วันศุกร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

การท่องเที่ยวจังหวัดอ่างทอง

:: จังหวัดอ่างทอง ::

ข้อมูลทั่วไป จังหวัดอ่างทอง

" พระสมเด็จเกษไชโย หลวงพ่อโตองค์ใหญ่ วีรไทยใจกล้า ตุ๊กตาชาววัง โด่งดังจักสาน
ถิ่นฐานทำกลอง เมืองสองพระนอน "

อ่างทอง จังหวัดซึ่งอุดมไปด้วยงานหัตถกรรมพื้นถิ่นไม่ว่าจะเป็นการทำอิฐดินเผา งานปั้นตุ๊กตาชาววัง การทอผ้า การทำเครื่องเงิน การผลิตเครื่องจักสาน การทำกลอง ทั้งยังเป็นแหล่งกำเนิดเพลงพื้นบ้านลิเก เป็นจังหวัดของวีรชนคนกล้าในศึกบางระจัน และยังมีวัดมากมายกว่า 200 วัดอันเป็นสถานที่น่าศึกษาประวัติศาสตร์ และเรื่องราวความเป็นมาในอดีตของชาติไทย

อ่างทองเดิมชื่อ เมืองวิเศษชัยชาญ ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำน้อยบนพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญของกรุงศรีอยุธยาในการสู้รบกับกองทัพพม่า ดังปรากฏในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาหลายตอน โดยเฉพาะในช่วงก่อนกรุงศรีอยุธยาแตกในปีพ.ศ. 2310 พม่าได้ใช้แขวงเมืองวิเศษชัยชาญเป็นที่ตั้งค่าย เพื่อตีกรุงศรีอยุธยา และทำให้เกิดการสู้รบครั้งสำคัญ ที่จารึกไว้ในประวัติศาสตร์ไทย นั่นคือ ศึกบางระจัน ปลายสมัยกรุงธนบุรีได้ย้ายที่ตั้งเมือง มาอยู่บริเวณฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยาที่บ้านบางแก้ว เรียกชื่อใหม่ว่า อ่างทอง เนื่องจากเป็นที่ลุ่มและอู่ข้าวอู่น้ำอัน เป็นเสมือนขุมทรัพย์ที่มีค่า

จังหวัดอ่างทองเป็นจังหวัดเล็กๆ ตั้งอยู่บริเวณภาคกลางตอนล่าง มีเนื้อที่ 968 ตารางกิโลเมตร ลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำสายสำคัญไหลผ่านสองสาย คือ แม่น้ำน้อย และแม่น้ำเจ้าพระยา จังหวัดอ่างทองแบ่งการปกครองออกเป็น 7 อำเภอ คือ อำเภอเมืองอ่างทอง อำเภอวิเศษชัยชาญ อำเภอแสวงหา อำเภอป่าโมก อำเภอโพธิ์ทอง อำเภอไชโย และอำเภอสามโก้


อาณาเขตติดต่อ
ทิศเหนือ ติดต่อกับจังหวัดสิงห์บุรี
ทิศตะวันออก ติดต่อกับจังหวัดลพบุรีและพระนครศรีอยุธยา
ทิศตะวันตก ติดต่อกับจังหวัดสุพรรณบุรี
ทิศใต้ ติดต่อกับจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

การเดินทาง
รถยนต์ จากกรุงเทพฯสามารถเดินทางได้หลายเส้นทางคือ
เส้นทางที่ 1 ใช้เส้นทางสายพหลโยธิน ทางหลวงหมายเลข 32 จากกรุงเทพฯ แยกเข้าเส้นทางสายเอเชีย ผ่านอำเภอบางปะอิน-พระนครศรีอยุธยา-อำเภอบางปะหัน-อ่างทอง รวมระยะทาง 105 กิโลเมตร
เส้นทางที่ 2 ใช้เส้นทางตัดใหม่ ข้ามสะพานพระปิ่นเกล้า - ตลิ่งชัน เข้าเส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 340 ผ่านจังหวัดนนทบุรี-ปทุมธานี-พระนครศรีอยุธยา-สุพรรณบุรี-อ่างทอง รวมระยะทางประมาณ 150 กิโลเมตร
เส้นทางที่ 3 ใช้เส้นทางกรุงเทพฯ-ปทุมธานี ผ่านปากเกร็ด เข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3111 ผ่านอำเภอบางไทร-อำเภอเสนา-พระนครศรีอยุธยา จากนั้นใช้เส้นทางหมายเลข 3263 และต่อเข้าทางหลวงหมายเลข 309 เข้าอำเภอป่าโมก-อ่างทอง รวมระยะทาง 140 กิโลเมตร

รถโดยสารประจำทาง บริษัท ขนส่ง จำกัด มีบริการรถโดยสารประจำทางระหว่างกรุงเทพฯ-อ่างทอง ทั้งรถธรรมดาและรถปรับอากาศ ทุกวัน สามารถขึ้นรถได้ที่สถานีขนส่งสายเหนือ ถนนกำแพงเพชร 2 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร. 537-8055, 936-2852-66, 936-3603

ระยะทางจากอำเภอเมืองอ่างไปยังอำเภอต่างๆ
อำเภอเมือง-อำเภอป่าโมก ระยะทาง 12 กิโลเมตร
อำเภอเมือง-อำเภอไชโย ระยะทาง 15 กิโลเมตร
อำเภอเมือง-อำเภอโพธิ์ทอง ระยะทาง 11 กิโลเมตร
อำเภอเมือง-อำเภอแสวงหา ระยะทาง 25 กิโลเมตร
อำเภอเมือง-อำเภอวิเศษชัยชาญ ระยะทาง 13 กิโลเมตร
อำเภอเมือง-อำเภอสามโก้ ระยะทาง 27 กิโลเมตร

ระยะทางจากจังหวัดอ่างทองไปยังจังหวัดใกล้เคียง
จังหวัดอ่างทอง-จังหวัดลพบุรี ระยะทาง 18 กิโลเมตร
จังหวัดอ่างทอง-จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระยะทาง 31 กิโลเมตร
จังหวัดอ่างทอง-จังหวัดสิงห์บุรี ระยะทาง 40 กิโลเมตร
จังหวัดอ่างทอง-จังหวัดสุพรรณบุรี ระยะทาง 80 กิโลเมตร

เทศกาลและงานประเพณี จังหวัดอ่างทอง
งานเมืองอู่ข้าวอู่น้ำและงานกาชาดประจำปี เป็นงานประจำปีของชาวอ่างทองที่จัดขึ้นหลังฤดูเก็บเกี่ยว ช่วงระหว่างปลายเดือนธันวาคมและต้นเดือนมกราคมของทุกปี มีกิจกรรมที่น่าสนใจหลายอย่างทั้งด้านวัฒนธรรม การแสดงนิทรรศการ การแสดงจำหน่ายและสาธิตหัตถกรรมพื้นบ้าน การออกร้าน การประกวดกุลสตรีเมืองอู่ข้าวอู่น้ำ การประกวดพืชผลทางการเกษตร และการแข่งขันกีฬาชาวนา รวมทั้งมหกรรมต่างๆ มากมาย งานนี้จัดบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดอ่างทอง
งานประเพณีแข่งเรือยาววัดป่าโมก จัดขึ้นบริเวณวัดป่าโมกวรวิหาร อำเภอป่าโมก โดยแบ่งออกเป็น 2 ช่วงคือช่วงเดือนมีนาคม เป็นงานนมัสการและสมโภชพระพุทธไสยาสน์และพระพุทธบาท 4 รอย และช่วงเดือนตุลาคมจะเป็นงานแข่งเรือยาวประเพณีและการประชันเรือยาวที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ
งานนมัสการหลวงพ่อวัดไชโย ภายในงานมีการนมัสการและสมโภชสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) และพระมหาพุทธพิมพ์ โดยจัดขึ้นราวเดือนห้าและเดือนสิบเอ็ดของทุกปี
งานลอยกระทงวัดสี่ร้อย ในวันลอยกระทงของทุกปี มีการจัดงานบนถวายพลุหลวงพ่อป่าเลไลยก์ ซึ่งชาวอ่างทองนับถือว่าศักดิ์สิทธ์พร้อมไปกับงานลอยกระทง
งานเชิญเจ้าพ่อกวนอูและงานแห่มังกร จัดขึ้นเดือนธันวาคมของทุกปี บริเวณตลาดเมืองอ่างทอง ภายในงานมีการเชิญเจ้าพ่อกวนอู การแห่มังกร งานออกร้านสินค้าราคาถูก

สถานที่ท่องเที่ยว จังหวัดอ่างทอง
อำเภอเมือง
ศาลหลักเมือง ของจังหวัดอ่างทองอยู่ตรงข้ามกับศาลากลางจังหวัด เป็นอาคารจตุรมุข ตัวศาลสูงจากพื้นประมาณ 1.5 เมตร ศาลหลักเมืองจังหวัดอ่างทองเป็นศาลหลักเมืองแห่งที่ 2 ที่มีการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังทั้ง 4 ด้าน (ศาลหลักเมืองแห่งแรกที่มีภาพจิตรกรรมฝาผนังคือ ศาลหลักเมือง กรุงเทพฯ) ภายในศาลมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ก้านแย่งสวยงามมาก ศาลหลักเมืองอ่างทอง เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สวยงามสมกับเป็นหลักชัย และหลักใจของประชาชนชาวอ่างทองอย่างยิ่ง ผู้ที่มีโอกาสไปเยือนจังหวัดนี้ ไม่ควรพลาดการไปเคารพสักการะศาลหลักเมืองแห่งนี้
วัดอ่างทองวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ตั้งอยู่ตรงข้ามศาลากลางจังหวัด เดิมเป็นวัดเล็กๆ 2 วัด ชื่อ วัดโพธิ์เงิน และวัดโพธิ์ทอง สร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดฯ ให้รวมวัดสองวัดเป็นวัดเดียวกันเมื่อ พ.ศ. 2443 และพระราชทานนามว่า วัดอ่างทอง วัดนี้มีพระอุโบสถที่งดงาม มีพระเจดีย์ทรงระฆัง ประดับด้วยกระจกสี และหมู่กุฏิทรงไทย สร้างด้วยไม้สักงดงามเป็นระเบียบ ซึ่งล้วนเป็นสถาปัตยกรรมตามแบบ ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
วัดมธุรสติยาราม ตั้งอยู่ริมถนนสายเอเชีย เลยสี่แยกสายเอเชียเข้าอ่างทองไปประมาณ 300 เมตร เลี้ยวขวาเข้าปั้มน้ำมันไปประมาณ 30 เมตร เดิมชื่อวัดกุฏิ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำประคำทอง ซึ่งเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาเก่ามาแต่โบราณ สันนิษฐานว่า วัดนี้น่าจะสร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย มีหลักฐานสำคัญเหลือให้เห็นคือ กำแพงแก้วพระอุโบสถเจดีย์และวิหาร ซึ่งวางจัดกลุ่มได้เหมาะสม มีรูปทรงที่งดงาม พระอุโบสถเจดีย์เป็นรูปโค้งสำเภาก่ออิฐถือปูน กว้าง 4 เมตร ยาว 8 เมตร หลังคาสูง 6 เมตรมุงด้วยกระเบื้องดินเผา สิ่งที่เป็นศิลปะชั้นเยี่ยมของพระอุโบสถได้แก่ หน้าบัน ทางด้านหน้าและด้านหลังพระอุโบสถ เป็นหน้าบันไม้แกะสลักลายอย่างวิจิตรพิศดาร เป็นลายดอกบัวอยู่กลาง ก้านขด ปลายลายเป็นช่องหางโต แปลกตรงที่ลายดอกบัว มีลักษณะคล้ายจะเป็นเทพนมอยู่ยอดดอกบัว
วัดจันทรังษี ตั้งอยู่ที่บ้านนา หมู่ 9 ต.หัวไผ่ มีพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งประชาชนนิยมเรียกพระนามว่า หลวงพ่อโยก และวัดจันทรังษี กำลังดำเนินการก่อสร้างพระวิหารหลวงพ่อสดซึ่งองค์หลวงพ่อสดเป็นพระพุทธรูปโลหะ ขนาดหน้าตักกว้าง 6 เมตร 9 นิ้ว สูง 9.9 เมตร องค์ใหญ่ที่สุดในโลก
วัดต้นสน อยู่ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาตรงข้ามกับวิทยาลัยเทคนิคอ่างทอง เป็นวัดเก่าแก่โบราณ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางสมาธิซึ่งมีชื่อว่า “สมเด็จพระศรีเมืองทอง” ขนาดหน้าตักกว้าง 6 วา 3 ศอก 9 นิ้ว สูง 9 วา 2 ศอก 19 นิ้ว นับเป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยโลหะขนาดใหญ่ที่สุดองค์แรก และมีพุทธลักษณะที่สวยงามมากอีกองค์หนึ่ง
วัดราชปักษี อยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาด้านทิศตะวันออกจากอำเภอเมืองไปทางทิศใต้ประมาณ 3 - 4 กิโลเมตร ตามเส้นทางหลวงหมายเลข 309 (สายอ่างทอง-อยุธยา) ภายในวัดมีพระพุทธไสยาสน์องค์ใหญ่ มีลักษณะคล้ายพระพุทธไสยาสน์วัดป่าโมกแต่มีขนาดย่อมกว่าเล็กน้อย สันนิษฐานว่า เป็นพระพุทธรูปเก่าสมัยอยุธยา เดิมองค์พระชำรุดทรุดโทรมอย่างมาก ปัจจุบันได้รับการบูรณะขึ้นมาใหม่เป็นวัดที่น่าไปเที่ยวชมและนมัสการยิ่งวัดหนึ่ง
วัดสุวรรณเสวริยาราม อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาด้านทิศตะวันออกในท้องที่ตำบลตลาดกรวด จากศาลากลางจังหวัด ไปตามถนนคลองชลประทาน 3 กิโลเมตร ภายในพระวิหารประดิษฐาน พระพุทธไสยาสน์ขนาดองค์พระยาวประมาณ 10 วา และยังมีโบราณวัตถุต่างๆที่มีอายุราว 100 ปี บ้านทรงไทยจำลอง ส่วนประกอบบ้านทรงไทย เครื่องเรือนไม้ตาล ตามเส้นทางสายอยุธยา-ป่าโมก และตำบลโพสะ เป็นแหล่งทำส่วนประกอบของบ้านทรงไทยแบบต่างๆ ด้วยฝีมือเชิงช่างที่ละเอียดอ่อนเชี่ยวชาญสืบทอดจากบรรพบุรุษอันคงความเป็นเอกลักษณ์แบบไทย นอกจากนี้ยังมีบ้านทรงไทยจำลอง และสินค้าเฟอร์นิเจอร์ทำจากไม้ตาลประเภทต่างๆจำหน่าย

อำเภอป่าโมก
วัดป่าโมกวรวิหาร อยู่ในเขตเทศบาลตำบลป่าโมก ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาด้านทิศตะวันตกห่างจากอำเภอเมืองอ่างทองไป 18 กิโลเมตร ตามเส้นทางหลวงหมายเลข 309 สายอ่างทอง-อยุธยา ภายในวัดนี้มีพระพุทธไสยาสน์ที่งดงามมากองค์หนึ่งของเมืองไทย องค์พระก่ออิฐถือปูนปิดทอง มีความยาวจากพระเมาลีถึงปลายพระบาท 22.58 เมตร สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยสุโขทัย มีประวัติความเป็นมาเล่าขานกันว่า พระพุทธรูปองค์นี้ลอยน้ำมาจมอยู่หน้าวัด ราษฎรบวงสรวงแล้วชักลากขึ้นมาไว้ที่ริมฝั่งแม่น้ำ ในพระราชพงศาวดารกล่าวว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราชก่อนที่จะยกทัพไปรบกับพระมหาอุปราช ได้เสด็จมาชุมนุมพล และถวายสักการะบูชาพระพุทธรูปองค์นี้ ต่อมาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระได้เสด็จมาควบคุมการชะลอองค์พระให้พ้นจากกระแสน้ำเซาะตลิ่งพัง และนำไปไว้ยังวิหารใหม่ที่วัดตลาด ห่างจากฝั่งแม่น้ำ 168 เมตร แล้วโปรดให้รวมวัดตลาดกับวัดชีปะขาวเป็นวัดเดียวกัน พระราชทานนามว่า วัดป่าโมกเพราะบริเวณนั้นมีต้นโมกมากมาย สิ่งที่น่าสนใจในวัดนี้ นอกจากพระพุทธไสยาสน์และตัวพระวิหารแล้วยังมี วิหารเขียน มณฑปพระพุทธบาท 4 รอยเป็นต้น
วัดสระแก้ว อยู่ห่างจากวัดท่าสุทธาวาส ประมาณ 200 เมตร ตามถนนเลียบคลองชลประทาน หากเดินทางมาจากอยุธยาตามเส้นทาง อยุธยา-อ่างทอง (ทางหลวงหมายเลข 309) ทางเข้าวัดจะอยู่ซ้ายมือห่างจากอยุธยาประมาณ 15 กิโลเมตร วัดนี้สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2242 เดิมชื่อวัดสระแก เป็นสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าที่มีเด็กอยู่ในความดูแลมาก จึงได้จัดตั้งคณะลิเกเด็กกำพร้าวัดสระแก้วเพื่อหารายได้ช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูเด็กกำพร้า จนสามารถสร้างชื่อเสียงให้กับวัดแห่งนี้ ภายในวัดสระแก้วยังมีอาคาร“สามัคคีสมาคาร” ซึ่งเป็นอาคารศูนย์โครงการทอผ้าตามพระราชประสงค์ก่อตั้งเมื่อพ.ศ.2524 อยู่ในความรับผิดชอบของ กองอุตสาหกรรมในครอบครัว กระทรวงอุตสาหกรรม ภายในอาคารมีสินค้าผ้าทอคุณภาพดีเช่น ผ้าซิ่น ผ้าขาวม้า ผ้าปูโต๊ะ ปลอกหมอน ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีศูนย์วัฒนธรรมอำเภอป่าโมก ภายในมีสาธิตการทอผ้า การทำเครื่องประดับเงิน การปั้นตุ๊กตาชาววัง เป็นการเผยแพร่งานฝีมือของชาวอำเภอป่าโมกซึ่งเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายและมีจำหน่ายให้แก่ผู้สนใจ ทั้งสองแห่งเปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา 9.00-16.00 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร. (035) 661169 หรือที่โรงเรียนวัดสระแก้วโทร. (035) 661950-1
วัดท่าสุทธาวาส อยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาด้านทิศตะวันออกเขตตำบลบางเสด็จ หากใช้เส้นทางสาย อยุธยา-อ่างทอง (ทางหลวงหมายเลข 309) ทางเข้าวัดจะอยู่ทางซ้ายมือก่อนถึงตัวจังหวัดอ่างทองประมาณ 17 กิโลเมตร หากมาจากกรุงเทพฯห่างจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประมาณ 14 กิโลเมตร วัดนี้เป็นวัดเก่าแก่แต่โบราณ สมัยอยุธยาตอนต้นในเวลาศึกสงครามบริเวณนี้จะเป็นเส้นทางเดินทัพข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารีทรงรับวัดนี้ไว้ในพระราชอุปถัมภ์ มีการจัดสร้างพลับพลาที่ประทับกลางสระน้ำ สร้างพระเจดีย์เพื่อแสดงพระพุทธรูปโบราณและโบราณวัตถุต่างๆ รวมทั้งสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชและสมเด็จพระเอกาทศรถ ส่วนภายในพระอุโบสถสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จิตรกรส่วนพระองค์และนักเรียนในโครงการศิลปาชีพเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง บริเวณวัดแห่งนี้ร่มรื่นด้วยต้นไม้ขนาดใหญ่และทัศนียภาพสวยงามริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
ศูนย์ตุ๊กตาชาววังบ้านบางเสด็จ ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านบางเสด็จ ไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข 309 จากอยุธยาไปประมาณ 16 กิโลเมตร จะมีทางแยกซ้ายมือเข้าสู่บ้านบางเสด็จ อยู่ติดกับวัดท่าสุทธาวาส ตำบลนี้เดิมชื่อบ้านวัดตาลต่อมาได้เปลี่ยนเป็นชื่อบ้านบางเสด็จ เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถได้เสด็จพระราชดำเนิน พระราชทานความช่วยเหลือแก่ราษฎร ผู้ประสบอุทกภัยในปีพ.ศ.2518 ซึ่งสร้างความปลื้มปิติให้แก่ราษฎรเป็นอันมาก เพื่อเป็นการระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณจึงได้เปลี่ยนชื่อบ้านวัดตาลเป็น บ้านบางเสด็จ
โครงการตุ๊กตาชาววังที่บ้านบางเสด็จ เป็นโครงการที่สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถทรงมีพระราชดำริ ให้จัดตั้งขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2519 เพื่อให้เป็นอาชีพเสริมเพิ่มพูนรายได้ให้แก่ราษฎร ภายในหมู่บ้านบางเสด็จนี้ นอกจากจะได้ชมทัศนียภาพอันร่มรื่นและสวยงามริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว ยังสามารถชมการปั้นตุ๊กตาชาววัง จากบ้านเรือนราษฎรละแวกนั้นได้อย่างเป็นกันเอง นอกจากนี้มีการรวมกลุ่มในรูปของสหกรณ์ โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่หน้าวัดท่าสุทธาวาส ซึ่งจะจัดให้สมาชิกมาสาธิตการปั้นตุ๊กตาชาววัง พร้อมกับจัดจำหน่ายในราคาที่ย่อมเยา ตุ๊กตาชาววังเป็นประดิษฐกรรมดินเหนียวที่สวยงาม แสดงให้เห็นวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน และวัฒนธรรมประเพณีไทยต่างๆ เช่น การปั้นเป็นรูปการละเล่นของเด็กไทย วงมโหรีปี่พาทย์ หรือรูปผลไม้ไทยหลากหลายชนิด ซึ่งล้วนมีความสวยงามน่ารัก และเหมาะที่จะซื้อเป็นของฝาก หรือของที่ระลึกเป็นอย่างยิ่ง
หมู่บ้านทำกลอง ตั้งอยู่ที่ ตำบลเอกราช หลังตลาดป่าโมก ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา การเดินทางใช้ถนนสายใน ผ่านหน้าที่ทำการเทศบาลอำเภอป่าโมกซึ่งขนานไปกับลำคลองชลประทาน ระยะทางประมาณ 17 กิโลเมตร ชาวบ้านแพเริ่มผลิตกลองมาตั้งแต่ พ.ศ.2470 โดยจะเริ่มหลังฤดูเก็บเกี่ยว วัตถุดิบที่ใช้ทำกลองได้แก่ ไม้ฉำฉาเพราะเป็นไม้เนื้ออ่อนที่สามารถขุดเนื้อไม้ได้ง่ายกับหนังวัว เราสามารถชมกรรมวิธีการทำกลองตั้งแต่เริ่มกลึงท่อนไม้เรื่อยๆไปจนถึงขั้นตอนการขึ้นกลอง การฝังหมุด กลองที่ทำมีตั้งแต่ขนาดเล็กจนถึงกลองขนาดใหญ่เช่น กลองทัด ซึ่งเราจะได้เห็นถึงฝีมือการทำที่มีคุณภาพ ประณีต สวยงามและยังสามารถซื้อไปเป็นของที่ระลึกกลับบ้าน
อิฐอ่างทอง เป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนคุณภาพสูงที่ผลิตขึ้นเพื่อจัดจำหน่ายไปทั่วประเทศไทย ส่วนมากจะใช้ในการทำอิฐโชว์แนวประดับอาคาร บ้านเรือน ผู้สนใจจะติดต่อซื้อได้จากโรงอิฐโดยตรง เฉพาะที่อำเภอป่าโมกจะมีโรงอิฐมากกว่า 42 แห่ง

อำเภอไชโย
วัดไชโยวรวิหาร ห่างจากอำเภอเมืองอ่างทองประมาณ 18 กิโลเมตร อยู่บนเส้นทางสายอ่างทอง-สิงห์บุรี ด้านตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นวัดพระอารามหลวงชั้นโท เดิมเป็นวัดราษฏร์สร้างมาแต่ครั้งใดไม่ปรากฏ มีความสำคัญขึ้นมาในสมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) แห่งวัดระฆังโฆสิตาราม ธนบุรี ได้สร้างพระพุทธรูปปางสมาธิองค์ใหญ่หรือหลวงพ่อโต องค์เป็นปูนขาวไม่ปิดทองไว้กลางแจ้ง ณ วัดแห่งนี้ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้เสด็จฯ มานมัสการและโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์วัดไชโยขึ้นในปี พ.ศ.2430 แต่แรงสั่นสะเทือนระหว่างการลงรากพระวิหารทำให้องค์หลวงพ่อโตพังลงมาจึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างหลวงพ่อโตขึ้นใหม่ตามแบบหลวงพ่อโต วัดกัลยาณมิตร มีขนาดหน้าตักกว้าง 16.10 เมตร สูง 22.65 เมตร และพระราชทานนามว่า “พระมหาพุทธพิมพ์” มีการจัดงานฉลองซึ่งนับเป็นงานใหญ่ที่สุดของจังหวัดอ่างทองในสมัยนั้น องค์หลวงพ่อโตประดิษฐานอยู่ในพระวิหารที่มีความสูงใหญ่สง่างามแปลกตากว่าวิหารแห่งอื่นๆ พุทธศาสนิกชนจากที่ต่างๆ มานมัสการอย่างไม่ขาดสาย ติดกับด้านหน้าพระวิหาร มีพระอุโบสถก่อสร้างด้วยสถาปัตยกรรมไทยอันงดงามหันด้านหน้าออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ภายในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องพุทธประวัติ ฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ 5 ปัจจุบันวัดไชโยวรวิหารได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ใหม่จนมีความงามสมบูรณ์ยิ่ง
วัดสระเกศ วัดนี้เป็นวัดเก่าตั้งแต่สมัยอยุธยา ตั้งอยู่ที่ตำบลชัยภูมิ ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาทิศตะวันออก ห่างจากอำเภอเมืองอ่างทอง ประมาณ 15 กิโลเมตร ตำบลชัยภูมินี้เดิมชื่อ บ้านสระเกศ ขึ้นอยู่กับแขวงเมืองวิเศษชัยชาญ มีกล่าวไว้ในพระราชพงศาวดารว่าเมื่อ พ.ศ. 2128 พระเจ้าเชียงใหม่ยกทัพมาตั้งค่ายอยู่ที่บ้านสระเกศ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระเอกาทศรถได้รุกไล่ตีทัพของพระเจ้าเชียงใหม่จนแตกพ่าย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เคยเสด็จพระราชดำเนินมาวัดสระเกศ เมื่อปีพ.ศ. 2513 เพื่อทรงบำเพ็ญพระราชกุศลบวงสรวงสมเด็จพระนเรศวรมหาราชวัดโพธิ์หอม (วัดป่าหัวพัน) ตั้งอยู่ที่ตำบลราชสถิตย์ (ตำบลโตนด) อยู่ด้านตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ห่างจากอำเภอเมืองอ่างทอง 12 กิโลเมตร ไปตามเส้นทางอ่างทอง-สิงห์บุรี แล้วมีทางแยกเข้าไปอีก 2 กิโลเมตร วัดนี้เดิมเป็นวัดร้างสร้างมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา เพิ่งจะเริ่มสร้างเป็นวัดใหม่เมื่อประมาณ 10 ปี สิ่งที่น่าสนใจในวัดนี้คือ รูปพรหมสี่หน้าปูนปั้นขนาดใหญ่จำนวน 2 เศียรที่ขุดได้ภายในวัด ประดับอยู่บนพานด้านหน้าฐานพระอุโบสถเดิม ลักษณะศิลปะเป็นแบบขอม ซึ่งเดิมอาจใช้เป็นส่วนยอดของประตูวัด หรือพระอุโบสถ เหมือนกับที่พบว่า ใช้เป็นยอดของประตูพระราชวังสมัยกรุงศรีอยุธยา

อำเภอโพธิ์ทอง
วัดขุนอินทประมูล อยู่ในเขตตำบลอินทประมูล วัดนี้เป็นวัดโบราณ สร้างขึ้นในสมัยกรุงสุโขทัย พิจารณาจากซากอิฐแนวเขตเดิมคะเนว่าเป็นวัดขนาดใหญ่ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ที่ใหญ่และยาวที่สุดในประเทศไทยมีความยาวถึง 50 เมตร (25 วา) เดิมประดิษฐานอยู่ในวิหาร แต่ถูกไฟไหม้ปรักหักพังไป เหลือแต่องค์พระตากแดดตากฝนมานานนับเป็นร้อยๆ ปี องค์พระพุทธรูปมีลักษณะและขนาดใกล้เคียงกับพระนอนจักรสีห์ จังหวัดสิงห์บุรี สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยเดียวกัน องค์พระนอนมีพุทธลักษณะที่งดงาม พระพักตร์ยิ้มละไม สงบเยือกเย็นน่าเลื่อมใสศรัทธายิ่งนัก พระมหากษัตริย์ไทยหลายพระองค์ ได้เคยเสด็จมาสักการะบูชา อาทิเช่น พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เสด็จมาเมื่อ พ.ศ. 2296 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯในปีพ.ศ. 2421 และ 2451 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันเสด็จฯ มาถวายผ้าพระกฐินต้นในปี พ.ศ.2516 และเสด็จมานมัสการอีกครั้งในปีพ.ศ. 2518 พุทธศาสนิกชนทั่วประเทศต่างนิยมมานมัสการเป็นเนืองนิจ นอกจากนี้ภายในบริเวณวัดขุนอินทประมูลยังมีโบราณสถานวิหารหลวงพ่อขาว ซึ่งเหลือเพียงฐาน ผนังบางส่วนและองค์พระพุทธรูป ด้านหน้าพระนอนมีศาลรูปปั้นขุนอินทประมูล ซึ่งตามประวัติเล่ากันว่า เป็นนายอากรผู้สร้างพระพุทธไสยาสน์ โดยยักยอกเอาเงินของหลวงมาสร้างเพื่อเป็นปูชนียสถาน ครั้นพระมหากษัตริย์ทรงทราบรับสั่งถามว่าเอาเงินที่ไหนมาสร้าง ขุนอินทประมูลไม่ยอมบอกความจริง เพราะกลัวส่วนกุศลจะตกไปถึงองค์พระมหากษัตริย์ จึงถูกเฆี่ยนจนตาย วัดนี้จึงได้ชื่อว่า วัดขุนอินทประมูล

การเดินทางไปสามารถใช้เส้นทางได้ 3 สายคือ สายอ่างทอง-อำเภอโพธิ์ทอง (เส้นทาง 3064) แยกขวาที่กิโลเมตร 9 เข้าไปอีกประมาณ 2 กิโลเมตร หรือใช้เส้นทางจากจังหวัดสิงห์บุรีไปทางอำเภอไชโยประมาณกิโลเมตรที่ 8 จะมีทางแยกซ้ายมือเข้าถึงวัดเป็นระยะทาง 4 กิโลเมตร หรือใช้เส้นทางตัดใหม่สายอำเภอวิเศษชัยชาญ-โพธิ์ทอง (ถนนเลียบคลองชลประทาน) เมื่อถึงอำเภอโพธิ์ทองมีทางแยกเข้าวัดอีก 2 กิโลเมตร

หมู่บ้านจักสาน งานฝีมือจักสานอันลือชื่อของอ่างทองส่วนมากจะเป็นฝีมือของชาวอำเภอโพธิ์ทอง แทบทุกครัวเรือนที่ตั้งบ้านเรือนเรียงรายอยู่ทั้งสองฟากฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ในละแวกเดียวกัน มีการจัดตั้งเป็นกลุ่มการผลิตเครื่องจักสาน เครื่องหวาย กลุ่มจักสานไม้ไผ่ เช่น กลุ่มตำบลองครักษ์ กลุ่มตำบลบางเจ้าฉ่า กลุ่มตำบลบางระกำ กลุ่มตำบลพลับ และกลุ่มตำบลอินทประมูล เป็นต้น

บ้านบางเจ้าฉ่า ตั้งอยู่ที่หมู่ 8 บ้านยางทอง ตำบลบางเจ้าฉ่า ไปตามเส้นทางสายอ่างทอง-โพธิ์ทอง ประมาณ 9 กิโลเมตร ถึงคลองชลประทานยางมณี จากนั้นเลี้ยวขวาเลียบคลองไปอีกประมาณ 5 กิโลเมตร จึงเลี้ยวขวาไปตามทางเข้าวัดยางทอง แหล่งหัตถกรรมจะอยู่บริเวณหลังวัด ที่นี่เป็นแหล่งผลิตเครื่องจักสานด้วยไม้ไผ่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ได้เคยเสด็จพระราชดำเนินมาเยือนและได้พระราชทานคำแนะนำให้ราษฎรปลูกไม้ไผ่สีสุก เพื่อเป็นวัตถุดิบในการทำเครื่องจักสานและเป็นการอนุรักษ์งานฝีมือประเภทนี้ไว้ งานจักสานของบ้านบางเจ้าฉ่านี้ มีความประณีตสวยงามเป็นพิเศษ และสามารถพัฒนางานฝีมือตามความต้องการของตลาด ไม่ยึดติดกับรูปแบบเก่าจนสามารถส่งออกขายต่างประเทศได้ จึงได้รับการยกย่องว่าเป็นหมู่บ้านตัวอย่างในการพัฒนาอาชีพ

ศูนย์เจียระไนพลอย อยู่ในบริเวณเดียวกับแหล่งผลิตเครื่องจักสานที่บางเจ้าฉ่า เป็นศูนย์รวมการเจียระไนพลอยของหมู่บ้านและมีพลอยรูปแบบต่างๆ ที่สวยงามเป็นจำนวนมาก

ศูนย์ผลิตเครื่องใช้ประดับมุก อยู่ที่วัดม่วงคัน ตำบลรำมะสัก มีการผลิตเครื่องใช้ประดับมุกฝีมือประณีต ซึ่งมีทั้งชุดโต๊ะเครื่องแป้ง แจกัน ที่เขี่ยบุหรี่ เป็นต้น ในบริเวณนั้นมีการทำหัตถกรรมในครัวเรือนอีกหลายแห่งเช่นกัน

วัดโพธิ์ทอง อยู่ที่บ้านโพธิ์ทอง ตำบลคำหยาด ตรงข้ามทางเข้าบ้านบางเจ้าฉ่า ห่างจากอำเภอเมืองไปตามเส้นทางสายอ่างทอง-โพธิ์ทองประมาณ 9 กิโลเมตร นามวัดโพธิ์ทองในพระราชพงศาวดารกล่าวว่าเป็นวัดที่กรมขุนพรพินิต (เจ้าฟ้าอุทุมพร หรือขุนหลวงหาวัด) เสด็จมาผนวช วัดโพธิ์ทองแห่งนี้ รัชกาลที่ 6 เคยเสด็จมาประทับร้อนเมื่อคราวเสด็จประพาสลำน้ำน้อย ลำน้ำใหญ่ มณฑลกรุงเก่า เมื่อ พ.ศ. 2459

พระตำหนักคำหยาด อยู่ในท้องที่ตำบลคำหยาด ถัดจากวัดโพธิ์ทอง ไปทางทิศตะวันตกประมาณ 2 กิโลเมตร บนถนนสายเดียว สภาพปัจจุบันมีเพียงฝนัง 4 ด้าน ตัวอาคารตั้งโดดเด่นอยู่กลางทุ่งนา ก่อด้วยอิฐถือปูนขนาดกว้าง 10 เมตร ยาว 20 เมตร ยังคงเห็นเค้าความสวยงามทางด้านศิลปกรรมเช่น ลวดลายประดับซุ้มจรนำหน้าต่าง มีมุขเด็จด้านหน้าและด้านหลัง ภายในทาดินแดง ปูพื้นกระดาน ในคราวที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสลำน้ำมะขามเฒ่าเมื่อ พ.ศ.2451 ได้เสด็จมายังโบราณสถานแห่งนี้และทรงมีพระราชหัตถเลขาอรรถาธิบายไว้ว่า เดิมทีทรงมีพระราชดำริว่า ขุนหลวงหาวัด (เจ้าฟ้าอุทุมพร กรมขุนพรพินิต) ทรงผนวชที่วัดโพธิ์ทองแล้วสร้างพระตำหนักแห่งนี้ขึ้น เพื่อจำพรรษาเนื่องจากมีชัยภูมิที่เหมาะสม ครั้นได้ทอดพระเนตรเห็นตัวพระตำหนักสร้างด้วยความประณีตสวยงามแล้วพระราชดำริเดิมก็เปลี่ยนไป ด้วยทรงเห็นว่าไม่น่าที่ขุนหลวงหาวัดจะทรงมีความคิดใหญ่โต สร้างที่ประทับชั่วคราวหรือที่มั่นในการต่อสู้ให้ดูสวยงามเช่นนี้ ดังนั้น จึงทรงสันนิษฐานว่า พระตำหนักนี้คงจะสร้างขึ้นตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ เพื่อเป็นที่ประทับแรม เนื่องจากมีพระราชนิยมเสด็จประพาสเมืองแถบนี้เช่นเดียวกับที่พระเจ้าปราสาททองทรงสร้างที่ประทับไว้ที่บางปะอิน ขณะที่กรมขุนพรพินิต(ขุนหลวงหาวัด) ผนวชอยู่ที่วัดราชประดิษฐ์ ได้ทรงนำข้าราชบริพาร กับพระภิกษุที่จงรักภักดีต่อพระองค์ ออกจากพระนครศรีอยุธยามาจำพรรษาที่วัดโพธิ์ทอง และประทับอยู่ที่พระตำหนักคำหยาดนี้ เพื่อไปสมทบกับชาวบ้านบางระจัน ปัจจุบันนี้กรมศิลปากรได้บูรณะ และขึ้นทะเบียนพระตำหนักคำหยาดเป็นโบราณสถานไว้แล้ว

ค้างคาวแม่ไก่วัดจันทาราม วัดจันทารามเป็นวัดเก่าแก่ ตั้งอยู่ที่บ้านช้าง หมู่ที่ 5 ตำบลโคกพุทรา ห่างจากที่ว่าการอำเภอโพธิ์ทองไปทางทิศตะวันตก ประมาณ 4 กิโลเมตร การเดินทางใช้เส้นทางสายโพธิ์ทอง-แสวงหาประมาณ 1 กิโลเมตร แล้วแยกซ้ายไปอีก 3 กิโลเมตร ในบริเวณวัดแห่งนี้มีต้นไม้ขึ้นหนาแน่น จึงเป็นที่อยู่อาศัยและแพร่พันธุ์ค้างคาวแม่ไก่ และนกนานาชนิดมาหลายชั่วอายุคนแล้ว ค้างคาวแม่ไก่เหล่านี้จะออกหากินในเวลากลางคืน ส่วนเวลากลางวันจะห้อยหัวอยู่ตามกิ่งไม้เป็นสีดำพรืดมองเห็นแต่ไกลซึ่งผู้สนใจสามารถจะไปชมได้ในทุกฤดูกาล

วังปลาวัดข่อย อยู่บริเวณแม่น้ำน้อยหน้าวัดข่อย หมู่ที่ 1 ตำบลโพธิ์รังนก อยู่ห่างจากจังหวัดอ่างทอง ประมาณ 12 กิโลเมตร ไปตามเส้นทางอ่างทอง-วิเศษชัยชาญ ก็จะพบป้ายวังปลาวัดข่อย จากนั้นเลี้ยวขวาลัดเส้นทางคลองส่งน้ำชลประทานไปอีกประมาณ 7 กิโลเมตร ปลาที่วัดข่อยนี้มีจำนวนมากมาตั้งแต่สมัยพระครูสุกิจวิชาญ (หลวงพ่อเข็ม) เป็นเจ้าอาวาสซึ่งเป็นเวลากว่า 50 ปีแล้ว ต่อมาในปีพ.ศ. 2528 พระครูสรกิจจาทรเป็นเจ้าอาวาสได้ปรับปรุงสถานที่ และร่วมกับสำนักงานประมงอำเภอโพธิ์ทอง ประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์น้ำ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจดูแลรักษามิให้ปลาถูกรบกวน ปัจจุบันมีปลานานาชนิดอาศัยอยู่รวมกันไม่ต่ำกว่า 50,000 ตัวเช่น ปลาสวาย ปลาตะเพียน ปลาเทโพ ปลาแรด ปลาบึก ฯลฯ ทางวัดมีอาหารปลาจำหน่ายให้นักท่องเที่ยวได้เพลิดเพลินกับการให้อาหารปลา มีร้านจำหน่ายเครื่องดื่มไว้บริการ
นอกจากนี้สิ่งที่น่าสนใจภายในวัดข่อยยังมี มณฑป วิหาร เจดีย์ พระอุโบสถ กุฏิ หอสวดมนต์ ศาลาการเปรียญไม้สักทรงไทยโบราณเสา 8 เหลี่ยม ใต้ถุนศาลาการเปรียญเป็นที่เก็บของเก่าประเภทต่างๆ เช่น ตะเกียงโบราณจากกรุงวอชิงตัน นาฬิกาโบราณจากปารีส และตู้พระไตรปิฎกไม้สักสมัยรัชกาลที่ 5จากจีน มีเรือประเภทต่างๆเช่น เรือบด เรือแจว เรือสำปั้นและเรือประทุน มีเปลกล่อมลูกแบบโบราณ มีเครื่องมือเครื่องใช้รวมทั้งอุปกรณ์ในการทำนาได้แก่ เกวียน ล้อ คันไถ อุปกรณ์เครื่องมือการจับสัตว์น้ำ ไซดักปลา และชาวบ้านยังมีการจัดตั้งศูนย์ผลิตข้าวซ้อมมือขึ้นเป็นสหกรณ์ เพื่อจำหน่ายให้แก่ประชาชน

อำเภอแสวงหา
บ้านคูเมือง อยู่ในท้องที่ตำบลบ้านไผ่ ห่างจากที่ว่าการอำเภอแสวงหาประมาณ 4 กิโลเมตร และห่างจากค่ายบางระจันเพียง 3 กิโลเมตรเศษ ที่บ้านคูเมืองนี้นักโบราณคดีได้สำรวจพบซากเมืองโบราณ ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นชุมชนสมัยทวาราวดี มีร่องรอยเหลือเพียงคูเมืองขนาดกว้างกับเนินดิน ขุดพบเศษภาชนะเครื่องปั้นดินเผา กระดูกสัตว์ ลูกปัดและหินบดยา

วัดบ้านพราน ตั้งอยู่ที่ตำบลศรีพราน เป็นวัดเก่าแก่สร้างในครั้งใดไม่ปรากฏ แต่ได้ถูกทิ้งร้างไปจนต้นไม้ปกคลุมหนาทึบ ต่อมาพวกนายพรานได้มาตั้งหมู่บ้านขึ้นในบริเวณดังกล่าว จึงช่วยกันบูรณะวัดขึ้นมาใหม่ มีประวัติเล่าต่อกันมาว่า พระพุทธรูปศิลาแลงที่ประดิษฐานอยู่ในพระวิหารนั้น พ่อขุนศรีอินทราทิตย์เป็นผู้สร้างที่เมืองสุโขทัย แล้วถอดเป็นชิ้นมาประกอบที่วัดบ้านพราน เพื่อให้เป็นพระประธาน แต่ผู้สร้างวัดต้องการสร้างพระประธานขึ้นเอง จึงได้นำไปประดิษฐานไว้ในพระวิหาร พระพุทธรูปองค์นี้ชาวบ้านเรียกว่า “หลวงพ่อไกรทอง” เชื่อกันว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ สามารถคุ้มภัยแก่ผู้ไปสักการะบูชา
วัดยาง อยู่ในท้องที่ตำบลห้วยไผ่ สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย ยังคงมีซากโบราณสถานให้เห็นคือ พระอุโบสถซึ่งมีฐานโค้ง พระพุทธรูปศิลาทราย พระพุทธรูปปูนปั้นที่ชำรุดและใบเสมาหิน ห่างไปทางทิศใต้ของวัด ประมาณครึ่งกิโลเมตรมีเนินดินซึ่งเคยพบพระเครื่องจำนวนมาก จากการที่อยู่ไม่ไกลจากบ้านบางระจันมากนัก จึงสันนิษฐานว่า บริเวณนี้คงเป็นสถานที่ซ่อนสมบัติ ของมีค่าของคนไทยในสมัยนั้น
สวนนกธรรมชาติ อยู่ในบริเวณหมู่ที่ 2 บ้านริ้วหว้า ตำบลบ้านพราน ระยะทางห่างจากจังหวัดอ่างทอง 24 กิโลเมตร ไปตามเส้นทางสายโพธิ์ทอง-แสวงหา 18 กิโลเมตร แล้วแยกเข้าที่บ้านตำบลหนองแม่ไก่ ถึงโรงเรียนหนองแม่ไก่แล้วเดินทางไปตามถนนลูกรังอีก 6 กิโลเมตร ก็จะถึงบริเวณวัดริ้วหว้าซึ่งมีนกท้องนาปากห่าง นกกระสา นกกาน้ำ นกกระเต็น นกอีเสือ ฯลฯ บางชนิดก็ใกล้จะสูญพันธุ์และหาชมได้ยากในท้องถิ่นอื่น

อำเภอวิเศษชัยชาญ
วัดม่วง ตั้งอยู่หมู่ที่ 6 ตำบลหัวตะพาน ระยะทางจากจังหวัดถึงวัดม่วง ประมาณ 8 กิโลเมตร ใช้เส้นทางสายอ่างทอง-สุพรรณบุรี วัดจะอยู่ทางซ้ายมือ มีพระอุโบสถล้อมรอบด้วยกลีบบัวที่ใหญ่ที่สุดในโลก ภายในมีรูปปั้นเกจิอาจารย์ชื่อดังทั่วประเทศ มีแดนเทพเจ้าไทย แดนนรก แดนสวรรค์ และแดนเทพเจ้าจีน ซึ่งมีรูปปั้นเจ้าแม่กวนอิมขนาดใหญ่ มีรูปปั้นแสดงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์เกี่ยวกับสงครามไทย-พม่าที่เมืองวิเศษชัยชาญ และสามารถหาซื้อผลิตภัณฑ์ของดีเมืองอ่างทองได้
อนุสาวรีย์นายดอกนายทองแก้ว ประดิษฐานอยู่ที่หน้าโรงเรียนวิเศษชัยชาญ หมู่ที่ 2 ตำบลไผ่จำศีล ระหว่างกิโลเมตรที่ 26-27 ตามเส้นทางสายศรีประจันต์-วิเศษชัยชาญ เป็นอนุสรณ์สถานที่ชาววิเศษชัยชาญ และชาวอ่างทองร่วมกันสร้าง เพื่อรำลึกถึงคุณงามความดีของวีรบุรุษแห่งบ้านโพธิ์ทะเล ชาววิเศษชัยชาญ ปู่ดอกและปู่ทองแก้ว ทั้งสองท่านยอมสละชีวิตอย่างกล้าหาญ เพื่อปกป้องแผ่นดินไทยในการสู้รบกับพม่าที่ค่ายบางระจัน ก่อนที่กรุงศรีอยุธยาจะแตกในปีพ.ศ. 2310 อนุสาวรีย์แห่งนี้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฏราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาทรงเปิดเมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2520
วัดเขียน เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่ง อยู่ที่หมู่ 8 ตำบลศาลเจ้าโรงทอง ใกล้กับวัดวิเศษชัยชาญห่างจากอำเภอเมือง 12 กิโลเมตร ภายในพระอุโบสถมีภาพเขียนฝาผนังที่งดงามแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับทศชาติชาดก สันนิษฐานว่าเป็นฝีมือช่างสกุลเมืองวิเศษชัยชาญสมัยอยุธยาตอนปลาย ลักษณะภาพคล้ายกับภาพเขียนในพระอุโบสถวัดเกาะและวัดใหญ่สุวรรณาราม จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งอยู่ในยุคสมัยเดียวกัน
วัดอ้อย เป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองวิเศษชัยชาญ ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำน้อย ห่างจากวัดเขียนไปทางทิศเหนือประมาณ 2 กิโลเมตร พระอุโบสถมีลักษณะสวยงามคล้ายกับพระอุโบสถวัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นอกจากนี้ในบริเวณพื้นที่ของวัดอ้อย มูลนิธิสร้างสรรค์เด็กได้เปิดบ้านสำหรับให้ที่พักพิงแก่เด็กมีปัญหา เด็กเร่ร่อนติดยา หรือเคยประพฤติผิดกฏหมายชื่อว่า “บ้านเด็กใกล้วัด” เพื่อช่วยให้เด็กเหล่านี้มีชีวิตใหม่ที่ดีขึ้นได้สัมผัสธรรมชาติและมีพระสงฆ์คอยช่วยเหลือบำบัดทางด้านจิตใจ
วัดสี่ร้อย อยู่ริมฝั่งแม่น้ำน้อย หมู่ที่ 4 ตำบลสี่ร้อย บนเส้นทางสายโพธิ์พระยา-ท่าเรือ หรืออ่างทอง-วิเศษชัยชาญ ห่างจากอำเภอเมืองอ่างทองไปทางทิศตะวันตกประมาณ 12.5 กิโลเมตร แล้วแยกซ้ายมือไปตามถนนคันคลองชลประทานอีก 5 กิโลเมตร วัดแห่งนี้ มีพระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์ สูง 21 เมตร หน้าตักกว้าง 6 เมตรเศษ นามว่า “หลวงพ่อโต” ภายในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนังฝีมือช่างอยุธยาที่มีความงดงามมากอีกแห่งหนึ่ง


อำเภอสามโก้
อำเภอสามโก้ อยู่ห่างจากจังหวัดอ่างทองประมาณ 25 กิโลเมตร แม้เป็นอำเภอเล็กๆ ซึ่งเดิมเป็นตำบลหนึ่งขึ้นอยู่กับอำเภอวิเศษชัยชาญ ได้ยกฐานะเป็นกิ่งอำเภอและเป็นอำเภอเมื่อ พ.ศ.2508 ความสำคัญในเชิงประวัติศาสตร์ปรากฏในพงศาวดารว่า เป็นเส้นทางที่พม่าเดินทัพจากด่านเจดีย์สามองค์ผ่านเข้ามาตั้งค่ายพักแรมก่อนเข้าตีกรุงศรีอยุธยา และเป็นที่ซึ่ง สมเด็จพระนเรศวรมหาราชและพระเอกาทศรถเคยเสด็จนำทัพหลวงผ่านบ้านสามโก้แห่งนี้เพื่อทรงทำสงครามยุทธหัตถี ที่ตำบลตระพังตรุ จังหวัดสุพรรณบุรี จนทรงได้รับชัยชนะด้วยเช่นกัน
ปัจจุบัน สามโก้เป็นอำเภอที่น่าสนใจมากอำเภอหนึ่งในแง่ประเพณี และศิลปะพื้นบ้าน กล่าวคือ สามโก้มีพื้นที่การเกษตรบางส่วนที่เปลี่ยนจากพื้นที่ทำนาเป็นพื้นที่ทำการเกษตรด้านอื่นเช่น การทำนาบัว การทำสวนมะพร้าวพันธุ์ดี และการทำไร่นาสวนผสม ซึ่งเกษตรกรรู้จักพัฒนาอาชีพด้วยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ มาปรับปรุงผลผลิตทางการเกษตรให้มีทั้งคุณภาพและปริมาณจนสามารถทำรายได้เป็นที่น่าพอใจ นอกจากนี้สามโก้ยังเป็นถิ่นแดนของเพลงพื้นเมือง ที่มีพ่อเพลงและแม่เพลง ที่มีบทบาทในการฟื้นฟูการละเล่น และอนุรักษ์เพลงพื้นบ้านอีกด้วย


ที่พัก โรงแรม รีสอร์ท จังหวัดอ่างทอง (รหัสทางไกล 035)
ซี.แอล. การ์เด้น อินน์ ๔๒ ม.๑๑ ถ.โพธิ์พระยา-ท่าเรือ ต.บ้านอิฐ โทร. ๐ ๓๕๖๒ ๐๘๒๖-๒๗
บัวหลวง ๑๕/๑ ถ.อ่างทอง-ป่าโมก ต.โพธิ์สระ โทร. ๐ ๓๕๖๑ ๑๑๑๖, ๐ ๓๕๖๑ ๑๘๐๐
สุวพันธ์ ๖ ซอย ๑ ถ.ทรัพย์สิน ต.ตลาดหลวง โทร. ๐ ๓๕๖๑ ๑๕๘๘
อ่างทองโฮเต็ลและอ่างทองบังกะโล ๖๒ ถ.อ่างทอง-โพธิ์ทอง ต.ศาลาแดง โทร. ๐ ๓๕๖๑ ๑๗๖๗, ๐ ๓๕๖๒ ๖๑๓๘-๔๐


ร้านอาหาร จังหวัดอ่างทอง (รหัสทางไกล 035)
อำเภอเมือง
ก๋วยเตี๋ยวเป็ด ตรงข้ามเรือนจำอ่างทอง
โกเฮงอาหารอีสาน ตรงข้ามโรงแรมอ่างทอง ต.ตลาดหลวง
กำธรโภชนา 9/3 หมู่ 2 ต.ศาลาแดง โทร. 612288
คุณหลวง ในโรงแรมอ่างทอง 60 หมู่ 2 ถ.อ่างทอง-สุพรรณบุรี โทร. 611667, 611767-8
ครัวแม่แหวน ถ.เลี่ยงเมือง โทร. (01) 916-8982
ครัวริมน้ำ หลังโรงเจ ตลาดนพรัตน์
เจริญทิพย์ ถ.สายอ่างทอง-โพธิ์ทอง แยกวิเศษชัยชาญ
ตี๋โภชนา ถ.อ่างทอง-โพธิ์ทอง ตำบลศาลาแดง
ปานทอง ถ.เลี่ยงเมือง ตำบลโพสะ โทร. 611356
เพื่อน เยื้องโรงเรียนปัทมโรจน์วิทยาคม ถ.อ่างทอง-โพธิ์ทอง ต.บ้านอิฐ
แพอ่างทอง ตรงข้ามศาลากลางจังหวัดอ่างทอง โทร. 611301
รัชนี ถ.อ่างทอง-โพธิ์ทอง ต.ศาลาแดง
ร่มไทร ถ.สายเอเชีย ต.บ้านอิฐ โทร. 611478
สมบัติโภชนา หลังศาลากลางจังหวัดอ่างทอง ต.บางแก้ว โทร. 611003
สวนอาหารคุณหนู 77 ถ.เลี่ยงเมือง ต.โพสะ โทร. 620805
อู่ข้าว ถ.อ่างทอง-โพธิ์ทอง ต.ศาลาแดง โทร. 611206

• อำเภอป่าโมก
คุณหนู หลังตลาดป่าโมก ฝั่งเทศบาล
ต้อยโภชนา หลังตลาดป่าโมก ฝั่งเทศบาล
ตำลึงทอง ถ.อยุธยา-อ่างทอง กิโลเมตร 13
ป่าโมก ถ.อยุธยา-อ่างทอง กิโลเมตรที่ 11 โทร. 661284
เรือนใจ ถ.อยุธยา-อ่างทอง ปากทางเข้าวัดโบสถ์ ต.สายทอง

• อำเภอโพธิ์ทอง
ตั้งตังอา ปากทางเข้าวัดศรีขันธาราม
โพธิ์ทอง อินน์ ในโรงแรมโพธิ์ทองอินน์ ตลาดกมล 171/17-21 หมู่ 6 โทร. 691139-40
สวนอาหารจุ๋มจิ๋ม หมู่ 3 ต.อินทประมูล
ร้านสุกัญญาพนารัตน์ ถ.สายอ่างทอง-โพธิ์ทอง ก่อนถึงอำเภอประมาณ 2 กิโลเมตร
ร้านแหลม ข้างธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
สาขาโพธิ์ทอง

0 ความคิดเห็น: