วันพฤหัสบดีที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

การท่องเที่ยวจังหวัดขอนแก่น

:: จังหวัดขอนแก่น ::

" พระธาตุขามแก่น เสียงแคนดอกคูณ ศูนย์รวมผ้าไหม ร่วมใจผูกเสี่ยว เที่ยวขอนแก่นนครใหญ่
ไดโนเสาร์ลือก้อง เหรียญทองมวยโอลิมปิก "



จังหวัดขอนแก่น :: ข้อมูลทั่วไป

ขอนแก่น เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ตรงกลางของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปรากฏหลักฐานทางด้านประวัติศาสตร์ และมนุษยวิทยาว่า อาณาเขตจังหวัดขอนแก่นเคยเป็นดินแดนที่มีผู้คนอาศัยตั้งบ้านเรือนอยู่เจริญรุ่งเรือง มีอารยธรรมสูงส่งมาก่อนสมัยประวัติศาสตร์ และคาบเกี่ยวกับสมัยประวัติศาสตร์ ทำให้ขอนแก่นเป็นเมืองที่มีมรดกทางวัฒนธรรมของชนชาติโบราณมากมาย ดังปรากฏร่องรอยให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน เช่น ภาพเขียนสีที่ถ้ำฝ่ามือแดง อำเภอภูเวียง เมืองโบราณสมัยทวาราวดีที่อำเภอชุมแพ เสมาหินที่เมืองชัยวาน อำเภอมัญจาคีรี และศาสนสถานสมัยขอมที่อำเภอเปือยน้อย จัดเป็นปราสาทหินที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ที่พบในจังหวัดขอนแก่น และอยู่ในสภาพสมบูรณ์มาก

ขอนแก่น เป็นจังหวัดที่มีศักยภาพทางการท่องเที่ยว ทั้งทางธรรมชาติ และโบราณสถานมากมาย มีความเจริญรุ่งเรืองในด้านต่างๆ เป็นศูนย์กลางทางการศึกษา คือ เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยขอนแก่น มีวัฒนธรรม และประเพณีต่างๆ มีผลิตภัณฑ์พื้นบ้านที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวและผู้มาเยือน เช่น ผ้าไหมมัดหมี่ที่อำเภอชนบท นอกจากนี้ยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงาม และสะดวกในการคมนาคมตลอดปี

อาณาเขตและการปกครอง
ทิศเหนือ จดจังหวัดอุดร หนองบัวลำภู และ จังหวัดเลย
ทิศใต้ จดจังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดบุรีรัมย์
ทิศตะวันออก จดจังหวัดกาฬสินธุ์ และจังหวัดมหาสารคาม
ทิศตะวันตก จดจังหวัดเพชรบูรณ์ และ จังหวัดชัยภูมิ

ขอนแก่น แบ่งการปกครองออกเป็น 20 อำเภอ 3 กิ่งอำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอภูเวียง อำเภอบ้านไผ่ อำเภอพล อำเภอน้ำพอง อำเภอชุมแพ อำเภอมัญจาคีรี อำเภอหนองเรือ อำเภอกระนวน อำเภอหนองสองห้อง อำเภอชนบท อำเภอสีชมพู อำเภอแวงน้อย อำเภอแวงใหญ่ อำเภออุบลรัตน์ อำเภอบ้านฝาง อำเภอเขาสวนกวาง อำเภอพระยืน อำเภอเปือยน้อย อำเภอภูผาม่าน กิ่งอำเภอหนองนาคำ กิ่งอำเภอซำสูง และกิ่งอำเภอโคกโพธิ์ชัย รวมพื้นที่ประมาณ 10,855,991 ตารางกิโลเมตร


หมายเลขโทรศัพท์สำคัญ (รหัสทางไกล 043)
สำนักงานจังหวัด
236-882

ที่ว่าการอำเภอเมือง
236-115

ททท.สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น
244-498-9

ตำรวจท่องเที่ยว
1155 , 236-937-8

ตำรวจทางหลวง
236-750

สถานีตำรวจภูธร อ.เมือง
221-162

รพ.ขอนแก่น
236-006

รพ.พล
414-710-1

รพ.ชุมแพ
311-044

รพ.ภูเวียง
291-194

รพ.บ้านฝาง
269-007-8

รพ.สีชมพู
399-096

รพ.น้ำพอง
441-011-2

รพ.แวงใหญ่
496-001

รพ.หนองสองห้อง
491-010

รพ.อุบลรัตน์
446-112

รพ.เปือยน้อย
494-003

รพ.กระนวน
251-302

รพ.เขาสวนกวาง
449-095-6

รพ.มัญจาคีรี
289-100

รพ.หนองเรือ
294-057

รพ.ชนบท
286-084

รพ.บ้านไผ่
272-234


จังหวัดขอนแก่น :: สถานที่ท่องเที่ยว อำเภอเมือง

ศาลเจ้าพ่อเทพารักษ์หลักเมือง สถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ และเป็นที่เคารพสักการะของชาวขอนแก่นแห่งนี้ ประดิษฐานอยู่หน้าศาลาสุขใจ ถนนเทพารักษ์ หน้าเทศบาลขอนแก่น ท่านเจ้าคุณปู่พระราชสารธรรมมุนี และหลวงธุรนัยพินิจ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ได้ริเริ่มสร้างขึ้น โดยนำหลักศิลาจารึกจากโบราณสถาน ในท้องที่อำเภอชุมแพมาประกอบพิธีทางพุทธศาสนา และตั้งเป็นศาลหลักเมืองเมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๙๙

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น ตั้งอยู่ถนนหลังศูนย์ราชการ เป็นที่เก็บรวบรวม และจัดแสดงโบราณวัตถุ และศิลปวัตถุอันมีค่า ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ จนถึงสมัยประวัติศาสตร์ มีการจัดแสดงโครงกระดูกมนุษย์ยุคหินใหม่ที่บ้านเชียง และเครื่องมือเครื่องใช้ของผู้คนในยุคนั้น สิ่งที่ควรชมสำหรับพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ คือใบเสมาหินทรายขนาดใหญ่ เป็นงานพุทธศิลป์สมัยทวารวดี จำหลักภาพพุทธประวัติที่งดงามและสมบูรณ์มาก พบที่เมืองฟ้าแดดสูงยาง จังหวัดกาฬสินธุ์ นอกจากนั้นยังมีศิลปวัตถุสมัยขอม หรือลพบุรี อันได้แก่ทับหลังจากปราสาทหินในภาคอีสาน นอกเหนือจากโบราณวัตถุที่พบในท้องถิ่นแล้ว ที่นี่ยังจัดแสดงศิลปวัตถุสมัยอื่นไว้ด้วย เช่น สุโขทัย อยุธยา เป็นต้น และส่วนหนึ่งก็จัดแสดงข้าวของเครื่องใช้พื้นบ้านไว้ด้วยเหมาะสำหรับผู้ที่สนใจศึกษาด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี และชีวิตความเป็นอยู่ของคนอีสาน เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา ๐๙.๐๐ -๑๖.๐๐ น. ค่าเข้าชมชาวไทย ๑๐ บาท ชาวต่างประเทศ ๓๐ บาท รายละเอียดเพิ่มเติม โทร. ๐ ๔๓๒๔ ๖๑๗๐

บึงแก่นนคร ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลกลางเมืองขอนแก่น เป็นบึงขนาดใหญ่ มีเนื้อที่ ๖๐๓ ไร่ นอกจากจะเป็นที่ประดิษฐานอนุสาวรีย์ "เจ้าเพี้ยเมืองแพน" ผู้ก่อตั้งเมืองขอนแก่นแล้ว ยังเป็นที่ประชาชนนิยมมาพักผ่อนมมาพักผ่อนหย่อนใจ และทำกิจกรรมนันทนาการของชาวเมือง เพราะมีบรรยากาศสบาย ๆ พื้นที่โดยรอบร่มรื่นด้วยต้นไม้ มีสวนสุขภาพ ประดับประดาด้วยประติมากรรมรูปต่าง ๆ ดูเพลินตาเพลินใจ

โฮงมูนมังเมืองขอนแก่น คือหอเก็บสมบัติ ที่เก็บรวบรวม เรื่องราวอันเป็นที่มาของเมืองขอนแก่น เป็นพิพิธภัณฑ์ที่สะท้อนให้เห็นถึงสภาพชีวิต และความเป็นอยู่ของชาวขอนแก่น ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อเชื่อมโยงให้ชุมชน เกิดจิตสำนึกในความรัก และหวงแหนท้องถิ่นของตนเอง และเป็นศูนย์กลางการศึกษาค้นคว้าข้อมูลประวัติเมืองขอนแก่น โดยอาศัยผู้เฒ่าผู้แก่ และชาวขอนแก่นเป็นผู้ให้ข้อมูล โดยแบ่งพื้นที่จัดนิทรรศการออกเป็น ๕ โซน คือ

โซนที่ ๑ แนะนำเมืองขอนแก่น โซนที่ ๒ ประวัติศาสตร์ของเมืองขอนแก่น และวัฒนธรรมโบราณ ที่มีอายุยาวนานมากกว่า ๓,๐๐๐ - ๕,๐๐๐ ปี นับตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ โซนที่ ๓ การตั้งเมือง โซนที่ ๔ บ้านเมืองและวิถีชีวิตของชาวขอนแก่น โซนที่ ๕ ขอนแก่นวันนี้ นำเสนอภาพสะท้อนชีวิต และความเป็นอยู่ของชาวขอนแก่นในปัจจุบัน ด้วยการนำเสนอวัฒธรรมประเพณี ที่ยังคงปฏิบัติกันสืบมาจนถึงปัจจุบัน ค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ ๒๐ บาท เด็ก ๑๐ บาท ชาวต่างชาติ ๙๐ บาท สอบถามรายละเอียด โทร. ๐ ๔๓๒๗ ๑๑๗๓

พระมหาแก่นนคร ( พระธาตุ ๙ ชั้น ) ตั้งอยู่ภายในวัดหนองแวงพระอารามหลวง ถนนกลางเมือง เป็นสถานที่บรรจุพระสารีริกธาตุ และรวบรวมคำภีร์ ทางพระพุทธศาสนา บานประตู หน้าต่าง แต่ละชั้นแกะสลักภาพชาดก ภาพพุทธประวัติ ภาพประจำวัน ภาพแกะสลักรูปพรหม ๑๖ ชั้น ภาพในพิธีการต่างๆ ภายในฝาผนังทั้ง ๔ ด้าน มีภาพประวัติเมืองขอนแก่น และชั้นที่ ๙ เป็นสถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุกลางบุษบก และเป็นหอชมวิวทิวทัศน์ตัวเมืองขอนแก่นที่สวยงามทั้ง ๔ ด้าน

มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตั้งอยู่บริเวณเนินสูงที่มีชื่อว่า “มอดินแดง” เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๗ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จฯ ทรงกระทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๑๐ มีเนื้อที่กว่า ๕,๐๐๐ ไร่ มหาวิทยาขอนแก่นถือว่า เป็นแหล่งวิทยาการใหญ่ที่สุดของภาคอีสาน เป็นศูนย์กลางการศึกษาระดับปริญญาตรี และปริญญาโท สาขาวิชาต่างๆ โดยเฉพาะการเน้นหนัก สาขาวิชาที่เป็นประโยชน์โดยตรงกับประชาชนภาคอีสาน

การเดินทาง อยู่ห่างจากตัวเมือง ๔ กิโลเมตร มีทางเข้าสองทางคือ ด้านถนนมิตรภาพ (สายขอนแก่น-อุดรธานี) และด้านถนนประชาสโมสร (สายขอนแก่น-เลย)

ศูนย์ประชุมอเนกประสงค์กาญจนาภิเษก ขอนแก่น ศูนย์ประชุมอเนกประสงค์กาญจนภิเษก จัดสร้างขึ้นโดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงครองราชย์ครบ ๕๐ ปี โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จพระราชดำเนินวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๓๗ เพื่อเป็นศูนย์ประชุมระดับชาติแห่งใหม่ ตัวอาคารเป็นสถาปัตยกรรมทรงกูบเกวียนอีสาน ประยุกต์จากเอกลักษณ์ของรูปทรงแต่ดั้งเดิม สามารถรองรับการจัดประชุมได้ ๓,๐๐๐ ที่นั่ง พร้อมอัฒจันทร์ในบริเวณชั้นลอยอีก ๑,๐๐๐
ที่นั่ง พร้อมทั้งระบบแสง สี เสียง และโสตทัศนูปกรณ์ที่ทันสมัย สะดวกสบายด้วยระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ระบบทำความเย็นและระบบไฟฟ้าสำรอง พร้อมระบบความรักษาความปลอดภัยที่ทันสมัย ลานจอดรถสามารถจอดได้ ๑,๐๐๐ คัน รถโดยสาร ๒๐-๒๕ คัน

หอศิลปวัฒนธรรม ตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยขอนแก่น ทางด้านประตูสีฐาน เป็นสถานที่จัดนิทรรศการเกี่ยวกับศิลปะแขนงต่าง ๆ และรวบรวมเรื่องราวทางภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย

สิมอีสาน (วัดป่าแสงอรุณ) ตั้งอยู่ในวัดป่าแสงอรุณ ตำบลพระลับ ห่างจากศาลากลางจังหวัด ๓ กิโลเมตร ตามเส้นทางขอนแก่น-กาฬสินธุ์ สิมอีสานมีความวิจิตรงดงามของอาคาร และภาพเขียนฝาผนังลายผ้าไหมมัดหมี่ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดขอนแก่น เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้ และอนุรักษ์สถาปัตยกรรมท้องถิ่น

วัดไชยศรีและฮูปแต้มสินไซ วัดไชยศรี ตั้งอยู่บ้านสาวะถี ตำบลสาวะถี เป็นวัดเก่าแก่ตั้งมาตั้งแต่ปี ๒๕๐๘ มีอาคารที่สำคัญคือ ศาลาการเปรียญ กุฏิพระสงฆ์ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน และสิมหรือโบสถ์ของวัดมีจิตรกรรมฝาผนัง (ฮูปแต้ม) เรื่องราวทางพุทธศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตของคนอีสานโดยฝีมือช่างพื้นบ้าน ในทุกมุมทุกด้านไม่มีที่ว่างทั้งด้านนอกและด้านใน

ศูนย์รวมสินค้า โอทอป จังหวัดขอนแก่น ตั้งอยู่หน้าโรงแรมโฆษะ เป็นศูนย์จำหน่ายสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ของคนไทย โดยเฉพาะสินค้าที่ผลิตขึ้นภายในจังหวัดขอนแก่น จัดสรรพื้นที่บริเวณร้านถิ่นหัตถกรรมผ้าไหมไทยขนาดพื้นที่ประมาณ ๖๐๐ ตารางกิโลเมตรโดยใช้ชื่อว่า ศูนย์รวมสินค้า OTOP ภาคอีสาน จำหน่ายสินค้าประเภทเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย เครื่องใช้ เครื่องประดับตกแต่ง ศิลปะประดิษฐ์ ของที่ระลึก อาหารและเครื่องดื่ม เปิดบริการทุกวันตั้งแต่เวลา ๑๐.๓๐-๒๑.๐๐ น. สอบถามรายละเอียด โทร. ๐ ๔๓๓๒ ๐๓๒๐ ต่อ ๘๓๐๒, ๒๐๑๙

สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ ๗๒ พรรษา มหาราชชินี ตั้งอยู่หมู่ ๗ บ้านหนองบัวดีหมี ตำบลท่าพระ บนพื้นที่ประมาณ ๑๐ ไร่ ภายในมีจุดเด่นซึ่งเป็นสัญลักษณ์และตำนานของตำบลท่าพระคือ รูปปั้นหมีควายที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

การเดินทาง ห่างจากตัวเมืองขอนแก่น ๑๕ กิโลเมตร ตามถนนมิตรภาพ และไปตามเส้นทางบ้านหนองบัวดีหมี-หนองโพธิ์ ๓๐๐ เมตร สวนสาธารณะจะอยู่ทางขวามือ


เขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น

ข้อมูลทั่วไป

ขอนแก่น นอกจากจะเป็นดินแดนแห่งศิลปะ การทอผ้าไหมพื้นเมือง "ซิ่น มัดหมี่" ที่งดงามลือชื่อแล้ว ยังมีแหล่งท่องเที่ยว ทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี และแหล่งท่องเที่ยว ตามธรรมชาติ ที่น่าสนใจ หลายแห่ง รวมทั้ง เขื่อนอุบลรัตน์ ซึ่งเป็นเขื่อนพลังน้ำ แห่งแรกของแผ่นดินที่ราบสูงแห่งนี้

เขื่อนอุบลรัตน์ เปรียบประดุจประทีปดวงแรกที่จุดความสว่างไสว ให้กับพื้นแผ่นดินที่ราบสูง แห่งนี้ ให้ก้าวไปสู่ทิศทาง ของการพัฒนา ที่เจริญทัดเทียม กับภาคอื่นๆ ของประเทศ และนอกเหนือจาก ประโยชน์ นานัปการแล้ว ความสวยงาม ของเขื่อนอุบลรัตน์ และทะเลสาบกว้างใหญ่ ที่โอบล้อมด้วยขุนเขา เป็นเสน่ห์ดึงดูด นักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศ ให้แวะเวียนมาเยี่ยมชม อย่างไม่ขาดสาย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ขอต้อนรับทุกท่านด้วยความยินดียิ่ง


การเดินทาง

การเดินทางไปชมเขื่อนไปได้ตามทางหลวงหมายเลข 2 (ขอนแก่น-อุดรธานี) ถึงหลักกิโลเมตรที่ 470-471 ซึ่งห่างจากขอนแก่น 26 กิโลเมตร จะมีทางแยกซ้ายมือเข้าสู่เขื่อนอุบลรัตน์อีก 24 กิโลเมตร รวมระยะทาง ห่างจากตัวเมือง 50 กิโลเมตร

สิ่งอำนวยความสะดวก

เมื่อเดินทางถึงเขื่อนอุบลรัตน์ ท่านสามารถจะติดต่อสอบถามรายละเอียด เกี่ยวกับการเยี่ยมชมเขื่อน และสถานที่ต่างๆ ได้ที่เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ ณ อาคารที่ทำการ เขื่อนอุบลรัตน์ โทร. (๐๔๓) ๒๒๔๑๓๑ ต่อ ๒๖๖

หากประสงค์จะพักแรม ติดต่อได้ที่ หน่วยที่ทำการบ้านรับรอง เขื่อนอุบลรัตน์ โทร.(๐๔๓) ๒๒๔๑๓๑ ต่อ ๒๖๗ หรือติดต่อสำรองที่พัก ล่วงหน้าได้ที่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิต แห่งประเทศไทย โทร. ๔๓๖-๓๑๗๙


ลักษณะเขื่อน

เขื่อนอุบลรัตน์ หรือ ชาวเมืองเรียกกันว่า "เขื่อนพองหนีบ" สร้างปิดกั้นแม่น้ำพอง ที่อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น เป็นเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำแห่งแรก ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้สร้างขึ้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเป็นแห่งที่สองของประเทศไทย ที่ก่อสร้างเสร็จหลังเขื่อนภูมิพล

ตัวเขื่อน
เป็นเขื่อนหินถมแกนกลางเป็นดินเหนียว มีความยาว ๘๐๐ เมตร สูงจากพื้นท้องน้ำ ๓๒ เมตร ระดับสันเขื่อนอยู่ที่ ๑๘๕ เมตร (ระดับน้ำทะเลปานกลาง -รทก.) สันเขื่อนกว้าง ๖ เมตร ฐานเขื่อนกว้าง ๑๒๐ เมตร และที่ระดับเก็บกักปกติสูงสุด ๑๘๒ เมตร (รทก.) อ่างเก็บน้ำมีความจุทั้งหมด ๒,๕๕๙ ล้านลูกบาศก์เมตร มีน้ำไหลเข้าอ่างเฉลี่ยปีละประมาณ ๑,๗๕๐ ล้านลูกบาศก์เมตร ทางปีกขวาของตัวเขื่อนเป็นอาคารระบายน้ำล้น มีช่องระบายน้ำ ๔ ช่อง เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก สามารถระบายน้ำสูงสุดได้ วินาทีละ ๒,๕๐๐ ลูกบาศก์เมตร

สำหรับอาคารโรงไฟฟ้า ตั้งอยู่ทางปีกซ้าย ของตัวเขื่อน ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาดกำลังผลิต ๘,๔๐๐ กิโลวัตต์ จำนวน ๓ เครื่อง รวมกำลังผลิตทั้งสิ้น ๒๕,๒๐๐ กิโลวัตต์

เขื่อนอุบลรัตน์ เริ่มงานก่อสร้างเมื่อปี ๒๕๐๗ และสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี ๒๕๐๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าอุบลรัตน์ราชกัญญาฯ ไปทรงประกอบพิธีเปิดเขื่อนอุบลรัตน์ เมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๐๙

ต่อมาการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้ทำการปรับปรุงเขื่อนอุบลรัตน์ โดยเสริมสันเขื่อนให้สูงขึ้นไปอีก ๓.๑๐ เมตร จากระดับเดิม ๑๘๕ เมตร (รทก.) เป็นที่ระดับ ๑๘๘.๑๐ เมตร (รทก.) ความกว้างสันเขื่อนเท่าเดิม ส่วนฐานเขื่อนด้านท้าย ขยายออกจากเดิม ซึ่งกว้าง ๑๒๐ เมตร เป็น ๑๒๕ เมตร ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปลายปี ๒๕๒๗ และปรับปรุงเสร็จเรียบร้อยเมื่อต้นปี ๒๕๓๐

ประโยชน์หลังจากการปรับปรุง เขื่อนอุบลรัตน์ จะทำให้เขื่อนมีประสิทธิภาพในการบรรเทาอุทกภัยสูงขึ้น และยังเสริมความปลอดภัย ให้แก่ตัวเขื่อน ซึ่งจากการยกระดับ ของสันเขื่อน จะไม่มีผล ต่อระดับเก็บกักน้ำ ใช้เพื่อการชลประทาน และผลิตกระแสไฟฟ้าในระดับปกติ ทั้งยังไม่มีผลกระทบต่อประชาชนที่อยู่อาศัย บริเวณรอบอ่างเก็บน้ำอีกด้วย


ประโยชน์

เขื่อนอุบลรัตน์ เป็นเขื่อนอเนกประสงค์ ที่เอื้ออำนวยประโยชน์ ต่อประชาชน ในด้านต่างๆ ดังนี้

ด้านผลิตไฟฟ้า สามารถผลิตไฟฟ้าได้ปีละ ๖๕ ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง

ด้านชลประทาน และการเกษตร น้ำที่ปล่อยผ่านการผลิตไฟฟ้าแล้ว จะส่งเข้าสู่ระบบ ชลประทาน ให้ประโยชน์ แก่พื้นที่เกษตรกรรม ที่จังหวัดขอนแก่น และจังหวัดมหาสารคาม จำนวน ๓๐๐,๐๐๐ ไร่ ซึ่งสามารถจะเพาะปลูกได้ถึงปีละ ๒ ครั้ง อีกทั้งยัง ปลูกพืชในฤดูแล้งได้ด้วย

ด้านการประมง อ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ ปัจจุบันเป็นแหล่งประมงขนาดใหญ่ ที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ ทำรายได้ให้แก่ประชาชนในภูมิภาค นี้ในปีหนึ่งๆ เป็นจำนวนมาก ซึ่งช่วยยกระดับมาตรฐานการครองชีพ ของประชาชน ให้สูงขึ้น

ด้านการบรรเทาอุทกภัย ตามปกติก่อนการสร้างเขื่อนน้ำ มักจะท่วมอย่างกะทันหันในฤดูฝน บริเวณแนวฝั่งลำน้ำพอง จนถึงแม่น้ำชี ทำความเสียหายให้แก่เรือกสวนไร่นา ของประชาชนมาก แต่ภายหลังก่อสร้างเขื่อนอุบลรัตน์แล้ว ได้ช่วยบรรเทาภาวะน้ำท่วม ให้ลดน้อยลง

ด้านคมนาคม เขื่อนอุบลรัตน์ ยังเป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำที่สำคัญ ซึ่งประชาชนใช้เป็นเส้นทางสัญจรไปมาหาสู่กัน อย่างสะดวก และช่วยย่นระยะทาง ทั้งยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยว และพักผ่อนหย่อนใจของประชาชน ทั่วไป


สถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียง

ก่อนเดินทางเข้าเขื่อนอุบลรัตน์ ท่านสามารถจะแวะชม สถานที่ท่องเที่ยวตามรายทางที่น่าสนใจ ซึ่งมีทั้งสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี และแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ หลายแห่ง อาทิ พระธาตุขามแก่น วัดพระบาทภูพานคำ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติขอนแก่น บึงแก่นนคร อุทยานแห่งชาตภูเก้า - ภูพานคำ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตลาดท่าปลาเขื่อนอุบลรัตน์ และอำเภอชนบท ซึ่งมีการทอไหมพื้นเมือง "ซิ่น มัดหมี่" ที่มีชื่อเสียงมาก

พระธาตุขามแก่น
เป็นโบราณสถานเก่าแก่ คู่บ้านคู่เมือง ของจังหวัดขอนแก่น ลักษณะเป็นเจดีย์ ที่สร้างครอบแก่นมะขาม ที่ตายแล้ว แต่กลับแตกกิ่งก้าน ขึ้นมาใหม่ ประมาณว่า สร้างขึ้นพร้อมกับ พระธาตุศรีสองรัก อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ จะมีงานฉลองทุกปี (ปัจจุบันนี้ จังหวัดขอนแก่น ได้อัญเชิญ พระธาตุขามแก่น มาเป็นตราสัญลักษณ์ขอจังหวัด)

วัดพระบาทภูพานคำ
ตั้งอยู่บนไหล่เขาภูพานคำ ติดกับเขื่อนอุบลรัตน์ มีพระพุทธรูป (หลวงพ่อพระใหญ่) สูงประมาณ ๑๔ เมตร ซึ่งประดิษฐาน อยู่บนยอดเขา "ภูพานคำ" มีบันไดนาคขึ้นไปหาองค์พระสูง ๑,๐๔๙ ขั้น นับว่าเป็นปูชนียสถาน - ปูชนียวัตถุ ที่สวยงาม ผู้ที่มาเที่ยว เขื่อนอุบลรัตน์ มักจะแวะนมัสการ เพื่อเป็นสิริมงคล

พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติขอนแก่น
เป็นพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นแหล่งรวมโบราณวัตถุ ล้ำค่า ที่ขุดได้จาก หน่วยศิลปกรที่ ๗ นำมาตั้งแสดงให้ชม เช่น โบราณวัตถุที่บ้านเชียง ใบเสมา จำหลัก จากเมืองฟ้าแดดสูงยาง จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นต้น

บึงแก่นนคร
เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ย่านชุมชน ในเมือง ทำให้เกิดความสง่างาม ประดับตัวเมือง และเป็นแหล่งสนับสนุนกิจการ ท่องเที่ยว ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

อุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ
เป็นสถานที่ เพิ่งได้รับการสถาปนา ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ อยู่ห่างจากเขื่อนอุบลรัตน์เพียง ๕ กิโลเมตร บรรยากาศ ร่มรื่นไปด้วยแมกไม้ มีทั้งชายเขาสูงชัน และเรียบริมฝั่ง อ่างเก็บน้ำ เขื่อนอุบลรัตน์ เหมาะสำหรับ เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ

มหาวิทยาลัยขอนแก่น
เป็นมหาวิทยาลัย ประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งอยู่ในพื้นที่อันกว้างขวาง กว่า ๕,๐๐๐ ไร่ อยู่ห่างจาก ตัวเมืองขอนแก่น ๔ กิโลเมตร

ตลาดท่าปลาเขื่อนอุบลรัตน์
จากสันเขื่อนเรียบไปตามไหล่เขา ภูพานคำ ทางปีกขวา ของอ่างเก็บน้ำ เขื่อนอุบลรัตน์ ประมาณ ๕ กิโลเมตร ตั้งแต่เวลา ๐๖.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. จะมีชาวประมงจับปลา จากอ่างเก็บน้ำ แล่นเรือเข้าเที่ยวฝั่ง เพื่อนำปลามาจำหน่าย

อำเภอชนบท
แยกจากทางหลวงหมายเลข ๒ ตรงหลักกิโลเมตรที่ ๓๙๙ ตรงข้ามกับอำเภอบ้านไผ่ เข้าไปอีก ๑๑ กิโลเมตร มีการทอผ้าไหมพื้นเมือง "ซิ่น มัดหมี่" ผ้าไหมอำเภอชนบท มีชื่อเสียงมาก นักท่องเที่ยวที่เดินทางผ่าน มักจะแวะเข้าไปชม และซื้อกันอยู่เสมอ



จังหวัดขอนแก่น :: การเดินทาง

ทางรถยนต์
ขอนแก่น อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ไปตามทางรถยนต์ 445 กิโลเมตร จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) ถึงจังหวัดสระบุรี ตรงหลักกิโลเมตรที่ 107 แยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) ผ่านจังหวัดนครราชสีมาถึงจังหวัดขอนแก่น

อีกเส้นทางหนึ่ง ใช้เส้นทางจากกรุงเทพฯ ถึงสระบุรีแล้วตรงไปตามถนนสระบุรี-ลำนารายณ์ แยกขวาเข้าเส้นทางม่วงค่อม-ด่านขุนทด-ชัยภูมิ-ขอนแก่น หรือสระบุรี-ลำนารายณ์-อำเภอเทพสถิตย์-ชัยภูมิ-อำเภอมัญจาคีรี-อำเภอพระยืน-ขอนแก่น

ทางรถโดยสารประจำทาง
จากสถานีขนส่งสายตะวันออกเฉียงเหนือ ถนนกำแพงเพชร 2 มีรถโดยสารธรรมดา รถปรับอากาศ และรถนอนพิเศษชนิด 24 ที่นั่ง วิ่งบริการทุกวัน ใช้เวลาเดินทางประมาณ 7 ชั่วโมง สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 936-2852-66

ทางรถไฟ
มีขบวนรถไฟออกจากสถานีกรุงเทพฯ (หัวลำโพง) ผ่านจังหวัดขอนแก่น ไปจังหวัดอุดรธานี และหนองคายทุกวัน ทั้งรถเร็ว รถด่วน และรถด่วนดีเซลรางปรับอากาศ
ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 223-7010, 223-7020 สถานีรถไฟขอนแก่น โทร. (043) 221112

ทางเครื่องบิน
บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดบริการเที่ยวบินกรุงเทพฯ-ขอนแก่น ทุกวันๆละ 3 เที่ยว ใช้เวลาเดินทาง 50 นาที ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โทร. 280-0060, 628-2000 และที่ขอนแก่น โทร. (043) 236523, 239011, 238835

การคมนาคมในเมือง
จะมีรถสามล้อเครื่องและสามล้อถีบวิ่งบริการภายในตัวเมืองและเขตเทศบาล ค่าโดยสารประมาณ 5-10 บาท ตามระยะทาง และมีรถประจำทางขนาดเล็กวิ่งรับ-ส่งผู้โดยสารในตัวเมือง รวมทั้งสิ้น 14 สาย ค่าโดยสาร 3 บาทตลอดสาย นอกจากนั้นยังมีรถโดยวิ่งประจำทาง ระหว่างอำเภอเมืองขอนแก่นไปยังอำเภอต่างๆ และไปยังบางจังหวัดในภาคอีสานและภาคเหนือด้วย

ระยะทางจากอำเภอเมือง ไปยังอำเภอต่างๆ
- อำเภออุบลรัตน์ 51 กิโลเมตร
- น้ำพอง 32 กิโลเมตร
- หนองเรือ 44 กิโลเมตร
- บ้านไผ่ 44 กิโลเมตร
- มัญจาคีรี 56 กิโลเมตร
- ชุมแพ 81 กิโลเมตร
- ภูเวียง 65 กิโลเมตร
- กระนวน 64 กิโลเมตร
- เขาสวนกวาง 54 กิโลเมตร
- สีชมพู 115 กิโลเมตร
- อ.พล 75 กิโลเมตร
- ชนบท 58 กิโลเมตร
- แวงน้อย 97 กิโลเมตร
- แวงใหญ่ 74 กิโลเมตร
- บ้านฝาง 21 กิโลเมตร
- พระยืน 32 กิโลเมตร
- หนองสองห้อง 97 กิโลเมตร
- เปือยน้อย 97 กิโลเมตร
- ภูผาม่าน 113 กิโลเมตร
- กิ่งอำเภอหนองนาคำ 85 กิโลเมตร
- กิ่งอำเภอซำสูง 45 กิโลเมตร
- กิ่งอำเภอโคกโพธิ์ชัย 76 กิโลเมตร


จังหวัดขอนแก่น :: สถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ

อำเภอน้ำพอง

พิพิธภัณฑ์เฮือนลาว ตั้งอยู่เลขที่ 188 หมู่ที่ 5 ตำบลโคกท่า เป็นพิพิธภัณฑ์ส่วนบุคคล ภายในจัดแสดงถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ และภูมิปัญญาชาวบ้าน ศิลปวัฒนธรรมของชุมชนท้องถิ่นในอดีต สร้างขึ้นเพื่อแสดงวัฒนธรรมของชาวอีสาน ประกอบด้วยเรือนนอน ชาน และเรือนครัว บ่งบอกถึงวิถีชีวิตของชาวอีสาน เปิดให้ผู้สนใจเข้าชมในวันเสาร์ – วันอาทิตย์ และวันหยุดราชการ เวลา 08.30 - 17.00 น. สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 089-139-3909, 089-139-3919 หรือ 043-235-800#1111

พระธาตุขามแก่น ตั้งอยู่ตำบลบ้านขาม ในวัดเจติยภูมิ สร้างขึ้นประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๕ ตามประวัติโดยย่อกล่าวว่า โมริยกษัตริย์เจ้าเมืองโมรีย์ ซึ่งเป็นเมืองอยู่ในอาณาเขตของประเทศกัมพูชา มีความประสงค์ที่จะนำพระอังคารของพระพุทธเจ้า ที่พระองค์ได้ไว้เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าปรินิพพานใหม่ๆ มาบรรจุพระธาตุพนม จึงโปรดให้พระอรหันต์ และพระเถระเจ้าคณะรวม ๙ องค์ นำขบวนอัญเชิญพระอังคารมาในครั้งนี้ เมื่อผ่านมาถึงดอนมะขามแห่งหนึ่ง ซึ่งมีต้นมะขามใหญ่ที่ตายแล้วเหลือแต่แก่น เนื่องจากเป็นเวลาพลบค่ำแล้ว และบริเวณนี้ภูมิประเทศราบเรียบดี จึงหยุดคณะพักชั่วคราว รุ่งเช้าจึงเดินทางต่อไปถึงภูกำพร้า ปรากฏว่าพระธาตุพนมได้สร้างเสร็จแล้ว จึงเดินทางกลับและตั้งใจว่า จะนำพระอังคารธาตุกลับไปประดิษฐานไว้ที่บ้านเมืองของตน แต่เมื่อเดินทางผ่านดอนมะขามอีกครั้ง ปรากฏว่าแก่นมะขามที่ตายแล้วนั้น กลับยืนต้นแตกกิ่งก้านผลิใบเขียวชอุ่มเป็นที่น่าอัศจรรย์ คณะอัญเชิญพระอังคารธาตุ จึงพร้อมใจกันสร้างเจดีย์ครอบต้นมะขามนี้ พร้อมกับนำพระอังคารธาตุ และพระพุทธรูปบรรจุไว้ในองค์พระธาตุ และให้นามว่าพระธาตุขามแก่น มาจนทุกวันนี้

องค์พระธาตุขามแก่น ได้รับการบูรณะจากกรมศิลปากร ภายใต้การควบคุมของสำนักโบราณคดี และพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติที่ ๙ มีการปรับปรุงทาสีองค์พระธาตุ ขยายบริเวณกำแพงแก้วทั้ง ๔ ด้าน ห่างจากองค์พระธาตุ ให้มีทัศนียภาพที่สวยงาม ทุกปีในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ จะมีงานฉลองและนมัสการพระธาตุขามแก่นเป็นงานประจำปี

การเดินทาง ใช้ทางหลวงหมายเลข ๒๐๙ (ขอนแก่น-กาฬสินธุ์) ห่างจากตัวเมืองไปประมาณ ๑๒ กิโลเมตร เมื่อข้ามลำน้ำพองแล้ว เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข ๒๑๘๓ ไปอีกประมาณ ๑๔ กิโลเมตร

กู่ประภาชัย หรือ กู่บ้านนาคำน้อย ตั้งอยู่ที่บ้านนาคำน้อย ตำบลบัวใหญ่ กู่ประภาชัย คือกลุ่มโบราณสถานที่มีลักษณะแผนผัง อย่างเดียวกันกับโบราณสถาน ที่พบหลักฐานแสดงอโรคยาศาล หรือสถานพยาบาลที่พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ แห่งอาณาจักรเขมรโบราณโปรดฯ ให้สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ ๑๘ (พ.ศ.๑๗๒๐-๑๗๘๐) คือประกอบด้วยปรางค์ประธานรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส มีมุขยื่นทางด้านหน้า ด้านขวามือเยื้องไปข้างหน้าเป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมที่เรียกว่า บรรณาลัย อาคารทั้งสองล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว โดยมีโคปุระหรือซุ้มประตูทางเข้าออกด้านหน้า หรือทางด้านทิศตะวันออกเพียงด้านเดียว นอกกำแพงที่มุมซ้ายมีสระน้ำ ๑ สระ ทั้งหมดสร้างด้วยศิลาแลง โดยมีเสาประดับประตู ทับหลังเป็นหินทราย ปัจจุบันหักพังแต่ได้รับการดูแลรักษาจากทางวัดเป็นอย่างดี กู่บ้านนาคำน้อยได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ เมื่อวันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ.๒๔๗๘

การเดินทาง ไปทางเดียวกับพระธาตุขามแก่น ตรงต่อไปถึงสะพานคลองส่งน้ำจากลำน้ำพอง เลี้ยวซ้ายตามถนนเลียบคลองส่งน้ำ แล้วเลี้ยวขวาข้ามสะพานเข้าหมู่บ้านนาคำน้อย กู่จะอยู่ภายในวัดกู่บ้านนาคำน้อย หรือจะขับรถข้ามสะพานข้ามคลองส่งน้ำ ตรงไปตามถนนลาดยางประมาณ ๖ กิโลเมตร จะมีป้ายบอกทางให้เลี้ยวซ้ายผ่านหมู่บ้านไปประมาณ ๑ กิโลเมตร

หมู่บ้านงูจงอาง บ้านโคกสง่า ตำบลทรายมูล ชาวบ้านโคกสง่า แต่เดิมมีอาชีพขายยาสมุนไพร ควบคู่กับการทำนามาแต่รุ่นปู่ย่าตายาย การขายยาสมุนไพรในสมัยก่อน ต้องเดินเท้าไปเร่ขายยาตามหมู่บ้านต่าง ๆ ด้วยความยากลำบาก แต่เมื่อปีพ.ศ. ๒๔๙๔ พ่อใหญ่เคน ยงลา หมอยาบ้านโคกสง่า จึงได้คิดหางูเห่ามาแสดง เพื่อเป็นการดึงดูดคนมาดู แทนที่จะต้องเดินไปขายยาในทุก ๆ หมู่บ้านเช่นเคย ปรากฏว่าการแสดงประสบความสำเร็จ สามารถเรียกคนมาดูได้มากพอสมควร แต่เนื่องจากงูเห่านั้นมีอันตรายมาก สามารถพ่นพิษได้ไกลถึง ๒ เมตร

พ่อใหญ่จึงเปลี่ยนมาใช้งูจงอางแสดงแทน และถ่ายทอดวิชาแสดงงูให้คนในหมู่บ้าน เมื่อว่างเว้นจากการเกษตร ชาวบ้านจะรวมกลุ่มเดินทางออกเร่แสดงงู เพื่อขายยาสมุนไพร ส่วนการแสดงที่หมู่บ้านนั้น จะจัดขึ้นบริเวณลานวัดศรีธรรมา และรอบ ๆ บริเวณก็จะมีการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับงูจงอาง รวมทั้งมีโรงเรือนเพาะเลี้ยงงูจงอางอยู่ด้วย

การแสดงงูจงอางบ้านโคกสง่าเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายมาก ชาวบ้านเกือบทุกหลังคาเรือนจะเลี้ยงงูจงอางไว้ใต้ถุนบ้าน มีการจัดแสดงหลายรูปแบบเพื่อดึงดูดให้คนสนใจยิ่งขึ้น เช่น การแสดงละครงูตามจังหวะเพลง การชกมวยระหว่างคนกับงูจงอาง จนชาวบ้านที่มีชื่อเสียงทางการแสดงงูมีฉายาประจำ เช่น กระหร่องน้อย เมืองอีสาน, ทองคำ ลูกทองชัย เป็นต้น

การเดินทาง บ้านโคกสง่าอยู่ห่างจากตัวเมือง ๔๙ กิโลเมตร ไปตามทางหลวงหมายเลข ๒(ถนนมิตรภาพ) ถึงหลักกิโลเมตรที่ ๓๓ เลี้ยวขวาเข้าเส้นทางไปอำเภอกระนวน ทางหลวงหมายเลข ๒๐๓๙ ถึงหลักกิโลเมตรที่ ๑๔ เมื่อสังเกตเห็นป้อมยามตำรวจพังทุยทางด้านซ้าย ให้เลี้ยวขวาไปตามถนนลูกรังผ่านบ้านนางาม วัดสระแก้ว เมื่อถึงสี่แยกที่อ่านหนังสือประจำหมู่บ้านแล้วเลี้ยวซ้ายไปประมาณ ๖๐๐ เมตร จะถึงประตูทางเข้าหมู่บ้านตรงไป

ค่ายเปรมติณสูลานนท์และหอเกียรติยศ หอเกียรติยศรัฐบุรุษ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นที่รวบรวมและเรียบเรียงชีวประวัติ และผลงานสำคัญของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เพื่ออนุชนรุ่นหลังได้ศึกษา และยึดถือเป็นแบบอย่าง เพื่อเสริมสร้างเอกลักษณ์แห่งคนดี และเชิดชูเกียรติยศและรัฐบุรุษสืบไป ติดต่อเข้าชมล่วงหน้าหรือเป็นหมู่คณะได้ที่ ค่ายเปรมติณสูลานนท์ โทร. ๐ ๔๓๒๔ ๒๐๐๕

อำเภออุบลรัตน์

เขื่อนอุบลรัตน์ เรียกอีกชื่อว่า “เขื่อนพองหนีบ” เนื่องจากสร้างข้ามแม่น้ำพอง โดยปิดกั้นลำน้ำพอง ตรงบริเวณช่องเขาที่เป็นแนวต่อ ระหว่างเทือกเขาภูเก้าและภูพานคำ การก่อสร้างเริ่มเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๗ แล้วเสร็จปี พ.ศ. ๒๕๐๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตน์ราชกัญญาฯ ได้เสด็จไปทรงทำพิธีเปิดเขื่อนเมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๐๙ มีประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ทั้งการผลิตกระแสไฟฟ้า การเกษตร การประมง การป้องกันอุทกภัย การคมนาคม ตลอดไปจนถึงเป็นที่สำหรับพักผ่อนหย่อนใจ ภายในบริเวณมีร้านอาหาร บ้านพักบริการ และกิจกรรมต่าง ๆ บริการ เช่น การนั่งเรือชมวิวทัศนียภาพเหนือเขื่อน เดินชมสวนไม้ในวรรณคดี และสวนประติมากรรมไดโนเสาร์ รวมทั้งยังมีสนามกอล์ฟบริการอีกด้วย สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ที่ทำการเขื่อนอุบลรัตน์ โทร. ๐ ๔๓๔๔ ๖๒๓๑ กรุงเทพฯ โทร. ๐ ๒๔๓๖ ๖๐๔๖-๘

การเดินทาง ห่างจากตัวเมืองขอนแก่น ๕๐ กิโลเมตร ใช้ทางหลวงหมายเลข ๒ (ขอนแก่น-อุดรธานี) ถึงหลักกิโลเมตรที่ ๔๗๐-๔๗๑ จะมีทางแยกซ้ายมือเข้าสู่เขื่อนอุบลรัตน์อีก ๒๔ กิโลเมตร

บางแสน ๒ และหาดจอมทอง ตั้งอยู่ที่บ้านหินเพิง ตำบลท่าเรือ อยู่ห่างจากอำเภอเมืองไปประมาณ ๕๓ กิโลเมตร บรรยากาศโดยรอบของชายหาด ริมทะเลสาบน้ำจืดเหนือเขื่อนอุบลรัตน์ สวยสะดุดตา เมื่อพระอาทิตย์ฉายส่องลงมาในยามเย็น กระทบกับทิวเขาภูเก้าที่ตั้งตระหง่านอยู่ด้านหลัง กิจกรรมกีฬาทางน้ำที่น่าสนใจคือ จักรยานน้ำ บานาน่า โบ๊ต ห่วงยาง เรือสกู๊ตเตอร์ นอกจากนี้ยังมีบริการอาหารเลิศรส ที่ปรุงจากปลาในเขื่อนอุบลรัตน์ ได้แก่ ปลานิล ปลาตะเพียน ปลาช่อน ช่วงเทศกาลสำคัญ หรือวันหยุด มักจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางไปชมธรรมชาติ และเล่นน้ำกันเป็นจำนวนมาก

อุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ ครอบคลุมพื้นที่อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น และอำเภอโนนสัง จังหวัดหนองบัวลำภู มีพื้นที่ ๓๒๐ ตารางกิโลเมตร หรือ ๒๐๑,๒๕๐ ไร่ ได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๒๘ สภาพพื้นที่ป่าส่วนใหญ่ปกคลุมด้วยป่าเต็งรัง ใบไม้จะเปลี่ยนสี ผลัดใบ ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน ที่ตั้งของสำนักงานอุทยานฯ จะอยู่บริเวณภูพานคำ ริมทะเลสาบเหนือเขื่อนอุบลรัตน์ มีทิวทัศน์ที่สวยงามมาก โดยเฉพาะเวลาพระอาทิตย์ตก ภายในบริเวณที่ทำการอุทยานฯ มีสถานที่สำหรับตั้งค่ายพักแรมได้ สิ่งที่น่าสนใจส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณภูเก้า ในเขตจังหวัดหนองบัวลำภู ได้แก่ ร่องรอยก่อนประวัติศาสตร์ของชุมชนในสมัยบ้านเชียง เช่น ภาพเขียนสี และภาพสลักตามผนังถ้ำต่างๆ และรอยเท้าไดโนเสาร์ ซึ่งสันนิษฐานว่า เป็นพันธุ์เดียวกับรอยเท้าที่พบที่อำเภอภูเวียง เป็นต้น

การเดินทาง ใช้เส้นทางสายขอนแก่น-เขื่อนอุบลรัตน์ ถึงตลาดอุบลรัตน์ ระยะทาง ๕๐ กิโลเมตร จากนั้นใช้เส้นทางเขื่อนอุบลรัตน์-โนนสัง ระยะทาง ๖ กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานฯ หรือใช้เส้นทางสายอุดรธานี-เลย เข้าสู่อำเภอโนนสัง ที่สามแยกจังหวัดหนองบัวลำภู ระยะทาง ๔๐ กิโลเมตร ถึงสามแยกโสกจาน เลี้ยวขวาเส้นทางบ้านที่โสกจาน-เขื่อนอุบลรัตน์ ระยะทาง ๕๔ กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานฯ หรือขึ้นรถโดยสารประจำทาง สายเขื่อนอุบลรัตน์-โนนสัง บริเวณตลาดอำเภออุบลรัตน์


อำเภอหนองเรือ

อุทยานแห่งชาติน้ำพอง มีพื้นที่ทั้งสิ้น ๑๙๗ ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่หลายอำเภอในจังหวัดขอนแก่น ได้แก่ อุบลรัตน์ ภูเวียง บ้านฝาง มัญจาคีรี และ โคกโพธิ์ชัย และ สองอำเภอในจังหวัดชัยภูมิ ได้แก่ บ้านแท่น และแก่งคร้อ ที่ทำการอุทยานฯ ตั้งอยู่บริเวณอ่างเก็บน้ำอุบลรัตน์ เป็นทั้งแหล่งต้นน้ำของลำน้ำชี ลำน้ำพอง และแหล่งสมุนไพร พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง

ในบริเวณอุทยานมีจุดชมวิวอยู่หลายแห่ง ได้แก่ “จุดชมวิวหินช้างสี” เป็นกลุ่มหินใหญ่บนสันเขาป่าโสกแต้ ด้านข้างของหินมีรอยดิน ที่ช้างใช้ลำตัวสีก้อนหินติดอยู่ ใช้เวลาเดินเท้าจากที่ทำการประมาณ ๒ ชั่วโมง หรือโดยรถยนต์จากสวนป่าโสกแต้ ๘ กิโลเมตร จากจุดนี้จะมองเห็นทัศนียภาพของอ่างเก็บน้ำอุบลรัตน์ และเมืองขอนแก่น เดินเท้าจากจุดนี้ไป ๓๐ นาทีจะเป็น “จุดชมวิวพลาญชาด” เป็นลานหินที่มีต้นชาดขึ้นอยู่ ถัดไปคือ "ผาสวรรค์" เป็นหน้าผาบนเทือกเขาป่าโสกแต้อยู่บริเวณบ้านโนนสวรรค์ อำเภออุบลรัตน์ เป็นจุดชมทัศนียภาพของอ่างเก็บน้ำที่งดงามอีกจุดหนึ่ง ใช้เวลาเดินเท้าจากที่ทำการประมาณ ๒ ชั่วโมง สถานที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่งก็คือ “โพนคำ” เป็นบ่อหินกลมคล้ายปล่องภูเขาไฟเกิดจากสภาพทางธรณีวิทยา
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานแห่งชาติน้ำพอง ตู้ ป.ณ.๑๓ (ดอนโมง) อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น ๔๐๒๔๐ โทร. ๐ ๔๓๒๔ ๘๐๐๖ หรือ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรุงเทพฯ โทร. ๐ ๒๕๖๒ ๐๗๖๐

การเดินทาง สามารถเดินทางไปอุทยานฯ ได้ ๒ เส้นทาง คือ

๑. จากตัวเมืองขอนแก่นไปตามทางหลวงหมายเลข ๑๒ ทางไปอำเภอชุมแพ ถึงหลักกิโลเมตรที่ ๓๐ แยกขวาเข้าบ้านผือไปประมาณ ๑๙ กิโลเมตร ตามเส้นทาง รพช. สายขอนแก่น ๓๐๓๔ (หนองแสง-ท่าเรือ) ระยะทาง ๔๙ กิโลเมตร
๒. จากขอนแก่น-อำเภออุบลรัตน์ ตามทางหลวงหมายเลข ๒ ไปจังหวัดอุดรธานี แยกซ้ายเข้าอำเภออุบลรัตน์ ถึงตัวอำเภอจะมีแยกเลี้ยวซ้ายตามเส้นทาง รพช. สายขอนแก่น ๓๐๓๔ (หนองแสง-ท่าเรือ) เดินทางลัดเลาะริมเขื่อนอุบลรัตน์มาอีกประมาณ ๒๐ กิโลเมตร จะถึงที่ทำการอุทยานฯ รวมระยะทาง ๖๕ กิโลเมตร

ผู้ที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ อุทยานแห่งชาติน้ำพอง ตู้ปณ. ๑๓ (ดอนโมง) อำเภอหนองเรือ ขอนแก่น ๔๐๒๔๐ โทร. ๐ ๔๓๒๔ ๘๐๐๖–๗

อำเภอภูเวียง

พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง เป็นส่วนหนึ่งของศูนย์ศึกษาวิจัยซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ภูเวียง ก่อตั้งโดยความร่วมมือระหว่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จังหวัดขอนแก่น และกรมทรัพยากรธรณี เพื่อศึกษาค้นคว้า และเผยแพร่ความรู้ด้านทรัพยากรธรณีแก่สาธารณชน อาคารพิพิธภัณฑ์แบ่งออกเป็น ๓ ส่วน คือ ส่วนบริการ ส่วนวิชาการ และส่วนนิทรรศการ โดยในห้องจัดแสดงนิทรรศการ แบ่งพื้นที่แสดงเป็นการกำเนิดโลก หิน แร่ ซากดึกดำบรรพ์ และหุ่นจำลองไดโนเสาร์ เป็นต้น เปิดให้เข้าชมทุกวันยกเว้นวันพุธ ตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐ -๑๗.๐๐ น.

อุทยานแห่งชาติภูเวียง ครอบคลุมอำเภอภูเวียง อำเภอสีชมพู และอำเภอชุมแพ มีพื้นที่ ๓๘๐ ตารางกิโลเมตร เมื่อพูดถึงอุทยานแห่งชาติภูเวียง นักท่องเที่ยวก็ต้องนึกถึงไดโนเสาร์ ไม่เคยมีใครคาดคิดมาก่อนว่า บริเวณที่ราบสูงที่อยู่ในเขตประเทศไทยปัจจุบันนั้น จะเคยเป็นบ้านของไดโนเสาร์มาก่อน จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๙ มีการสำรวจแหล่งแร่ยูเรเนียม ในบริเวณอุทยานแห่งชาติภูเวียง ระหว่างการสำรวจนักธรณีวิทยา ได้ค้นพบซากกระดูกชิ้นหนึ่งเข้า และเมื่อส่งไปให้ผู้เชี่ยวชาญชาวฝรั่งเศสวิจัย ผลปรากฏออกมาว่า เป็นกระดูกหัวเข่าข้างซ้ายของไดโนเสาร์ จากนั้นนักสำรวจก็ได้ทำการขุดค้นกันอย่างจริงจัง เรื่อยมากระทั่งปัจจุบัน

บนยอดภูประตูตีหมา หลุมขุดค้นที่ ๑ ได้พบฟอสซิลไดโนเสาร์พันธุ์หนึ่ง มีลำตัวสูงใหญ่ประมาณ ๑๕ เมตร คอยาว หางยาว เป็นพันธุ์กินพืชซึ่งไม่เคยพบที่ใดมาก่อน จึงได้อัญเชิญพระนามของสมเด็จพระเทพฯ มาตั้งชื่อไดโนเสาร์พันธุ์นี้ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติว่า "ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน่" (Phuwianggosaurus Sirindhornae) และในบริเวณหลุมขุดค้นเดียวกันนั้นเอง นักสำรวจได้พบฟันของไดโนเสาร์ประเภทกินเนื้อ ปะปนอยู่มากกว่า ๑๐ ซี่ ทำให้สันนิษฐานได้ว่า โซโรพอดตัวนี้อาจเป็นอาหารของเจ้าของฟันเหล่านี้ แต่ในกลุ่มฟันเหล่านั้น มีอยู่หนึ่งซี่ที่มีลักษณะแตกต่างออกไป เมื่อนำไปศึกษาปรากฏว่า ฟันชิ้นนี้เป็นลักษณะฟันไดโนเสาร์พันธุ์ใหม่ ที่ไม่เคยค้นพบมาก่อนเช่นกัน จึงตั้งชื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ค้นพบ นายวราวุธ สุธีธร ว่า "ไซแอมโมซอรัส สุธีธรนี่" (Siamosaurus Suteethorni) ผู้สนใจสามารถเดินไปชมได้ หลุมขุดค้นที่ ๑ นั้นอยู่ไม่ไกลจากที่ทำการอุทยาน และยังสามารถเดินไปชมหลุมขุดค้นที่ ๒ และ ๓ ซึ่งอยู่บริเวณใกล้เคียงด้วย

ฟอสซิลของ "ไซแอมโมไทรันนัส อีสานเอ็นซิส" (Siamotyrannus Isanensis) เป็นสิ่งที่ชี้ว่า ไดโนเสาร์จำพวกไทรันโนซอร์ มีต้นกำเนิดในทวีปเอเชีย เพราะฟอสซิลที่พบที่นี่ เป็นชิ้นที่เก่าแก่ที่สุด (๑๒๐-๑๓๐ ล้านปี) แต่กระดูกชิ้นนี้ ได้นำไปจัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์ในกรมทรัพยากรธรณี กรุงเทพฯ

บริเวณหินลาดป่าชาด หลุมขุดค้นที่ ๘ พบรอยเท้าไดโนเสาร์จำนวน ๖๘ รอย อายุประมาณ ๑๔๐ ล้านปี เกือบทั้งหมดเป็นรอยเท้าของไดโนเสาร์กินเนื้อ พันธุ์เล็กที่สุดในโลกเดิน ๒ เท้า แต่หนึ่งในรอยเท้าเหล่านั้น มีขนาดใหญ่ผิดจากรอยอื่น คาดว่าเป็นของคาร์โนซอรัส การไปชมควรเดินทางด้วยรถขับเคลื่อน ๔ ล้อ ใช้เวลาประมาณ ๑ ชั่วโมง ห่างจากที่ทำการ ๑๙ กิโลเมตร

ส่วนฟอสซิลดึกดำบรรพ์อื่น ๆ ที่ขุดพบ เช่น ซากลูกไดโนเสาร์ ซากจระเข้ขนาดเล็ก ซากหอย ๑๕๐ ล้านปี จะอยู่กระจัดกระจายกันตามหลุมต่างๆ

ความน่าสนใจของที่นี่ไม่ได้มีแต่เพียงไดโนเสาร์เท่านั้น ยังมีการพบร่องรอยอารยธรรมโบราณด้วย โดยพบ “พระพุทธรูปปางไสยาสน์” ประติมากรรมนูนสูงสลักบนหน้าผาของยอดเขาภูเวียง สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๔ ลักษณะท่านอนได้รับอิทธิพลจากอินเดีย พระเศียรหนุนแนบกับต้นแขนขวา แขนซ้ายทอดไปตามลำพระองค์ นอกจากนี้“ถ้ำฝ่ามือแดง” ที่บ้านหินร่องมีงานศิลปะของมนุษย์ถ้ำโบราณ ลักษณะของภาพ เกิดจากการพ่นสีแแดงลงไป ในขณะที่มือทาบกับผนังถ้ำ ก่อให้เกิดเป็นรูปฝ่ามือขึ้น

ส่วนแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ในบริเวณอุทยานฯ จะมีน้ำตกอยู่สองสามแห่ง “น้ำตกทับพญาเสือ”เป็นน้ำตกเล็ก ๆ ตั้งอยู่ใกล้กับถ้ำฝ่ามือแดง “น้ำตกตาดฟ้า” เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ สูงประมาณ ๑๕ เมตร สามารถเข้าถึงได้ทางรถยนต์ อยู่ห่างจากอำเภอภูเวียง ๑๘ กิโลเมตรและขึ้นเขาไปอีก ๖ กิโลเมตร ตรงต่อไปจากน้ำตกตาดฟ้าอีก ๕ กิโลเมตร จะถึง “น้ำตกตาดกลาง” สูงประมาณ ๘ กม. นอกจากน้ำตกก็ยังมีแหล่งท่องเที่ยวประเภททุ่งหญ้าและลานหิน ซึ่งจะมีดอกไม้ป่านานาพันธุ์บานในช่วงหลังฤดูฝน ได้แก่ “ทุ่งใหญ่เสาอาราม”“หินลาดวัวถ้ำกวาง” และ “หินลาดอ่างกบ”

การเดินทาง จากตัวเมืองขอนแก่นใช้เส้นทางขอนแก่น-ชุมแพ (ทางหลวงหมายเลข ๑๒) เป็นระยะทาง ๔๘ กิโลเมตร แยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข ๒๐๓๘ เป็นระยะทาง ๑๘ กิโลเมตร ถึงอำเภอภูเวียง แล้วใช้เส้นทางภูเวียง-บ้านเมืองใหม่ ไปจนถึงกิโลเมตรที่ ๒๓ จะเป็นบริเวณที่เรียกว่า“ปากช่องภูเวียง” ซึ่งมีหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติภูเวียงตั้งอยู่ เดินทางต่อไปจนถึงกิโลเมตรที่ ๓๐ เลี้ยวซ้ายตรงทางเข้าอ่างเก็บน้ำบ้านโพธิ์ เป็นระยะทาง ๘ กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูเวียงที่ “ภูประตูตีหมา” ภายในอาคารมีการจัดแสดงนิทรรศการและซากกระดูกส่วนต่าง ๆ ของไดโนเสาร์ ที่ขุดพบบริเวณภูเวียง โดยมีคำอธิบายลักษณะ และการเกิดซากต่าง ๆ เหล่านี้ หากประสงค์จะเข้าชมเป็นหมู่คณะ และต้องการเจ้าหน้าที่นำชม ติดต่อได้ที่สำนักงานอุทยานฯ บริเวณภูประตูตีหมา โทร. ๐ ๔๓๒๔ ๙๐๕๒

หาดสวรรค์ ตั้งอยู่ในพื้นที่ริมอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติแห่งใหม่ ที่มีทัศนียภาพที่สวยงาม มีเนื้อที่ประมาณ ๖๒ ไร่ และเป็นสถานที่พักผ่อนใจอีกแห่งหนึ่งของประชาชน และนักท่องเที่ยว

พัทยา ๒ ตั้งอยู่ที่บ้านหนองกุงเซิน ห่างจากอำเภอเมืองไปประมาณ ๗๘ กิโลเมตร เป็นทะเลสาบขนาดประมาณ ๒๐ ไร่ มักจะมีผู้คนท้องถิ่นมาพักผ่อนหย่อนใจ เพราะนอกจากจะมีทัศนียภาพที่งดงาม โดยมีเทือกเขาภูพานคำ ตั้งตระหง่านอยู่ด้านหลังแล้ว ยังได้นั่งรับประทานปลาน้ำจืดนานาชนิด (ที่หาได้จากทะเลสาบนี้เอง) บรรยากาศที่เย็นสบาย นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมทางน้ำ ให้เลือกเล่นมากมาย เป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวที่มาพักผ่อน

การเดินทาง จากตัวเมืองไปตามทางหลวงหมายเลข ๑๒ เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข ๒๐๓๘ ตรงไปประมาณ ๑๒ กิโลเมตร เลี้ยวขวาเข้าถนนเกียรติสุรนนท์ ตรงไปประมาณ ๑๒ กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายไปทางบ้านค้อ และเลี้ยวซ้ายอีกทีตรงวัดโสภารัตนพัฒนาราม ตรงไปและเลี้ยวขวาอีกครั้งหนึ่ง

หมู่บ้านอนุรักษ์ควายไทย ตั้งอยู่ที่บ้านโนนอุดม-บ้านโนนสว่าง ห่างจากอำเภอภูเวียงประมาณ ๒๕ กิโลเมตร เป็นหมู่บ้านที่มีการเลี้ยงควายหนาแน่น ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจากสำนักงานปศุสัตว์ จังหวัดขอนแก่น และสำนักงานกรมปศุสัตว์ อำเภอภูเวียง เกิดกลุ่มอาชีพเลี้ยงควายของอำเภอ จนมีการจัดตั้งให้เป็นหมู่บ้านอนุรักษ์ และพัฒนาควายไทย ได้รับการคัดเลือกเป็นตัวแทนระดับจังหวัด ส่งเข้าประกวดหมู่บ้านอนุรักษ์ระดับเขต ๔ ปี ๒๕๔๓ และเข้าร่วมหมู่บ้านอนุรักษ์ และพัฒนาควายของกรมปศุสัตว์ และได้รับรางวัลระดับประเทศ สอบถามรายละเอียดได้ที่ องค์การบริหารส่วนตำบลนาหว้า โทร. ๐ ๔๓๒๑ ๑๔๖๖


อำเภอชุมแพ

เมืองโบราณโนนเมือง อยู่ในเขตบ้านนาโพธิ์ ห่างจากอำเภอเมือง ๘๐ กิโลเมตร เล่าสืบต่อกันมาว่า ที่เนินดินกว้างที่เรียกว่า โนนเมือง นั้นเป็นเมืองโบราณ ลักษณะเป็นเนินดินรูปไข่ มีพื้นที่ประมาณ ๒๑๖ ไร่ ล้อมรอบด้วยคูเมือง ๒ ชั้น เมื่อนักโบราณคดีเข้าไปสำรวจพบใบเสมาหินทรายศิลปะทวาราวดี ปักอยู่ในเมืองและพื้นที่โดยรอบ มีเศษภาชนะดินเผาชิ้นไม่ใหญ่นักกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปบนเนินดิน เศษภาชนะดินเผาเหล่านี้มีทั้งชนิดเขียนสีแดง ชนิดลายขูดขีดและลายเชือกทาบ ในชั้นดินสมัยทวาราวดี (พุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๖) ไม่พบหลักฐานของการฝังศพ สันนิษฐานว่า เมื่อพุทธศาสนาเผยแพร่มาสู่โนนเมือง ประเพณีการฝังศพจึงเปลี่ยนไป ยิ่งขุดชั้นดินลึกลงไปยิ่งพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ

เมืองโบราณแห่งนี้เคยมีชุมชนมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ (ตอนปลาย) พบโครงกระดูกมนุษย์อายุราว ๒,๕๐๐ ปี ผู้คนสมัยนี้มีพิธีฝังศพตามประเพณีโบราณ มีการฝังเครื่องมือเครื่องใช้ลงไปพร้อมศพด้วย เช่น หม้อและภาชนะดินเผา มีทั้งลายเขียนสี ลายขูดขีด และลายเชือกทาบ รวมทั้งกำไลสำริด กำไลกระดูกสัตว์ เปลือกหอย ลูกปัดหินสี ฯลฯ นอกจากนั้นยังมีการค้นพบเครื่องมือเหล็กประเภท จอบ เคียว และกระดูกของสัตว์ต่าง ๆ เช่น เก้ง กวาง และปลาหลายชนิด ทำให้ทราบว่าผู้คนที่นี่ดำรงชีวิตด้วยการเกษตรกรรม มีผู้คนอาศัยอยู่ที่นี่เรื่อยมาจนถึงสมัยลพบุรี(พุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๗) และทิ้งร้างไปในที่สุด

การเดินทาง ใช้เส้นทางขอนแก่น-ชุมแพ (ทางหลวงหมายเลข ๑๒) ผ่านตัวอำเภอชุมแพ ถึงที่ทำการไปรษณีย์ เลี้ยวซ้ายเข้าไปอีก ๕ กิโลเมตร

อำเภอภูผาม่าน

อุทยานแห่งชาติภูผาม่าน รูปลักษณ์ภายนอกของอุทยานแห่งนี้ คือ เทือกเขาหินปูนที่มีหน้าผาตัดตรง ดิ่งลงมาเป็นริ้วๆ คล้ายผ้าม่าน สภาพป่าของที่นี่ยังอุดมสมบูรณ์ด้วยป่าดิบ และป่าไม้เบญจพรรณ สภาพอากาศจะเย็นชื้นเกือบตลอดปี อุทยานแห่งนี้มีพื้นที่ทั้งหมด ๒๑๘, ๗๕๐ ไร่ ครอบคลุมอาณาบริเวณในอำเภอภูผาม่าน และอำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น และอำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย

เนื่องจากแหล่งท่องเที่ยวภายในอุทยาน อยู่กระจัดกระจายกัน จึงแบ่งเส้นทางท่องเที่ยวได้สองเส้นทาง คือ

- เส้นที่ว่าการอำเภอภูผาม่าน ไปตามเส้นทางชุมแพ - เพชรบูรณ์ (ทางหลวงหมายเลข ๑๒)เลี้ยวขวาไปตามทางสาย ๒๐๑ ประมาณ ๑๐ กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายไปตามทางสู่ที่ว่าการอำเภอภูผาม่าน ได้แก่

ถ้ำค้างคาว ตั้งอยู่บนภูผาม่าน ห่างจากที่ว่าการอำเภอฯประมาณ ๒.๕ กิโลเมตร อยู่บริเวณหน้าผาด้านหน้าสูงจากระดับพื้นดินประมาณ ๑๐๐ เมตร เมื่อเข้าใกล้จะได้กลิ่นเหม็นของค้างคาว ปากถ้ำสามารถมองเห็นแต่ไกล ภายในถ้ำมีค้างคาวขนาดเล็กอาศัยอยู่นับล้าน ๆ ตัว ภายในถ้ำมีกลิ่นเหม็นฉุนจัด ทุกวันค้างคาวจะออกจากถ้ำในเวลาประมาณ ๑๘.๐๐ น. ตอนบินออกจะใช้เวลาประมาณ ๓๐-๔๕ นาที โดยจะบินออกเป็นกลุ่มยาวนับสิบกิโลเมตร นักท่องเที่ยวสามารถมานั่งพักผ่อน และชมความอัศจรรย์ของธรรมชาติ ที่มีค้างคาวอยู่รวมกันนับล้านไปพร้อมกัน

ถ้ำพระ อยู่ใกล้เคียงกับถ้ำค้างคาว เป็นถ้ำที่มีลักษณะยาวเฉียงขึ้นด้านบน สามารถเดินทะลุถึงยอดภูผาม่านได้ แต่เส้นทางค่อนข้างลำบาก ภายในถ้ำมีหินงอกหินย้อยสวยงาม และมีเสาหินขนาดใหญ่ รถยนต์สามารถเข้าถึงได้ตลอดทั้งปี แต่เหมาะที่จะท่องเที่ยวในฤดูหนาว เนื่องจากในฤดูฝนมีน้ำไหลผ่านถ้ำ ทำให้มีตะไคร่จับก้อนหิน

ถ้ำภูตาหลอ ตั้งอยู่ที่บ้านวังสวาบ ห่างจากที่ว่าการอำเภอฯ ๑๗ กิโลเมตร รถยนต์เข้าถึงได้เฉพาะในฤดูแล้ง เป็นถ้ำที่โอ่งโถง พื้นที่ประมาณไร่เศษ เพดานถ้ำสูงประมาณ ๕-๗ เมตร มีหินงอกหินย้อยซึ่งยังอยู่ในสภาพที่เป็นธรรมชาติ พื้นถ้ำเป็นดินเรียบอากาศภายในเย็นสบาย หินบางก้อนมีลักษณะคล้ายหินเขี้ยวหนุมาน

น้ำตกตาดฟ้า เป็นน้ำตกที่เกิดจากลำห้วยตาดฟ้าซึ่งเป็นเส้นแบ่งเขตแดนอำเภอภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น กับอำเภอน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์ อยู่ในท้องที่บ้านดงสะคร่าน หมู่ ๗ ตำบลวังสวาบ ห่างจากที่ว่าการอำเภอฯประมาณ ๔๐ กิโลเมตร รถยนต์สามารถเข้าไปถึงแค่บ้านตาดฟ้า หลังจากนั้นต้องเดินเท้าต่อไปอีก มีน้ำตกทั้งหมด ๕ ชั้น ชั้นที่สวยงามที่สุดคือ ชั้นสุดท้ายซึ่งมีความสูงประมาณ ๘๐ เมตร ฤดูที่น้ำตกตาดฟ้าจะสวยที่สุดคือฤดูฝน

- เส้นสำนักงานอุทยานฯ ตรงต่อมาจากเส้นทางเดิม ตามทางหลวงหมายเลข ๒๐๑ ได้แก่

น้ำตกตาดใหญ่ เป็นน้ำตกที่มีขนาดใหญ่ เกิดจากห้วยตาดฟ้า มีน้ำตกชั้นเล็กชั้นน้อยหลายชั้นก่อนตกลงหน้าผาที่มีความสูงประมาณ ๘๐ เมตร เป็นน้ำตกที่สูงที่สุดในอุทยานฯ

น้ำตกตาดร้อง เป็นน้ำตกที่เกิดจากลำน้ำพองที่ไหลมาจากภูกระดึงมีความสูงประมาณ ๖๐ - ๗๐ เมตรอยู่ระหว่างเขตรอยต่อของอุทยานฯภูกระดึง และอุทยานฯภูผ่าม่าน

ถ้ำพญานาคราช ภายในมีหินงอกหินย้อยลักษณะเป็นริ้วคล้ายม่านประดับด้วยเกร็ดประกายแวววาวของหินแร่สวยงามมาก รถยนต์สามารถเข้าถึงเชิงเขาที่เป็นตัวถ้ำได้ ถ้ำนี้มีความคดเคี้ยวคล้ายดั่งตัวพญานาคยาวประมาณ ๑ กิโลเมตร

ถ้ำลายแทง อยู่ถัดจากถ้ำพญานาคราชมาประมาณ ๘๐๐ เมตร มีภาพเขียนสีโบราณบนผนังถ้ำกว้างประมาณ ๒ ตารางเมตร ภาพมีลักษณะต่าง ๆ เช่น ภาพคน สัตว์และอื่น ๆ รวมแล้วประมาณ ๗๐ ภาพ แสดงถึงอารยธรรมและการดำรงชีวิตของคนยุคก่อนประวัติศาสตร์กว่า ๒,๐๐๐ ปี

นอกจากนี้ยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกหนึ่งแห่งคือ “น้ำตกตาดร้อง” หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า“น้ำตกตาดฮ้อง” อยู่ในเขตจังหวัดเลย ระหว่างรอยต่ออุทยานแห่งชาติภูกระดึง อุทยานแห่งชาติภูผาม่าน และลำน้ำพอง เป็นน้ำตกขนาดใหญ่สูงประมาณ ๗๐ เมตร เล่ากันว่าน้ำตกแห่งนี้ร้องได้ เพราะบริเวณใต้น้ำตกมีแผ่นหินขนาดใหญ่ ยื่นออกมารองรับน้ำตก เปรียบเสมือนลิ้นขนาดใหญ่ เวลาน้ำตกลงมากระทบแผ่นหิน และแฉลบไปตามซอกหินต่างๆ ทำให้เกิดเสียงดังประหลาดก้องไปทั่วป่า

อุทยานไม่มีที่พักและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับนักท่องเที่ยว ผู้สนใจเที่ยวชมควรเตรียมพร้อมในทุกด้าน รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช โทร. ๐ ๒๕๖๒ ๐๗๖๐

ถ้ำปู่หลุบ อยู่ติดกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๐๑ ภายในถ้ำมีหินงอกหินย้อยแยกเป็นห้อง ๆ ได้ ๕ ห้อง มีเกล็ดแวววาวระยิบระยับสวยงาม ภายในถ้ำมีน้ำขังอยู่ตลอดปี

ผานกเค้า เป็นภูเขาสูงตั้งตระหง่านอยู่ริมลำน้ำพอง อยู่ห่างจากตัวเมืองขอนแก่น ๑๒๕ กิโลเมตร ตามทางหลวงสายขอนแก่น-วังสะพุง (หมายเลข ๒ และ ๒๐๑) ผานกเค้าอยู่ทางด้านซ้ายมือของบ้านดงลาน ลักษณะของผานกเค้าเป็นภูเขาหินสีดำ มีต้นไม้ขึ้นปกคลุมอยู่ประปราย บริเวณที่จะมองเห็นเค้าโครงของนกเค้าได้ชัดเจน ควรเดินเข้าไปในศูนย์เพาะชำกล้วยไม้ กองบำรุง กรมป่าไม้ ซึ่งตั้งอยู่อีกฟากถนน จะเห็นว่าลักษณะผาเหนือจะงอยปากขึ้นไป มีลักษณะเป็นหงอน ถัดลงมาเป็นหินกลมโค้งต่ำจากส่วนหงอนลงมาเป็นส่วนหัว ตรงกลางหัวมีรอยหินกะเทาะ เป็นสีส้มอยู่ในตำแหน่งดวงตา ต่ำลงมาจากส่วนหัวจะถึงแนวปีกทั้งสองข้างที่กางออก

อำเภอมัญจาคีรี

ช้างกระ เป็นชื่อกล้วยไม้ป่าที่หายาก เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ อยู่ในวัดป่ามัญจาคีรี มีมากกว่า ๔,๐๐๐ ต้น เกาะตามกิ่งไม้กว่า ๒๘๐ ต้น ที่มีอายุนับร้อยปี ช้างกระจะออกดอกบานชูช่อสวยงาม ส่งกลิ่นหอมอ่อน ๆ ไปทั่วบริเวณ ช่วงเวลาที่กล้วยไม้ออกดอกสวยระหว่างเดือนมกราคม-กุมภาพันธุ์

การเดินทาง อยู่ห่างจากตัวอำเภอมัญจาคีรีประมาณ ๑ กิโลเมตร และห่างจากอำเภอเมือง ๕๗ กิโลเมตร ใช้เส้นทางถนนมิตรภาพจากกรุงเทพฯ ( ทางหลวงหมายเลข ๒ ) เลี้ยวซ้ายเข้าอำเภอชนบท ต่อไปตามทางหลวงหมายเลข ๒๒๙ (ชนบท – มัญจาคีรี ) สังเกตทางเข้าวัดด้านซ้ายมือ ก่อนเข้าตัวเมืองอำเภอมัญจาคีรี ระยะทางจากถนนมิตรภาพประมาณ ๓๕ กิโลเมตร หรือหากเดินทางจากขอนแก่น ใช้เส้นทางหมายเลข ๒๗๓๑ ( ขอนแก่น – พระยืน ) เชื่อมต่อกับเส้นทางหมายเลข ๒๐๖๒ (พระยืน – มัญจาคีรี)

หมู่บ้านเต่า จะมีเต่าบกชนิดหนึ่ง (ชาวบ้านแถบนั้นเรียกว่า “เต่าเพ็ก”) ลักษณะกระดองจะมีสีเหลืองแก่ ปนน้ำตาลอยู่เป็นจำนวนมาก บ้างก็จะอยู่บริเวณใต้ถุนบ้าน เพื่อรออาหารจากชาวบ้าน บ้างก็เดินอยู่ตามถนนภายในหมู่บ้าน ซึ่งจะหาดูได้ไม่ยาก

การเดินทาง จากขอนแก่นไปตามทางหลวงหมายเลข ๑๒ (ขอนแก่น-ชุมแพ) ประมาณ ๑๐ กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข ๒๐๖๒ (ขอนแก่น-มัญจาคีรี) ประมาณ ๕๔ กิโลเมตร (ก่อนถึงอำเภอมัญจาคีรี ๒ กิโลเมตร) ถึงบริเวณบ้านกอก ปากทางเข้าหมู่บ้านเต่าอยู่ด้านซ้าย จะสังเกตเห็นเป็นรูปเต่าจำลอง ๒ ตัว วางอยู่บนแท่นหินสูงจากพื้นดินประมาณ ๒ เมตร ตั้งอยู่ตรงข้ามวัดศรีสุมัง จากนั้นเลี้ยวซ้าย ใช้เส้นทางลูกรังข้างวัด เข้าสู่เขตหมู่บ้านกอกประมาณ ๕๐ เมตร ก็จะถึงหมู่บ้านเต่า

สิม ( โบสถ์ ) วัดสระทองบ้านบัว ตั้งอยู่ที่บ้านบัว ตำบลกุดเค้า เป็นอาคารที่มีคุณค่าทางสถาปัตยกรรม แสดงลักษณะเด่นชัดของถิ่นอีสาน มีการแต้มสีภาพภายนอกอาคารประดับแว่นแก้วฐานชุกชี ภายในยังคงประดิษฐานพระประธานศิลาทรายรูปแบบอีสาน บริสุทธิ์ที่หาได้ยาก โดยในปี ๒๕๔๕ ได้รับรางวัลอาคารทรงคุณค่า ด้านการอนุรักษ์มรดกและวัฒนธรรมแห่งเอเชียและแปซิฟิก จากองค์การยูเนสโก้ (UNESCO)


กิ่งอำเภอโคกโพธิ์ชัย

วัดอุดมคงคาคีรีเขต ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านโคก เป็นวัดป่าของหลวงปู่ผาง ซึ่งเคยเป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียง เป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชนทั่วไป ปัจจุบันท่านมรณภาพแล้ว แต่มีอนุสรณ์สถาน ที่บรรจุอัฐิของหลวงปู่ผางอยู่ในบริเวณวัด วัดนี้ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขา มีต้นไม้ป่าขึ้นอยู่ร่มรื่น เป็นวัดที่เน้นการปฏิบัติวิปัสสนา

การเดินทาง ไปตามเส้นทางขอนแก่น-ชุมแพ (ทางหลวงหมายเลข ๑๒) ประมาณ ๑๔ กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าเส้นทางสายบ้านทุ่ม-มัญจาคีรี (ทางหลวงหมายเลข ๒๐๖๒) อีกประมาณ ๔๔ กิโลเมตร แล้วแยกเข้าเส้นทางสายมัญจาคีรี-ชัยภูมิ (ทางหลวงหมายเลข ๒๒๙) ประมาณ ๑๒ กิโลเมตร เลี้ยวขวาตามทางหลวงหมายเลข ๒๒๘๔ เข้าวัดอีก ๑๒ กิโลเมตร

อำเภอชนบท

ศาลาไหมไทย หรือ อาคารเฉลิมพระเกียรติ ๖๐ พรรษา มหาราชินี ตั้งอยู่บริเวณวิทยาลัยการอาชีพขอนแก่น เป็นหนึ่งในโครงการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๕ รอบ (๑๒ สิงหาคม ๒๕๓๕) เพื่อเป็นศูนย์สืบสานพระราชปณิธานงานศิลปาชีพ ด้านผ้าไหม และผลิตภัณฑ์ไหมของภาคอีสาน รวมทั้งเป็นศูนย์อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม และขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวอีสาน ภายในอาคารจัดแสดงกรรมวิธีการผลิต ตั้งแต่มัดย้อมจนถึงวิธีการทอ อุปกรณ์เครื่องใช้เกี่ยวกับไหม และของเก่าแก่ที่ควรอนุรักษ์ รวมถึงผ้าไหมมัดหมี่โบราณลวดลายต่าง ๆ ที่พิเศษที่สุดคือที่นี่จัดแสดง
ผ้าไหมมัดหมี่ที่แพงที่สุดในโลก ฝีมือชาวอำเภอชนบท และเคยชนะการประกวดผ้าไหมของเอเชีย พร้อมทั้งได้รับพระราชทานถ้วยรางวัล จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ศาลาไหมไทย

เปิดให้เข้าชมทุกวันในเวลาราชการ รายละเอียดติดต่อที่วิทยาลัยการอาชีพขอนแก่น อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น ๔๐๑๘๐ โทร. ๐ ๔๓๒๘ ๖๑๖๐

การเดินทาง จากขอนแก่น ใช้ทางหลวงหมายเลข ๒ (ขอนแก่น-โคราช) ๔๔ กิโลเมตร เลี้ยวขวาที่สี่แยกบ้านไผ่เข้าทางหลวงหมายเลข ๒๒๙ ไปอีก ๑๒ กิโลเมตร ศาลาไหมไทยอยู่ทางซ้ายมือ (ตรงข้ามกับหนองกองแก้ว)

อำเภอเปือยน้อย

ปราสาทเปือยน้อย หรือ พระธาตุกู่ทอง ถึงแม้จะเป็นปราสาทหินที่มีขนาดไม่ใหญ่ เท่ากับปราสาทหินพิมาย หรืออีกหลายแห่งที่พบทางอีสานตอนใต้ แต่ก็นับเป็นปราสาทเขมร ที่สมบูรณ์มากแห่งหนึ่ง ปราสาทเปือยน้อย หรือ ชาวบ้านเรียกว่า พระธาตุกู่ทอง สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๗ เป็นศิลปะผสมระหว่างศิลปะเขมรแบบบาปวน และแบบนครวัด สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นเทวสถานในศาสนาฮินดู แผนผังการก่อสร้าง มีความหมายเป็นเขาพระสุเมรุ ซึ่งถือเป็นแกนจักรวาล อันเป็นที่สถิตย์ของเทพเจ้าที่เรียกว่า “ศาสนบรรพต” สิ่งก่อสร้างภายในบริเวณปราสาท เป็นไปตามแบบแผนของศาสนสถานขอมโบราณ หน้าบันขององค์ปรางค์ประธานสลักเป็นพระยานาคราช มีลวดลายสวยงามมาก ทับหลังสลักเป็นรูปนารายณ์บรรทมสินธุ์ ที่นับว่ายังอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ "โคปุระ" (ซุ้มประตู) อยู่ทางทิศตะวันออก และทิศตะวันตก ด้านข้างโคปุระเจาะเป็นช่องหน้าต่าง "กำแพงแก้ว" มีฐานเป็นบัวคว่ำบัวหงาย มีการสลักศิลาแลงเป็นร่องแบบลาดบัว

การเดินทาง จากขอนแก่นใช้เส้นทางหลวงหมายเลข ๒ (ขอนแก่น-บ้านไผ่) ระยะทาง ๔๔ กิโลเมตร เข้าทางหลวงหมายเลข ๒๓ (บ้านไผ่-บรบือ) ไปอีกประมาณ ๑๑ กิโลเมตร แล้วแยกขวาเข้าสู่อำเภอเปือยน้อยอีก ๒๔ กิโลเมตร

อำเภอหนองสองห้อง

วัดสระบัวแก้ว ตั้งอยู่ที่บ้านวังคูณ ลักษณะเด่นของวัดแห่งนี้คือ ภาพจิตรกรรมและประติมากรรม ตรงเชิงบันไดทางขึ้นสู่โบสถ์ ที่เป็นสิงห์หมอบทั้งซ้ายและขวา ด้านหน้าสิงห์ทั้งสอง มีรูปปั้นคนนั่งเหยียดเท้า รูปปั้นทั้งสองล้วนเป็นฝีมือของหลวงพ่อผุย พระอุปัชฌาย์ วัดสระบัวแก้ว ส่วนผนังของโบสถ์แห่งนี้ก่ออิฐถือปูน บริเวณภายในและภายนอกผนังทั้งสี่ด้าน จะปรากฏจิตรกรรมฝาผนัง เรื่องราวเกี่ยวกับวิถีชีวิตของผู้คน ชาดก สวรรค์ นรก หรือนิทานพื้นบ้าน เป็นต้น มีการแบ่งองค์ประกอบของภาพออกเป็นตอนๆ โดยช่างแต้ม จะใช้เส้นแถบ หรือสินเทาเป็นตัวแบ่งเรื่อง ซึ่งโดยทั่วไปแล้วฮูปแต้มอีสานมักไม่ปรากฏว่ามีสินเทา สินเทานี้มีรูปร่างเหมือนสายฟ้าแลบ สามารถเห็นได้ในงานจิตรกรรมฝาผนังสมัยกรุงศรีอยุธยา และต้นกรุงรัตนโกสินทร์ สิ่งที่สะดุดตา และเกิดความประทับใจเป็นพิเศษ สำหรับฮูปแต้มวัดสระบัวแก้ว คือช่างแต้มดูออกจะมีอิสระเสรี สามารถที่จะแสดงฝีมือของตนได้อย่างเต็มที่ต่อการเขียนภาพต้นไม้ ใบไม้ และภาพสัตว์นานาชนิด ซึ่งลักษณะนี้จะคล้ายกับงานจิตรกรรมตะวันตก ในสมัยอิมเพรสชั่นนิสม์ สังเกตได้จากฝีแปรงการแตะแต้ม ส่วนสีที่ใช้จะเป็นสีเหลือง คราม ดินแดง เขียว ฟ้า ดำ

การเดินทาง จากขอนแก่น ใช้ทางหลวงหมายเลข ๒ (มิตรภาพ) มุ่งสู่อำเภอพล ระยะทางประมาณ ๗๕ กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข ๒๐๗ ไปยังอำเภอหนองสองห้อง ประมาณ ๑๗ กิโลเมตร (ระหว่างกิโลเมตรที่ ๒๗-๒๘) ก็จะถึงบ้านวังคูณ แล้วเลี้ยวขวาเข้าไปประมาณ ๑ กิโลเมตร

อำเภอบ้านไผ่

ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาจังหวัดขอนแก่น ตั้งอยู่บนเนื้อที่ ๕๑ ไร่ เป็นแหล่งวิทยาการด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีสำหรับเด็ก เยาวชน นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ภายในอาคาร ๒ ชั้น ได้จัดให้มีนิทรรศการต่าง ๆ มากมาย เช่น ห้องเจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์ ซึ่งเก็บรวบรวมพระราชประวัติ และผลงานของศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี หรือ ห้องนิทรรศการโลกดึกดำบรรพ์ ที่จัดแสดงเรื่องราวของไดโนเสาร์ และฟอสซิลด้วยระบบเสียง นอกจากนี้ยังจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ นิทรรศการสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ศูนย์วิทยาศาสตร์ฯ เปิดให้เข้าชมทุกวัน ปิดวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา ๐๘.๓๐-๑๖.๓๐ น. ติดต่อสอบถามได้ที่ โทร. ๐ ๔๓๒๗ ๔๑๕๔


จังหวัดขอนแก่น :: เทศกาล งานประเพณี

เทศกาลดอกคูณเสียงแคน
จัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-15 เมษายน ของทุกปี บริเวณบึงแก่นนคร ซึ่งเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ และชุมนุมสังสรรค์ของชาวขอนแก่น กิจกรรมเริ่มด้วยการทำบุญตักบาตร การสรงน้ำพระ ภายในงานมีการจัดแสดงนาฏศิลป์พื้นบ้าน ขบวนเกวียนบุปผชาติ การประกวดอาหารอีสาน การแข่งเรือในบึงแก่นนคร การประกวดกลองยาว การแสดงบนเวทีและการออกร้าน จำหน่ายสินค้าพื้นเมือง เป็นต้น

งานเทศกาลไหมและประเพณีผูกเสี่ยว
จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนถึงต้นเดือนธันวาคม เป็นเวลา 10 วัน 10 คืน บริเวณสนามกีฬากลางจังหวัด

งานเทศกาลไหม และประเพณีผูกเสี่ยวนี้ สืบเนื่องมาจากประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอาชีพรองที่ขึ้นหน้าขึ้นตา ได้แก่ การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ทอผ้าต่างๆ ซึ่งทางราชการได้ให้ความสนับสนุน จนจังหวัดขอนแก่นเป็นแหล่งผลิตผ้าไหมที่มีชื่อเสียง ประกอบกับมีประเพณีการผูกเสี่ยว ซึ่งเป็นขนบธรรมเนียมดั้งเดิมของภาคอีสาน ที่มุ่งให้คนรุ่นเดียวกันรักใคร่เป็นพี่เป็นน้องช่วยเหลือกัน เรียกว่า “คู่เสี่ยว” ขึ้นโดยมุ่งส่งเสริมอาชีพการทอผ้าไหม และรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมไว้ ในงานจะมีขบวนแห่คู่เสี่ยว และพานบายศรีของอำเภอต่างๆ มีพิธีผูกเสี่ยว การประกวดผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน งานพาข้าวแลง (การรับประทานอาหารค่ำแบบพื้นเมืองอีสาน) การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน และการออกร้านจำหน่ายผ้าไหม และผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกต่างๆ

เทศกาลไหว้พระธาตุขามแก่น
จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในวันเพ็ญเดือนหก (วันขึ้น 15 ค่ำเดือน 6) ณ วัดเจติยภูมิ เป็นงานเฉลิมฉลองพระธาตุ เพื่อให้ประชาชนได้สักการะพระธาตุคู่บ้านคู่เมือง ในงานมีการแสดงศิลปะพื้นบ้าน และการออกร้านจำหน่ายสินค้าต่างๆ


จังหวัดขอนแก่น :: ของฝาก ของที่ระลึก

ประเภทหัตถกรรมพื้นบ้าน

กลุ่มแพรพรรณ (ศูนย์ศิลปหัตถกรรมเพื่อพัฒนาสตรีอีสาน) 131-193 ถนนชาตะผดุง โทร. 337216

มรดกไทย 87/26-27 ถนนอำมาตย์ โทร. 243827

แม่หญิง 435/3 ถนนหน้าเมือง โทร. 321263

รินไหมไทย 412 ถนนหน้าเมือง อำเภอเมือง โทร. 221042

ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ถนนมิตรภาพ ตำบลสำราญ โทร. 242047

ศูนย์สิ่งทอพระธรรมขันธ์ ขอนแก่น 79/2-3 ถนนรื่นรมย์ โทร. 221548

สืบสาย 227/71 หมู่บ้านมิตรสัมพันธ์ ทุ่งเศรษฐี ถนนประชาสโมสร โทร. 337103

นอกจากนี้ยังมีร้านจำหน่ายสินค้าประเภทอาหารแห้ง ได้แก่ กุนเชียง หมูแผ่น หมูหยอง แหนม หมูยอ ถั่วตัด ตุบตั้บ ฯลฯ

กุนเชียงนายบู๊ 198-200 ถนนร่วมจิต โทร. 223009

เตียฮั่วหยู 584 ถนนศรีจันทร์ อำเภอเมือง โทร. 224472

ไสวรสทิพย์ 179/32 ถนนประชาสโมสร โทร. 239733

แหนมลับแล 42 ถนนกลางเมือง โทร. 236537

เฮงง่วนเฮียง 54/1-2 ถนนกลางเมือง โทร. 239458, 236735

0 ความคิดเห็น: