วันพฤหัสบดีที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

การท่องเที่ยวจังหวัดลำปาง

:: จังหวัดลำปาง ::

" ถ่านหินลือชา รถม้าลือลั่น เครื่องปั้นลือนาม งามพระธาตุลือไกล ฝึกช้างใช้ลือโลก "


จังหวัดลำปาง :: ข้อมูลทั่วไป

ลำปาง หรือเขลางค์นครในอดีต เป็นเมืองที่มีรถม้าเป็นสัญลักษณ์ มีวัดวาอาราม ที่เป็นศิลปะแบบพม่า และลานนาไทย มีโรงเรียนฝึกลูกช้าง ที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก ลำปางมีเนื้อที่ ๑๒,๕๓๓.๙๖๑ ตารางกิโลเมตร แบ่งการปกครองออกเป็น ๑๓ อำเภอ คือ อำเภอเมือง อำเภอเถิน อำเภอแม่พริก อำเภอเกาะคา อำเภองาว อำเภอแจ้ห่ม อำเภอวังเหนือ อำเภอแม่ทะ อำเภอสบปราบ อำเภอเสริมงาม อำเภอห้างฉัตร อำเภอแม่เมาะ และอำเภอเมืองปาน

จังหวัดลำปาง อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ระยะทาง ๕๙๙ กิโลเมตร ตามเส้นทางหลวงหมายเลข ๑ หรือ ทางหลวงสายเอเซีย ๓๒ จากกรุงเทพฯ ผ่านจังหวัดอยุธยา ลพบุรี นครสวรรค์ กำแพงเพชร ตาก ถึงลำปางใช้เวลาเดินทางประมาณ ๗ ชั่วโมง

อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดต่อเชียงรายและพะเยา
ทิศใต้ ติดต่อสุโขทัย และตาก
ทิศตะวันออก ติดต่อแพร่
ทิศตะวันตก ติดต่อเชียงใหม่ และลำพูน

ระยะทางจากอำเภอเมืองไปยังอำเภอต่างๆ
อำเภอเมือง-อำเภอแม่เมาะ 45 กิโลเมตร
อำเภอเมือง-อำเภอเถิน 96 กิโลเมตร
อำเภอเมือง-อำเภอแม่พริก 125 กิโลเมตร
อำเภอเมือง-อำเภองาว 83 กิโลเมตร
อำเภอเมือง-อำเภอเกาะคา 13 กิโลเมตร
อำเภอเมือง-อำเภอวังเหนือ 110 กิโลเมตร
อำเภอเมือง-อำเภอแม่ทะ 26 กิโลเมตร
อำเภอเมือง-อำเภอแจ้ห่ม 54 กิโลเมตร
อำเภอเมือง-อำเภอสบปราบ 59 กิโลเมตร
อำเภอเมือง-อำเภอเสริมงาม 40 กิโลเมตร
อำเภอเมือง-อำเภอห้างฉัตร 16 กิโลเมตร


หมายเลขโทรศัพท์สำคัญ (054)
สำนักงานจังหวัดลำปาง
218-800

ททท. สำนักงานภาคเหนือ เขต 1
248-604, 248-607, 241-466

ตำรวจท่องเที่ยว
1155

ตำรวจทางหลวง ส.ทล.1 กก.5 ตาก
055-511-340

สถานีตำรวจภูธร อ.เมือง
217-017

ตู้ยามแม่สอด
532-222

ตู้ยามคลองขลุง
781-445

รพ.ลำปาง
222-443 , 223-623

รพ.แม่ทะ
289-184

รพ.ห้างฉัตร
269-231

รพ.สบปราบ
296-085

รพ.เกาะคา
281-393

รพ.แจ้ห่ม
271-010

รพ.เสริมงาม
286-029

รพ.เถิน
291-585

รพ.วังเหนือ
279-100

รพ.แม่เมาะ
226-535

ไปรษณีย์จังหวัด
224-069

สถานีขนส่งจังหวัด
217-852

เทศบาลเมือง
218-363-4



จังหวัดลำปาง :: สถานที่ท่องเที่ยว อำเภอเมือง

ลำปางเป็นจังหวัดเดียวในประเทศไทย ที่ยังนิยมใช้รถม้าเป็นพาหนะเดินทางระยะใกล้ๆ ภายในตัวเมือง จึงเป็นสิ่งหนึ่งที่ดึงดูดใจนักท่องเที่ยว รถม้าลำปางเป็นรถเปิดประทุน ที่นั่งผู้โดยสารคล้ายคลึงกับที่นั่งของจักรยานสามล้อ แต่มีขนาดใหญ่กว่า อยู่ทางตอนหลังของที่นั่งคนบังคับม้า ซึ่งมีระดับสูงกว่าเล็กน้อย นั่งได้คันละ 2 คน

สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถไปขึ้นรถม้าได้ที่หน้าศาลากลางเก่าจังหวัดลำปาง หน้าโรงแรมเวียงทอง และหน้าโรงแรมทิพย์ช้าง ตั้งแต่เลา 06.00-23.00 น. ยกเว้นหน้าศาลากลางเก่า มีบริการ 06.00-16.00 น. อัตราค่าโดยสาร 100-200 บาท ปัจจุบันยังมีการทำรถม้าที่หมู่บ้านวังเหนือ ท่าคร่าวน้อย ศรีบุญเรือง นาก่วมเหนือ และนาก่วมใต้

ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง
ตั้งอยู่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดลำปางด้านตะวันตกเฉียงใต้ หลักเมืองเป็นหลักซึ่งทำด้วยไม้สัก สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อร้อยกว่าปีมาแล้ว โดยหลักที่หนึ่งสร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2400 หลักที่สองสร้างประมาณปี พ.ศ. 2416 และหลักที่สามสร้างประมาณปี พ.ศ. 2429 ต่อมาในปี พ.ศ. 2440 เมื่อสร้างศาลากลางจังหวัดขึ้น ได้นำหลักเมืองมาไว้ที่บริเวณหน้าศาลากลาง และได้มีการสร้างมณฑปครอบหลักเมืองทั้งสามในปี พ.ศ. 2511

พระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ
ประดิษฐานอยู่ในมณฑป ซึ่งเป็นอาคารทรงไทยแบบจตุรมุข หน้าศาลากลางจังหวัดลำปาง เป็นพระพุทธรูป สร้างด้วยโลหะผสมรมดำทั้งองค์ ปางสมาธิ ชาวบ้านเรียก “หลวงพ่อดำ” จัดสร้างโดยกรมการรักษาดินแดนเมื่อปี พ.ศ. 2511 มี 4 องค์ เพื่อนำไปประดิษฐานไว้ 4 ทิศของประเทศ โดยทางทิศเหนือได้นำมาประดิษฐานไว้ ณ จังหวัดลำปาง นับเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง เป็นที่เคารพสักการะของประชาชน ปัจจุบันพระพุทธรูปองค์นี้ปิดทองเกือบทั้งองค์โดยสาธุชนที่มานมัสการ

วัดพระแก้วดอนเต้า
ตั้งอยู่ที่ตำบลเวียงเหนือ เป็นวัดเก่าแก่และสวยงาม มีอายุนับพันปี เคยเป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 1979 เป็นเวลานานถึง 32 ปี เหตุที่วัดนี้ได้ชื่อว่าวัดพระแก้วดอนเต้า มีตำนานกล่าวว่า พระมหาเถระแห่งวัดนี้ได้พบแก้วมรกตในแตงโม (ภาษาเหนือเรียกว่า หมากเต้า) และนำมาแกะสลักเป็นพระพุทธรูป แต่ต่อมาถูกอัญเชิญไปประดิษฐานที่วัดพระธาตุลำปางหลวงจนถึงปัจจุบัน ปูชนียสถานที่สำคัญในวัดพระแก้วดอนเต้า ได้แก่ พระเจดีย์องค์ใหญ่ บรรจุพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า มณฑปศิลปะพม่า ลักษณะงดงาม ประดิษฐานพระพุทธรูปองค์ใหญ่ วิหารประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ที่มีอายุเก่าพอๆกับวัดนี้ นอกจากนี้ยังมี วิหารหลวง และพิพิธภัณฑสถานแห่งลานนา การเดินทางไปยังวัด ข้ามสะพานรัชฎาภิเษกแล้วเลี้ยวขวาไปตามถนนพระแก้วประมาณ 1 กิโลเมตร จะเห็นองค์พระธาตุตั้งเด่นอยู่บนเนิน

วัดศรีชุม
เป็นวัดพม่าที่ใหญ่ที่สุดในบรรดาวัดพม่าที่มีอยู่ในประเทศไทยทั้งหมด 31 วัด สร้างในปี พ.ศ. 2436 โดยคหบดีพม่าชื่อ อูโย ซึ่งติดตามชาวอังกฤษเข้ามาทำงานป่าไม้ในประเทศไทย เมื่อตนเองมีฐานะดีขึ้นจึงต้องการทำบุญโดยสร้างวัดศรีชุมขึ้นในเขตตำบลสวนดอก การเดินทางไปวัดศรีชุม จากถนนพหลโยธินเมื่อถึงโรงเรียนบุญญวาทย์วิทยาลัยแล้ว เลี้ยวซ้ายตรงสี่แยกเข้าถนนศรีชุมไปประมาณ 100 เมตร จะพบทางเข้าวัดอยู่ทางด้านขวามือ

จุดเด่นของวัดนี้เดิมอยู่ที่ พระวิหาร ซึ่งเป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ หลังคาเครื่องไม้ยอดแหลมแกะสลักเป็นลวดลายสวยงามมาก แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า ได้เกิดเหตุเพลิงไหม้พระวิหาร ที่มีศิลปะการตกแต่งภายในร่วมสมัย ระหว่างศิลปะล้านนา และศิลปะพม่าลงทั้งหลัง เมื่อตอนเช้าตรู่ของวันที่ 16 มกราคม 2535 คงเหลือเพียงไม้แกะสลักตรงซุ้มประตูทางขึ้นวิหารเท่านั้น

วัดศรีรองเมือง
ตั้งอยู่ที่บ้านท่าคร่าวน้อย ตำบลสบตุ๋ย ในเขตเทศบาลเมืองด้านทิศตะวันตก เป็นวัดพม่าที่สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2448 สมัยที่ลำปางเป็นศูนย์กลางการค้าขาย การทำป่าไม้เช่นกัน สถาปัตยกรรมที่สำคัญได้แก่ วิหารไม้ หลังคาจั่วซ้อนกันเป็นชั้นเล็กชั้นน้อยสวยงามตามแบบศิลปะพม่า นอกจากนี้ยังนับว่า เป็นวัดที่มีการประดับตกแต่งภายในด้วยลายไม้แกะสลัก และลายปูนปั้นลงรักปิดทอง ประดับด้วยกระจกสี ฝีมือประณีต วิจิตรสวยงาม

วัดป่าฝาง
ตั้งอยู่เลขที่ 214 ถนนสนามบิน ตำบลหัวเวียง สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยชาวพม่าที่มาประกอบอาชีพการป่าไม้ในจังหวัดลำปาง มีพุทธสถานที่เด่นคือ พระเจดีย์ใหญ่สีทองสุกปลั่งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่อัญเชิญมาจากพม่าเมื่อประมาณ พ.ศ. 2449 ศาลาการเปรียญ เรือนไม้ทั้งหลังขนาดใหญ่ หลังคาซ้อนกันเป็นชั้นๆ แบบพม่า และพระอุโบสถขนาดเล็กหลังคาเครื่องไม้แบบพม่า มีลวดลายเครือเถาปูนปั้นเหนือประตูสวยงาม วัดนี้มีพระสงฆ์พม่าจากเมืองมัณฑเลมาเป็นเจ้าอาวาสอยู่เสมอ

วัดไชยมงคล
ตั้งอยู่ที่ถนนสนามบิน ตำบลหัวเวียง เยื้องกับวัดป่าฝาง มีชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า วัดจองคา พุทธสถานที่เด่นของวัดคือ กุฎิ ขนาดปานกลาง ตัวอาคารเป็นตึกสีขาว หลังคาเครื่องไม้แบบพม่า หน้าบันประดับกระจกเป็นรูปเทวดา เสาประดับด้วยขดลวดโลหะสีทองขดเป็นลายเครือเถา ประดับกระจกสีสวยงาม ม่านและระเบียงโดยรอบทำด้วยแผ่นไม้ฉลุฝีมือประณีต ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปสำริด มีลักษณะงดงามสร้างจากเมืองมัณฑเล สหภาพพม่า

สถานปฏิบัติธรรม-มณฑป
หลวงพ่อเกษม เขมโก สำนักสุสานไตรลักษณ์ ตั้งอยู่ชานเมืองลำปางประมาณ 4 กิโลเมตร ตามทางสายลำปาง-แจ้ห่ม ภายในบริเวณมีมณฑปลักษณะเป็นอาคารทรงไทยประยุกต์ มีรูปปั้นหุ่นขี้ผึ้งของหลวงพ่อเกษม เขมโก เกจิอาจารย์ซึ่งมีผู้เคารพนับถือเป็นจำนวนมาก นั่งในท่าสมาธิขนาดเท่ารูปจริง สำหรับให้ประชาชนเคารพสักการะ และบริเวณหน้ามณฑปก็มีที่จอดรถและสถานที่เช่าพระเครื่อง ส่วนกุฎิของหลวงพ่อเกษมอยู่ด้านข้างมณฑป

วัดเจดีย์ซาวหลัง
“ซาว” แปลว่า ยี่สิบ “หลัง” แปลว่า องค์ วัดเจดีย์ซาวหลัง แปลว่าวัดที่มีเจดีย์ 20 องค์ ตั้งอยู่ที่ตำบลต้นธงชัย ห่างจากตัวเมือง 5 กิโลเมตร ตามถนนสายลำปาง-แจ้ห่ม เป็นวัดใหญ่อยู่กลางทุ่งนา บริเวณวัดร่มรื่นเต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่ วัดนี้เป็นปูชนียสถานที่สำคัญของจังหวัดลำปาง สร้างแต่โบราณ ทรงคุณค่าทั้งทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณวัตถุ จากหลักฐานการขุดพบพระเครื่องสมัยหริภุญชัยที่องค์พระเจดีย์ ทำให้สันนิษฐานได้ว่าวัดนี้สร้างมานานกว่าพันปี สิ่งที่น่าชมภายในวัดคือ องค์พระธาตุเจดีย์ซาว ที่มีศิลปะล้านนาผสมศิลปะพม่า ข้างหมู่พระเจดีย์มีวิหารหลังเล็ก ประดิษฐานพระพุทธรูปสำริดปางสมาธิ ศิลปะเชียงแสน ชาวบ้านเรียกว่า “พระพุทธรูปทันใจ” พระอุโบสถหลังใหญ่ซึ่งประดิษฐานพระประธานเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย มีพุทธลักษณะงดงาม บานประตูทั้งสามเป็นของโบราณ เขียนลวดลายรดน้ำละเอียดสวยงาม เสาซุ้มประตูหน้าต่างประดับลวดลายกระจกสี เป็นลักษณะศิลปะสมัยใหม่และที่ ศาลาการเปรียญ เรือนไม้ชั้นเดียวด้านหลังพระอุโบสถ ได้จัดเป็นพิพิธภัณฑ์แสดงโบราณวัตถุที่ชาวบ้านนำมาถวาย

นอกจากนี้ เมื่อปี พ.ศ. 2526 ได้มีชาวบ้านขุดพบพระพุทธรูปทองคำบริสุทธิ์หนัก 100 บาทสองสลึง มามอบให้แก่ทางวัดซึ่งพระพุทธรูปองค์นี้ชื่อว่า “พระแสนแซ่ทองคำ” เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะสมัยล้านนา ราวพุทธศตวรรษที่ 21 ขนาดหน้าตักกว้าง 9 นิ้วครึ่ง สูง 15 นิ้ว เป็นพระพุทธรูปทองคำองค์แรกที่ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุแห่งชาติแล้ว

วัดพระธาตุม่อนพญาแช่
ตั้งอยู่ที่ ต.พิชัย บนเส้นทางสายลำปาง-งาว ระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร จากตัวเมืองโดยเลี้ยวขวาเข้าไปตรงหลักกิโลเมตรที่ 605 ประมาณ 1 กิโลเมตร ตัววัดตั้งอยู่บนเนินเขา สามารถมองเห็นทิวทัศน์ของจังหวัดลำปางได้อย่างชัดเจน ทางวัดได้พัฒนาเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ และขอความร่วมมือกับสำนักงานป่าไม้เขตลำปาง จัดให้เป็นวนอุทยานม่อนพญาแช่ ความสวยงามของวัดอยู่ที่บันไดนาคที่ทอดยาวขึ้นไปสู่พระเจดีย์ซึ่งกล่าวว่าบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เจดีย์เดิมถูกทำลายในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และได้รับการบูรณะขึ้นใหม่ในปี พ.ศ. 2498 ทุกปีจะมีงานนมัสการพระธาตุในวันแรม 8 ค่ำ เดือน 7 เหนือ (ตรงกับเดือน 9)

วัดพระธาตุเสด็จ
อยู่ห่างจากตัวเมืองไปตามเส้นทางลำปาง-งาว ประมาณ 19 กิโลเมตร แยกซ้ายตรงกิโลเมตรที่ 17 ประมาณ 2 กิโลเมตร วัดพระธาตุเสด็จเป็นโบราณสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดลำปาง มีตำนานกล่าวว่าสร้างขึ้นในสมัยพระนางจามเทวี เมื่อประมาณ 500 ปีมาแล้ว อุโบสถและวิหารต่างๆ ในวัดนี้ล้วนแต่เป็นของโบราณที่ได้รับการบูรณะใหม่ แต่ยังคงสภาพศิลปะโบราณให้เห็นได้อยู่จนปัจจุบัน กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนไว้เป็นโบราณสถานของชาติแล้ว วัดนี้มีพุทธสถานที่สำคัญคือ องค์พระธาตุเสด็จ ซึ่งเป็นเจดีย์บรรจุพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้า เป็นเจดีย์แบบลานนา ลักษณะคล้ายพระธาตุลำปางหลวงแต่องค์เล็กกว่า นอกจากนี้มีวิหารใหญ่ เรียกว่า “วิหารกลาง” ประดิษฐานพระพุทธรูปสำริดปางลีลาองค์ใหญ่ มีพุทธลักษณะงดงามนามว่า “หลวงพ่อห้ามญาติ” วิหารหลวง เรียกว่าวิหารจามเทวี ประดิษฐานพระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัยขัดสมาธิราบ ศิลปะเชียงแสนและวิหารพระพุทธ มีพระพุทธรูปชื่อ “พระเจ้าดำองค์อ้วน” เป็นพระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัยขัดสมาธิราบ

เขื่อนกิ่วลม
อยู่ห่างจากตัวเมืองไป 38 กิโลเมตร ตามเส้นทางสายลำปาง-งาว โดยแยกซ้ายตรงหลักกิโลเมตรที่ 623-624 เข้าไปอีก 14 กิโลเมตร เปิดให้ประชาชนเข้าไปพักผ่อนหย่อนใจได้ตั้งแต่เวลา 06.00-18.00 น.

เขื่อนกิ่วลม อยู่ภายใต้การดูแลของกรมชลประทาน บริเวณเหนือเขื่อนเป็นอ่างเก็บน้ำเหมาะแก่การล่องเรือหรือแพ เพราะมีทัศนียภาพสวยงาม การล่องแพใช้เวลาประมาณครึ่งวัน มีสถานที่น่าสนใจ เช่น แหลมชาวเขื่อน ผาเกี๋ยง ผางาม เกาะชวนฝัน ทะเลสาบสบพุ หมู่บ้านชาวประมงบ้านสา ฯลฯ

สำหรับผู้ที่สนใจกีฬาทางน้ำ บอสสินี่ สปอร์ต คลับ ได้รับอนุญาตจากกรมชลประทานให้จัดตั้งศูนย์กีฬาทางน้ำที่บริการอุปกรณ์กีฬาทางน้ำประเภทต่าง ๆ เช่น สกู๊ตเตอร์ บานานาโบ๊ท วินเสริฟ เป็นต้น

บ้านพักรับรองของทางกรมฯ อนุญาตให้เข้าพักได้เฉพาะข้าราชการ หรือหน่วยงานราชการเท่านั้น โดยมีหนังสือแจ้งล่วงหน้าไปที่ กรมชลประทาน ถนนสามเสน หรือ โทร. 241-4806 บริการจองแพ เรือ และที่พักบริเวณอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อน ติดต่อได้ที่
กิ่วลมรีสอร์ท โทร. (054) 334-393, 223772
แพวังแก้ว โทร. (054) 319-040, 223-733

สวนสาธารณะหนองกระทิง
ตั้งอยู่ที่ตำบลบ่อแฮ้ว จากตัวเมืองข้ามลำน้ำวังไปตามเส้นทางสายลำปาง-ห้างฉัตร ประมาณ 3 กิโลเมตร เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนชาวลำปางที่ใกล้ตัวเมืองมากที่สุด มีหนองน้ำใสเหมาะสำหรับว่ายน้ำ เล่นเรือถีบ มีสวนหย่อม และต้นไม้ร่มรื่น มีร้านอาหารและเครื่องดื่มบริการหลายแห่ง

อ่างเก็บน้ำวังเฮือ
อยู่ห่างจากตัวเมืองไปตามถนนสายลำปาง-เด่นชัย 18 กิโลเมตรแล้วเลี้ยวขวาตามถนนเข้าตัวเมืองอีกราว 300 เมตร เป็นอ่างเก็บน้ำที่อยู่ริมถนน เหมาะแก่การแวะพักผ่อนปิคนิค ริมอ่างเก็บน้ำเป็นทิวเขาที่มีทิวทัศน์สวยงาม


:: อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท ::

:: ข้อมูลทั่วไป ::
อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท มีพื้นที่ครอบคลุมในท้องที่อำเภอเมือง อำเภอแจ้ห่ม อำเภองาว จังหวัดลำปาง มีลักษณะภูมิประเทศทั่วไปเป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน สภาพป่าเป็นป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรัง ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์มาก มีสวนสักกระจายอยู่ทั่วไป เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์จำนวนมาก พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธาร ชั้นที่ 160 มีจุดเด่นและสถานที่พักผ่อนหย่อนใจที่สำคัญ คือ ถ้ำผาไท หล่มภูเขียว บริเวณอ่างเก็บน้ำเขื่อนกิ่วลม ถ้ำออกรู ห้วยแม่พลึง นอกจากนี้ยังมีน้ำตกขนาดเล็ก กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป และยังมีสถานที่ท่องเที่ยวขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ คือ ศูนย์ฝึกลูกช้าง มีเนื้อที่ประมาณ 758,750 ไร่ หรือ 1,214 ตารางกิโลเมตร

ตามคำสั่งกรมป่าไม้ ที่ 1627/2532 ให้ นายพูนสถิตย์ วงศ์สวัสดิ์ นักวิชาการป่าไม้ 5 กองอุทยานแห่งชาติดำเนินการสำรวจเพิ่มเติม และจัดตั้งพื้นที่ป่าบริเวณอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท และบริเวณป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ยาง-ป่าแม่งาว ป่าแม่ต๋า-ป่าแม่มาย ป่าแม่งาวฝั่งขวา และป่าแม่โป่ง ในท้องที่อำเภอเมือง อำเภอแจ้ห่ม และอำเภองาว จังหวัดลำปาง เพื่อประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ โดยให้ทำหน้าที่หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแห่งนี้ด้วย

ผลการสำรวจพื้นที่ที่จะจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท พบว่า เป็นป่าธรรมชาติที่ยังคงมีความอุดมสมบูรณ์ มีสถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งประชาชนและหน่วยงานต่างๆ รู้จักเป็นอย่างดี ได้แก่ เขื่อนกิ่วลม และถ้ำผาไท โดยได้ขออนุมัติใช้ชื่ออุทยานแห่งชาติ ตามหนังสืออุทยานแห่งชาติ ที่ กษ 0713(ผท)/20 ลงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2534 ว่า อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท ซึ่งนายไพโรจน์ สุวรรณกร อธิบดีกรมป่าไม้ อนุมัติให้ใช้ชื่อ “อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท” เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2534 ปัจจุบันกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กำลังรวบรวมข้อมูล เพื่อพิจารณาประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติต่อไป


:: ลักษณะภูมิประเทศ ::
สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไป เป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน สภาพป่าเป็นป่าเบญจพรรณและพื้นที่ถูกบุกรุกแผ้วถาง มีสวนสักกระจายอยู่ทั่วไป ยอดเขาสูงที่สำคัญ คือ ดอยกิ่วลม สูง 1,202 เมตร รองลงมาคือ ดอยสันกลางสูง 1,022 เมตร ดอยผาหวด สูง 975 เมตร ซึ่งมีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าเบญจพรรณ สลับกับป่าเต็งรัง ส่วนทิศใต้ ได้แก่ ดอยหลวง สูง 1,100 เมตร ทางทิศตะวันออกของพื้นที่ เป็นแหล่งผลิตผลทางด้านเกษตรกรรมที่สำคัญ ส่วนทางด้านทิศตะวันตกของพื้นที่ ส่วนใหญ่เป็นป่าเต็งรัง น้ำจากลำห้วยและลำธารสายต่างๆ ที่ไหลไปทางทิศตะวันตก จะไหลลงสู่แม่น้ำวัง ส่วนที่ไหลไปทางด้านทิศตะวันออก จะไหลลงสู่แม่น้ำงาวเป็นส่วนใหญ่


:: ลักษณะภูมิอากาศ ::
ฤดูร้อนจะร้อนจัด มีลมพัดมาจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ โดยเริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม ฤดูฝน ฝนตกสม่ำเสมอ มีลมพัดมาจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ บางครั้งมีพายุพัดแรงมาก เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ถึงเดือนตุลาคม ฤดูหนาวอากาศหนาวจัด ในตอนกลางคืนและตอนเช้า มีหมอกปกคลุมทั่วไป ลมหนาวพัดมาจากทิศ ตะวันออกเฉียงเหนือ เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์


:: พรรณไม้และสัตว์ป่า ::
เนื่องจากสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน ป่าไม้ที่พบได้แก่ ป่าดิบแล้ง พันธุ์ไม้ที่พบ คือ ตะเคียน ไม้ตระกูลยาง ไม้ตระกูลไม้ก่อ ยมหอม อบเชย ดีหมี ฯลฯ ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง พันธุ์ไม้ที่พบเห็น คือ ประดู่ มะค่าโมง แดง อ้อยช้าง ชิงชัน ไผ่ชนิดต่างๆ ตุ้มกว้าว อุโลก สะแก และหญ้าแพก เป็นต้น

สัตว์ป่าที่พบได้แก่ กระทิง หมูป่า ลิง เม่นใหญ่ ตุ่น อีเห็น อ้น กระต่ายป่า แย้ กิ้งก่า ตุ๊กแกป่า งู กบ เขียด อึ่งอ่าง คางคก และนกนานาชนิด นอกจากนี้ยังมีปลาชนิดต่างๆ หลายชนิด


:: ที่ตั้งและการเดินทาง ::
อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท
หมู่ 3 ต.บ้านหวด อ. งาว จ. ลำปาง 52110
โทรศัพท์ : 0 5422 0364

รถยนต์
ถ้ำผาไท ตั้งอยู่บนทางหลวงหมายเลข 1 เป็นเส้นทางจากตัวจังหวัดลำปาง-พะเยา-เชียงราย ห่างจากตัวจังหวัดลำปางมาทางจังหวัดพะเยา ประมาณ 65 กิโลเมตร อยู่บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 665-666 จะเห็นป้ายอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท ต่อจากนั้นเลี้ยวเข้าปากทางประมาณ 300 เมตร ก็ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติ หรือจะเดินทาง โดยใช้เส้นทางสายจังหวัดแพร่ อำเภองาว จังหวัดเชียงราย ก่อนถึงอำเภองาว แยกซ้ายสู่จังหวัดลำปาง ประมาณ 15 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท


รถโดยสารประจำทาง
เดินทางด้วยรถโดยสารสายลำปาง-เชียงราย หรือรถตู้จังหวัดลำปาง-อำเภองาว แล้วลงตรงบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 665-666 จะเห็นป้ายอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท จากปากทางเดินเท้าต่ออีกประมาณ 300 เมตร ก็ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท


:: แหล่งท่องเที่ยว :: ด้านประวัติศาสตร์ ::
ภาพเขียนประวัติศาสตร์บ้านพักห้วยหก เป็นภาพเขียนสีแดงของกลุ่มคน เดินเรียงแถว เป็นภาพเขียนที่มีอายุประมาณ 2,000-3,000 ปี เป็นยุคสมัยของสังคมเร่ร่อน และลักษณะของภาพเขียนดังกล่าว ไม่ค่อยได้พบเห็นมากนักในประเทศไทย สำหรับการเดินทาง ต้องใช้ทางเดินเท้าจากหมู่บ้านห้วยหก ระยะทางประมาณ 3.5 กิโลเมตร


:: ด้านธรรมชาติที่สวยงาม ::
ถ้ำผาไท เกิดจากภูเขาหินปูน มีความลึกจากบริเวณปากถ้ำเข้าไปประมาณ 405 เมตร มีหินงอก และหินย้อย ที่สวยงามอยู่ตลอดเส้นทางเดิน บริเวณปากถ้ำเป็นคูหากว้าง ซึ่งมีเสาหินขนาดใหญ่สูงหลายสิบเมตร ตั้งตระหง่านเป็นเอกลักษณ์ บนผนังถ้ำด้านขวามือ มีรอยจารึกพระปรมาภิโธยย่อ “ป.ป.ร.” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงจารึกไว้เมื่อครั้งเสด็จประพาสถ้ำผาไท ในปี พ.ศ. 2469 นอกจากนี้ยังมีทางแยกไปถ้ำโจร และถ้ำเสือ ที่มีหินงอกหินย้อยรูปทรงแปลกตาน่าชม


หล่มภูเขียว เป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่อยู่บนภูเขา มีเนื้อที่ประมาณ 1-2 ไร่ มีลักษณะคล้ายปล่องภูเขาไฟ น้ำในแอ่งลึกมากจนมองเห็นเป็นสีเขียว มีปลาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก สภาพป่าเป็นป่าดิบแล้ง มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก หล่มภูเขียวอยู่ห่างจากทางหลวงแผ่นดินดินหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) จากเส้นทางสายลำปาง-พะเยา เข้าไปประมาณ 14 กิโลเมตร ซึ่งเป็นทางแยกไปสู่หมู่บ้านอ้อน อำเภองาว จังหวัดลำปาง เส้นทางเป็นทางลูกรัง จากบ้านอ้อน มีทางเดินเท้าไปหล่มภูเขียว ระยะทางประมาณ 3.5 กิโลเมตร


อ่างเก็บน้ำเขื่อนกิ่วลม เกิดจากการสร้างเขื่อนกิ่วลมกั้นแม่น้ำวัง เป็นสถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งมีชื่อเสียงของจังหวัดลำปาง ผู้สนใจสามารถล่องแพ หรือเรือชมทิวทัศน์ของทะเลสาบ และเกาะกลางน้ำ โดยมีสถานที่สำหรับจอดเรือและแพอยู่ 2 แห่ง คือ บริเวณสันเขื่อนกิ่วลม ซึ่งจะมีทางแยกเข้าไป 14 กิโลเมตร จากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) ระยะทางห่างจากตัวจังหวัดลำปางถึงทางแยกประมาณ 20 กิโลเมตร ที่สำหรับจอดเรือและแพอีกแห่งหนึ่ง คือ ท่าเรือสำเพาทอง ซึ่งมีทางแยกจากทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1055 (ลำปาง-แจ้ห่ม) เข้าไปประมาณ 3 กิโลเมตร


ถ้ำออกรู ห้วยแม่พลึง อยู่ใกล้ที่ทำการสวนป่าแม่พลึง


น้ำตกแม่แจ้ฟ้า น้ำตกแม่แจ้ฟ้า มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า น้ำตกตาดเหมย เป็นน้ำตกที่มีน้ำใสสะอาด ไหลลงแอ่งน้ำรองรับลงมาเป็นชั้นๆ มีความสูงรวม 9 ชั้น ที่ตั้งอยู่ห่างจากบ้านทุ่งฮ้างหมู่ 1 ตำบลทุ่งผึ้ง อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง เป็นทางรถยนต์เข้าไป ประมาณ 8 กิโลเมตร.


น้ำตกห้วยตาดน้อย เป็นน้ำตกขนาดเล็ก น้ำใส ไหลตลอดปี ตั้งอยู่บริเวณหมู่บ้านห้วยปง อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง การเดินทางใช้เส้นทางรถยนต์ จากถนนสายลำปาง-แจ้ห่ม แยกไปสู่น้ำตก ประมาณ 25 กิโลเมตร.


น้ำตกแม่ส้าน เป็นน้ำตกขนาดกลางมี 2 ชั้น มีน้ำใสไหลตลอดปี ตั้งอยู่บริเวณหมู่บ้านแม่ส้าน อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง การเดินทางต้องใช้ทางเดินเท้าจากหมู่บ้านแม่ส้าน ระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร


น้ำตกแม่แก้ เป็นน้ำตกขนาดเล็ก เกิดจากลำห้วยแม่แก้ ตั้งอยู่บริเวณบ้านแม่แก้ อำเภองาว จังหวัดลำปาง การเดินทางใช้เส้นทางรถยนต์จากอำเภองาว ถึงบริเวณน้ำตก ระยะทางประมาณ 18 กิโลเมตร


ถ้ำราชคฤห์ เป็นถ้ำหินปูนอีกแห่งหนึ่ง มีหินงอกหินย้อยที่สวยงาม ตั้งอยู่ใกล้หมู่บ้านแม่แก้ อำเภองาว จังหวัดลำปาง การเดินทางใช้เส้นทางรถยนต์จากอำเภองาวถึงหมู่บ้านแม่แก้ ระยะทางประมาณ 21 กิโลเมตร และเดินทางเท้า เข้าไปยังถ้ำประมาณ 300 เมตร



:: สิ่งอำนวยความสะดวก ::
ห้องสุขาชาย มีห้องสุขาชายให้บริการ


ห้องสุขาหญิง มีห้องสุขาหญิงให้บริการ


สถานที่กางเต็นท์/เต็นท์ อุทยานแห่งชาติจัดเตรียม สถานที่กางเต็นท์และเต็นท์ ไว้ให้บริการนักท่องเที่ยว การสำรองที่พักเต็นท์ สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียด และสำรองที่พักเต็นท์ได้กับอุทยานแห่งชาติโดยตรง


ที่จอดรถ มีลานจอดรถให้บริการแก่นักท่องเที่ยว


บริการอาหาร มีร้านอาหารไว้บริการนักท่องเที่ยว


ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว มีศูนย์บริการนักท่องเที่ยว เพื่อศึกษาหาข้อมูลเบื้องต้นก่อนไปท่องเที่ยว ในบริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติ



:: อุทยานแห่งชาติดอยขุนตาล ::

:: ข้อมูลทั่วไป ::
อุทยานแห่งชาติดอยขุนตาล มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในพื้นที่อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน และอำเภอห้างฉัตร อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง สภาพพื้นที่เป็นป่าอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพันธุ์ไม้นานาชนิด เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร ซึ่งเป็นบรรยากาศที่เงียบสงบ และอุโมงค์ขุนตานซึ่งเป็นอุโมงค์รถไฟที่ยาวที่สุดในประเทศไทย สร้างโดยชาวเยอรมัน มีเนื้อที่ประมาณ 159,556.25 ไร่ หรือ 255.29 ตารางกิโลเมตร

ป่าดอยขุนตาลแห่งนี้เป็นป่า 1 ใน 14 แห่ง ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติในการประชุม เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2502 ให้จัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งกรมป่าไม้ได้ประกาศให้ป่าดอยขุนตาลในท้องที่บางส่วนของตำบลท่าปลาดุก อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน เป็นป่าสงวนแห่งชาติป่าดอยขุนตาล ตามกฏกระทรวง ฉบับที่ 116 (พ.ศ. 2506) ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 80 ตอนที่ 82 วันที่ 13 สิงหาคม 2506 เนื้อที่ 39,206.25 ไร่ และในท้องที่บางส่วนของตำบลเวียงตาล ตำบลวอแก้ว อำเภอห้างฉัตร และตำบลบ้านเอื้อม อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง เป็นป่าสงวนแห่งชาติป่าดอยขุนตาลตาม กฏกระทรวงฉบับที่ 359 (พ.ศ. 2511) ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 85 ตอนที่ 109 วันที่ 22 พฤศจิกายน 2511 เนื้อที่ 120,625 ไร่

กองบำรุง กรมป่าไม้ ได้มีคำสั่งที่ 40/2508 ลงวันที่ 18 มีนาคม 2508 ให้นาย วรเทพ เกษมสุวรรณ ไปทำการสำรวจจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติต่อไป ต่อมากรมป่าไม้ได้เสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ซึ่งได้มีมติในคราวประชุมครั้งที่ 5/2517 เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2517 ให้กำหนดป่าขุนตาลเป็นอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้จึงมีคำสั่งที่ 1160/2517 ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2517 ให้นายนฤทธิ์ ตันสุวรรณ ไปดำเนินการสำรวจหาข้อมูล โดยยึดถือตามแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติ ผลการสำรวจตามบันทึกลงวันที่ 1 ธันวาคม 2517 และวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2518 ปรากฎว่า ป่าดอยขุนตาลมีทรัพยากรธรรมชาติที่มีค่าหลายชนิด เช่น พันธุ์ไม้ที่มีค่าทางเศรษฐกิจ กล้วยไม้ สมุนไพร สัตว์ป่านานาชนิด บรรยากาศที่ร่มรื่นที่เงียบสงบ และมีอุโมงค์ที่ยาวที่สุดในประเทศไทย กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้จึงได้ดำเนินการเพิกถอนป่าดอยขุนตาลจากการเป็นป่าสงวนแห่งชาติจัดตั้งป่าดอยขุนตาลเป็นอุทยานแห่งชาติ โดยมีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าดอยขุนตาล ในท้องที่ตำบลท่าปลาดุก อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน และตำบลบ้านเอื้อม อำเภอเมืองลำปาง ตำบลเวียงตาล ตำบลวอแก้ว อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง เนื้อที่ 159,556.25 ไร่ หรือ 255.29 ตารางกิโลเมตร ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 92 ตอนที่ 54 ลงวันที่ 5 มีนาคม 2518 เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 10 ของประเทศไทย


:: ลักษณะภูมิประเทศ ::
อุทยานแห่งชาติดอยขุนตาล ตั้งอยู่บริเวณเทือกเขาขุนตาล ซึ่งเป็นเทือกเขาที่แบ่งระหว่างที่ราบลุ่มเชียงใหม่ และที่ราบลุ่มลำปาง เป็นเทือกเขาสูงชันสลับซับซ้อน สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 325-1,373 เมตร จุดสูงสุดในเขตอุทยานแห่งชาติได้แก่ ดอยขุนตาล มีที่ราบอยู่เพียงเล็กน้อยอยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ทิศตะวันตก และทิศตะวันออกเฉียงใต้ของอุทยานแห่งชาติ เป็นแหล่งต้นน้ำส่วนหนึ่งของแม่น้ำปิง ซึ่งอยู่ทางด้านตะวันตกของพื้นที่ และแม่น้ำวังซึ่งอยู่ทางด้านตะวันออกของเขตอุทยานแห่งชาติ ลำน้ำที่ไหลลงสู่แม่น้ำวังได้แก่ น้ำแม่ค่อม น้ำแม่ต๋ำ น้ำแม่ไพร เป็นต้น ส่วนที่ไหลลงสู่น้ำแม่ทา และออกสู่แม่น้ำปิงในที่สุด ได้แก่ ห้วยแม่ป่าข่า ห้วยแม่ยอนหวายหลวง ห้วยทุ่งไผ่ ห้วยสองท่า ห้วยแม่โฮ่งห่าง เป็นต้น


:: ลักษณะภูมิอากาศ ::
พื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยขุนตาล ตั้งอยู่ภาคเหนือของประเทศ ได้รับอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งพัดมาจากมหาสมุทรอินเดีย และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดมาจากผืนแผ่นดินใหญ่ของประเทศจีน ทำให้เกิดฤดูกาล 3 ฤดู คือ ฤดูฝน ซึ่งเป็นช่วงที่ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดผ่าน เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมจนถึงเดือนตุลาคม ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยรายปีอยู่ในช่วง 1,050-1,290 มิลลิเมตร และต่อด้วยฤดูหนาว ซึ่งอยู่ในช่วงลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ และในช่วงเปลี่ยนฤดูมรสุม ตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน จะเป็นฤดูร้อน ซึ่งอากาศจะร้อนอบอ้าว ก่อนที่จะเริ่มฤดูฝนต่อไปในเดือนพฤษภาคม อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปี 26 องศาเซลเซียส เฉลี่ยต่ำสุดในเดือนธันวาคม และสูงสุดในช่วงเดือนเมษายน


:: พรรณไม้และสัตว์ป่า ::
สังคมพืชของอุทยานแห่งชาติดอยขุนตาลสามารถจำแนกออกได้เป็น
ป่าดิบแล้ง ขึ้นครอบคลุมพื้นที่ที่มีความชื้นค่อนข้างสูง โดยเฉพาะตามหุบเขาหรือร่องห้วย เช่น หุบเขาแม่ตาลน้อย ห้วยแม่ไพร ห้วยแม่เฟือง ห้วยแม่ออน ห้วยหลวง และห้วยแม่ค่อม โดยมีระดับความสูงจากน้ำทะเลเฉลี่ย 500-1,000 เมตร ชนิดไม้ที่พบได้แก่ โพบาย ยาง ตะคร้ำ สัตตบรรณ ตะเคียน ยมหอม มะหาด มะม่วงป่า กระท้อน พระเจ้าห้าพระองค์ ฯลฯ พืชพื้นล่างได้แก่ หวาย พืชในวงศ์ขิงข่า ผักกูด ผักหนาม และเฟิน เป็นต้น

ป่าดิบเขา ขึ้นปกคลุมพื้นที่ที่มีระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,000 เมตรขึ้นไป ชนิดไม้ที่พบได้แก่ ก่อเดือย ก่อแป้น ก่อหัวหมู ก่อน้ำ มะก่อ ทะโล้ จำปาป่า แหลบุก สารภีป่า รักขาว ลำพูป่า ฯลฯ

ป่าสนเขา พบกระจายเป็นหย่อมเล็กๆ บริเวณ ย.2 ย.3 และ ย.4 ป่าสนเขาในบริเวณนี้เป็นป่าที่ปลูกขึ้นมากว่า 50 ปี ชนิดสนที่พบได้แก่ สนสามใบ นอกจากนี้ยังมีไม้อื่นขึ้นปะปนได้แก่ กางขี้มอด กระพี้เขาควาย มะขามป้อม มะกอกเกลื้อน ประดู่ตะเลน อ้อยช้าง แข้งกวาง เป็นต้น

ป่าเต็งรัง ขึ้นปกคลุมตามเชิงเขาโดยรอบทางทิศตะวันตก และทิศตะวันออกของอุทยานแห่งชาติ ซึ่งมีสภาพดินเป็นกรวดหรือดินลูกรัง มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ชนิดไม้ที่พบได้แก่ พลวง เหียง รักใหญ่ เก็ดแดง กาสามปีก รกฟ้า ฯลฯ พืชพื้นล่างได้แก่ เป้งเขา และหญ้าชนิดต่างๆ

ป่าเบญจพรรณ เป็นป่าที่ขึ้นระหว่างป่าเต็งรัง และป่าดงดิบ บริเวณเชิงเขาทั้งทางด้านตะวันตก และตะวันออกของอุทยานแห่งชาติ มีไผ่ซางขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น ชนิดไม้ที่พบได้แก่ มะเกลือเลือด แดง มะกอกเกลื้อน สมอพิเภก ตะแบกแดง และงิ้วป่า เป็นต้น

สัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้ประกอบด้วย เก้ง หมูป่า ชะมดแผงหางปล้อง อ้นเล็ก กระแตเหนือ กระรอกท้องแดง กระเล็นขนปลายหูสั้น กระจ้อน ค้างคาวขอบหูขาวกลาง หนูท้องขาว ไก่ป่า นกยางกรอกพันธุ์จีน นกยางไฟหัวน้ำตาล นกคุ่มอกลาย นกปากซ่อมหางพัด นกชายเลนน้ำจืด นกเด้าดิน นกเขาไฟ นกอีวาบตั๊กแตนนกบั้งรอกใหญ่ นกกระปูดใหญ่ นกเค้ากู่ นกแอ่นตาล นกกะเต็นน้อย นกจาบคาเล็ก นกตะขาบทุ่ง นกตีทอง นกเด้าลมเหลือง นกเขนน้อยปีกแถบขาว นกขมิ้นน้อยสวน นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้า นกปรอดเหลืองหัวจุก นกไต่ไม้หน้าผากกำมะหยี่ นกกินปลีอกเหลือง จิ้งจกหางแบน กิ้งก่าบินปีกสีส้ม จิ้งเหลนหลากหลาย ตะกวด งูลายสอสวน งูเขียวหางไหม้ท้องเขียว คางคกบ้าน กบหนอง และอึ่งข้างดำ เป็นต้น


:: ที่ตั้งและการเดินทาง ::
อุทยานแห่งชาติดอยขุนตาล
หมู่ 8 ต.ทาปลาดุก อ. แม่ทา จ. ลำพูน 51140
โทรศัพท์ : 0 5351 8726

รถยนต์
อุทยานแห่งชาติดอยขุนตาล ผู้ที่มาเยือนสามารถเดินทางทางรถยนต์ได้ 2 เส้นทาง คือ

- จากแยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 สายลำปาง-เชียงใหม่ บริเวณกิโลเมตรที่ 15 - 16 บริเวณใกล้อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง ให้เลี้ยวขวาไปอีกประมาณ 28 กิโลเมตร ก็จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติ

- เดินทางตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 แยกขวาระหว่างกิโลเมตรที่ 46 - 47 บริเวณอำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน เป็นทางลาดยาง ระยะทางประมาณ 18 กิโลเมตร ก็จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติ

หมายเหตุ เส้นทางภายในบริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติเป็นถนนลาดยาง มีความลาดชันสูง บางช่วงมีโค้งหักศอก ควรขับขี่รถยนต์ด้วยความระมัดระวังโดยเฉพาะเวลากลางคืน รถบัสไม่สามารถขึ้นได้


รถไฟ
ตามเส้นทางรถไฟสายเหนือ โดยลงที่สถานีขุนตาลแล้วเดินประมาณ 1.3 กิโลเมตร ก็จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติดอยขุนตาล


:: แหล่งท่องเที่ยว ::
ตามยอดเขาสูงของอุทยานแห่งชาติดอยขุนตาล เป็นจุดเด่นที่เหมาะสำหรับการเดินศึกษาธรรมชาติ ชมทิวทัศน์ การพักค้างแรม เนื่องจากในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ดอยขุนตาลเป็นดอยยุทธศาสตร์ที่สำคัญ และมีการใช้พื้นที่ตามจุดเหล่านี้เป็นจุดยุทธศาสตร์ สำหรับการปฏิบัติการทางทหาร มีจุดยุทธศาสตร์อยู่ด้วยกัน 4 จุด ปัจจุบันรู้จักกันในนามของ ย.1 ย.2 ย.3 และ ย.4 ซึ่งย่อมาจากคำว่า จุดยุทธศาสตร์ที่ 1 – 4 นั้นเอง นอกจากนี้ ยังมีแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ด้วย


:: ด้านธรรมชาติที่สวยงาม ::
จุดยุทธศาสตร์ที่ 1 "ย.1" เดินทางเท้าจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ระยะทางประมาณ 1,500 เมตร จะถึง ย. 1 บริเวณนี้เป็นที่ตั้งบ้านพักรับรองของการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน เคยใช้เป็นที่ประทับแรม ระหว่างการก่อสร้างอุโมงค์ ปัจจุบันการรถไฟประเทศไทย เปิดให้บริการแก่นักท่องเที่ยว


จุดยุทธศาสตร์ที่ 2 "ย.2" ย.2 อยู่ห่างจาก ย.1 ประมาณ 800 เมตร บริเวณนี้มีสนเขาขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น ทำให้บริเวณนั้นมีความร่มเย็นสวยงามตามธรรมชาติ ในอดีตบริเวณที่ใกล้ๆ ยอดเขาเคยเป็นแค็มป์ของบริษัททำไม้ ซึ่งมาหยุดกิจการช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังจากนั้น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้ซื้อพื้นที่นี้เพื่อสร้างบ้านพัก และปลูกสวนดอกไม้ สวนผลไม้ เป็นสถานที่พักผ่อนส่วนตัว มีสวนลิ้นจี่ สถานที่นี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จไปพักผ่อนอิริยาบทที่เรือนรับรองนี้ 2 ครั้ง เมื่อปี พ.ศ. 2512 และ 2516


จุดยุทธศาสตร์ที่ 3 "ย.3" ห่างจาก ย. 2 ประมาณ 3,500 เมตร สภาพร่มรื่นด้วยป่าดิบเขา และมีนกป่าสวยงามให้ชมตลอดทาง เช่น นกสาลิกาเขียว นกพญาไฟใหญ่ นกปีกลายสก็อต นกไต่ไม้หน้าผากกำมะหยี่ ฯลฯ บริเวณนี้เป็นสถานที่ที่คณะมิชชันนารีอเมริกันคริสตจักร ได้มาสร้างบ้านพักท่ามกลางดงสนเขา ภายหลังจากที่มีการสร้างทางรถไฟเสร็จแล้ว และคณะมิชชันนารีจะเดินทางมาพักผ่อนในเดือนเมษายนเป็นประจำทุกปี ปัจจุบันบ้านพักอยู่ในการดูแลของมหาวิทยาลัยพายัพ จังหวัดเชียงใหม่ และเปิดบริการให้แก่นักท่องเที่ยวทั่วไป


จุดยุทธศาสตร์ที่ 4 "ย.4" ย.4 อยู่ห่างจาก ย.3 มาประมาณ 1,000 เมตร เป็นยอดเขาที่สูงที่สุดของเทือกเขาขุนตาล ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นสถานที่ส่องกล้องทางไกล ซึ่งเรียกว่า ม่อนส่องกล้อง สามารถมองเห็นทัศนียภาพตัวเมืองลำปางได้อย่างชัดเจน ก่อนถึงยอดเขานี้จะผ่านป่าธรรมชาติที่ร่มรื่น และเย็นสบายตลอดทาง


น้ำตกตาดเหมย น้ำตกนี้อยู่แยกจากเส้นทางด้านซ้ายมือ ระหว่างทางจาก ย. 2 ไป ย. 3 โดยต้องเดินทางลงไปในหุบเขาแม่ยอนหวาย ประมาณ 300 เมตร


น้ำตกแม่ลอง น้ำตกนี้อยู่ทางทิศใต้ของสถานีรถไฟขุนตาน ห่างไปประมาณ 10 กิโลเมตร โดยลงรถไฟที่สถานีแม่ตาลน้อย แล้วเดินเท้าไปอีกประมาณ 3 กิโลเมตร จะมีน้ำตกอยู่ตลอดปี สภาพป่าร่มเย็นตลอดทั้งปี



:: ด้านประวัติศาสตร์ ::
อุโมงค์ขุนตาน เป็นอุโมงค์ทางรถไฟลอดผ่านที่ยาวที่สุดในประเทศไทย คือ ยาว 1,352 เมตร มีสวนไม้ดอกตกแต่งไว้อย่างสวยงาม ศาลเจ้าพ่อขุนตาลและอนุสาวรีย์ ซึ่งสร้างเป็นอนุสรณ์แก่ Emil Eisenhofer ชาวเยอรมัน ผู้ดำเนินการควบคุมการสร้าง


:: สิ่งอำนวยความสะดวก ::
ที่พักแรม/บ้านพัก มีบ้านพักให้บริการแก่นักท่องเที่ยว จำนวน 7 หลัง


สถานที่กางเต็นท์/เต็นท์ อุทยานแห่งชาติจัดเตรียมสถานที่กางเต็นท์และเต็นท์ ไว้ให้บริการนักท่องเที่ยว การสำรองที่พักเต็นท์ สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียด และสำรองที่พักเต็นท์ได้กับอุทยานแห่งชาติโดยตรง


ค่ายเยาวชน มีค่ายพักเยาวชนให้บริการ จำนวน 1 หลัง พักได้ 48 คน


บริการอาหาร มีร้านอาหารไว้บริการนักท่องเที่ยว


ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว มีศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ให้บริการข้อมูลเกี่ยวกับอุทยานแห่งชาติ นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาขอรับบริการข้อมูลได้ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ ระหว่างเวลา 8.00 - 16.30 น



:: อุทยานแห่งชาติดอยหลวง ::

:: ข้อมูลทั่วไป ::
อุทยานแห่งชาติดอยหลวง มีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่รอยต่อของ 3 จังหวัด คือ เชียงราย ลำปาง และพะเยา เป็นอุทยานแห่งชาติที่ได้ยกฐานะมาจากวนอุทยานน้ำตกจำปาทอง วนอุทยานน้ำตกผาเกล็ดนาค วนอุทยานน้ำตกปูแกง และวนอุทยานน้ำตกวังแก้ว รวม 4 แห่ง ที่มีพื้นที่ติดต่อเป็นผืนเดียวกัน มีสภาพธรรมชาติ และจุดเด่นเป็นแหล่งท่องเที่ยว ที่มีความสวยงามมากแห่งหนึ่งของภาคเหนือ มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 731,250 ไร่ หรือ 1,170 ตารางกิโลเมตร

กองอุทยานแห่งชาติได้มีหนังสือ ที่ กส 0708/3430 ลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2524 เสนอกรมป่าไม้ เพื่อขอยกฐานะวนอุทยานน้ำตกจำปาทอง วนอุทยานน้ำตกผาเกล็ดนาค อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา และวนอุทยานน้ำตกปูแกง อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกัน และอยู่ในป่าเทือกเขาดอยหลวงด้วยกัน เป็นอุทยานแห่งชาติดอยหลวง โดยได้มีคำสั่งกรมป่าไม้ ที่ 1578/2524 ลงวันที่ 1 ธันวาคม 2524 ให้ นายธวัชชัย เสถียรกาล นักวิชาการป่า 4 ไปทำการสำรวจเบื้องต้นและทำหน้าที่หัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยหลวง ซึ่งอุทยานแห่งชาติดอยหลวงได้มีหนังสือที่ กษ 0713(ดล)/5 ลงวันที่ 2 มิถุนายน 2525 ส่งรายงานการสำรวจ ปรากฏว่าพื้นที่ดังกล่าว มีจุดเด่นทางธรรมชาติที่สวยงามหลายแห่ง มีสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ เหมาะสมที่จะรวมวนอุทยานทั้งหมด จัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ

ต่อมาจังหวัดลำปาง และป่าไม้เขตลำปาง ได้ขอให้กรมป่าไม้จัดบริเวณวนอุทยาน น้ำตกวังแก้ว จังหวัดลำปาง เป็นอุทยานแห่งชาติเพื่อให้สอดคล้องกับมติคณะรัฐ เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2526 ที่กำหนดให้จังหวัดลำปางเป็นจังหวัดส่งเสริมการท่องเที่ยว ผลการสำรวจปรากฏว่า มีพื้นที่เป็นบริเวณติดต่ออยู่ในเทือกเขาดอยหลวง ซึ่งเป็นป่าผืนเดียวกันทั้งหมดและเป็นป่าต้นน้ำลำธารชั้นที่ 1 A ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2528 และเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญของลำห้วยหลายสายซึ่งไหลลงสู่กว้านพะเยา พื้นที่ที่สำรวจมีธรรมชาติและจุดเด่นที่สวยงามมากมาย เหมาะสำหรับการจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ

กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ ได้นำเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติมีมติในการประชุมครั้งที่ 4/2523 เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2528 เห็นชอบในหลักการ ที่จะให้ดำเนินการ ออกพระราชกฤษฎีกา กำหนดพื้นที่ดังกล่าว เป็นอุทยานแห่งชาติดอยหลวงต่อไปได้ ทั้งนี้ให้กันพื้นที่บริเวณที่ราษฎรถือครองออกเสียก่อน โดยให้ยึดถือแนวทางปฏิบัติ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2527 คือ ให้ยึดถือภาพถ่ายทางอากาศปี 2510 เป็นเกณฑ์พิจารณา

กองอุทยานแห่งชาติ จึงได้ติดต่อประสานงาน กับเจ้าหน้าที่ท้องที่ดำเนินการตรวจสอบ เพื่อดำเนินการออกประกาศพระราชกฤษฎีกา กำหนดบริเวณที่ดินป่าแม่ลาวฝั่งขวา ป่าแม่ส้าน และป่าแม่ใจ ในท้องที่ตำบลแม่สรวย ตำบลแม่พริก ตำบลศรีถ้อย ตำบลท่าก๊อ อำเภอแม่สรวย ตำบลธารทอง ตำบลทรายขาว ตำบลสันกลาง ตำบลป่าหุ่ง ตำบลม่วงคำ ตำบลแม่เย็น อำเภอพาน ตำบลสันสลี ตำบลเวียง ตำบลบ้านโป่ง ตำบลป่างิ้ว ตำบลหัวฝาย อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ตำบลป่าแฝก ตำบลเจริญราษฎร์ ตำบลศรีถ้อย ตำบลแม่สุก อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา ป่าขุนวัง แปลงที่สอง ป่าขุนวังแปลงที่สาม ป่าขุนวังแปลงที่หนึ่ง ป่าแม่โป่ง และป่าแม่งาวฝั่งซ้าย ในท้องที่ตำบลทุ่งฮั้ว ตำบลวังเหนือ ตำบลวังใต้ ตำบลร่องเคาะ อำเภอวังเหนือ และตำบลบ้านร้อง อำเภองาว จังหวัดลำปาง และป่าแม่ต้ำ ป่าแม่นาเรือ ในท้องที่ตำบลบ้านใหม่ ตำบลท่าจำปี ตำบลบ้านต้ำ ตำบลบ้านต๋อม ตำบลบ้านสาง ตำบลบ้านตุ่น ตำบลแม่นาเรือ อำเภอพะเยา จังหวัดพะเยา ให้เป็นอุทยานแห่งชาติดอยหลวง ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 107 ตอนที่ 61 ลงวันที่ 16 เมษายน 2533 มีพื้นที่ทั้งหมด 731,250 ไร่ เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 61 ของประเทศ


:: ลักษณะภูมิประเทศ ::
สภาพภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อนทอดตัวยาวตามแนวเหนือ-ใต้ โดยค่อนข้างสูงขึ้นจากทางเหนือลงมาทางใต้ โดยมีจุดสูงสุดคือ ยอดดอยหลวง ซึ่งมีความสูงประมาณ 1,694 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง และสภาพดินเป็นดินลูกรังผสมหินโดยเฉพาะบนยอดเขา ส่วนบริเวณหุบเขาจะมีดินสีดำอุดมไปด้วยแร่ธาตุ และหินมีลักษณะเป็นหินกรวดหรือหินปูนทราย เป็นป่าต้นน้ำของแม่น้ำวังและกว๊านพะเยา


:: ลักษณะภูมิอากาศ ::
ประกอบไปด้วยฤดูกาล 3 ฤดูกาล คือ ฤดูฝน ระหว่างเดือนมิถุนายน-ตุลาคม ฤดูหนาว ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-มกราคม ฤดูร้อน ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม


:: พรรณไม้และสัตว์ป่า ::
ประกอบด้วยป่าชนิดต่างๆ 5 ประเภท ได้แก่ ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง และป่าสนเขา มีพันธุ์ไม้ที่สำคัญ เช่น สัก เสลา อินทนิน มะขามป้อม มะกอกป่า มะม่วงป่า ตะเคียนหิน ตะเคียนทอง ชิงชัน ประดู่ กระบก ยมหิน ยมหอม บุนนาค เต็ง รัง เหียง พลวง ยางนา หว้า ก่อเดือย ก่อแป้น ก่อกำยาน สนสามใบ รวมถึงไผ่ขาว ไผ่บง กล้วยป่า เฟินก้านดำ ขิง ข่า กล้วยไม้ดิน ชายผ้าสีดา กระแตไต่ไม้ เอื้องผึ้ง หวายป่า เท้าสิงห์โต เอื้องหมายนา ค้างคาวดำ ดุสิตา แววมยุรา กระดุมเงิน

สัตว์ป่าประกอบด้วย เลียงผา เก้ง กวางป่า หมูป่า หมี อีเห็น ชะมด บ่าง ชะนี ลิงกัง เสือดาว แมวดำ หมาใน กระต่ายป่า กระรอกบิน ตะกวด เต่าปูลู งูชนิดต่างๆ รวมไปถึงไก่ป่า นกเงือก นกพญาไฟพันธุ์เหนือ นกปีกลายสก็อต นกกางเขนหัวขาวท้ายแดง นกศิวะปีกสีฟ้า และนกย้ายถิ่นหายาก เช่น นกกินปลีหางยาวคอสีดำ และนกอื่นมากมายกว่า 200 ชนิด นอกจากนี้ยังมีแมลงมากมายหลายชนิด เช่น ผีเสื้อกลางวัน ผีเสื้อกลางคืน กว่างห้าเขา ผีเสื้อใบไม้ใหญ่ ผีเสื้อหางติ่งปารีส ผีเสื้อถุงทอง เป็นต้น


:: ที่ตั้งและการเดินทาง ::
อุทยานแห่งชาติดอยหลวง
ต.แม่เย็น อ.พาน จ.เชียงราย อ. พาน จ. เชียงราย 57280
โทรศัพท์ : 0 5360 9042

รถยนต์
ที่ทำการอุทยานแห่งชาติดอยหลวง อยู่บริเวณน้ำตกปูแกง อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย สามารถเดินทางไปได้ 2 ทาง

- เดินทางจากอำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย มาตามถนนสายเชียงราย-พะเยา ถึงบ้านปูแกงระยะทางประมาณ 56 กิโลเมตร แยกทางด้านขวามือเป็นทางเข้าสู่หมู่บ้านและอุทยานแห่งชาติดอยหลวง ระยะทาง 9.5 กิโลเมตร ก็จะถึงน้ำตกปูแกง

- เดินทางจากอำเภอเมือง จังหวัดพะเยา มาตามถนนสายเชียงราย-พะเยา ถึงบ้านปูแกงระยะทางประมาณ 40 กิโลเมตร แยกทางด้านซ้ายมือเป็นทางเข้าสู่หมู่บ้านและอุทยานแห่งชาติดอยหลวง ระยะทาง 9.5 กิโลเมตร ก็จะถึงน้ำตกปูแกง

:: แหล่งท่องเที่ยว :: ด้านธรรมชาติที่สวยงาม ::
น้ำตกปูแกง เป็นน้ำตกที่มีการทับถมของหินปูนที่ปนมากับน้ำ ทำให้เกิดหินงอกหินย้อย และถ้ำมากมายในบริเวณน้ำตก เป็นน้ำตกที่มีความสวยงามมากแห่งหนึ่ง มีจำนวน 9 ชั้น ตั้งอยู่บริเวณบ้านปูแกง อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย โดยปกติจะมีราษฎรในท้องถิ่นเดินทางไปเที่ยวพักผ่อนอยู่เป็นประจำ การเดินทางไปยังบริเวณน้ำตกมีทางลาดยาง แยกจากถนนสายเชียงราย-พะเยา เข้าไปถึงบริเวณน้ำตกระยะทางประมาณ 8 กิโลเมตร เส้นทางใช้ได้ตลอดทั้งปี


น้ำตกจำปาทอง เป็นน้ำตกที่พบเห็นในสภาพป่าดิบชื้นทั่วๆ ไป มีลักษณะเป็นน้ำตกสูงชัน น้ำใสสะอาด มีทั้งหมด 7 ชั้น โดยมีชั้นที่ 2 และชั้นที่ 3 เป็นชั้นที่สูงและสวยที่สุด บางชั้นสายน้ำตกลงมามีลักษณะคล้ายงาช้างหรือหัวช้างบ้าง ซึ่งราษฎรในท้องถิ่นก็ตั้งชื่อชั้นของน้ำตกที่เห็นตามลักษณะของน้ำตกที่ปรากฏให้เห็น การเดินทางมีถนนลาดยางแยกจากถนนสายเชียงราย-พะเยา ตรงหลักกิโลเมตรที่ 7 ก่อนจะถึงตัวจังหวัดพะเยาเข้าไปประมาณ 16 กิโลเมตร ก็ถึงบริเวณน้ำตก


น้ำตกวังแก้ว เป็นน้ำตกที่สวยงามมากของอุทยานแห่งชาติดอยหลวง เป็นน้ำตกที่เกิดจากการทับถมของหินปูนที่ปนมากับน้ำเช่นเดียวกับน้ำตกปูแกง แต่มีความสูงมากกว่า มีชั้นของน้ำตกถึงประมาณ 102 ชั้น น้ำตกนี้มีความสวยงามตลอดทั้งปี


ถ้ำนางพญาปางดินไฟ เป็นถ้ำที่อยู่บริเวณทางน้ำตกวังแก้ว ซึ่งบริเวณดังกล่าวเป็นถ้ำไม่ลึกมากนัก ผนังถ้ำมีหินงอกและหินย้อยที่เกิดจากหินปูน บริเวณก่อนถึง ถ้ำพญาปางดินไฟนี้มีเนินเขาเตี้ยๆ


น้ำตกแม่เหยี่ยน เป็นน้ำตกสูงชัน น้ำใสสะอาด ไหลตลอดทั้งปี น้ำตกไหลลงมาเป็นสายคล้ายงาช้าง ลดหลั่นกันมาเป็นชั้นๆ จำนวน 7 ชั้น มีความสูงประมาณ 1,000 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง สภาพป่าเป็นป่าดิบชื้น มีไม้ยางเป็นไม้เด่น


ดอยหนอก อยู่ในเทือกเขาดอยหลวง มีลักษณะนูนขึ้นมาเป็นรูปรีคล้ายโหนกวัว เป็นภูเขาที่มีหน้าผาสูงชันสามารถมองเห็นได้จากเบื้องล่างทางทิศตะวันออกของกว๊านพะเยา ทิศเหนือถนนพหลโยธินไปจังหวัดเชียงราย การไปเที่ยวดอยหนอกเริ่มต้นจากหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติดอยหลวง ที่ 6 (น้ำตกจำปาทอง) ใช้เวลาเดินเท้าประมาณ 10 ชั่วโมง เพื่อไปชมโบราณสถานที่ครูบาศรีวิชัยเป็นผู้สร้างไว้ ชมพันธุ์ไม้ กล้วยไม้ป่า ที่หายาก นก ผีเสื้อ และแมลงต่างๆ ชมทิวทัศน์บริเวณกว๊านพะเยา และชมดวงอาทิตย์ขึ้นยามเช้าในสภาพอากาศที่หนาวเย็นปกคลุมด้วยม่านหมอก การเข้ามาท่องเที่ยวควรติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อนำทางด้วย



:: สิ่งอำนวยความสะดวก ::
ห้องสุขาชาย มีห้องสุขาชายให้บริการ


ห้องสุขาหญิง มีห้องสุขาหญิงให้บริการ


สถานที่กางเต็นท์/เต็นท์ อุทยานแห่งชาติจัดเตรียมสถานที่กางเต็นท์และเต็นท์ไว้ให้บริการนักท่องเที่ยว การสำรองที่พักเต็นท์สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดและสำรองที่พักเต็นท์ได้กับอุทยานแห่งชาติโดยตรง


สถานที่กางเต็นท์/เต็นท์ มีพื้นที่กางเต็นท์ พร้อมห้องน้ำ-ห้องสุขารวม ไว้ให้บริการ ท่านสามารถนำเต็นท์มากางเอง หรือติดต่อขอใช้บริการเต็นท์ของอุทยานแห่งชาติ ซึ่งมีค่าบริการอยู่หลายอัตราขึ้นอยู่กับชนิด ขนาดของเต็นท์ และอุปกรณ์ประกอบอื่นๆ รายละเอียดเกี่ยวกับที่พักเต็นท์ขอให้ติดต่อสอบถามกับอุทยานแห่งชาติโดยตรง


ที่จอดรถ มีลานจอดรถให้บริการแก่นักท่องเที่ยว


บริการอาหาร มีร้านอาหารไว้บริการนักท่องเที่ยว


ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว มีศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ให้บริการข้อมูลเกี่ยวกับอุทยานแห่งชาติ นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาขอรับบริการข้อมูลได้ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ ระหว่างเวลา 8.00 - 16.30 น.



จังหวัดลำปาง :: การเดินทาง

ทางรถยนต์ส่วนตัว
จากกรุงเทพฯใช้ทางหลวงหมายเลข 1 ถึงกิโลเมตรที่ 52 แยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 32 ผ่าน สิงห์บุรี ชัยนาทเข้านครสวรรค์ แล้วแยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 1 ผ่านกำแพงเพชร ตาก ตรงเข้าสู่จังหวัด ลำปาง รวมระยะทางทั้งสิ้น 599 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 7 ชั่วโมง หรือจะใช้เส้นทางสายใหม่ จากพิษณุโลกเข้า เด่นชัยและลำปางก็ได้

ทางรถโดยสารประจำทาง
บริษัทขนส่ง จำกัด จัดบริการรถโดยสารธรรมดา และปรับอากาศ ไปลำปางทุกวัน รายละเอียด ติดต่อได้ที่ โทร. 2725761-5 (ธรรมดา) โทร. 2725242 (ปรับอากาศ) และที่สถานีขนส่งลำปาง โทร. (054) 227410


บริษัททัวร์ที่บริการเดินรถประจำทางไป-กลับ ระหว่างกรุงเทพฯ-ลำปาง
- บริษัทถาวรฟาร์ม : กรุงเทพฯ โทร. 2725286 , ลำปาง โทร. (054) 217961
- บริษัททันจิตต์ทัวร์ : กรุงเทพฯ โทร. 2720143 , ลำปาง โทร. (054) 226905
- บริษัทสยามเฟิร์สท์ : กรุงเทพฯ โทร. 2725390 , ลำปาง โทร. (054) 227902
- บริษัทวิริยะทัวร์ : กรุงเทพฯ โทร. 2720766 , ลำปาง โทร. (054) 217373
- บริษัทสมบัติทัวร์ : กรุงเทพฯ โทร. 2725392 , ลำปาง โทร. (054) 218302

ทางรถไฟ
ทางการรถไฟแห่งประเทศไทยจัดบริการรถด่วน รถเร็ว และรถธรรมดา จากกรุงเทพฯ - ไปลำปาง ทุกวัน รายละเอียดสอบถามได้ที่ หน่วยบริการเดินทาง โทร. 2237010, 2237020 และที่สถานีรถไฟลำปาง โทร. (054) 271024

ทางเครื่องบิน
มีเที่ยวบินจากกรุงเทพฯทุกวัน รายละเอียดสอบถามได้ที่ บริษัท การบินไทย จำกัด ถนนหลานหลวง โทร. 2800070, 2800080 การบินไทยลำปาง โทร. (054) 217078,218199 และ ท่าอากาศยานลำปาง โทร. (054) 226258

การคมนาคมระหว่างจังหวัด
จากสถานีขนส่งลำปาง มีรถโดยสารธรรมดา และปรับอากาศไปยังจังหวัดเชียงราย แพร่ น่าน นอกจากนี้ยังมีรถ จากเชียงใหม่วิ่งผ่านลำปาง ในยังทุกจังหวัดในภาคเหนือ และบางจังหวัด ในภาคตะวันออก เฉียงเหนือ เช่น ขอนแก่นอุดรธานี อุบลราชธานี นครราชสีมา เป็นต้น


จังหวัดลำปาง :: สถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ

อำเภอเกาะคา

วัดพระธาตุลำปางหลวง
ตั้งอยู่ที่ ต. ลำปางหลวง ห่างจากตัวเมืองลำปางประมาณ 18 กิโลเมตร ตามทางหลวงสายลำปาง-เถิน ถึงหลักกิโลเมตรที่ 586 เลี้ยวเข้าไปจนถึงที่ว่าการอำเภอเกาะคา จากนั้นเลี้ยวขวาเข้าไปอีก 2 กิโลเมตร

วัดพระธาตุลำปางหลวงเป็นวัดที่มีสถาปัตย กรรมงดงามและมีความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์ เป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองลำปาง ตามตำนานกล่าวว่ามีมาตั้งแต่สมัยพระนางจามเทวี ราวพุทธศตวรรษที่ 13 ตัววัดตั้งอยู่บนเนิน มีบันไดนาคทอดขึ้นสู่ตัววัด

พุทธสถานที่น่าสนใจได้แก่ วิหารหลวงซึ่งเป็นวิหารขนาดใหญ่ เปิดโล่ง มีกู่บรรจุพระเจ้าล้านทองเป็นประธานของพระวิหาร หลังพระวิหารมีเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ที่รั้วทองเหลืองรอบองค์พระเจดีย์มีรูกระสุนปืนที่หนานทิพย์ช้างยิงท้าวมหายศปรากฎอยู่ ด้านขวาองค์เจดีย์เป็นวิหารน้ำแต้ม (“แต้ม” แปลว่าภาพเขียน) เป็นวิหารเปิดโล่ง ปัจจุบันภาพเขียนลบเลือนไปมาก ด้านซ้ายของพระเจดีย์เป็นวิหารพระพุทธ เป็นอาคารปิดทึบ มีพระประธานแบบเชียงแสนองค์ใหญ่อยู่เต็มอาคาร หน้าบันของวิหารพระพุทธเป็นลายดอกไม้ติดกระจกสี และพิพิธภัณฑ์ของวัด ซึ่งรวบรวมศิลปวัตถุจากที่ต่างๆ ที่หาชมได้ยาก เช่น สังเค็ด ธรรมาสน์เทศน์ คานหาบ ตู้พระไตรปิฎก เป็นต้น นอกจากนี้วัดพระธาตุลำปางหลวงยังเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วดอนเต้า ซึ่งเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดลำปาง ทุกปีจะมีงานประจำปีในวันเพ็ญเดือน 12

วัดพระธาตุจอมปิง
ตั้งอยู่ที่หมู่ 5 บ้านจอมปิง ต. นาแก้ว อ.เกาะคา การเดินทางนั้นใช้เส้นทางเดียวกันกับวัดพระธาตุลำปางหลวง แต่แยกซ้ายตรงที่ว่าการอำเภอไปอีก 14 กิโลเมตร วัดพระธาตุจอมปิง เป็นวัดโบราณตามตำนานกล่าวว่าสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าติโลกราชแห่งอาณาจักรลานนาไทย วัดนี้มีความมหัศจรรย์ของการเกิดเงาสะท้อนเป็นภาพสีธรรมชาติขององค์พระธาตุ ผ่านรูเล็กบนหน้าต่างมาปรากฎบนพื้นภายในพระอุโบสถตลอดเวลาที่มีแสงสว่างทั้งกลางวันและกลางคืน และทางวัดยังจัดที่แสดงโบราณวัตถุต่างๆ ที่ขุดพบในบริเวณนี้อีกด้วย

วัดเสลารัตนปัพพตาราม (วัดไหล่หินแก้วช้างยืน)
มีพระวิหารเก่าแก่ฝีมือช่างเชียงตุง เป็นศิลปะแบบลานนาไทย มีลวดลายงดงามทั้งหลัง โดยเฉพาะส่วนหน้าบัน และซุ้มประตูที่มีการก่ออิฐถือปูน ซึ่งส่วนมากจะเป็นรูปปั้นสัตว์ศิลปะลานนา ภายในวิหารนอกจากจะมีพระประธานแล้วยังมี รูปปั้นพระมหาเกสระปัญโญภิกขุขนาดเท่าตัวจริง ซึ่งปั้นด้วยฝีมือของท่านเอง พระเจดีย์ของวัดไหลหินก่อสร้างแบบศิลปะลานนาที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

พิพิธภัณฑ์วัดไหล่หิน
เป็นที่เก็บหอพระแก้ว ซุ้มพระพิมพ์ อาวุธโบราณ และที่โรงธรรมมีใบลานเก่าแก่ ของลานนาไทย


อำเภอแม่ทะ

ภูเขาไฟผาลาด
ลำปางเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีภูเขาไฟ นักท่องเที่ยวสามารถแวะเที่ยวชมได้โดยใช้เส้นทางสายลำปาง-แม่เมาะ เมื่อถึงตำบลผาลาด จะพบถนนแยกขวาซึ่งจะมีป้ายบอกทางไปยังภูเขาไฟ บริเวณใกล้ปล่องภูเขาไฟที่ดับแล้ว จะเป็นเนินเขาที่มีป่าไม้ปกคลุมอยู่ทั่วไปจึงทำให้มองปล่องไม่เห็นชัดเจนนัก นอกจากจะสังเกตจากทางอากาศโดยเครื่องบิน หรือเฮลิคอปเตอร์จึงจะเห็นชัด ส่วนที่พิสูจน์ก็คือก้อนหินลาวา หินทำครก ดินขาว และก้อนหินที่พบทั่วไปในบริเวณนั้นเป็นหินชนิดเดียวกับที่สามารถพบได้ในเขตที่มีภูเขาไฟแหล่งอื่นๆ

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านแม่ทะ
ตั้งอยู่ที่บ้านหลุก หมู่ 6 ต. นาครัว อยู่ห่างที่ว่าการอำเภอแม่ทะไปประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นที่รวบรวมของใช้ในบ้าน และเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของชาวบ้านตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน ที่บ้านหลุกนี้ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพแกะสลักไม้เป็นรูปสัตว์ต่างๆ ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่


อำเภอห้างฉัตร

วัดปงยางคก
ตั้งอยู่ริมถนนสายห้างฉัตร-เกาะคา ห่างจากตัวอำเภอประมาณ 5 กิโลเมตร มีวิหารพระแม่เจ้าจามเทวี ซึ่งเป็นวิหารไม้เก่าแก่ สิ่งที่น่าสนใจภายใน คือ มณฑปปราสาทเก่าที่มีตำนานสืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยพระแม่เจ้าจามเทวี

ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย
ตั้งอยู่ที่บ้านทุ่งเกวียน ห่างจากตัวเมืองลำปาง 24 กิโลเมตร ริมทางหลวงหมายเลข 11 (สายลำปาง-ลำพูน) บริเวณกิโลเมตรที่ 28-29 ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยอยู่ในความดูแลของฝ่ายอุตสาหกรรมป่าไม้ภาคเหนือ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ เป็นสถานที่ฝึกลูกช้างแห่งเดียวในประเทศไทย

แต่เดิมทำการฝึกลูกช้างที่ศูนย์ฝึกลูกช้างบ้านปางหละ อำเภองาว โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2512 แล้วย้ายมายังศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2535 ส่วนที่บ้านปางหละใช้เป็นสถานที่สำหรับเลี้ยงดูช้างแก่และเจ็บป่วย

กิจกรรมภายในศูนย์ฯ มีการแสดงของช้าง เช่น ช้างเข้าแถว ช้างทำงาน ช้างทักทายและรับของรางวัลจากนักท่องเที่ยว เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีบริการนั่งช้างรอบบริเวณซึ่งเป็นสวนป่า บริการอาหารเครื่องดื่มและร้านขายของที่ระลึกด้วย การแสดงของช้างวันละ 2 รอบ คือ 09.30, 11.00 น.สำหรับวันเสาร์-อาทิตย์ และวันนักขัตฤกษ์ เพิ่มรอบ 14.00 น. ค่าเข้าชม ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ผู้ใหญ่ 40 บาท เด็กนักเรียน 20 บาท รายละเอียดติดต่อองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ โทร. 282-3243-7 ต่อ 511 หรือ ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย โทร. (054) 227-051, 227-623, 229-042

สวนป่าทุ่งเกวียน
อยู่ริมถนนสายลำปาง-เชียงใหม่ ห่างจากตัวเมือง 30 กิโลเมตร อยู่ในท้องที่ป่าเตรียมการสงวนแม่ยาว อ.ห้างฉัตร ขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ สวนป่าทุ่งเกวียนเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวลำปาง นักท่องเที่ยวจะพบกับธรรมชาติแนวสน และดอกไม้ พันธุ์ไม้นานาชนิด ประมาณเดือน ธันวาคมของทุกปี จะมีการจัดงาน “วัดอกไม้บาน” ภายในบริเวณสวน

อุทยานแห่งชาติดอยขุนตาล
เป็นเทือกเขากั้นเขตแดน ระหว่างจังหวัดลำพูนที่อำเภอแม่ทาและจังหวัดลำปางที่อำเภอห้างฉัตร ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2518 มีเนื้อที่ทั้งสิ้น 159,556 ไร่ มีอุโมงค์รถไฟยาวที่สุดในประเทศไทย เป็นระยะทาง 1,352 เมตร รถไฟใช้เวลาวิ่งผ่านประมาณ 5 นาที อุทยานแห่งนี้อยู่กึ่งกลางเส้นทางคมนาคมทางรถไฟ ระหว่างลำปาง-ลำพูน ดอยขุนตาลประกอบด้วยป่าไม้หลายลักษณะ เช่น ป่าดงดิบ ป่าสน เป็นต้น มี 4 ยอดเขา จากเชิงดอยถึงยอดสูงสุดประมาณ 7 กิโลเมตร


อำเภอแม่เมาะ

เหมืองถ่านหิน
อยู่ในเขตอำเภอแม่เมาะ ซึ่งห่างจากตัวเมืองไปตามถนนสายลำปาง-เด่นชัย (จ. แพร่) เป็นระยะทาง 26 กิโลเมตร หรือจากตัวเมืองสามารถเช่ารถสองแถวซึ่งจอดอยู่บริเวณตลาดบริบูรณ์ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 30 นาที

“ลิกไนท์” เป็นถ่านหินประเภทหนึ่งที่มีการค้นพบในบริเวณนี้เมื่อปี พ.ศ. 2460 มีปริมาณถึง 630 ล้านตัน มีอายุประมาณ 40 ล้านปี บริเวณเหมืองมีโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินชนิดนี้เป็นเชื้อเพลิงตั้งอนู่หลายโรง ถึงแม้นักท่องเที่ยวจะไม่ได้รับอนุญาตให้ลงไปบริเวณขุดเจาะถ่านหินเพราะมีอันตรายจากวัตถุระเบิดที่ใช้ทำเหมือง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตได้จัดทำจุดชมวิวสำหรับนักท่องเที่ยวซึ่งเป็นสวนหย่อม ตกแต่งปลูกไม้ดอกไม้ประดับต่างๆ ที่มีสีสันสวยงามสงบและร่มรื่นไว้ด้วย ณ จุดนี้ นอกจากจะได้ชมความงดงามของภูมิประเทศแล้ว ยังสามารถมองเห็นการทำงานของรถขุดตักแร่ซึ่งอยู่ลึกลงไปในมุมกว้างได้อีกด้วย


จังหวัดลำปาง :: สถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ

อำเภองาว

ศาลเจ้าพ่อประตูผา
อยู่ห่างจากตัวจังหวัดลำปางตามเส้นทางสายลำปาง-งาวประมาณ 50 กิโลเมตร ระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 649-650 ศาลตั้งอยู่ริมถนนใหญ่ ด้านขวามือเป็นศาลเล็กๆ ก่ออิฐถือปูน ภายในมีรูปปั้นเจ้าพ่อประตูผาและเครื่องบูชามากมาย บริเวณใกล้เคียงมีศาลพระภูมิเล็กๆ มากมายเรียงรายอยู่ ศาลเจ้าพ่อประตูผานี้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ที่สัญจรไปมาบนเส้นทางนี้มักแวะนมัสการและจุดประทัดถวาย

เจ้าพ่อประตูผาเดิมชื่อ พญาข้อมือเหล็ก เป็นผู้อยู่ยงคงกระพัน ชาตรีเป็นทหารเอก ของเจ้าผู้ครองนครลำปาง ครั้งหนึ่งได้ทำการต่อสู้กับพม่าที่ช่องประตูจนกระทั่งถูกรุมแทงตายในลักษณะถือดาบคู่ยืนพิงเชิงเขา ทหารพม่ากลัวจึงไม่กล้าบุกเข้าไปตีนครลำปาง ด้วยเหตุนี้เอง ชาวบ้านจึงเกิดศรัทธาและเคารพสักการะโดยตั้งศาลขึ้นบูชาเป็นที่นับถือของชาวลำปาง

อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท
มีเนื้อที่ประมาณ 758,750 ไร่ อยู่ระหว่างอำเภอเมืองกับอำเภองาว ห่างจากตัวเมืองประมาณ 66 กิโลเมตร ตรงกิโลเมตรที่ 665-666 แยกเข้าทางลูกรังประมาณครึ่งกิโลเมตร รถยนต์เข้าถึงเชิงถ้ำ ภายในถ้ำมีหินงอกหินย้อย สลับซับซ้อนและมีถ้ำเล็กถ้ำน้อยมากมายที่มีความสวยงามแตกต่างกันไป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เคยเสด็จประพาสเมื่อปี พ.ศ. 2496 ดังปรากฏหลักฐานพระปรมาภิไธยย่อ ภปร. ภายในถ้ำ ยังไม่มีบ้านพักบริการ รายละเอียดติดต่อฝ่ายจัดการอุทยานแห่งชาติ โทร. 579-7223, 579-5734

บ้านจ้างหลวง (ช้างหลวง)
ตั้งอยู่ที่ 33 หมู่ 9 บ้านข่อย ต.บ้านร้อง ริมถนนสายพะเยา-ลำปาง ก่อตั้งโดย ครูคำอ้าย เดชดวงตา เป็นที่รวบรวมงานไม้แกะซึ่งเป็นผลงานของผู้ก่อตั้ง สิ่งที่น่าสนใจอีกสิ่งหนึ่ง คือ ลักษณะการสร้างเรือนเก็บงานไม้รูปช้างดูแปลกตา แทบทุกส่วนของอาคารจะเต็มไปด้วยศิลปะที่กลมกลืน

นอกจากนี้บ้านจ้างหลวงยังเป็นโรงเรียนสำหรับผู้ที่มีความตั้งใจจริงในการสร้างงานศิลปะ และเพื่อสร้างอาชีพให้คนในท้องถิ่น ผู้สนใจติดต่อ โทร. (054) 220-380


อำเภอแจ้ห่ม

วัดอักโขชัยคีรี
ตั้งอยู่บนเนินเขาริมถนนสายลำปาง-แจ้ห่ม บริเวณกิโลเมตรที่ 50-51 ด้านซ้ายมือ มีทางขึ้น 2 ทางคือ ทางเดินขึ้นบันไดด้านหน้าหรือขับรถขึ้นทางถนนด้านหลัง บริเวณวัดมีโบสถ์และเจดีย์ทรงล้านนาอยู่ใกล้เคียงกัน เมื่อเข้าไปในโบสถ์และปิดประตูหน้าต่างทุกบาน ยกเว้นบานด้านขวามือซึ่งมีโต๊ะสีขาววางอยู่ บานนี้เราค่อยๆ ปิดเป็นบานสุดท้าย เราจะเห็นพระเจดีย์สีทองเป็นเงาสะท้อนอยู่บนพื้นโต๊ะ เงาพระเจดีย์จะปรากฎอยู่ตรงที่เดิมไม่เคลื่อนย้าย

ตลอดทั้งวันตราบเท่าที่ยังมีแสงสว่าง นอกจากนี้ภายในโบสถ์ยังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปยืนองค์ใหญ่เรียกว่า “พระศากยมุณีคีรีอักโข” ซึ่งมีความสูง 5 วา 2 ศอก เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ เป็นที่นับถือของชาวแจ้ห่มมาก


อำเภอเมืองปาน

อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน
มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่อำเภอเมืองปาน อำเภอแจ้ห่มและอำเภอเมืองจังหวัดลำปาง มีสภาพป่าอันอุดมสมบูรณ์และเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร มีเนื้อที่ประมาณ 592 ตารางกิโลเมตร ได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2531 เป็นแนวแบ่งเขตระหว่างลำปางและเชียงใหม่ ฤดูที่เหมาะสำหรับการท่องเที่ยวและมีอากาศเย็นสบาย คือ ช่วงประมาณ เดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์

อำเภอวังเหนือ

อุทยานแห่งชาติดอยหลวง
ได้รับการประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2533 ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของจังหวัดพะเยา เชียงรายและลำปาง รวมเนื้อที่ประมาณ 1,170 ตารางกิโลเมตร สภาพภูมิประเทศเป็นเขาสูงทอดตัวแนวเหนือ-ใต้ มีดอยหลวงเป็นยอดเขาที่สูงที่สุด ประกอบด้วยป่าเบญจพรรณ ป่าดิบชื้นและป่าเต็งรังปะปนกัน มีสัตว์ป่าและนกหลายชนิด ที่ทำการอุทยานฯ ตั้งอยู่ที่บริเวณน้ำตกปูแกง อ.พาน จ.พะเยา

สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญในเขตจังหวัดลำปาง ได้แก่ “น้ำตกวังแก้ว” เป็นน้ำตกที่สวยงามที่สุดของจังหวัดลำปาง มีชั้นน้ำตกประมาณ 110 ชั้น แต่เป็นชั้นใหญ่ 7-8 ชั้น เมื่อขึ้นไปถึงชั้นบนสุดของน้ำตก จะพบหมู่บ้านชาวเขาเผ่าเย้าที่บ้านป่าคาหลวง และบ้านส้านซึ่งมีทางขึ้นค่อนข้างชัน นอกจากนี้บริเวณใกล้เคียงยังมี “น้ำตกวังทอง” ซึ่งมีลักษณะเหมือนน้ำตกวังแก้ว

การเดินทางไปยังน้ำตกวังแก้วและน้ำตกวังทอง ใช้เส้นทางสายลำปาง-แจ้ห่ม-วังเหนือ ระยะทางประมาณ 110 กิโลเมตร จากอำเภอวังเหนือมีทางเข้าสู่น้ำตก ระยะทางประมาณ 25 กิโลเมตร


:: อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน ::

:: ข้อมูลทั่วไป ::
อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่อำเภอเมืองปาน อำเภอแจ้ห่ม อำเภอวังเหนือ และอำเภอเมือง จังหวัดลำปาง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัด มีสภาพป่าอันอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร มีสัตว์ป่านานาชนิด และมีทางธรรมชาติที่สวยงามหลายแห่ง เช่น น้ำตก แอ่งน้ำอุ่น บ่อน้ำพุร้อน ซึ่งสามารถเป็นหลักฐานหนึ่งที่แสดงว่า ใต้พื้นโลกเรายังมีความร้อนระอุอยู่ อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่ง ของจังหวัดลำปาง มีเนื้อที่ประมาณ 480,000 ไร่ หรือ 768 ตารางกิโลเมตร

ป่าไม้เขตลำปางได้มีหนังสือ ที่ กษ 0709(ลป)/4181 ลงวันที่ 19 ตุลาคม 2524 เรื่อง ขอกำหนดพื้นที่ป่าบริเวณน้ำตกแจ้ซ้อนเป็นวนอุทยาน กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ จึงมีคำสั่งที่ 1648/2524 ลงวันที่ 15 ธันวาคม 2524 ให้นายนฤทธิ์ ตันสุวรรณ นักวิชาการป่าไม้ 6 ไปทำการสำรวจ สรุปได้ว่าสภาพป่าบริเวณดังกล่าว เป็นพื้นที่ที่มีจุดเด่นทางธรรมชาติสวยงามหลายแห่ง มีน้ำตกและน้ำพุร้อนไหลตลอดปี เหมาะสำหรับจัดเป็นวนอุทยาน ในปีงบประมาณ 2526 กรมป่าไม้ จึงได้ดำเนินการจัดตั้งวนอุทยานแอ่งน้ำอุ่น (วนอุทยานน้ำตกแจ้ซ้อน) บริเวณน้ำตกแจ้ซ้อน ตำบลแจ้ซ้อน กิ่งอำเภอเมืองปาน อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง เนื้อที่ประมาณ 45,000 ไร่ หรือ 75 ตารางกิโลเมตร โดยอยู่ในความดูแลของสำนักงานป่าไม้เขตลำปาง

ต่อมากรมป่าไม้ได้มีหนังสือ ที่ กษ 0713/13868 และ 13870 ลงวันที่ 2 สิงหาคม 2526 ถึงจังหวัดลำปางและป่าไม้เขตลำปาง ขอความเห็นที่จะยกฐานะวนอุทยานน้ำตกแจ้ซ้อน (วนอุทยานแอ่งน้ำอุ่น) เป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งจังหวัดลำปางได้มีหนังสือ ด่วนมาก ที่ ลป 0009/18356 ลงวันที่ 12 กันยายน 2526 และป่าไม้เขตลำปางได้ให้ความเห็นชอบและสนับสนุน ในการที่จะกำหนดเป็นอุทยานแห่งชาติ เพื่อเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและพักผ่อนหย่อนใจ เป็นการสอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2526 ที่กำหนดให้จังหวัดลำปาง เป็นจังหวัดส่งเสริมการท่องเที่ยว

กองอุทยานแห่งชาติ ได้ดำเนินการสำรวจข้อมูลเพิ่มเติมต่อมาเป็นระยะๆ และกองอุทยานแห่งชาติ สำนักงานป่าไม้เขตลำปาง และส่วนราชการองค์กรภาคเอกชนของจังหวัดลำปาง ได้เริ่มโครงการจัดตกแต่งวนอุทยานน้ำตกแจ้ซ้อน เพื่อเฉลิมพระเกียรติ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสพระชนมายุครบ 60 พรรษา ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2529 ถึงวันที่ 5 ธันวาคม 2530 และเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2530 ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปตรวจราชการวนอุทยานน้ำตกแจ้ซ้อน เกิดความประทับใจในธรรมชาติที่สวยงาม จึงเสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อวางแผนพัฒนาให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวต่อไป ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ ตามที่ท่านนายกรัฐมนตรีเสนอ เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2530 และได้มีหนังสือแจ้งให้กรมป่าไม้ ดำเนินการตามสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ นร 0202/2889 ลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2530


กองอุทยานแห่งชาติกรมป่าไม้ จึงมีคำสั่งที่ 388/2530 ลงวันที่ 4 มีนาคม 2530 ให้ นายสุทัศน์ วรรณะเลิศ นักวิชาการป่าไม้ 4 ไปดำเนินการสำรวจพื้นที่ป่าบริเวณวนอุทยานน้ำตกแจ้ซ้อน เพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติมประกอบการพิจารณากำหนดขอบเขตพื้นที่ เพื่อยกระดับฐานะวนอุทยานน้ำตกแจ้ซ้อนเป็นอุทยานแห่งชาติ อีกทั้งนายจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย อธิบดีกรมป่าไม้ และนายธำมรงค์ ประกอบบุญ ผู้อำนวยการกองอุทยานแห่งชาติ ได้เดินทางไปเยี่ยมชม และร่วมพิจารณาความเหมาะสม ในการวางแนวทางพัฒนา วนอุทยานน้ำตกแจ้ซ้อนเป็นสถานที่ท่องเที่ยว เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2530 และกองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ได้นำเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ซึ่งได้มีมติในคราวประชุม ครั้งที่ 1/2530 เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2530 เห็นชอบในการยกฐานะเป็นอุทยานแห่งชาติ โดยได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าแม่สุก ป่าแม่สอย ป่าแม่ตุ๋ยฝั่งซ้าย ป่าแม่ตุ๋ยฝั่งขวา ในท้องที่ตำบลแจ้ซ้อน ตำบลเมืองปาน ตำบลบ้านขอ ตำบลทุ่งกว๋าว อำเภอแจ้ห่ม และตำบลบ้านคำ อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง เนื้อที่ประมาณ 370,000 ไร่ หรือ 592 ตารางกิโลเมตร ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 105 ตอนที่ 122 ลงวันที่ 28 กรกฎาคม 2531 เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 58 ของประเทศ

ต่อมาได้มีประกาศขยายเขตอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน ตามแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกา ขยายเขตอุทยานแห่งชาติป่าแม่สุก ป่าแม่สอย ป่าแม่ตุ๋ยฝั่งซ้าย และป่าแม่ตุ๋ยฝั่งขวา ในท้องที่ตำบลวังใต้ ตำบลร่องเคาะ อำเภอวังเหนือ ตำบลแม่สุก อำเภอแจ้ห่ม และตำบลหัวเมือง ตำบลเมืองปาน อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง พ.ศ. 2543 เนื้อที่ประมาณ 110,000 ไร่ หรือ 176 ตารางกิโลเมตร ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 117 ตอนที่ 121 ก ลงวันที่ 28 ธันวาคม 2543



:: ลักษณะภูมิประเทศ ::
สภาพภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน เป็นส่วนหนึ่งของสันเขาผีปันน้ำตะวันตก ทอดตัวตามแนวทิศเหนือ สู่ทิศตะวันตกเฉียงใต้ เรื่อยไปทางทิศใต้จนถึงอำเภอแม่พริก ซึ่งเป็นเขตแบ่งระหว่างจังหวัดลำปาง กับจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดลำพูน มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ตั้งแต่ 300-2,031 เมตร มียอดเขาสูงที่สุดคือ ดอยลังกา

นอกจากนี้ยังประกอบด้วย ดอยสันผักกิ้ง ดอยชายแดน ดอยแม่กา ดอยตะไคร้ ดอยต๋ง ดอยวังหลวง ดอยห้วยหลอด ผาหลักไก่ ม่อนทางเก้า ดอยแม่บึก ม่อนจวง ดอยแม่มอน และดอยแปเมือง พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าต้นน้ำลำธารชั้น 1-A ของลุ่มน้ำวัง ประกอบด้วยลำน้ำขนาดต่างๆ จำนวนมากที่สำคัญได้แก่ น้ำแม่หมี น้ำแม่ต๋อม น้ำแม่สอย น้ำแม่มอน น้ำแม่ปาน น้ำแม่ฮะ น้ำแม่ปอม น้ำแม่บึง น้ำแม่สุ่ย และน้ำแม่ค่อม เป็นต้น และเป็นแหล่งต้นกำเนิดของลำห้วยใหญ่ๆ ที่สำคัญเป็นสาขาของแม่น้ำวัง เช่น แม่น้ำสอย ห้วยแม่กา ห้วยแม่ปาน นอกจากนี้ยังมีแหล่งน้ำที่ผุดขึ้นมาจากใต้ดิน เป็นแหล่งน้ำพุร้อน บริเวณกว้างถึง 2,400 ตารางเมตร มีน้ำพุร้อนผุดจากบ่อเล็กถึง 9 บ่อ เต็มไปด้วยโขดหินน้อยใหญ่ มีอัตราการไหลอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ซึ่งมีอัตราการไหลประมาณ 15 ลิตร/วินาที อุณหภูมิระหว่าง 39-47 องศาเซลเซียส


:: ลักษณะภูมิอากาศ ::
ลักษณะภูมิอากาศของอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน จัดอยู่ในลักษณะภูมิอากาศแบบร้อนชื้นสลับแล้ง ประกอบด้วย ฤดูฝน ระหว่างเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม จะมีฝนตกชุกในเดือนกันยายน ปริมาณน้ำฝนในรอบปีมีฝนตกเฉลี่ยประมาณ 1,070 มิลลิเมตร มีการกระจายไม่สม่ำเสมอ โดยจะมีฝนตกชุกในช่วงต้นเดือนกันยายน และจะมีระยะฝนทิ้งช่วง ระหว่างต้นเดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนกรกฎาคม ฤดูหนาว ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ เป็นช่วงที่อากาศเย็นสบาย อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 22 องศาเซลเซียส และฤดูร้อนระหว่างเดือนมีนาคม-เมษายน ซึ่งจะเป็นช่วงที่อากาศค่อนข้างจะร้อน อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 33 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปี 26 องศาเซลเซียส แต่โดยปกติอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน สามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ตลอดปี


:: พรรณไม้และสัตว์ป่า ::
สังคมพืชของอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อนสามารถจำแนกออกได้เป็น
ป่าเบญจพรรณ พบขึ้นอยู่โดยทั่วไปตามสันเขาและตามหุบเขาในระดับความสูง 400-1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล ครอบคลุมพื้นที่โดยทั่วไปทางด้านทิศใต้ของอุทยานแห่งชาติ พันธุ์ไม้เด่นที่พบส่วนใหญ่ประกอบด้วย สัก แดง ประดู่ แสมสาร กระบก กว้าว เก็ดแดง ติ้ว ซ้อ ปอกระสา ฯลฯ จะพบไผ่กระจายอยู่ทั่วไป เช่น ไผ่ซางนวล ไผ่ไร่ ไผ่หอบ พืชพื้นล่างและพืชอิงอาศัยที่พบมีกล้วยนวล กระชาย เล็บเหยี่ยว กะลังตังช้าง เครือออน เป็นต้น

ป่าเต็งรัง พบอยู่ตามเชิงเขาไหล่เขาทางด้านทิศใต้ของอุทยานแห่งชาติในระดับความสูงจากน้ำทะเลประมาณ 700 เมตร พันธุ์ไม้เด่นที่พบได้แก่ เต็ง รัง เหียง พลวง มะกอกป่า แดง ประดู่ อ้อยช้าง กระโดน มะเกิ้ม โมกมัน มะค่าแต้ ฯลฯ พืชพื้นล่างที่พบได้แก่ หญ้าเพ็ก โจด และปรงป่า

ป่าดิบเขา พบขึ้นอยู่ในระดับความสูงจากน้ำทะเลตั้งแต่ 800 เมตรขึ้นไป มีอยู่เป็นหย่อมๆ บริเวณตอนเหนือของอุทยานแห่งชาติ พันธุ์ไม้เด่นที่พบได้แก่ ก่อเดือย ก่อแป้น ก่อตาหมู ไก๋ ทะโล้ เหมือด จำปาป่า ยางเหลือง ตะไคร้ต้น ฯลฯ พืชพื้นล่างที่พบ เช่น ไผ่ศก โชนผี และพืชในวงศ์ขิงข่า

ป่าสนเขา ขึ้นเป็นหย่อมๆ บริเวณแนวสันเขา ไหล่เขา ที่มีความสูงมากกว่า 900 เมตรจากระดับน้ำทะเล พันธุ์ไม้เด่นที่พบได้แก่ สนสองใบ สนสามใบ ก่อ จำปีป่า หว้า มะขามป้อมดง กำลังเสือโคร่ง ฯลฯ พืชพื้นล่างเป็นพวกหญ้า หนาด สาบหมา และพืชในวงศ์ข่า

ป่าดิบชื้น พบอยู่ในบริเวณหุบเขา ตามริมห้วยลำธารต่างๆ บริเวณที่มีความชุ่มชื้นสูง พันธุ์ไม้เด่นที่สำคัญ ได้แก่ ยาง มะหาด มะไฟ อบเชย ชมพู่ป่า สะท้อนรอก ลำไยป่าเครือ คอแลน สะตอ ยมป่า พระเจ้าห้าพระองค์ พืชพื้นล่างที่พบเป็นพวก ไผ่เฮียะ เฟิน หวาย และพืชในวงศ์ขิงข่า

เนื่องจากสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ และผสมปะปนกันอยู่หลายชนิด ตลอดจนระดับความสูงที่แตกต่างกันตั้งแต่ 300 - 2,000 เมตร จึงทำให้เกิดเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าหลายชนิด สัตว์ป่าที่พบเห็นในเขตอุทยานแห่งชาติ ประกอบด้วย เก้ง กวางป่า เลียงผา หมูป่า เสือดาว หมีควาย ชะนีมือขาว ลิงลม เม่น หมูหริ่ง ชะมด พังพอน ลิ่นพันธุ์ชวา กระต่ายป่า กระรอกหลากสี กระแต อ้นใหญ่ หนูฟานเหลือง ค้างคาวไผ่หัวแบนเล็ก ไก่ป่า นกเขาเปล้า นกบั้งรอกใหญ่ นกแอ่นพันธุ์หิมาลัย นกกะเต็นน้อยธรรมดา นกโพระดกคอสีฟ้า นกนางแอ่นบ้าน นกพญาไฟใหญ่ นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้า นกปรอดโอ่งเมืองเหนือ นกแซงแซวหางบ่วงใหญ่ นกเขียวคราม นกกินแมลงอกเหลือง นกกางเขนดง นกจับแมลงจุกดำ นกสีชมพูสวน ตะพาบน้ำ จิ้งจกดินลายจุด กิ้งก่าสวน แย้ขีด จิ้งเหลนบ้าน งูสามเหลี่ยม งูลายสอใหญ่ งูเขียวหางไหม้ท้องเขียว อึ่งกรายตาขาว คางคกบ้าน เขียดจะนา กบหนอง ปาดบ้าน และอึ่งขาดำ เป็นต้น ประมาณเดือนเมษายนของทุกปี จะมีจักจั่นป่ามารวมตัวกันบริเวณน้ำพุร้อน ซึ่งเชื่อกันว่าจักจั่นป่าเหล่านี้มาดื่มน้ำแร่


:: ที่ตั้งและการเดินทาง ::
อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน
ต.แจ้ซ้อน อ. เมืองปาน จ. ลำปาง 52240
โทรศัพท์ : 08 9851 3355 ,0-5438-0000 โทรสาร : 0 5426 3041

รถยนต์
อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน อยู่ห่างจากตัวเมืองจังหวัดลำปาง ประมาณ 75 กิโลเมตร สามารถเดินทางไปอุทยานแห่งชาติได้ดังนี้

- จากตัวเมืองลำปาง ไปตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1035 (ลำปาง-วังเหนือ) จนถึงปากทางเข้าอำเภอแจ้ห่ม ไปประมาณ 3 กิโลเมตร จนถึง กม.ที่ 58 เลี้ยวซ้ายมาตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1287 ซึ่งผ่านอำเภอเมืองปาน และเลี้ยวไปตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1252 (ข่วงกอม-ปางแฟน) เป็นระยะทางประมาณ 11 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าอุทยานแห่งชาติตามทาง รพช.อีกประมาณ 3 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน

- จากตัวเมืองลำปาง ไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 (ลำปาง-ห้างฉัตร) เลี้ยวขวาไปตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1157 (ลำปาง-ห้วยเป้ง-เมืองปาน) ระยะทาง 55 กม. เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1287 (เมืองปาน-แจ้ห่ม) ประมาณ 2 กิโลเมตร เลี้ยวขวาไปตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1252 อีกประมาณ 11 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าอุทยานแห่งชาติ ตามทาง รพช.อีกประมาณ 3 กิโลเมตร ก็จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน


:: แหล่งท่องเที่ยว :: ด้านธรรมชาติที่สวยงาม ::
น้ำตกแจ้ซ้อน เป็นน้ำตกที่เกิดจากลำน้ำแม่มอน มีน้ำไหลตลอดปี มีแอ่งน้ำรองรับตลอดสาย ไหลตกลงมาเป็นชั้นๆ มีความสูงทั้งหมด 6 ชั้นในแต่ละชั้นจะมีความสวยต่างกันออกไป อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติเพียง 1 กิโลเมตร มีทางเดินไปถึงได้สะดวก และสามารถเดินจากบ่อน้ำพุร้อน ไปถึงน้ำตกได้เช่นกัน


น้ำตกแม่มอญ เป็นน้ำตกที่มีน้ำไหลอย่างรุนแรง จากชะง่อนผาสูง ลงสู่หุบเหวเบื้องล่าง การตกของน้ำจะตกลงมาเป็นชั้นๆ สวยงามแปลกตา สภาพทั่วไปค่อนข้างอันตรายไม่เหมาะแก่การเล่นน้ำ อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ประมาณ 5 กิโลเมตร ทางเข้าน้ำตกเป็นเส้นทางขนส่งแร่เดิม


น้ำตกแม่ขุน อยู่ใกล้กับน้ำตกแม่มอญ มีลักษณะเป็นน้ำตกสายยาวสูงประมาณ 100 เมตรไหลลงมาบรรจบกับน้ำตกแม่มอญ ต้องเดินเท้าจากที่ทำการอุทยานประมาณ 5 กิโลเมตร ควรติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อนำทางด้วย


น้ำตกแม่เปียก เป็นน้ำตกที่สวยงามอีกแห่งหนึ่งต่อจากน้ำตกแจ้ซ้อนเข้าถึงโดย เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ ซึ่งอยู่ห่างจากที่ทำการประมาณ 3 กิโลเมตร มีสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ ประกอบด้วยชั้นน้ำตก 3 ชั้น ความสูงประมาณ 100 เมตร


ห้องอาบน้ำแร่ มีทั้งห้องอาบแบบแช่ ซึ่งมีอ่างสำหรับลงแช่อาบ จำนวน 11 ห้อง และห้องอาบน้ำแบบตักอาบ โดยแยกระหว่างห้องอาบชายหญิง จำนวน 16 ห้อง อุณหภูมิของน้ำแร่ประมาณ 39-42 องศาเซลเซียส เหมาะแก่การอาบเป็นอย่างยิ่ง การอาบน้ำแร่เป็นการบำบัดความเมื่อยล้าของร่างกาย ทำให้รู้สึกสดชื่น ช่วยให้โลหิตไหลเวียนได้ดีขึ้น และยังช่วยรักษาโรคผิวหนังบางชนิดได้ เช่น กลาก เกลื้อน ผื่นคัน เป็นต้น โดยน้ำแร่ที่ใช้อาบต่อท่อโดยตรงมาจากบ่อน้ำพุร้อน


ถ้ำผางาม อยู่บริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ จซ.3 (ผางาม) ห่างจากที่ว่าการอำเภอวังเหนือประมาณ 8 กิโลเมตร มีถ้ำที่สามารถเข้าไปศึกษาและท่องเที่ยวได้จำนวนหลายถ้ำ เช่น ถ้ำผางาม (ถ้ำหนานขัด) ถ้ำน้ำ ถ้ำหม้อ ถ้ำหลวง ถ้ำลูกเกาะ เป็นต้น หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ จซ.3 อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ประมาณ 60 กิโลเมตร


ชมดอกเสี้ยวบาน ทุกๆ ปี ในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อนจะงดงามด้วยดอกเสี้ยว หรือเสี้ยวดอกขาว ที่บานประดับผืนป่า สามารถขับรถชมดอกเสี้ยวบานได้ ตลอดเส้นทางแจ้ซ้อน-ป่าเหมี้ยง เป็นระยะทางประมาณ 18 กิโลเมตร


เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน ได้จัดทำเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติเลียบลำห้วยแม่มอญ ไว้สำหรับบริการนักท่องเที่ยวได้ศึกษา หาความรู้ รวมทั้งได้สัมผัสธรรมชาติอย่างใกล้ชิด ดังนี้

- เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติน้ำตกแจ้ซ้อน - น้ำพุร้อนแจ้ซ้อน มีระยะทางทั้งหมดประมาณ 3 กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมง โดยจะเริ่มต้นเดินทางตั้งแต่ลานน้ำพุร้อนจนถึงโรงไฟฟ้าพลังน้ำ แล้ววกกลับมาทางใหม่อีก จนถึงลานน้ำพุร้อน ตลอดเส้นทางจะมีป้ายสื่อความหมาย อยู่ตามจุดต่างๆ เพื่อให้ผู้สนใจได้ศึกษา

- เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติน้ำตกแม่เปียก มีระยะทางทั้งหมดประมาณ 3.7 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 3 ชั่วโมง จะเริ่มเดินจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำไปจนถึงน้ำตกแม่เปียก และเดินวกกลับมาอีกฟากหนึ่งของลำห้วย จนมาถึงโรงไฟฟ้าพลังน้ำและเดินกลับมาทางเดียวกับเส้นที่หนึ่ง ตลอดเส้นทางจะมีป้ายสื่อความหมายอยู่ตามจุดต่างๆ เพื่อให้ผู้สนใจได้ศึกษา


จุดชมวิวดอยล้าน ตั้งอยู่บริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน ที่ จซ 7 (ดอยล้าน) เป็นรอยต่อระหว่างจังหวัดลำปางกับจังหวัดเชียงใหม่ อากาศเย็นช่วงเดือนธันวาคม - มกราคม เหมาะกับการตั้งเต็นท์พักแรม นักท่องเที่ยวสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน



:: ด้านท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ::
น้ำพุร้อนแจ้ซ้อน เป็นแหล่งน้ำพุร้อนที่มีสภาพการเกิดทางธรณีวิทยาที่น่าสนใจ มีกลิ่นกำมะถันค่อนข้างอ่อน จำนวน 9 บ่อ ตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่ประมาณ 3 ไร่ ภายในพื้นที่มีโขดหินน้อยใหญ่กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป และมีไอน้ำลอยกรุ่นขึ้นจากบ่อปกคลุมรอบบริเวณราวกับสายหมอก น้ำพุร้อนมีอุณหภูมิโดยเฉลี่ยของน้ำพุร้อนประมาณ 73 องศาเซลเซียส เป็นที่นิยมนำไข่ไก่และไข่นกกระทามาแช่ สำหรับไข่ไก่แช่นานประมาณ 17 นาที ไข่แดงจะแข็งมีรสชาติมันอร่อย ส่วนไข่ขาวจะเหลวคล้ายไข่เต่า ในช่วงเดือนเมษายน - พฤษภาคม ของทุกปี บริเวณนี้จะพบจักจั่นจำนวนมากนับหมื่นตัว เชื่อว่าจักจั่นเหล่านี้หลังจากผสมพันธุ์แล้ว จะมาดื่มกินน้ำแร่ก่อนที่จะตาย


:: สิ่งอำนวยความสะดวก ::
ห้องสุขาชาย มีห้องสุขาชายให้บริการ


ห้องสุขาหญิง มีห้องสุขาหญิงให้บริการ


ที่พักแรม/บ้านพัก มีบ้านพักให้บริการแก่นักท่องเที่ยว จำนวน 10 หลัง และค่ายพักจำนวน 2 หลัง นักท่องเที่ยวสามารถจองได้ที่สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยทางโทรศัพท์ หรือทางอินเตอร์เน็ต


สถานที่กางเต็นท์/เต็นท์ อุทยานแห่งชาติจัดเตรียมสถานที่กางเต็นท์และเต็นท์ไว้ให้บริการนักท่องเที่ยว การสำรองที่พักเต็นท์ สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียด และสำรองที่พักเต็นท์ได้กับอุทยานแห่งชาติโดยตรง


ที่จอดรถ มีลานจอดรถให้บริการแก่นักท่องเที่ยว


บริการอาหาร มีร้านอาหารสวัสดิการอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อนไว้บริการอาหาร และเครื่องดื่ม แก่นักท่องเที่ยว สามารถจองล่วงหน้าได้ โทร 09-8513355, 054-229000 หรือติดต่อโดยตรงที่ฝ่ายรับจองอาหาร 0-9560-5178 นอกจากนี้ยังมีร้านค้าเอกชน บริการอาหารภายในอุทยานฯด้วย เปิดให้บริการอาหารตั้งแต่ 07.00 - 18.00 น.


ร้านขายของที่ระลึก มีร้านจำหน่ายของที่ระลึกของอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อนสำหรับนักท่องเที่ยว


ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว มีศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ให้บริการข้อมูลเกี่ยวกับอุทยานแห่งชาติ นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาขอรับบริการข้อมูลได้ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ ระหว่างเวลา 8.00 - 16.30 น.


อื่นๆ ห้องประชุม / สัมมนา


ห้องอาบน้ำแร่ มีห้องสำหรับอาบน้ำแร่ไว้บริการแก่นักท่องเที่ยว ซึ่งจะอยู่บริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติ มีรายละเอียด ดังนี้ ห้องอาบน้ำแร่แบบแช่ส่วนตัว อัตราค่าบริการ ผู้ใหญ่ 50.- บาท/คน เด็ก 20.- บาท/คน ห้องอาบน้ำแร่แบบแช่รวม อัตราค่าบริการ ผู้ใหญ่ 20.- บาท/คน เด็ก 10.- บาท/คน สระน้ำแร่กลางแจ้ง อัตราค่าบริการ ผู้ใหญ่ 10.- บาท/คน เด็ก 10.- บาท/คน โดยเปิดให้บริการทุกวัน วันจันทร์ - ศุกร์ เปิดบริการ 08.00 - 17.00 น. วันเสาร์ - อาทิตย์ เปิดบริการ 07.00 - 19.00 น. อุทยานฯจะงดให้บริการอาบนำแร่ เพื่อทำความสะอาดลานน้ำพุร้อน เดือนละ 2 ครั้ง นักท่องเที่ยวกรุณาเช็ควัน-เวลาก่อนการเดินทาง



:: อุทยานแห่งชาติเวียงโกศัย ::

:: ข้อมูลทั่วไป ::
“ เวียงโกศัย ” มาจากชื่อที่ใช้เรียกจังหวัดแพร่ในอดีต อุทยานแห่งชาติเวียงโกศัย เป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรก ของจังหวัดแพร่ มีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอลอง อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ และอำเภอเถิน อำเภอสบปราบ อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง มีสภาพป่าเป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน ทิวทัศน์และน้ำตกสวยงามหลายแห่ง เช่น น้ำตกแม่เกิ๋งหลวง น้ำตกแม่เกิ๋งน้อย และมีบ่อน้ำแร่แม่จอก ซึ่งเป็นบ่อน้ำร้อน ทั้งเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร เนื้อที่ประมาณ 256,250 ไร่ หรือ 410 ตารางกิโลเมตร

น้ำตกแม่เกิ๋ง อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติแม่เกิ๋ง ท้องที่ตำบลแม่ป้าก อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ เป็นน้ำตกที่สวยงามและมีน้ำตกตลอดทั้งปี ในปี พ.ศ.2519 อำเภอวังชิ้น มีโครงการจะสร้างเป็นอุทยาน เพื่อเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ซึ่งกรมป่าไม้มีหนังสือที่ กส. 0708/12473 ลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2522 ให้นายวิจารณ์ วิทยศักดิ์ นักวิชาการป่าไม้ 6 ไปทำการสำรวจ ปรากฏว่า บริเวณน้ำตกแม่เกิ๋ง เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมจัดตั้งเป็นวนอุทยานได้ ตามหนังสือรายงานที่ กส. 0788/188 ลงวันที่ 10 กันยายน 2522

กรมป่าไม้จึงได้มีหนังสือด่วนมากที่ กส. 0708/17711 ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2522 ให้ป่าไม้เขตแพร่ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปสำรวจอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเขตแพร่ได้มีคำสั่งที่ 816/2522 ให้นายทวี สุขโกษา เจ้าพนักงานป่าไม้ 5 สำรวจหาข้อมูลบริเวณน้ำตกแม่เกิ๋ง เพื่อดำเนินการจัดตั้งให้เป็นอุทยานแห่งชาติน้ำตกแม่เกิ๋ง ตามนโยบายของนายณรงค์ วงศ์วรรณ สมาชิกสภาผู้แทนจังหวัดแพร่ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และเพื่อเป็นการสนองนโยบายของรัฐบาล ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2522 ที่ให้รักษาป่าไว้ โดยการประกาศให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติ และกองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ ได้มีคำสั่งที่ 2478/2522 ลงวันที่ 7 ธันวาคม 2522 ให้นายวิทยา เฉิดดิลก นักวิชาการป่าไม้ 6 ไปทำหน้าที่หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแม่เกิ๋ง และทำการสำรวจจัดตั้งอุทยานแห่งชาติแห่งนี้

สำนักงานป่าไม้เขตแพร่ได้มีหนังสือเลขที่ กส. 0709 (พร) / 1619 ลงวันที่ 19 มีนาคม 2523 ส่งรายงานการสำรวจของ นายทวี สุขโกษา ลงวันที่ 14 มีนาคม 2523 และอุทยานแห่งชาติแม่เกิ๋ง ได้มีหนังสือรายงานการสำรวจที่ กส. 0708 (มก) / 23 ลงวันที่ 24 มิถุนายน 2523 ปรากฏว่า พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ (บางส่วน) ท้องที่อำเภอวังชิ้น อำเภอลอง จังหวัดแพร่ และป่าโครงการไม้ฟืน (บางส่วน) อำเภอสบปราบ กับป่าโครงการ (บางส่วน) อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง รวมเนื้อที่ประมาณ 410 ตารางกิโลเมตร ลักษณะทั่วไปมีทิวทัศน์ทางธรรมชาติที่สวยงามมีสัตว์ป่านานาชนิด มีคุณค่าทางด้านการศึกษามากเหมาะสมที่จะจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ

กรมป่าไม้ได้นำเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ มีมติในการประชุมครั้งที่ 2/2523 เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2523 เห็นสมควรให้ออกพระราชกฤษฎีกา กำหนดให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นอุทยานแห่งชาติ และให้ใช้ชื่อว่า “อุทยานแห่งชาติเวียงโกศัย” ซึ่งเป็นชื่อดั้งเดิมของจังหวัดแพร่ โดยได้มีพระราชกฤษฎีกา กำหนดบริเวณที่ดินป่าแม่พริก ป่าแม่ เสลียม ป่าแม่ทาน และป่าแม่จางฝั่งซ้าย ในท้องที่ตำบลดอนไฟ ตำบลบ้านกิ่ว ตำบลบ้านบอน อำเภอแม่ทะ ตำบลสมัย ตำบลสบปราบ อำเภอสบปราบ และตำบลแม่ถอด ตำบลแม่ปะ อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง และป่าแม่สรอบ ป่าแม่เกิ๋ง ป่าแม่ปง และป่าแม่ลอง ในท้องที่ตำบลหัวทุ่ง อำเภอลอง และตำบลแม่ห้าก ตำบลแม่พุง ตำบลสรอย อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ โดยประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 98 ตอนที่ 168 ลงวันที่ 9 ตุลาคม 2524 เป็นอุทยานแห่งชาติแห่งที่ 35 ของประเทศ


:: ลักษณะภูมิประเทศ ::
ลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงชัน ความลาดชันโดยเฉลี่ยประมาณ 80 องศา จุดสูงสุดจากระดับน้ำทะเล 1,267 เมตร ความสูงของพื้นที่จากระดับน้ำทะเล โดยเฉลี่ยประมาณ 800 เมตร ปกคลุมด้วยป่าดิบแล้ง และป่าเบญจพรรณ เป็นเทือกเขาที่เขียวชอุ่ม มีหน้าผาสูงชันสลับซับซ้อน เป็นแหล่งกำเนิดของลำห้วยหลายสาย เช่น แม่เกิ๋ง แม่จอก แม่สิน แม่ป้าก ฯลฯ ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำยม และภูเขาเป็นภูเขาหินทราย ทำให้ดินที่เกิดจากการผุสลายของภูเขา เป็นดินร่วนปนทราย มีการระบายน้ำดี บริเวณที่ราบเชิงเขา มีลักษณะเป็นลูกรัง โดยเฉลี่ยดินมีความอุดมสมบูรณ์ดีมาก


:: ลักษณะภูมิอากาศ ::
ภูมิอากาศของอุทยานแห่งชาติเวียงโกศัย แบ่งออกเป็น 3 ฤดูกาล คือ ฤดูร้อน ระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคม อุณหภูมิสูงสุดประมาณ 39 องศาเซลเซียส ในเดือนเมษายน ฤดูฝน ระหว่างเดือนมิถุนายน-ตุลาคม ฤดูหนาว ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ อุณหภูมิต่ำสุดประมาณ 13 องศาเซลเซียส ในเดือนธันวาคม


:: พรรณไม้และสัตว์ป่า ::
สภาพป่าตอนบนของเทือกเขา มีลักษณะเป็นป่าดิบแล้ง ส่วนตอนล่างมีลักษณะเป็นป่าเบญจพรรณ พันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ มะค่าโมง ยาง ดำดง ตะแบก ประดู่ แดง และสักซึ่งขึ้นอยู่ปะปนบ้าง ส่วนพืชพื้นล่างเป็นพวกไผ่ชนิดต่างๆ ปาล์ม หวาย และเอื้องดิน เป็นต้น

สัตว์ป่าที่เคยพบอาศัยอยู่ในป่าแห่งนี้มี กวางป่า เสือ และช้างป่า แต่ถูกลักลอบเข้ามาล่าอย่างหนัก เหลือแต่สัตว์ขนาดเล็กๆ เช่น เก้ง หมูป่า กระรอก กระแต และนกชนิดต่างๆ มีชุกชุมอยู่ในบริเวณหุบเขา และแหล่งน้ำต่าง ๆ


:: ที่ตั้งและการเดินทาง ::
อุทยานแห่งชาติเวียงโกศัย
ตู้ ปณ. 1 อ. วังชิ้น จ. แพร่ 54160
โทรศัพท์ : 0 5450 9322

รถยนต์
จากกรุงเทพฯ ผ่านจังหวัดนครสวรรค์–พิษณุโลก–ถึงอำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ ระยะทางประมาณ 530 กิโลเมตร เดินทางต่อไปตามเส้นทางแพร่-ลำปาง อีกประมาณ 50 กิโลเมตร ถึงทางแยกเข้าอำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ แยกเข้าตามเส้นทางอำเภอวังชิ้นประมาณ 13 กิโลเมตร ถึงแยกเข้าที่ทำการอุทยานแห่งชาติ บริเวณน้ำตกแม่เกิ๋งหลวง และแม่เกิ๋งน้อย ระยะทางประมาณ 1.5 กิโลเมตร


:: แหล่งท่องเที่ยว :: ด้านธรรมชาติที่สวยงาม ::
น้ำตกแม่เกิ๋งหลวงและแม่เกิ๋งน้อย เป็นน้ำตกที่สวยงาม ไหลลดหลั่นลงมาเป็นชั้นๆ รวม 5 ชั้น คล้ายขั้นบันได ลงมาจากยอดดอยแม่เกิ๋ง ซึ่งคำว่า “แม่เกิ๋ง” เป็นภาษาพื้นเมืองหมายถึง “ขั้นบันได” ชั้นที่ 1 เหมาะสำหรับการเล่นน้ำมากที่สุด เพราะมีแอ่งน้ำกว้าง น้ำตกทั้งสองสายนี้จะไหลลงสู่แม่น้ำยมที่บ้านสบเกิ๋ง อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่


บ่อน้ำร้อนแม่จอก อยู่ติดกับโรงเรียนบ้านแม่จอก ต.แม่ป้าก อ.วังชิ้น จ.แพร่ เป็นบ่อน้ำร้อนที่ผุดขึ้นมาจากพื้นที่บริเวณนั้น มีอุณหภูมิประมาณ 80 องศาเซลเซียส มีลักษณะที่แปลกและสวยงามมาก โดยเฉพาะในตอนเช้าจะมีหมอกควัน ที่เกิดจากไอน้ำลอยอยู่เต็ม ก่อให้เกิดทัศนียภาพที่สวยงาม


น้ำตกปันเจน เป็นน้ำตกขนาดเล็ก อยู่บนลำห้วยแม่เกิ๋ง เช่นเดียวกับน้ำตกแม่เกิ๋งหลวง เดินทางต่อจากที่ทำการอุทยานฯไป 1 กม. จะพบทางแยกขวาข้างโรงเรียนบ้านค้างใจ ไปตามทางอีก 6 กม. จะถึงน้ำตก


ดงตะเคียน มีลักษณะเป็นกลุ่มของไม้ตะเคียนทอง ที่ขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น อายุ 100 กว่าปี มีขนาดใหญ่สุด 3 - 4 คนโอบ อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ 15 กิโลเมตร โดยใช้ทางเดินเท้า


เถาวัลย์ยักษ์ เป็นเถาสะบ้าขนาดใหญ่ อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ประมาณ 1 กิโลเมตร


น้ำตกแม่สิน เป็นน้ำตกขนาดเล็ก มีน้ำไหลตลอดปี ท่านสามารถเดินทางโดยเท้า จากที่ทำการอุทยานฯ ระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร


น้ำตกแม่รัง เป็นน้ำตกขนาดกลาง มีน้ำไหลตลอดปี มีทั้งหมด 6 ชั้น เหมาะสำหรับการเดินป่าศึกษาธรรมชาติ อยู่ห่างจากบ้านแม่รัง ตำบลบ่อเหล็กลอง อำเภอลอง จังหวัดแพร่ ประมาณ 4 กิโลเมตร


น้ำตกแม่พุงหลวง เป็นน้ำตกขนาดกลาง มีน้ำไหลตลอดปี เหมาะสำหรับการเดินป่าศึกษาธรรมชาติ อยู่ห่างจากบ้านค้างปินใจ ตำบลแม่พุง อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ ประมาณ 1.5 กิโลเมตร


น้ำตกห้วยอ้อ เป็นน้ำตกขนาดกลาง มีน้ำไหลตลอดปี เหมาะสำหรับการเดินป่าศึกษาธรรมชาติ กางเต็นท์พักแรม อยู่บริเวณบ้านอ้อ ตำบลสันดอนแก้ว อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง


เส้นทางศึกษาธรรมชาติ อุทยานแห่งชาติเวียงโกศัยได้จัดทำเส้นทางศึกษาธรรมชาติในการศึกษาระบบนิเวศของป่า ความหลากหลายทางธรรมชาติ 4 เส้นทาง ได้แก่
เส้นทางศึกษาธรรมชาติหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ วศ.3 (แม่อิบ) - ดงตะเคียน
เส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกแม่รัง
เส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกแม่พุงหลวง
เส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกห้วยอ้อ



:: สิ่งอำนวยความสะดวก ::
ห้องสุขาชาย มีห้องสุขาชายให้บริการ


ห้องสุขาหญิง มีห้องสุขาหญิงให้บริการ


ที่พักแรม/บ้านพัก มีบ้านพักให้บริการแก่นักท่องเที่ยว จำนวน 4 หลัง


สถานที่กางเต็นท์/เต็นท์ อุทยานแห่งชาติจัดเตรียมสถานที่กางเต็นท์ และเต็นท์ ไว้ให้บริการนักท่องเที่ยว การสำรองที่พักเต็นท์ สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียด และสำรองที่พักเต็นท์ได้กับอุทยานแห่งชาติโดยตรง


ที่จอดรถ มีลานจอดรถให้บริการแก่นักท่องเที่ยว


บริการอาหาร มีร้านอาหารและเครื่องดื่มให้บริการ


ร้านขายของที่ระลึก จำหน่ายสินค้าของที่ระลึกของอุทยานแห่งชาติ ที่นักท่องเที่ยวจะประทับใจ




จังหวัดลำปาง :: เทศกาล งานประเพณี

งานแห่สลุงหลวงและสงกรานต์
ประเพณีสงกรานต์ของจังหวัดลำปาง จัดขึ้นในช่วงวันที่ ๑๒-๑๔ เมษายน ทุกปี โดยจะมีขบวนการแห่สลุงหลวงในวันที่ ๑๒ เมษายน จะมีการจัดขบวนแห่สลุงหลวง (สลุง หมายถึงขันน้ำ) ขบวนตกแต่งสวยงาม ผู้ร่วมขบวนแต่งกายแบบล้านนาโบราณแห่แหนไปรอบเมือง เพื่อรับน้ำขมิ้นส้มป่อยจากประชาชนไปสรงแด่พระแก้วดอนเต้า พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง หลังจากนั้นในช่วงวันที่ 13-14 เมษายน ก็จะเป็นการทำบุญที่วัด ก่อเจดีย์ทราย การรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ การเล่นสาดน้ำสงกรานต์ การออกร้านจำหน่ายสินค้า การแสดงมหรสพและการแสดงพื้นเมืองต่างๆ

งานหลวงเวียงละกอน
จัดขึ้นในช่วงก่อนวันลอยกระทงของทุกปี เป็นงานที่เน้นการแสดงออกถึงประวัติศาสตร์ และขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวลำปาง มีขบวนแห่ครัวทาน ตามประเพณีดั้งเดิมโดยขบวนนั้น จะมีการตกแต่งเครื่องใช้เป็น เสื่อ ถ้วยชาม ช้อน เก้าอี้ ของใช้จำเป็น เป็นเครื่องไทยทานไปถวายวัด


จังหวัดลำปาง :: ของฝาก ของที่ระลึก

อุตสาหกรรมพื้นบ้าน
ผ้าทอ
ในบางหมู่บ้านยังมีการทอผ้าด้วยกี่พื้นเมือง โดยใช้ฝ้ายที่ปลูกขึ้นเอง เช่น “บ้านหลวง” อำเภอแม่ทะ ที่นิยมทอเป็นผ้าลายเชิง “บ้านทุ่งกว๋าว” อำเภอเมืองปาน นิยมทอเป็นผ้าลายยก นอกจากนี้ยังมีที่อำเภอแจ้ห่ม และที่ “บ้านฝ้าย” ตำบลพิชัย อำเภอเมือง ซึ่งมีโรงงานทอผ้าและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากฝ้ายทอมือ

หมู่บ้านแกะสลักบ้านหลุก
ตั้งอยู่ที่ตำบลนาครัว อำเภอแม่ทะ ห่างจากที่ว่าการอำเภอไปประมาณ 2 กิโลเมตร ห่างจากตัวเมืองประมาณ 25 กิโลเมตร หมู่บ้านนี้ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพแกะสลักไม้เป็นรูปสัตว์ต่างๆ เช่น ช้าง ม้า สิงห์โต กวาง ฯลฯ ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ เป็นอุตสาหกรรมครอบครัวที่ได้รับการถ่ายทอดสืบต่อกันมา

เครื่องเคลือบดินเผา
เนื่องจากจังหวัดลำปางมีแหล่งดินขาวที่มีคุณภาพดีที่สุดในประเทศไทยและมีเป็นจำนวนมาก จึงก่อให้เกิดอุตสาหกรรมเครื่องเคลือบดินเผาขึ้น ซึ่งมีโรงงานผลิตอยู่สองฝั่งเส้นทางเข้าตัวเมืองลำปาง มีร้านจำหน่ายอยู่ในตัวเมือง นักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมกรรมวิธีในการปั้นและเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ได้ที่โรงงาน

กระดาษสา
ทำมาจากปอสาซึ่งเป็นไม้เนื้ออ่อนชนิดหนึ่ง มีเนื้อเยื่อเหนียวและมีคุณสมบัติในการนำมาทำกระดาษ ประโยชน์ของกระดาษสาสามารถนำมาประดิษฐ์เป็นสิ่งของได้หลายอย่าง เช่น ร่ม โคมไฟ ไส้เทียน ดอกไม้แห้งและของที่ระลึกต่างๆ เป็นต้น ในจังหวัดลำปางมีการทำกระดาษสาเป็นอุตสาหกรรมพื้นบ้านที่มีชื่อเสียงคือที่ บ้านน้ำโท้ง

เซรามิค

บริษัทควอลิตี้เซรามิก จำกัด 59 หมู่ 4 ต.ปงยางคก อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง 52100 โทร. 054-366318 โทรสาร 054-366319

กิตติโรจน์ เซรามิค 5/1 หมู่ 3 ถ.ต้นธงชัย โทร. 218617, 224612 โทรสาร 225712

เค เค เซรามิค 254 ถ.พหลโยธิน ต.ชมพู โทร. 218313, 221580 โทรสาร 225589

ชมพูอุตสาหกรรม 431 หมู่ 5 ถ.พหลโยธิน ต.ชมพู โทร. 222931 โทรสาร 223931

เชาว์ลำปาง 107 ถ.พหลโยธิน โทร. 217443, 218443 โทรสาร 224443

บ.ณ. 324 หมู่ 6 ถ.พหลโยธิน ต.ชมพู โทร. 221598 โทรสาร 221598

พืชผลเซรามิค 62 ถ.พหลโยธิน ต.ชมพู โทร. 217432 โทรสาร 224080

สายอรุณ 29 ถ.นาก่วมเหนือ ต.ชมพู โทร. 222815-6 โทรสาร 224815

อินทรา เซรามิค 382 ถ.ลำปาง-เด่นชัย ก.ม. ที่ 1 โทร. 224382, 221189 โทรสาร 221227

ผ้าฝ้าย

บ้านฝ้าย 206/2 หมู่ 2 ถ.พหลโยธิน ลำปาง-เชียงราย ต.พิชัย โทร. 224602

แหนม

แหนมเขลางค์ 168 ถ.ทิพย์ช้าง โทร. 217037

แหนมสมศรี 146 ถ.ป่าไม้ ต.เวียงเหนือ โทร. 224061

กุนเชียง, หมูหยอง, หมูแผ่น

ตั้งเฮียงหลี 57 ถ.ประสานไมตรี ต.สบตุ๋ย โทร. 217364

ท่งเฮงกี่ 63-65 ถ.ประสานไมตรี ต.สบตุ๋ย โทร. 223687

เล่าฮั่วกี่ 61 ถ.ประสานไมตรี ต.สบตุ๋ย โทร. 217489

เล่าฮั่วกี่จั่น 67 ถ.ประสานไมตรี ต.สบตุ๋ย โทร. 223771


:: สารบัญเว็บไซท์ ::

:: ข้อมูล สถานที่ท่องเที่ยว แหล่งท่องเที่ยว จังหวัดลำปาง ::

สารบัญเว็บไซท์ > ท่องเที่ยว > ข้อมูล และสถานที่ท่องเที่ยว > ภาคเหนือ > ลำปาง

จำนวนเว็บไซท์ในหมวดนี้ : 13 [ แนะนำเว็บไซท์ได้ที่นี่ ]


จังหวัดลำปาง
แนะนำข้อมูลทั่วไป สถานที่ท่องเที่ยว แหล่งท่องเที่ยว จองโรงแรม ที่พัก รีสอร์ท โรงแรม จังหวัดลำปาง แผนที่ การเดินทาง ร้านอาหาร เทศกาล งานประเพณี ของฝาก ประวัติความเป็นมา คำขวัญประจำจังหวัด
http://www.relaxzy.com/province/lampang/

จังหวัดลำปาง
ข้อมูลทั่วไปของจังหวัดลำปาง สภาพเศรษฐกิจ สังคม โครงสร้างพื้นฐาน การบริหาร ข้อมูล กชช.2่ ค
http://www.lampang.go.th

จังหวัดลำปาง
เสนอข่าวในจังหวัดลำปาง และรวมลิงค์เว็บไซต์หน่วยงานภายในจังหวัดลำปาง
http://www.lampang.net/

จังหวัดลำปาง
ข้อมูลทั่วไปของจังหวัดลำปาง ประวัติความเป็นมา แผนที่จังหวัด วัฒนธรรมประเพณี สถานที่ท่องเที่ยว ข่า...
http://www.lampang.com

ห้างฉัตรดอทคอม
ฐานข้อมูลอำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง ประวัติและข้อมูลต่าง ๆ ของอำเภอห้างฉัตร แนะนำอาชีพเสริม
http://www.hangchat.com

อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง (แม่เมาะดอทคอม)
ข้อมูลทั่วไปของอำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ส่วนราชการ สินค้าชุมชน การเดินทาง แนะนำแหล่งท่องเที่ยว ข...
http://www.maemoh.com

จังหวัดลำปาง (โกลำปาง)
ข้อมูลการท่องเที่ยวจังหวัดลำปาง แนะนำสถานที่สำคัญ แหล่งท่องเที่ยว วัด ที่พัก ร้านอาหาร ของฝาก ข่า...
http://www.se-ed.net/golampang

ตลาดกองต้า
ชุมชุนตลาดจีน ริ่มฝั่งแม่น้ำวัง (กาดกองตา) ตำบลสวนดอก อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง
http://www.gongta.com

ทัวร์ลำปางดอทคอม
ข้อมูลเกี่ยวกับจังหวัดลำปาง สินค้า สถานที่ท่องเที่ยว ข้อมูลต่าง ๆ ของจังหวัดลำปาง
http://www.tourlampang.com

อุทยานแห่งชาติดอยจง
มีลักษณะเป็นภูเขาทอดยาวตามแนวทิศเหนือไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ มีเทือกเขาขนาดใหญ่เล็ก หลายลูกสลับซั...
http://www.dnp.go.th/parkreserve/asp/style1/default.asp?npid=216&lg=1

อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท
อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไทมีพื้นที่ครอบคลุมในท้องที่อำเภอเมือง อำเภอแจ้ห่ม อำเภองาว จังหวัดลำปาง มีลัก...
http://www.dnp.go.th/parkreserve/asp/style1/default.asp?npid=173&lg=1

อุทยานแห่งชาติแม่วะ
อยู่ในบริเวณพื้นที่อำเภอเถิน อำเภอแม่พริก จังหวัดลำปาง และอำเภอสามเงา อำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก ประ...
http://www.dnp.go.th/parkreserve/asp/style1/default.asp?npid=170&lg=1

เถินคลับ
เว็บไซต์เพื่อการประชาสัมพันธ์อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง และเป็นศูนย์กลางของพี่น้องชาวชุมชนอำเภอเถิน
http://www.thoenclub.com



:: อุทยานแห่งชาติดอยจง ::

:: ข้อมูลทั่วไป ::
หากผ่านไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 106 ช่วงรอยต่อระหว่างอำเภอเถิน จังหวัดลำปาง กับอำเภอลี้ จังหวัดลำพูน นักเดินทางจะมีโอกาสชื่นชมกับป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณ ที่ปกคลุมหนาแน่นสองฟากถนน ยิ่งช่วงปลายฤดูหนาว ป่าผืนนี้จะยิ่งงดงามด้วยต้นไม้ที่พากันเปลี่ยนสีก่อนทิ้งใบร่วงในหน้าแล้ง ป่าผืนนี้เป็นป่าผลัดใบ ที่ยังคงความสมบูรณ์มากที่สุดอีกแห่งหนึ่ง และอยู่ภายในพื้นที่อนุรักษ์ของอุทยานแห่งชาติดอยจง มีพื้นที่ประมาณ 207,500 ไร่ อยู่ในท้องที่อำเภอสบปราบ อำเภอเถิน อำเภอแม่พริก จังหวัดลำปาง และอำเภอลี้ จังหวัดลำพูน

ความเป็นมา : กรมป่าไม้มีคำสั่งที่ 1060/2539 ให้ไปดำเนินการสำรวจจัดตั้งพื้นที่ป่าท้องที่อำเภอสบปราบ อำเภอเถินและอำเภอแม่พริก จังหวัดลำปาง และพื้นที่ป่าท้องอำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ซึ่งมีลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไป เป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน มียอดเขาสูง 1,339 เมตรจากระดับน้ำทะเล คือ ยอดดอยจง มีทัศนียภาพที่สวยงามมีสภาพป่า เบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าสนเขาที่อุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารสมควรจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ

:: ลักษณะภูมิประเทศ ::
มีลักษณะเป็นภูเขาทอดยาว ตามแนวทิศเหนือไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ มีเทือกเขาขนาดใหญ่เล็ก หลายลูกสลับซับซ้อน เทือกเขาเหล่านี้เป็นต้นกำเนิด ลำห้วยหลายสายไหลลงสู่แม่น้ำวัง ซึ่งเป็นแม่น้ำที่สำคัญของจังหวัดลำปาง และยังเป็นแหล่งต้นน้ำสำหรับอ่างเก็บน้ำหลายแห่ง เช่น อ่างเก็บน้ำแม่ปราบ อ่างเก็บน้ำห้วยแม่ปู อ่างเก็บน้ำแม่ยอง สภาพโดยทั่วไปของพื้นที่เป็นภูเขาหิน มีแร่รัตนชาติ สังกะสี หินแกรนิต หินอ่อนอยู่โดยทั่วไป


:: ลักษณะภูมิอากาศ ::
ในพื้นที่ระดับต่ำตามเชิงเขา มีสภาพอากาศใกล้เคียงกับบริเวณอื่นๆ ของภาคเหนือมีอุณหภูมิต่ำสุด 10oC อุณหภูมิสูงสุด 43oC ส่วนสภาพอากาศยอดเขาอุณหภูมิต่ำ แตกต่างจากอากาศในพื้นที่ราบ มีอุณหภูมิต่ำสุดวัดได้ 4oC ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยวัดได้ 894 มิลลิเมตรต่อปี


:: พรรณไม้และสัตว์ป่า ::
สภาพป่า ประกอบด้วยป่าประเภทต่างๆ ได้แก่ ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าสนเขา มีสัตว์ป่าที่พบหลายชนิด เช่น หมีควาย เก้ง ลิงชนิดต่างๆ หมูป่า กระแต กระรอก พังพอน อีเห็น นกชนิดต่างๆ งูชนิดต่างๆ เป็นต้น


:: ที่ตั้งและการเดินทาง ::
อุทยานแห่งชาติดอยจง
หมู่ 6 บ้านนาไม้แดง ต.นายาง อ. สบปราบ จ. ลำปาง 52170

รถยนต์
ที่ทำการอุทยานแห่งชาติดอยจง ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอสบปราบ จังหวัดลำปาง การเดินทางเริ่มจากอำเภอเมือง จังหวัดลำปาง ไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) ลงไปทางใต้ประมาณ 54 กิโลเมตร ถึงที่ว่าการอำเภอสบปราบ ให้เลี้ยวขวาไปตามถนนกรมโยธาธิการสายบ้านหล่าย – บ้านแก่น เมื่อถึงบ้านนาไม้แดง จากถนนพหลโยธิน ประมาณ 8 กิโลเมตร ให้เลี้ยวซ้ายไปอีกประมาณ 7 กิโลเมตร จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติดอยจง รวมระยะทางจากอำเภอเมือง จังหวัดลำปาง ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติดอยจง ประมาณ 68 กิโลเมตร


:: แหล่งท่องเที่ยว ::
หากผ่านไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 106 ช่วงรอยต่อระหว่างอำเภอเถิน จังหวัดลำปาง กับอำเภอลี้ จังหวัดลำพูน นักเดินทางจะมีโอกาสชื่นชม กับป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณ ที่ปกคลุมหนาแน่นสองฟากถนน ยิ่งช่วงปลายฤดูหนาว ป่าผืนนี้จะยิ่งงดงามด้วยต้นไม้ที่พากันเปลี่ยนสีก่อนทิ้งใบร่วงในหน้าแล้ง ป่าผืนนี้เป็นป่าผลัดใบ ที่ยังคงความสมบูรณ์มากที่สุดอีกแห่งหนึ่ง และอยู่ภายในพื้นที่อนุรักษ์ของอุทยานแห่งชาติดอยจง อยู่ในท้องที่อำเภอสบปราบ อำเภอเถิน อำเภอแม่พริก จังหวัดลำปาง และอำเภอลี้ จังหวัดลำพูน นอกจากนี้ยังมีสถานที่ที่น่าสนใจ ได้แก่


:: ด้านธรรมชาติที่สวยงาม ::
ดอยจง เป็นที่ราบกว้างซึ่งมีป่าสนเขาขึ้นกระจายเป็นกลุ่มๆ และมีหน้าผาเป็นจุดชมทิวทัศน์อยู่หลายแห่ง สามารถชมทิวทัศน์ได้ ทั้งยามดวงอาทิตย์ขึ้นจากขอบฟ้าในยามเช้า และลับขอบฟ้าในยามเย็น นอกจากนี้บนดอยจงยังพบกล้วยไม้จำนวนมาก โดยเฉพาะฟ้ามุ่ยซึ่งมีสีงดงาม แปลกกว่าฟ้ามุ่ยในพื้นที่อื่น โดยจะออกดอกในช่วงเดือนตุลาคม-มกราคม จากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ มีเส้นทางเดินขึ้นสู่ยอดดอยจง ระยะทางประมาณ 7 กิโลเมตร สภาพทางค่อนข้างชัน ใช้เวลาเดินขึ้นราวครึ่งวัน ผู้สนใจต้องติดต่อเจ้าหน้าที่ช่วยนำทาง


อ่างเก็บน้ำต่างๆ เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ตั้งอยู่โดยรอบเขตอุทยานแห่งชาติ มีทัศนียภาพสวยงามเป็นอ่างเก็บน้ำแม่ทาย อ่างเก็บน้ำแม่ยอง อ่างเก็บน้ำแม่อาบ


น้ำตกและถ้ำ นอกจากนี้อุทยานแห่งชาติดอยจงยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจอื่นอีก เช่น ถ้ำผาชัน น้ำตกตาดปู่หล้า น้ำตกธารมะไฟ และน้ำตกแม่แฮด



:: สิ่งอำนวยความสะดวก ::
ห้องสุขาชาย มีห้องสุขาชายไว้บริการ


ห้องสุขาหญิง มีห้องสุขาหญิงไว้บริการ


สถานที่กางเต็นท์/เต็นท์ อุทยานแห่งชาติ ยังไม่ที่พัก-บริการไว้บริการนักท่องเที่ยว มีแต่สถานที่กางเต็นท์ให้บริการนักท่องเที่ยว หากสนใจที่จะเดินทางไปท่องเที่ยวที่อุทยานแห่งชาติ ท่านสามารถนำเต็นท์และอาหารไปเอง หรือติดต่อขอใช้บริการเต็นท์ของอุทยานแห่งชาติ รายละเอียดเกี่ยวกับสถานที่กางเต็นท์/เต็นท์ ขอให้ติดต่อสอบถามกับอุทยานแห่งชาติโดยตรง


ที่จอดรถ มีลานจอดรถให้บริการแก่นักท่องเที่ยว





:: อุทยานแห่งชาติแม่วะ ::

:: ข้อมูลทั่วไป ::
อุทยานแห่งชาติแม่วะ อยู่ในบริเวณพื้นที่อำเภอเถิน อำเภอแม่พริก จังหวัดลำปาง และอำเภอสามเงา อำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก ประกอบด้วยภูเขาสูงสลับซับซ้อน สภาพป่าอุดมสมบูรณ์ ชุกชุมไปด้วยสัตว์ป่านานาชนิด มีทิวทัศน์ที่งดงาม เป็นเอกลักษณ์ทางธรรมชาติ เช่น น้ำตกแม่วะ มีน้ำไหลตลอดปีเป็นที่รู้จักของประชาชนทั่วไป การคมนาคมสะดวก อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอเถิน ประมาณ 19 กิโลเมตร อุทยานแห่งชาติแม่วะ มีเนื้อที่ประมาณ 366,875 ไร่ หรือ 587 ตารางกิโลเมตร

ความเป็นมา : ในปี 2525 กองอุทยานแห่งชาติได้รับหนังสือจากจังหวัดลำปาง ความว่า ป่าดอยม่านกลางพื้นที่บริเวณป่าแม่วะ ห้วยแม่มอก ป่าดอยแม่ตอน ป่าขุนเจือ ป่าแม่เติน ป่าแม่ถอด ป่าแม่ลอง ป่าดอยฝั่งมั่น และท้องที่อำเภอเถิน และอำเภอสบปราบ จังหวัดลำปาง มีสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์มีทิวทัศน์ที่สวยงาม มีไม้สนเขาขึ้นอยู่มากมาย สวยงามมากเป็นที่รู้จักกันทั่วไป รวมทั้งนักบินที่สังกัดในหน่วยบินเกษตร ก็ได้รายงานให้กองอุทยานแห่งชาติทราบถึง ความสวยงามของพื้นที่ เหมาะที่จะจัดเป็นอุทยานแห่งชาติต่อไป

กรมป่าไม้จึงมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ไปสำรวจข้อมูลเบื้องต้น ในบริเวณท้องที่ป่าแม่วะ ห้วยแม่มอก ป่าดอยแม่ตอน ป่าดอยขุนเจือ ป่าแม่เติน แม่ถอด แม่ลอง ป่าดอยฝั่งมั่น และป่าดอยม่อนกลาง อำเภอเถิน และอำเภอสบปราบ จังหวัดลำปาง เพื่อนำข้อมูลมาประกอบ การพิจารณาจัดตั้งเป็นวนอุทยาน หรืออุทยานแห่งชาติ ผลการสำรวจพบว่า สภาพป่าอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติแม่วะ สภาพป่าสมบูรณ์ประกอบด้วย เทือกเขาใหญ่สูงสลับซับซ้อน มีสภาพธรรมชาติสวยงาม เช่น น้ำตก ถ้ำ และ มีสัตว์ป่าชุกชุม สมควรที่จัดเป็นวนอุทยานหรืออุทยานแห่งชาติได้

กองอุทยานแห่งชาติได้พิจารณาแล้ว เนื่องจากพื้นที่นี้มีทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ชุกชุมด้วยสัตว์ป่านานาชนิด ตลอดจนมีทิวทัศน์ธรรมชาติที่สวยงาม เพื่อรักษาสภาพธรรมชาติ ซึ่งเป็นที่น่าสนใจ ให้คงอยู่ในสภาพธรรมชาติเดิม เพื่อสงวนไว้ให้เป็นประโยชน์แก่การศึกษา และเพื่อความรื่นรมย์ของประชาชน จึงเห็นควรกำหนดพื้นที่ดังกล่าว เป็นอุทยานแห่งชาติ ตามในมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ซึ่งได้มีพระราชกฤษฎีกา กำหนดบริเวณที่ดินป่าแม่เลิม ป่าแม่ปะ และป่าแม่วะ ป่าแม่มอก ในท้องที่ตำบลแม่ปะ ตำบลล้อมแรด ตำบลแม่มอก ตำบลเถินบุรี ตำบลเวียงมอก ตำบลแม่วะ อำเภอเถิน ตำบลพระบาทวังตวง อำเภอแม่พริก จังหวัดลำปาง และป่าแม่สลิด ป่าโป่งแดง ในท้องที่ตำบลวังจันทร์ อำเภอสามเงา และตำบลแม่สลิด อำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก เนื้อที่ 587 ตารางกิโลเมตร ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา เล่มที่ 117 ตอนที่ 108 ก วันที่ 17 พฤศจิกายน 2543


:: ลักษณะภูมิประเทศ ::
สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไป เป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน ทางทิศเหนือและทิศตะวันออกของพื้นที่ เป็นภูเขาสูงชัน ทางตอนกลางถึงตอนใต้ของพื้นที่เป็นเทือกเขาสูง โดยบริเวณยอดเขา จะเป็นพื้นที่ราบกว้างใหญ่ ซึ่งมีต้นสนเขาขนาดใหญ่ขึ้นกระจายอยู่ทั่วไป ทำให้มีทิวทัศน์ที่สวยงาม ส่วนทางทิศตะวันตกของพื้นที่เป็นภูเขาหินปูน ความสูงประมาณ 300-400 เมตร จากระดับน้ำทะเล ประกอบด้วยดอยผาจี่ ดอนผาขัดห้าง ดอยปูโมะ และดอยแปรหลวง โดยมีดอยผาจี่ เป็นดอยที่สูงที่สุด สูงประมาณ 1,027 เมตร


:: ลักษณะภูมิอากาศ ::
อุทยานแห่งชาติแม่วะ มีลักษณะภูมิอากาศเป็นแบบมรสุมเมืองร้อน โดยได้รับอิทธิพล จากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ในช่วงฤดูฝน และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงฤดูหนาว ฤดูฝนเริ่มกลางเดือนพฤษภาคม-กันยายน และมีฝนตกหนักในเดือนกันยายน ฤดูหนาวเริ่มเดือนตุลาคม-กลางเดือนกุมภาพันธ์ ฤดูร้อนเริ่มเดือนกุมภาพันธ์-กลางเดือนพฤษภาคม


:: พรรณไม้และสัตว์ป่า ::
สภาพป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติประกอบด้วย ป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบ ป่าเต็งรัง ป่าสนเขา พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ มะค่าโมง แดง ประดู่ ตะแบก ชิงชัง มะกอกป่า ยมหิน รกฟ้า กระโดน ตะเคียนทอง กระบาก เต็ง รัง เหียง สนสองใบ สนสามใบ เป็นต้น

ส่วนสัตว์ป่านั้นเนื่องจากสภาพป่าอยู่ในเขตภูเขาสลับซับซ้อน อีกทั้งสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ มีแหล่งอาหาร และแหล่งน้ำ กระจัดกระจายอยู่ทั่วพื้นที่ จึงมีสัตว์ป่าอาศัยอยู่มาก เช่น เสือโคร่ง กระทิง หมีควาย กวางป่า เก้ง หมูป่า กระต่ายป่า จำพวกนกได้แก่ เหยี่ยว นกฮูก นกกระปูด นกเค้าแมว กบและปลาชนิดต่างๆ


:: ที่ตั้งและการเดินทาง ::
อุทยานแห่งชาติแม่วะ
หมู่ 2 ต.แม่วะ อ. เถิน จ. ลำปาง 52230
โทรศัพท์ : 0 9556 1265

รถยนต์
เดินทางจากจังหวัดลำปางไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) สายจังหวัดลำปาง-ตาก ระหว่างกิโลเมตรที่ 498-499 จะมีทางแยกเข้าไปอีกประมาณ 10 กิโลเมตร (บริเวณทางแยกเป็นที่ตั้งของโรงเรียนแม่วะวิทยา) นอกจากนี้บริเวณทางทิศเหนือของพื้นที่อุทยานแห่งชาติ มีอาณาเขตจดทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1048 จากอำเภอเถิน จังหวัดลำปาง ไปอำเภอทุ่งเสลี่ยม จังหวัดสุโขทัย


:: แหล่งท่องเที่ยว ::
อุทยานแห่งชาติแม่วะอยู่ในบริเวณพื้นที่อำเภอเถิน อำเภอแม่พริก จังหวัดลำปาง และอำเภอสามเงา อำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก ประกอบด้วยภูเขาสูงสลับซับซ้อน สภาพป่าอุดมสมบูรณ์ ชุกชุมไปด้วยสัตว์ป่านานาชนิด มีทิวทัศน์ที่งดงามเป็นเอกลักษณ์ทางธรรมชาติ เช่น น้ำตกแม่วะ มีน้ำไหลตลอดปี เป็นที่รู้จักของประชาชนทั่วไป การคมนาคมสะดวก อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอเถินประมาณ 19 กิโลเมตร มีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจได้แก่


:: ด้านธรรมชาติที่สวยงาม ::
น้ำตกแม่วะ อยู่ในเขตพื้นที่บ้านน้ำดิบ หมู่ที่ 3 ตำบลแม่วะ อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง บริเวณโดยรอบของน้ำตกแม่วะประกอบไปด้วยภูเขาสูงชัน มีดอยแปลหลวง เป็นต้นกำเนิดของน้ำตกนี้ และจะไหลลงสู่แม่น้ำวังในที่สุด น้ำตกแม่วะประกอบไปด้วย น้ำตกแม่วะประกอบไปด้วย น้ำตกชั้นต่างๆ ทั้งหมด 9 ชั้น แต่ละชั้นมีความงามแบบต่างๆ กัน มีทางเดินขึ้นไปถึงแค่น้ำตกชั้นที่ 8 สภาพเส้นทางระหว่างน้ำตกชั้นที่ 1-4 ระยะทาง 700 เมตร เดินได้สะดวก จากนั้นทางเริ่มสูงชันขึ้นไปจนถึงชั้นที่ 8 รวมระยะทาง 2.2 กิโลเมตร สำหรับน้ำตกชั้นที่ 9 มีชื่อว่า ตาดหลวง มีความสูงประมาณ 100 เมตร ต้องปีนหน้าผาจากน้ำตกชั้นที่ 8 ขึ้นไปอีกไกลจึงจะถึง

การเดินทางใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) เมื่อผ่านอำเภอแม่พริก จังหวัดลำปาง ไปถึงประมาณกิโลเมตรที่ 500 จะมีทางแยกเข้าสู่ที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ผ่านทางแยกนี้ไปอีกประมาณ 6 กิโลเมตร จะถึงหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ มว.1 (น้ำตกแม่วะ) น้ำตกอยู่ห่างไปอีกประมาณ 500 เมตร นอกจากนี้ยังมี เส้นทางศึกษาธรรมชาติ เป็นทางเดินขึ้นเขาผ่านป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณ แล้วเดินขึ้นสันเขา ผ่านจุดชมทิวทัศน์ไปจนพบกับน้ำตกชั้นที่ 8 รวมระยะทางประมาณ 3.8 กิโลเมตร เหมาะสำหรับการเดินชมป่าเปลี่ยนสีในช่วงฤดูแล้ง


ถ้ำพระเจดีย์ อยู่ในเขตท้องที่บ้านน้ำดิบ หมู่ที่ 3 ตำบลแม่วะ อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง เป็นถ้ำหินปูนขนาดกลาง ภายในถ้ำมีหินงอกรูปทรงเจดีย์อยู่บนพื้น และรูปอ่างเก็บน้ำเป็นชั้นๆ ราษฎรบ้านน้ำดิ[ได้ร่วมกันพัฒนาบริเวณถ้ำ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวประจำหมู่บ้าน บริเวณใกล้เคียงกับถ้ำพระเจดีย์ ยังมีถ้ำช้างและถ้ำเล็กถ้ำน้อยอีกหลายแห่ง ซึ่งถ้ำเหล่านี้อยู่ห่างจากบ้านน้ำดิบประมาณ 3 กิโลเมตร


ถ้ำน้ำผ่าผางาม อยู่ในเขตท้องที่บ้านวังสำราญ ตำบลพระบาทวังตวง อำเภอแม่พริก จังหวัดลำปาง เป็นถ้ำหินปูนขนาดใหญ่ มีทางวกไปวนมาและมีความลึกมาก ภายในถ้ำมีน้ำไหลผ่าน และมีหินงอก หินย้อย ที่สวยงามตระการตา


ทิวทัศน์และสภาพป่า บริเวณยอดดอยขุนห้วยปง ดอยกิ่งคอด ดอยตาจี่ ซึ่งอยู่บริเวณตอนกลาง ถึงตอนใต้ของพื้นที่ที่สำรวจเป็นที่ราบกว้างใหญ่ มีต้นสนสองใบ สนสามใบขนาดใหญ่ ขึ้นกระจัดกระจายปะปนกับไม้ก่อชนิดต่างๆ ส่วนพื้นล่างที่จะมีต้นหญ้าคาขึ้นอยู่ ทำให้มีทิวทัศน์ที่สวยงาม เหมาะสำหรับเดินป่าเพื่อศึกษาธรรมชาติ



:: สิ่งอำนวยความสะดวก ::
ห้องสุขาชาย มีห้องสุขาชายให้บริการ


ห้องสุขาหญิง มีห้องสุขาหญิงให้บริการ


ที่พักแรม/บ้านพัก มีบ้านพักบริการนักท่องเที่ยว


สถานที่กางเต็นท์/เต็นท์ อุทยานแห่งชาติจัดเตรียมสถานที่กางเต็นท์และเต็นท์ ไว้ให้บริการนักท่องเที่ยว การสำรองที่พักเต็นท์ สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียด และสำรองที่พักเต็นท์ได้กับอุทยานแห่งชาติโดยตรง


ที่จอดรถ มีลานจอดรถให้บริการแก่นักท่องเที่ยว


ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวไว้บริการด้านข้อมูล





:: อุทยานแห่งชาติแม่ยม ::

:: ข้อมูลทั่วไป ::
อุทยานแห่งชาติแม่ยม พื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่อำเภองาว จังหวัดลำปาง และอำเภอสอง จังหวัดแพร่ มีสภาพป่าอุดมสมบูรณ์ เต็มไปด้วยป่าสักที่ขึ้นเองตามธรรมชาติอย่างหนาแน่น ซึ่งมีขนาดสูงใหญ่งดงามมาก นับได้ว่าเป็นตัวแทนป่าไม้สัก ของภาคเหนือได้อย่างดียิ่ง รวมทั้งไม้ที่มีค่าต่างๆ จำนวนมาก และทิวทัศน์ที่สวยงาม มีเนื้อที่ประมาณ 284,218.75 ไร่ หรือ 454. 75 ตารางกิโลเมตร

ในปลายปี พ.ศ. 2525 นายณรงค์ วงศ์วรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ (สมาชิกสภาผู้แทนจังหวัดแพร่) ดำริให้กรมป่าไม้ทำการสำรวจป่าสงวนแห่งชาติแม่ปุง-แม่เป้า จังหวัดแพร่ ซึ่งมีไม้สักที่อุดมสมบูรณ์ ขึ้นเองตามธรรมชาติอย่างหนาแน่น และมีทิวทัศน์ธรรมชาติอื่นๆ ที่สวยงามหลายแห่ง ให้จัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ จึงได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปทำการสำรวจเบื้องต้น ปรากฏว่า บริเวณป่าแม่ปุงและป่าน้ำงาว น้ำสวด มีป่าสักที่สมบูรณ์ยิ่งในภาคเหนือ สภาพป่าโดยทั่วไปสมบูรณ์ดี เป็นป่าต้นน้ำลำธารของแม่น้ำยม ทั้งยังมีทิวทัศน์ และเอกลักษณ์ทาง ธรรมชาติที่สวยงาม เหมาะสมที่จะจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ

กรมป่าไม้ได้นำเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ซึ่งได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 1/2527 เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2527 เห็นสมควรให้ออกพระราชกฤษฎีกา กำหนดพื้นที่ดังกล่าวเป็นอุทยานแห่งชาติ โดยใช้ชื่อว่า “อุทยานแห่งชาติแม่ปุง” ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “อุทยานแห่งชาติแม่ยม” เพื่อให้เหมาะสมตามลักษณะของพื้นที่ ซึ่งมีแม่น้ำยมไหลผ่าน และลักษณะเด่นที่สวยงามของอุทยานแห่งชาติแม่ยมแห่งนี้ เกิดจากแม่น้ำยม โดยได้มีพระราชกฤษฎีกา กำหนดพื้นที่บริเวณที่ดินป่าแม่ปุง ป่าแม่เป้าและป่าแม่สอง ในท้องที่ตำบลเตาปูน ตำบลสะเอียบ อำเภอสอง จังหวัดแพร่ และป่าแม่งาวฝั่งซ้าย ในท้องที่ตำบลแม่ตีบ อำเภองาว จังหวัดลำปาง ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 103 ตอนที่ 34 ลงวันที่ 1 มีนาคม 2529 เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 51 ของประเทศ


:: ลักษณะภูมิประเทศ ::
ลักษณะภูมิประเทศอุทยานแห่งชาติแม่ยมโดยทั่วไป จะมีลักษณะเป็นเทือกเขาสูง ทั้งด้านทิศตะวันออก ละทิศตะวันตกของพื้นที่ ลาดลงมายังฝั่งแม่ยมซึ่งไหลผ่านตอนกลางของพื้นที่ เทือกเขาเหล่านี้ เช่น ดอยหลวง ดอยยาว ดอยขุนห้วยแปะ และดอยโตน เป็นต้น ซึ่งเทือกเขาสูงดังกล่าวนี้ เป็นต้นกำเนิดที่สำคัญของแม่น้ำ และลำห้วยต่างๆ ที่ไหลลงสู่แม่น้ำยม อาทิ น้ำแม่ปุง น้ำแม่ลำ น้ำแม่เต้น น้ำแม่สะกึ๋น น้ำแม่เป๋า ห้วยผาลาด ห้วยแม่ปง ห้วยแม่พุง ห้วยแม่แปง ห้วยเค็ด ห้วยปุย ห้วยเลิม และห้วยแม่ปุ๊ เป็นต้น บริเวณที่ราบซึ่งมีความลาดเอียง จากแนวทิศเหนือไปทิศใต้โดยประมาณ มีระดับความสูงประมาณ 180 เมตรจากระดับน้ำทะเล ที่บริเวณอำเภอสอง แล้วลดความสูงมาเป็นประมาณ 157 เมตร ส่วนทางด้านแนวทิศตะวันออกและทิศตะวันตกนั้น พื้นที่ลาดเอียงสู่แม่น้ำยมทั้งสองด้าน ส่วนใหญ่เป็นดินลูกรังและดินร่วนปนทราย ชนิดหินเป็นหินชั้นและหินเชล และพื้นที่จะอยู่ในชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 1, 2, 3, 4 และ 5


:: ลักษณะภูมิอากาศ ::
ลักษณะภูมิอากาศของอุทยานแห่งชาติแม่ยม อยู่ในลักษณะอากาศแบบฝนเมืองร้อนเฉพาะฤดู ปริมาณและการกระจายของฝน จะได้รับอิทธิพลจากลมมรสุม 2 ประเภท คือ ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ จะเริ่มพัดผ่านระหว่างเดือนพฤษภาคม ถึงเดือนตุลาคม ทำให้ฝนตกชุก และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ จะเริ่มพัดผ่านตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนเมษายน โดยนำอากาศหนาวและแห้งแล้งจากประเทศจีน มาปกคลุมบริเวณภาคเหนือของประเทศไทย ช่วงฤดูแล้งนี้ยังมีลักษณะอากาศแตกต่างกัน อันเนื่องมาจากลักษณะภูมิประเทศที่เป็นภูเขา กล่าวคือ อากาศหนาวแห้งแล้ง จะเริ่มประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ และอากาศร้อนแห้งแล้ง จะเริ่มประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยในเดือนเมษายน 33 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ยในเดือนมกราคม 14 องศาเซลเซียส อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปี 26 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนตลอดปี 1,095 มิลลิเมตรต่อปี


:: พรรณไม้และสัตว์ป่า ::
สภาพป่าส่วนใหญ่เป็นป่าค่อนข้างสมบูรณ์ ประกอบด้วยชนิดป่าชนิดต่างๆ ได้แก่
ป่าเบญจพรรณ พบทั่วไปในเขตอุทยานแห่งชาติ โดยเฉพาะตั้งแต่บริเวณเหนือเขื่อนขึ้นไป ทางทิศตะวันตกของลำน้ำยม ชนิดไม้ที่สำคัญ ได้แก่ สัก มะค่าโมง แดง ประดู่ ตะแบก ฯลฯ

ป่าเต็งรัง ขึ้นอยู่ทางตอนเหนือของพื้นที่ และกระจายเป็นหย่อมๆ ในบริเวณดินที่มีความแห้งแล้ง เป็นดินลูกรัง ชนิดไม้ที่สำคัญได้แก่ เต็ง รัง พลวง รัก มะเกิ้ม ชิงชัน ฯลฯ

ป่าดิบแล้ง ขึ้นอยู่อย่างหนาแน่นทางทิศตะวันออกของอุทยานแห่งชาติ และตามบริเวณริมห้วยที่สำคัญ มีความเขียวชอุ่มตลอดปี พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ ตะเคียนทอง กระบาก มะหาด ยาง ยมหอม ก่อ ฯลฯ

ป่าสนเขา มีขึ้นอยู่ตามยอดเขาทางทิศตะวันออกของอุทยานแห่งชาติ มีความสูง 1,200 เมตรจากระดับน้ำทะเล พันธุ์ไม้จะเป็นพวกไม้สน และไม้ก่อ เช่น สนสามใบ ก่อเดือย ก่อตาหนู เป็นต้น

จากการสำรวจสัตว์ป่า พบ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 39 ชนิด นก 135 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 28 ชนิด และสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 14 ชนิด ในจำนวนนี้มีสัตว์ที่มีสถานภาพที่น่าเป็นห่วง 4 ชนิด ได้แก่ สุนัขจิ้งจอก กระรอกบินเล็กแก้มขาว แมวป่า และนกยูง มีสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ 1 ชนิด คือ เสือปลา นอกจากนี้ยังมีสัตว์ป่าสงวนซึ่งมีสภาพใกล้สูญพันธุ์ตามสมุดปกแดงของ IUCN คือ เลียงผา สัตว์ป่าชนิดอื่นที่พบเห็นได้ทั่วไป ได้แก่ เก้ง หมีควาย หมูป่า กระต่ายป่า นางอาย เม่นหางพวง นากเล็กเล็บสั้น อ้นเล็ก กระเล็นขนปลายหูสั้น ค้างคาวขอบหูขาวกลาง ค้างคาวมงกุฎมลายู หนูท้องขาว ไก่ป่า นกเขาเปล้าธรรมดา นกหกเล็กปากแดง นกกระปูดใหญ่ นกเค้าโมง นกตบยุงหางยาว นกตะขาบทุ่ง นกตั้งล้อ นกโพระดกคอสีฟ้า นกหัวขวานด่างแคระ นกแอ่นตะโพกขาวหางแฉก นกไต่ไม้หน้าผากกำมะหยี่ นกกินแมลงอกเหลือง นกพงคิ้วดำ นกเด้าลมหลังเทา นกปรอดโอ่งเมืองเหนือ นกจับแมลงหัวเทา นกกินปลีอกเหลือง เต่าเหลือง ตะพาบน้ำ กิ้งก่าสวน แย้ขีด จิ้งเหลนเรียวท้องเหลือง จิ้งจกหางหนาม งูหลาม งูสามเหลี่ยม อึ่งขาดำ กบหนอง เขียดบัว และคางคกบ้าน เป็นต้น


:: ที่ตั้งและการเดินทาง ::
อุทยานแห่งชาติแม่ยม
ตู้ ปณ. 4 อ. สอง จ. แพร่ 54120
โทรศัพท์ : 0 5452 2097, ศูนย์ข่าวอช.แม่ยม โทร 0 5459 3864

รถยนต์
การเดินทางไปยังอุทยานแห่งชาติแม่ยม ต้องเริ่มจากจังหวัดแพร่ไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 101 สายแพร่-น่าน ไปถึงสี่แยกอำเภอร้องกวาง เลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 103 สายร้องกวาง - งาว ประมาณ 26 กิโลเมตร จะถึงอำเภอสอง และจากอำเภอสองเดินทางไปตามเส้นทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1154 สายสอง - งาว ประมาณ 20 กิโลเมตร จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่ยม รวมระยะทางจากจังหวัดแพร่ถึงอุทยานแห่งชาติแม่ยม ประมาณ 70 กิโลเมตร


:: แหล่งท่องเที่ยว ::
ฤดูกาลที่เหมาะสมที่ควรจะมาท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติแห่งนี้ เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนพฤษภาคมของทุกปี เนื่องจากในช่วงฤดูฝนเป็นช่วงแม่น้ำหลากในแม่น้ำยม และทางคมนาคมไม่สะดวก นอกจากนี้ยังมี ประเพณีโล้ชิงช้า ของชาวเขาเผ่าอีก้อในช่วงฤดูหนาว เป็นหมู่บ้านชาวเขา ที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่ยม ซึ่งอยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติประมาณ 40 กิโลเมตร ชมวัฒนธรรม และวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวเขาเผ่าอีก้อ อุทยานแห่งชาติแม่ยมยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีก ได้แก่ น้ำตกตาดตาล โป่งน้ำร้อน หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ มย.2 (ผาอิง) และบริเวณจุดชมทิวทัศน์


:: ด้านประวัติศาสตร์ ::
โล้ชิงช้าเผ่าอาข่า ประเพณีโล้ชิงช้าของเผ่าอาข่าในช่วงหน้าหนาว เป็นหมู่บ้านที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่ยม ชมวิถีชีวิตดั่งเดิมและวัฒนธรรมของชาวเขาเผ่าอาข่า อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่ยมประมาณ 40 กิโลเมตร


:: ด้านธรรมชาติที่สวยงาม ::
ดงสักงาม มีลักษณะเป็นกลุ่มของไม้สักที่ขึ้นอยู่อย่างหนาแน่นตามริมฝั่งแม่น้ำยม ตลอดแนวยาวประมาณ 12 กิโลเมตร ไม้สักที่ขึ้นอยู่นี้มีลักษณะสูงใหญ่ ปลายตรง งดงามมาก คล้ายกับไม้สักที่ปลูกในสวนป่า และหากได้เข้าไปในเดือนสิงหาคม-กันยายน จะพบกับความร่มรื่น และดอกสักที่เหลืองอร่ามไปหมด บริเวณดงสักงามนี้มีเนื้อที่ประมาณ 20,000 ไร่ หรือ 32 ตารางกิโลเมตร อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่ยม ประมาณ 6 กิโลเมตร การเดินทางไปยังจุดนี้ต้องใช้การเดินเท้าเท่านั้น


แก่งเสือเต้น เป็นเกาะแก่งธรรมชาติในแม่น้ำยม มีความยาวประมาณ 4 กิโลเมตร อยู่หน้าที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ชื่อของแก่งเสือเต้นนี้มีความเป็นมาจาก ลักษณะของหินธรรมชาติก้อนหนึ่งในแก่งแห่งนี้ มีลักษณะคล้ายรอยเท้าเสือปรากฏอยู่ ตามริมแม่น้ำยมในช่วงที่เป็นแก่งเสือเต้นนั้นจะมีหาดทรายปรากฏอยู่โดยทั่วไป เหมาะสำหรับกางเต็นท์พักแรม และล่องแก่งเพื่อสัมผัสกับธรรมชาติที่งดงาม โดยมีเสียงน้ำไหลผ่านเกาะแก่งเป็นส่วนประกอบ


หล่มด้ง เป็นแอ่งน้ำธรรมชาติที่มีขนาดใหญ่ เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 100 เมตร ปรากฏอยู่บนยอดเขาสูง มีน้ำขังตลอดปี สันนิษฐานว่า แหล่งน้ำนี้เกิดจากการยุบตัวของดินในบริเวณดังกล่าว ทำให้เกิดเป็นหลุมขนาดใหญ่และมีน้ำขังอยู่ กลายเป็นแหล่งน้ำสำหรับสัตว์ป่าในบริเวณนั้น ที่นี่ยังเป็นจุดชมทิวทัศน์ของดงสักงามได้อย่างชัดเจน รวมทั้งชมทิวทัศน์ยามดวงอาทิตย์ขึ้นละตกด้วย หล่มด้ง อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่ยมประมาณ 14 กิโลเมตร และห่างจากจุดชมทะเลภูเขา 1 กิโลเมตร ใกล้กับหล่มด้งนี้ จะมีเหมืองแร่เก่าซึ่งผ่านการทำแร่แบไรต์มาแล้ว มีลานสำหรับกางเต็นท์พักแรม


จุดชมทะเลหมอก เป็นบริเวณที่สามารถมองเห็นทิวเขาที่สลับซับซ้อน มองเห็นความงามของดงสักงามทางทิศตะวันออก ในช่วงฤดูหนาวจะได้สัมผัสบรรยากาศที่หนาวเย็น และเห็นทะเลหมอกในยามเช้า จุดชมทะเลภูเขานี้ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่ยม ประมาณ 13 กิโลเมตร


ผาลาด บริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ มย.5 (ผาลาด) ซึ่งมีสภาพเป็นป่าเบญจพรรณ โดยบริเวณห้วยผาลาด จะเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของนกยูง จำนวนมาก จาการสำรวจนกยูงบริเวณดังกล่าว เป็นนกยูงสายพันธุ์ไทย อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ประมาณ 52 กิโลเมตร


ต้นมะค่าใหญ่ ขึ้นในบริเวณขุนห้วยแม่ปุง ตำบลสะเอียบ อำเภอสอง จังหวัดแพร่ มีขนาดความโตวัดโดยรอบได้ 7.40 เมตร ความสูง 35 เมตร ต้องใช้คนประมาณ 6 คน จึงจะโอบได้รอบลำต้น ลักษณะกิ่งก้านสาขาแตกออกเป็น 2 นาง และแต่ละนางแตกออกเป็น 4 แขนง การแตกของนางแรกอยู่สูงจากพื้นดิน 3.22 เมตร พบอยู่ห่างจากหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ มย.4 (บ่อต้นสัก) ประมาณ 8 กิโลเมตร



:: สิ่งอำนวยความสะดวก ::
ห้องสุขาชาย มีห้องสุขาชายให้บริการ


ห้องสุขาหญิง มีห้องสุขาหญิงให้บริการ


ที่พักแรม/บ้านพัก มีบ้านพักให้บริการแก่นักท่องเที่ยว จำนวน 3 หลัง


สถานที่กางเต็นท์/เต็นท์ อุทยานแห่งชาติจัดเตรียมสถานที่กางเต็นท์ และเต็นท์ ไว้ให้บริการนักท่องเที่ยว การสำรองที่พักเต็นท์ สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียด และสำรองที่พักเต็นท์ได้กับอุทยานแห่งชาติโดยตรง


ค่ายเยาวชน มีสถานที่ไว้รองรับค่ายเยาวชนที่มาจัด


ที่จอดรถ มีลานจอดรถให้บริการแก่นักท่องเที่ยว


บริการอาหาร มีร้านอาหารไว้บริการนักท่องเที่ยว

0 ความคิดเห็น: