วันพฤหัสบดีที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

การท่องเที่ยวจังหวัดอุตรดิตถ์

:: จังหวัดอุตรดิตถ์ ::

" เหล็กน้ำพี้ลือเลื่อง เมืองลางสาดหวาน บ้านพระยาพิชัยดาบหัก ถิ่นสักใหญ่ของโลก "



จังหวัดอุตรดิตถ์ :: ข้อมูลทั่วไป

จังหวัดอุตรดิตถ์ ตั้งอยู่ทางภาคเหนือตอนล่าง เมืองแห่งพระแท่นศิลาอาสน์ ตำนานเมืองลับแล ที่มีแม่ม่ายและสาวสวย เมืองแห่งลางสาดหวานหอม และบ้านเกิดของพระยาพิชัยดาบหัก ขุนศึกคู่บารมีสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช อุตรดิตถ์เป็นเมืองที่มีความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์มาแต่อดีตกาล โดยมีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน ผ่านพัฒนาการมาหลายยุคหลายสมัย นับแต่ชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงปัจจุบัน

จากการค้นพบกลองมโหระทึก ทำด้วยทองสัมฤทธิ์ที่ ตำบลท่าเสา อำเภอเมือง เมื่อปี พ.ศ. 2470 ทำให้เราทราบว่าอุตรดิตถ์ เป็นดินแดนที่มีผู้คนเข้ามาอาศัยอยู่ก่อน พ.ศ. 1000 แล้ว เพราะโบราณวัตถุที่ค้นพบดังกล่าว เป็นโลหะที่มีใช้กันอยู่ในยุคสัมฤทธิ์ หรือยุคโลหะตอนต้น อันเป็นยุคก่อนประวัติศาสตร์นั้นเอง จึงนับได้ว่า อุตรดิตถ์เป็นแหล่งศิลปวัฒนธรรม และขนบธรรมเนียมอันดีงาม มาโดยลำดับ และสิ่งที่ยังเป็นความภาคภูมิใจของชาวอุตรดิตถ์ ก็คือ ความเกรียงไกรของพระยาพิชัยดาบหัก เดิมทีตัวเมืองอุตรดิตถ์เป็นเพียงตำบลชื่อ "บางโพธิ์ท่าอิฐ" ขึ้นกับเมืองพิชัย แต่เพราะบางโพธิ์ท่าอิฐ ซึ่งอยู่ริมฝั่งขวาของแม่น้ำน่านมีความ เจริญรวดเร็ว เพราะเป็นท่าเรือขนถ่ายสินค้า ดังนั้นในสมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกฐานะตำบลบางโพธิ์ท่าอิฐขึ้นเป็นเมือง "อุตรดิตถ์" ซึ่งมีความหมายว่าท่าน้ำแห่งทิศเหนือ แต่ยังคงขึ้นกับเมืองพิชัยอยู่ ต่อมาอุตรดิตถ์จึงได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นจังหวัด และเมืองพิชัย เลื่อนลงไปเป็นอำเภอหนึ่ง ขึ้นกับจังหวัดอุตรดิตถ์จนทุกวันนี้


อาณาเขตติดต่อและการปกครอง
ทิศเหนือ ติดต่อกับจังหวัดแพร่และน่าน
ทิศตะวันออก ติดต่อกับจังหวัดพิษณุโลก เลย และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มีแนวเขตแดนยาว 120 กิโลเมตร
ทิศใต้ ติดต่อกับจังหวัดพิษณุโลก
ทิศตะวันตก ติดต่อกับจังหวัดสุโขทัย

จังหวัดอุตรดิตถ์ มีพื้นที่ 7,838.592 ตารางกิโลเมตร แบ่งการปกครองออกเป็น 9 อำเภอ คือ อำเภอเมือง อำเภอตรอน อำเภอพิชัย อำเภอลับแล อำเภอน้ำปาด อำเภอท่าปลา อำเภอบ้านโคก อำเภอฟากท่า และอำเภอทองแสนขัน


หมายเลขโทรศัพท์สำคัญ (รหัสทางไกล 055)
ที่ว่าการอำเภอเมือง
411-037 , 413-758

ศาลากลางจังหวัด
411-209 , 411-977

สำนักงานจังหวัด
411-003

เทศบาลเมือง
411-212

ททท.สำนักงานภาคเหนือ เขต 3 จ.พิษณุโลก
252-742-3

ตำรวจท่องเที่ยว
1155

ตู้ยามอุตรดิตถ์
412-193

สถานีตำรวจภูธร อ.เมือง
411-987

ไปรษณีย์จังหวัด
411-053 , 411-929

สถานีขนส่ง
411-059

สถานีรถไฟ
411-023

รพ.อุตรดิตถ์
411-176 , 411-175

รพ.น้ำปาด
481-061

รพ.ลับแล
431-345

รพ.พิชัย
421-145

รพ.ท่าปลา
499-070

รพ.ทองแสนขัน
414-034

รพ.บ้านโคก
486-063

รพ.ฟากท่า
489-089

รพ.ตรอน
491-098


จังหวัดอุตรดิตถ์ :: สถานที่ท่องเที่ยว อำเภอเมือง

วัดธรรมาธิปไตย
ตั้งอยู่ในตัวเมืองใกล้สี่แยกจุดตัดของถนนอินใจมีกับถนนสำราญรื่น เป็นที่เก็บบานประตูของวิหารหลังใหญ่ และเก่าแก่มากของวัดพระฝาง บานประตูทำจากไม้ปรูขนาดกว้าง 2.2 เมตร สูง 5.3 เมตร และหนา 16 เซนติเมตร แกะสลักในสมัยอยุธยาเป็นลายกนกก้านขด มีลายพุ่มทรงข้าวบิณฑ์ 7 พุ่ม ระหว่างพุ่มมีกนกใบเทศขนาบสองด้าน กล่าวกันว่า เป็นบานประตูไม้แกะสลักที่มีความงามเป็นที่สองรองลงมาจากประตูวิหารวัดสุทัศน์ที่กรุงเทพฯ

หลวงพ่อเพชรวัดท่าถนน
หลวงพ่อเพชรเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดอุตรดิตถ์ ประดิษฐานอยู่ที่วัดท่าถนน วัดท่าถนนนี้เดิมชื่อว่า วัดวังเตาหม้อ ตั้งอยู่ในตัวเมืองอุตรดิตถ์บริเวณริมแม่น้ำน่านถนนเกษมราษฎร์ ตำบลท่าอิฐ เป็นพระพุทธรูปสัมฤทธิ์สมัยเชียงแสน นั่งขัดสมาธิเพชร หน้าตักกว้าง 32 นิ้วครึ่ง สูง 41 นิ้ว ตามประวัติกล่าวว่า ในปี พ.ศ. 2436 ขณะหลวงพ่อด้วงเจ้าอาวาสวัดหมอนไม้ เดินทางกลับจากรับนิมนต์ที่วัดสว่างอารมณ์ ตำบลไผ่ล้อม อำเภอลับแล เมื่อผ่านวัดสะแกที่เป็นวัดร้าง ได้พบเนินดินเป็นจอมปลวกขนาดใหญ่มีเกศพระพุทธรูปโผล่ขึ้นมา เมื่อขุดดูพบว่าเป็นพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ มีลักษณะงดงามมาก จึงนำมาประดิษฐานไว้ที่วัดท่าถนน มีคนมากราบไหว้บูชาเป็นจำนวนมาก ประกอบกับเป็นพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิเพชร จึงเรียกกันว่า "หลวงพ่อเพชร"

วัดใหญ่ท่าเสา
ตั้งอยู่ที่ตำบลท่าเสา อยู่ทางทิศตะวันออกของตัวเมืองอุตรดิตถ์ โดยเดินทางไปตามถนนสำราญรื่น แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าซอย 10 เดินทางต่อไปอีกประมาณ 3 กิโลเมตร วัดนี้มีวิหารเก่าแก่ซึ่งมีบานประตูไม้แกะสลัก 2 บาน ตลอดจนลายไม้ที่วิหารด้านหน้า

อนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก
ประดิษฐานอยู่หน้าศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์ สร้างขึ้นเพื่อเป็นเกียรติประวัติของท่านในความองอาจกล้าหาญ รักชาติและเสียสละ เมื่อครั้งพระยาพิชัยซึ่งครองเมืองพิชัยในสมัยธนบุรี ท่านได้สร้างเกียรติประวัติไว้โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อปี พ.ศ. 2316 พม่ายกทัพมาตีเมืองพิชัย พระยาพิชัยได้ยกทัพไปสกัดทัพพม่าจนแตกพ่ายกลับไป การรบในครั้งนั้น ดาบคู่มือของพระยาพิชัยได้หักไปหนึ่งเล่ม แต่ก็ยังรบได้ชัยชนะต่อทัพพม่าด้วยวีรกรรมดังกล่าว จึงได้สมญานามว่า "พระยาพิชัยดาบหัก" อนุสาวรีย์แห่งนี้ออกแบบและหล่อโดยกรมศิลปากร ทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512

หอวัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์
อยู่ที่อาคารจวนผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นศูนย์รวมโบราณวัตถุที่สำคัญของชาวอุตรดิตถ์ เหมาะแก่การศึกษาค้นคว้า และเป็นหลักฐานอ้างอิงทางประวัติศาสตร์ โบราณวัตถุที่สำคัญชิ้นหนึ่ง คือ "ยานมาศ" หรือ คานหามไม้แกะสลักโปร่ง 3 ชั้น กว้าง 73 เซนติเมตร ยาว 3.50 เมตร สูง 1.45 เมตร เป็นฝีมือช่างสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายยานมาศนี้ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ได้ทรงบันทึกไว้ในจดหมายเหตุเมื่อคราวเดินทางมาตรวจราชการ หัวเมืองฝ่ายเหนือ พ.ศ. 2444 ว่าทรงพบยานมาศแบบนี้ 4 คัน คันแรกทรงพบที่อำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท อีก 2 คัน พบที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก ครั้นมาถึงอุตรดิตถ์ก็พบอีกคันที่วัดท่าเสา ซึ่งก็ได้นำมาจัดแสดงไว้ให้ประชาชนชมที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งนี้

จิตรกรรมฝาผนังวัดกลาง
อยู่ที่ตำบลบ้านแกะ ห่างจากตัวอำเภอ 3 กิโลเมตร วัดกลางเป็นวัดเก่าแก่ มีพระอุโบสถที่มีลวดลายรูปปั้นสวยงาม ภายในมีจิตรกรรมฝาผนังที่เก่าแก่หายากสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เป็นภาพพระเวสสันดรชาดกและเทพชุมนุม

วัดพระฝาง
ตั้งอยู่ หมู่ที่ 3 บ้านพระฝาง ตำบลผาจุก ห่างจากตัวเมืองประมาณ 25 กิโลเมตร จากตัวเมืองไปตามทางหลวงหมายเลข 1045 ถึงทางหลวงหมายเลข 11 เลี้ยวขวาไปทางพิษณุโลก 2 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายจากทางแยกเข้าไป 14 กิโลเมตร วัดนี้มีชื่อเต็มว่า "วัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถ" เคยเป็นวัดที่จำพรรษาของ "เจ้าพระฝาง" เมืองสวางคบุรี ซึ่งอยู่ในสมณเพศ แต่นุ่งห่มผ้าแดง และมิได้สึกเป็นฆราวาส ท่านได้ซ่องสุมผู้คนสมัยกรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่ 2 เพื่อจะกู้เอกราช ปัจจุบันวัดพระฝางประกอบด้วย โบสถ์ วิหาร และพระธาตุเจดีย์ เป็นสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยาตอนปลาย สำหรับบานประตูแกะสลักของพระวิหาร ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่วัดธรรมาธิปไตยในตัวเมือง


:: อุทยานแห่งชาติคลองตรอน ::

:: ข้อมูลทั่วไป ::
อุทยานแห่งชาติคลองตรอน จังหวัดอุตรดิตถ์ มีพื้นที่ป่าที่สมบูรณ์ นอกจากจะเป็นคลองขนาดใหญ่ยังมีลำห้วยต่างๆ เกิดขึ้นยังมีจุดเด่นทางธรรมชาติที่สำคัญ และสวยงาม คือน้ำตกห้วยเนียม น้ำตกกกมอนแก้ว ถ้ำจัน ถ้ำเจดีย์ ถ้ำเสือดาว ถ้ำผาตั้ง เขาภูเมี่ยง และหน้าผาที่สวยงามเป็นที่รู้จักของประชาชนทั่วไป สะดวกสบาย ในการไปพักผ่อนหย่อนใจ มีเนื้อที่ประมาณ 324,240.80 ไร่ หรือ 518.80 ตารางกิโลเมตร

ความเป็นมา : ตามคำสั่งกรมป่าไม้ ที่ 1627/2532 ลงวันที่ 19 ตุลาคม 2532 ให้นายไพโรจน์ ดาราเพ็ญ เจ้าพนักงานป่าไม้ 5 กองอุทยานแห่งชาติ ไปทำการสำรวจหาข้อมูล บริเวณป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองตรอนฝั่งซ้าย และฝั่งขวา ท้องที่อำเภอเมือง และอำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ ผลการสำรวจตามหนังสือที่ กษ. 0713 (พช) / 36 ลงวันที่ 4 ธันวาคม 2533 ปรากฏว่า พื้นที่ดังกล่าวประกอบไปด้วย ป่าธรรมชาติที่สมบูรณ์ และน้ำตกที่สวยงามหลายแห่ง เช่น น้ำตกห้วยโปร่ง น้ำตกห้วยคอม และน้ำตกห้วยเนียม พร้อมทั้งยอดภูเขาคว่ำเรือ และภูเขาหงายเรือ และมีคลองที่ชื่อว่า “คลองตรอน” เป็นคลองซึ่งลำห้วยต่างๆ ไหลมารวมกันที่คลองนี้และไหลลงสู่แม่น้ำน่าน อีกทั้งยังเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งเป็นที่รู้จักของประชาชน และหน่วยงานใกล้เคียงโดยทั่วไป จึงขออนุมัติตั้งชื่ออุทยานแห่งชาติว่า “คลองตรอน”

ในคราวประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติครั้งที่ 4/2537 เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2537 มีมติเห็นชอบให้จัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ และได้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกา เพื่อจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ และได้รับการประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2546 โดยอุทยานแห่งชาติคลองตรอน มีพื้นที่ครอบคลุมป่าน้ำปาด ป่าปากห้วยฉลอง ป่าห้วยสีเสียด ป่าคลองตรอนฝั่งขวา และป่าคลองตรอนฝั่งซ้าย ในท้องที่ตำบลแสนตอ ตำบลน้ำไคร้ ตำบลน้ำไผ่ อำเภอน้ำปาด ตำบลถ้ำฉลอง อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ ตำบลผาเลือด อำเภอท่าปลา และตำบลน้ำพี้ ตำบลผักขวง ตำบลบ่อทอง อำเภอทองแสงขัน จังหวัดอุตรดิตถ์ มีพื้นที่ป่าที่สมบูรณ์ นอกจากจะเป็นคลองขนาดใหญ่ยังมีลำห้วยต่างๆ เกิดขึ้นยังมีจุดเด่นทางธรรมชาติที่สำคัญ และสวยงาม คือน้ำตกห้วยเนียม น้ำตกกกมอนแก้ว ถ้ำจันทร์ ถ้ำเจดีย์ ถ้ำเสือดาว ถ้ำผาตั้ง เขาภูเมี่ยง และหน้าผาที่สวยงามเป็นที่รู้จักของประชาชนทั่วไป สะดวกสบายในการไปพักผ่อนหย่อนใจ อุทยานแห่งชาติคลองตรอน มีเนื้อที่ประมาณ 518.80 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 324,240.80 ไร่ นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 103


:: ลักษณะภูมิประเทศ ::
เป็นเทือกเขาสูงต่ำมีแนวเทือกเขาที่สำคัญคือ เขาภูเมี่ยง เขาคว่ำเรือ เขาหงายเรือ เขาสามเหลี่ยม เขาหยวก เขาถนน เขาแดด เขาไม้ผา เขาตักบอน เขาน้ำย้อย เขาผักขวง เขาจันทร์ ยอดเขาที่สูงที่สุดอยู่ด้านทิศตะวันออกคือ เขาภูเมี่ยง สูง 1,500 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง แหล่งกำเนิดห้วยที่สำคัญ ไหลจากแนวตะวันออก ไปสู่แนวตะวันตกและไหลสู่แม่น้ำน่าน ได้แก่ ห้วยคลองม้ามืด เป็นต้น


:: ลักษณะภูมิอากาศ ::
สภาพภูมิอากาศทั่วไปค่อนข้างร้อน อากาศร้อนในฤดูร้อน คือ เดือนมีนาคม ถึงเดือนเมษายน อากาศหนาวเย็นในฤดูหนาว คือเดือนตุลาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ จะมีฝนตกชุกปานกลางในฤดูฝน เป็นระยะสั้นๆ ฤดูร้อนค่อนข้างร้อนยาวนาน อุณหภูมิต่ำสุดที่ 13 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุดที่ 43 องศาเซลเซียส


:: พรรณไม้และสัตว์ป่า ::
สภาพป่าไม้ทั่วไปเป็นป่าดิบแล้ง ดิบเขา สนเขา ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ กระบก ตะเคียนหิน กระบาก ยอมหอม สมพง ยาง มะขามป้อม จำปีป่า สัก แดง ประดู่ ตะแบก ตระคร้อ ตีนนก สมอไทย เต็งรัง เหียง พลวง ติ้ว แต้ว รวมถึงก่อชนิดต่างๆ

สัตว์ป่าที่พบได้แก่ เลียงผา หมี เก้ง กระจง เสือลายเมฆ เสือปลา อีเห็น กระต่ายป่า หมูป่า ลิง ลิงลม พังพอน กระรอก กระแต เม่น รวมถึงสัตว์เลื้อยคลาน และนกชนิดต่างๆ


:: ที่ตั้งและการเดินทาง ::
อุทยานแห่งชาติคลองตรอน
หมู่ 3 ต.น้ำไคร้ อ. น้ำปาด จ. อุตรดิตถ์ 53110

รถยนต์
จากอำเภอเมืองอุตรดิตถ์ เดินทางตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 (พิษณุโลก-เด่นชัย) ระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 107-108 (สามแยกบ้านป่าขนุน) แยกไปตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1047 ระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 36-37 สามารถเที่ยวชมถ้ำจัน และเมื่อเดินทางต่อไปตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1047 อีกประมาณ 11 กิโลเมตร ถึงทางแยกเข้าที่ทำการอุทยานแห่งชาติคลองตรอน โดยเดินทางตามทางแยกเข้าไปอีก 3 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติ


:: แหล่งท่องเที่ยว :: ด้านธรรมชาติที่สวยงาม ::
น้ำตกคลองตรอน หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "น้ำตกห้วยโป่ง" เป็นน้ำตกขนาดกลาง ซึ่งเกิดจากห้วยคลองตรอน ที่ไหลตกลงมาเป็นน้ำตกหลายชั้น มีน้ำตก 2 แห่ง คือ แห่งแรก มี 4 ชั้น มีความสูงประมาณ 20 เมตร แห่งที่ 2 ห่างจากแห่งแรก ประมาณ 1,500 เมตร มีความสูงประมาณ 30 เมตร การเดินทางจากจังหวัดอุตรดิตถ์ ใช้ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1045 สายอุตรดิตถ์-น้ำปาด เมื่อถึงอำเภอน้ำปาด เลี้ยวขวาตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1239 สายน้ำปาด-ห้วยมุ่น ไปอีก 18 กิโลเมตร มีทางแยกเข้าทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1212 ไปประมาณ 16 กิโลเมตร ถึงบ้านต้นขนุน จะมีทางแยกเข้าไปอีก 4 กิโลเมตร ถึงหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ คต.1 (บ้านต้นขนุน) น้ำตกชั้นที่ 1 ของน้ำตกคลองตรอนจะอยู่ห่างไปประมาณ 300 เมตร และมีทางเดินเลาะลำห้วยขึ้นเขาไปสู่น้ำตกชั้นอื่นๆ แต่ระยะทางค่อนข้างไกล


น้ำตกห้วยทราย เป็นน้ำตกชั้นเดียวเกิดจากห้วยทราย หรือห้วยคว่ำเรือ มีความสูงประมาณ 35 เมตร อยู่หมู่บ้านบางขามป้อม ไม่มีทางรถยนต์


น้ำตกภูเมี่ยง เกิดจากห้วยเมี่ยง อยู่ระหว่างหมู่บ้านบางขามป้อม กับหมู่บ้านห้วยคอม ห่างจากหมู่บ้าน ประมาณ 8 กิโลเมตร มีน้ำตก 11 ชั้น แต่ชั้นสูงประมาณ 30-45 เมตร น้ำไม่ไหลตลอดปี และยังไม่มีทางรถยนต์เข้าถึง


น้ำตกห้วยคอม อยู่บริเวณตอนกลางของห้วยคอม บ้านห้วยคอม ตำบลน้ำไผ่ อำเภอน้ำปาด ประกอบด้วยน้ำตก 3 แห่ง แห่งที่ 1 เป็นน้ำตกชั้นเดียวสูงประมาณ 15 เมตร แห่งที่ 2 ห่างจากแห่งแรก 200 เมตร เป็นน้ำตก 2 ชั้น สูงประมาณ 15 เมตร แห่งที่ 3 ห่างจากแห่งที่ 2 ประมาณ 30 เมตร เป็นน้ำตกชั้นเดียว สูงประมาณ 20 เมตร การเดินทางต้องเดินเท้า ห่างจากหมู่บ้านห้วยคอมประมาณ 5 กิโลเมตร ไม่มีทางรถยนต์เข้าถึง


น้ำตกห้วยเนียม เกิดจากห้วยสาบ (ชาวบ้านเรียกห้วยเนียม) อยู่ตอนกลางของห้วยเป็นน้ำตก 3 ชั้น สูงประมาณ 5 เมตร การเดินเท้า จากหมู่บ้านห้วยเนียมประมาณ 3 กิโลเมตร ไม่มีทางรถยนต์เข้าถึง


ผาภูเมี่ยง เป็นผาสูงสวยงามมีจุดเด่นเฉพาะตัว เป็นหน้าผาขนาดใหญ่ เมื่ออยู่บนหน้าผาแล้ว สามารถมองเห็นทิวทัศน์ ได้ทั่วบริเวณหมู่บ้านทั้งหมู่บ้าน อยู่ระหว่างหมู่บ้านต้นขนุน กับบ้านบางขามป้อม ระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร การเดินทางต้องเดินเท้าไม่มีรถยนต์เข้าถึง


ถ้ำจัน เป็นถ้ำขนาดกลาง อยู่บริเวณป่าสงวนแห่งชาติคลองตรองฝั่งขวา ในท้องที่ตำบลผักขวา ตำบลทองแสงขัน มีความลึกจากปากถ้ำประมาณ 200 เมตร กว้างประมาณ 15 เมตร ภายในถ้ำสวยงามด้วยโขดหินรูปทรงแปลกตา การเดินทางรถยนต์สามารถเข้าถึงได้


ถ้ำวัวแดงและถ้ำเสือดาว เป็นถ้ำขนาดเล็ก ปากถ้ำแคบภายในโพลงเข้าไปในถ้ำแล้วเป็นทางแยก หลายทาง ห่างจากถ้ำจันทร์ประมาณ 200 เมตร


เขาเจดีย์ เป็นภูเขาหิน มีรูปร่างคล้ายเจดีย์อ ยู่ห่างจากบริเวณถ้ำจันทร์ประมาณ 500 เมตร มีจุดเด่นเฉพาะตัวมองดูสวยงาม


ยอดดอยภูเมี่ยง ตั้งอยู่บริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ คต.1 (บ้านต้นขนุน) มีลักษณะเป็นเทือกเขา แบ่งเขตจังหวัดระหว่างจังหวัดอุตรดิตถ์-จังหวัดพิษณุโลก มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 1,656 เมตร สามารถชมทัศนียภาพของทั้ง 2 จังหวัด และสามารถมองเห็นเขื่อนสิริกิติ์ได้ นอกจากนี้ยังพบพรรณไม้ กุหลาบพันปี ข้าหลวง ดงตาว เอนอ้า และขันหมากป่า รวมทั้งพรรณไม้นานาชนิดตามเส้นทางสู่ยอดภูเมี่ยง และตามเส้นทางจะมีน้ำตกทั้งหมด 8 ชั้น แต่ละชั้นมีลักษณะความสวยงามแตกต่างกันออกไป ซึ่งยอดดอยภูเมี่ยง เหมาะสำหรับผู้รักความท้าทาย และความสวยงามตามธรรมชาติของทุ่งหญ้า ป่าเขา ลำเนาไพร



:: สิ่งอำนวยความสะดวก ::
ห้องสุขาชาย มีห้องสุขาชายให้บริการ


ห้องสุขาหญิง มีห้องสุขาหญิงให้บริการ


ที่พักแรม/บ้านพัก อุทยานแห่งชาติได้จัดเตรียมบ้านพักไว้ให้บริการ


สถานที่กางเต็นท์/เต็นท์ อุทยานแห่งชาติจัดเตรียมสถานที่กางเต็นท์และเต็นท์ไว้ให้บริการนักท่องเที่ยว การสำรองที่พักเต็นท์ สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียด และสำรองที่พักเต็นท์ได้กับอุทยานแห่งชาติโดยตรง


ที่จอดรถ มีลานจอดรถให้บริการแก่นักท่องเที่ยว


ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว มีศูนย์บริการนักท่องเที่ยว เพื่อศึกษาหาข้อมูลเบื้องต้นก่อนไปท่องเที่ยว ในบริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติ



จังหวัดอุตรดิตถ์ :: การเดินทาง

ทางรถยนต์
อุตรดิตถ์อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 491 กิโลเมตร การเดินทางโดยทางรถยนต์สามารถไปได้ 2 ทาง คือ จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 แล้วแยกเข้าทางหลวงหมายเลข 32 ผ่านอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท เข้านครสวรรค์ แล้วใช้เส้นทาง 11 เข้าพิษณุโลก แล้วเดินทางตามเส้นทางหมายเลข 11 ถึงอุตรดิตถ์ อีกส้นทางหนึ่ง คือ กรุงเทพฯ ไปสิงห์บุรี แล้วใช้เส้นทางสายอินทร์บุรี-ตากฟ้า (ทางหลวงหมายเลข 11) จนถึงทางหลวงหมายเลข 12 (พิษณุโลก-หล่มสัก) เลี้ยวซ้ายไปอีก 8 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 11 จนถึงอุตรดิตถ์

ทางรถโดยสาร
จากสถานีขนส่งสายเหนือ ถนนกำแพงเพชร 2 มีรถยนต์โดยสารธรรมดาและปรับอากาศ จากกรุงเทพฯ สู่อุตรดิตถ์ทุกวันวันละหลายเที่ยว ราย ละเอียดติดต่อ โทร. 936-3660, 936-3666

ทางรถไฟ
จากสถานีรถไฟหัวลำโพง มีรถไฟไปอุตรดิตถ์ทุกวันวันละหลายเที่ยว จากสถานีรถไฟกรุงเทพฯ รายละเอียดสอบถามได้ที่ โทร. 223-7010, 223-7020

ระยะทางจากอำเภอเมืองไปยังอำเภอต่างๆ
- อำเภอตรวน 24 กิโลเมตร
- อำเภอพิชัย 45 กิโลเมตร
- อำเภอลับแล 8 กิโลเมตร
- อำเภอน้ำปาด 72 กิโลเมตร
- อำเภอท่าปลา 40 กิโลเมตร
- อำเภอบ้านโคก 165 กิโลเมตร
- อำเภอฟากท่า 113 กิโลเมตร
- อำเภอทองแสนขัน 42 กิโลเมตร


จังหวัดอุตรดิตถ์ :: สถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ

อำเภอลับแล

อำเภอลับแล
อยู่ห่างจากตัวเมืองอุตรดิตถ์ ประมาณ 8 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมาย-เลข 102 ประมาณ 3 กิโลเมตร เลี้ยวขวาไปตามทางหลวงหมายเลข 1041 ประมาณ 6 กิโลเมตร เป็นเมืองโบราณมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เคยเสด็จมาเมื่อ วันที่ 24 ตุลาคม 2444 ความเป็นมาของคำว่า "ลับแล" นั้น ตามข้อสันนิษฐานของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพว่า เดิมชาวเมืองแพร่ เมืองน่าน หนีข้าศึกและความเดือดร้อนมาซุ่มซ่อนตั้งชุมชนอยู่ เนื่องจากเป็นที่ป่าดงหลบซ่อนตัวง่ายและภูมิประเทศเป็นเมืองอยู่ในระหว่างเขามีที่เนินสลับกับที่ต่ำ คนต่างเมืองถ้าไม่คุ้นเคยกับภูมิประเทศจะหลงทางได้ง่าย แต่ปัจจุบันมีถนนตัดผ่านทำให้สภาพป่าหมดไป ความลึกลับของเมืองจึงหายไป และยังมีอีกหลายตำนานที่กล่าวถึงเมืองลับแล ปัจจุบันอำเภอลับแลเป็นแหล่งผลิตสินค้าหัตถกรรม เช่น ผ้าตีนจก ไม้กวาด นอกจากนั้นยังมีสวนลางสาด ซึ่งเป็นผลไม้ที่มีชื่อเสียงของจังหวัดในอำเภอลับแล มีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ เช่น

อนุสาวรีย์พระศรีพนมมาศ
อยู่ตรงสี่แยกตลาดลับแล เดิมชื่อ ทองอิน เป็นนายอากรสุรา เชื้อสายจีน แต่ด้วยความรักในท้องถิ่นจึงพัฒนาเมืองลับแลมาโดยตลอด เป็นผู้นำชุมชนที่ชาวลับแลให้ความนับถือ ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้รับรรดาศักดิ์เป็นขุนพิศาลจีนะกิจ และเลื่อนเป็นพระ-ศรีพนมมาศ ในปี พ.ศ. 2451

วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง
อยู่ที่หมู่ 3 บ้านทุ่งยั้ง ตำบลทุ่งยั้ง จากตัวเมืองอุตรดิตถ์ไปตามทางหลวงหมายเลข 102 ประมาณ 3 กิโลเมตร จะมองเห็นวัดอยู่ทางซ้ายมือ วัดนี้เป็นวัดเก่าแก่อยู่ติดถนนใหญ่สายบรมอาสน์ ใกล้กับวัดพระยืนพุทธบาทยุคล และวัดพระแท่นศิลาอาสน์ เดิมชื่อว่า "วัดมหาธาตุ" ภายในพระบรมธาตุทุ่งยั้งซึ่งเก่าแก่มาก เป็นเจดีย์ทรงลังกา บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า องค์พระธาตุนี้เป็นเจดีย์แบบลังกาทรงกลมฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยม 3 ชั้น ฐานล่างมีเจดีย์องค์เล็กๆ เป็นบริวารอยู่ 4 มุม ฐานชั้นที่ 3 มีซุ้มคูหา 4 ด้าน สันนิษฐานว่าได้บูรณะขึ้นภายหลัง

วัดพระยืนพุทธบาทยุคล
อยู่เลยวัดพระบรมธาตุทุ่งยั้งไปตามทางหลวงหมายเลข 102 ประมาณ 500 เมตร วัดอยู่ทางซ้ายมือของถนนใกล้ทางแยก ภายในมีมณฑปเป็นศิลปะแบบเชียง-แสน ครอบรอยพระพุทธบาทคู่ประทับยืนบนฐานดอกบัวสูงประมาณ 1.5 เมตร ที่วัดพระยืนพุทธบาทยุคลนี้ ยังมีพระพุทธรูปหล่อด้วยสัมฤทธิ์ปางมารวิชัยขนาดหน้าตักกว้าง 55 นิ้ว สูง 66 นิ้ว เป็นพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยเรียกกันว่า "หลวงพ่อพุทธรังสี" เดิมประดิษฐานอยู่ในมณฑปมีปูนพอกหุ้มไว้ทั้งองค์ ต่อมาได้กระเทาะปูนออกและนำไปประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถที่สร้างใหม่

วัดพระแท่นศิลาอาสน์
ตั้งอยู่บ้านพระแท่น ตำบลทุ่งยั้ง ห่างจากตัวจังหวัด 14 กิโลเมตร อยู่เลยวัดพระยืนไปเล็กน้อย มีพระแท่นศิลาอาสน์เป็นศิลาแลงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 8 ฟุต สูง 3 นิ้ว มีลวดลายประกอบเป็นหลัก ฐานพุทธบังลังก์ สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยกรุงสุโขทัย ยังไม่ปรากฏนามของผู้สร้าง พ.ศ. 2451 ไฟป่าได้ไหม้พระมณฑปและวิหารเหลืออยู่แต่ศิลาแลง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ได้โปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์ใหม่ จะมีงานนมัสการในวันเพ็ญเดือนสามของทุกปี พร้อมกับวัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง และวัดพระยืนพุทธบาทยุคล

หนองพระแล
อยู่ที่บ้านหนองพระแล ตำบลทุ่งยั้ง ห่างจากตัวจังหวัด 13 กิโลเมตร ตามเส้นทางหลวงหมายเลข 1041 เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติสำหรับพักผ่อนหย่อนใจ

วัดดอนสัก
อยู่ที่หมู่ 6 บ้านต้นม่วง ตำบลบ้านฝาย ห่างจากจังหวัด 9 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 1041 มีวิหารที่สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีบานประตูแกะสลักงดงาม ด้านหน้า 1 ประตู ด้านหลัง 2 ประตู แกะสลักด้วยไม้ปรูลึกลงไปประมาณ 4 นิ้ว เป็นลวดลายกนกก้านขดไขว้ ประกอบด้วยรูปหงส์ เทพนม และยักษ์ วัดนี้สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย

วัดเจดีย์คีรีวิหาร
อยู่ที่ หมู่ 1 บ้านวัดป่า ตำบลฝายหลวง ห่างจากตัวจังหวัด 10 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 1040-1043 เป็นบรมธาตุเจดีย์ทรงลังกา บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า พระประธานเป็นพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยอันงดงามบานประตู และหน้าบันเป็นไม้แกะสลัก

อนุสาวรีย์เจ้าฟ้าฮ่ามกุมาร
อยู่ที่ หมู่ 7 บ้านท้องลับแล ตำบลฝายหลวงอยู่ห่างจากตัวจังหวัด 12 กิโลเมตร จากอำเภอลับแล ใช้ทางหลวงหมายเลข 1043 เป็นอนุสาวรีย์ของปฐมผู้ครองเมืองลับแล บนเนินเขาด้านหลังอนุสาวรีย์มีทางขึ้นไปยังจุดชมวิวมองเห็นภูมิประเทศของเมืองลับแล

น้ำตกแม่พูล
อยู่ที่หมู่ 4 บ้านต้นเกลือ ตำบลแม่พูล ห่างจากตัวจังหวัด 20 กิโลเมตร จากอำเภอลับแล ใช้ทางหลวงหมายเลข 1041-1043 เป็นน้ำตกที่เกิดจากการตกแต่งธารน้ำ โดยการเทปูนมีความสูงหลายชั้น มีลักษณะเป็นฝายน้ำล้น เป็นชั้นๆ สภาพโดยรอบร่มรื่น มีธรรมชาติแวดล้อมสวยงาม และมีศาลาสำหรับนั่งพักผ่อนชมทิวทัศน์น้ำตกแม่พูลได้อย่างชัดเจน เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ใกล้ตัวเมืองและมีถนนเข้าถึงอย่างสะดวกสบายมาก

เวียงเจ้าเงาะ หรือ เมืองทุ่งยั้ง
ชาวบ้านเล่ากันว่า เจ้าเงาะได้พานางรจนามาอยู่ที่กระท่อมปลายนาที่นี่เมื่อครั้งที่ถูกท้าวสามลและนางมณฑาเนรเทศ จึงเรียกว่า เวียงเจ้าเงาะ แต่ความจริงแล้ว เวียงเจ้าเงาะ หรือเมืองทุ่งยั้งนี้เป็นเมืองเก่าแก่ก่อนที่ชนชาติไทยจะมาปกครองประเทศ และได้มีการขุดค้นพบโบราณวัตถุต่างๆ เช่น มโหระทึกละว้า พร้าสัมฤทธิ์ เป็นต้น


อำเภอพิชัย

เมืองพิชัย
อยู่ที่หมู่ 1, 3 ตำบลในเมือง ตามทางหลวงหมายเลข 1204 ระยะทาง 45 กิโลเมตร จากตัวจังหวัด เป็นเมืองเก่าอยู่ริมฝั่งแม่น้ำน่านด้านตะวันตก สันนิษฐานว่า พระบรมไตรโลกนารถ ทรงโปรดให้สร้างขึ้นเป็นเมืองหน้าด่าน มีกำแพงเมืองและคูเมืองที่สร้างขึ้นไว้กับเจดีย์ต่างๆ ปัจจุบันร่องรอยเมืองพิชัยเก่าเกือบไม่หลงเหลือให้เห็น มีเพียงเจดีย์เก่าที่วัดหน้าพระธาตุ ซึ่งเป็นวัดที่ประดิษฐานหลวงพ่อโต อันเป็นที่เคารพสักการะของชาวพิชัยมาแต่โบราณ

วัดเอกา
อยู่ที่หมู่ 1 ตำบลคอรุม ระยะทาง 45 กิโลเมตร (จากตัวจังหวัดถึงอำเภอพิชัย 41 กิโลเมตร และจากอำเภอถึงที่ตั้งวัด 4 กิโลเมตร) เชื่อกันว่าเป็นสถานที่ ซึ่งพระยาพิชัยได้สู้รบกับข้าศึกจนดาบหัก

บ้านห้วยคา
อยู่ที่หมู่ 6 ตำบลในเมือง ระยะทาง 50 กิโลเมตร (จากตัวจังหวัดถึงอำเภอ 45 กิโลเมตร และอำเภอถึงที่ตั้ง 5 กิโลเมตร) อยู่ในหมู่บ้านคลองระวาน เป็นสถานที่เกิดของพระยาพิชัย


อำเภอท่าปลา

เขื่อนสิริกิติ์
ตั้งอยู่ที่บ้านผาซ่อม ตำบลท่าปลา ห่างจากตัวจังหวัด 60 กิโลเมตร ตามทางหลวงสายอุตรดิตถ์-ท่าปลา ถนนราดยางตลอด เขื่อนสิริกิต์เป็นเขื่อนดินสร้างกั้นแม่น้ำน่านที่ผาซ่อม สันเขื่อนยาว 800 เมตร กว้าง 12 เมตร สูง 113.6 เมตร นับเป็นเขื่อนดิน (แกนคอนกรีต) ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย บริเวณเหนือเขื่อนเป็นทะเลสาบใหญ่ที่มีชื่อว่า ทะเลสาบสุริยันจันทรา มีทิวทัศน์สวยงาม โดยเฉพาะในฤดูหนาว พันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับที่ถูกจัดแต่งเติมจะพากันออกดอกบานสะพรั่ง เมื่อไปถึงบริเวณเขื่อน นักท่องเที่ยวควรไปติดต่อที่ศูนย์ประชาสัมพันธ์ ซึ่งให้บริการด้านข่าวสารและอำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ เช่น การอนุญาตให้เข้าชมกิจการของเขื่อน การจองที่พัก การให้เช่าเรือท่องทะเลสาบเหนือเขื่อน เป็นต้น อัตราค่าเช่าเรือล่องในเขื่อนสิริกิต์คือ เรือขนาด 150 คน ค่าเช่าชั่วโมงแรก 1,700 บาท ชั่วโมงถัดมา 1,500 บาท ค่าจอด 100 บาท จะให้บริการระหว่างเวลา 08.30-16.30 น.

สำหรับที่พักมีลักษณะเป็นเรือนแถวปรับอากาศมี จำนวน 50 ห้อง พักได้ห้องละ 2 คน ราคาห้องละ 600 บาท บ้านพักปรับอากาศ จำนวน 10 หลัง ราคาหลังละ 1,100 บาท เปิดให้จองล่วงหน้าภายใน 3 เดือน ติดต่อสอบถามรายละเอียดที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โทร. 436-3179

เขื่อนดินช่องเขาขาดหรือแซดเดิ้ล
ห่างจากอำเภอท่าปลา 4 กิโลเมตร ใช้ทางหลวงหมายเลข 1163 เป็นเขื่อนดินที่สร้างปิดช่องเขา เพื่อป้องกันมิให้น้ำในอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนสิริกิต์ไหลออกมาทางช่องเขานี้ สันเขื่อนเป็นถนนมีท่าเรือสำหรับส่งปลา และเรือเอกชนบริการนำเที่ยวในอ่างเก็บน้ำ


อำเภอน้ำปาด

วนอุทยานสักใหญ่
อยู่ที่ หมู่ 4 บ้านปางเกลือ ตำบลน้ำไคร้ จากตัวเมืองเดินทางไปตามทางหลวงหมายเลข 1045 ประมาณ 60 กิโลเมตร เลี้ยวขวาไปตามทางหลวงหมายเลข 1146 ประมาณ 7 กิโลเมตร เลี้ยวขวาเข้าสุ่ทางหลวงหมายเลข 1047 ประมาณ 11 กิโลเมตร เลี้ยวขวาอีกครั้งไปตามทางลูกรังไปตามภูเขาอีก 2 กิโลเมตร รวมระยะทางทั้งสิ้น 81 กิโลเมตร ลักษณะเป็นป่าเบญจพรรณ มีเนื้อที่ 1,000 ไร่ ภายในมีต้นสักใหญ่ที่สุดในโลก มีความยาวรอบต้น 987 เซนติเมตร สูง 47 เมตร วัดเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2530 มีอายุประมาณ 1,500 ปี ปัจจุบันถูกพายุพัดส่วนยอดหัก ลำต้นส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในสภาพเดิม

อำเภอทองแสนขัน

บ่อเหล็กน้ำพี้
อยู่ที่หมู่ 1 บ้านน้ำพี้ ตำบลน้ำพี้ ห่างจากตัวจังหวัด ประมาณ 56 กิโล- เมตร (จากตัวจังหวัดถึงอำเภอ 42 กิโลเมตร และจากอำเภอถึงที่ตั้ง 14 กิโลเมตร) ตามเส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 และเข้าทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1245 บ่อเหล็กน้ำพี้เป็นบ่อเหล็กกล้ามีอยู่ด้วยกันหลายบ่อ แต่เท่าที่ปรากฏให้เห็นชัดเจนมีอยู่ 2 บ่อ คือ "บ่อพระแสง" และ "บ่อพระขรรค์" โดยบ่อพระแสงจะเป็นบ่อที่มีเนื้อเหล็กดีกว่าบ่ออื่น ในสมัยโบราณ นายช่างผู้สร้างพระแสงดาบถวายพระมหากษัตริย์ จะนำเอาเหล็กน้ำพี้ที่บริเวณบ่อพระแสงไปถลุงทำพระแสงดาบ จึงเรียกว่า "บ่อพระแสง" ส่วนบ่อพระขรรค์ เข้าใจว่าเป็นบ่อที่นำเอาเหล็กจากบริเวณนี้ไปถลุงทำพระขรรค์ จึงเรียกว่า "บ่อพระขรรค์" ห้ามมิให้ผู้ใดขุดเหล็กจากบ่อนี้ สงวนไว้ใช้ในการทำพระแสงดาบสำหรับพระมหากษัตริย์เท่านั้น

ถ้ำดิน
อยู่ที่หมู่ 9 บ้านถ้ำดิน ตำบลบ่อทอง ตามทางหลวงหมายเลข 1245 และทางลูกรัง 3 กิโลเมตร รวมระยะทาง 45 กิโลเมตร มีถ้ำหินอ่อนสวยงาม และยังมีถ้ำที่เป็นที่อยู่ของค้าง-คาวปากย่น จำนวนกว่า 3 ล้านตัว


จังหวัดอุตรดิตถ์ :: เทศกาล งานประเพณี

งานวันลางสาด
ลางสาดเป็นผลไม้ที่มีชื่อของจังหวัดอุตรดิตถ์ โดยเฉพาะเป็นอาชีพหลักของเกษตรกรชาวอำเภอลับแลมาเป็นเวลานาน กลุ่มเกษตรอำเภอลับแล เทศบาลตำบลศรีพนมมาศ และสำนักงานเกษตรจังหวัดอุตรดิตถ์ (โทร. 055-411769) จึงได้ร่วมกันจัดงานวัดลางสาดขึ้น เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกษตรกรปรับปรุงพันธุ์ลางสาดของตนให้มีคุณภาพตามที่ตลาดต้องการ

กำหนดงาน ประมาณวันเสาร์ - อาทิตย์ หรือปลายเดือนกันยายนของทุกปี จัดขึ้น ณ บริเวณสนามกีฬาพิชัยดาบหัก หน้าศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์ โดยจัดให้มีนิทรรศการทางวิชาการเกี่ยวกับลางสาด การประกวดลางสาด ธิดาลางสาด การประกวดรถผลไม้ การออกร้านสินค้าพื้นเมือง ตลอดจนการแสดงและมหรสพพื้นเมืองของชาวลับแลอีกด้วย

งานพระยาพิชัยดาบหักและงานกาชาด
เป็นงานฤดูหนาวประจำปี และงานรำลึกถึงวีรกรรมของพระยาพิชัยดาบหัก กำหนดจัดงาน วันที่ 7-14 มกราคม ของทุกปี

งานเทศกาลวัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง
วัดพระแท่นศิลาอาสน์ และวัดพระยืนพุทธบาทยุคล วันขึ้น 8-15 ค่ำ เดือน 3 (วันมาฆบูชา)

ประเพณีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระพุทธเจ้า
จัดขึ้นที่วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 (วันวิสาขบูชา) เป็นสัปดาห์ส่งเสริมพุทธศาสนา หลังจากวันวิสาขบูชาอีก 7 วัน เรียกว่าวันอัฐมีบูชา จะมีพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระพุทธเจ้า


จังหวัดอุตรดิตถ์ :: ของฝาก ของที่ระลึก

อุตรดิตถ์มีสินค้าที่น่าสนใจ ได้แก่ สินค้าผ้าพื้นเมือง และผลิตภัณฑ์จากผ้าพื้นเมือง หน่อไม้กระป๋อง ลูกตาวเชื่อม ขนมเทียนเสวย และไม้กวาดตองกง สามารถหาซื้อได้ตามร้านค้าในเมือง และที่อำเภอลับแล

ซิ่นตีนจก
เป็นซิ่นพื้นเมืองที่งดงามมีลวดลายสวยไปอีกแบบหนึ่ง ซึ่งไม่ซ้ำกับที่อื่น มีการทอและจำหน่ายที่อำเภอลับแล

ไม้กวาดตองกง
ไม้กวาดที่มีชื่อของอุตรดิตถ์ พระศรีพนมมาศ นายอำเภอนักพัฒนาลับแลเป็นผู้ริเริ่มให้ผลิต ไม้กวาดชนิดนี้มีจำหน่ายทั่วไปในตัวเมืองและที่อำเภอลับแล อันเป็นแหล่งผลิตไม้กวาดชนิดนี้

ลูกตาวเชื่อม
ของฝากที่ดีอีกอย่างหนึ่งจากอุตรดิตถ์ มีจำหน่ายทั่วไป

ขนมเทียนเสวย
มีรสชาติที่อร่อย หวานหอม นิยมเป็นของฝาก มีจำหน่ายทั่วไป

กล้วยกวน
เหมาะเป็นของฝากอีกเช่นกัน มีจำหน่ายทั่วไป

ไส้เมี่ยง
รสหวานหอม กรอบ สำหรับขบเคี้ยวเป็นของว่าง

หัวผักกาดเค็ม
ของอุตรดิตถ์มีชื่อเสียงมากในด้านคุณภาพ ราคายุติธรรม

ร้านจำหน่ายสินค้าที่ระลึก

กนกมณี 1/257 ถนนบรมอาสน์ อำเภอเมือง โทร. 411245 ทำและจำหน่ายขนมเทียนเสวย

พื้นเมือง 550 ถนนอินใจมี เขตเทศบาลตำบลศรีพนมมาศ อำเภอลับแล โทร. 431042 จำหน่ายสินค้าผ้า และผลิตภัณฑ์จากผ้าพื้นเมือง ไม้กวาดตองกง

เล่าซุ่นเส็ง 286 ถนนอินใจมี อำเภอเมือง โทร. 411294 ขายปลีกและส่งหน่อไม้กระป๋อง และลูกตาวเชื่อมกระป๋อง

0 ความคิดเห็น: