร้างแบบทวาราวดี ทำด้วยอิฐดิน ฐานเป็นรูป 8 เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง ขนาดฐานกว้าง 10 เมตร ยาว 10 เมตร สร้างซ้อนกันเป็นลักษณะแบบจตุรมุขสูงจากฐานถึงยอด 8 เมตร เชื่อกันว่าเป็นเจดีย์บรรจุอัฐิของพระเถระผู้ใหญ่ที่ชาวเมืองเคารพนับถือ สังเกตได้จากเมื่อเมืองเชียงโสมชนะสงคราม ได้ทำลายทุกสิ่งทุกอย่างในเมืองฟ้าแดดแต่ไม่ได้ทำลายพระธาตุยาคู จึงเป็นโบราณสถานที่ยังคงสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ ซึ่งต่อมาได้มีการบูรณะ ชาวบ้านจะจัดให้มีงานเทศกาลเป็นประจำทุกปีในระหว่างเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม เพื่อเป็นการขอฝนและความร่มเย็นของหมู่บ้าน

วัดโพธิ์ชัยเสมาราม หรือวัดบ้านก้อม
อยู่ในอาณาเขตเมืองฟ้าแดดสูงยางไม่ไกลจากพระธาตุยาคู เป็นวัดโบราณ สิ่งที่น่าสนใจภายในวัดได้แก่ ใบเสมาหินสมัยทวาราวดี ที่ปักอยู่เป็นแนวกำแพงและที่เก็บรวบรวมไว้ในวัดเป็นบางส่วน ที่ใบเสมาจำหลักเป็นภาพต่างๆ ส่วนมากสลักเป็นภาพเกี่ยวกับพุทธศาสนา


อำเภอยางตลาด-อำเภอท่าคันโท (ทางหลวงหมายเลข 209-2110-2299)

เขื่อนลำปาว
เป็นเขื่อนดินซึ่งสร้างปิดกั้นลำน้ำปาว และห้วยยาง มีบริเวณเขตติดต่อระหว่างตำบลลำปาว อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ ตำบลหนองบัว อำเภอหนองกุงศรี และตำบลเว่อ อำเภอยางตลาด ตามเส้นทางหมายเลข 209 ทางหลวงสายกาฬสินธุ์-มหาสารคาม ตรงหลักกิโลเมตรที่ 10 แยกขวามือเข้าเขื่อนลำปาวตามถนนลาดยาง 26 กิโลเมตร เป็นเขื่อนดินสูงจากท้องน้ำ 33 เมตร สันเขื่อนยาว 7.8 เมตร กว้าง 8 เมตร เริ่มก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2506 สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2511 เพื่อปิดกั้นลำน้ำปาวและห้วยยางที่บ้านหนองสองห้อง ตำบลลำปาว อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ ทำให้เกิดอ่างเก็บน้ำแฝดทางด้านเหนือเขื่อน จึงได้ขุดร่องเชื่อมระหว่างอ่างทั้งสอง เก็บน้ำได้ 1,430 ล้านลูกบาศก์เมตร สร้างขึ้นเพื่อบรรเทาอุทกภัยและเพื่อการเกษตรโดยเฉพาะ นอกจากนั้นยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลา มีสถานที่พักผ่อนหย่อนใจได้แก่ หาดดอกเกด ซึ่งเปรียบเสมือนสวรรค์ชายหาดของคนอีสาน

หาดดอกเกด
อยู่ริมฝั่งเขื่อนลำปาวทางด้านทิศตะวันออกของเรือนรับรองโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว เป็นหาดเนินดินลดหลั่นลงจรดถึงเขื่อน มีบริเวณกว้างขวางพอสมควร ได้รับการปรับปรุงให้เป็นที่พักผ่อนโดยจัดศาลาพักร้อนซุ้มดอกเห็ด เหตุที่ได้ชื่อว่า “หาดดอกเกด” ก็เพราะมีต้น “การะเกด” ซึ่งเป็นไม้พื้นเมืองปลูกปะปนกับต้นไม้อื่นเป็นกลุ่มๆ เมื่อเวลาออกดอกจะส่งกลิ่นหอม ที่หาดแห่งนี้ในวันสุดสัปดาห์จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางไปพักผ่อนเป็นจำนวนมาก

สถานีศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าลำปาว (สวนสะออน)
อยู่บริเวณทิศตะวันออกของอ่างเก็บน้ำเขื่อนลำปาว มีเนื้อที่ 1,420 ไร่ เป็นสวนป่าธรรมชาติ หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กรมป่าไม้ กรมชลประทาน กรมทางหลวง ได้ร่วมกันดำเนินการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติสวนสัตว์เปิด ได้นำสัตว์ป่าชนิดต่างๆ มาปล่อยไว้ให้อยู่แบบธรรมชาติดั้งเดิม มี “วัวแดง” เป็นสัตว์ป่าที่เป็นเอกลักษณ์ของสถานีฯ สภาพของป่าเป็นป่าเต็งรังหรือป่าแดงมีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ ซึ่งเปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 07.00-18.00 น. ไม่เสียค่าเข้าชม การใช้บ้านพักของสถานีฯ และตั้งแค้มป์พักแรมต้องขออนุญาตเจ้าหน้าที่สถานีฯ หรือทำจดหมายขออนุญาตล่วงหน้าส่งไปที่ สถานีศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าลำปาว ตู้ ป.ณ. 120 อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์ 46000 หรือผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ กรมป่าไม้ เขตบางเขน กรุงเทพฯ โทร. 561-4292-3 ต่อ 708 ซึ่งสามารถเดินทางได้สองเส้นทาง คือ ตามเส้นทางไปเขื่อนลำปาว เมื่อถึงตัวเขื่อนจะมีทางเลียบสันเขื่อนไปอีกประมาณ 4 กิโลเมตร หรือใช้เส้นทางกาฬสินธุ์-สหัสขันธ์ (ทางหลวง 227) ประมาณ 19 กิโลเมตร และมีทางแยกซ้ายไปสวนสะออนอีกประมาณ 5 กิโลเมตร

วนอุทยานภูพระ
อยู่ที่ตำบลท่าคันโท อำเภอท่าคันโท จากตัวเมืองใช้เส้นทาง อำเภอเมือง-อำเภอยางตลาด-อำเภอท่าคันโท อยู่ห่างจากตัวเมืองท่าคันโทไป 4 กิโลเมตร ภายในวนอุทยานประกอบด้วยสวนหินรูปร่างแปลกตา อยู่ท่ามกลางป่าเต็งรัง ครอบคลุมพื้นที่ 65,900 ไร่


อำเภอหนองกุงศรี

เกาะมหาราช
เป็นสวนสาธารณะและพักผ่อนอยู่ริมฝั่งอ่างเก็บน้ำเขื่อนลำปาว ตรงข้ามกับแหลมโนนวิเศษของอำเภอสหัสขันธ์ สามารถนั่งเรือหรือแพขนานยนต์ข้ามฟากถึงกันได้ ในบริเวณเกาะมหาราชมีศาลาที่พักซึ่งเหมาะแก่การพักผ่อน

อำเภอสหัสขันธ์-อำเภอคำม่วง

พระพุทธไสยาสน์ถ้ำภูค่าว
ตั้งอยู่ในเขตวัดพระพุทธนิมิตร บ้านนาสีนวล ตำบลโนนศิลา อำเภอสหัสขันธ์ สามารถเดินทางโดยใช้เส้นทางกาฬสินธุ์-สหัสขันธ์ ตามเส้นทางหลวง 227 เป็นระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร รวมเป็นระยะทางจากกาฬสินธุ์ประมาณ 34 กิโลเมตร บริเวณถ้ำภูค่าวแต่เดิมเป็นสถานที่สำคัญทางศาสนาแห่งหนึ่ง ปัจจุบันเป็นเพียงวัดเล็กๆ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ภูค่าว ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่แปลกจากพระนอนทั่วไปคือ แทนที่จะไสยาสน์ตะแคงขวา แต่กลับไสยาสน์ตะแคงซ้าย ไม่มีพระเกตุมาลา พระนอนองค์นี้มีประวัติว่าสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2235 เป็นพระโมคคัลลานะ เป็นที่เคารพของชาวบ้านทั่วไป มีงานนมัสการปิดทองในวันตรุษสงกรานต์ทุกปี

พุทธสถานภูสิงห์
อยู่บนยอดเขาภูสิงห์ ห่างจากตัวเมืองไปทางเหนือประมาณ 34 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 2319 มีทางขึ้น 2 ทาง คือ ทางราดยางคดเคี้ยวขึ้นตามไหล่เขาทางทิศตะวันตก และทางเดินเท้าทำเป็นบันได 104 ขั้น ทางทิศตะวันออก เป็นสถานที่พักผ่อนที่ร่มรื่นล้อมรอบด้วยธรรมชาติ ทั้งยังมองเห็นทิวทัศน์ของทุ่งนา หมู่บ้านและน้ำในเขื่อนลำปาวอันสวยงามอีกด้วย พุทธสถานภูสิงห์เป็นที่ประดิษฐานพระพรหมภูมิปาโล ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 10.5 เมตร มีพระวรกายสง่างาม

กลุ่มทอผ้าแพรวา บ้านโพน
อำเภอคำม่วง ห่างจากจังหวัดกาฬสินธุ์ 70 กิโลเมตร ผ้าแพรวาทอจากผ้าไหมด้วยลายมัดหมี่ละเอียดลายเฉพาะตัว เป็นงานฝีมือทอผ้าของชาวผู้ไท ต่อมาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงสนับสนุนจนเป็นที่แพร่หลาย ลักษณะลายผ้าอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของกลุ่มทอผ้าชาวผู้ไทบ้านโพนนั้น แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ ลายหลัก และลายแถบ ส่วนสีของผ้าแพรวามิได้มีเพียงสีแดงเท่านั้น ปัจจุบันนี้มีการให้สีต่างๆ มากขึ้นตามความต้องการของตลาด เช่น สีครีม สีชมพูอ่อน สีม่วง สีน้ำเงิน สีเขียว เป็นต้น ซึ่งนับได้ว่าการทอผ้าแพรวาเป็นงานศิลปหัตถกรรมประเภทสิ่งทอที่หาได้น้อยแห่งในประเทศไทย

แหลมโนนวิเศษ
เป็นภูมิประเทศที่มีลักษณะเป็นผืนดินที่ยื่นเข้าไปในบริเวณอ่างเก็บน้ำของเขื่อนลำปาว อยู่ที่ตำบลโนนบุรี อำเภอสหัสขันธ์ ห่างจากตัวจังหวัดกาฬสินธุ์ 36 กิโลเมตร เป็นจุดชมพระอาทิตย์อัสดงที่สวยงามมากแห่งหนึ่งในจังหวัดกาฬสินธุ์

วัดสักกะวัน
ตั้งอยู่ที่เชิงภูกุ้มข้าว อำเภอสหัสขันธ์ สามารถเดินทางโดยใช้เส้นทางกาฬสินธุ์-สหัสขันธ์ (ทางหลวง 227) ประมาณ 28 กิโลเมตร (ก่อนถึงสหัสขันธ์ 2 กิโลเมตร) มีทางแยกขวาไปวัดสักกะวัน 1 กิโลเมตร วัดนี้เป็นสถานที่ค้นพบกระดูกไดโนเสาร์จำนวนมาก โดยซากกระดูกบางส่วนได้นำมาจัดแสดงที่ศาลาวัด มีการจัดนิทรรศการการแสดงความเป็นมาของการ เกิดไดโนเสาร์ยุคต่างๆ รวมทั้งรูปภาพการขุดค้นพบซากกระดูกเหล่านี้ นอกจากนั้น ห่างจากศาลาวัดไปประมาณ 100 เมตร มีโครงกระดูกไดโนเสาร์ฝังอยู่ในพื้นดินบริเวณเชิงเขา ได้รับการขุดแต่งโดยเจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรธรณี เป็นซากกระดูกไดโนเสาร์ชนิดซอโรพอด มากกว่า 1 ตัว ซึ่งอยู่ในยุคจูแรสสิคตอนปลาย (ประมาณ 150 ล้านปีมาแล้ว)


อำเภอสมเด็จ (ทางหลวงสายสมเด็จ-สกลนคร หมายเลข 213)

น้ำตกแก้งกะอาม
บ้านแก้งกะอาม ตำบลผาเสวย อำเภอสมเด็จ ห่างจากจังหวัดกาฬสินธุ์ ตามเส้นทางกาฬสินธุ์-สกลนคร ทางหลวงหมายเลข 213 ประมาณ 55 กิโลเมตร มีทางลูกรังแยกซ้ายไปอีก 300 เมตร มีแก่งหินเรียงรายเป็นแนวยาว มีลานหินกว้างเหมาะแก่การพักผ่อน เป็นน้ำตกที่กำลังได้รับการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งที่อยู่ใกล้ทางหลวงแผ่นดิน

ผาเสวย
อยู่บนเทือกเขาภูพาน เขตบ้านแก้งกะอาม ตำบลผาเสวย อำเภอสมเด็จ ห่างจากที่ว่าการอำเภอสมเด็จ 17 กิโลเมตร หรืออยู่ห่างจากจังหวัดกาฬสินธุ์ ประมาณ 58 กิโลเมตร เส้นทางสายสมเด็จ-สกลนคร เดิมชาวบ้านเรียกว่า “ผารังแร้ง” เมื่อ พ.ศ. 2497 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จผ่านและเสวยพระกระยาหารกลางวัน จึงเรียกที่ประทับนั้นว่า “ผาเสวย” ลักษณะตั้งอยู่บนเหวลึก หน้าผาสูงชัน ชาวบ้านเรียกว่า “เหวหำหด” บนหน้าผาเสวยสามารถชมทัศนียภาพและเป็นที่พักผ่อนได้เป็นอย่างดี


อำเภอเขาวง (ทางหลวงหมายเลข 213, 2042, 2291)

น้ำตกผานางคอย
เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เพิ่งค้นพบเมื่อไม่นานมานี้ เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ไหลมาจากเทือกเขาภูพาน แบ่งเป็นชั้นๆ มีความสวยงามมาก สภาพป่าโดยรอบเขียวขจีอุดมสมบูรณ์ และลักษณะเด่นคือ มีน้ำไหลตลอดปีแม้ในฤดูแล้ง

น้ำตกตาดทอง
อยู่ในเขตอำเภอเขาวง บนเส้นทาง เขาวงดงหลวง-มุกดาหาร เป็นน้ำตกที่มีความสวยงามด้วยโขดหินสลับซับซ้อน ในฤดูฝนจะเป็นช่วงที่สวยงามที่สุด น้ำตกตาดทองจะจัดให้มีงานขึ้นทุกๆ ปี ในช่วงเดือนตุลาคม รถยนต์สามารถเดินทางเข้าถึงน้ำตกได้โดยสะดวก


อำเภอกุฉินารายณ์ (ทางหลวงหมายเลข 213, 2042)

ฟอสซิลกระดูกไดโนเสาร์แห่งที่ 1
ถูกค้นพบที่ภูผางัว วัดบ้านนาไคร้ เมื่อปี พ.ศ. 2531 โดยพระสงฆ์และชาวบ้านนำรถแทรคเตอร์ไปปรับพื้นที่บริเวณวัด เพื่อสร้างศาลาการเปรียญ ปรากฏว่าได้พบกองหินคล้ายกระดูกช้าง จึงได้เก็บรวบรวมไว้ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2533 ก็ได้มีการปรับพื้นที่อีกครั้งหนึ่ง ก็ได้พบหินที่มีลักษณะเหมือนครั้งแรกจึงได้แจ้งให้จังหวัดทราบ จังหวัดจึงได้มีหนังสือถึงกรมทรัพยากรธรณีให้มาตรวจสอบ และพบว่าเป็นฟอสซิลกระดูกของไดโนเสาร์ประเภทกินพืชเป็นอาหาร ที่มีโครงสร้างที่สมบูรณ์ที่สุดของประเทศไทยในขณะนี้ ทางจังหวัดกำลังพัฒนาให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดต่อไปในอนาคต

ภูผาผึ้ง-ถ้ำฝ่ามือแดง
เป็นแหล่งท่องเที่ยวอยู่บนภูเดียวกันที่เรียกกันว่า ภูผาผึ้ง ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านกุดหว้า อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์

- ภูผาผึ้ง เป็นหน้าผาสูงประมาณ 400 เมตร ซึ่งในอดีตเคยมีผึ้งมาทำรังเกาะอยู่เต็มหน้าผาแห่งนี้ แต่เนื่องจากการตีผึ้ง เพื่อเอาผึ้งและรวงผึ้งไปขายของชาวบ้านบริเวณรั้นเป็นไปในรูปแบบล้างเผ่าพันธุ์ ประกอบกับปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อม เมื่อป่าไม้ถูกทำลายระบบนิเวศน์ก็เปลี่ยนแปลงไป ไม่มีดอกไม้อันอุดมให้ผึ้งได้กินได้สร้างครอบครัวอีกต่อไป ปัจจุบันนี้ภูผาผึ้งจึงเหลือเพียงตำนานที่เล่าขานเพื่อชี้ชวนให้ชมรอยเว้ารอยบุ๋มของหินผา ซึ่งรวงผึ้งเคยเกาะอยู่เท่านั้น

- ถ้ำฝ่ามือแดง หรือถ้ำลายมือตามคำเรียกของชาวบ้าน ได้มีการค้นพบและเปิดเผยต่อสาธารณชนเมื่อก่อนปี พ.ศ. 2516 เป็นต้นมา โดยอาจารย์สงวน รอดบุญ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ค้นพบและเผยแพร่ หลังจากนั้นก็มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาชมโบราณสถานแห่งนี้เพิ่มมากขึ้นทุกปี ลักษณะของถ้ำเป็นหน้าผาที่เว้าเข้าไปคล้ายวงเล็บ มีรอยมือสีแดงจางๆ ประทับอยู่บนผนังและเพดานถ้ำ ค้นพบครั้งแรกนับได้ประมาณ 147 รอย ซึ่งรูปรอยของฝ่ามือดังกล่าวจางลงตามกาลเวลา รวมทั้งมีผู้พยายามใช้ตะปูสกัดรอยฝ่ามือออกจากผนังถ้ำไม่ว่าจะเหตุผลใดก็ตามปรากฏรอยกระเทาะทั่วไป

น้ำตกตาดสูงและน้ำตกตาดยาว
อยู่ในเขตอำเภอกุฉินารายณ์ โดยห่างจากภูผางัวไปประมาณ 4 กิโลเมตร บริเวณน้ำตกตาดสูงจะเป็นธารหิน น้ำไหลลดหลั่นกันไป เมื่อถึงฤดูฝนจะมีความงดงามมาก และเมื่อเดินตามเส้นทางเท้าเข้าไปอีกประมาณ 100 เมตร ก็จะถึงน้ำตกตาดยาว ซึ่งมีลักษณะเด่นคือ เป็นลานหินขนาดกว้างลาดเอียงตามธรรมชาติ ชาวบ้านเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า น้ำตกสไลเดอร์ และน้ำตกตาดยาวนี้จะไหลไปรวมกันกับน้ำตกตาดสูงด้วย


จังหวัดกาฬสินธุ์ :: เทศกาล งานประเพณี

งานมหกรรมโปงลาง แพรวา และกาชาด จังหวัดกาฬสินธุ์
ปลายเดือนกุมภาพันธ์ จัดขึ้นบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัด ภายในงานจะประกอบด้วยขบวนแห่ของแต่ละอำเภอ ตกแต่งขบวนเป็นรูปเครื่องดนตรีโปงลางขนาดยักษ์ แต่งกายชุดพื้นเมือง แข่งขันสาวดีดไห และจำหน่ายสินค้าพื้นเมืองต่างๆ


จังหวัดกาฬสินธุ์ :: ของฝาก ของที่ระลึก

จังหวัดกาฬสินธุ์ มีสินค้าพื้นเมืองหลายประเภท ได้แก่ แพรวา ผ้ามัดหมี่ ผ้าขิต เนื้อทุบ และเครื่องดนตรีอีสาน

บ้านโพน อำเภอคำม่วง

บ้านหนองห้าง อำเภอกุฉินารายณ์

ร้านนิวเฟรน 291 ถนนเทศบาล 23 (ข้างธนาคารกรุงศรีอยุธยา) อำเภอเมือง โทร. 811849

ร้านไพจิตรแพรวา 170 ถนนภิรมย์ อำเภอเมือง โทร. 811559

ร้านม่านทิพย์ 11-13 ถนนภิรมย์ ตรงข้ามธนาคารกรุงเทพ สาขากาฬสินธุ์ โทร. 811314

ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ โรงเรียนอนุกูลนารี อำเภอเมือง โทร 811271

0 ความคิดเห็น: