วันศุกร์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

การท่องเที่ยวจังหวัดอำนาจเจริญ

:: จังหวัดอำนาจเจริญ ::

" พระมงคลมิ่งเมือง แหล่งรุ่งเรืองเจ็ดลุ่มน้ำ งามล้ำถ้ำศักดิ์สิทธิ์ เทพนิมิตรพระเหล่า
เกาะแก่งเขาแสนสวย เลอค่าด้วยผ้าไหม ราษฎร์เลื่อมใส ใฝ่พุทธธรรม "

จังหวัดอำนาจเจริญ :: ข้อมูลทั่วไป

จังหวัดอำนาจเจริญ ตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ระยะทางห่างจากกรุงเทพฯ โดยเส้นทางรถยนต์ประมาณ 568 กิโลเมตร มีพื้นที่การปกครองทั้งสิ้น 3,161.248 ตารางกิโลเมตร เริ่มตั้งเป็นเมืองในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยขึ้นอยู่กับนครเขมราฐ ต่อมาจึงได้ย้ายมาขึ้นต่อเมืองอุบลราชธานี จนกระทั่งได้รับการประกาศจัดตั้งเป็นจังหวัดอำนาจเจริญ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2536

อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดต่อกับจังหวัดยโสธร ที่อำเภอเลิงนกทา และจังหวัดมุดาหาร ที่อำเภอดอนตาล
ทิศตะวันออก ติดต่อกับประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตย ประชาชนลาวตามแนวฝั่งแม่น้ำโขงด้าน อำเภอชานุมาน เป็นระยะทาง 38 กิโลเมตร และติดต่อกับจังหวัดอุบลราชธานี ที่อำเภอ เขมราฐ อำเภอกุดข้าวปุ้น และอำเภอตระการพืชผล
ทิศตะวันตก ติดต่อกับจังหวัดยโสธร ที่อำเภอป่าติ้ว และอำเภอเลิงนกทา
ทิศใต้ ติดต่อกับจังหวัดอุบลราชธานี ที่อำเภอเมือง อุบลราชธานี และอำเภอม่วงสามสิบ

อำนาจเจริญ แบ่งการปกครองออกเป็น 6 อำเภอ และ 1 กิ่งอำเภอ คือ อำเภอเมือง อำเภอหัวตะพาน อำเภอพนา อำเภอเสนางคนิคม อำเภอชานุมาน อำเภอปทุมราชวงศา และกิ่งอำเภอลืออำนาจ


หมายเลขโทรศัพท์สำคัญ (รหัสทางไกล 045)
ททท.สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขต 2 จ.อุบลราชธานี
243-770-1

ตำรวจท่องเที่ยว
1155

ตำรวจทางหลวง
451-656

สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมือง
512-007

ไปรษณีย์จังหวัด
451-495

สถานีขนส่งจังหวัด
511-018

รพ.อำนาจเจริญ
451-025 , 451-075

รพ.ชานุมาน
499-002

รพ.เสนางนิคม
461-008

รพ.พนา
486-003


จังหวัดอำนาจเจริญ :: สถานที่ท่องเที่ยว อำเภอเมือง

พุทธอุทยานและพระมงคลมิ่งเมือง
ตั้งอยู่ที่เขาดานพระบาท ห่างจากตัวเมืองไปทางด้านเหนือประมาณ 3 กิโลเมตร บริเวณวัดประกอบด้วย หินดานธรรมชาติร่มรื่นด้วยพันธุ์ไม้นานาชนิด ซึ่งได้รับการปรับแต่งให้เป็น "พุทธอุทยาน" ส่วนพระมงคลมิ่งเมือง หรือพระใหญ่ ปางมารวิชัย องค์พระหน้าตักกว้าง 11 เมตร ความสูงจากระดับพื้นดินถึงยอดเปลวรัศมี 20 เมตร เป็นพระพุทธรูปที่ได้รับอิทธิพลสกุลศิลปอินเดียเหนือ (ปาละ) ที่แผ่อิทธิพลมายังภาคอีสานของไทย เมื่อพันปีเศษ ออกแบบโดย จิตร บัวบุศย์ โดยการก่อสร้างแบบคอนกรีตเสริมเหล็กครอบ พระองค์เดิม ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปูนปั้น มีฐานกว้าง 8.4 เมตร ยาว 12.6 เมตร สูง 5.2 เมตร แล้วแต่งองค์พระด้านนอกด้วยกระเบื้องโมเสคสีทอง สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2508 เป็นพระคู่บ้านคู่เมืองของชาวจังหวัดอำนาจเจริญ และจังหวัดอุบลราชธานี พระมงคลมิ่งเมืองเป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทางด้านหลังของพระมงคลมิ่งเมือง มีพระพุทธรูปลักษณะแปลกอีก 2 องค์ ห่มจีวรเหลืองลออตา มีนามว่า "พระละฮาย" หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า "พระขี่ล่าย" หมายถึง ไม่สวย ไม่งาม โดยเรียกตามรูปลักษณ์ขององค์พระพุทธรูปโบราณ พบในหนองน้ำเมื่อปี พ.ศ. 2505 ครั้งที่มีการปรับปรุงบริเวณโดยรอบเพื่อทำฝายกั้นน้ำ ถือกันว่าเป็นพระที่ให้โชคลาภ ชาวบ้านมักมาบนบานขอพรอยู่เสมอ

วัดถ้ำแสงเพชร หรือวัดศาลาพันห้อง
ตั้งอยู่บนถนนสายอำนาจเจริญ-เขมราฐ ห่างจากตัวเมืองประมาณ 18 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าไปอีกประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นวัดที่มีบริเวณกว้างขวาง ประกอบด้วย วิหารอยู่บนยอดเขาสูง ทางด้านทิศเหนือของวิหาร มีถ้ำขนาดใหญ่ ภายในถ้ำมีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ "พระเหลาเทพนิมิตร" เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง ประดิษฐานในพระอุโบสถ องค์พระพุทธรูปประทับขัดสมาธิราบ ปางมารวิชัย ลงรักปิดทองงดงาม สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2263 กล่าวกันว่า เป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะ งดงามที่สุดในภาคอีสาน ซึ่งจัดอยู่ในพระพุทธรูปศิลปะลาว สกุลช่างเวียงจันทน์ ที่ได้รับอิทธิพลจากพระพุทธรูปศิลปะล้านนา ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 21-22 สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นหลังจากระยะเวลาดังกล่าวไปเล็กน้อย เนื่องจากมีอิทธิพลของฝีมือช่างท้องถิ่นปรากฏอยู่มาก เป็นต้นว่าเค้าพระพักตร์ เปลวรัศมีที่ยืดสูงขึ้น สัดส่วนของพระเพลา และพระบาท ซึ่งคล้ายคลึงกับที่ปรากฏอยู่ในกลุ่มพระพุทธรูปไม้ และสำริด ที่สร้างขึ้นระหว่างปลายพุทธศตวรรษที่ 23 ถึงพุทธศตวรรษที่ 24

วัดไชยาติการาม
ตั้งอยู่ที่บ้านโพนเมือง ตำบลไม้กลอน วัดนี้มีพระพุทธรูปสำริดประทับขัดสมาธิราบปางมารวิชัยสูง 55 เซนติเมตร จัดอยู่ในกลุ่มพระพุทธรูปศิลปะลาวสกุลช่างเวียงจันทน์ เปรียบเทียบได้กับพระพุทธรูปปางมารวิชัย ที่ระเบียงหอพระแก้วเมืองเวียงจันทน์ และพระพุทธรูปที่วัดวิชุล เมืองหลวงพระบาง ซึ่งมีอายุอยู่ในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 22 ถึงพุทธศตวรรษที่ 23

แหล่งทอผ้าไหม
ตั้งอยู่ที่บ้านสร้อย ตำบลจานลาน เป็นหมู่บ้านที่ชาวบ้านรวมตัวกันจัดตั้งเป็นสหกรณ์ทอผ้าไหม จัดเป็นอุตสาหกรรมครัวเรือน และเป็นอุตสาหกรรมแบบครบวงจร คือ ปลูกหม่อนเลี้ยงตัวไหมเอง ทอผ้าไหมเอง และจัดจำหน่ายผ้าไหมเองด้วย


จังหวัดอำนาจเจริญ :: การเดินทาง

การคมนาคมระหว่างกรุงเทพฯ และจังหวัดอำนาจเจริญสะดวกสบายทั้งทางรถยนต์ รถไฟ หรืออาจใช้ทางอากาศ โดยใช้บริการของสนามบินนานาชาติ ที่จังหวัดอุบลราชธานี

ทางรถยนต์
ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) และทางหลวงหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข 226 นครราชสีมา-สุรินทร์ และใช้ทางหลวงหมายเลข 214 สุรินทร์-อำเภอสุวรรณภูมิ แล้วแยกขวาไปตามทางหลวงหมายเลข 202 ผ่านจังหวัดยโสธร และอำเภอป่าติ้ว ถึงจังหวัดอำนาจเจริญ รวมระยะทาง 580 กิโลเมตร หรือสามารถใช้ทางหลวงหมายเลข 1 และหมายเลข 2 จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข 226 นครราชสีมา-อุบลราชธานี ถึงจังหวัดอุบลราชธานี แล้วใช้ทางหลวงหมายเลข 212 อุบลราชธานี-อำนาจเจริญ รวมเป็นระยะทาง 704 กิโลเมตร

ทางรถโดยสารประจำทาง
มีทั้งธรรมดาและปรับอากาศ ซึ่งเป็นรถโดยสารที่วิ่งระหว่าง กรุงเทพฯ-อุบลราชธานี ออกจากสถานีขนส่งสายตะวันออกเฉียงเหนือ ถนนกำแพงเพชร 2 ติดต่อสอบถามได้ที่ โทร. 936-2852-66 จากนั้นใช้รถโดยสารประจำทางที่วิ่งระหว่างอุบลราชธานี-มุกดาหาร-ธาตุพนม ซึ่งจะผ่านจังหวัดอำนาจเจริญ มี 2 บริษัท คือ

- บริษัทสายัณห์เดินรถ จำกัด เป็นรถโดยสารธรรมดา มีเวลารถออกดังนี้คือ 06.00 น. 07.00 น. 09.00 น. 11.00 น. 12.00 น. และเวลา 13.00 น. ซื้อตั๋วและขึ้นรถได้ที่คิวรถตลาดบ้านดอนกลาง รายละเอียดเพิ่มเติมสอบถามได้ที่ โทร. (045) 242163, 241820

- บริษัทสหมิตรทัวร์ เป็นรถโดยสารปรับอากาศ ซึ่งวิ่งระหว่างอุบลราชธานี-นครพนม มีเวลาออกดังนี้คือ 06.30 น. และเวลา 14.00 น. ซื้อตั๋วและขึ้นรถได้ที่ บริษัทสหมิตรทัวร์ ถนนเขื่อนธานี ตรงข้ามพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี

ทางรถไฟ
มีรถด่วนและรถเร็วทุกวัน ซึ่งเป็นรถไฟที่วิ่งระหว่างกรุงเทพฯ-อุบลราชธานี และยังมีรถธรรมดาจากนครราชสีมา-อุบลราชธานี และสุรินทร์-อุบลราชสีมา อีกด้วยจากนั้น ใช้รถโดยสารประจำทางที่วิ่งระหว่างอุบลราช ธานี-มุกดาหาร-ธาตุพนม หรือใช้รถประจำทางที่วิ่งระหวางอุบลราชธานี-นครพนม ก็ได้ รายละเอียดติดต่อสอบถามได้ที่หน่วยบริการเดินทาง การรถไฟแห่งประเทศไทย โทร. 223-7010, 223-7020

ทางเครื่องบิน
บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มีเครื่องบินรับส่งผู้โดยสาร และพัสดุภัณฑ์ ระหว่างกรุงเทพฯ-อุบลราชธานี และอุบลราชธานี-กรุงเทพฯ ทุกวัน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ บริษัท การบินไทย จำกัด ถนนหลานหลวง โทร. 280-0060, 628-2000 อุบลราชธานี ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่สำนักงานขายตั๋ว โทร. (045) 313340-43 หรือที่ทำการสนามบิน โทร. (045) 243037-38


จังหวัดอำนาจเจริญ :: สถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ

อำเภอชานุมาน

ทิวทัศน์ริมฝั่งโขง
เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจอยู่บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอชานุมาน ในตอนเย็นทัศนียภาพทั้งสองฝากฝั่งไทย-ลาว สวยงามมาก เหมาะแก่การถ่ายภาพอาทิตย์ยามอัสดงเป็นอย่างยิ่ง

อำเภอเสนางคนิคม

อุทยานแห่งชาติภูสระดอกบัว
เป็นอุทยานที่มีเนื้อที่อยู่บนแนวรอยต่อ 3 จังหวัด คือ อำเเภอนิคมคำสร้อย อำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร อำเภอชานุมาน และอำเภอเสนางคนิคม จังหวัดอำนาจเจริญ มีเนื้อที่ 252 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 145,000 ไร่ สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไป เป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน ทอดตัวเป็นแนวยาวจากทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ลงสู่ทิศตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบด้วย ป่าอันอุดมสมบูรณ์หลายชนิด พื้นที่หลายแห่งมีลานหินขนาดใหญ่ ซึ่งชาวท้องถิ่นเรียกว่า "ดาน" กระจายอยู่ตามป่า ส่วนใหญ่เป็นป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้ง กระจายอยู่ตามเทือกเขาต่างๆ บริเวณพื้นที่ป่าเหล่านี้ มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่หลายชนิด โดยเฉพาะที่เทือกเขาภูสระบัว ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าขนาดใหญ่ และอุดมสมบูรณ์ไปด้วยแหล่งน้ำ สามารถพบสัตว์ป่าได้หลายชนิด เช่น เก้ง หมูป่า กระต่ายป่า ลิง บ่าง เม่น กระจง และสัตว์ปีกประเภทต่างๆ ได้แก่ ไก่ฟ้า ไก่ป่า เป็นต้น


จังหวัดอำนาจเจริญ :: เทศกาล งานประเพณี

ชาวอำนาจเจริญมีวิถีชีวิตอยู่บนพื้นฐานของประเพณี อันเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวอีสานทั่วไป คือมี ฮีตสิบสอง คองสิบสี่ หมายถึงประเพณีสิบสองเดือนที่ยึดถือปฏิบัติกันมาจนถึงปัจจุบัน คำว่า "ฮีต" มาจากคำว่า "จารีต" ส่วนมากมักจะเป็นงานบุญที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาเป็นหลัก เช่น งานบุญกฐิน งานบุญบั้งไฟ งานบุญข้าวจี่ งานบุญเดือนสิบสอง (ลอยกระทง) งานบุญสรงน้ำ (สงกรานต์) เป็นต้น ส่วน "คองสิบสี่" หมายถึง ครรลองคลองธรรม หรือแบบแผนในการประพฤติ ปฏิบัติ สิบสี่ประการ เช่น ให้ล้างเท้าก่อนขึ้นบ้าน ตื่นแต่เช้ามาใส่บาตร ห้ามเดินเหยียบเงาพระสงฆ์ ให้กราบไหว้บิดามารดา เก็บดอกไม้ธูปเทียนบูชาพระ และหมั่นฟังธรรมทุกวัน เป็นต้น

ส่วนด้านวัฒนธรรมของชาวอำนาจเจริญที่มีชื่อเสียงก็คือ การทอผ้าไหม ที่มีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง เช่น ผ้าไหมบ้านจานลาน ผ้าไหมบ้านสร้อย ที่อำเภอพนา และผ้าไหมบ้านเปือย ผ้าไหมบ้านหัวดง และผ้าไหมบ้านน้ำท่วม ที่กิ่งอำเภอลืออำนาจ เป็นต้น


นอกจากนั้นที่อำเภอชานุมาน ประชาชนส่วนใหญ่สืบเชื้อสายมาจากชาวภูไทหรือผู้ไทย ที่อพยพมาจากประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ชาวภูไทมีความสามารถในการทอผ้าขิดเป็นพิเศษ การให้สีสันและลวดลายของผ้า จะเป็นเอกลักษณ์ของภูไทโดยเฉพาะ และยังมีดนตรีนาฏศิลป์พื้นบ้าน ได้แก่ หมอลำ ที่มีเนื้อหาในการส่งเสริมการปกครองระบบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นพระประมุข

นอกจากนั้นชาวอำนาจเจริญ ยังมีดำริที่จะฟื้นฟู "ประเพณีลงข่วง" ซึ่งเป็นวิถีชีวิตแบบหนึ่ง ของชาวจังหวัดอำนาจเจริญในสมัยเก่า ให้เป็นขนบธรรมเนียมประเพณีประจำจังหวัด "การลงข่วง" เป็นการชุมนุมกันของหนุ่มสาว ที่ฝ่ายสาวจะมีกิจกรรมทอผ้า สาวไหม เป็นต้น ขณะเดียวกันพวกหนุ่มๆ ก็จะมาร่วมวงสนุกโดยบรรเลงเพลงพื้นบ้านด้วยเครื่องดนตรีพื้นบ้าน อาทิ แคน พิณ ประกอบกับกิจกรรมทอผ้า และสาวไหม

และที่อำเภอชานุมาน ในเดือนพฤศจิกายน ของทุกปี ทางจังหวัดจัดให้มีประเพณีการแข่งเรือยาว ซึ่งมีเรือจากอำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร เรือจากอำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี เรือจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และเรือจากอำเภอชานุมาน จังหวัดอำนาจเจริญ มาร่วมแข่งขัน เพื่อเป็นการเชื่อมสัมพันธไมตรี งานแข่งเรือจัดขึ้นที่บริเวณท่าน้ำ แม่น้ำโขง หน้าที่ว่าการอำเภอชานุมาน ช่วงเช้าและช่วงบ่ายจะเป็นการแข่งเรือ ส่วนตอนกลางคืน บริเวณที่ว่าการอำเภอจะมีการออกร้านขายสินค้า และมีมหรสพสมโภชน์ตลอดทั้งคืน

:: สารบัญเว็บไซท์ ::

:: ข้อมูล สถานที่ท่องเที่ยว แหล่งท่องเที่ยว จังหวัดอำนาจเจริญ ::

สารบัญเว็บไซท์ > ท่องเที่ยว > ข้อมูล และสถานที่ท่องเที่ยว > ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ > อำนาจเจริญ

จำนวนเว็บไซท์ในหมวดนี้ : 5 [ แนะนำเว็บไซท์ได้ที่นี่ ]


จังหวัดอำนาจเจริญ
แนะนำข้อมูลทั่วไป สถานที่ท่องเที่ยว แหล่งท่องเที่ยว จองโรงแรม ที่พัก รีสอร์ท โรงแรม จังหวัดอำนาจเจริญ แผนที่ การเดินทาง ร้านอาหาร เทศกาล งานประเพณี ของฝาก ประวัติความเป็นมา คำขวัญประจำจังหวัด
http://www.relaxzy.com/province/amnatcharoen/

จังหวัดอำนาจเจริญ
ข้อมูลทั่วไปของจังหวัดอำนาจเจริญ แนะนำจังหวัดอำนาจเจริญ ส่วนราชการในจังหวัด วาระงานผู้บริหาร ข้อม...
http://www.amnatcharoen.go.th

จังหวัดอำนาจเจริญ
รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับจังหวัดอำนาจเจริญ คำขวัญ ตราประจำจังหวัด ประวัติ อาณาเขต แผนที่ ข้อมูลแหล่งท...
http://travel.sanook.com/northeast/amnartcharoen/

อำเภอพนา จังหวัดอำนาจเจริญ
ข้อมูลเกี่ยวกับอำเภอพนา จังหวัดอำนาจเจริญ ข้อมูลประวัติอำเภอพนา ,แหล่งท่องเที่ยว พระเหลาเทพนิมิตป...
http://www.geocities.com/phana37180

โฮมสเตย์บ้านปลาค้าว
ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์วัฒนธรรม โฮมสเตย์บ้านปลาค้าว ตำบลปลาค้าว จังหวัดอำนาจเจริญ
http://www.plakaow.th.gs


:: อุทยานแห่งชาติภูสระดอกบัว ::

:: ข้อมูลทั่วไป ::
อุทยานแห่งชาติภูสระดอกบัว มีเนื้อที่อยู่บนแนวเขตรอยต่อ 3 จังหวัด คือ อำเภอนิคมคำสร้อย อำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร อำเภอชานุมาน และอำเภอเสนางคนิคม จังหวัดอำนาจเจริญ มีเนื้อที่ประมาณ 144,375 ไร่ หรือ 231 ตารางกิโลเมตร

ในอดีตประมาณปี พ.ศ. 2508 - 2525 พื้นที่ป่าอันอุดมสมบูรณ์แห่งนี้ เคยเป็นที่แทรกซึมของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ (ผกค.) นับได้ว่าเป็นขุมกำลังที่มีความสำคัญอีกแห่งหนึ่งของประเทศ จึงไม่มีราษฎรบุกรุกเข้าทำกินในพื้นที่ ในปี พ.ศ. 2525 เมื่อเหตุการณ์คลี่คลายลง ผกค. เข้ามอบตัวต่อทางราชการ ทางการจึงจัดสรรที่ดินทำกิน ให้กับราษฎรบริเวณบ้านน้อมเกล้า ตำบลบุงค้า อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร และที่บ้านภูผาหอม ตำบลเหล่าหมี อำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร

จากนั้นปัญหาต่างๆ ด้านป่าไม้ก็ตามมาไม่ว่าจะเป็นการจับจอง บุกรุก แผ้วถางป่าการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า ด้วยเกรงว่าปัญหาเหล่านี้จะลุกลามออกไป ในช่วงปี พ.ศ. 2525 ป่าไม้อำเภอดอนตาล ได้เสนอเรื่องต่อจังหวัดมุกดาหาร และป่าไม้อำเภอเลิงนกทา ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับภูลำกลาง ภูสระดอกบัว และภูผาแต้ม เพื่อเสนอเรื่องต่อทางจังหวัดยโสธร ให้จัดเป็นแหล่งท่องเที่ยว จากเหตุผลความเหมาะสมนานับประการ ก่อประโยชน์ทั้งความมุ่งมั่นที่จะอนุรักษ์ผืนป่าแห่งนี้ไว้เป็นสมบัติของชาติ และอนุชนรุ่นหลังได้เป็นแหล่งศึกษาหาความรู้ ทั้งยังเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของผู้คนโดยทั่วไป

กองอุทยานแห่งชาติ จึงทำการสำรวจอย่างจริงจัง ในปี พ.ศ. 2531 และเริ่มดำเนินการจัดตั้ง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 เป็นต้นมา ซึ่งได้ประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติโดยได้มีพระราชกฤษฏีกากำหนดที่ดินป่าดงบังอี่ แปลงที่สาม และป่าดงบังอี่ แปลงที่สี่ ในท้องที่ตำบลดงเย็น อำเภอเมืองมุกดาหาร ตำบลนาอุดม ตำบลนิคมคำสร้อย ตำบลโชคชัย อำเภอนิคมคำสร้อย และตำบลเหล่าหมี ตำบลป่าไร่ ตำบลบ้านบาก อำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร ป่าดงบังอี่ในท้องที่ตำบลกุดแห่ ตำบลบุ่งค้า อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร ป่าดงบังอี่ฝั่งซ้ายห้วยทม ในท้องที่ตำบลคำเขื่อนแก้ว อำเภอชานุมาน จังหวัดอุบลราชธานี และป่าดงหัวกอง และป่าดงบังอี่ ในท้องที่ตำบลเสนางคนิคม ตำบลโพนทอง ตำบลหนองไฮ อำเภอเสนางคนิคม จังหวัดอุบลราชธานี ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 109 ตอนที่ 126 ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2535 นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 75 ของประเทศไทย


:: ลักษณะภูมิประเทศ ::
สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไป เป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน ทอดตัวเป็นแนวจากทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ลงสู่ทิศตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบด้วยป่าอันอุดมสมบูรณ์หลายชนิด พื้นที่หลายแห่งมีลานหินขนาดใหญ่ ชาวท้องถิ่นเรียกว่า “ดาน” กระจายอยู่ตามยอดเขาต่างๆ มียอดภูกระซะ เป็นยอดสูงสุดประมาณ 481 เมตร จากระดับน้ำทะเล ยอดอื่นมีความสูงโดยเฉลี่ยประมาณ 350-450 เมตร พื้นที่เหล่านี้ยังเป็นแหล่งกำเนิดของต้นน้ำหลายสาย เช่น ห้วยทม ห้วยกะบก ห้วยก้านเหลือง ห้วยลำกลาง ห้วยขี้เหล็ก ห้วยหินขัว ห้วยตูบ และห้วยไห เป็นต้น


:: ลักษณะภูมิอากาศ ::
สภาพอากาศแบ่งออกเป็น 3 ฤดูกาลคือ ฤดูฝน ระหว่างเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม จะมีฝนตกชุกในเดือนสิงหาคม ฤดูหนาว ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-มกราคม อุณหภูมิต่ำสุดในเดือนธันวาคม ฤดูร้อน ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน


:: พรรณไม้และสัตว์ป่า ::
สภาพป่าส่วนใหญ่เป็นป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง กระจายอยู่ตามเทือกเขาต่างๆ มีไม้มีค่าอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น มะค่าโมง มะค่าแต้ ประดู่ ชิงชัน พยุง แดง ตะเคียนทอง ยาง กระบาก เป็นต้น บริเวณพื้นที่ป่าเหล่านี้มีสัตว์ป่าอยู่หลายชนิด โดยเฉพาะที่เทือกเขาภูสระดอกบัว ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าขนาดใหญ่ และอุดมสมบูรณ์ไปด้วยแหล่งน้ำ สามารถพบสัตว์ป่าได้หลายชนิด เช่น เก้ง หมูป่า หมาไน สุนัขจิ้งจอก อีเห็น ลิง เม่น กระจง บ่าง ค้างคาว ไก่ฟ้าพญาลอ ไก่ฟ้าหลังขาว ไก่ป่า เป็นต้น


:: ที่ตั้งและการเดินทาง ::
อุทยานแห่งชาติภูสระดอกบัว
บ้านหนองเม็ก ต.ป่าไร่ อ. ดอนตาล จ. มุกดาหาร 49120
โทรศัพท์ : 0 4261 9077

รถยนต์
จากกรุงเทพฯ - ผ่านอำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร ไปยังอำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร ตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 2277 ระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 24 - 25 เลี้ยวซ้ายประมาณ 1 กิโลเมตร ก็ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูสระดอกบัว ซึ่งที่ทำการอุทยานแห่งชาติ จะตั้งอยู่บริเวณอ่างเก็บน้ำหินข้อ บ้านหนองเม็ก ตำบลป่าไร่ อำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร อยู่ห่างจากจังหวัดมุกดาหาร ประมาณ 60 กิโลเมตร


:: แหล่งท่องเที่ยว ::
อุทยานแห่งชาติภูสระดอกบัว มีเนื้อที่อยู่บนแนวเขตรอยต่อ 3 จังหวัด คือ อำเภอนิคมคำสร้อย อำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร อำเภอชานุมาน และอำเภอเสนางคนิคม จังหวัดอำนาจเจริญ มีสภาพธรรมชาติที่หลากหลาย ประกอบไปด้วยทิวทัศน์ที่สวยงาม ความวิจิตรพิศดารของหินผา มีความเด่นเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง ตลอดจนร่องรอยของการต่อสู้ อันเกิดจากการขัดแย้งทางการเมือง จึงทำให้พื้นที่แห่งนี้มีศักยภาพทางการท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่ง ได้แก่

:: ด้านธรรมชาติที่สวยงาม ::
ผามะเกลือ
เป็นจุดชมวิวและที่พักผ่อนหย่อนใจอยู่ใกล้บริเวณภูผาแต้ม มีลักษณะเป็นลานหินใต้เพิงผา ร่มรื่นไปด้วยแมกไม้เหมาะสำหรับนั่งเล่นและพักผ่อนลานหินบนภูวัด แหล่งท่องเที่ยวของชาวท้องถิ่น โดยรอบภูผาแต้ม ในช่วงฤดูแล้ง วันสงกรานต์และวันสำคัญทางศาสนา สถานที่แห่งนี้เป็นที่สำหรับประกอบพิธีทางศาสนา มีชาวบ้านมาชุมนุมกันเป็นจำนวนมาก




ภูผาหอม
เป็นจุดชมวิวที่สวยงามมากของเทือกเขาภูผาแต้ม จุดนี้สามารถมองเห็นทิวทัศน์ได้ในระยะไกลไปทางทิศตะวันตก มีความสูงประมาณ 386 เมตร จากระดับน้ำทะเล เบื้องหน้าจะมองเห็นยอดเขาภูหมู ภูแผงม้า ภูไม้ซาง ภูของ ภูอัครชาด ในยามเย็นที่จุดนี้มีผู้นิยมมาชมพระอาทิตย์ตก เพื่อเก็บภาพอันน่าประทับใจ และพักค้างแรมกันมาก




ภูสระดอกบัว
เป็นภูเขาที่มีความสูงประมาณ 423 เมตร บนรอยต่อเขต 3 จังหวัด ที่ยอดภูสระดอกบัว มีแอ่งหินขนาดกว้างประมาณ 2-3 เมตร ลึกประมาณ 1 เมตร อยู่ 5-6 แอ่ง มีน้ำขังตลอดปี มีบัวพันธุ์ขนาดเล็กขึ้นอยู่เต็มสระ เมื่อออกดอกจะดูสวยงามมาก ชาวบ้านเล่ากันว่ามีบัวขึ้นอยู่อย่างนี้มานานแล้วและเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ จึงได้ชื่อว่า “ภูสระดอกบัว” และบริเวณเดียวกันมีถ้ำขนาดใหญ่เคยเป็นที่อยู่อาศัยของ ผกค. สามารถจุคนได้ถึง 100 คน




ภูผาแตก
ภูผาแตกหรือชื่อทางยุทธการสงครามว่า “เนิน 420” เป็นแหล่งที่มีการต่อสู้ในอดีต กับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ที่นี่เป็นจุดชมวิวที่มีองค์ประกอบทางธรรมชาติสวยงามมาก ทางด้านทิศเหนือ สามารถมองเห็นทิวเขาของอุทยานแห่งชาติมุกดาหารในระยะไกล




ลานหินและป่าเต็งรังแคระ
พบทั่วไปและมีอยู่มาก เป็นลานหินยาวและใหญ่ บางแห่งมีขนาด 20 - 40 ไร่ สลับกับป่าเต็งรังแคระ บางแห่งเป็นป่าเต็งรังสลับป่าหญ้าเพ็ก มองดูสวยงามมากพบอยู่หลายแห่ง เช่น หลังภูวัด หลังภูผาหอม หลังภูสระดอกบัว ภูกกบก ภูหัวนาค เป็นต้น




ภูหมู เป็นจุดชมทิวทัศน์ที่นักท่องเที่ยงนิยมขึ้นไป เพราะมีอากาศเย็นสบายตลอดปี ในสมัยสงครามเวียดนาม ทหารอเมริกันเคยใช้เป็นที่ตั้งสถานีสื่อสาร



:: ด้านประวัติศาสตร์ ::
ภูผาแต้ม
ประกอบด้วยรูปรอยฝ่ามือ และภาพเขียนสีโบราณก่อนประวัติศาสตร์ สันนิษฐานว่า เป็นยุคเดียวกับภาพเขียนสีของอุทยานแห่งชาติมุกดาหาร (ภูผาเทิบ) และอุทยานแห่งชาติภูผาแต้ม จังหวัดอุบลราชธานี ภาพเขียนสีและรอยฝ่ามือนี้มีอยู่ที่เพิงผาของภูผาแต้ม ซึ่งมีลักษณะคล้ายถ้ำ เพราะหินไหลลื่นลงมา ภาพเหล่านี้จึงอยู่สูงจากพื้นถ้ำ ประมาณ 7-12 เมตร และถ้ำนี้ยาวประมาณ 60 เมตร

นอกจากนี้ยังมีถ้ำยางถึง 400 เมตร เป็นถ้ำธารลอดอยู่บนหลังผาแต้ม ถ้ำเต่าพันปี ยาว 400 เมตร ถ้ำค้อ ยาว 200 เมตร ถ้ำไทรย้อย ยาว 100 เมตร

:: สิ่งอำนวยความสะดวก ::
ห้องสุขาชาย มีห้องสุขาชายให้บริการ


ห้องสุขาหญิง มีห้องสุขาหญิงให้บริการ


ที่พักแรม/บ้านพัก
อุทยานแห่งชาติได้จัดเตรียมบ้านพักไว้ให้บริการในบริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติ จำนวน 2 หลัง


สถานที่กางเต็นท์/เต็นท์ อุทยานแห่งชาติจัดเตรียมสถานที่กางเต็นท์และเต็นท์ไว้ให้บริการนักท่องเที่ยว การสำรองที่พักเต็นท์ สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียด และสำรองที่พักเต็นท์ได้กับอุทยานแห่งชาติโดยตรง


ที่จอดรถ มีที่จอดรถให้บริการแก่นักท่องเที่ยว


ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว
มีศูนย์บริการนักท่องเที่ยว เพื่อศึกษาหาข้อมูลเบื้องต้นก่อนไปท่องเที่ยว ในบริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติ

0 ความคิดเห็น: