วันพฤหัสบดีที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

การท่องเที่ยวจังหวัดน่าน

:: จังหวัดน่าน ::

" แข่งเรือลือเลื่อง เมืองงาช้างดำ จิตรกรรมวัดภูมินทร์ แดนดินส้มสีทอง เรืองรองพระธาตุแช่แห้ง "

" พระธาตุแช่แห้ง แข่งเรือลือเลื่อง เมืองงาช้างดำ จิตรกรรมวัดภูมินทร์ เสาดินนาน้อย แอ่วดอยภูคา
ผ้าลายน้ำไหล มะไฟจีนรสดี มีเครื่องเงินหลากหลาย เครื่องหวายน่าชม ส้มสีทองเมืองน่าน "



- จังหวัดน่าน :: ข้อมูลทั่วไป

- น่าน ดินแดนแห่งล้านนาตะวันออกซึ่งมีความเก่าแก่รุ่นเดียวกับกรุงสุโขทัย มีเจ้าผู้ครองนครสืบต่อกันมารวมทั้งสิ้น 59 พระองค์ น่านมีชื่อเดิมว่า “นันทบุรี” หรือ “วรนคร” ส้างขึ้นโดยพระยาภูคาในราวพุทธศตวรรษที่ 18 บริเวณที่ราบในเขตตำบลศิลาเพชรหรืออำเภอปัวในปัจจุบัน ต่อมาในสมัยพระยาการเมือง ได้รับพระบรมสารรีริธาตุมาจากกรุงสุโขทัย ทรงเลือกดอยภูเพียงแช่แห้งเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ พร้อมกับย้ายเมืองมาสร้างใหม่ที่บริเวณเชิงดอย และในราวปี พ.ศ.1911 แม่น้ำน่านได้เปลี่ยนทิศทางไหล จึงได้ย้ายเมืองอีกครั้งมาตั้งที่บ้านห้วยไค้ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำน่าน ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองน่านปัจจุบัน

- อาณาเขตและการปกครอง
ทิศเหนือและทิศตะวันออก จดสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
ทิศใต้ จดจังหวัดอุตรดิตถ์
ทิศตะวันตก จดจังหวัดแพร่ พะเยา และเชียงราย

- น่าน มีพื้นที่ 11,472,076 ตารางกิโลเมตร หรือ ประมาณ 7 ล้านไร่เศษ แบ่งการปกครองเป็น 14 อำเภอ และ 1 กิ่งอำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอเชียงกลาง อำเภอแม่จริม อำเภอนาน้อย อำเภอปัว อำเภอเวียงสา อำเภอท่าวังผา อำเภอทุ่งช้าง อำเภอบ้านหลวง อำเภอนาหมื่น อำเภอสันติสุข อำเภอบ่อเกลือ อำเภอสองแคว อำเภอเฉลิมพระเกียรติ และกิ่งอำเภอภูเพียง มีจำนวนประชากร 514,688


หมายเลขโทรศัพท์สำคัญ (รหัสทางไกล 054)
สำนักงานจังหวัดน่าน
710-341

สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัด
773-047

ททท. สำนักงานภาคเหนือเขต 2 จ.เชียงราย
(053) 717-433 , 744-674-5

สมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยว
741-619

สถานีตำรวจภูธร อ.เมือง
710-199

สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง
795-009

ตำรวจท่องเที่ยว
1155

ตำรวจทางหลวง ส.ทล.5 จ.พะเยา
(054) 410-945

ตู้ยามร้องกวาง
(054) 597-304

การบินไทย
710-377

ท่าอากาศยานจังหวัด
710-270

รพ.น่าน
710-138

รพ.ทุ่งช้าง
771-572

รพ.เชียงกลาง
771-573

รพ.ปัว
771-004

รพ.ท่าวังผา
771-575

รพ.แม่จริม
771-571

รพ.สันติสุข
710-179

รพ.บ้านหลวง
771-576

รพ.นาหมื่น
771-577

รพ.นาน้อย
771-570

รพ.เวียงสา
771-568-9



จังหวัดน่าน :: สถานที่ท่องเที่ยว อำเภอเมือง

- วัดพญาวัด
ตั้งอยู่ที่บ้านพญาวัด ตำบลดู่ใต้ ตามเส้นทางหลวงหมายเลข 101 ก่อนถึงตัวเมืองน่าน มีทางแยกซ้ายมือ เข้าทางหลวงหมายเลข 1025 เข้าไปประมาณ 300 เมตร วัดพญาวัดนับเป็นปูชนียสถานที่เก่าแก่ และสำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดน่าน เป็นที่ประดิษฐานเจดีย์จามเทวี หรือ พระธาตุวัดพญาวัด ซึ่งเป็นศิลปะผสมระหว่างล้านนาและล้านช้าง ในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปพระเจ้าสายฝน ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้าน และจะมาขอฝนเมื่อเกิดความแห้งแล้งฝนไม่ตกตามฤดูกาล

- วัดพระธาตุเขาน้อย
ตั้งอยู่ที่ตำบลไชยสถาน อยู่ในเส้นทางเดียวกันกับวัดพญาวัด ตรงหลักกิโลเมตรที่ 2 สันนิษฐานว่ามีอายุใกล้เคียงกับพระธาตุแช่แห้ง จากบนยอดเขาจะมองเห็นตัวเมืองน่าน และพระธาตุแช่แห้งได้อย่างชัดเจน

- พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน
อยู่ใกล้กับวัดภูมินทร์ เรียกว่า “หอคำ” เนื่องจากเดิมที่นี่เป็นคุ้มของเจ้าสุริยพงศ์ผริตเดช สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2446 กรมศิลปากรได้รับมอบอาคารหอคำ เพื่อใช้เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจังหวัดน่านเมื่อปี พ.ศ.2517 จัดแสดงโบราณวัตถุ ตลอดจนสิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ศิลปะ โบราณคดี และชาติพันธุ์วิทยาประจำท้องถิ่นไว้อย่างมีระบบ และระเบียบสวยงาม ที่นี่ยังเป็นที่เก็บปูชนียวัตถุคู่เมืองน่าน คือ “งาช้างดำ” ตามประวัติกล่าวว่าได้มาจากเมืองเชียงตุงตั้งแต่ครั้งโบราณ เมื่อเจ้ามหาพรหมสุรธาดาเจ้าผู้ครองนครน่านองค์สุดท้ายถึงแก่พิราลัย เจ้านายบุตรหลานจึงมอบให้เป็นสมบัติของแผ่นดิน พร้อมกับหอคำ ลักษณะของงาช้างดำนี้ เป็นงาปลีเปลือกสีน้ำตาลเข้ม มีความยาว 97 เซนติเมตร วัดโดยรอบ 47 เซนติเมตร หนักประมาณ 18 กิโลกรัม

- เปิดวันพุธ-อาทิตย์ เวลา 09.00-16.00 น. ปิดวันจันทร์ อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ค่าเข้าชม ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างประเทศ 30 บาท รายละเอียดติดต่อ โทร. (054) 710561

- วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร
อยู่ตรงข้ามสำนักงานเทศบาลเมืองน่านเดิมชื่อวัดหลวงกลางเวียง พญาภูเข่ง เป็นผู้ตั้งขึ้น ตามศิลาจารึกหลักที่ 74 ซึ่งถูกค้นพบภายในวัดกล่าวว่า พญาพลเทพฤาชัย เจ้าเมืองน่านได้ปฏิสังขรณ์บูรณะวิหารหลวงเมื่อ พ.ศ. 2091 ในวัดประดิษฐานเจดีย์ช้างค้ำ ซึ่งมีมีรูปช้างโผล่ออกมาครึ่งตัวโดยรอบเจดีย์ เป็นศิลปะสมัยสุโขทัยอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 20 ส่วนที่กุฏิเจ้าอาวาสประดิษฐานพระพุทธรูปปางลีลา คือ พระพุทธนันทบุรีศรีศากยมุนี มีส่วนผสมของทองคำ 65% เป็นศิลปะสุโขทัย

- วัดภูมินทร์
อยู่ใกล้กับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจังหวัดน่าน ตามพงศาวดารของเมืองน่านวัดภูมินทร์สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2139 โดยพระเจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์เจ้าผู้ครองนครน่านได้สร้างขึ้นหลังจากที่ครองนครน่านได้ 6 ปี มีปรากฏในคัมภีร์เมืองเหนือว่า เดิมชื่อ“วัดพรหมมินทร์”แต่ตอนหลังชื่อวัดได้เพี้ยนไปจากเดิมเป็นวัดภูมินทร์ดังกล่าว

- เป็นวัดที่มีลักษณะแปลกกว่าวัดอื่นๆคือ พระอุโบสถและวิหารสร้างเป็นอาคารหลังเดียวกัน เป็นทรงจตุรมุข (กรมศิลปากรได้สันนิษฐานว่าเป็นอุโบสถจตุรมุขหลังแรกของประเทศไทย) นาคสะดุ้งขนาดใหญ่แห่แหนพระอุโบสถเทินไว้กลางลำตัว ตรงใจกลางพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่ 4 องค์ ประทับนั่งบนฐานชุกชี หันพระพักตร์ออกด้านประตูทั้งสี่ทิศ เบื้องพระปฤษฎางค์ชนกัน

- วัดภูมินทร์ได้รับการบูรณะครั้งใหญ่เมื่อปี พ.ศ.2410 โดยพระเจ้าอนันตวรฤทธิเดชเจ้าผู้ครองนครน่าน โปรดให้ซ่อมแซมเป็นครั้งใหญ่แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2418 กรมศิลปากรสันนิษฐานว่าภาพจิตรกรรมฝาผนังที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของวัดนี้คงจะวาดในสมัยที่ซ่อมแซมครั้งใหญ่นี้ สำหรับช่างผู้วาดนั้นไม่ปรากฏประวัติ ทราบแต่ว่าเป็นศิลปกรรมแบบชาวไทยลื้อ

- จิตรกรรมฝาผนังที่นี่เล่าเรื่องชาดก ตำนานพื้นบ้าน และยังบ่งบอกความเป็นอยู่ของชาวน่านในอดีต เช่น การแต่งกายของสตรีที่มักนุ่งซิ่นลายน้ำไหล การทอผ้าด้วยกี่ทอมือ การติดต่อค้าขายกับชาวต่างชาติ นอกจากนี้สิ่งที่น่าชมอีกอย่างหนึ่ง คือ บานประตูรอบพระอุโบสถที่เป็นไม้สักทองขนาดใหญ่หนา 4 นิ้ว แกะสลักลึก 3 ชั้น เป็นลวดลายเครือเถาที่มีทั้งดอกและผลระย้าย้อย รวมทั้งสัตว์นานาชนิด

- วัดสวนตาล
อยู่ที่ถนนมหายศ สร้างขึ้นโดยพระนางปทุมมาวดี เมื่อ พ.ศ.1770 ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปที่สำคัญคือ พระเจ้าทองทิพย์ ซึ่งพระเจ้าติโลกราชแห่งนครเชียงใหม่ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในปี พ.ศ.1993 เป็นพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์องค์ใหญ่ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 10 ฟุต สูง 14 ฟุต 4 นิ้ว มีงานนมัสการและสรงน้ำเป็นประจำทุกปี ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ซึ่งจะมีการเฉลิมฉลองทั้งกลางวันและกลางคืน

- พระธาตุแช่แห้ง
ตั้งอยู่ที่ตำบลม่วงตึ๊ด จากตัวเมืองข้ามสะพานแม่น้ำน่าน ไปตามเส้นทางสายน่าน-แม่จริม หรือทางหลวงหมายเลข 1168 ประมาณ 3 กิโลเมตร เป็นปูชนียสถานที่สำคัญของจังหวัดน่าน มีอายุกว่า 600 ปี ประดิษฐานอยู่ที่วัดแช่แห้ง ตามพงศาวดารเมืองน่านกล่าวว่าพญาการเมืองโปรดให้สร้างขึ้นเพื่อบรรจุพระธาตุที่ได้มาจากเมืองสุโขทัยระหว่างปี พ.ศ. 1897-1901 องค์เจดีย์บุด้วยทองเหลืองหรือทองจังโกลงรักปิดทองตลอดทั้งองค์ มีงานนมัสการพระบรมธาตุเป็นประจำทุกปีระหว่างวันขึ้น 11 ค่ำ ถึง 15 ค่ำ เดือน 6 ทางเหนือ โดยนับทางจันทรคติซึ่งจะอยู่ในราวปลายเดือนกุมภาพันธ์หรือประมาณเดือนมีนาคมทุกปี

- วนอุทยานถ้ำผาตูบ
อยู่ที่ตำบลผาสิงห์ ห่างจากตัวจังหวัด 12 กิโลเมตร บนเส้นทางหลวงหมายเลข 1080 น่าน-ปัว-ทุ่งช้าง ตรงหลักกิโลเมตรที่ 9-10 การเดินทางมีความสะดวกทุกฤดูกาล มีถ้ำสำคัญที่ควรชมอยู่ 2 ถ้ำ คือ ถ้ำพระและถ้ำบ่อน้ำทิพย์ มีหินงอก หินย้อย ชะง่อนผา และพันธุ์ไม้ต่างๆ จัดเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ


:: อุทยานแห่งชาติศรีน่าน ::

:: ข้อมูลทั่วไป ::
อุทยานแห่งชาติศรีน่านมีพื้นที่ครอบคลุมในท้องที่อำเภอนาหมื่น อำเภอนาน้อย อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน ครอบคลุมพื้นที่ตามแนวสองฟากฝั่งลำน้ำน่าน จนไปสิ้นสุดที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ สภาพป่าเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ เทือกเขาสูงสลับซับซ้อน วางตัวในแนวทิศเหนือ-ใต้ เป็นป่าต้นน้ำลำธาร ที่สำคัญของแม่น้ำน่าน ซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่สำคัญของประชาชนในจังหวัดน่าน มีพันธุ์ไม้ที่สำคัญหลายอย่าง และเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า มีจุดเด่นทางธรรมชาติ ที่มีทิวทัศน์ที่สวยงามได้แก่ เสาดินและคอกเสือ ปากนาย แก่งหลวง จุดชมทิวทัศน์ดอยผาชู้ ทิวทัศน์ทั้งสองฝั่งแม่น้ำน่าน จุดชมวิวดอยเสมอดาวและผาหัวสิงห์ มีพื้นที่ประมาณ 583,750 ไร่ หรือ 934 ตารางกิโลเมตร

- ในปี 2535 ได้มีคำสั่งกรมป่าไม้ที่ 475/2532 ลงวันที่ 23 มีนาคม 2532 ให้นายสมบัติ เวียงคำ เจ้าพนักงานป่าไม้ 4 อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว ปฏิบัติงานประจำอุทยานแห่งชาติเวียงโกศัย ไปดำเนินการสำรวจเบื้องต้นป่าสงวนแห่งชาติป่าน้ำว้าและป่าห้วยสาลี่ ป่าสาลีก ป่าน้ำสา และป่าแม่สาครฝั่งซ้าย ป่าห้วยแม่ขะนิง และป่าน้ำสาฝั่งขวาตอนบน ท้องที่อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน ซึ่งมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 435 ตารางกิโลเมตร หรือ 271,875 ไร่ และได้มีคำสั่งที่ 1627/2532 ลงวันที่ 19 ตุลาคม 2532 ให้สำรวจพื้นที่ดังกล่าวเพิ่มเติม เพื่อจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ และได้ใช้ชื่ออุทยานแห่งชาติแห่งนี้ตามชื่อป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งเป็นป่าต้นน้ำลำธารและประชาชนโดยทั่วไปรู้จักกันว่า “อุทยานแห่งชาติแม่สาคร” และใช้อักษรย่อว่า ที่ กษ 0713 (มสค) /..ตามหนังสือกองอุทยานแห่งชาติ ที่ กษ 0713/674 ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2533

- กรมป่าไม้ได้มีคำสั่ง ที่ 1627/2532 ลงวันที่ 19 ตุลาคม 2532 ให้ นายสมบัติ เวียงคำ ไปสำรวจเพิ่มเติมพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าน้ำสา-ป่าแม่สาครฝั่งซ้าย ป่าห้วยแม่ขนิงและป่าน้ำสาฝั่งขวาตอนบน ท้องที่อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน เพื่อประกาศกำหนดให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ตามนัยมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ต่อมาอุทยานแห่งชาติแม่สาครได้มีหนังสือ ที่ กษ 0713(มสค)/33 ลงวันที่ 14 มิถุนายน 2534 ว่า เห็นสมควรได้สำรวจเพิ่มเติมจากพื้นที่เดิมคือ ป่าสงวนแห่งชาติป่าฝั่งขวาแม่น้ำน่านตอนใต้ ป่าสงวนแห่งชาติป่าห้วยงวงและป่าห้วยสาลี และป่าสงวนแห่งชาติป่าน้ำว้าและป่าห้วยสาลี่ ท้องที่อำเภอเวียงสา อำเภอนาน้อย และอำเภอนาหมื่น จังหวัดน่าน เพื่อจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ

- กองอุทยานแห่งชาติได้มีหนังสือ ที่ กษ 0713.2/1568 ลงวันที่ 26 สิงหาคม 2534 อนุมัติให้ทำการสำรวจเพิ่มเติมพื้นที่ป่าดังกล่าว พร้อมทั้งมีหนังสือจังหวัดน่าน ที่ นน 0009/5857 ลงวันที่ 19 เมษายน 2536 สนับสนุนให้จัดตั้งพื้นที่ดังกล่าวเป็นอุทยานแห่งชาติ ต่อมา นายผ่อง เล่งอี้ อธิบดีกรมป่าไม้ ได้อนุมัติให้จัดตั้งอุทยานแห่งชาติศรีน่าน ตามหนังสือส่วนอุทยานแห่งชาติ ที่ กษ 0712.03/47 ลงวันที่ 12 มกราคม 2537 เรื่อง การจัดตั้งอุทยานแห่งชาติศรีน่าน ซึ่งพื้นที่ที่ทำการสำรวจเพิ่มมีเนื้อที่ประมาณ 934 ตารางกิโลเมตร หรือ 583,750 ไร่ โดยให้กันพื้นที่ที่ราษฎรที่ได้ยึดถือครอบครองเป็นหมู่บ้านใหญ่ออกจากเขตอุทยานแห่งชาติศรีน่าน เนื่องจากมีการสำรวจเพิ่มเติมและได้ย้ายที่ทำการอุทยานแห่งชาติใหม่ ทำให้เกิดความสับสนในการเรียกขานติดต่อประสานงานกับหน่วยงานราชการอื่น จึงได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นอุทยานแห่งชาติศรีน่าน ตามหนังสือส่วนอุทยานแห่งชาติ ที่ กษ 0712.3/47 ลงวันที่ 12 มกราคม 2537

- สถานภาพปัจจุบัน ได้ผ่านคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติแล้ว ในการประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2537 วันที่ 20 เมษายน พ.ศ.2537 อยู่ระหว่างนำเสนอคณะรัฐมนตรี

:: ลักษณะภูมิประเทศ ::
ลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน แนวเขาวางตัวในทิศเหนือ-ใต้เทือกเขาที่สำคัญคือ ดอยแปรเมือง ดอยขุนห้วยฮึก ขุนห้วยหญ้าไทร และดอยหลวง มียอดเขาขุนห้วยฮึก ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของพื้นที่สูงที่สุด มีความสูง 1,234 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง เป็นป่าต้นน้ำลำธารของแม่น้ำน่านทั้งสิ้น ส่วนใหญ่ไหลจากทิศเหนือไปสู่ทิศใต้ แหล่งน้ำที่พบเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติ มีลำห้วยลำธารที่สำคัญคือ แม่น้ำขะนิง แม่น้ำสา นอกจากลำน้ำสองสายแล้วยังมีลำห้วยเล็กๆ อีกหลายสาย


:: ลักษณะภูมิอากาศ ::
ลักษณะภูมิอากาศแบ่งออกเป็นสามฤดู คือ ฤดูร้อน อากาศจะร้อนพอประมาณ เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน ฤดูฝน ฝนจะตกปานกลางถึงหนัก เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม ฤดูหนาว อากาศจะหนาวจัด เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม ลักษณะท้องฟ้ามีเมฆมากในฤดูฝนช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน และมีเมฆน้อยมากในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม อุณหภูมิโดยเฉลี่ยประมาณ 24 องศาเซลเซียส


:: พรรณไม้และสัตว์ป่า ::
เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน ประเภทป่าแบ่งออก เป็น 2 ประเภทใหญ่ คือ ป่าไม่ผลัดใบ ได้แก่ ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา ป่าสนเขา พันธุ์ไม้ที่พบคือ กระบาก ตะเคียน ยาง ประดู่ มะค่าโมง ยมหอม ตะแบก ชิงชัน เหียง พลวงตะเคียนหนู พวกไม้ก่อต่างๆ พลับพลา หมีเหม็น สนสองใบ สนสามใบ เป็นต้น ป่าผลัดใบ ได้แก่ ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง พันธุ์ไม้ที่พบคือ สัก แดง ประดู่ ชิงชัน ขะเจ๊าะ สาธร มะค่าโมง ตะแบก ตีนนก โมกหลวง เต็ง รัง เหียง พลวง ตะคร้อ มะม่วงป่า กว้าว รกฟ้า มะกอก ไผ่ชนิดต่างๆ เป็นต้น

สัตว์ป่าที่พบส่วนใหญ่คือ กระทิง วัวแดง กวางป่า หมูป่า หมี เสือโคร่ง เสือดาว ชะนี ลิงลม หมาไน หมาจิ้งจอก กระจง อีเห็น เสือป่า กระต่ายป่า กระแต กระรอก หมาจิ้งจอก นกนานาชนิด ที่สำคัญ คือ นกยูงไทย สัตว์เลื้อยคลานชนิดต่างๆ สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ซึ่งจะพบตามแหล่งน้ำธรรมชาติ

:: ที่ตั้งและการเดินทาง ::
อุทยานแห่งชาติศรีน่าน
ตู้ ปณ.14 อ. นาน้อย จ. น่าน 55150
โทรศัพท์ : 0 5470 1106 โทรสาร : 0 5470 1106

- รถยนต์
จากกรุงเทพฯ ผ่านนครสวรรค์ พิษณุโลกถึงแพร่ จากแพร่ตามถนนยันตรกิจโกศล ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 101 ไปถึงอำเภอเวียงสา เลี้ยวขวาไปตามถนนเจ้าฟ้า ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1026 จากอำเภอ เวียงสาไปอำเภอนาน้อย ระยะทางประมาณ 35 กม. แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าตามถนนสายนาน้อย -ปางไฮ ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1083 ไปอีกประมาณ 5 กิโลเมตร จะถึงเสาดิน และถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติ


:: แหล่งท่องเที่ยว :: ด้านธรรมชาติที่สวยงาม ::
เสาดินนาน้อยและคอกเสือ เสาดินนาน้อย เกิดจากการกัดเซาะพังทะลายของดินเป็นบริเวณกว้างกว่า 20 ไร่ ลักษณะคล้ายแพะเมืองผีของจังหวัดแพร่ แต่มีความสวยกว่า และจะมีการพังทลายของดินเปลี่ยนแปลงรูปไปทุก ๆ ปี ผลกระทบต่อระบบนิเวศ คือ ตะกอนดินจะไหลลงสู่แม่น้ำลำธาร ทำให้เกิดการตื้นเขินได้ เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2538 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จนำคณะอาจารย์และนักเรียนโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า เพื่อทัศนศึกษาลักษณะภูมิประเทศ ธรณีวิทยา โบราณวัตถุที่ค้นพบบริเวณเสาดินนาน้อย

- คอกเสือ อยู่ห่างจากเสาดินนาน้อยประมาณ 300 เมตร มีลักษณะเป็นหลุมลึก ในสมัยก่อนชาวบ้านเล่าว่า “ ในบริเวณนี้มีเสืออาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก และจะมาขโมยเอาวัว ควาย และหมูของชาวบ้านที่เลี้ยงไว้กินเป็นอาหาร ชาวบ้านจึงรวมกำลังไล่ต้อนเสือให้ตกลงไปในบ่อดินดังกล่าว แล้วใช้ก้อนหิน และไม้แหลมขว้าง และทิ่มแทงเสือจนตาย เขาจึงเรียกบริเวณนี้ว่า "คอกเสือ"

- เสาดินนาน้อยและคอกเสือ ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลเชียงของ อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน อยู่ทางด้านทิศตะวันตกของอุทยานแห่งชาติศรีน่าน มีระยะทางห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ประมาณ 24 กิโลเมตร การเดินทางจากอำเภอนาน้อยใช้ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1083 ไปประมาณ 3 กิโลเมตร มีทางแยกเข้าไปอีก 2 กิโลเมตร

- ปากนาย เกิดจากสภาพป่าที่ถูกน้ำเหนือเขื่อนสิริกิติ์ท่วมถึง เป็นแหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดของจังหวัดน่าน มีวิวทิวทัศน์ที่สวยงาม สามารถนั่งเรือชมธรรมชาติ มีเรือนแพของชาวประมง ไว้บริการนักท่องเที่ยว ที่เข้าไปชมและพักค้างแรม

- ปากนายตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลนาทะนุง อำเภอนาหมื่น จังหวัดน่าน ห่างจากตัวอำเภอ 27 กิโลเมตร ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ประมาณ 63 กิโลเมตร เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของจังหวัดน่าน มีเส้นทางข้ามไปจังหวัดอุตรดิตถ์ได้จึงมีนักท่องเที่ยวเดินทางผ่านเพื่อแวะชมและพักค้างคืนเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากต่างจังหวัดและจังหวัดใกล้เคียง

- แก่งหลวงน้ำน่าน เกิดจากแนวหินน้อยใหญ่ที่กระจัดกระจายอยู่ในแม่น้ำน่านรวมทั้งโขดหินและหน้าผา ยามหน้าน้ำจะมีเสียงน้ำไหลกระทบโขดหินดังกึกก้อง ยามหน้าแล้งจะมองเห็นแนวหิน โขดหินที่มีรูปร่างทรงหลากหลายอย่างสวยงาม จุดเด่นที่น่าสนใจ แนวหินน้อยใหญ่ที่กระจัดกระจายอยู่ในแม่น้ำน่าน รวมทั้งโขดหินและหน้าผา ยามหน้าน้ำจะมีเสียงน้ำไหลกระทบโขดหินดังกึกก้อง ยามหน้าแล้งจะมองเห็นแนวหิน โขดหินที่มีรูปร่างทรงหลากหลายอย่างสวยงามและหาดทรายที่ขาวสะอาดเป็นบริเวณกว้าง เหมาะสำหรับการมาท่องเที่ยวพักผ่อนและเล่นน้ำ แก่งหลวงอยู่ริมทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1083 ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติประมาณ 14 กิโลเมตร


- ดอยผาชู้ ดอยผาชู้ เป็นที่ตั้งของที่ทำการอุทยานแห่งชาติศรีน่าน มีลักษณะเป็นโขดหินและหน้าผาขนาดใหญ่ ตั้งตระหง่านอยู่ท่ามกลางขุนเขาที่เขียวขจีหลายแสนไร่ สามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ และสายน้ำของแม่น้ำน่าน ทอดตัวไหลคดเคี้ยวสู่ทิศใต้ ยาวหลายสิบกิโลเมตร ยามหน้าหนาว จะมีทะเลหมอกสีขาว ตัดกับความเขียวขจีของป่า และแสงสีทองของดวงอาทิตย์ขึ้นยามเช้าอย่างสวยงามมาก และเป็นสถานที่เกิดตำนานรักสามเส้า ที่ตัดสินความรักด้วยความตาย

- จุดเด่นที่น่าสนใจ
ยอดผาชู้ เป็นสถานที่ตั้งสายธงชาติที่ยาวที่สุดในประเทศไทย ต้องร้องเพลงชาติ 12 จบ กว่าจะเชิญธงชาติขึ้นสู่ยอดเสา มีความยาวของสายธงชาติประมาณ 200 เมตร จากพื้นถึงยอดผาชู้

- จุดชมวิว เป็นบริเวณกว้างอยู่ด้านหน้าของผาชู้ สามารถชมพระอาทิตย์ขึ้นและทะเลหมอกในยามเช้า มองเห็นแม่น้ำน่านที่ไหลทอดตัวผ่านใจกลางอุทยานแห่งชาติ เป็นระยะทางกว่า 20 กิโลเมตร

- สวนหิน ที่เกิดจากธรรมชาติที่มีการจัดวางตัวอย่างสวยงาม

- ทิวทัศน์ทั้งสองฝั่งแม่น้ำน่าน แม่น้ำน่าน ซึ่งทอดตัวผ่านกลางพื้นที่อุทยานฯ ตั้งแต่เหนือสุดถึงใต้สุดยาวกว่า 60 กิโลเมตร สามารถล่องเรือ ล่องแพ ชมธรรมชาติสองฝั่งแม่น้ำน่าน จะเห็นทิวทัศน์ เกาะแก่ง โขดหิน หาดทราย หน้าผา สภาพป่าที่เขียวขจีและสัตว์ป่านานาชนิดต่าง ๆ มากมาย มีจุดเด่นที่น่าสนใจ ผาง่าม เป็นหน้าผาขนาดใหญ่ ตั้งโดดเด่นอยู่กลางป่าเขาที่เขียวขจี ผาขวาง เป็นหน้าผาขนาดใหญ่ ตั้งขวางอยู่กลางแม่น้ำน่าน สภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ สองฝั่งแม่น้ำน่าน ที่เหมาะสมสำหรับการศึกษาเกี่ยวกับระบบธรรมชาติวิทยา


- ดอยเสมอดาว และผาหัวสิงห์ ดอยเสมอดาว บริเวณจุดชมวิวอีกจุดหนึ่งของอุทยานแห่งชาติศรีน่าน มีพื้นที่เป็นลานกว้างตามสันเขา เหมาะสำหรับการพักผ่อน ดูดาว ดูพระอาทิตย์ขึ้นและตกดินในบริเวณเดียวกัน จุดนี้มีชื่อว่า “ดอยเสมอดาว”

- ผาหัวสิงห์ เป็นหน้าผามีรูปร่างเหมือนสิงโตนอนหมอบหันหน้าไปทางทิศตะวันออกสามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ได้ 360 องศา ทิศเหนือมองเห็นตัวอำเภอเวียงสา ทิศใต้ มองเห็นทิวเขาเป็นแนวยาว ทิศตะวันออกมองเห็นผาชู้ แม่น้ำน่าน ทิศตะวันตก มองเห็นตัวอำเภอนาน้อยเกือบทั้งหมด และเป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกที่สวยงามอีกจุดหนึ่ง

:: สิ่งอำนวยความสะดวก ::
ห้องสุขาชาย มีห้องสุขาชายไว้บริการ

ห้องสุขาหญิง มีห้องสุขาหญิงไว้บริการ

สถานที่กางเต็นท์/เต็นท์ มีพื้นที่กางเต็นท์ พร้อมห้องน้ำ-ห้องสุขารวม ไว้ให้บริการ ท่านสามารถนำเต็นท์มากางเอง หรือติดต่อขอใช้บริการเต็นท์ของอุทยานแห่งชาติ ซึ่งมีค่าบริการอยู่หลายอัตราขึ้นอยู่กับชนิด ขนาดของเต็นท์ และอุปกรณ์ประกอบอื่นๆ รายละเอียดเกี่ยวกับที่พักเต็นท์ ขอให้ติดต่อสอบถามกับอุทยานแห่งชาติโดยตรง

- ที่จอดรถ มีที่จอดรถให้บริการแก่นักท่องเที่ยว


- บริการอาหาร มีร้านอาหารไว้บริการนักท่องเที่ยว


- ระบบสาธารณูปโภค มีไฟฟ้าให้แสดงสว่างตามถนนทางเดิน สถานที่กางเต้นท์ ค่ายเยาวชน และพื้นที่ในส่วนบริการ มีโทรศัพท์สาธารณะ และน้ำอุปโภคและบริโภค เป็นน้ำตามธรรมชาติที่มีใช้ตลอดทั้งปี



:: อุทยานแห่งชาตินันทบุรี ::

:: ข้อมูลทั่วไป ::
อุทยานแห่งชาตินันทบุรีมีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอท่าวังผา อำเภอเมือง อำเภอบ้านหลวง จังหวัดน่าน มีสภาพป่า ทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ มีความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร มีจุดเด่นทางธรรมชาติ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวหลายแห่ง เนื้อที่ประมาณ 548 ,125 ไร่ หรือ 877 ตารางกิโลเมตร พื้นที่แห่งนี้เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญแห่งหนึ่งในอดีต เคยอยู่ภายใต้อิทธิพลของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย มีการต่อสู้ระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐกับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ (ผกค.) อย่างรุนแรง เกิดความเสียหายทั้งชีวิต และทรัพย์สินอย่างมากมาย ดังปรากฏในสมรภูมิรบที่ลื่อลั่นในอดีตภายใต้ชื่อว่า “ยุทธภูมิที่ดอยผาจิ”

ในปี พ.ศ. 2537 สำนักงานป่าไม้จังหวัดน่าน ได้มีหนังสือถึงกรมป่าไม้ โดยได้เล็งเห็นถึงความสำคัญ ของคุณค่าทรัพยากรป่าไม้ และสัตว์ป่าที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าผืนนี้ จึงมีการเสนอให้มีการสำรวจ และจัดตั้งเป็นป่าอนุรักษ์ในรูปของอุทยานแห่งชาติ

กรมป่าไม้จึงได้มีคำสั่งที่ 1657/2539 ลงวันที่ 5 กันยายน 2539 ให้นายจักรกฤษ เสรีนนท์ชัย เจ้าพนักงานป่าไม้ 5 ส่วนอุทยานแห่งชาติ ไปดำเนินการสำรวจข้อมูลรายละเอียดพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าน้ำยาว-น้ำสวด ป่าสงวนแห่งชาติป่าถ้ำผาตูบ และบริเวณพื้นที่ป่าใกล้เคียง เพื่อพิจารณาความเหมาะสม ในการจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ

ผลการสำรวจพบว่า พื้นที่ส่วนหนึ่งของป่าสงวนแห่งชาติป่าน้ำยาว-น้ำสวด ในท้องที่ตำบลตาลชุม ตำบลศรีภูมิ ตำบลแสนทอง ตำบลผาทอง ตำบลป่าคา อำเภอท่าวังผา ตำบลบ่อ ตำบลเรือง ตำบลสะเนียน ตำบลสวก ตำบลถืมตอง ตำบลไชยสถาน ตำบลผาสิงห์ อำเภอเมือง และตำบลบ้านพี้ ตำบลป่าคาหลวง ตำบลบ้านฟ้า ตำบลสวด อำเภอบ้านหลวง จังหวัดน่าน มีศักยภาพที่เหมาะสมที่จะจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ เนื้อที่ประมาณ 548,125 ไร่ พื้นที่ประกอบด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์มีความหลากหลาย ทางชีวภาพ เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร มีจุดเด่นทางธรรมชาติซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวหลายแห่ง

:: ลักษณะภูมิประเทศ ::
อุทยานแห่งชาตินันทบุรีมีอาณาเขต ทิศเหนือจดเขตอำเภอสองแคว จังหวัดน่าน และเขตอำเภอปง จังหวัดพะเยา ทิศใต้จดเขตอำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน ทิศตะวันออกจดทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1080 ( น่าน-ทุ่งช้าง) ทิศตะวันตกจดเขตอำเภอเชียงม่วง จังหวัดพะเยา เขตพื้นที่สำรวจจัดตั้งอุทยานแห่งชาติ ดอยภูนาง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาช้าง จังหวัดพะเยา ลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูง สลับซับซ้อนวางตัวในแนวเหนือใต้ อยู่ทางทิศตะวันตกของจังหวัดน่าน จนไปจดประเทศลาว ระดับความสูงของพื้นที่ประมาณ 300-1,674 เมตรจากระดับน้ำทะเล ความลาดชันของพื้นที่โดยเฉลี่ยประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ ยอดเขาที่สูงที่สุดคือ “ยอดดอยวาว” ความสูง 1,674 เมตรจากระดับน้ำทะเล ลักษณะของหิน ส่วนใหญ่เป็นหินที่เกิดในมหายุค Mesozoic Paleozoic และ Neozoic ซึ่งส่วนใหญ่คือ หินตะกอน มีอายุอยู่ในหลายช่วงอายุด้วยกัน นอกจากนี้เป็นหินภูเขาไฟ และหินก่อนหินภูเขาไฟบ้างประปรายกระจายในพื้นที่ เป็นแหล่งต้นน้ำของลำห้วยหลายสาย ซึ่งเป็นลำห้วยที่คอยหล่อเลี้ยงลำน้ำน่าน และลำน้ำยม ได้แก่ ลำน้ำสมุน ลำน้ำสะเนียน ลำน้ำวาว ลำน้ำยาว ลำน้ำพี้ ลำน้ำตึม ลำน้ำสีพัน ลำน้ำไสล ลำน้ำระพี และลำน้ำคาง เป็นต้น


:: ลักษณะภูมิอากาศ ::
เป็นแบบมรสุมเขตร้อน โดยได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ในช่วงฤดูฝนและมรสุม ตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงฤดูหนาว แบ่งออกเป็น 3 ฤดู คือ ฤดูร้อน ตั้งแต่เดือนมีนาคม-พฤษภาคม ฤดูฝน ตั้งแต่เดือนมิถุนายน-ตุลาคม และฤดูหนาว ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ อุณหภูมิเฉลี่ยต่อปีต่ำสุดประมาณ 8 องศาเซสเซียล สูงสุดประมาณ 41 องศาเซสเซียล ประมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่อปีประมาณ 1,198 มิลลิเมตร


:: พรรณไม้และสัตว์ป่า ::
ลักษณะทั่วไปของพื้นที่ปกคลุมด้วย ป่าเบญจพรรณทางด้านตะวันตก และป่าดิบแล้งทางด้านตะวันตกและเหนือ มีป่าดิบเขาอยู่บ้างตามยอดเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 900 เมตร นอกจากนั้นยังมีป่าเต็งรัง ป่าเขาหินปูน และทุ่งหญ้า ชนิดพันธุ์ไม้และพืชพื้นล่างที่พบในแต่ละชนิดป่าได้แก่ ป่าเบญจพรรณ เช่น สัก มะค่าโมง ซ้อ สมอพิเภก ตะเคียนหนู ไผ่ซาง ไผ่บง ไผ่ไร่ และไผ่ข้าวหลาม ป่าดิบแล้ง เช่น ยางแดง ตะเคียนหิน ตะเคียนทอง คอแลน มะม่วงป่า เก็ดดำ จอแจ หมามุ่ย หวายขม และเครือออน ป่าดิบเขา เช่น ทะโล้ พญาไม้ กำลังเสือโคร่ง ก่อแดง กฤษณา กุหลาบขาว เมี่ยงหลวง โคลงเคลงขน กุหลาบหิน และกระชาย ป่าเต็งรัง เช่น เต็ง รัง เหียง พลวง ไผ่เพ็ก เป้ง เปราะป่า และส้มกั้ง บริเวณ ทุ่งหญ้า พบประดู่ สีเสียดเหนือ มะสัง หญ้าคา และหญ้าปากควาย ในบริเวณที่เป็น แหล่งน้ำ พบแพงพวยน้ำ สาหร่ายหางกระรอก หญ้าแห้วหมู จอกหูหนู และไข่น้ำ เป็นต้น

ชนิดของสัตว์ป่าที่พบในอุทยานแห่งชาตินันทบุรี ได้แก่ เก้ง หมาไม้ ลิงกัง ลิงวอก อีเห็นข้างหลาย อ้นเล็ก ลิ่น บ่าง กระต่ายป่า กระรอกปลายหางดำ ค้างคาวลูกหนูถ้ำ หนูผีนา เหยี่ยวนกเขาหงอน นกเปล้าหน้าเหลือง นกขมิ้นท้ายทอยดำ นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้า นกปรอดเหลืองหัวจุก นกแซงแซวหงอนขน นกขุนทอง เต่าเหลือง เต่าปูลู ตะกวด แย้ งูหลาม งูสิง จิ้งเหลนหางยาว กิ้งก่าบินคอแดง ปาดแคระขาเขียว อึ่งปากขวด กบทูด เขียดจะนา คางคกหัวราบ ผีเสื้อสะพายฟ้า ผีเสื้อถุงทองป่าสูง และผีเสื้อหางตุ้มจุดชมพู เป็นต้น สำหรับในบริเวณที่เป็นแหล่งน้ำพบสัตว์น้ำชนิดต่างๆ ได้แก่ ปลาซิวหนวดยาว ปลาตะเพียนขาว ปลาไหลนา ปลาดุกอุย ปลาหมอตาล หอยกาบน้ำจืด หอยขม หอยโข่ง และกุ้งฝอยใน เป็นต้น


:: ที่ตั้งและการเดินทาง ::
อุทยานแห่งชาตินันทบุรี
ตู้ ปณ. 3 อ. ท่าวังผา จ. น่าน 55140
โทรศัพท์ : 08 1948 5990

- รถยนต์
การเดินทางจากตัวเมืองน่าน ใช้ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1080 สายน่าน-ทุ่งช้าง ไปยังอำเภอท่าวังผา แล้วไปตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1148 สายท่าวังผา-สองแคว ประมาณ 1.5 กิโลเมตร แยกไปตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1082 สายนาหนุน-สบขุ่น ถึงหลักกิโลเมตรที่ 27 แยกขวามือเข้าไปอีกประมาณ 500 เมตร ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติ


:: แหล่งท่องเที่ยว :: ด้านธรรมชาติที่สวยงาม ::

- น้ำตกสันติสุข เป็นน้ำตกขนาดเล็ก-ขนาดกลาง มีน้ำไหลตลอดทั้งปี มีความสูงประมาณ 5 ชั้น ชั้นสูงสุดประมาณ 10 เมตร ตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลแสนทอง อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน


- น้ำตกสองแคว เป็นน้ำตกขนาดเล็ก แต่ตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าดิบแล้งที่มีความอุดมสมบูรณ์ บรรยากาศโดยรอบน้ำตกร่มรื่นมาก น้ำตกตั้งอยู่ในท้องที่บ้านสองแคว ตำบลสะเนียน อำเภอเมือง จังหวัดน่าน


- น้ำตกห้วยพริก เป็นน้ำตกขนาดเล็ก-กลาง มีน้ำไหลตลอดทั้งปี มีความสูงประมาณ 4 ชั้น มีโตรกธาร โขดหินและเพิงพา มีความสวยงาม ตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลบ้านพี้ อำเภอบ้านหลวง จังหวัดน่าน


- น้ำตกตาดฟ้าร้อง ตำบลแสนทอง อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน ประกอบด้วยน้ำตกชั้นใหญ่ จำนวน 3 ชั้น มีน้ำไหลตลอดปี เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร จากเทือกเขาดอยวาวอยู่ห่างจากบริเวณบ่อน้ำพุร้อนประมาณ 4 กิโลเมตร อยู่ที่บ้านน้ำกิ อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน


- น้ำตกดอยหมอก เป็นน้ำตกขนาดเล็ก มีน้ำไหลตลอดทั้งปี มีความสวยงามและเหมาะสำหรับเป็นที่พักผ่อน เล่นน้ำ ตั้งอยู่ที่ตำบลเรือง อำเภอเมือง จังหวัดน่าน


- บ่อน้ำพุร้อนบ้านน้ำกิ ตั้งอยู่ที่บ้านน้ำกิ ตำบลผาทอง อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน มีความร้อน ประมาณ 80 องศาเซลเซียส มีศักยภาพเพียงพอที่จะพัฒนาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำหรับอาบน้ำแร่ในอนาคต


- ถิ่นที่อยู่อาศัยของชนเผ่าผีตองเหลือง ประกอบด้วยพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของป่า ที่ชนเผ่าตองเหลือง (มาบลี) ใช้เป็นสถานที่ในการดำรงชีพและใช้ชีวิตป่าเร่ร่อนไปมา อยู่ท้องที่อำเภอบ้านหลวง และอำเภอท่าวังผา ชนเผ่าตองเหลืองกลุ่มนี้ ดำรงชีวิตแบบดั้งเดิม โดยมิได้รบกวนต่อการทำลายทรัพยากรป่าไม้ เพราะมิได้ทำการเพาะปลูกอาศัยแต่เพียงหัวเผือก หัวมัน และน้ำผึ้ง ที่อยู่อาศัยของชนเผ่าตองเหลือง มักทำจากวัสดุที่หาได้ง่าย ส่วนหนึ่งคือใบตองกล้วย กล่าวกันว่า เมื่อใบตองที่มุงเป็นเพิงพักเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ชนเผ่าตองเหลืองก็จะทำการเคลื่อนย้ายไปดำรงชีวิตในที่ใหม่


- เส้นทางยุทธศาสตร์และถ้ำดอยผาจิ เป็นเส้นทางและฐานบัญชาการในการต่อสู้ตามความขัดแย้งลัทธิทางการเมืองในอดีตของ “ยุทธภูมิดอยผาจิ” สามารถพัฒนาเป็นเส้นทางเพื่อการท่องเที่ยวได้ในอนาคต


- เทือกเขาหินปูน ถ้ำผาตูบ และหนองน้ำน่าน เป็นเทือกเขาหินปูนที่ประกอบด้วยถ้ำต่างๆ ที่มีความสวยงาม ประกอบด้วยพันธุ์พืชเขาหินปูนและพันธุ์พืชที่ลุ่มต่ำที่หายาก ตั้งอยู่ที่ตำบลผาสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดน่าน


- ดอยผาจิและดอยผาช้าง จุดชมทิวทัศน์ตั้งอยู่บนสันดอยติ้วในบริเวณเดียวกับที่ตั้งของที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ทิวทัศน์ในยามเย็นจะมองเห็นดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าท่ามกลางขุนเขาสลับซับซ้อน และยามเช้าในช่วงฤดูหนาว จะปรากฏทะเลหมอกปกคลุมไปทั่วบริเวณ การเดินทางจากอำเภอท่าวังผา ใช้ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1082 สายท่าวังผา-สบขุ่น ไปประมาณ 27 กิโลเมตร มีทางแยกขวามือเข้าไปประมาณ 500 เมตร จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติ


- ยอดดอยวาว เป็นยอดดอยที่มีสูง 1,674 เมตร จากระดับน้ำทะเล นับเป็นจุดสูงสุดของอุทยานแห่งชาตินันทบุรี ยอดดอยวาว อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติไปอีกราว 4 กิโลเมตร สามารถเดินทางด้วยรถยนต์ไปถึงหน่วยจัดการต้นน้ำน้ำคาง แล้วเดินเท้าขึ้นสู่ยอดดอย ตลอดเส้นทางเป็นป่าดิบเขาที่อุดมสมบูรณ์ เป็นถิ่นอาศัยของนกบนที่สูงนานาชนิด เช่น นกมุ่นรกตาแดง นกหางรำหางยาว นกติ๊ดแก้มเหลือง นกเสือแมลงปีกแดง นกระวังไพรปากแดงยาว ฯลฯ ที่นี่จึงเหมาะสำหรับการเดินดูนกและศึกษาธรรมชาติ โดยเฉพาะช่วงฤดูหนาว จะมีนกย้ายถิ่นเข้ามาจำนวนมาก ซึ่งหลายชนิดเป็นนกหายาก โดยเฉพาะพวกนกจับแมลงและนกเดินดง เช่น นกจับแมลงแถบคอสีส้ม นกจับแมลงหลังสีเทา นกเดินดงอกดำ นกเดินดงลายเสือ ฯลฯ


- โบราณสถานภู่เขาเขียว เป็นเจดีย์ทรงโบราณ ตั้งอยุ่บนยอดเขาในท้องที่ตำบลบ้านพี้ อำเภอบ้านหลวง จังหวัดน่าน


- อ่างเก็บน้ำห้วยสีพัน เป็นอ่างเก็บน้ำที่มีทัศนียภาพที่สวยงาม เหมาะแก่การพักผ่อนหย่อนใจ ตั้งอยู่ในท้องที่อำเภอบ้านหลวง จังหวัดน่าน



:: สิ่งอำนวยความสะดวก ::
สถานที่กางเต็นท์/เต็นท์ อุทยานแห่งชาติ ยังไม่ที่พัก-บริการไว้บริการนักท่องเที่ยว มีแต่สถานที่กางเต็นท์ให้บริการนักท่องเที่ยว เนื่องจากเป็นอุทยานแห่งชาติจัดตั้งใหม่ หากสนใจที่จะเดินทางไปท่องเที่ยวที่อุทยานแห่งชาติ นักท่องเที่ยวต้องจัดเตรียมเต็นท์และอาหารไปเอง




จังหวัดน่าน :: การเดินทาง

- รถยนต์

จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 32 มาจนถึงจังหวัดนครสวรรค์ จากนั้นใช้เส้นทาง 117 มาจนถึงจังหวัดพิษณุโลกและใช้เส้นทางหมายเลข 11 โดยจะผ่านจังหวัดอุตรดิตถ์ และอำเภอเด่นชัย (จังหวัดแพร่) จากเด่นชัยใช้ทางหลวงหมายเลข 101 ผ่านจังหวัดแพร่ไปจนถึงตัวจังหวัดน่าน รวมระยะทางประมาณ 668 กิโลเมตร

- รถโดยสาร

สถานีขนส่งสายเหนือ ถนนกำแพงเพชร 2 (หมอชิต 2) มีรถโดยสารประจำทางทั้งรถโดยสารธรรมดา และรถโดยสารปรับอากาศไปจังหวัดน่านทุกวัน ติดต่อ บริษัท ขนส่ง จำกัด โทร. 537-8055 และมีบริษัทเอกชนหลายแห่งที่บริการเดินรถไปจังหวัดน่าน ติดต่อ แพร่ทัวร์ โทร. 245-2369, 245-1697 และ 936-3720 สมบัติทัวร์ โทร. 936-2495-6 และ (054) 710122 เชิดชัยทัวร์ โทร.(054) 710362

- รถไฟ

จากสถานีรถไฟกรุงเทพฯ(หัวลำโพง) ไปลงที่อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ แล้วจึงต่อรถโดยสารประจำทางมาที่จังหวัดน่าน 142 กิโลเมตร รายละเอียดติดต่อหน่วยบริการเดินทาง การรถไฟแห่งประเทศไทย โทร. 223-7010, 223-7020

- เครื่องบิน

บริษัท การบินไทย จำกัด มีเที่ยวบินไป-กลับ ระหว่างกรุงเทพฯ-น่าน สอบถามที่โทร. 280-0060, 628-2000 หรือ 1566 และที่จังหวัดน่าน โทร. (054) 710377


- ระยะทางจากตัวเมืองไปยังอำเภอและกิ่งอำเภอต่างๆ

อำเภอเชียงกลาง 76 กิโลเมตร
อำเภอท่าวังผา 43 กิโลเมตร
อำเภอทุ่งช้าง 86 กิโลเมตร
อำเภอนาน้อย 60 กิโลเมตร
อำเภอนาหมื่น 80 กิโลเมตร
อำเภอบ่อเกลือ 133 กิโลเมตร
อำเภอบ้านหลวง 45 กิโลเมตร
อำเภอปัว 60 กิโลเมตร
อำเภอแม่จริม 38 กิโลเมตร
อำเภอเวียงสา 25 กิโลเมตร
อำเภอสองแคว 75 กิโลเมตร
อำเภอสันติสุข 32 กิโลเมตร

น่าน จังหวัดน่าน น่าน จังหวัดน่าน น่าน จังหวัดน่าน น่าน จังหวัดน่าน น่าน จังหวัดน่าน น่าน จังหวัดน่าน


จังหวัดน่าน :: สถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ

- อำเภอนาน้อย

- ผาชู้ หรือ ผาเชิดชู
อยู่ห่างจากตัวอำเภอนาน้อย 16 กิโลเมตร ตามเส้นทางสายนาน้อย-ปางไฮ เส้นทางหลวงหมายเลข 1083 ผาชู้นี้อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติศรีน่านมีลักษณะเป็นหน้าผาสูงชันมีทิวทัศน์สวยงาม ตามประวัติเล่าว่ามีหนุ่มสาวคู่หนึ่งเกิดรักกัน โดยที่ครอบครัวของฝ่ายหญิงมีฐานะดีกว่าฝ่ายชายจึงถูกกีดกันจากญาติของผู้ใหญ่ ด้วยความรักกัน ฝ่ายหญิงจึงมา ณ ที่แห่งนี้แล้วได้กระโดดหน้าผาฆ่าตัวตาย เมื่อฝ่ายชายทราบเรื่องจึงตามมาและได้พบศพของหญิงสาว จึงเสียใจและกระโดดหน้าผาตายตามกัน หน้าผาแห่งนี้จึงได้ชื่อว่า “ผาชู้” นับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ที่นี่มีบ้านพักรับรองแต่ต้องเตรียมอาหารไปเอง รายละเอียดติดต่อ อุทยานแห่งชาติศรีน่าน ตู้ปณ.14 อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน 55150

- เสาดินนาน้อย (ฮ่อมจ๊อม) และคอกเสือ
อยู่ที่ตำบลเชียงของ ห่างจากตัวเมืองน่าน 60 กิโลเมตร จากอำเภอนาน้อยมีทางแยกไปตามเส้นทางหมายเลข 1083 ประมาณ 10 กิโลเมตร ฮ่อมจ๊อม คือ เป็นเนินดินซึ่งถูกกัดเซาะจนสึกกร่อน เป็นการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาอย่างหนึ่ง มีลักษณะคล้ายกับ “แพะเมืองผี” ที่จังหวัดแพร่


- อำเภอนาหมื่น

- บ้านปากนาย
ห่างจากตัวจังหวัด 96 กิโลเมตร ใช้เส้นทางน่าน-เวียงสา-นาน้อย จากอำเภอนาน้อย จะมีทางแยกไปถึงอำเภอนาหมื่นราว 20 กิโลเมตร จากนั้นจะเป็นทางลูกรังคดเคี้ยวไปตามไหล่เขาอีกประมาณ 22 กิโลเมตร จึงถึงบ้านปากนาย ซึ่งเป็นหมู่บ้านชาวประมงริมทะเลสาบเหนือเขื่อนสิริกิติ์ ที่มีทิวทัศน์สวยงามโอบบริเวณด้วยทิวเขาเขียวขจีโดยรอบ มีเรือนแพซึ่งเปิดเป็นร้านอาหาร และบางแห่งทำเป็นห้องพักไว้บริการนักท่องเที่ยว จากบ้านปากนาย สามารถเช่าเรือล่องไปตามลำน้ำน่านสู่อ่างเก็บน้ำสิริกิติ์ มีทิวทัศน์เป็นป่าเขาสวยงาม เกาะแก่ง เรือนแพ ชาวประมง มีปลาน้ำจืด เช่น ปลาบู่ ปลาเทโพ และปลาสวาย เป็นต้น

- อำเภอบ้านหลวง

- ดอยผาจิ
การเดินทางจากน่านใช้ทางหลวงหมายเลข 1091 เป็นระยะทางประมาณ 40 กิโลเมตร เมื่อถึงอำเภอบ้านหลวงให้ใช้เส้นทางสาย 1172 บ้านพี้เหนือสู่ดอยผาจิ ระยะทางประมาณ 30 กิโลเมตร ดอยผาจิ เป็นดอยที่มีความสวยงาม มีธรรมชาติที่ยังสมบูรณ์ทั้งน้ำตก ต้นไม้นานาพันธุ์ เป็นเขตพื้นที่ที่เคยเป็นที่ตั้งฐานกำลังของฝ่าย ผกค. ปัจจุบันยังมีอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น เครื่องกำเนิดไฟฟ้า ท่อประปา อยู่ในพื้นที่ นอกจากนี้บริเวณใกล้เคียงยังมีหมู่บ้านชาวเขาเผ่าม้ง และเย้า เรียงรายอยู่

- อำเภอท่าวังผา

- หมู่บ้านไทยลื้อหนองบัว
อยู่ที่บ้านหนองบัว ตำบลป่าคา จากตัวเมืองน่านใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1080 เป็นระยะทาง 41 กิโลเมตร ก่อนถึงอำเภอท่าวังผามีทางแยกซ้ายไปอีก 3 กิโลเมตร หมู่บ้านแห่งนี้เป็นหมู่บ้านที่มีฝีมือในการทอผ้าพื้นเมืองประจำเผ่าที่สวยงาม เรียกว่า “ผ้าลายน้ำไหล” ซึ่งเป็นแหล่งใหญ่ที่สุดในจังหวัดน่าน นับเป็นหัตถกรรมที่ตกทอดมาหลายยุคหลายสมัย ตามใต้ถุนบ้านที่ยกพื้นสูงจะมีเครื่องทอผ้าสำหรับไว้ใช้เอง ส่วนที่เหลือจะนำออกจำหน่ายเป็นสินค้าพื้นเมือง เช่น ผ้านุ่ง ผ้าพันคอ กระโปรง เสื้อ เป็นต้น

- วัดหนองบัว
ตั้งอยู่ในหมู่บ้านหนองบัว เป็นวัดที่สร้างด้วยฝีมือช่างไทยลื้อ ซึ่งได้โยกย้ายถิ่นฐานมาจากแคว้นสิบสองปันนาตั้งแต่ครั้งอดีตกาล ภายในวิหารวัดหนองบัวมีภาพจิตรกรรมฝาผนังอันงดงาม มีเอกลักษณ์ซึ่งแตกต่างไปจากวัดอื่น ๆ ตามประวัติกล่าวว่า ภาพเหล่านี้เขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 สันนิษฐานว่าเป็นฝีมือชาวไทยลื้อเมืองน่าน นับว่ามีคุณค่าทางศิลปะ และความสมบูรณ์ของภาพใกล้เคียงกับ ภาพจิตรกรรมฝาผนังของวัดภูมินทร์ในเมืองน่าน


- อำเภอปัว

- หมู่บ้านพัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาป่ากลาง
ตั้งอยู่ที่ตำบลศิลา ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 69 กิโลเมตร เป็นหมู่บ้านชาวเขาเผ่าแม้ว เย้า และถิ่น ซึ่งมีผลมาจากการกวาดล้างผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ในจังหวัดน่านของทางราชการ เมื่อปี พ.ศ.2511 การจัดสร้างจะแยกกันอยู่ตามลักษณะเผ่า มีการผลิตงานหัตถกรรมที่สวยงาม

- น้ำตกศิลาเพชร
ตั้งอยู่ที่บ้านป่าตอง ตำบลศิลาเพชร ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 56 กิโลเมตร บนเส้นทางหลวงหมายเลข 1080 สายน่าน-ปัว ก่อนถึงอำเภอปัว ตรงหลักกิโลเมตรที่ 41-42 มีทางแยกขวามือเข้าทางหลวงหมายเลข 1170 ไปประมาณ 14 กิโลเมตร น้ำตกสายนี้จะตกลงมาจากหน้าผาหลายชั้นลดหลั่นกันไป

- อุทยานแห่งชาติดอยภูคา
อยู่ห่างจากจังหวัดน่าน ประมาณ 85 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 1080 สายน่าน-ปัว ระยะทางประมาณ 60 กิโลเมตร จากนั้นใช้เส้นทางสายปัว-บ่อเกลือ อีกประมาณ 25 กิโลเมตร ก็จะถึงที่ทำการอุทยานฯ เป็นแหล่งกำหนิดของห้วยน้ำลำธารอันหลากหลาย ที่นำไปสู่ต้นกำเนิดแม่น้ำน่านแม่น้ำสายหลักของจังหวัดน่าน ที่มีความสำคัญทั้งทางนิเวศวิทยา และวิถีชีวิตของชาวน่าน อุทยานแห่งชาติดอยภูคา มีพื้นที่ประมาณ 1,680 ตารางกิโลเมตร หรือ 1,050,000 ไร่

- สิ่งที่น่าสนใจในอุทยานฯ คือ ต้นชมพูภูคา ซึ่งเป็นพันธุ์ไม้ที่หายากที่สุดพันธุ์หนึ่ง มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า “ไบร์ทชไนเดอร์ซีเนนซีส” คาดว่าได้สูญพันธุ์ไปแล้ว จนกระทั่งมีการค้นพบอีกครั้งในป่าดอยภูคาแห่งนี้ โดย ดร.ธวัชชัย สันติสุข ขณะที่ดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายพฤกษศาสตร์ กองบำรุง กรมป่าไม้ ลักษณะของดอกชมพูภูคา กลีบดอกด้านนอกมีสีชมพูจางขาว และกลีบดอกด้านในมีสีชมพูลายเส้นสีม่วง ชูช่อเป็นพวงใหญ่ จึงได้มีการตั้งชื่อตามสีของดอก และสถานที่ค้นพบว่าดอก “ชมพูภูคา” นับแต่นั้นมา

- นอกจากนี้บนดอยภูคายังป่าปาล์มดึกดำบรรพ์ ถ้ำ น้ำตก และจุดชมทิวทัศน์ที่สวยงามอีกหลายแห่ง อทยานฯมีบ้านพักและสถานที่ตั้งเต็นท์ไว้บริการ สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. (01) 602-9844 ตู้ปณ.8 ตำบลภูคา อำเภอปัว จังหวัดน่าน 55120


- อำเภอทุ่งช้าง

- อนุสาวรีย์วีรกรรมทุ่งช้าง
เป็นอนุสาวรีย์พลเรือน ตำรวจ ทหาร ผู้พลีชีพเพื่อปกป้องผืนแผ่นดินไทยในเขตจังหวัดน่านจากคอมมิวนิสต์ ใช้เวลาในการก่อสร้าง 3 ปี ตั้งอยู่ริมทางหลวงสายน่าน-ทุ่งช้าง (หมายเลข 1080) ตรงหลักกิโลเมตรที่ 84 บนเนินเขาเตี้ยๆ ท่ามกลางหุบเขาน้อยใหญ่ บริเวณใกล้เคียงจัดเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ มีสระน้ำและดอกไม้นานาพันธุ์ อนุสาวรีย์วีรกรรมแห่งนี้ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิด เมื่อวันอังคารที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2519

- อำเภอบ่อเกลือ

- บ่อเกลือสินเธาว์
อยู่ห่างจากตัวเมืองน่าน ประมาณ 80 กิโลเมตร ชาวอำเภอบ่อเกลือนอกจากจะมีอาชีพทำนาทำไร่แล้วยังมีอาชีพทำเกลือสินเธาว์อีกด้วย โดยมีแหล่งเกลือสินเธาว์อยู่บนภูเขา มีวิธีการทำคือ จะนำน้ำจากบ่อมาต้มในกะทะใบบัวใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิง บ่อเกลือนี้มีมาแต่โบราณ และจะนำไปจำหน่ายยังกรุงสุโขทัย เชียงใหม่ เชียงตุง หลวงพระบาง รวมถึงสิบสองปันนา จีนตอนใต้

- อำเภอแม่จริม

- ล่องแก่งลำน้ำว้า
ที่บ้านน้ำปุ๊ ตำบลน้ำพางห่างจากตัวเมืองน่าน ประมาณ 59 กิโลเมตร น้ำว้าเป็นลำน้ำขนาดใหญ่ น้ำใสไหลตลอดปีมีทัศนียภาพสวยงาม สองฝั่งเขียวชอุ่มไปด้วยป่าไม้ โขดหิน เกาะแก่งที่สวยงามและแก่งที่น่าตื่นเต้นที่สุดคือแก่งหลวง มีหาดทรายขาวเหมาะสำหรับตั้งแคมป์มีบริการนั่งช้างชมธรรมชาติ


น่าน จังหวัดน่าน น่าน จังหวัดน่าน น่าน จังหวัดน่าน น่าน จังหวัดน่าน


:: อุทยานแห่งชาติขุนน่าน ::

:: ข้อมูลทั่วไป ::
อุทยานแห่งชาติขุนน่านครอบคลุมพื้นที่อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน ตั้งอยู่ในป่าสงวนแห่งชาติป่าดอยภูคา และป่าผาแดง ในท้องที่ตำบลภูฟ้า ตำบลบ่อเกลือใต้ และตำบลดงพญา อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน มีพื้นที่ประมาณ 155,375 ไร่ หรือ 248.6 ตารางกิโลเมตร

- ความเป็นมา: ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2539 ส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ได้รับรายงาน จากอุทยานแห่งชาติดอยภูคา จังหวัดน่าน รายงานว่า พื้นที่ป่าไม้ในป่าสงวนแห่งชาติป่าดอยภูคาและป่าผาแดง ด้านทิศตะวันออกของอุทยานแห่งชาติดอยภูคา ในท้องที่อำเภอบ่อเกลือและท้องที่อำเภอเฉลิมพระเกียรติ เนื้อที่ประมาณ 620 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 387,500 ไร่ มีสภาพป่าไม้อุดมสมบูรณ์ อุดมด้วยพรรณไม้นานาพันธุ์ มีความหลากหลายด้านชีวภาพ และมีธรรมชาติสวยงาม สามารถพัฒนา เป็นสถานที่ท่องเที่ยว พักผ่อนหย่อนใจได้หลายแห่ง จึงขอให้ส่วนอุทยานแห่งชาติรีบส่งเจ้าหน้าที่เข้าทำการสำรวจ เพื่อประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติต่อไป

- ในเดือนกรกฎาคม 2540 กรมป่าไม้ ได้สั่งการให้ นายสนชัย ลาชโรจน์ ตำแหน่งนักวิชาการป่าไม้ 5 ส่วนอุทยานแห่งชาติ ไปดำเนินการสำรวจข้อมูลเบื้องต้นของพื้นที่ เพื่อพิจารณาศักยภาพของพื้นที่ว่า สามารถจะดำเนินการเพื่อประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติได้หรือไม่ โดยใช้ระยะเวลาในการปฏิบัติงานสำรวจ 90 วัน และเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2540 การปฏิบัติงานสำรวจข้อมูลเบื้องต้นพื้นที่ดังกล่าวเสร็จสิ้น นายสนชัย ลาชโรจน์ ได้จัดทำรายงานผลการสำรวจข้อมูลเบื้องต้น พร้อมจัดทำรายละเอียดลงในแผนที่เสนอความเห็น รายงานกรมป่าไม้ว่าพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าดอยภูคาและป่าผาแดง บริเวณดังกล่าวมีศักยภาพเหมาะสม ที่จะดำเนินการเพื่อประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติอย่างยิ่ง และควรทำการสำรวจ เพื่อประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเสียโดยเร็ว พร้อมได้เสนอให้ตั้งชื่ออุทยานแห่งชาติ ที่มีพื้นที่ครอบคลุมพื้นที่ป่าไม้ ในเขตอนุรักษ์ถาวรพื้นที่นี้ว่า “อุทยานแห่งชาติขุนน่าน” อันหมายถึง ขุนเขา ลำน้ำ อันเป็นต้นกำเนิดแม่น้ำน่าน

- วันที่ 21 ตุลาคม 2540 กรมป่าไม้ ได้สั่งการให้ นายสนชัย ลาชโรจน์ ไปดำเนินการสำรวจพื้นที่ดังกล่าว เพื่อประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติขุนน่าน จังหวัดน่าน และให้มีหน้าที่ปฏิบัติงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ด้วยการสำรวจพื้นที่ป่าไม้เพื่อประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติขุนน่าน ได้ดำเนินการแล้วเสร็จในเดือนมีนาคม 2542 นายสนชัย ลาชโรจน์ ได้จัดทำรายงานผลการสำรวจ และจัดทำรายละเอียดพื้นที่ ที่จะประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติขุนน่าน รายงานกรมป่าไม้ทราบและเพื่อดำเนินการต่อไป

- ปัจจุบันอุทยานแห่งชาติขุนน่านครอบคลุมพื้นที่ ประมาณ 155,375 ไร่ หรือ 248.6 ตารางกิโลเมตร ในท้องที่ตำบลภูฟ้า ตำบลบ่อเกลือใต้ และตำบลดงพญา อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน

:: ลักษณะภูมิประเทศ ::
สภาพภูมิประเทศทั่วไปของพื้นที่ที่จะประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติขุนน่านเป็นพื้นที่ต้นน้ำชั้น 1 เอ ลักษณะพื้นที่เขาสูงชันสลับซับซ้อน ติดต่อกันเป็นเทือกเต็มพื้นที่ มีระดับความสูงตั้งแต่ 600-1,745 เมตรจากระดับน้ำทะเลเฉลี่ยปานกลาง โดยมียอดดอยผีปันน้ำในเทือกเขาผีปันน้ำ ในท้องที่ตำบลดงพญา เป็นดอยที่สูงที่สุด สูงประมาณ 1,745 เมตรจากระดับน้ำทะเลเฉลี่ย เทือกเขาที่สำคัญในพื้นที่ได้แก่ เทือกเขาภูฟ้า เทือกเขาขุนน้ำว้าน้อย เทือกเขาน้ำว้ากลาง และเทือกเขาผีปันน้ำ เป็นต้น ไม่มีพื้นที่ที่เป็นที่ราบบนภูเขาที่สามารถ นำมาใช้ประโยชน์เป็นพื้นที่เกษตรกรรมอย่างถาวรได้ มีลำน้ำว้า อันเป็นลำน้ำสายใหญ่และสำคัญ ไหลผ่านกลางพื้นที่ในแนวทิศเหนือไหลลงทิศใต้ มีระยะทางการไหลผ่านพื้นที่ประมาณ 25.5 กิโลเมตร ต้นกำเนิดของลำน้ำว้าเกิดจากเทือกผีปันน้ำบริเวณบ้านน้ำว้าในตำบลบ่อเกลือเหนือ นอกเขตพื้นที่ที่จะประกาศเป็น อุทยานแห่งชาติขุนน่าน ที่บ้านสะปัน ตำบลดงพญา ผ่านกลางพื้นที่ไปออกพื้นที่ที่จะประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ ขุนน่าน ที่บ้านผาสุข ตำบลภูฟ้า ลำห้วยสำคัญที่ไหลลงน้ำว้า ได้แก่ น้ำปาด น้ำปัน ห้วยตี๋ ห้วยห้า และน้ำแปด


:: ลักษณะภูมิอากาศ ::
เนื่องจากพื้นที่ที่จะประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติขุนน่าน ตั้งอยู่ในภาคเหนือพื้นที่อยู่ระหว่าง เส้นรุ้ง ที่ 02-32.5 องศาเหนือ ระหว่างเส้นแวง ที่ 27.2-48.4 องศาตะวันออก ซึ่งเป็นพื้นที่บริเวณเกือบเหนือสุดของประเทศ สภาพภูมิประเทศเป็นเขาสูงสลับซับซ้อนเป็นที่สูง โดยอุณหภูมิของอากาศในพื้นที่จะอยู่ที่ ประมาณระหว่าง 1-7 องศาเซลเซียสในช่วงฤดูหนาว และประมาณ ระหว่าง 28-33 องศาเซลเซียสในช่วงฤดูร้อน และโดยที่พื้นที่นี้มีป่าไม้ และภูเขารอบด้าน ห่างไกลจากชุมชนเมืองใหญ่ อากาศบนพื้นที่นี้ มีป่าไม้และภูเขารอบด้าน ห่างไกลจากชุมชนเมืองใหญ่ อากาศพื้นที่จึงมีความบริสุทธิ์ แจ่มใส สดชื่น เกือบตลอดทั้งปี ดังนั้น พื้นที่ที่จะประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติขุนน่าน จึงมีความเหมาะสมที่จะเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ โดยเป็นสถานที่ตากอากาศ รับอากาศสดชื่น ที่ปราศจากมลพิษในอากาศเป็นเวลานานๆ


:: พรรณไม้และสัตว์ป่า ::
สภาพพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติขุนน่านประมาณร้อยละ 90 ปกคลุมด้วยป่าดิบเขา ส่วนที่เหลือเป็นป่าดิบชื้นและทุ่งหญ้า ชนิดพันธุ์ไม้และพืชพื้นล่างที่พบในป่าดิบเขา ได้แก่ ก่อเดือย ก่อแป้น ก่อน้ำ ก่อตาหมู ก่อนก กำลังเสือโคร่ง มณฑาป่า จำปีป่า หว้า ผักกูด มอส และกล้วยไม้ดิน สำหรับป่าดิบชื้นซึ่งจะพบบริเวณริมน้ำ ริมห้วย และตามร่องเขาที่มีความชื้น พันธุ์ไม้และพืชพื้นล่างที่พบได้แก่ ยาง กระบาก มะหาด มะยมป่า ไผ่บง ไผ่ฮก หวาย ตาว และเถาวัลย์ชนิดต่างๆ

สัตว์ป่าที่สำรวจพบในพื้นที่อุทยานแห่งชาติขุนน่านได้แก่ เก้ง เลียงผา หมูป่า ชะมด หมี เม่น กระรอก กระแต ไกป่า เป็นต้น


:: ที่ตั้งและการเดินทาง ::
อุทยานแห่งชาติขุนน่าน
ต.ดงพญา อ. บ่อเกลือ จ. น่าน 55220
โทรศัพท์ : 0 1960 5507

- รถยนต์
จากอำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน ไปตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1081 (บ่อเกลือ-เฉลิมพระเกียรติ) ประมาณ 4 กิโลเมตร เลี้ยวขวาเข้าที่ทำการอุทยานแห่งชาติขุนน่าน


:: แหล่งท่องเที่ยว :: ด้านธรรมชาติที่สวยงาม ::
- น้ำตกสะปัน อยู่ในท้องที่บ้านสะปัน หมู่ที่ 1 ตำบลดงพญา น้ำตกอยู่ในลำน้ำปัน เป็นน้ำตกขนาดกลางมี 3 ชั้นใหญ่ ความสูงของน้ำตกชั้นที่ 1, 2, และ3 สูงประมาณ 3, 5, 6, เมตร ตามลำดับ มีน้ำไหลตกตลอดทั้งปี เป็นน้ำตกที่มีความสวยงามตามธรรมชาติ มากสภาพป่าไม้บริเวณน้ำตก มีความร่มรื่นร่มเย็น สมบูรณ์สวยงามมาก สามารถเดินทางเข้าถึงน้ำตกได้โดยง่ายเพราะอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอบ่อเกลือ เป็นระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร โดยสามารถใช้ยานพาหนะเดินทางถึงบริเวณน้ำตกได้ และเดินโดยทางเท้าต่ออีกประมาณ 100 เมตร


- น้ำตกห้วยตี๋ อยู่ในท้องที่บ้านห้วยตี๋ บ้านบริวารของบ้านนาบง หมู่ที่ 14 ตำบลบ่อเกลือใต้ (ปัจจุบันบ้านห้วยตี๋ได้ถูกอพยพไปรวมกับบ้านนาบง ตามแผนงานโครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อความมั่นคง พื้นที่ลุ่มน้ำน่าน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ พื้นที่ 9 บ้านสบมาง-นาบง) น้ำตกห้วยตี๋อยู่ในลำห้วยตี๋ เป็นน้ำตกขนาดกลาง มี 6 ชั้นใหญ่ ความสูงของน้ำตก ชั้นที่ 1, 2, 3, 4, 5 และ 6 อยู่ประมาณระหว่าง 30, 20, 25, 15, 10, และ 10 เมตร ตามลำดับ มีน้ำไหลตกตลอดทั้งปี เป็นน้ำตกที่มีความสวยงามตามธรรมชาติมาก สภาพป่าไม้บริเวณน้ำตกมีความร่มรื่นร่มเย็น สมบูรณ์สวยงามมาก


- น้ำตกบ้านเด่น อยู่ในท้องที่บ้านเด่น บ้านบริวารของบ้านสะปัน หมู่ที่ 1 ตำบลดงพญา น้ำตกอยู่ในลำห้วยนัวะ เป็นน้ำตกขนาดกลาง เล็กกว่าน้ำตกสะปัน มี 3 ชั้นใหญ่ ความสูงของน้ำตก ชั้นที่ 1, 2, 3, ประมาณ 7, 3, และ 5 เมตร ตามลำดับ มีน้ำไหลตกตลอดทั้งปี เป็นน้ำตก ที่มีความสวยงามทางธรรมชาติปานกลาง สภาพป่าไม้บริเวณน้ำตกร่มรื่น ต้องเดินทางโดยทางเท้า ต่อจากบ้านสะปันไปอีกเป็นระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร


- น้ำตกห้วยห้า อยู่ในท้องที่บ้านนาบง หมู่ที่ 14 ตำบลบ่อเกลือใต้ น้ำตกอยู่ในห้วยห้า เป็นน้ำตกขนาดกลาง ประมาณเท่าน้ำตกสะปัน มี 3 ชั้นใหญ่ ความสูงของน้ำตกชั้นที่ 1, 2, 3 สูงประมาณ 8, 12,และ 50 เมตร ตามลำดับ มีน้ำไหลตกตลอดทั้งปี เป็นน้ำตกที่มีความสวยงามตามธรรมชาติอย่างยิ่ง โดยเฉพาะน้ำตกชั้นที่ 3 (ชั้นตาดผาแดง) ซึ่งมีความสูงของชั้นน้ำตกประมาณ 50 เมตร น้ำตกเป็นชั้นแบบขั้นบันไดรวม 5 ชั้น โดยน้ำตกทั้ง 5 ชั้น จะมีความสูงอยู่ระหว่างประมาณ 3-12 เมตร น้ำตกกระจายสวยงาม สภาพป่าไม้บริเวณน้ำตกร่มรื่น ร่มเย็น สมบูรณ์สวยงามมาก


- ล้ำน้ำว้า เป็นลำน้ำสายใหญ่สายเดียวที่ไหลผ่านกลางพื้นที่ เป็นระยะทางประมาณ 25.5 กิโลเมตร มีวังน้ำ แก่งหิน และหาดทรายริมน้ำ ตลอดทั้งลำน้ำ สวยงาม เหมาะสำหรับพักผ่อน ศึกษาธรรมชาติ และกางเต็นท์พักแรม



:: สิ่งอำนวยความสะดวก ::
สถานที่กางเต็นท์/เต็นท์ อุทยานแห่งชาติ ยังไม่ที่พัก-บริการไว้บริการนักท่องเที่ยว มีแต่สถานที่กางเต็นท์ให้บริการนักท่องเที่ยว เนื่องจากเป็นอุทยานแห่งชาติจัดตั้งใหม่ หากสนใจที่จะเดินทางไปท่องเที่ยวที่อุทยานแห่งชาติ นักท่องเที่ยวต้องจัดเตรียมเต็นท์และอาหารไปเอง




:: อุทยานแห่งชาติถ้ำสะเกิน ::

:: ข้อมูลทั่วไป ::
อุทยานแห่งชาติถ้ำสะเกินครอบคลุมพื้นที่เทือกเขาสูงตอนปลายแห่งทิวเขาหลวงพระบาง ซึ่งทอดตัวยาวต่อเนื่อง ไปจนถึงเขตแดนประเทศลาว สภาพธรรมชาติยังอุดมด้วยผืนป่าสมบูรณ์ ถ้ำขนาดใหญ่ น้ำตกงดงาม และจุดชมทะเลหมอก อุทยานแห่งชาติถ้ำสะเกินมีพื้นที่ทั้งหมด 155,200 ไร่ หรือ 248.32 ตารางกิโลเมตร อยู่ในท้องที่อำเภอท่าวังผา อำเภอเชียงกลาง อำเภอทุ่งช้าง อำเภอสองแคว จังหวัดน่าน และอำเภอเชียงคำ อำเภอปง จังหวัดพะเยา

- เมื่อปี พ.ศ. 2539 นายวิทยา หงษ์เวียงจันทร์ ตำแหน่งนักวิชาการป่าไม้ 5 ทำหน้าที่หัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยภูคา จังหวัดน่าน ได้ทำการสำรวจพื้นที่อุทยานแห่งชาติถ้ำสะเกินและพื้นที่โดยรอบ ซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าน้ำยาว และป่าน้ำสวด อำเภอสองแคว จังหวัดน่าน พบว่ายังมีสภาพสมบูรณ์เป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธารลุ่มน้ำ ชั้น 1 เอ มีจุดเด่นทางธรรมชาติที่สวยงามหลายแห่ง เนื้อที่ประมาณ 280,000 ไร่ เป็นพื้นที่เหมาะสม ที่จัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ จึงได้รายงานมายังกรมป่าไม้

- กรมป่าไม้พิจารณาแล้วได้สั่งการให้ นายธนศาสตร์ เวียงสารวิน ตำแหน่งนักวิชาการป่าไม้ 5 อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ ปฏิบัติงานประจำอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์และจังหวัดเลย ไปดำเนินการสำรวจข้อมูลสภาพป่ารายละเอียดในพื้นที่บริเวณดังกล่าวและบริเวณใกล้เคียง ที่มีความเหมาะสมเป็นอุทยานแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม 2539 โดยให้จัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ และทำหน้าที่หัวหน้าอุทยานแห่งชาตินี้ด้วย

- ต่อมากรมป่าไม้ได้มีคำสั่งให้ นายประดิษฐ์ เลิศลักษณ์ศิริกุล ตำแหน่งเจ้าพนักงานป่าไม้ 5 ประจำอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ จังหวัดกาญจนบุรี ไปปฏิบัติงานทำหน้าที่ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติถ้ำสะเกินแทน นาย ธนศาสตร์ เวียงสารวิน โดยเริ่มปฏิบัติงานในหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 5 สิงหาคม 2542 โดยได้สำรวจพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าน้ำยาวและป่าน้ำสวด (ประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติ เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2531) ในท้องที่อำเภอท่าวังผา อำเภอเชียงกาง อำเภอทุ่งช้าง และอำเภอสองแคว จังหวัดน่าน ป่าสงวนแห่งชาติป่าน้ำเปื๋อย ป่าน้ำหย่วน และป่าน้ำลาว ท้องที่อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา และป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ยม ท้องที่อำเภอปง (เดิมขึ้นอยู่กับจังหวัดเชียงราย ปัจจุบันท้องที่อำเภอปง ขึ้นอยู่กับจังหวัดพะเยา) เพื่อจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติต่อไป

:: ลักษณะภูมิประเทศ ::
เป็นเทือกเขาสูงสลับซับซ้อนวางตัวในแนวเหนือใต้ คล้ายรูปตัว T ตัวเขียนใหญ่ในภาษาอังกฤษ ระดับความสูงของพื้นที่ประมาณ 300 - 1,752 เมตร จากระดับน้ำทะเล มียอดเขาที่สูงที่สุด คือ ยอดดอยจี๋ มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,752 เมตร เป็นพื้นที่ต้นกำเนิดของลุ่มน้ำถึงสามลุ่มน้ำด้วยกัน คือ ลุ่มน้ำยมตอนบน ลุ่มน้ำยาวตอนบน และลุ่มน้ำลาว ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของลำน้ำสายหลักของประเทศ คือ ลำน้ำยม และ ลำน้ำน่าน อันเป็นแม่น้ำสำคัญสายหลัก ในการประกอบอาชีพเกษตรของราษฎรริมสองลำน้ำ


:: ลักษณะภูมิอากาศ ::
เป็นแบบมรสุมเขตร้อน โดยได้รับอิทธิพลจาก ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ในช่วงฤดูฝน และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ในช่วงฤดูหนาว ภูมิอากาศแบ่งออกเป็น 3 ฤดู คือ ฤดูร้อน ตั้งแต่เดือนมีนาคม-เมษายน ฤดูฝนตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-ตุลาคม และฤดูหนาวตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ อุณหภูมิเฉลี่ยต่ำสุดต่อปีประมาณ 8 องศาเซลเซียส อุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุดต่อปีประมาณ 41 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่อปีประมาณ 1,211 มิลลิเมตร


:: พรรณไม้และสัตว์ป่า ::
สภาพป่าประกอบด้วย ป่าดิบเขา พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ ไม้ก่อชนิดต่าง ๆ พญาไม้ พญาเสือโคร่ง มะขามป้อมดง สนสามพันปี อบเชย กฤษณา ไม้พื้นล่างได้แก่ มอส เฟินชนิดต่างๆ ป่าดิบชื้น พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ ยาง กระบาก สมพง ลำพูป่า กระทุ่ม พืชพื้นล่างได้แก่ กูดต้น กูดพร้าว เอื้องกุหลาบพวง เป็นต้น ป่าดิบแล้ง พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ ยางแดง ยางขาว ตะเคียน ตะแบก มะม่วงป่า พืชพื้นล่างได้แก่ ไผ่ หวาย เฟิน ปาล์ม ต๋าว เป็นต้น ป่าเบญจพรรณ พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ มะค่าโมง สมอภิเพก ตะคร้อ เสี้ยว ดอกขาว พืชพื้นล่างได้แก่ หญ้าแฝก หญ้าคมบาง และพืชในวงศ์ ขิง ข่า เป็นต้น

จากการสำรวจพบว่าสัตว์ป่าส่วนใหญ่เป็นสัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยนมซึ่งมีตั้งแต่ขนาดกลางจนถึงขนาดเล็ก สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์ปีก ได้แก่ เสือ เลียงผา เก้ง หมูป่า กระรอก กระแต หมาไน เหยี่ยว นกขุนทอง และนกเขา เป็นต้น


:: ที่ตั้งและการเดินทาง ::
อุทยานแห่งชาติถ้ำสะเกิน
ตู้ ป.ณ. 13 อ. ท่าวังผา จ. น่าน 55140
โทรศัพท์ : 0 9045 9831

- รถยนต์
เดินทางจากตัวเมืองน่านใช้เส้นทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1080 สายน่าน-ทุ่งช้าง เมื่อถึงอำเภอท่าวังผา ระยะทางประมาณ 42 กิโลเมตร แล้วให้แยกไปทางซ้ายมือตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1148 สายท่าวังผา-สองแคว ระยะทางประมาณ 33 กิโลเมตร เมื่อถึงอำเภอสองแควแล้ว ให้แยกไปตามทางซ้ายมือ ตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1097 สายสองแคว-เชียงคำ ระยะทางประมาณ 38 กิโลเมตร ก็จะถึงหมู่บ้านสะเกิน ตำบลยอด อำเภอสองแคว แล้วให้แยกเข้าหมู่บ้านเลี้ยวไปทางขวามือผ่านหมู่บ้านไปอีกประมาณ 6 กิโลเมตร ก็จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติถ้ำสะเกิน


:: แหล่งท่องเที่ยว :: ด้านธรรมชาติที่สวยงาม ::
ทัศนียภาพสองข้างทาง ระหว่างอำเภอสองแคว จังหวัดน่าน ถึงอำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา จะมีทัศนียภาพที่สวยงาม


- น้ำตกผาธาร เป็นน้ำตกขนาดกลางมีน้ำไหลตลอดปี ประกอบน้ำตกชั้นใหญ่ ๆ 9 ชั้น ตั้งอยู่บริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติถ้ำสะเกิน ตำบลยอด อำเภอสองแคว จังหวัดน่าน


- น้ำตกห้วยหาด หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า น้ำตกบ้านยอด เป็นน้ำตกขนาดกลางมีน้ำไหลตลอดปี มีความสูงประมาณ 3 ชั้น น้ำตกตั้งอยู่ท่ามกลางป่าดิบแล้งสภาพสมบูรณ์ จึงมีน้ำไหลตลอดปี ตั้งอยู่ที่ตำบลยอด อำเภอสองแคว จังหวัดน่าน อยู่ก่อนถึงจุดชมทิวทัศน์ มีทางแยกขวามือเข้าไป 2 กิโลเมตร


- ถ้ำหลวงสะเกิน เป็นถ้ำขนาดกลาง ตัวถ้ำลึกประมาณ 600 เมตร ภายในถ้ำมีหินงอกหินย้อยสวยงามมาก เป็นถ้ำที่มีค้างคาวอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ตั้งอยู่ที่ตำบลยอด อำเภอสองแคว จังหวัดน่าน อยู่ก่อนถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติ 1 กิโลเมตร มีทางเดินไต่ขึ้นเขาชันระยะทางประมาณ 200 เมตร จนถึงปากถ้ำกว้าง


- ดอยภูลังกา เป็นพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ประมาณ1,720 เมตร ตั้งอยู่ในท้องที่ ตำบลแม่ลาว อำเภอ เชียงคำ จังหวัดพะเยา บนยอดดอยสามารถมองเห็นทิวทัศน์สวยงามของแอ่งที่ราบกว้าง ซึ่งมีหมู่บ้านเรียงรายตั้งอยู่ใกล้กับแอ่งเก็บน้ำใหญ่ และมีแนวเทือกเขาสลับซับซ้อนเป็นฉากหลัง โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวจะมีทะเลหมอกลอยปกคลุมหุบเขา


- น้ำตกผาลาด เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ สายน้ำไหลลงมาจากเขาซึ่งเต็มไปด้วยโขดหินระเกะระกะ จึงเกิดเป็นชั้นน้ำตกจำนวนมาก มีทางเดินเลียบน้ำตกขึ้นสู่น้ำตกชั้นบนๆ น้ำตกผาลาดอยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติไป 500 เมตร


- น้ำตกหงษ์เวียงจันทร์ เป็นน้ำตกขนาดกลางมีน้ำไหลตลอดปี ประกอบน้ำตกชั้นใหญ่ๆ 6 ชั้น ตั้งอยู่ที่ตำบลยอด อำเภอสองแคว จังหวัดน่าน


- ถ้ำปลากั้ง เป็นถ้ำขนาดเล็ก มีความสวยงามพอสมควร ตั้งอยู่ที่ ตำบลยอด อำเภอสองแคว จังหวัดน่าน



:: สิ่งอำนวยความสะดวก ::
สถานที่กางเต็นท์/เต็นท์ อุทยานแห่งชาติ ยังไม่ที่พัก-บริการไว้บริการนักท่องเที่ยว มีแต่สถานที่กางเต็นท์ให้บริการนักท่องเที่ยว เนื่องจากเป็นอุทยานแห่งชาติจัดตั้งใหม่ หากสนใจที่จะเดินทางไปท่องเที่ยวที่อุทยานแห่งชาติ นักท่องเที่ยวต้องจัดเตรียมเต็นท์และอาหารไปเอง




- จังหวัดน่าน :: เทศกาล งานประเพณี

- งานแข่งเรือประเพณีฉลองงาช้างดำจังหวัดน่าน
ประเพณีแข่งเรือเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมานานนิยมจัดให้มีขึ้นในงานประเพณีตานก๋วยสลาก ต่อมาในปี พ.ศ. 2479 ได้จัดให้มีการแข่งเรือในงานทอดกฐินสามัคคีสืบทอดมาจนถึงงานทอดกฐินพระราชทานในปัจจุบัน ซึ่งจะมีในราวกลางเดือนตุลาคม หรือต้นเดือนพฤศจิกายนทุกปี ภายหลังทางจังหวัดได้ผนวกงานสมโภชงาช้างดำอันเป็นสมบัติล้ำค่าคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดน่านเข้าไปด้วย เรือที่เข้าแข่งแต่ละลำใช้ไม้ซุงใหญ่ๆ เอามาขุดเป็นเรือ ตกแต่งหัวและท้ายเรือเป็นรูปหัวนาคและหางนาคอย่างสวยงาม ประเภทการแข่งขัน มีทั้งเรือใหญ่ เรือกลาง และเรือเล็ก รวมทั้งประเภทสวยงาม นอกจากนี้ยังมีการประกวดกองเชียร์อีกด้วย นับเป็นประเพณีที่น่าสนใจอย่างยิ่ง


- งานเทศกาลส้มสีทองและงานกาชาดจังหวัดน่าน
ส้มสีทองเป็นผลผลิตทางการเกษตร ที่มีชื่อเสียงของจังหวัดน่าน พันธุ์เดียวกับส้มเขียวหวาน แต่ส้มสีทองจะมีเปลือกสีเหลืองทองสวยงาม และรสชาติหวานหอมอร่อยกว่า เป็นเพราะอิทธิพลของดินฟ้าอากาศคืออุณหภูมิระหว่างกลางวันและกลางคืนต่างกัน 8 องศา เป็นเหตุให้สาร “คาร์ทีนอยพิคเมนท์” ในเปลือกส้มเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีทองดังกล่าว

- กิจกรรมที่น่าสนใจมีหลายอย่าง ได้แก่ การประกวดขบวนรถส้มสีทอง การออกร้านนิทรรศการ การจำหน่ายสินค้าหัตถกรรมจากอำเภอต่างๆ และจากเมืองฮ่อน-หงสา สปป.ลาว การแสดงพื้นเมืองและมหรสพต่างๆ อีกมากมาย


กุมภาพันธ์ - มีนาคม
เทศกาลผ่อดอกชมพูภูคา อุทยานแห่งชาติดอยภูคา

วันมาฆะบูชา
ประเพณีขึ้นบ่อน้ำทิพย์ วนอุทยานถ้ำผาตูบ

ขึ้น11-15ค่ำ เดือน 4
งานประเพณีหกเป็งไหว้พระบรมธาตุแช่แห้ง

13 เมษายน
งานประเพณีสงกรานต์และสรงน้ำพระเจ้าทองทิพย์วัดสวนตาล อำเภอเมือง

17-19 เมษายน
งานสักการะเสาหลักเมืองวัดมิ่งเมือง อำเภอเมือง

วันวิสาขบูชา
งานประเพณีนมัสการพระธาตุเขาน้อย

อาสาฬหบูชา
งานแห่เทียนเข้าพรรษา วัดสวนตาล อำเภอเมือง

เสาร์-อาทิตย์ที่ 1 หลังออกพรรษา
งานประเพณีแข่งเรือจังหวัดน่าน บริเวณสะพาณพัฒนาภาคเหนือ อำเภอเมือง

ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12
งานประเพณีลอยกระทง อำเภอเมือง

สัปดาห์ที่ 3 ของเดือนธันวาคม
เทศกาลส้มสีทองและงานกาชาดจังหวัดน่าน ณ สนามกีฬาจังหวัดน่าน อำเภอเมือง



น่าน จังหวัดน่าน น่าน จังหวัดน่าน น่าน จังหวัดน่าน น่าน จังหวัดน่าน น่าน จังหวัดน่าน น่าน จังหวัดน่าน


- จังหวัดน่าน :: ของฝาก ของที่ระลึก

- สินค้าพื้นเมืองของจังหวัดน่าน

- จังหวัดน่านมีสินค้าพื้นเมืองที่มีชื่อเสียงอยู่หลายอย่างเช่น ผ้าลายน้ำไหล (ผ้าฝ้าย) ผลิต-ภัณฑ์หวาย เครื่องเงิน หัตถกรรมชาวเขา ส่วนผลไม้ที่มีชื่อของจังหวัด ได้แก่ ส้มสีทอง มะไฟจีน ลิ้นจี่ และหมากต๋าว (เป็นลูกไม้ชนิดหนึ่งที่ต้องต้มเอาเนื้อข้างในออกมาเชื่อม เป็นเหมือนลูกชิดใส่น้ำแข็งรับประทาน)

- ร้านจำหน่ายสินค้าที่ระลึก

อำเภอเมือง
เงินน่าน 42/22 ถ.มหายศ (เครื่องเงิน)
จางตระกูล 304-306 ถ.สุมนเทวราช
ชมพูภูคา ถ.น่าน-พะเยา กิโลเมตรที่ 2 (เครื่องเงิน)
บ้านทนันไชย 1 ถ.เจตบุตร ข้างโรงเรียนสตรีศรีน่าน โทร. 710515 (ผ้าทอลายน้ำไหล, ของชำร่วย)
ฝ้ายเงิน 376/3 ถ.ยันตรกิจโกศล โทร. 741564 (ผ้าทอลายน้ำไหล, เครื่องเงิน)
น่านซิลเวอร์แวร์ 36/1 ถ.สุมนเทวราช
น่านหัตถศิลป์ 2/10 ถ.เจ้าฟ้า โทร. 710308 (ผ้าทอ)
สมาคมพัฒนาไทยพายัพ 24 ถ.เจตบุตร (ใกล้ตลาดเช้า) อ.เมือง โทร. 710230 เปิดจันทร์-ศุกร์ 08.00-17.00 น. (ผลิตภัณฑ์ชาวเขา เช่น ผ้าทอ ผ้าปัก เครื่องจักสาน เครื่องเงิน)
ศุภิสรา 272/3 ถ.ยันตรกิจโกศล โทร. 741720 (ผ้าไหม, ผ้าฝ้าย)
องุ่นคนเมือง 223 ถ.สุมนเทวราช (เครื่องปั้นดินเผา)

- อำเภอปัว
ชำนาญเครื่องเงิน 105 หมู่ 9 บ้านป่ากลาง ต.ศิลาแลง (เครื่องเงิน)

- อำเภอท่าวังผา
จันทร์สมการทอ 68 บ้านหนองบัว ต.ป่าคา โทร. 771515, 799074 (ผลิตภัณฑ์จากผ้าทอมือ)

:: สารบัญเว็บไซท์ ::

:: ข้อมูล สถานที่ท่องเที่ยว แหล่งท่องเที่ยว จังหวัดน่าน ::

สารบัญเว็บไซท์ > ท่องเที่ยว > ข้อมูล และสถานที่ท่องเที่ยว > ภาคเหนือ > น่าน

จำนวนเว็บไซท์ในหมวดนี้ : 13 [ แนะนำเว็บไซท์ได้ที่นี่ ]


จังหวัดน่าน
แนะนำข้อมูลทั่วไป สถานที่ท่องเที่ยว แหล่งท่องเที่ยว จองโรงแรม ที่พัก รีสอร์ท โรงแรม จังหวัดน่าน แผนที่ การเดินทาง ร้านอาหาร เทศกาล งานประเพณี ของฝาก ประวัติความเป็นมา คำขวัญประจำจังหวัด
http://www.relaxzy.com/province/nan/

จังหวัดน่าน
รวบรวมข้อมูลของจังหวัดน่าน เพลงประจำจังหวัดน่าน สำนักงานจังหวัดน่าน ประกาศข่าวสารประชาสัมพันธ์ของ...
http://www.nan.go.th

จังหวัดน่าน
ข้อมูลเกี่ยวกับจังหวัดน่าน ประวัติจังหวัด เทศกาล งานประเพณี แผนที่ ข้อมูลการท่องเที่ยว สถานที่ท่อ...
http://www.nantouring.com

จังหวัดน่าน (นครน่าน)
แหล่งท่องเที่ยว จังหวัดน่าน ท่องเที่ยวไปกับวัฒนธรรมล้านนาตะวันออก อีกหนึ่งความภูมิใจชองคนล้านนา
http://www.nakornnan.com

จังหวัดน่าน
ข้อมูล เรื่องราวที่เกิดขึ้นในจังหวัดน่าน ข่าวกิจกรรมต่าง ๆ ประวัติศาสตร์จังหวัดน่าน แนะนำสถานที่ท...
http://www.geocities.com/Tokyo/Ginza/7474

จังหวัดน่าน
ประวัติจังหวัดน่าน แนะนำสถานที่ท่องเที่ยว ประเพณีพื้นบ้าน ข้อมูลการท่องเที่ยว อำเภอต่างๆ พร้อมแผน...
http://www.geocities.com/amazing_nan

ตำบลน้ำมวบ อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน
ข้อมูลทั่วไปของตำบลน้ำมวบ อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน ประวัติ อาณาเขต คณะบริหาร การคมนาคมขนส่ง แนะนำ...
http://www.khonputon.com

อำเภอทุ่งช้าง จังหวัดน่าน (ทุ่งช้างบ้านเฮา)
ข้อมูลพื้นฐาน สถานที่ท่องเที่ยว อาหารพื้นเมือง สินค้าพื้นเมือง แผนที่และเส้นทางท่องเที่ยวอำเภอทุ่...
http://www.thungchang.cjb.net

จังหวัดน่าน
ข้อมูลท่องเที่ยวจังหวัดน่าน ความเป็นมา เทศกาลงานประเพณี แนะนำสถานที่ท่องเที่ยว ที่พัก ร้านอาหาร แ...
http://www.geocities.com/tokyo/ginza/7474

น่านทูเดย์ดอตคอม
ให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับจังหวัดน่าน อาทิ ศิลปะวัฒนธรรม ผลิตภัณฑ์ชุมชน งานรื่นเริงต่างๆ ฯลฯ
http://www.nantoday.com

บ้านดู่ใต้
ข้อมูลของบ้านดู่ใต้ อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน สภาพทั่วไป แผนที่บ้านดู่ใต้ ภาพกิจกรรมในหมู่บ้าน ไ...
http://www.geocities.com/bandutai

อุทยานแห่งชาติดอยภูคา
ดอยภูคาเป็นพื้นที่แห่งเดียวในประเทศไทยที่พบต้นชมพูภูคา (Bretschneidera sinensis Hemsl) ซึ่งเป็นพื...
http://www.dnp.go.th/parkreserve/asp/style1/default.asp?npid=220&lg=1

อุทยานแห่งชาติถ้ำสะเกิน
อุทยานแห่งชาติถ้ำสะเกินครอบคลุมพื้นที่เทือกเขาสูงตอนปลายแห่งทิวเขาหลวงพระบาง ซึ่งทอดตัวยาวต่อเนื่...
http://www.dnp.go.th/parkreserve/asp/style1/default.asp?npid=195&lg=1



:: อุทยานแห่งชาติดอยภูคา ::

:: ข้อมูลทั่วไป ::
ดอยภูคาเป็นพื้นที่แห่งเดียวในประเทศไทยที่พบต้นชมพูภูคา (Bretschneidera sinensis Hemsl) ซึ่งเป็นพืชหายาก และใกล้สูญพันธุ์ ต้นไม้ชนิดนี้พบครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2532 และไม่พบในพื้นที่ใดอีกเลย จึงได้รับการตั้งชื่อต้นไม้ ตามสีของดอกและถิ่นที่พบว่า “ชมพูภูคา” อุทยานแห่งชาติดอยภูคา จึงเป็นพื้นที่อนุรักษ์สำคัญของพันธุ์ไม้ชนิดนี้ อุทยานแห่งชาติดอยภูคา มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่อำเภอปัว อำเภอเชียงกลาง อำเภอทุ่งช้าง อำเภอแม่จริม อำเภอท่าวังผา อำเภอสันติสุข อำเภอบ่อเกลือ และอำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน มีสภาพป่าอุดมสมบูรณ์ เป็นป่าต้นน้ำลำธาร ชั้น 1 A และมีจุดเด่น ทางธรรมชาติที่สวยงามหลายแห่ง เช่น น้ำตกภูฟ้า น้ำตกแม่จริม น้ำตกผาฆ้อง ธารน้ำลอด พระลานหิน และป่าปาล์มดึกดำบรรพ์ มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 1,065,000 ไร่ หรือ 1,704 ตารางกิโลเมตร

- ความเป็นมา: ด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดน่าน (นายสมชาย โลหะชาติ) ได้มีหนังสือ ที่ 13/2526 ลงวันที่ 24 กันยายน 2526 เรียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายณรงค์ วงศ์วรรณ) ว่าได้รับการร้องขอจากราษฎร ขอให้กำหนดป่าดอยภูคา อำเภอปัว จังหวัดน่าน เป็นอุทยานแห่งชาติ เนื่องจากยอดดอยภูคาเป็นยอดเขาสูงสุด ของจังหวัดน่านอันเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัด โดยมีความสูงถึง 1,980 เมตร จากระดับน้ำทะเล เป็นป่าต้นน้ำลำธาร ที่เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำน่าน มีทิวทัศน์ที่สวยงาม เป็นสถานที่ทางประวัติศาสตร์ เนื่องจากมีการเล่าขานกันมาแต่ครั้งโบราณ และเชื่อมั่นว่า เมืองเก่าของบรรพบุรุษ คนเมืองน่าน อยู่ในเขตบนเทือกเขาดอยภูคา

- ต่อมากองทัพภาคที่ 3 ส่วนหน้า และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 ได้มีหนังสือ ที่ กห 0483 (สน)/95 ลงวันที่ 27 มกราคม 2527 แจ้งว่าได้พบสภาพพื้นที่ป่าบริเวณบ้านปู จังหวัดน่าน พิกัดเส้นตรง 18-35 และเส้นราบ 07-70 ตามแผนที่มาตราส่วน 150,000 มีความอุดมสมบูรณ์และธรรมชาติที่สวยงาม และพื้นที่บริเวณพิกัด คิว เอ 2686 มีน้ำตกที่มีความสวยงามขนาดใหญ่ สมควรที่จะได้มีการ ออกประกาศพระราชกฤษฎีกา กำหนดให้เป็นอุทยานแห่งชาติ

- กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ ได้มีคำสั่งที่ 1786/2526 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2526 ให้นายปัญญา ปรีดีสนิท นักวิชาการป่าไม้ 6 ไปสำรวจพื้นที่เบื้องต้นดังกล่าว ปรากฏว่าสภาพป่ามีความอุดมสมบูรณ์ เป็นป่าต้นน้ำลำธาร มีสัตว์ป่าชุกชุม เป็นสถานที่ทางประวัติศาสตร์ และมีทิวทัศน์ธรรมชาติสวยงามหลายแห่ง

- กรมป่าไม้จึงได้มีคำสั่ง ที่ 1641/2528 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2528 ให้ นายวันชัย ปานเกษม เจ้าพนักงานป่าไม้ 4 มาดำเนินการสำรวจจัดตั้งพื้นที่ป่าดังกล่าวเป็นอุทยานแห่งชาติ ผลการสำรวจตามหนังสือ ที่ กษ 0713(ภค)/28 ลงวันที่ 11 พฤษภาคม 2530 ปรากฏว่าป่าพื้นที่ดอยภูคาและบริเวณใกล้เคียง มีความเหมาะสมที่จะจัดตั้ง เป็นอุทยานแห่งชาติ

- กองอุทยานแห่งชาติได้นำเรื่องการจัดการอุทยานแห่งชาติดอยภูคา เสนอในการประชุม ผู้อำนวยการกอง ในสังกัดกรมป่าไม้ ครั้งที่ 12/2531 ลงวันที่ 4 ตุลาคม 2531 ได้มีมติให้ดำเนินการจัดตั้ง เป็นอุทยานแห่งชาติดอยภูคาต่อไป กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ จึงได้นำเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ มีมติในการประชุมครั้งที่ 2/2531 ลงวันที่ 19 ตุลาคม 2531 เห็นชอบให้กำหนดพื้นที่ป่าดอยภูคาเป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดที่ดินป่าดอยภูคา ป่าผาแดง ป่าแม่น้ำน่านฝั่งตะวันออกตอนใต้ ป่าน้ำว้า และป่าแม่จริม ในท้องที่ตำบลห้วยโก๋น ตำบลขุนน่าน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ ตำบลปอน ตำบลงอบ ตำบลและ ตำบลทุ่งช้าง อำเภอทุ่งช้าง ตำบลพญาแก้ว อำเภอเชียงกลาง ตำบลภูคา ตำบลศิลาเพชร ตำบลอวน อำเภอปัว ตำบลบ่อเกลือเหนือ ตำบลดงพญา ตำบลบ่อเกลือใต้ ตำบลภูฟ้า อำเภอบ่อเกลือ ตำบลยม อำเภอท่าวังผา ตำบลพงษ์ อำเภอสันติสุข และตำบลแม่ จริม ตำบลหนองแดง ตำบลน้ำพาง อำเภอแม่จริม จังหวัดน่าน เป็นอุทยานแห่งชาติ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 116 ตอนที่ 48ก ลงวันที่ 17 มิถุนายน 2542 มีเนื้อที่ประมาณ 1,065,000 ไร่ หรือ 1,704 ตารางกิโลเมตร

:: ลักษณะภูมิประเทศ ::
สภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่ เป็นเทือกเขาสูงชันสลับซับซ้อน มียอดดอยภูคา เป็นสัญลักษณ์ของอุทยานแห่งชาติดอยภูคา มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 1,980 เมตร อันเป็นสัญลักษณ์ภูเขาที่สูงที่สุดในจังหวัดน่าน โดยทั่วไปเป็นภูเขาหินทราย เป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธารชั้น 1 อันเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำลำธารหลายสาย เช่น แม่น้ำน่าน แม่น้ำว้า เป็นต้น


:: ลักษณะภูมิอากาศ ::
อุทยานแห่งชาติดอยภูคา มีสภาพภูมิอากาศ แบ่งออกเป็น 3 ฤดูกาล คือ

ฤดูฝน ระหว่างเดือนพฤษภาคม - ตุลาคม มีฝนตกชุก
ฤดูหนาว ระหว่างเดือนพฤศจิกายน- กุมภาพันธ์ ในเดือนธันวาคม - มกราคม จะมีอากาศหนาวจัด เฉลี่ยประมาณ 10 องศาเซลเซียส
ฤดูร้อน ระหว่างเดือนมีนาคม - เมษายน อุณหภูมิโดยเฉลี่ยประมาณ 30 องศาเซลเซียส กลางคืนโดยเฉลี่ย 25 องศาเชลเชียส


:: พรรณไม้และสัตว์ป่า ::
- สภาพป่าอุดมสมบูรณ์ ประกอบด้วยป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบเขา ป่าดิบแล้ง และยังมีป่าสนเขากลุ่มเล็กๆ อยู่บริเวณทางตอนใต้ ของอุทยานแห่งชาติดอยภูคา ใกล้กับดอยภูหวด นอกจากนี้ยังมีทุ่งหญ้า ปกคลุมบนภูเขาเป็นบริเวณกว้าง ซึ่งเป็นผลจากการแผ้วถางป่าของชาวบ้าน เมื่อก่อนที่จะมีการประกาศ ให้ดอยภูคาเป็นพื้นที่อนุรักษ์ มีพันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ ก่อ ยาง ตะเคียน จำปีป่า ประดู่ แดง สัก เต็ง รัง เหียง พลวง พะยอม รวมทั้งปาล์มขนาดใหญ่ หวาย ผักกูด ไผ่ และหญ้าเพ็ก เป็นต้น พันธุ์ไม้หายาก เช่น ชมพูภูคา ก่วมภูคา จำปีป่า ไข่นกคุ้ม ค้อเชียงดาว โลดทะนงเหลือง ขาวละมุน เทียนดอย เสี้ยวเครือ มะลิหลวง สาสี่หนุ่ม เหลืองละมุน ประทัดน้อยภูคา กระโถนพระฤาษี กุหลาบแดง กุหลาบขาวเชียงดาว พันธุ์ไม้เฉพาะถิ่น ได้แก่ เต่าร้างยักษ์ หมักอินทร์ คัดเค้าภูคา ประดับหินดาว หญ้าแพรกหิน นมตำเลีย และรางจืดต้นภูคา

สัตว์ป่าที่อาศัยอยู่มีอย่างชุกชุม ได้แก่ ช้างป่า วัวแดง กระทิง กวางป่า เก้ง หมูป่า เลียงผา ลิง ชะนี ค่าง หมี อีเห็น กระจง นาก ไก่ป่า ไก่ฟ้า เหยี่ยวรุ้ง นกมูม นกพญาไฟใหญ่ ฯลฯ มีนกหายาก 2 ชนิด ซึ่งพบที่ดอยภูคา ได้แก่ นกมุ่นรกคอแดง (Rufous-throated Fulvetta) และนกพงใหญ่พันธุ์อินเดีย (Clamorous Reed-Warbler)


:: ที่ตั้งและการเดินทาง ::
อุทยานแห่งชาติดอยภูคา
ต.ภูคา อ. ปัว จ. น่าน 55120
โทรศัพท์ : 0 5473 1362, 0 5470 1000 โทรสาร : 0 5470 1000

รถยนต์
จากอำเภอเมืองน่าน–อำเภอปัว ใช้เส้นทางตามทางหลวงหมายเลข 1080 เป็นถนนลาดยาง ระยะทางประมาณ 60 กิโลเมตร จากอำเภอปัว - ที่ทำการอุทายานแห่งชาติดอยภูคา ตามทางหลวงหมายเลข 1256 (เส้นทางสายอำเภอปัว - อำเภอบ่อเกลือ) สภาพเส้นทาง เป็นถนนลาดยางระยะทาง ประมาณ 25 กิโลเมตร ระยะทางโดยส่วนใหญ่ จะโค้งลาดชัน เพราะสภาพพื้นที่ของอุทยานฯ เป็นภูเขาสูง


รถโดยสารประจำทาง
โดยสารรถประจำทางสายปัว-บ่อเกลือ


:: แหล่งท่องเที่ยว ::
อุทยานแห่งชาติดอยภูคา มีสภาพพื้นที่เป็นเทือกเขาสูงสลับซับซ้อน ซึ่งมีทิวทัศน์ที่สวยงามตามธรรมชาติ อากาศบริสุทธิ์ โดยเฉพาะยอดดอยภูคา มีเมฆปกคลุมตลอดฤดูฝน และฤดูหนาว จึงมีทิวทัศน์ที่สวยงามมาก มีน้ำตกที่น่าสนใจมากมาย เช่น น้ำตกต้นตอง น้ำตกภูฟ้า น้ำตกตาดหลวง น้ำตกวังเปียน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีแหล่งท่องเที่ยว และจุดเด่นที่น่าสนใจ ดังนี้


:: ด้านธรรมชาติที่สวยงาม ::
ชมต้นชมพูภูคา จุดที่สามารถชมต้นชมพูภูคาได้สะดวกที่สุดอยู่ริมทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1256 (บัว-บ่อเกลือ) ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติดอยภูคาประมาณ 4 กิโลเมตร โดยทางอุทยานแห่งชาติ จัดทำเป็นระเบียงไม้ยื่นออกไป ให้ยืนชมต้นชมพูภูคา ที่ยืนต้นสูงขึ้นมาจากหุบเขา ต้นชมพูภูคาต้นนี้เป็นต้นเดียวกับที่ ดร.ธวัชชัย สันติสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤษศาสตร์ พบครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2532 ฤดูกาลที่เหมาะสม แก่การมาชมต้นชมพูภูคา คือในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ซึ่งต้นชมพูภูคาจะออกดอกสีชมพูบานสะพรั่ง


น้ำตกภูฟ้า เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ สูงประมาณ 140 เมตร สายน้ำไหลลดหลั่นลงมาอย่างงดงามเป็นจำนวนถึง 12 ชั้น น้ำตกตั้งอยู่ท่ามกลางป่าดิบเขาอันอุดมสมบูรณ์ มีน้ำตลอดปี แม้ว่าจะเป็นน้ำตกที่สวยงามที่สุดในพื้นที่ แต่ต้องใช้เวลาเดินทางไป-กลับ 3 วัน ผู้สนใจการเดินป่าตามเส้นทางสายนี้ ต้องติดต่อเจ้าหน้าที่นำทาง ที่ที่ทำการอุทยานแห่งชาติ


น้ำตกต้นตอง เป็นน้ำตกหินปูนที่มีอยู่ด้วยกัน 3 ชั้น มีความสูงรวมกันประมาณ 60 เมตร สภาพรอบน้ำตกรุ่นรื่นเหมาะแก่การเล่นน้ำและเที่ยวพักผ่อน น้ำตกตั้งอยู่ริมทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1256 ไม่ไกลจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ มีทางเดินจากถนนเข้าไปถึงตัวน้ำตกระยะทางเพียง 400 เมตร


น้ำตกศิลาเพชร เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ อยู่ทางตอนกลางของอุทยานแห่งชาติดอยภูคา น้ำตกมี 3 ชั้น มีน้ำไหลตลอดปี การเดินทางใช้ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1256 ถึงหมู่บ้านป่าตอง ตำบลศิลาเพชร อำเภอปัว แล้วแยกจากทางหลวงเข้าสู่น้ำตก ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร สภาพทางสะดวก


ถ้ำผาเก้า เป็นถ้ำขนาดใหญ่ ภายในถ้ำกว้างขวาง มีหินงอก หินย้อย มากมาย สัตว์ป่าที่พบมีค้างคาว และเม่นจำนวนมาก การเดินทางใช้ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1081 ถึง กม. ที่ 57 จากนั้นเดินเท้าเข้าไปอีก 1.5 กิโลเมตร ถึง ปากถ้ำ


ถ้ำผาฆ้อง เป็นถ้ำขนาดกลาง ซึ่งประกอบด้วย คูหาถ้ำจำนวนมาก ที่ต่อเนื่องถึงกัน แต่ละคูหามีหินงอก หินย้อยรูปลักษณ์ต่างๆ สวยงาม ในช่วงฤดูฝนถ้ำผาฆ้องจะมีสายน้ำไหลผ่าน จึงไม่สามารถเข้าไปเที่ยวได้ ผู้สนใจชมถ้ำผาฆ้อง ต้องติดต่อขอเจ้าหน้าที่ช่วยนำทาง และเตรียมไฟฉายไปด้วย จุดเริ่มต้นเดินเท้า ไปถ้ำผาฆ้องอยู่ที่บ้านป่าไร่ ซึ่งอยู่ในอำเภอปัว ริมทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1256 บริเวณ กม. ที่ 18 ระยะทางเดินประมาณ 3.5 กิโลเมตร


ถ้ำผาแดง เป็นถ้ำที่สวยงาม และยาวมากที่สุดในอุทยานแห่งชาติดอยภูคา ภายในถ้ำมีหินงอกหินย้อย รวมทั้งน้ำตกและลำธารขนาดใหญ่


ธารน้ำลอด ชาวบ้านเรียกว่า “น้ำออกรู” เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่มหัศจรรย์มาก ภายในถ้ำใต้ภูเขา จะมีลำธารน้ำที่ผุดขึ้นมาจากใต้ภูเขา แล้วไหลออกปากถ้ำไป มีเสียงดังสนั่น เสมือนเสียงน้ำตก และผนังถ้ำจะมีรูเข้าไป มีลักษณะเป็นห้วยลำธาร มีน้ำไหลออกมา ระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร


ดอยภูแว เป็นดอยสูงชัน พื้นที่ส่วนใหญ่ปกคลุมด้วยทุ่งหญ้าและมีลานหินกระจายอยู่หลายแห่ง เช่น ผาแอ่น ผาผึ้ง เมื่อถึงช่วงฤดูหนาว เป็นที่นิยม เดินขึ้นยอดดอยภูแว เพื่อชมบรรยากาศยามดวงอาทิตย์ขึ้น และทะเลหมอกที่ปกคลุม ไปทั่วหุบเขา ใช้เวลาเดินทางไป-กลับ 3 วัน 2 คืน จุดเริ่มต้นการเดินเท้าอยู่ที่บ้านด่าน อำเภอบ่อเกลือ ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ประมาณ 50 กิโลเมตร ผู้สนใจต้องติดต่อขอเจ้าหน้าที่ช่วยนำทาง ที่ที่ทำการอุทยานแห่งชาติ


ป่าปาล์มดึกดำบรรพ์ เป็นป่าปาล์มขนาดใหญ่ของประเทศไทย มีพื้นที่เฉพาะรอบๆ ดอยภูแว ไม่ต่ำกว่า 3,000 ไร่ ลักษณะเป็นป่าปาล์มธรรมชาติดงดิบ แทบจะไม่มีพันธุ์ไม้อื่นใดปะปน ชาวเขาเผ่าแม้วเรียก ปาล์มชนิดนี้ว่า “ต้นจิ๊ก” ไส้ในของลำต้นที่อ่อนใช้ประกอบอาหารรับประทานแทนข้าวได้


สุสานหอย 218 ล้านปี เป็นสุสานหอยแครงซึ่งเป็นหอยทะเล อายุเก่าแก่ถึง 218 ล้านปี


เส้นทางศึกษาธรรมชาติ ระยะทางประมาณ 3.5 กิโลเมตร มีจุดเริ่มต้นอยู่ที่ที่ทำการอุทยานแห่งชาติ และบริเวณที่กางเต็นท์ เส้นทางจะขึ้นเขา ผ่านป่าที่กำลังฟื้นสภาพจากการถูกบุกรุกทำลายในอดีต จากนั้นจึงเข้าสู่ป่าดิบเขา ที่มีไม้ใหญ่ร่มครึ้ม และสภาพป่าชุ่มชื้น เมื่อผ่านดงกล้วยป่าแล้ว จะพบทางเดินลงไปชม จุดเด่นของเส้นทางนี้คือ ต้นชมพูภูคา ไม่ไกลจากต้นชมพูภูคาจะพบต้นเต่าร้างยักษ์ (Caryota sp.) ซึ่งเป็นปาล์มหายากและใกล้สูญพันธุ์ ลำต้นมีขนาดสูงใหญ่กว่าต้นเต่าร้างทั่วไป เมื่อโตเต็มที่จะสูง 8-12 เมตร ต้นเต่าร้างยักษ์มักขึ้นตามไหล่เขา ที่ลาดชัน และตามหน้าผาในป่าดิบเขาที่ระดับความสูง 1,500-1,700 เมตรจากระดับน้ำทะเล ดอยภูคาเป็นพื้นที่เพียงแห่งเดียวในประเทศไทยที่พบต้นเต่าร้างยักษ์สำหรับในพื้นที่อื่น คาดว่าจะมีต้นเต่าร้างยักษ์อยู่ในป่าดิบเขาบนทิวเขาหลวงพระบางในฝั่งประเทศลาว



:: สิ่งอำนวยความสะดวก ::
ห้องสุขาชาย มีห้องสุขาชายไว้บริการ


ห้องสุขาหญิง มีห้องสุขาหญิงไว้บริการ


ที่พักแรม/บ้านพัก มีบ้านพักให้บริการแก่นักท่องเที่ยว


สถานที่กางเต็นท์/เต็นท์ อุทยานแห่งชาติจัดเตรียมสถานที่กางเต็นท์และเต็นท์ไว้ให้บริการนักท่องเที่ยว การสำรองที่พักเต็นท์สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดและสำรองที่พักเต็นท์ได้กับอุทยานแห่งชาติโดยตรง


ที่จอดรถ มีลานจอดรถให้บริการแก่นักท่องเที่ยว


บริการอาหาร มีร้านอาหารไว้บริการนักท่องเที่ยว


ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว มีศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ให้บริการข้อมูลเกี่ยวกับอุทยานแห่งชาติ นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาขอรับบริการข้อมูลได้ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ ระหว่างเวลา 8.00 - 16.30 น.



:: อุทยานแห่งชาติแม่จริม ::

:: ข้อมูลทั่วไป ::
เนื่องจากบริเวณที่ดินป่าน้ำว้าและป่าแม่จริม ป่าน้ำน่านฝั่งตะวันออกตอนใต้ และป่าน้ำว้าและ ป่าห้วยสาลี่ ในท้องที่ตำบลน้ำพาง ตำบลน้ำปาย อำเภอแม่จริม และตำบลไหล่น่าน ตำบลส้านนาหนองใหม่ ตำบลน้ำมวบ อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน ประกอบด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญและมีค่า เช่น พันธุ์ไม้ ของป่า สัตว์ป่านานาชนิด ตลอดจนทิวทัศน์ ป่า ภูเขา ลำธาร และหน้าผาที่สวยงามยิ่ง สมควรกำหนดให้เป็นอุทยานแห่งชาติตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 เพื่อสงวนไว้ให้คงอยู่ในสภาพเดิมมิให้ถูกทำลายหรือเปลี่ยนแปลงไป มีเนื้อที่ประมาณ 271,250 ไร่ หรือ 434 ตารางกิโลเมตร มีกิจกรรมการท่องเที่ยวที่เด่นคือ การล่องแก่งลำน้ำว้าโดยใช้แพยาง ระยะทาง 19.2 กิโลเมตร เริ่มต้นจากบ้านน้ำปุ๊ อำเภอแม่จริม ถึงบ้านหาดไร่ อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน

ความเป็นมา : สืบเนื่องจากนายวิทยา หงษ์เวียงจันทร์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยภูคา จังหวัดน่านได้ทำหนังสือเสนอส่วนอุทยานแห่งชาติว่า พื้นที่ป่าระหว่างอุทยานแห่งชาติดอยภูคาและอุทยานแห่งชาติศรีน่านมีความอุดมสมบูรณ์มาก มีจุดเด่นทางธรรมชาติ ที่สวยงามหลายแห่ง สมควรที่จะได้มีการสำรวจ เพื่อจัดตั้งเป็นพื้นที่อนุรักษ์ ในรูปแบบของอุทยานแห่งชาติ ส่วนอุทยานแห่งชาติเห็นชอบตามเสนอ และรายงานตามลำดับถึงกรมป่าไม้ ซึ่งกรมป่าไม้ได้พิจารณาแล้ว เพื่อเป็นการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล ในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้ สัตว์ป่า แหล่งต้นน้ำลำธารและพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว จึงได้ออกคำสั่งกรมป่าไม้ ที่ 1586/2537 ลงวันที่ 13 กันยายน 2537 ให้นายผดุง อยู่สมบูรณ์ นักวิชาการป่าไม้ 5 ส่วนอุทยานแห่งชาติ ทำหน้าที่หัวหน้าวนอุทยานพุม่วง จังหวัดสุพรรณบุรี และหัวหน้าวนอุทยานพระแท่นดงรัง จังหวัดกาญจนบุรี ในขณะนั้นไปดำเนินการสำรวจจัดตั้งพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าน้ำว้า-ป่าแม่จริม ป่าสงวนแห่งชาติป่าน้ำว้า ป่าห้วยสาลี่ และพื้นที่ป่าใกล้เคียงในท้องที่อำเภอแม่จริม อำเภอเวียงสาและอำเภอใกล้เคียง จังหวัดน่าน เป็นอุทยานแห่งชาติตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 โดยให้ทำหน้าที่หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ แห่งนี้ด้วย

จากการสำรวจพบว่า สภาพป่าดังกล่าวมีความอุดมสมบูรณ์ มีจุดเด่นทางธรรมชาติที่สวยงาม เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญ ตลอดจนมีสัตว์ป่าอีกหลายชนิดเหมาะสมที่จะกำหนดเป็นอุทยานแห่งชาติ และได้นำเสนอข้อมูลเบื้องต้นต่อคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ เมื่อคราวการประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2538 เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2538 ซึ่งคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติได้ลงมติเห็นชอบให้ดำเนินการจัดตั้งพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ตามรายงานเป็นอุทยานแห่งชาติต่อไป อุทยานแห่งชาติแม่จริมจึงมีสถานภาพอยู่ในขั้นเตรียมการประกาศ ที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่จริมอยู่บริเวณริมลำน้ำว้า บ้านห้วยทรายมูล หมู่ที่ 5 ตำบลน้ำปาย อำเภอแม่จริม จังหวัดน่าน


กรมป่าไม้ได้มีหนังสือ ที่ กษ 0712.3/1469 ลงวันที่ 21 กันยายน 2543 ว่าได้ดำเนินการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าน้ำว้าและป่าแม่จริม ป่าน้ำน่านฝั่งตะวันออกตอนใต้ และป่าน้ำว้าและ ป่าห้วยสาลี่ ในท้องที่ตำบลน้ำพาง ตำบลน้ำปาย อำเภอแม่จริม และตำบลไหล่น่าน ตำบลส้านนาหนองใหม่ ตำบลน้ำมวบ อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ พร้อมจัดทำบันทึกหลักการ และเหตุผลประกอบการร่างพระราชกฤษฎีกา และแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกาเรียบร้อยแล้ว และเห็นควรนำเสนอคณะรัฐมนตรี พิจารณาเห็นชอบประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายต่อไป สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีหนังสือ ที่ นร 0602/801 ลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2543 ขอให้กรมป่าไม้จัดตั้งผู้แทน ไปร่วมชี้แจงรายละเอียด ในการตรวจร่างพระราชกฤษฎีกา กำหนดที่ดินป่าดังกล่าว ในวันที่ 7 ธันวาคม 2543 และกรมป่าไม้ได้สั่งการให้ นายนฤมิต ประจิมทิศ เจ้าหน้าที่บริหารงานป่าไม้ 6 ส่วนอุทยานแห่งชาติ ไปร่วมชี้แจงรายละเอียดการประชุมเพื่อตรวจพิจารณาร่างพระราชกฤษฎีกาฯ และที่ประชุมพิจารณาแล้วได้มอบหมายให้ ผู้แทนกรมป่าไม้รับไปแก้ไขรายละเอียดแผนที่ฯ ให้เป็นไปตามผลการประชุมคณะกรรมการกฤษฎีกาต่อไป

ต่อมาสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีหนังสือ ที่ นร 0602/371 ลงวันที่ 11 เมษายน 2544 แจ้งว่า ได้ตรวจพิจารณาร่างพระราชกฤษฎีกา กำหนดป่าน้ำว้าและป่าแม่จริม ป่าน้ำน่านฝั่งตะวันออกตอนใต้ และป่าน้ำว้าและป่าห้วยสาลี่ ในท้องที่ตำบลน้ำพาง ตำบลน้ำปาย อำเภอแม่จริม และตำบลไหล่น่าน ตำบลส้านนาหนองใหม่ ตำบลน้ำมวบ อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน เสร็จแล้ว และขอให้กรมป่าไม้ แจ้งยืนยันความเห็นชอบ ในร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว กลับไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และกรมป่าไม้เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าว ตามหนังสือ ที่ กษ 0712.3/11313 ลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2544

ปัจจุบันกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกาเพื่อจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติต่อไป


:: ลักษณะภูมิประเทศ ::
ภูมิประเทศของอุทยานแห่งชาติแม่จริม มีลักษณะเป็นภูเขาสลับซับซ้อนมีความสูงชันมากกว่า 35 เปอร์เซ็นต์ ทอดตัวจากทิศเหนือไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ มีเทือกเขาหลวงพระบางซึ่งทอดตัวจากทิศเหนือลงสู่ทิศใต้ เป็นเขตแนวเขตกั้นระหว่างประเทศไทยและประเทศลาว อยู่เหนือจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 300-1,652 เมตร ความสูงของเทือกเขาจะค่อยลดหลั่นไปทางทิศตะวันตก ยอดดอยที่มีความสูงมากที่สุดคือ ดอยขุนลาน (1,652 เมตร) อยู่ทางทิศตะวันออกของพื้นที่ รองลงมาคือ ดอยแดนดิน (1,558 เมตร) ดอยขุนน้ำปูน (1,530 เมตร) ดอยขุนคูณ (1,307 เมตร) มีแม่น้ำว้าซึ่งไหลมาจากเทือกเขาหลวงพระบางไหลผ่านทางทิศตะวันตกของพื้นที่ เป็นระยะทางประมาณ 7.5 กิโลเมตร มีลำธาร และลำห้วยที่เป็นต้นน้ำน่านอยู่หลายสาย เช่น ห้วยทรายมูล ห้วยสาสี่ ห้วยบ่ายน้อย ห้วยบ่ายหลวง ห้วยน้ำพาง ลำน้ำแปง และแต่ละสายล้วนเป็นอู่น้ำของราษฎรรอบพื้นที่


:: ลักษณะภูมิอากาศ ::
ลักษณะภูมิอากาศแบ่งออกเป็น 3 ฤดู คือฤดูร้อนซึ่งได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมฤดูร้อนที่พัดจากทิศตะวันออกเฉียงใต้ฝั่งทะเลอันดามัน เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม ฤดูฝนได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดผ่าน เริ่มเดือนมิถุนายนถึงเดือนตุลาคม และฤดูหนาวซึ่งได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ พัดพาเอาความหนาวเย็นจากแถบขั้วโลกเหนือมายังประเทศไทย เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์

ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยรายปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2535-2541 วัดที่สถานีอุตุนิยมวิทยา จังหวัดน่าน วัดได้ 1,206 มิลลิเมตรต่อปี เฉลี่ยสูงสุดในเดือนสิงหาคมวัดได้ 320 มิลลิเมตร และต่ำสุดในเดือนมกราคม วัดได้ 6 มิลลิเมตร อุณหภูมิเฉลี่ยตั้งแต่ พ.ศ. 2538 – 2541 วัดได้ 27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุดเดือนพฤษภาคม วัดได้ 30 องศาเซลเซียส และต่ำสุดเดือนมกราคม วัดได้ 22 องศาเซลเซียส

ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538-2541 วัดได้ 76 เปอร์เซ็นต์ ปริมาณความชื้นสัมพัทธ์ เฉลี่ยสูง สุดในเดือนสิงหาคม 85 เปอร์เซ็นต์ และต่ำสุดในเดือนมีนาคม 63 เปอร์เซ็นต์ ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยรายปี 77 เปอร์เซ็นต์

:: พรรณไม้และสัตว์ป่า ::
สภาพป่าอุทยานแห่งชาติแม่จริมประกอบด้วย ป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา ป่าสนเขา ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง สัตว์ป่าที่ เด่น ได้แก่ เสือ เลียงผา หมี และนกยูง


:: ที่ตั้งและการเดินทาง ::
อุทยานแห่งชาติแม่จริม
35 หมู่ 5 บ้านห้วยทรายมูล ต.น้ำปาย อ. แม่จริม จ. น่าน 55170
โทรศัพท์ : 0 5473 0040-1

- รถยนต์
สามารถเดินทางไปอุทยานแห่งชาติได้ 2 เส้นทาง คือ

- เส้นทางแรก จากจังหวัดแพร่ ผ่านอำเภอเวียงสา ตามเส้นทางบ้านไหล่น่าน บ้านบุญเรือง บ้านนาสา เลี้ยวขวาตามถนนไปบ้านท่าข้าม บ้านปากุง บ้านห้วยสอน เลี้ยวซ้ายไปตามเส้นทางไปอำเภอแม่จริมถึงบ้านห้วยทรายมูลและเลี้ยวขวาเข้าอุทยานแห่งชาติแม่จริม จากปากทางบ้านห้วยทรายมูล ระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร รวมระยะทางจากอำเภอเวียงสาถึงอุทยานแห่งชาติแม่จริมประมาณ 31 กิโลเมตร

- เส้นทางที่สอง จากจังหวัดน่าน ข้ามสะพานแม่น้ำน่านไปตามทางหลวงหมายเลข 1168 เลี้ยวซ้ายผ่านวัดพระธาตุแช่แห้งไปตามทางหลวงสายน่าน-แม่จริม ระยะทางประมาณ 38 กิโลเมตร จากอำเภอแม่จริมไปตามทางหลวงหมายเลข 1243 (บ้านนาเซีย-บ้านน้ำมวน) ระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตร ถึงบ้านห้วยทรายมูลเลี้ยวซ้ายเข้าที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่จริม ระยะทาง 4 กิโลเมตร รวมระยะทางจากจังหวัดน่านถึงอุทยานแห่งชาติแม่จริม 57 กิโลเมตร

:: แหล่งท่องเที่ยว ::
- เนื่องจากองค์ประกอบของพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่จริมมีลักษณะเป็นภูเขาสูงชัน มีสภาพป่าที่ยังคงสมบูรณ์ และมีน้ำว้าไหลผ่านทางทิศตะวันตกของพื้นที่เป็นระยะทางถึง 7.5 กิโลเมตรทำให้มีจุดเด่นทางธรรมชาติ ทั้งที่เป็นป่าไม้ วัฒนธรรม และลำน้ำ ดังนี้


:: ด้านธรรมชาติที่สวยงาม ::
- เส้นทางศึกษาธรรมชาติ “ชบาป่า” สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระดำเนินศึกษาธรรมชาติในเส้นทางนี้ เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2542 ทรงพบดอกไม้ป่าสกุลเดียวกับชบา ดอกสีชมพูอมม่วงขนาด 2-3 เซ็นติเมตร. พระราชทานนามว่า “ชบาป่า” (Urena lobata) ทางเดินมีระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร จากบริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติเป็นวงรอบไปสิ้นสุดบริเวณหาดทรายริมลำน้ำว้า ผ่านสภาพป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณ มีสถานีสื่อความหมายธรรมชาติ 9 สถานี ได้แก่ เต็งรังกันไฟ การทดแทนกษัยการ (EROSION) เกื้อกูล ไตรลักษณ์ เป้ง ความเหมือนที่แตกต่างพรมแดนแห่งป่า (ECOTONE) และ”ไทร” นักบุญแห่งป่านักฆ่าเลือดเย็น ตามลำดับ มีจุดชมวิวทิวทัศน์ของลำน้ำว้า และขุนเขาหลายจุด ใช้เวลาเดินประมาณ 1.5 ชั่วโมง


- เส้นทางเดินป่าตามลำน้ำแปง เป็นเส้นทางสัญจรในอดีตระหว่างบ้านร่มเกล้ากับบ้านห้วยทรายมูล มีจุดเริ่มต้นจากบ้านร่มเกล้าถึงปากน้ำแปงบรรจบลำน้ำว้า ระยะทางประมาณ 12 กิโลเมตร เดินทางเลียบตามริมลำน้ำแปง ผ่านป่าดงดิบ และป่าเบญจพรรณระหว่างเส้นทางาจะพบน้ำตกขนาดเล็ก ถ้ำ หน้าผา ธรรมชาติ และพรรณไม้ที่สวยงาม


- เส้นทางเดินป่าบ้านน้ำพาง-บ้านร่มเกล้า เป็นเส้นทางเดินสัญจรในอดีตของชาวบ้านร่มเกล้า ระยะทางประมาณ 8 กิโลเมตร ตามสันเขาผ่านสภาพป่าดงดิบเขาอันอุดมสมบูรณ์ มีป่าเต็งรัง ป่าสนเขา และป่าเบญจพรรณสลับบางช่วงสามารถพบเห็นนกได้หลายชนิด อากาศเย็นสบาย มีทะเลหมอก หุบเขาและพรรณไม้ที่สวยงามตลอดเส้นทางใช้เวลาเดินทางประมาณ 5 ชั่วโมง


- เส้นทางปีนผาหน่อ “ผาหน่อ” เป็นภูเขาหินปูน รูปแท่งเข็ม หรือหน่อไม้ มีความสูง 824 เมตร จากระดับน้ำทะเล สันนิษฐานว่า เกิดจากการยุบตัวของพื้นดินเชิงเขาบริเวณรอบๆ เป็นหน้าผาชันเกือบ 90 องศา เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่ชอบการเดินป่าและปีนเขา หากขึ้นถึงยอดเขาจุสามารถมองเห็นทิวทัศน์ที่สวยงามได้รอบด้าน ในผาหน่อพบถ้ำที่เป็นที่อยู่ของ ค้างคาว และเลียงผา บริเวณหน้าผาพบภาพเขียนโบราณเป็นรูปเลขาคณิตและรูปคล้ายผู้หญิงตั้งครรภ์ปรากฎอยู่ ระยะทางไป-กลับ ประมาณ 8 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง ประมาณ 6 ชั่วโมง


- เส้นทางขับรถชมวิว ตามเส้นทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1259 (บ้านน้ำพาง-บ้านร่มเกล้า) ระยะทาง 25 กิโลเมตร ตัดตาม สันเขาผ่านสภาพป่าอันอุดมสมบูรณ์ตลอดเส้นทาง สามารถจอดรถชมทิวทัศน์หุบเขาและหมู่บ้านทะเลหมอกยามเช้า ตลอดจนทิวทัศน์พระอาทิตย์ตกดินได้หลายจุด ระหว่างเส้นทางมีหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติแม่จริมที่ 1 (ห้วยเต่า) ตั้งอยู่ มีบ้านพักและสถานที่กางเต็นท์ไว้บริการสิ้นสุดเส้นทางชมวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของหมู่บ้านชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง และโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงพื้นที่ลุ่มน้ำน่าน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ


:: ด้านวัฒนธรรมและประเพณี ::
- หมู่บ้านชาวเขาบ้านร่มเกล้า เป็นหมู่บ้านชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง อยู่ในพื้นที่กันออกบริเวณใจกลางพื้นที่อุทยานแห่งชาติ มีโครงการพัฒนาเพื่อความมั่งคงพื้นที่ลุ่มน้ำน่าน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ พื้นที่ 3 บ้านร่มเกล้า เป็นหน่วยงานจัดสรรดูแลการใช้ประโยชน์พื้นที่ สามารถชมวิถีความเป็นอยู่ วัฒนธรรม และการดำรงชีวิตตามแบบของชาวไทยภูเขาเผ่าม้งได้


:: ด้านท่องเที่ยวผจญภัย ::
- ล่องแก่งลำน้ำว้า เป็นการล่องแก่งโดยใช้แพยาง (ลำละไม่เกิน 8 คน) มีจุดเริ่มต้นบริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่จริม ถึงจุดสิ้นสุด (ปางช้าง) ระยะทางประมาณ 12 กิโลเมตร ใช้เวลา 2 ชั่วโมง หรือสิ้นสุดที่บ้านหาดไร่ ระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตร ใช้เวลา 3 ชั่วโมง ตลอดเส้นทางมีแก่งต่างๆ ให้ผจญภัยและเล่นน้ำ กว่า 10 แก่ง สองข้างทาง เป็นหาดทรายและป่าไม้อันอุดมสมบูรณ์ มีธรรมชาติ สวนหิน และหุบเขาที่สวยงามตลอดเส้นทางสามารถล่องแก่งได้ตลอดทั้งปี ยกเว้นวันที่น้ำหลาก ไม่สมควรล่องแก่งเพราะอาจเกิดอันตรายได้ง่าย


:: สิ่งอำนวยความสะดวก ::
ห้องสุขาชาย มีห้องสุขาชายไว้บริการ

ห้องสุขาหญิง มีห้องสุขาหญิงไว้บริการ

ที่พักแรม/บ้านพัก มีบ้านพักให้บริการแก่นักท่องเที่ยว


- สถานที่กางเต็นท์/เต็นท์ มีสถานที่กางเต็นท์ พร้อมห้องน้ำ-ห้องสุขารวม ไว้ให้บริการ ท่านสามารถนำเต็นท์มากางเอง หรือติดต่อขอใช้บริการเต็นท์ของอุทยานแห่งชาติ ซึ่งมีเต็นท์ขนาด 2-3 คน ให้บริการจำนวน 15 หลัง รายละเอียดเกี่ยวกับสถานที่กางเต็นท์และเต็นท์ ขอให้ติดต่อสอบถามกับอุทยานแห่งชาติโดยตรง
(ข้อมูลจำนวนเต็นท์ : 14/10/47)


- ที่จอดรถ มีลานจอดรถให้บริการแก่นักท่องเที่ยว


- บริการอาหาร มีร้านอาหารไว้บริการนักท่องเที่ยว

0 ความคิดเห็น: