วันศุกร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

การท่องเที่ยวจังหวัดพังงา

:: จังหวัดพังงา ::

จังหวัดพังงา :: ข้อมูลทั่วไป

" แร่หมื่นล้าน บ้านกลางน้ำ ถ้ำงามตา ภูผาแปลก แมกไม้จำปูน บริบูรณ์ด้วยทรัพยากร "

พังงา เป็นจังหวัดที่มีภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นป่าเขา มีพื้นที่ 4,170.895 ตารางกิโลเมตร อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 788 กิโลเมตร ชื่อของจังหวัดพังงานั้นเดิมน่าจะเรียกว่า “เมืองภูงา” ตามชื่อเขางา หรือเขาพังงา ซึ่งอยู่ในตัวเมืองพังงาในปัจจุบัน เมื่อตั้งเมืองขึ้นจึงเรียกกันว่า “เมืองภูงา” เมืองภูงานี้อาจจะตั้งชื่อให้คล้องจองเป็นคู่กับเมืองภูเก็ตมาแต่เดิมก็ได้ แต่เหตุที่เมืองภูงากลายเป็นเมืองพังงานั้น สันนิษฐานว่าน่าจะมาจากเมืองภูงาเป็นเมืองที่มีแร่อุดมสมบูรณ์จึงมีฝรั่งมาติดต่อซื้อขายแร่ดีบุกกันมาก และฝรั่งเหล่านี้คงจะออกเสียงเมืองภูงาเป็นเมือง “พังงา” เพราะแต่เดิมฝรั่งเขียนเมืองภูงาว่า PHUNGA หรือ PUNGA ซึ่งอาจอ่านว่า ภูงา หรือจะอ่านว่า พังงา หรือ พังกา ก็ได้

ประวัติศาสตร์ความเป็นมา

จากพงศาวดารปรากฏว่าก่อนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นั้น เมืองพังงาเป็นเมืองแขวงขึ้นอยู่กับเมืองตะกั่วป่า จนกระทั่งถึงสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์จึงได้ยกฐานะขึ้นเป็นเมืองเทียบเท่าเมืองตะกั่วป่า เมืองตะกั่วทุ่ง และโอนเมืองจากฝ่ายกรมท่ามาขึ้นเป็นฝ่ายกลาโหมตั้งแต่นั้นมา ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 3 ทรงมีพระราชดำริที่จะปรับปรุงบูรณะหัวเมืองชายฝั่งตะวันตกที่ถูกพม่าตี จึงได้แต่งตั้งข้าราชการมาเป็นเจ้าเมือง และให้ขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ โดยแต่งตั้งให้พระยาบริรักษ์ภูธร (แสง ณ นคร) เป็นเจ้าเมืองพังงาคนแรกในปี 2383 ต่อมาเมืองตะกั่วทุ่งถูกยุบเป็นอำเภอขึ้นกับเมืองพังงา ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ 7 เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ที่ประชุมเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ตจึงมีมติให้ยุบเมืองตะกั่วป่าขึ้นกับจังหวัดพังงาด้วย ตั้งแต่ พ.ศ. 2474 เป็นต้นมา แรกเริ่มที่ตั้งเป็นเมืองนั้นสถานที่ราชการอยู่ที่บ้านชายค่าย ต่อมา พ.ศ. 2473 จึงได้มาสร้างศาลากลางจังหวัดขึ้นที่บ้านท้ายช้าง ครั้น พ.ศ. 2515 จึงได้สร้างศาลากลางหลังใหม่ขึ้นบริเวณหน้าถ้ำพุงช้างจนถึงปัจจุบัน

จังหวัดพังงา แบ่งการปกครองออกเป็น 8 อำเภอ คือ อำเภอเมือง อำเภอคุระบุรี อำเภอทับปุด อำเภอกะปง อำเภอตะกั่วทุ่ง อำเภอตะกั่วป่า อำเภอท้ายเหมือง และอำเภอเกาะยาว


อาณาเขต

ทิศเหนือ ติดกับจังหวัดสุราษฎร์ธานี และอ่าวไทย
ทิศใต้ ติดกับจังหวัดพัทลุง สงขลา
ทิศตะวันออก ติดกับจชายทะเลฝั่งอ่าวไทย
ทิศตะวันตก ติดกับจังหวัดตรัง และกระบี่

หมายเลขโทรศัพท์สำคัญ (รหัสทางไกล 076)

สำนักงานจังหวัด
0-7641-2071

ททท. สำนักงานภาคใต้เขต 4
212-213, 211-036

ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว
412-140

สถานีตำรวจภูธร อ.เมือง
412-073

ไปรษณีย์จังหวัด
412-172

ตำรวจทางหลวง
327-220

รพ.พังงา
411-033-4

รพ.ตะกั่วป่า
421-780

รพ.คุระบุรี
411-961

รพ.บางไทร
421-660

รพ.ทับปุด
411-963


จังหวัดพังงา :: กิจกรรมท่องเที่ยวน่าสนใจ

ดำน้ำจังหวัดพังงา

ทะเลพังงานับเป็นทะเลที่สวยงามแห่งหนึ่งของคนรักทะเลที่มักจะแวะเวียนไปเยี่ยมเยือนอยู่เสมอ มีอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่เลื่องชื่อถึงสองแห่ง คือ หมู่เกาะสุรินทร์ และหมู่เกาะสิมิลัน ที่สามารถชื่นชมโลกสีสดใสใต้น้ำได้ทั้งแบบดำน้ำตื้นและน้ำลึก

อันดามันเหนือ

หมู่เกาะสุรินทร์ เป็นหมู่เกาะ 5 เกาะ ที่ขึ้นชื่อว่าดีที่สุดสำหรับการดำน้ำตื้นชมปะการัง แม้ความรุนแรงของคลื่นยักษ์ ได้ทำลายปะการังที่อ่าวช่องขาด และร่องตอรินลาเสียหายเกือบทั้งหมด แต่ก็ยังมีจุดดำน้ำตื้นหลายแห่งที่ยังคงสภาพที่ดีอยู่ ได้แก่

หินราบหรือหินกอง อยู่ด้านเหนือของเกาะสุรินทร์เหนือ เป็นกองหินที่โผล่พ้นน้ำขนาดเล็ก มีสันหินทอดยาวไปทางทิศตะวันตก ด้านตะวันออกเป็นผาชันลงสู่ความลึกมากกว่า 100 ฟุต หินราบเป็นจุดที่มีนักดำน้ำน้อย บางจุดพบกัลปังหาขนาดใหญ่หลายต้น โดยเฉพาะตอนปลายของหินด้านทิศตะวันออก ตามหินมักมีทากทะเลอาศัยอยู่ หลายชนิดเป็นทากหายากและสีสันสวยแปลกตา จัดเป็นจุดชมทากทะเลที่ดีจุดหนึ่งในหมู่เกาะสุรินทร์ สัตว์พวกกุ้งปูพบอยู่บ้างตามกองหิน เช่น ปูดอกไม้ทะเล เรายังพบหมึกกระดองเป็นประจำ บางครั้งมีฝูงปลากล้วยขนาดใหญ่ผ่านเข้ามา อาจจะได้เจอฉลามบ้างเป็นครั้งคราว มีทั้งฉลามเสือดาว ฉลามครีบเงิน และฉลามครีบขาว มักอยู่ปลายสันหินด้านตะวันออก

เกาะไฟแว๊บหรือเกาะสตอร์ค อยู่ทางทิศตะวันออกของหินราบห่างประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นเกาะเล็ก ๆ ที่มีกระโจมไฟของกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือตั้งอยู่บนเกาะ ชาวบ้านเรียกเกาะนี้ว่า เกาะไฟแว๊บ ที่มีแนวปะการังแข็งสมบูรณ์แห่งหนึ่ง โดยเฉพาะด้านทิศตะวันตกของเกาะ ทางด้านเหนือเป็นหลืบหินขนาดใหญ่ เป็นที่อาศัยของสัตว์ทะเลนานาชนิด ความลึกโดยเฉลี่ยบริเวณนี้อยู่ที่ 30-70 ฟุต นักดำน้ำมักพบเต่าทะเลเสมอ นอกจากนั้นยังมีปลาสิงโต รวมทั้งปลากหมึกกระดอง และทากเปลือย

อ่าวจาก อยู่ด้านตะวันออกของเกาะสุรินทร์เหนือ เป็นแนวปะการังในอ่าวใหญ่ ขอบแนวปะการังห่างจากฝั่ง 200-400 เมตร ด้านในเป็นปะการังเขากวาง ปะการังพุ่ม ด้านนอกมีปะการังก้อนเป็นจุด สลับกับดงปะการังเขากวางกว้างใหญ่ และมีปลาสีสวยสลับสีเต็มท้องน้ำ อ่าวจากนั้นอยู่ไกลจากที่พัก ใช้เวลานั่งเรือประมาณ 45 นาที นับเป็นจุดดำน้ำไกลที่สุดแห่งหนึ่งในหมู่เกาะสุรินทร์ จึงทำให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวน้อย แหล่งดำน้ำจุดนี้จึงยังคงความสมบูรณ์และบริสุทธิ์อยู่มาก

อ่าวสุเทพ เป็นอ่าวใหญ่ที่สุดของหมู่เกาะสุรินทร์ใต้ มีแนวปะการังยาวถึง 1,200 เมตร ห่างจากฝั่ง 200-500 เมตร หรือมากกว่านั้น ด้านในเป็นปะการังขนาดเล็กปนเศษปะการัง ด้านนอกเป็นปะการังก้อนขนาดใหญ่ขึ้นสลับกับปะการังแผ่นนอนใหญ่มาก ขอบแนวปะการังลาดลงสู่พื้นทราย ความลึกราว 80 ฟุต มีปะการังอ่อนและกัลปังหาน้อยมาก จัดเป็นแนวปะการังขนาดใหญ่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในอ่าวไทย มีปะการังอ่อน หอยมือเสือ ให้คุณได้ชื่นชม พร้อมปลานานาชนิด ส่วนใหญ่เป็นปลาสวยงามขนาดเล็ก

อ่าวเต่า อยู่ที่เกาะสุรินทร์ใต้ เป็นแนวปะการังริมเกาะ กว้าง 50-200 เมตร แนวปะการังหักชันดิ่งลงที่ความลึก 70-80 ฟุต ปะการังขนาดเล็กอยู่ด้านใน ตรงกลางมีปะการังหลากหลาย ขอบแนวปะการังพบปะการังก้อนขนาดใหญ่บ้าง มีปะการังอ่อนและกัลปังหา อยู่เป็นหย่อมในที่ลึก อ่าวเต่าขึ้นชื่อเรื่องเต่า เพราะที่นี่มีเต่ากระว่ายน้ำวนเวียนไปทั่ว นอกจากนี้ยังมีโอกาสพบกระเบนราหูและฉลามวาฬบ่อยครั้ง

อ่าวผักกาด เป็นอ่าวเล็ก ๆ อยู่ถัดจากอ่าวเต่าไป แนวปะการังของอ่าวผักกาด ทอดตัวริมฝั่งกว้างประมาณราว 150 เมตร ก่อนจะดิ่งลงสู่ความลึก 60 ฟุต อ่าวผักกาดเป็นจุดที่มีปะการังหลากหลายสูง ที่แคบ ๆ พบทั้งปะการังก้อน แผ่นตั้ง แผ่นนอน เขากวาง ในดงปะการังนี้อุดมไปด้วยดอกไม้ทะเลและหอยมือเสือ ปลานานาชนิด และเต่าทะเลที่แวะมาเยือนเป็นครั้งคราว

กองหินริเชลิว เป็นภูเขาหินใต้น้ำ อยู่ห่างจากเกาะสุรินทร์มาทางทิศตะวันออกประมาณ 10 กิโลเมตร ที่มีความหลากหลายของสัตว์น้ำและปะการังนานาชนิด จากผิวน้ำสามารถจะเห็นปลาสาก ปลาหูช้าง ที่ระดับยอดหินริเชลิว จะมีฝูงปลาในแนวปะการังทุกชนิด และที่นักดำน้ำชื่นชอบมาก คือ ปลาหมึกกระดอง ที่มักจะอยู่กันเป็นคู่ ที่ระดับน้ำกลางน้ำ มีฝูงปลาล่าเหยื่อหลากหลายที่วนเวียนเข้ามาหาอาหารในบริเวณกองหิน เช่น ปลากะมง ปลาตะคอง ปลาเรนโบว์ ปลารันเนอร์ ปลาอินทรี นักดำน้ำที่มาที่กองหินริเชลิวบ่อยครั้ง มักเฝ้ารออยู่ที่ระดับความลึกประมาณ 30-40 ฟุต เพื่อรอฉลามวาฬ ที่จะเข้ามาหาอาหารอยู่เสมอ บ่อยครั้งมากันคราวละหลายตัว สร้างความตื่นตาตื่นใจให้นักดำน้ำเป็นพิเศษ

บริเวณรอบกองหินเต็มไปด้วยสีสันของปะการังอ่อน กัลปังหาสีเหลือง ส้มและแดง และฝูงปลาเล็ก ๆ โดยเฉพาะสิ่งมีชีวิตหลากหลายที่อยู่ในซอก เช่น ปลาสิงโต ปลาแมงป่อง กั้ง ตั๊กแตน ปลาไหลมอร์เรย์หลายชนิด และปลาหมึกยักษ์ เป็นต้น และที่บริเวณความลึกตั้งแต่ 80 ฟุต ลงไปจนถึงระดับ 150 ฟุต เป็นแหล่งกบดานของปลาใหญ่ เช่น ฉลามพันธุ์ต่าง ๆ ปลากระเบน ตลอดจนโรนัน ที่นักดำน้ำพบเห็นได้เสมอ

นักดำน้ำสามารถเช่าเรือหางยาวไปดำน้ำตามเกาะต่าง ๆ ได้บริเวณหน้าอุทยานฯ


การเดินทาง

รถยนต์ จากอำเภอเมืองพังงา ใช้ทางหลวงหมายเลข 4 ไปอำเภอคุระบุรี ก่อนถึงอำเภอคุระบุรี 6 กิโลเมตร กิโลเมตรที่ 721 เลี้ยวซ้ายไปราว 2 กิโลเมตร จะถึงท่าเรือ

รถโดยสารประจำทาง มีรถออกจากสถานีขนส่งสายใต้ทุกวัน ใช้เวลาเดินทางประมาณ 10 ชั่วโมง และบริษัท ลิกไนท์ จำกัด โทร. 0 2435 5016 0 2435 7428

อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ อยู่ห่างจากฝั่ง 60 กิโลเมตร เรือโดยสารใช้เวลาเดินทาง 4 ชั่วโมง ส่วนเรือเร็วใช้เวลาเพียงชั่วโมงเศษ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ โทร. 0 7649 1378 หรือคุระบุรี กรีน วิว รีสอร์ท โทร. 0 7649 1477 – 8 นักท่องเที่ยวควรติดต่อจองที่พักจากอุทยานฯ ล่วงหน้า และหน้าที่ทำการอุทยานฯ จะมีเรือให้เช่าไปเที่ยวตามเกาะต่าง ๆ


อันดามันใต้

หมู่เกาะสิมิลัน แนวปะการังใต้ทะเลที่รายรอบทั้งเก้าเกาะของสิมิลัน ล้วนได้รับการกล่าวขานว่าเป็นสวรรค์ของสัตว์ทะเล ที่เปิดโอกาสให้นักดำน้ำลึกได้ชื่นชม ความห่างไกลจากแผ่นดินใหญ่ทำให้ผืนน้ำที่ล้อมหมู่เกาะสิมิลันเป็นสีฟ้าใสที่น้ำตื้น และทะเลสีครามเข้มที่น้ำลึก เปิดทางให้แสงแดดส่องลึกไปขับสีปะการังอ่อนให้เข้ม เผยโฉมกัลปังหาและฝูงปลาสีสดใสให้สวยยิ่งขึ้น

เกาะตาชัย เป็นจุดดำน้ำตอนเหนือสุดของหมู่เกาะสิมิลัน จุดที่น่าสนใจของเกาะตาชัยอยู่ที่กองหินใต้น้ำทางทิศตะวันตก ตามกองหินเป็นที่อาศัยของปะการังอ่อน กัลปังหา ฝูงปลาหลายชนิด เช่น ปลาสาก ปลาหูช้าง นักดำน้ำชอบแวะเวียนมาที่เกาะตาชัย เพราะมีโอกาสสูงที่จะได้พบกระเบนราหูหรือฉลามวาฬ

เกาะบอน จุดดำน้ำถัดจากเกาะตาชัย แนวปลายแหลมด้านทิศตะวันตก เอียงลงไปถึงความลึกที่ 140 ฟุต ที่เกาะบอนนี้อุดมด้วยสัตว์ทะเลนานาชนิด กัลปังหา ปะการังอ่อน ฟองน้ำขนาดใหญ่ที่ความลึกประมาณ 100 ฟุต บางครั้งอาจพบฉลามครีบขาวและฉลามกบ ที่นี่ขึ้นชื่อเรื่องกระเบนราหู ที่แวะเวียนมาบ่อยครั้ง บางครั้งอาจได้พบปลายักษ์นี้สองสามตัวพร้อมกัน

เกาะหูยง อยู่บริเวณตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะหนึ่ง มีแนวปะการังเกาะตัวบนแนวหินและใกล้เคียง ทอดตัวยาวจากระดับผิวน้ำไปจนความลึก 120 ฟุต ด้านที่ตื้นเป็นปะการังแข็ง ส่วนปะการังอ่อน และกัลปังหาอยู่ลึกลงไป ตั้งแต่ความลึก 70 ฟุต เป็นต้นไป อาจพบปลาหลายชนิด เช่น ฉลามกบ ปลากระเบน ปลาสิงโต และกุ้งมังกร แถบนี้มีร่องน้ำและถ้ำใต้น้ำหลายแห่ง

จังหวัดพังงา :: กิจกรรมท่องเที่ยวน่าสนใจ

แนวปะการังเลียบชายหาดด้านตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะหนึ่ง แนวปะการังนี้ก่อตัวเป็นแนวยาวขนานตลอดชายฝั่ง ด้านตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะหูยง เป็นดงปะการังใหญ่หลากชนิดที่ต้องใช้เวลาชมถึง 2 -3 ชั่วโมง บริเวณนี้น้ำลึก 20-60 ฟุต สามารถดำน้ำได้ทั้งน้ำตื้นและน้ำลึก

หินสันฉลามหรือหินแพ แนวปะการังอยู่ห่างจากเกาะหูยงไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือราว 3.2 กิโลเมตร เป็นแนวหินที่ยอดเรี่ยน้ำ บริเวณนี้มีต้นกัลปังหาขนาดใหญ่มาก ขึ้นตามก้อนหินและพื้นทรายเป็นระยะ ปนกับปะการังอ่อน ที่ความลึก 70-90 ฟุต อาจพบฉลามเสือดาว มีรายงานว่ามีการพบฉลามวาฬและปลานโปเลียนบ้าง นับเป็นจุดดำน้ำที่ดีอีกจุดหนึ่ง

เบิร์ดร็อค จุดดำน้ำนี้อยู่ทางตอนใต้ของเกาะสี่ จุดดำน้ำเป็นหน้าผาตัดลงไปถึงความลึก 120 ฟุต ลงไปจะมีกัลปังหาขนาดใหญ่ เกาะตามแนวหน้าผา ในระดับลึกลงไปจะพบเต่าและฉลามกบอาศัยอยู่

สโตนเฮนจ์ เป็นแนวหน้าผาใต้น้ำ เพียงแต่อยู่ตอนเหนือของเกาะสี่หน้าผาใต้น้ำนี้อยู่ที่ระดับความลึก 60 ฟุต ถึง 120 ฟุต บริเวณนี้มีกัลปังหากอใหญ่มากมาย ปะการังอ่อน แส้ทะเล และฟองน้ำ ตามโขดหินอาจพบฉลามกบ และฉลามขนาดเล็กอื่น ๆ

ฮันนีมูนเบย์ จุดดำน้ำนี้อยู่ใกล้ชายหาดทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะสี่ สามารถดำน้ำได้ทั้งน้ำตื้นและน้ำลึกเพราะแนวปะการังอยู่ที่ระดับความลึกเพียง 15-70 ฟุต แนวปะการังจะเริ่มจากพื้นราบที่ความลึก 15 ฟุต ก่อนจะค่อยลาดลงไปถึง 70 ฟุต จุดนี้ควรดำน้ำตอนรุ่งเช้าหรือพลบค่ำ เพราะเป็นเวลาที่เหล่าปลานานาชนิดออกมาหากิน

อิสเทิร์นฟร้อน แนวปะการังนี้อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะห้า ใต้ทะเลเต็มไปด้วยก้อนหินน้อยใหญ่ บางก้อนสูงถึง 90 ฟุต ตามก้อนหินเหล่านี้ ถูกประดับประดาด้วยกัลปังหาและแส้ทะเล

สวนปลาไหล อยู่ทางทิศตะวันออกของเกาะห้า เป็นลานทรายกว้างซึ่งเป็นที่อยู่ของปลาไหลขนาดเล็กชนิดหนึ่งชื่อ Garden Eel ที่ขี้ตกใจ

แบทฟิชเบน (หินสามก้อน) แนวปะการังนี้อยู่ทางตอนเหนือของเกาะหก เป็นสวนปะการังแข็งขนาดใหญ่ตั้งแต่ความลึก 30-50 ฟุต มีสีสันของปลาดาวขนนก ฟองน้ำสีแดงสด และปลาดาวสีสวยชนิดอื่นคอยสลับ บางครั้งอาจพบปลาหูช้างอีกด้วย

เรือนกล้วยไม้ เป็นจุดดำน้ำอยู่ทางตะวันออกของเกาะหก เป็นจุดดำน้ำที่สามารถพบแนวปะการังที่สวยงามมากอีกแห่ง เพราะพื้นทะเลเต็มไปด้วยสีสันสดใสของปะการังอ่อน และกัลปังหา ฝูงปลาเล็กปลาน้อยรายล้อมตลอดแนวปะการัง มอร์นิ่ง เอจ แนวปะการังนี้อยู่ห่างจากเกาะเจ็ดมาทางตะวันออก เป็นดงปะการังอ่อนหลากสี กัลปังหา แส้ทะเล ที่ถูกล้อมรอบด้วยปะการังแข็งชนิดต่าง ๆ อยู่ที่ความลึก 30-40 ฟุต แนวปะการังแข็งขยายตัวลงไปถึงความลึก 110 ฟุต

ดีฟซิก แนวปะการังนี้อยู่ทางตอนเหนือของแจ็ด เป็นก้อนหินใหญ่ที่มีกัลปังหาพัด แส้ทะเล ปะการังแข็งชนิดต่าง ๆ ฟองน้ำปกคลุมอยู่ที่ความลึก 40-140 ฟุต จุดนี้จะพบปลาในแนวปะการังหลากชนิด

เกาะแปดเกาะเก้า เป็นอีกบริเวณที่มีจุดดำน้ำที่น่าสนใจหลายจุดให้ได้ชมความงามใต้ทะเล ได้แก่

-หินหัวกะโหลก อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะแปด เป็นกองหินใต้น้ำที่ความลึก 40-120 ฟุต ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของนักถ่ายภาพใต้น้ำ เพราะมีหลายมุมสวยงาม เช่น ผนังหินที่มีช่องว่างให้ยื่นหน้าออก ช่องแคบระหว่างผนังหินที่เต็มไปด้วยปะการังอ่อน กัลปังหา ดอกไม้ทะเล ฝูงปลาหลากสีสันทำให้หินหัวกะโหลกเป็นจุดดำน้ำที่ขึ้นชื่อแห่งหนึ่งของสิมิลัน บีคอนบีช (อ่าวกวางเอน) เป็นหาดทรายขนาดย่อมทางตะวันออกของเกาะสิมิลัน บริเวณนี้เป็นผืนทรายใต้น้ำที่ความลึก 18-30 ฟุต ก่อนจะลาดลงไปถึง 100 ฟุต นักดำน้ำสามารถชมปะการังได้ทั้งน้ำตื้นและน้ำลึก เพราะยอดปะการังอยู่ห่างจากผิวน้ำเพียง 10-15 ฟุต อาณาจักรปะการังแข็งเป็นที่อาศัยของฝูงปลานานาชนิด รวมทั้งปลาเก๋าและปลาไหลมอร์เรย์ นักดำน้ำจะได้พบปลาแตกต่างกันไปตามช่วงเวลา รุ่งเช้าและก่อนค่ำจะเป็นเวลาที่ปลาลอยตัวเหนือแนวปะการังเพื่อล่าเหยื่อ ส่วนตอนกลางคืนเป็นเวลาของกุ้ง ปูเสฉวน

- เทอเทิล กัลลี่ จุดดำน้ำนี้อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะสิมิลัน ตอนเหนือของบีคอนบีช เป็นดงปะการังแข็งหลายสายพันธุ์ที่ชูกิ่งก้านอวดสีสันกัน

- กองหินแฟนตาซี แนวปะการังนี้อยู่ห่างจากเกาะสิมิลันไปทางตะวันตกเพียง 150 เมตร นับเป็นแนวปะการังที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของสิมิลัน มีก้อนหินใต้น้ำที่ความลึก 30-40 ฟุต ไล่ไปจนถึง 90 ฟุต ระหว่างกองหินเต็มไปด้วยปลาหลากชนิด บางครั้งพบฝูงปลาโนรีนับร้อยตัว หรือกระเบนราหู กัลปังหาขนาดใหญ่เกาะตามหน้าผา สลับสีด้วยปลาดาวสีจัดจ้านชนิดต่าง ๆ

- คริสมาสต์พ้อยท์ แนวปะการังนี้อยู่ทางทิศตะวันตกของเกาะเก้า ในดงผาหินมีโพรงถ้ำหลายแห่งที่สามารถลอดได้ ตามผนังถ้ำมีดอกไม้ทะเล พืชและสัตว์เล็ก ๆ เกาะเต็มผนังดูสีสันสวยสดใส มีปะการังอ่อนหลายสีและฝูงปลาจำนวนมากว่ายเวียนไปมา

- เดอะ มอริง แนวปะการังนี้อยู่ห่างจากเกาะเก้ามาทางใต้ราว 300 เมตร มีจุดดำน้ำสองจุด คือที่ความลึก 60 ฟุต และ 40 ฟุต จุดแรกเป็นแอ่งขนาดใหญ่ ที่เป็นบ้านของปะการังอ่อนและเขากวาง อีกจุดหนึ่งเป็นซุ้มประตู โดยมีกัลปังหาพัดอยู่ด้านล่าง และแขวนตัวตามส่วนโค้งของซุ้ม

นักท่องเที่ยวสามารถติดต่อร้านดำน้ำในจังหวัดภูเก็ตที่มีอยู่เป็นจำนวนมากได้ ซึ่งจะมีบริการทั้งดำน้ำตื้นและน้ำลึก


การเดินทาง

ผู้ที่จะเดินทางไปหมู่เกาะสิมิลัน ต้องลงเรือที่ท่าเรือทับละมุ เพราะจะอยู่ใกล้อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลันที่สุด หากมาจากอำเภอเมืองพังงา มีรถโดยสารประจำทาง สายพังงา-ท่าเรือทับละมุ ออกจากสถานีขนส่งพังงา จากอำเภอท้ายเหมืองมีรถสองแถว ท้ายเหมือง-ทับละมุ หรือติดต่อ บริษัท เม็ดทรายทัวร์ มีเรือให้เช่าเหมาลำขนาด 30-60 คน ใช้เวลาเดินทาง 4 ชั่วโมง โทร. 0 7644 3276 0 1893 8042 สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการดำน้ำลึก มีเรือ liveaboard มากมายในภูเก็ตที่นำเที่ยวหมู่เกาะสิมิลัน

รถยนต์ จากกรุงเทพฯ ไปตามทางหลวงหมายเลข 4 ถนนเพชรเกษม ไปอำเภอคุระบุรี และก่อนถึงอำเภอคุระบุรี 6 กิโลเมตร บริเวณกิโลเมตรที่ 721 มีทางแยกให้เลี้ยวซ้ายเข้าท่าเรือคุระบุรี ประมาณ 2 กิโลเมตร

รถโดยสารประจำทาง มีรถออกจากสถานีขนส่งสายใต้ ถนนบรมราชชนนี วันละ 2 เที่ยว เวลา 19.00 น. และ 21.00 น. ใช้เวลาเดินทาง 10 ชั่วโมง บริษัท ลิกไนท์ จำกัด โทร. 0 2435 5016 0 2435 7428

จังหวัดพังงา :: สถานที่ท่องเที่ยว อำเภอเมือง

ศาลากลางจังหวัดพังงาหลังเก่า
ตั้งอยู่บนถนนเพชรเกษม ห่างจากตัวเมือง 3.5 กิโลเมตร สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2473 ในสมัยรัชกาลที่ 7 บนพื้นที่ 12 ไร่ 3 งาน 25.7 ตารางวา ศาลากลางแห่งนี้เป็นตึกชั้นเดียวทรงปั้นหยา กึ่งกลางอาคารด้านหน้าต่อเป็นมุขเปิดโล่ง ด้านหน้าอาคารเป็นระเบียงยาวตลอดตัวอาคาร ปลายปีกอาคารทั้งสองข้างจัดเป็นห้องโถงใหญ่ เสาเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ฝาผนังก่ออิฐถือปูน พื้นอาคารเป็นไม้เนื้อแข็ง หลังคาปูด้วยกระเบื้องซีเมนต์

เขาช้าง
หากเดินทางจากตัวตลาดของจังหวัดไปทางตำบลโคกกลอย ผ่านหน้าศาลากลางจังหวัดหลังเก่า มองไปทางขวามือจะเห็นภูเขาขนาดใหญ่ รูปร่างคล้ายช้างหมอบ ชาวเมือง เรียกว่า เขาช้าง ถือเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัด

ถ้ำฤาษีสวรรค์และถ้ำลูกเสือ
อยู่ในสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ ถนนเขาช้าง เขตเทศบาลเมือง ริมถนนเพชรเกษม เยื้องกับศาลากลางจังหวัด ถ้ำฤาษีสวรรค์และถ้ำลูกเสือเป็นถ้ำที่สามารถทะลุถึงกันได้ ถ้ำฤาษีสวรรค์อยู่ด้านหน้าถ้ำลูกเสือ ภายในถ้ำทั้งสองเย็นสบาย มีธารน้ำใสและมีหินงอกหินย้อย ด้านหน้าถ้ำริมถนนเพชรเกษม เทศบาลจัดเป็นสวนสาธารณะให้ประชาชนพักผ่อน

ถ้ำพุงช้าง
อยู่ในเขตเทศบาลเมืองพังงาหลังศาลากลางจังหวัด ก่อนเข้าตัวตลาดพังงา มีทางราดยางเข้าไป 500 เมตร ถึงวัดประพาส ประจิมเขต แล้วเดินเข้าไปยังถ้ำในบริเวณวัดได้ สภาพภายในถ้ำมีหินงอกหินย้อยและธารน้ำไหลตลอดปี

อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา
มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในเขตท้องที่ของอำเภอเมืองพังงา อำเภอตะกั่วทุ่ง และอำเภอเกาะยาว ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 250,000 ไร่ หรือ 400 ตารางกิโลเมตร อุทยานฯ แห่งนี้เป็นอุทยานแห่งชาติประเภทชายฝั่งทะเลแห่งที่สองของประเทศ มีความงดงามของทิวทัศน์ชายฝั่ง และทิวทัศน์เหนือผิวน้ำ อุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าชายเลน และยังเป็นแหล่ง ขยายพันธุ์สัตว์น้ำมากมาย ซึ่งอุทยานฯแห่งนี้จะอยู่ในเวิ้งอ่าวพังงาที่เต็มไปด้วยเกาะหินปูน ซึ่งสวยงามด้วยรูปลักษณ์ อุทยานฯ แห่งนี้ประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2524

ถ้ำเขางุ้ม
อยู่ตรงข้ามทางเข้าถ้ำพุงช้าง ภายในมีหินงอกหินย้อยสวยงดงาม และบริเวณด้านหนึ่งของถ้ำมีเปลือกหอยมากมายอัดติดอยู่กับภูเขา

ถ้ำซ้ำ
เป็นถ้ำเก่าแก่ขนาดเล็ก ตั้งอยู่ที่บ้านฝายท่า หมู่ที่ 2 ตำบลถ้ำน้ำผุด (อยู่ด้านหลังตลาด) ห่างจากที่ว่าการอำเภอเมืองพังงา ประมาณ 5 กม. บริเวณหน้าถ้ำมีสระน้ำที่เกิดตาม ธรรมชาติขนาดใหญ่ ส่วนภายในถ้ำมีภาพเขียนสีโบราณ อายุประมาณ 200-250 ปี เป็นภาพนก ภาพพระจีน ภาพหนังตะลุง และมีรูปสลักพระพุทธรูปที่หินบริเวณปากถ้ำ

วนอุทยานสระนางมโนห์รา หรือ ธารน้ำตกสระนางมโนห์รา
อยู่ในเขตตำบลนบปริง อำเภอเมือง การเดินทางไปชมธารน้ำตกสระนางมโนห์รานี้ ใช้เส้นทางพังงา-กระบี่ (ทางหลวง แผ่นดิน หมายเลข 4) ไป 3 กิโลเมตร แล้วแยกขวาข้างสถานีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตไปอีก 3 กิโลเมตร ถึงบริเวณธารน้ำตก วนอุทยานสระนางมโนห์ราแห่งนี้ มีพื้นที่กว้างประมาณ 180 ไร่ สภาพโดยทั่วไปเป็นป่าที่ร่มรื่น มีพันธุ์ไม้ต่างๆ อยู่มาก ลักษณะเด่นของวนอุทยานแห่งนี้คือ ธารน้ำตกที่เกิดจาก ลำธารไหลจากไหล่เขาตกลงสู่แอ่งน้ำขนาดใหญ่ตลอดปี

จังหวัดพังงา :: สถานที่ท่องเที่ยว อำเภอตะกั่วทุ่ง

วัดสุวรรณคูหา
ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ตำบลกระโสม อำเภอตะกั่วทุ่ง การเดินทางใช้เส้นทางทางหลวงหมายเลข 4 สายพังงา-บ้านโคกกลอย ไปประมาณ 7 กิโลเมตร ถึงหลักกิโลเมตรที่ 31 อำเภอตะกั่วทุ่ง จะมีถนนราดยาง แยกเข้าขวามือไปอีก 1 กิโลเมตร

วัดสุวรรณคูหานี้ชาวบ้านทั่วไป เรียกว่า “วัดถ้ำ” เป็นวัดที่น่าสนใจและมีความสำคัญ ที่สุดของจังหวัดพังงา เนื่องจากเป็นโบราณสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ และทางโบราณคดี ในบริเวณที่ตั้งวัดมีภูเขาลูกหนึ่ง ซึ่งเขาลูกนี้มีถ้ำใหญ่น้อยหลายแห่ง ถ้ำที่สำคัญได้แก่ถ้ำใหญ่ ถ้ำแจ้ง ถ้ำมือและถ้ำแก้ว ถ้ำใหญ่อยู่ตอนล่างสุด เวลาเข้าถ้ำจะต้องผ่านถ้ำนี้ก่อนเสมอ มีขนาดใหญ่กว่าถ้ำอื่น กว้างประมาณ 20 เมตรเศษ ยาวประมาณ 40 เมตรเศษ พื้นถ้ำเรียบ เพดานโค้งครึ่งวงกลมเหมือนประทุนเรือ ตลอดความยาวของถ้ำประดับตกแต่งด้วยกระเบื้อง ถ้วย จานเชิงลายครามและเบญจรงค์ ชนิดขนาดต่างๆ ถ้ำใหญ่ใช้เป็นวิหารมีพระพุทธรูปปูนปั้นต่างๆ ประดิษฐานอยู่จำนวนหลายองค์ ที่สำคัญคือ พระพุทธไสยาสน์ ขนาดยาว 7 วา 2 ศอก องค์หนึ่งมีความสวยงามมาก นอกจากนั้นยังมีพระปรมาภิไธยย่อของพระเจ้าแผ่นดินและพระราชวงศ์หลายพระองค์

น้ำตกรามัญ
อยู่ใกล้กับวัดถ้ำสุวรรณคูหา จากกิโลเมตรที่ 31 มีทางแยกขวาเข้าไปอีก 7 กิโลเมตร น้ำตกรามัญเป็นน้ำตกขนาดกลาง บริเวณโดยรอบเป็นป่ารกมีน้ำตกตลอดปี มีศาลานั่งพักขนาดใหญ่ 1 หลัง นอกจากนี้ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นใด

ชายทะเลท่านุ่น
จากทางหลวงหมายเลข 4 ต่อเข้าสู่จังหวัดภูเก็ต โดยใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 402 ก่อนถึงเกาะภูเก็ตบริเวณช่องแคบปากพระ จะแลเห็นหาดทรายทั้งด้านซ้ายและด้านขวา ที่หาดทรายนี้ทุก ๆ ปี จะมีเต่าขึ้นมาวางไข่อยู่เสมอ

ชายทะเลเขาปิหลาย
อยู่ในเขตตำบลโคกกลอย และอำเภอตะกั่วทุ่ง ห่างจากที่ว่าการอำเภอไปทางทิศใต้ประมาณ 32 กิโลเมตร แยกจากถนนสายบ้านโคกกลอย-บ้านท่านุ่น เข้าไปประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นชายหาดที่ต่อเนื่องกับชายหาดท่านุ่น บริเวณชายหาดมีโขดหิน หาดทรายขาวลงเล่นน้ำได้

จังหวัดพังงา :: สถานที่ท่องเที่ยว อำเภอกะปง

วัดนารายณิการาม
ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 3 ตำบลเหล ห่างจากที่ว่าการอำเภอประมาณ 14 กิโลเมตร เป็นที่ประดิษฐานเทวรูปพระนารายณ์ พระลักษณ์และนางสีดา รูปสลักเหล่านี้มีความสำคัญเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของเมือง “ตะโกลา” (ชื่อเดิมของเมืองตะกั่วป่า) และการเผยแพร่เข้ามาของวัฒนธรรมอินเดียในภูมิภาคแถบนี้

บ่อน้ำพุร้อนอำเภอกะปง
ตั้งอยู่ที่ตำบลท่านา อยู่ห่างจากตัวอำเภอกะปง 8 กิโลเมตร มีน้ำแร่ไหลผ่านซอกชั้นหินต่างๆ ตามหุบเขา ทางอำเภอได้จัดบ่อกักน้ำแร่ไว้ น้ำแร่มีอุณหภูมิประมาณ 65 องศาเซลเซียส

น้ำตกลำรู่
อยู่ในเขตป่าเทือกเขากระได เป็นน้ำตกที่มีความสูงขนาดกลางรวม 5 ชั้น สามารถเดินทางโดยใช้ถนนแยกจากทางหลวง 4090 ผ่านที่ว่าการอำเภอกะปง ไปยังหมู่บ้านลำรู่ ประมาณ 9 กิโลเมตร และเดินทางต่อไปยังน้ำตกลำรู่อีก 1 กิโลเมตร

จังหวัดพังงา :: การเดินทาง

การเดินทางจากพังงาไปยังจังหวัดใกล้เคียง

กระบี่ 96 กิโลเมตร
ภูเก็ต 87 กิโลเมตร
สุราษฏร์ธานี 196 กิโลเมตร
ระนอง 226 กิโลเมตร

รถยนต์

สามารถใช้ได้สองเส้นทางได้แก่

เส้นทางแรก จากกรุงเทพฯ ไปตามทางหลวงหมายเลข 4 ผ่านจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง จากนั้นจึงเข้าสู่ตัวเมืองจังหวัดพังงา รวมระยะทาง 788 กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินทาง 12 ชั่วโมง

เส้นทางที่สอง จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 4 ไปจนถึงจังหวัดชุมพร และจากจังหวัดชุมพรให้ตรงไปใช้ทางหลวงหมายเลข 41 ผ่านอำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี แล้วแยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 401 จนถึงอำเภอบ้านตาขุน จังหวัดสุราษฎร์ธานี จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข 415 ผ่านอำเภอทับปุดเข้าสู่ตัวเมืองพังงา

รถไฟ

การรถไฟแห่งประเทศไทย มีขบวนรถไฟออกจากกรุงเทพฯ ไปลงที่สถานีพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี แล้วต่อรถโดยสารประจำทางไปจังหวัดพังงาอีกประมาณ 2 ชั่วโมง สอบถามรายละเอียดได้ที่ สถานีรถไฟหัวลำโพง โทร. 1690, 0 2223 7010, 0 2223 7020 หรือ www.railway.co.th

รถโดยสารประจำทาง

บริษัท ขนส่ง จำกัด มีรถโดยสารประจำทางทั้งแบบปรับอากาศและธรรมดา กรุงเทพฯ-พังงา บริการทุกวัน ออกจากสถานีขนส่งสายใต้ ถนนบรมราชชนนี ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 10 ชั่วโมง สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 0 2435 1199 (รถปรับอากาศ) โทร. 0 2434 5557-8 (รถธรรมดา) สถานีพังงา ถนนเพชรเกษม (หลังธนาคารหลวงไทย) โทร. 0 7641 2300, 0 7641 2014 หรือ www.transport.co.th

นอกจากนั้นจากจังหวัดพังงา มีรถโดยสารไปยังจังหวัดต่าง ๆ คือ ภูเก็ต กระบี่ ตรัง พัทลุง หาดใหญ่ สงขลา ปัตตานี นราธิวาส สุไหง-โกลก อ.บ้านตาขุน อ.พุนพิน จ.สุราษฏร์ธานี และจากอำเภอเมืองมีรถประจำทางจากตลาดไปท่าเรือท่าด่านศุลกากร ที่สามารถเช่าเรือไปอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงาได้ด้วย

เครื่องบิน

การเดินทางไปพังงาทางเครื่องบิน นักท่องเที่ยวสามารถใช้บริการเที่ยวบินไปลงจังหวัดภูเก็ต จากนั้นต่อรถโดยสารประจำทางไปจังหวัดพังงา ระยะทางประมาณ 58 กิโลเมตร หรือเทียวบินไปจ้งหวัดระนอง จากนั้นต่อรถโดยสารประจำทางไปจังหวัดพังงา โดยใช้เวลาเดินทางต่อประมาณ 3 ชั่วโมง

การเดินทางจากอำเภอเมืองพังงาไปยังอำเภอต่างๆ

อำเภอเมือง - กิโลเมตร
อำเภอตะกั่วทุ่ง 12 กิโลเมตร
อำเภอทับปุด 26 กิโลเมตร
อำเภอกะปง 47 กิโลเมตร
อำเภอท้ายเหมือง 57 กิโลเมตร
อำเภอตะกั่วป่า 65 กิโลเมตร
อำเภอคุระบุรี 125 กิโลเมตร
อำเภอเกาะยาว 138 กิโลเมตร

จังหวัดพังงา :: สถานที่ท่องเที่ยว อำเภอคุระบุรี

อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน
คำว่า “สิมิลัน” เป็นภาษายาวี หรือ มลายู แปลว่า เก้า หรือ หมู่เกาะเก้า หมู่เกาะสิมีลัน อยู่ในท้องที่ตำบลเกาะพระทอง อำเภอคุระบุรี ครอบคลุมพื้นที่ 80,000 ไร่ ประกาศเป็นเขตอุทยานฯ เมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2525 หมู่เกาะ สิมิลันเป็นหมู่เกาะเล็ก ๆ ในทะเลอันดามัน มีทั้งหมด 9 เกาะ เรียงลำดับจากเหนือมาใต้ ได้แก่ เกาะบอน เกาะบายู เกาะสิมิลัน เกาะปายู เกาะเมี่ยง (มี 2 เกาะ ติดกัน) เกาะปาหยัน เกาะปายัง เกาะหูยง ที่ทำการอุทยาน ฯ อยู่ที่เกาะเมี่ยง เพราะเป็นเกาะที่น้ำจืด หมู่เกาะเหล่านี้ได้รับการยกย่องจากนิตยสารสกินไดวิ่งของอเมริกา ว่าเป็นหมู่เกาะที่มีความงามทั้งบนบกและใต้น้ำ เป็น 1 ใน 10 ของโลก หมู่เกาะสิมิลันอยู่ห่างจากตัวจังหวัดไปทางทิศตะวันตก ประมาณ 70 กิโลเมตร

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน

-เกาะสิมิลัน
เป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดในหมู่เกาะสิมิลัน ลักษณะอ่าวสิมิลันมีรูปโค้งเหมือนเกือกม้า น้ำลึกโดยเฉลี่ยประมาณ 60 ฟุต ใต้ท้องทะเลอุดมไปด้วยกองหินและแนวปะการัง มีทั้งปะการังเขากวาง ปะการังใบไม้ ปะการังสมอง และปะการังดอกเห็ดขนาดใหญ่ที่มีความสมบูรณ์มาก ในประเทศไทย สภาพหาดทรายเนื้อละเอียดสวยงามมาก เหมาะสำหรับดำน้ำดูปลาและปะการัง ทางด้านเหนือของเกาะมีก้อนหินขนาดใหญ่ รูปร่างแปลกตาอยู่มาก เช่นหินรูปรองเท้าบู๊ท หรือรูปหัวเป็ดโดนัลด์ดั๊ก ตอนบนที่ตรงกับแนวหาดมีหินรูปเรือใบ ซึ่งเป็นจุดชมวิวที่สวยงาม

-เกาะบางู หรือ เกาะหัวกะโหลก
เป็นเกาะอันดับที่ 7 ของหมู่เกาะสิมิลัน มีลักษณะแปลกมาก เมื่อมองดูจากมุมหนึ่งจะเห็นรูปหัวกะโหลก สภาพใต้น้ำมีความสวยงามเหมือนหุบเขาใต้น้ำที่เต็มไปด้วยปะการัง หุบเหวลึก และฝูงปลาน้อยใหญ่มากมาย

-เกาะหูยง
เป็นเกาะที่มีหาดทรายขาวสะอาดและยาวมากที่สุดในเก้าเกาะ เมื่อถึงฤดูวางไข่ของเต่าคือระหว่างเดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนกุมภาพันธ์ จะมีร่องรอยของเต่าที่ขึ้นมาวางไข่บนชายหาดคล้ายกับรอยตีนตะขาบเล็ก

-เกาะเมี่ยง
เป็นเกาะขนาดใหญ่รองจากสิมิลัน เป็นที่ตั้งของที่ทำการอุทยานฯ มีแหล่งน้ำจืด มีหาดทรายที่สวยงาม เหมาะแก่การพักแรม

ฤดูท่องเที่ยว
อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยวได้ตั้งแต่ประมาณเดือนพฤศจิกายน-พฤษภาคม แต่ช่วงเวลาที่น่าท่องเที่ยวมากที่สุด คือ ระยะปลายเดือนธันวาคมถึงกลางเดือนเมษายน สำหรับช่วงเดือนมีนาคมจะเป็นช่วงที่อากาศดีที่สุด ไม่มีมรสุมและน้ำใส สามารถดำน้ำและตกปลาได้ดี และที่อุทยาน ฯ แห่งนี้จะมี เต่ามะเฟือง ขึ้นมาวางไข่อยู่เสมอ

การเดินทางไปอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน

- ท่าเรือทับละมุ
อำเภอท้ายเหมือง ระยะทาง 40 กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินทาง ประมาณ 3-4 ชั่วโมง มีเรือขนาดใหญ่สำหรับให้เช่าไปเกาะสิมิลัน ช่วงที่ใกล้ที่สุด คือ ท่าเรือทับละมุ บริเวณท่าเรือทับละมุมีที่ทำการอุทยานฯ ตั้งอยู่เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว และสามารถจองเรือผ่านทางเจ้าหน้าที่ของอุทยานฯ ได้

- ท่าเรือในเขตอำเภอคุระบุรี
อยู่ห่างจากหมู่เกาะสิมิลัน 40 กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินทาง 3 ชั่วโมง

- จากท่าเรือหาดป่าตอง
จังหวัดภูเก็ตถึงเกาะสิมิลัน ระยะทาง 70 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 6-7 ชั่วโมง ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ บริษัทนำเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต หรือเดินทางโดยเรือท่องเที่ยว โดยมีเรือออกจากท่าเรือหาดป่าตองทุกวันอังคาร พฤหัสบดี และเสาร์ เวลา 08.00 น. ใช้เวลาดินทาง 3 ชั่วโมงครึ่ง

ที่พักในเขตอุทยานฯ

มีที่พักทั้งบังกะโลและเต็นท์สำหรับนักท่องเที่ยวและมีบริการอาหารและเครื่องดื่มด้วย โดยมีบ้านพักจำนวน 4 หลัง พักได้หลังละ 20 คน ราคาหลังละ 2,000 บาท เต็นท์ 35 หลัง หลังละ 100 บาท หากนำเต็นท์มาเองจะต้องขออนุญาตกางเต็นท์โดยเสียค่ากางเต็นท์ 10 บาท นอกจากนี้นักท่องเที่ยวต้องเสียค่าขึ้นเกาะคนละ 20 บาท

การติดต่อ
อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน หมู่ 1 ทับละมุ ตำบลลำแกน อำเภอ ท้ายเหมือง จังหวัดพังงา 82120 โทร. (076) 411913-4

อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์
ตั้งอยู่ตำบลเกาะพระทอง อำเภอคุระบุรี ครอบคลุมพื้นที่ทั้งสิ้นประมาณ 84,375 ไร่ หรือ 135 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยเกาะ 5 เกาะ คือ เกาะสุรินทร์เหนือ เกาะสุรินทร์ใต้ เกาะรี เกาะไข่ และเกาะกลาง ประกาศเป็นเขตอุทยานฯ เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2524 เป็นหมู่เกาะที่ตั้งอยู่ในทะเลอันดามันและยังเป็นหมู่เกาะที่อยู่ติดกับเขตชายแดนไทย-พม่า ห่างจากชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกของไทย มีแนวปะการังน้ำตื้นที่อุดมสมบูรณ์และสวยงาม เหมาะเป็นแหล่งดำน้ำตื้นดูปะการัง

อุทยานแห่งชาติศรีพังงา
ครอบคลุมพื้นที่อยู่ในที่อำเภอคุระบุรี อำเภตะกั่วป่า ห่างจากจังหวัดไปทางทิศเหนือประมาณ 100 กิโลเมตร มีเนื้อที่ทั้งสิ้นประมาณ 246.08 ตารางกิโลเมตร หรือ 153,860 ไร่ อุทยานแห่งชาติศรีพังงาได้รับการจัดตั้งเป็นอุทยานเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ เป็นอุทยานแห่งชาติแห่งหนึ่งที่มีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติประเภทป่าไม้และสัตว์ป่า

จังหวัดพังงา :: สถานที่ท่องเที่ยว อำเภอท้ายเหมือง

อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง
อยู่ในเขตตำบลท้ายเมือง ตำบลทุ่งมะพร้าว ตำบลนาเตย ตำบลบางทอง ตำบลลำแก่น อำเภอท้ายเหมือง มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณพื้น 45,000 ไร่ ประกาศเป็นเขตอุทยานฯ เมื่อวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2529


จังหวัดพังงา :: สถานที่ท่องเที่ยว อำเภอเกาะยาว

เกาะยาว
มีพื้นที่ประมาณ 137.6 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วย 2 เกาะใหญ่ คือ เกาะยาวน้อย และเกาะยาวใหญ่ ล้อมรอบด้วยเกาะเล็ก ๆ มีชายหาดที่น่าสนใจ ได้แก่

หาดป่าทราย
อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอเกาะยาว บนเกาะยาวน้อยประมาณ 7 กิโลเมตร หาดทรายขาวสะอาด มีทิวไม้ร่มรื่น สามารถลงเล่นน้ำได้โดยปลอดภัย สามารถมองเห็นทิวทัศน์เกาะต่างๆ ของจังหวัดกระบี่

หาดคลองจาก
เป็นจุดชมวิวบริเวณนี้สามารถมองเห็นทิวทัศน์เกาะยาวได้เกือบทั้งหมด

หาดท่าเขา
อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอเกาะยาวประมาณ 5 กิโลเมตร หาดทรายประกอบด้วยโขดหิน นอกจากนี้ยังมีก้อนหินเล็กๆ หลายสี หลายลวดลาย ห่างจากฝั่งออกไปเล็กน้อยมีเกาะนก ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ ยามน้ำแห้งสามารถเดินไปเที่ยวเกาะนี้ได้โดยสะดวก บนเกาะมีไม้ป่าและกล้วยไม้ขึ้นอยู่ทั่วไป

อ่าวตีกุด
เป็นอ่าวที่มีหาดทรายขาวสะอาด ทางทิศเหนือของอ่าวมีแหลมซึ่งมีหินและทิวทัศน์สวยงาม ชายฝั่งมีทิวสนร่มรื่น

อ่าวคลองสน
หาดทรายขาวสะอาดร่มรื่นไปด้วยทิวสน ทางด้านซ้ายมือมีโขดหินและก้อนหินเล็กๆ หลากสีสวยงาม ที่อ่าวนี้เล่นน้ำทะเลได้ และสามารถชมปะการังได้

อ่าวหินกอง
อยู่บนเกาะยาวใหญ่ เป็นหาดร่มรื่นได้ด้วยป่าไม้เคียม มีลูกปลากระเบนอาศัยอยู่มากมาย ไม่เหมาะกับการลงเล่นน้ำ ที่อ่าวนี้ยังมีชาวบ้านมุสลิมทำอาชีพหาปลาอาศัยอยู่

อ่าวล้าน
เป็นหาดทรายสวยงาม ลงเล่นน้ำได้ ทิศเหนือของแหลมเป็นหน้าผาชันลึก น้ำลึก การเดินทาง ทางเรือเป็นการเดินทางที่สะดวกที่สุด ส่วน ทางบกจะเดินทางไม่สะดวก

อ่าวทราย
เป็นหาดทรายขาวละเอียด มีโขนหินที่สวยงาม และสามารถเล่นน้ำได้

โละปาแรด
เป็นหาดทรายร่มรื่นไปด้วยสวนมะพร้าว หาดทรายขาวละเอียดเป็นแนวยาวเหยียด ทางเหนือของอ่าวมีแหลมประกอบด้วยโขดหินสวยงาม ลงเล่นน้ำทะเลได้

แหลมหาด
เป็นหาดทรายขาวละเอียดยาวมาก ร่มรื่นด้วยสวนมะพร้าว มะม่วงหิมพานต์ และป่าสน ไปได้สะดวกทั้งทางบกและทางเรือ

แหลมทราย
เป็นหาดทรายขาวละเอียด มีโขดหินสวยงาม เล่นน้ำได้

แหลมนกออก
เป็นหาดทรายประกอบด้วยโขดหิน และก้อนหินหลากสีสวยงาม สามารถเล่นน้ำได้

นอกจากนี้บริเวณโดยรอบเกาะยาวยังมีเกาะเล็ก ๆ ที่มีหาดทรายขาวสะอาด และมีทิวทัศน์งดงาม เช่น เกาะไข่นอก เกาะไข่ใน เกาะมดตะนอย และเกาะห้อง (อยู่ในเขตจังหวัดกระบี่)

การเดินทางไปเกาะยาว
ที่สะดวกที่สุด คือ ที่ท่าเรือบางโรง หรือท่าเรืออ่าวปอ จังหวัดภูเก็ต โดยมีเรือเมล์โดยสารไปเกาะยาวน้อยในอัตรา 40 บาท/คน/เที่ยว เวลา 08.00 น. และ 11.00 น. และมีเรือหางยาวเช่าเหมาลำในราคาประมาณ 500-1,000 บาท ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังมีเรือเร็วขนาดต่างๆ ในราคา 4,000-6,000 บาท สำหรับการเดินทางไปเกาะยาวใหญ่มีเรือหางยาวข้ามฟากจากท่าเรือมาเนาะที่เกาะยาวน้อยในราคา 20 บาท/คน/เที่ยว ใช้เวลาประมาณ 20 นาที หรือเดินทางจากท่าเรืออ่าวพังงา และท่าเรือแลมสัก อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ ทั้ง 2 แห่ง พร้อมมีเรือเช่าเหมาลำ

จังหวัดพังงา :: เทศกาล งานประเพณี

งานประเพณีปล่อยเต่า
กำหนดวันจัดงานตรงกับเดือนมีนาคม ของทุกปี มีการจัดงานเฉลิมฉลองเป็นเวลา 7 วัน กิจกรรมที่สำคัญของงาน คือ การปล่อยลูกเต่าลงสู่ทะเลที่บริเวณหาดท้ายเหมือง

จังหวัดพังงา :: ของฝาก ของที่ระลึก

ดอกไม้ประดิษฐ์จากยางพารา
เป็นดอกไม้ประดิษฐ์ที่มีความประณีตสวยงาม และเกิดขึ้นจากความคิดสร้างสรรค์ของแม่บ้านเกษตรกร จังหวัดพังงา ปัจจุบันเป็นสินค้าของที่ระลึกประจำจังหวัด หากเดินทางไปในตัวจังหวัดพังงาสามารถซื้อดอกไม้ประดิษฐ์นี้ได้ที่สำนักงานเกษตรกร หรือที่กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เกษตรกรจังหวัดพังงาใน วันและเวลาราชการ โทร. 412019

ผลิตผลทางการเกษตรและอาหารทะเล
พังงามีแหล่งผลิตกะปิ จากกุ้งฝอยที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง เช่นกะปิเกาะยาว กะปิเกาะปันหยี และยังเป็นแหล่งผลิตกุ้งเสียบออกสู่ตลาดในจังหวัด ใกล้เคียง หากเดินทางผ่านจังหวัดพังงาสามารถแวะซื้อสินค้าพื้นเมืองเหล่านี้ได้ที่ตลาดสด ในอำเภอเมือง ตลาดนัดตามชุมชนต่าง ๆ และตลาดสดอำเภอตะกั่วทุ่งได้ทุกวันข้อมูลนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้

จังหวัดพังงา :: สถานที่ท่องเที่ยว อำเภอตะกั่วป่า

เมืองโบราณบ้านทุ่งตึก
ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 3 ตำบลเกาะคอเขา ระหว่างปลายคลองเมืองทองกับปลายคลองทุ่งตึก บริเวณนี้เป็นปากแม่น้ำตะกั่วป่า ลักษณะพื้นที่เป็นลานทราย มีต้นไม้ขึ้น บางแห่งก็เป็นป่าละเมาะ เหตุที่ชาวบ้านทั่วไปเรียก “ทุ่งตึก” เนื่องมาจากบนลานทรายระหว่างป่าละเมาะในเนื้อที่หลายสิบไร่นี้ มีซากอาคารโบราณสถานคล้ายตึกหรือวิหารอยู่ไม่น้อยกว่า 3 แห่ง แล้วยังพบชิ้นส่วนของศาสนสถานและสัญลักษณ์รูปเคารพในศาสนาพราหมณ์ อาทิ แผ่นศิลาสลักเป็นแท่นเจาะรูคล้ายกับเป็นแท่นศิลารองฐานศิวลึงค์ หรือเทวรูป นอกจากนี้แล้วตามพื้นดินยังเต็มไปด้วยเศษกระเบื้องถ้วยชามเครื่องเคลือบของจีน เศษภาชนะเครื่องปั้นดินเผา เศษภาชนะทำด้วยแก้วสีต่างๆ พร้อมด้วยลูกปัดชนิดและสีต่างๆ มากมาย เงินเหรียญอินเดียกระจายเต็มบริเวณที่เป็นโบราณสถานทุ่งตึก นักปราชญ์ทางโบราณคดีส่วนใหญ่ลงความเห็นว่าทุ่งตึกเป็นที่ตั้งเมืองท่าโบราณ ซึ่งชาวอินเดีย อาหรับ และชาวมลายูรู้จักเป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นเมืองท่าค้าขายเครื่องเทศสำคัญแห่งหนึ่งทางฝั่งทะเลตะวันตกของแหลมมลายู ตั้งอยู่ในทำเลและสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่เหมาะสมในการอาศัยจอดเรือหลบคลื่นลม มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์อยู่ใกล้ทะเลหลวง เรือขนาดใหญ่ก็สามารถเข้าออกสะดวก และอยู่ตรงปากแม่น้ำตะกั่วป่า การคมนาคมทางเรือทั้งขึ้นและล่องตามลำแม่น้ำจะต้องผ่านเสมอ

การเดินทาง ไปชมเมืองโบราณบ้านทุ่งตึกโดยรถโดยสารไปลงที่สถานีขนส่งตะกั่วป่า แล้วสามารถต่อรถสองแถวหรือจักรยานยนต์รับจ้างไปยังท่าเรือบ้านน้ำเค็ม แล้งลงเรือโดยสารต่อไปยังเมืองโบราณได้ตั้งแต่เวลา 06.00-18.00 น. ทุกวัน

หาดบางสัก
อยู่ในท้องที่ตำบลบางม่วง ริมถนนสายเพชรเกษมช่วงท้ายเหมือง-ตะกั่วป่า กิโลเมตรที่ 76-77 มีทางแยกซ้ายมือเข้าไป 100 เมตร ชายหาดบางสักมีหาดทรายขาวสะอาดยาวขนานกับทิวสนร่มรื่น มีที่พักและร้านอาหารเปิดบริการแก่นักท่องเที่ยว

อุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่
ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อเดือนสิงหาคม 2534 มีพื้นที่ประมาณ 150 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ในเขตอำเภอท้ายเหมือง อำเภอกะปง อำเภอตะกั่วป่า และอำเภอเมือง

จังหวัดพังงา :: สถานที่ท่องเที่ยว อำเภอทับปุด

น้ำตกเต่าทอง
ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 ในเขตตำบลบ่อแสน ห่างจากที่ว่าการอำเภอประมาณ 9 กิโลเมตร การเดินทางใช้เส้นทางสายเดียวกับทางไปวนอุทยานสระนางมโนห์รา เลยไปถึงหมู่ที่ 3 ตำบลบ่อแสน จะมีทางลูกรังแยกเข้าน้ำตกอีก 11 กิโลเมตร

0 ความคิดเห็น: