วันพฤหัสบดีที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

การท่องเที่ยวจังหวัดแพร่

:: จังหวัดแพร่ ::

" หม้อฮ้อม ไม้สัก ถิ่นรักพระลอ ช่อแฮศรีเมือง ลือเลื่องแพะเมืองผี คนแพร่นี้น้ำใจงาม "



จังหวัดแพร่ :: ข้อมูลทั่วไป

จังหวัดแพร่ ตั้งอยู่ในภาคเหนือ เชื่อกันว่าเป็นนครแห่งวรรณกรรมอมตะลิลิตพระลอที่รู้จักกันทั่วไป แพร่เริ่มเป็นเมืองมาตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 12 หลังจากตั้งเมืองเชียงใหม่เป็นราชธานีแล้ว ตามศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงกล่าวว่า แพร่เคยเป็นเมืองหนึ่งในอาณาจักรสุโขทัย เรียกชื่อว่า เมืองแพล ในสมัยที่ขอมมีอำนาจในเขตลานนาไทย ได้เปลี่ยนชื่อเมืองเป็นเวียงโกศัย ซึ่งแปลว่าผ้าแพร แล้วมาเปลี่ยนเป็นเมืองแพร่ในสมัยใดไม่ปรากฏหลักฐาน

จังหวัดแพร่ มีพื้นที่ 6,538.598 ตารางกิโลเมตร มีแม่น้ำยมไหลผ่าน ลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาล้อมรอบทั้งสี่ทิศ มีที่ราบในหุบเขาอยู่ตอนกลางของจังหวัด แบ่งการปกครองออกเป็น 7 อำเภอ และ 1 กิ่งอำเภอ คือ อำเภอเมืองแพร่ อำเภอสูงเม่น อำเภอเด่นชัย อำเภอลอง อำเภอวังชิ้น อำเภอสอง อำเภอร้องกวาง และกิ่งอำเภอหนองม่วงไข่

อาณาเขต
ทิศเหนือ จดจังหวัดลำปาง น่าน และพะเยา
ทิศใต้ จดจังหวัดอุตรดิตถ์ และสุโขทัย
ทิศตะวันออก จดจังหวัดน่าน และอุตรดิตถ์
ทิศตะวันตก จดจังหวัดลำปาง


หมายเลขโทรศัพท์สำคัญ (รหัสทางไกล 053)
ททท.สำนักงานภาคเหนือเขต 1 จ.เชียงใหม่
248-604 , 248-607 , 241-466

ประชาสัมพันธ์จังหวัด
611-808

ศาลากลางจังหวัด
612-156

ที่ว่าการอำเภอเมือง
611-357

ศูนย์วัฒนธรรมฯ
612-079

ตำรวจท่องเที่ยว
611-812 , 1155

สถานีตำรวจภูธร อ.เมือง
611-259

ตำรวจทางหลวง จ.ลำปาง
(054) 248-501

ตู้ยามเถิน
(054) 291-674

ตู้ยามเด่นชัย
(054) 613-098

รพ.ศรีสังวาลย์
611-378

รพ.แม่สะเรียง
681-394

รพ.แม่ลาน้อย
689-060

รพ.ขุนยวม
691-017

รพ.ปาย
699-031




จังหวัดแพร่ :: สถานที่ท่องเที่ยว อำเภอเมือง

วัดหลวง
ตั้งอยู่ที่ถนนคำลือ ซอย 1 ตำบลในเวียง เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองเก่าแก่ที่สุดของจังหวัด สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นพร้อมกับการสร้างเมืองแพร่ สิ่งสำคัญภายในวัด ได้แก่ พระธาตุหลวงไชยช้างค้ำ พระเจดีย์ศิลปะเชียงแสน พระเจ้าแสนหลวงประดิษฐานในวิหารหลวง สร้างพร้อมกับการสร้างเมือง และพระเจ้าแสนทองสร้างโดยเจ้าเมืองแพร่องค์หนึ่ง เมื่อ พ.ศ. 2057 ยังมีพิพิธภัณฑ์ซึ่งเป็นที่รวบรวมพระพุทธรูปเก่าแก่หลายองค์ที่มีอายุเกือบ 500 ปี ศิลปะโบราณวัตถุต่างๆ ของเมืองแพร่และคุ้มพระลอ ซึ่งเป็นการจัดแสดงตัวอย่างบ้านแบบล้านนาโบราณอีกด้วย โดยเปิดเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ ระหว่างเวลา 09.00-16.00 น. หรือเปิดพิเศษถ้าเป็นหมู่คณะ นอกจากนี้ยังมีหอวัฒนธรรม จ.แพร่ ภายในรวบรวมศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านมากมาย

วัดพระนอน
อยู่ใกล้วัดหลวงบนถนนพระนอนเหนือมีพระพุทธรูปนอนองค์ใหญ่และเก่าแก่มาก ประดิษฐานในวิหารซึ่งเป็นหน้าบัน เป็นศิลปะลวดลายการแกะสลักแบบล้านนาไทยที่งดงาม

วัดสระบ่อแก้ว
ตั้งอยู่บนถนนน้ำคือ ริมคูเมือง เป็นวัดศิลปะแบบพม่าที่สวยงามแปลกตา ทั้งศาลาการเปรียญ โบสถ์ และเจดีย์ มีพระพุทธรูปหินอ่อนแบบพม่าทรงเครื่อง สร้างอย่างสวยงามวิจิตรพิสดารมาก

วัดจอมสวรรค์
ตั้งอยู่บนถนนยันตรกิจโกศล ตำบลทุ่งกวาว ห่างจากศาลากลางจังหวัด 1 กิโลเมตร เป็นวัดไทยใหญ่ สร้างแบบศิลปะพม่า ตัวอารามเป็นไม้ล้วน และเป็นทั้งโบสถ์วิหาร และกุฏิไปในตัว ภายในมีศิลปะการตกแต่งอย่างวิจิตรบรรจงด้วยฝีมือการฉลุไม้ประดับกระจกสีสันงดงาม โบราณวัตถุภายในวัดได้แก่ หลวงพ่อสาน เป็นพระพุทธรูปที่สร้างโดยใช้ไม้ไผ่สานเป็นองค์ แล้วลงรักปิดทอง พระพุทธรูปงาช้าง ซึ่งเป็นศิลปะแบบพม่า คัมภีร์งาช้างจารึกเป็นอักษรพม่า และบุษบกใส่พระพุทธรูปหินอ่อน

วัดพระบาทมิ่งเมืองวรวิหาร
เป็นวัดที่สร้างขึ้นราวต้นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งอยู่ริมถนนเจริญเมือง ใกล้ศาลากลางจังหวัดแพร่ เป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธโกศัยศิริชัยมหาศากยมุนี พระคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัด รอยพระพุทธบาทจำลอง และพระเจดีย์มิ่งเมืองซึ่งเป็นเจดีย์เก่าแก่

หมู่บ้านร่องฟอง
เป็นหมู่บ้านผลิตเครื่องมือเกษตรที่ทำจากเหล็ก เช่น จอบ เสียม มีด พร้า เคียว เป็นต้น การเดินทางใช้เส้นทางหมายเลข 101 (สายแพร่-น่าน) ประมาณ 4 กิโลเมตร แยกเข้าทางหลวงหมายเลข 1101 จะพบป้ายบอกทางเข้าหมู่บ้าน

หมู่บ้านทุ่งโฮ้ง
อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 4 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 101 (สายแพร่-น่าน) เป็นแหล่งผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้าม่อฮ่อมดั้งเดิมของจังหวัดแพร่

อนุสาวรีย์พระยาไชยบูรณ์
อยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดแพร่ ประมาณ 4 กิโลเมตร ริมทางหลวงแผ่นดินสาย 101 พระยาไชยบูรณ์เป็นข้าหลวงเมืองแพร่ ที่ถูกพวกเงี้ยวฆ่าตาย เนื่องจากไม่ยอมลงนามยกเมืองแพร่ให้ระหว่างที่พวกเงี้ยวก่อการกบฏ ในปี พ.ศ. 2445 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดให้ส่งกองทหารมาปราบพวกเงี้ยว แล้วสร้างอนุสาวรีย์ให้กับพระยาไชยบูรณ์เป็นอนุสรณ์ และเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระยาราฃฤทธานนท์พหลภักดี

บ้านประทับใจ (บ้านเสาร้อยต้น)
ตั้งอยู่เลขที่ 81/1 หมู่ที่ 7 ตำบลป่าแมต ห่างจากตัวอำเภอเมือง 10 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 1023 สร้างสำเร็จเมื่อปี พ.ศ. 2519 เป็นบ้านไม้สักทั้งหลัง โดยใช้ไม้สักท่อนขนาดใหญ่ ตั้งเป็นเสาบ้านรวม 130 ต้น แต่ละเสามีอายุประมาณ 300 ปี แกะสลักอย่างประณีตวิจิตรบรรจง ตัวบ้านเป็นแบบทรงไทยประยุกต์ มีเนื่อที่ถึง 1 ไร่เศษ เปิดให้เข้าชมได้ตั้งแต่เวลา 08.00-16.00 น. เสียค่าเข้าชมคนละ 10 บาท นอกจากนี้ผู้เข้าชมสามารถติดต่อล่วงหน้าได้ที่หมายเลข (054) 511008, 511282

วัดพระธาตุช่อแฮ
อยู่ที่ตำบลป่าแดง ห่างจากตัวเมืองแพร่ไปตามถนนช่อแฮ ประมาณ 9 กิโลเมตร (ใช้เส้นทางหมายเลข 1022) สร้างเมื่อพุทธศตวรรษที่ 19 ในสมัยพญาลิไท ขุนลั่วอ้ายก้อม ชาวละว้า ได้สร้างองค์พระธาตุบุด้วยทองดอกบวบ สูง 33 เมตร ฐานสี่เหลี่ยมกว้างด้านละ 10 เมตร ย่อมุมไม้สิบสอง อันเป็นศิลปะเชียงแสน เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า พระธาตุช่อแฮนี้ ได้จากชื่อผ้าแพรชั้นดี ซึ่งทอมาจากสิบสองปันนา ชาวบ้านนำมาผูกบูชาพระธาตุ ทุกปีจะมีงานนมัสการพระธาตุในวันขึ้น 11 ค่ำ-15 ค่ำ เดือน 4 (ประมาณเดือนมีนาคม) ของทุกปี

วัดพระธาตุจอมแจ้ง
อยู่ในท้องที่ตำบลป่าแดง เลยพระธาตุช่อแฮไป 3 กิโลเมตร ห่างจากตัวจังหวัดราว 10 กิโลเมตร องค์พระธาตุจอมแจ้งเป็นสีทอง สูง 29 เมตร ฐานกว้าง 10 เมตร เดิมชื่อพระธาตุจอมแจง ตอนที่พระพุทธองค์เสด็จถึงดอยนี้จวนสว่างพอดี ต่อมาเพื้ยนเป็นจอมแจ้ง เชื่อกันว่าเป็นที่บรรจุพระเกศาของพระพุทธเจ้า ที่นี้มีศาลาเรียกว่าพิพิธภัณฑ์ตำบลป่าแดง หรือพิพิธภัณฑ์ของจังหวัด รวบรวมสิ่งของโบราณที่หาดูได้ยาก พระธาตุจอมแจ้งสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1331

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน
ห่างจากตัวเมืองไปตามถนนแพร่-สูงเม่น ประมาณ 3 กิโลเมตร ในบริเวณเดียวกับสวนอาหารบ้านฝ้าย เป็นสถานที่จำลองชีวิตความเป็นอยู่ในรูปแบบอาคารบ้านเรือนและของใช้ในครัวเรือนของชาวเมือง เมื่อราว 100 กว่าปีมาแล้ว

วนอุทยานแพะเมืองผี
(แพะ เป็นภาษาพื้นเมือง แปลว่า ป่าละเมาะ เมืองผี แปลว่า เงียบเหงาวังเวง) อยู่ที่ตำบลน้ำชำ ใช้เส้นทางหลวงสายแพร่-น่าน ไปประมาณ 12 กิโลเมตร แล้วแยกขวาเข้าไปอีก 6 กิโลเมตร เป็นทางราดยางตลอด เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติของผิวโลก และถล่มของดิน ส่วนที่เป็นดินแข็งและหิน จะคงตัวอยู่คล้ายเสาเห็ด และผาสวยงามเหมือนเสาหิน (ฮ่อมจ๊อม) ที่น่าน ประกาศเป็นวนอุทยานเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2524 มีเนื้อที่ประมาณ 500 ไร่

น้ำตกแม่แคม หรือน้ำตกสวนเขื่อน
อยู่ในเขตตำบลสวนเขื่อน อำเภอเมือง เป็นน้ำตกขนาดเล็ก มี 2 ชั้น น้ำไหลแรงตลอดปี การเดินทางจากสี่แยกบ้านทุ่งข้ามสะพานข้ามคลองแม่สาย แล้วเลี้ยวซ้ายไปตามถนนสายป่าแดง-ทุ่งโฮ้ง 4 กิโลเมตร จะมีป้ายแยกทางไปน้ำตกแม่แคมอีก 12 กิโลเมตร แต่สภาพทั่วไปเป็นป่า ผู้ที่จะเดินทางไปเที่ยวชมน้ำตกแห่งนี้ควรเป็นผู้ที่ชอบการเดินป่า

น้ำตกตาดหมอก หรือน้ำตกแม่คอย
อยู่ที่ตำบลสวนเขื่อน อำเภอเมือง ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 22 กิโลเมตร เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ มี 3 ชั้น สวยงามมาก แต่ต้องเดินทางเท้าเข้าไปอีกราว 1 กิโลเมตร


:: อุทยานแห่งชาติเวียงโกศัย ::

:: ข้อมูลทั่วไป ::
“ เวียงโกศัย ” มาจากชื่อที่ใช้เรียกจังหวัดแพร่ในอดีต อุทยานแห่งชาติเวียงโกศัย เป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรก ของจังหวัดแพร่ มีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอลอง อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ และอำเภอเถิน อำเภอสบปราบ อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง มีสภาพป่าเป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน ทิวทัศน์และน้ำตกสวยงามหลายแห่ง เช่น น้ำตกแม่เกิ๋งหลวง น้ำตกแม่เกิ๋งน้อย และมีบ่อน้ำแร่แม่จอก ซึ่งเป็นบ่อน้ำร้อน ทั้งเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร เนื้อที่ประมาณ 256,250 ไร่ หรือ 410 ตารางกิโลเมตร

น้ำตกแม่เกิ๋ง อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติแม่เกิ๋ง ท้องที่ตำบลแม่ป้าก อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ เป็นน้ำตกที่สวยงามและมีน้ำตกตลอดทั้งปี ในปี พ.ศ.2519 อำเภอวังชิ้น มีโครงการจะสร้างเป็นอุทยาน เพื่อเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ซึ่งกรมป่าไม้มีหนังสือที่ กส. 0708/12473 ลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2522 ให้นายวิจารณ์ วิทยศักดิ์ นักวิชาการป่าไม้ 6 ไปทำการสำรวจ ปรากฏว่า บริเวณน้ำตกแม่เกิ๋ง เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมจัดตั้งเป็นวนอุทยานได้ ตามหนังสือรายงานที่ กส. 0788/188 ลงวันที่ 10 กันยายน 2522

กรมป่าไม้จึงได้มีหนังสือด่วนมากที่ กส. 0708/17711 ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2522 ให้ป่าไม้เขตแพร่ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปสำรวจอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเขตแพร่ได้มีคำสั่งที่ 816/2522 ให้นายทวี สุขโกษา เจ้าพนักงานป่าไม้ 5 สำรวจหาข้อมูลบริเวณน้ำตกแม่เกิ๋ง เพื่อดำเนินการจัดตั้งให้เป็นอุทยานแห่งชาติน้ำตกแม่เกิ๋ง ตามนโยบายของนายณรงค์ วงศ์วรรณ สมาชิกสภาผู้แทนจังหวัดแพร่ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และเพื่อเป็นการสนองนโยบายของรัฐบาล ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2522 ที่ให้รักษาป่าไว้ โดยการประกาศให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติ และกองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ ได้มีคำสั่งที่ 2478/2522 ลงวันที่ 7 ธันวาคม 2522 ให้นายวิทยา เฉิดดิลก นักวิชาการป่าไม้ 6 ไปทำหน้าที่หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแม่เกิ๋ง และทำการสำรวจจัดตั้งอุทยานแห่งชาติแห่งนี้

สำนักงานป่าไม้เขตแพร่ได้มีหนังสือเลขที่ กส. 0709 (พร) / 1619 ลงวันที่ 19 มีนาคม 2523 ส่งรายงานการสำรวจของ นายทวี สุขโกษา ลงวันที่ 14 มีนาคม 2523 และอุทยานแห่งชาติแม่เกิ๋ง ได้มีหนังสือรายงานการสำรวจที่ กส. 0708 (มก) / 23 ลงวันที่ 24 มิถุนายน 2523 ปรากฏว่า พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ (บางส่วน) ท้องที่อำเภอวังชิ้น อำเภอลอง จังหวัดแพร่ และป่าโครงการไม้ฟืน (บางส่วน) อำเภอสบปราบ กับป่าโครงการ (บางส่วน) อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง รวมเนื้อที่ประมาณ 410 ตารางกิโลเมตร ลักษณะทั่วไปมีทิวทัศน์ทางธรรมชาติที่สวยงามมีสัตว์ป่านานาชนิด มีคุณค่าทางด้านการศึกษามากเหมาะสมที่จะจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ

กรมป่าไม้ได้นำเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ มีมติในการประชุมครั้งที่ 2/2523 เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2523 เห็นสมควรให้ออกพระราชกฤษฎีกา กำหนดให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นอุทยานแห่งชาติ และให้ใช้ชื่อว่า “อุทยานแห่งชาติเวียงโกศัย” ซึ่งเป็นชื่อดั้งเดิมของจังหวัดแพร่ โดยได้มีพระราชกฤษฎีกา กำหนดบริเวณที่ดินป่าแม่พริก ป่าแม่ เสลียม ป่าแม่ทาน และป่าแม่จางฝั่งซ้าย ในท้องที่ตำบลดอนไฟ ตำบลบ้านกิ่ว ตำบลบ้านบอน อำเภอแม่ทะ ตำบลสมัย ตำบลสบปราบ อำเภอสบปราบ และตำบลแม่ถอด ตำบลแม่ปะ อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง และป่าแม่สรอบ ป่าแม่เกิ๋ง ป่าแม่ปง และป่าแม่ลอง ในท้องที่ตำบลหัวทุ่ง อำเภอลอง และตำบลแม่ห้าก ตำบลแม่พุง ตำบลสรอย อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ โดยประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 98 ตอนที่ 168 ลงวันที่ 9 ตุลาคม 2524 เป็นอุทยานแห่งชาติแห่งที่ 35 ของประเทศ


:: ลักษณะภูมิประเทศ ::
ลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงชัน ความลาดชันโดยเฉลี่ยประมาณ 80 องศา จุดสูงสุดจากระดับน้ำทะเล 1,267 เมตร ความสูงของพื้นที่จากระดับน้ำทะเล โดยเฉลี่ยประมาณ 800 เมตร ปกคลุมด้วยป่าดิบแล้ง และป่าเบญจพรรณ เป็นเทือกเขาที่เขียวชอุ่ม มีหน้าผาสูงชันสลับซับซ้อน เป็นแหล่งกำเนิดของลำห้วยหลายสาย เช่น แม่เกิ๋ง แม่จอก แม่สิน แม่ป้าก ฯลฯ ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำยม และภูเขาเป็นภูเขาหินทราย ทำให้ดินที่เกิดจากการผุสลายของภูเขา เป็นดินร่วนปนทราย มีการระบายน้ำดี บริเวณที่ราบเชิงเขา มีลักษณะเป็นลูกรัง โดยเฉลี่ยดินมีความอุดมสมบูรณ์ดีมาก


:: ลักษณะภูมิอากาศ ::
ภูมิอากาศของอุทยานแห่งชาติเวียงโกศัย แบ่งออกเป็น 3 ฤดูกาล คือ ฤดูร้อน ระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคม อุณหภูมิสูงสุดประมาณ 39 องศาเซลเซียส ในเดือนเมษายน ฤดูฝน ระหว่างเดือนมิถุนายน-ตุลาคม ฤดูหนาว ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ อุณหภูมิต่ำสุดประมาณ 13 องศาเซลเซียส ในเดือนธันวาคม


:: พรรณไม้และสัตว์ป่า ::
สภาพป่าตอนบนของเทือกเขา มีลักษณะเป็นป่าดิบแล้ง ส่วนตอนล่างมีลักษณะเป็นป่าเบญจพรรณ พันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ มะค่าโมง ยาง ดำดง ตะแบก ประดู่ แดง และสักซึ่งขึ้นอยู่ปะปนบ้าง ส่วนพืชพื้นล่างเป็นพวกไผ่ชนิดต่างๆ ปาล์ม หวาย และเอื้องดิน เป็นต้น

สัตว์ป่าที่เคยพบอาศัยอยู่ในป่าแห่งนี้มี กวางป่า เสือ และช้างป่า แต่ถูกลักลอบเข้ามาล่าอย่างหนัก เหลือแต่สัตว์ขนาดเล็กๆ เช่น เก้ง หมูป่า กระรอก กระแต และนกชนิดต่างๆ มีชุกชุมอยู่ในบริเวณหุบเขา และแหล่งน้ำต่าง ๆ


:: ที่ตั้งและการเดินทาง ::
อุทยานแห่งชาติเวียงโกศัย
ตู้ ปณ. 1 อ. วังชิ้น จ. แพร่ 54160
โทรศัพท์ : 0 5450 9322

รถยนต์
จากกรุงเทพฯ ผ่านจังหวัดนครสวรรค์–พิษณุโลก–ถึงอำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ ระยะทางประมาณ 530 กิโลเมตร เดินทางต่อไปตามเส้นทางแพร่-ลำปาง อีกประมาณ 50 กิโลเมตร ถึงทางแยกเข้าอำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ แยกเข้าตามเส้นทางอำเภอวังชิ้นประมาณ 13 กิโลเมตร ถึงแยกเข้าที่ทำการอุทยานแห่งชาติ บริเวณน้ำตกแม่เกิ๋งหลวง และแม่เกิ๋งน้อย ระยะทางประมาณ 1.5 กิโลเมตร


:: แหล่งท่องเที่ยว :: ด้านธรรมชาติที่สวยงาม ::
น้ำตกแม่เกิ๋งหลวงและแม่เกิ๋งน้อย เป็นน้ำตกที่สวยงาม ไหลลดหลั่นลงมาเป็นชั้นๆ รวม 5 ชั้น คล้ายขั้นบันได ลงมาจากยอดดอยแม่เกิ๋ง ซึ่งคำว่า “แม่เกิ๋ง” เป็นภาษาพื้นเมืองหมายถึง “ขั้นบันได” ชั้นที่ 1 เหมาะสำหรับการเล่นน้ำมากที่สุด เพราะมีแอ่งน้ำกว้าง น้ำตกทั้งสองสายนี้จะไหลลงสู่แม่น้ำยมที่บ้านสบเกิ๋ง อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่


บ่อน้ำร้อนแม่จอก อยู่ติดกับโรงเรียนบ้านแม่จอก ต.แม่ป้าก อ.วังชิ้น จ.แพร่ เป็นบ่อน้ำร้อนที่ผุดขึ้นมาจากพื้นที่บริเวณนั้น มีอุณหภูมิประมาณ 80 องศาเซลเซียส มีลักษณะที่แปลกและสวยงามมาก โดยเฉพาะในตอนเช้าจะมีหมอกควัน ที่เกิดจากไอน้ำลอยอยู่เต็ม ก่อให้เกิดทัศนียภาพที่สวยงาม


น้ำตกปันเจน เป็นน้ำตกขนาดเล็ก อยู่บนลำห้วยแม่เกิ๋ง เช่นเดียวกับน้ำตกแม่เกิ๋งหลวง เดินทางต่อจากที่ทำการอุทยานฯไป 1 กม. จะพบทางแยกขวาข้างโรงเรียนบ้านค้างใจ ไปตามทางอีก 6 กม. จะถึงน้ำตก


ดงตะเคียน มีลักษณะเป็นกลุ่มของไม้ตะเคียนทอง ที่ขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น อายุ 100 กว่าปี มีขนาดใหญ่สุด 3 - 4 คนโอบ อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ 15 กิโลเมตร โดยใช้ทางเดินเท้า


เถาวัลย์ยักษ์ เป็นเถาสะบ้าขนาดใหญ่ อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ประมาณ 1 กิโลเมตร


น้ำตกแม่สิน เป็นน้ำตกขนาดเล็ก มีน้ำไหลตลอดปี ท่านสามารถเดินทางโดยเท้า จากที่ทำการอุทยานฯ ระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร


น้ำตกแม่รัง เป็นน้ำตกขนาดกลาง มีน้ำไหลตลอดปี มีทั้งหมด 6 ชั้น เหมาะสำหรับการเดินป่าศึกษาธรรมชาติ อยู่ห่างจากบ้านแม่รัง ตำบลบ่อเหล็กลอง อำเภอลอง จังหวัดแพร่ ประมาณ 4 กิโลเมตร


น้ำตกแม่พุงหลวง เป็นน้ำตกขนาดกลาง มีน้ำไหลตลอดปี เหมาะสำหรับการเดินป่าศึกษาธรรมชาติ อยู่ห่างจากบ้านค้างปินใจ ตำบลแม่พุง อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ ประมาณ 1.5 กิโลเมตร


น้ำตกห้วยอ้อ เป็นน้ำตกขนาดกลาง มีน้ำไหลตลอดปี เหมาะสำหรับการเดินป่าศึกษาธรรมชาติ กางเต็นท์พักแรม อยู่บริเวณบ้านอ้อ ตำบลสันดอนแก้ว อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง


เส้นทางศึกษาธรรมชาติ อุทยานแห่งชาติเวียงโกศัยได้จัดทำเส้นทางศึกษาธรรมชาติในการศึกษาระบบนิเวศของป่า ความหลากหลายทางธรรมชาติ 4 เส้นทาง ได้แก่
เส้นทางศึกษาธรรมชาติหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ วศ.3 (แม่อิบ) - ดงตะเคียน
เส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกแม่รัง
เส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกแม่พุงหลวง
เส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกห้วยอ้อ



:: สิ่งอำนวยความสะดวก ::
ห้องสุขาชาย มีห้องสุขาชายให้บริการ


ห้องสุขาหญิง มีห้องสุขาหญิงให้บริการ


ที่พักแรม/บ้านพัก มีบ้านพักให้บริการแก่นักท่องเที่ยว จำนวน 4 หลัง


สถานที่กางเต็นท์/เต็นท์ อุทยานแห่งชาติจัดเตรียมสถานที่กางเต็นท์ และเต็นท์ ไว้ให้บริการนักท่องเที่ยว การสำรองที่พักเต็นท์ สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียด และสำรองที่พักเต็นท์ได้กับอุทยานแห่งชาติโดยตรง


ที่จอดรถ มีลานจอดรถให้บริการแก่นักท่องเที่ยว


บริการอาหาร มีร้านอาหารและเครื่องดื่มให้บริการ


ร้านขายของที่ระลึก จำหน่ายสินค้าของที่ระลึกของอุทยานแห่งชาติ ที่นักท่องเที่ยวจะประทับใจ




จังหวัดแพร่ :: การเดินทาง

ทางรถยนต์
แพร่อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ 551 กิโลเมตร ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1 แล้วแยกเข้าทางหลวงหมายเลข 11 ที่อำเภอตากฟ้า จังหวัดนครสวรรค์ สู่แพร่โดยผ่านจังหวัดพิจิตร พิษณุโลก และอุตรดิตถ์

ทางรถโดยสาร
บริษัทขนส่ง จำกัด มีรถประจำทางธรรมดาและปรับอากาศบริการทุกวัน สอบถามรายละเอียดได้ที่ สถานีขนส่งสายเหนือ ถนนกำแพงเพชร 2 โทร. 936-3660, 936-3666

จากตัวจังหวัดแพร่มีรถประจำทางไปจังหวัดใกล้เคียง คือ ลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ และสุโขทัย สอบถามรายละเอียดได้ที่ สถานีขนส่งจังหวัดแพร่ โทร. 054-511800

ทางรถไฟ
จากสถานีรถไฟหัวลำโพง มีรถไฟไปยังอำเภอเด่นชัย แล้วต่อรถประจำทางเข้าตัวเมืองแพร่ ซึ่งอยู่ห่างจากเด่นชัยประมาณ 20 กิโลเมตร สอบถามรายละเอียดได้ที่ 223-7010, 223-7020

ทางเครื่องบิน
บริษัทการบินไทย จำกัด มีเครื่องบินระหว่าง กรุงเทพฯ-จังหวัดแพร่ และระหว่างจังหวัดแพร่-น่าน ติดต่อ โทร. 280-0060, 628-2000 (กรุงเทพฯ) โทร. (054) 511123 (แพร่)


จังหวัดแพร่ :: สถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ

อำเภอสูงเม่น

วัดพระธาตุสุโทนมงคลคีรี
ห่างจากอำเภอเด่นชัย 3 กิโลเมตร มีศาลาพิพิธภัณฑ์สร้างด้วยไม้สักทองทั้งหลังแบบล้านนา ภายในมีโบราณวัตถุต่างๆ จัดแสดงไว้ เช่น รูปภาพเจ้านายฝ่ายเหนือและเหตุการณ์ในอดีต พระพุทธรูปต่างๆ เครื่องเขิน เครื่องดนตรีล้านนา อาวุธโบราณ เป็นต้น

อำเภอเด่นชัย

บ้านเพื่อนฝูง
เป็นบ้านสร้างด้วยไม้สักขนาดใหญ่ ภายในตกแต่งด้วยผลิตภัณฑ์จากไม้ ตั้งอยู่ริมถนนสาย 101 ก่อนถึงอำเภอสูงเม่นประมาณ 5 กิโลเมตร เปิดให้เข้าชมได้ตั้งแต่เวลา 09.00-17.00 น. เก็บค่าเข้าชมคนละ 10 บาท

ตลาดหัวดง
อยู่ห่างจากตัวเมืองไปทางทิศใต้ประมาณ 7 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 101 เป็นแหล่งรวมผลิตภัณฑ์ที่ทำจากไม้และหวาย เช่น เฟอร์นิเจอร์และของใช้ต่างๆ

วัดพระหลวง
อยู่ที่ตำบลดอนมูล เลี้ยวซ้ายที่บ้านหัวดงเข้าไป 700 เมตร มีเจดีย์แบบสุโขทัย ชาวบ้านเรียกว่า “ธาตุเนิ้ง” มีความหมายว่า เอียง เป็นโบราณสถานที่สำคัญแห่งหนึ่ง

อ่างเก็บน้ำแม่มาน
อยู่ห่างจากตัวเมือง 20 กิโลเมตร ตามถนนแพร่-สูงเม่น-เด่นชัย เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ มีทิวทัศน์สวยงามโดยเฉพาะในตอนเช้า เหมาะสำหรับชมพระอาทิตย์ขึ้นจากขอบฟ้าเหนือเขื่อน


อำเภอร้องกวาง

ถ้ำผานางคอย
อยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 36 กิโลเมตร ตามเส้นทางสายแพร่-ร้องกวาง (ทางหลวงหมายเลข 101) ถึงกิโลเมตรที่ 58-59 เลี้ยวซ้ายเข้าไปอีก 800 เมตรถึงหน้าถ้ำผานางคอย ตัวถ้ำเป็นอุโมงค์มีความยาวประมาณ 150 เมตร กว้างประมาณ 10 เมตร ลักษณะของถ้ำโค้งงอเป็นข้อศอกไปทางซ้ายและทางขวาเป็น 3 ตอนด้วยกัน ภายในถ้ำมีหินงอกหินย้อยอยู่ทั่วไป ตอนท้ายของถ้ำมีก้อนหินลักษณะคล้ายมารดาอุ้มบุตรน้อย ชาวบ้านเรียกว่า “หินนางคอย” เบื้องหน้าของหินนางคอยมีหินย้อย ลักษณะคล้ายรูปหัวใจ ดูแปลกตาสวยงาม นอกจากนี้ภายในถ้ำยังมีพระพุทธรูปอยู่องค์หนึ่ง เป็นที่เคารพสักการะของชาวแพร่

น้ำตกห้วยโรง (หรือน้ำตกห้วยลง)
อยู่ห่างจากตัวจังหวัดไปทางเหนือ 60 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 101 (ถนนแพร่-ร้องกวาง) ถึงกิโลเมตรที่ 78 เลี้ยวซ้ายอีก 4 กิโลเมตร เป็นน้ำตกที่มีความสูง 2 ชั้น สภาพโดยรอบเป็นป่าโปร่งร่มรื่น

น้ำตกตาดชาววา
เป็นน้ำตกที่ตกจากหน้าผาสูงสวยงามมาก อยู่ในเขตอำเภอร้องกวาง ทางคมนาคมเข้าไปยังลำบากอยู่ และต้องเดินเท้าเข้าไปชม อยู่ห่างจากตัวเมือง 35 กิโลเมตร

พระธาตุปูแจ
ตั้งอยู่ในตำบลบ้านเวียง ห่างจากอำเภอร้องกวาง 20 กิโลเมตร มีงานนมัสการพระธาตุ หรืองานขึ้นพระธาตุตรงกับวันขึ้น 11-15 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี


อำเภอลอง

วัดพระธาตุศรีดอนคำ
หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “วัดห้วยอ้อ” อยู่เลยที่ว่าการอำเภอลองไปเล็กน้อย ห่างจากตัวเมืองแพร่ 45 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 1023 มีพระธาตุเก่าแก่ขนาดใหญ่สร้างขึ้นราว พ.ศ. 1078 เมื่อคราวพระนางจามเทวีเสด็จมาจากเมืองละโว้ไปเมืองหริภุญชัย ได้รับการบูรณะหลายครั้ง ปัจจุบันมีฐานเป็นปูน ส่วนบนประดับด้วยแผ่นโลหะสีทอง นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งรวบรวมตำนานพระพุทธรูป ตลอดจนคัมภีร์ต่างๆ ซึ่งเก็บไว้ในหอไตรของวัด

หมู่บ้านทอผ้าตีนจก
ผ้าตีนจกของอำเภอลองเป็นงานฝีมือที่ประณีตและสวยงาม ทอด้วยผ้าไหมและผ้าฝ้าย มีแหล่งผลิตอยู่ที่บ้านนาตุ้ม บ้านหัวทุ่ง บ้านนามน ซึ่งมีการทอผ้าตีนจกกันอย่างแพร่หลาย

สวนหินมหาราช
ขึ้นอยู่กับป่าไม้เขตแพร่ ห่างจากอำเภอลอง 20 กิโลเมตร จากแพร่ไปตามทางหลวงหมายเลข 1023 สวนหินมหาราชอยู่ระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 19-20 ทางซ้ายมือ เป็นบริเวณกว้างโล่ง มีก้อนหินขนาดใหญ่วางเรียงระเกะระกะ มีศาลาพักผ่อน

แก่งหลวงและถ้ำเอราวัณ
อยู่ในเขตบ้านแก่งหลวง ตำบลบ้านปิน อำเภอลอง ห่างจากตัวเมืองประมาณ 50 กิโลเมตร มีแก่งน้ำที่สวยงาม นอกจากนี้ยังมีถ้ำที่สวยงาม มีหินงอกหินย้อยรูปร่างคล้ายช้างเอราวัณ


อำเภอสอง

พระธาตุพระลอ
อยู่ที่ตำบลบ้านกลาง ห่างจากจังหวัดไปทางเหนือราว 45 กิโลเมตร การเดินทางไปตามทางหลวง 101 ประมาณ 24 กิโลเมตร แยกซ้ายเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 103 อีกราว 18 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวาสู่อำเภอสอง จากนั้นเลี้ยวซ้ายอีก 3 กิโลเมตรถึงพระธาตุพระลอ (พระธาตุหินล้ม) เป็นพระธาตุที่มีอายุเก่าแก่ประมาณ 400 ปี มีสถูปบรรจุพระอัฐิของพระลอ พระเพื่อน พระแพง และมีการสร้างอนุสาวรีย์ของพระลอ พระเพื่อน พระแพง โดยกรมศิลปากรสร้างหันหน้าไปทางแม่น้ำกาหลง (แม่น้ำสอง) เป็นอนุสรณ์สถานของนครแมนสรวง และเมืองสรวงที่จูงใจให้น้อมรำลึกถึงความรักอมตะของพระลอและพระเพื่อน พระแพง โดยรอบบริเวณตกแต่งเป็นสวนสาธารณะร่มรื่นสวยงาม

เวียงพระลอ
ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านกลาง อำเภอสอง การเดินทางไปทางเดียวกับพระธาตุพระลอ ใช้เส้นทางสอง-งาว (ทางหลวงหมายเลข 1154) ตรงหลักกิโลเมตรที่ 54 เลี้ยวขวาตรงทางเข้าโรงเรียนบ้านคุ้ม 2 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวาไปอีก 2.5 กิโลเมตรถึงเวียงพระลอ ด้านหลังเป็นฝาย สามารถชมทิวทัศน์ของแม่น้ำยมอันสวยงามได้

อุทยานแห่งชาติแม่ยม


อำเภอวังชิ้น


:: อุทยานแห่งชาติแม่ยม ::

:: ข้อมูลทั่วไป ::
อุทยานแห่งชาติแม่ยม พื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่อำเภองาว จังหวัดลำปาง และอำเภอสอง จังหวัดแพร่ มีสภาพป่าอุดมสมบูรณ์ เต็มไปด้วยป่าสักที่ขึ้นเองตามธรรมชาติอย่างหนาแน่น ซึ่งมีขนาดสูงใหญ่งดงามมาก นับได้ว่าเป็นตัวแทนป่าไม้สัก ของภาคเหนือได้อย่างดียิ่ง รวมทั้งไม้ที่มีค่าต่างๆ จำนวนมาก และทิวทัศน์ที่สวยงาม มีเนื้อที่ประมาณ 284,218.75 ไร่ หรือ 454. 75 ตารางกิโลเมตร

ในปลายปี พ.ศ. 2525 นายณรงค์ วงศ์วรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ (สมาชิกสภาผู้แทนจังหวัดแพร่) ดำริให้กรมป่าไม้ทำการสำรวจป่าสงวนแห่งชาติแม่ปุง-แม่เป้า จังหวัดแพร่ ซึ่งมีไม้สักที่อุดมสมบูรณ์ ขึ้นเองตามธรรมชาติอย่างหนาแน่น และมีทิวทัศน์ธรรมชาติอื่นๆ ที่สวยงามหลายแห่ง ให้จัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ จึงได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปทำการสำรวจเบื้องต้น ปรากฏว่า บริเวณป่าแม่ปุงและป่าน้ำงาว น้ำสวด มีป่าสักที่สมบูรณ์ยิ่งในภาคเหนือ สภาพป่าโดยทั่วไปสมบูรณ์ดี เป็นป่าต้นน้ำลำธารของแม่น้ำยม ทั้งยังมีทิวทัศน์ และเอกลักษณ์ทาง ธรรมชาติที่สวยงาม เหมาะสมที่จะจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ

กรมป่าไม้ได้นำเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ซึ่งได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 1/2527 เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2527 เห็นสมควรให้ออกพระราชกฤษฎีกา กำหนดพื้นที่ดังกล่าวเป็นอุทยานแห่งชาติ โดยใช้ชื่อว่า “อุทยานแห่งชาติแม่ปุง” ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “อุทยานแห่งชาติแม่ยม” เพื่อให้เหมาะสมตามลักษณะของพื้นที่ ซึ่งมีแม่น้ำยมไหลผ่าน และลักษณะเด่นที่สวยงามของอุทยานแห่งชาติแม่ยมแห่งนี้ เกิดจากแม่น้ำยม โดยได้มีพระราชกฤษฎีกา กำหนดพื้นที่บริเวณที่ดินป่าแม่ปุง ป่าแม่เป้าและป่าแม่สอง ในท้องที่ตำบลเตาปูน ตำบลสะเอียบ อำเภอสอง จังหวัดแพร่ และป่าแม่งาวฝั่งซ้าย ในท้องที่ตำบลแม่ตีบ อำเภองาว จังหวัดลำปาง ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 103 ตอนที่ 34 ลงวันที่ 1 มีนาคม 2529 เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 51 ของประเทศ


:: ลักษณะภูมิประเทศ ::
ลักษณะภูมิประเทศอุทยานแห่งชาติแม่ยมโดยทั่วไป จะมีลักษณะเป็นเทือกเขาสูง ทั้งด้านทิศตะวันออก ละทิศตะวันตกของพื้นที่ ลาดลงมายังฝั่งแม่ยมซึ่งไหลผ่านตอนกลางของพื้นที่ เทือกเขาเหล่านี้ เช่น ดอยหลวง ดอยยาว ดอยขุนห้วยแปะ และดอยโตน เป็นต้น ซึ่งเทือกเขาสูงดังกล่าวนี้ เป็นต้นกำเนิดที่สำคัญของแม่น้ำ และลำห้วยต่างๆ ที่ไหลลงสู่แม่น้ำยม อาทิ น้ำแม่ปุง น้ำแม่ลำ น้ำแม่เต้น น้ำแม่สะกึ๋น น้ำแม่เป๋า ห้วยผาลาด ห้วยแม่ปง ห้วยแม่พุง ห้วยแม่แปง ห้วยเค็ด ห้วยปุย ห้วยเลิม และห้วยแม่ปุ๊ เป็นต้น บริเวณที่ราบซึ่งมีความลาดเอียง จากแนวทิศเหนือไปทิศใต้โดยประมาณ มีระดับความสูงประมาณ 180 เมตรจากระดับน้ำทะเล ที่บริเวณอำเภอสอง แล้วลดความสูงมาเป็นประมาณ 157 เมตร ส่วนทางด้านแนวทิศตะวันออกและทิศตะวันตกนั้น พื้นที่ลาดเอียงสู่แม่น้ำยมทั้งสองด้าน ส่วนใหญ่เป็นดินลูกรังและดินร่วนปนทราย ชนิดหินเป็นหินชั้นและหินเชล และพื้นที่จะอยู่ในชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 1, 2, 3, 4 และ 5


:: ลักษณะภูมิอากาศ ::
ลักษณะภูมิอากาศของอุทยานแห่งชาติแม่ยม อยู่ในลักษณะอากาศแบบฝนเมืองร้อนเฉพาะฤดู ปริมาณและการกระจายของฝน จะได้รับอิทธิพลจากลมมรสุม 2 ประเภท คือ ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ จะเริ่มพัดผ่านระหว่างเดือนพฤษภาคม ถึงเดือนตุลาคม ทำให้ฝนตกชุก และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ จะเริ่มพัดผ่านตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนเมษายน โดยนำอากาศหนาวและแห้งแล้งจากประเทศจีน มาปกคลุมบริเวณภาคเหนือของประเทศไทย ช่วงฤดูแล้งนี้ยังมีลักษณะอากาศแตกต่างกัน อันเนื่องมาจากลักษณะภูมิประเทศที่เป็นภูเขา กล่าวคือ อากาศหนาวแห้งแล้ง จะเริ่มประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ และอากาศร้อนแห้งแล้ง จะเริ่มประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยในเดือนเมษายน 33 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ยในเดือนมกราคม 14 องศาเซลเซียส อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปี 26 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนตลอดปี 1,095 มิลลิเมตรต่อปี


:: พรรณไม้และสัตว์ป่า ::
สภาพป่าส่วนใหญ่เป็นป่าค่อนข้างสมบูรณ์ ประกอบด้วยชนิดป่าชนิดต่างๆ ได้แก่
ป่าเบญจพรรณ พบทั่วไปในเขตอุทยานแห่งชาติ โดยเฉพาะตั้งแต่บริเวณเหนือเขื่อนขึ้นไป ทางทิศตะวันตกของลำน้ำยม ชนิดไม้ที่สำคัญ ได้แก่ สัก มะค่าโมง แดง ประดู่ ตะแบก ฯลฯ

ป่าเต็งรัง ขึ้นอยู่ทางตอนเหนือของพื้นที่ และกระจายเป็นหย่อมๆ ในบริเวณดินที่มีความแห้งแล้ง เป็นดินลูกรัง ชนิดไม้ที่สำคัญได้แก่ เต็ง รัง พลวง รัก มะเกิ้ม ชิงชัน ฯลฯ

ป่าดิบแล้ง ขึ้นอยู่อย่างหนาแน่นทางทิศตะวันออกของอุทยานแห่งชาติ และตามบริเวณริมห้วยที่สำคัญ มีความเขียวชอุ่มตลอดปี พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ ตะเคียนทอง กระบาก มะหาด ยาง ยมหอม ก่อ ฯลฯ

ป่าสนเขา มีขึ้นอยู่ตามยอดเขาทางทิศตะวันออกของอุทยานแห่งชาติ มีความสูง 1,200 เมตรจากระดับน้ำทะเล พันธุ์ไม้จะเป็นพวกไม้สน และไม้ก่อ เช่น สนสามใบ ก่อเดือย ก่อตาหนู เป็นต้น

จากการสำรวจสัตว์ป่า พบ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 39 ชนิด นก 135 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 28 ชนิด และสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 14 ชนิด ในจำนวนนี้มีสัตว์ที่มีสถานภาพที่น่าเป็นห่วง 4 ชนิด ได้แก่ สุนัขจิ้งจอก กระรอกบินเล็กแก้มขาว แมวป่า และนกยูง มีสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ 1 ชนิด คือ เสือปลา นอกจากนี้ยังมีสัตว์ป่าสงวนซึ่งมีสภาพใกล้สูญพันธุ์ตามสมุดปกแดงของ IUCN คือ เลียงผา สัตว์ป่าชนิดอื่นที่พบเห็นได้ทั่วไป ได้แก่ เก้ง หมีควาย หมูป่า กระต่ายป่า นางอาย เม่นหางพวง นากเล็กเล็บสั้น อ้นเล็ก กระเล็นขนปลายหูสั้น ค้างคาวขอบหูขาวกลาง ค้างคาวมงกุฎมลายู หนูท้องขาว ไก่ป่า นกเขาเปล้าธรรมดา นกหกเล็กปากแดง นกกระปูดใหญ่ นกเค้าโมง นกตบยุงหางยาว นกตะขาบทุ่ง นกตั้งล้อ นกโพระดกคอสีฟ้า นกหัวขวานด่างแคระ นกแอ่นตะโพกขาวหางแฉก นกไต่ไม้หน้าผากกำมะหยี่ นกกินแมลงอกเหลือง นกพงคิ้วดำ นกเด้าลมหลังเทา นกปรอดโอ่งเมืองเหนือ นกจับแมลงหัวเทา นกกินปลีอกเหลือง เต่าเหลือง ตะพาบน้ำ กิ้งก่าสวน แย้ขีด จิ้งเหลนเรียวท้องเหลือง จิ้งจกหางหนาม งูหลาม งูสามเหลี่ยม อึ่งขาดำ กบหนอง เขียดบัว และคางคกบ้าน เป็นต้น


:: ที่ตั้งและการเดินทาง ::
อุทยานแห่งชาติแม่ยม
ตู้ ปณ. 4 อ. สอง จ. แพร่ 54120
โทรศัพท์ : 0 5452 2097, ศูนย์ข่าวอช.แม่ยม โทร 0 5459 3864

รถยนต์
การเดินทางไปยังอุทยานแห่งชาติแม่ยม ต้องเริ่มจากจังหวัดแพร่ไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 101 สายแพร่-น่าน ไปถึงสี่แยกอำเภอร้องกวาง เลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 103 สายร้องกวาง - งาว ประมาณ 26 กิโลเมตร จะถึงอำเภอสอง และจากอำเภอสองเดินทางไปตามเส้นทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1154 สายสอง - งาว ประมาณ 20 กิโลเมตร จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่ยม รวมระยะทางจากจังหวัดแพร่ถึงอุทยานแห่งชาติแม่ยม ประมาณ 70 กิโลเมตร


:: แหล่งท่องเที่ยว ::
ฤดูกาลที่เหมาะสมที่ควรจะมาท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติแห่งนี้ เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนพฤษภาคมของทุกปี เนื่องจากในช่วงฤดูฝนเป็นช่วงแม่น้ำหลากในแม่น้ำยม และทางคมนาคมไม่สะดวก นอกจากนี้ยังมี ประเพณีโล้ชิงช้า ของชาวเขาเผ่าอีก้อในช่วงฤดูหนาว เป็นหมู่บ้านชาวเขา ที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่ยม ซึ่งอยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติประมาณ 40 กิโลเมตร ชมวัฒนธรรม และวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวเขาเผ่าอีก้อ อุทยานแห่งชาติแม่ยมยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีก ได้แก่ น้ำตกตาดตาล โป่งน้ำร้อน หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ มย.2 (ผาอิง) และบริเวณจุดชมทิวทัศน์


:: ด้านประวัติศาสตร์ ::
โล้ชิงช้าเผ่าอาข่า ประเพณีโล้ชิงช้าของเผ่าอาข่าในช่วงหน้าหนาว เป็นหมู่บ้านที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่ยม ชมวิถีชีวิตดั่งเดิมและวัฒนธรรมของชาวเขาเผ่าอาข่า อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่ยมประมาณ 40 กิโลเมตร


:: ด้านธรรมชาติที่สวยงาม ::
ดงสักงาม มีลักษณะเป็นกลุ่มของไม้สักที่ขึ้นอยู่อย่างหนาแน่นตามริมฝั่งแม่น้ำยม ตลอดแนวยาวประมาณ 12 กิโลเมตร ไม้สักที่ขึ้นอยู่นี้มีลักษณะสูงใหญ่ ปลายตรง งดงามมาก คล้ายกับไม้สักที่ปลูกในสวนป่า และหากได้เข้าไปในเดือนสิงหาคม-กันยายน จะพบกับความร่มรื่น และดอกสักที่เหลืองอร่ามไปหมด บริเวณดงสักงามนี้มีเนื้อที่ประมาณ 20,000 ไร่ หรือ 32 ตารางกิโลเมตร อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่ยม ประมาณ 6 กิโลเมตร การเดินทางไปยังจุดนี้ต้องใช้การเดินเท้าเท่านั้น


แก่งเสือเต้น เป็นเกาะแก่งธรรมชาติในแม่น้ำยม มีความยาวประมาณ 4 กิโลเมตร อยู่หน้าที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ชื่อของแก่งเสือเต้นนี้มีความเป็นมาจาก ลักษณะของหินธรรมชาติก้อนหนึ่งในแก่งแห่งนี้ มีลักษณะคล้ายรอยเท้าเสือปรากฏอยู่ ตามริมแม่น้ำยมในช่วงที่เป็นแก่งเสือเต้นนั้นจะมีหาดทรายปรากฏอยู่โดยทั่วไป เหมาะสำหรับกางเต็นท์พักแรม และล่องแก่งเพื่อสัมผัสกับธรรมชาติที่งดงาม โดยมีเสียงน้ำไหลผ่านเกาะแก่งเป็นส่วนประกอบ


หล่มด้ง เป็นแอ่งน้ำธรรมชาติที่มีขนาดใหญ่ เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 100 เมตร ปรากฏอยู่บนยอดเขาสูง มีน้ำขังตลอดปี สันนิษฐานว่า แหล่งน้ำนี้เกิดจากการยุบตัวของดินในบริเวณดังกล่าว ทำให้เกิดเป็นหลุมขนาดใหญ่และมีน้ำขังอยู่ กลายเป็นแหล่งน้ำสำหรับสัตว์ป่าในบริเวณนั้น ที่นี่ยังเป็นจุดชมทิวทัศน์ของดงสักงามได้อย่างชัดเจน รวมทั้งชมทิวทัศน์ยามดวงอาทิตย์ขึ้นละตกด้วย หล่มด้ง อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่ยมประมาณ 14 กิโลเมตร และห่างจากจุดชมทะเลภูเขา 1 กิโลเมตร ใกล้กับหล่มด้งนี้ จะมีเหมืองแร่เก่าซึ่งผ่านการทำแร่แบไรต์มาแล้ว มีลานสำหรับกางเต็นท์พักแรม


จุดชมทะเลหมอก เป็นบริเวณที่สามารถมองเห็นทิวเขาที่สลับซับซ้อน มองเห็นความงามของดงสักงามทางทิศตะวันออก ในช่วงฤดูหนาวจะได้สัมผัสบรรยากาศที่หนาวเย็น และเห็นทะเลหมอกในยามเช้า จุดชมทะเลภูเขานี้ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่ยม ประมาณ 13 กิโลเมตร


ผาลาด บริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ มย.5 (ผาลาด) ซึ่งมีสภาพเป็นป่าเบญจพรรณ โดยบริเวณห้วยผาลาด จะเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของนกยูง จำนวนมาก จาการสำรวจนกยูงบริเวณดังกล่าว เป็นนกยูงสายพันธุ์ไทย อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ประมาณ 52 กิโลเมตร


ต้นมะค่าใหญ่ ขึ้นในบริเวณขุนห้วยแม่ปุง ตำบลสะเอียบ อำเภอสอง จังหวัดแพร่ มีขนาดความโตวัดโดยรอบได้ 7.40 เมตร ความสูง 35 เมตร ต้องใช้คนประมาณ 6 คน จึงจะโอบได้รอบลำต้น ลักษณะกิ่งก้านสาขาแตกออกเป็น 2 นาง และแต่ละนางแตกออกเป็น 4 แขนง การแตกของนางแรกอยู่สูงจากพื้นดิน 3.22 เมตร พบอยู่ห่างจากหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ มย.4 (บ่อต้นสัก) ประมาณ 8 กิโลเมตร



:: สิ่งอำนวยความสะดวก ::
ห้องสุขาชาย มีห้องสุขาชายให้บริการ


ห้องสุขาหญิง มีห้องสุขาหญิงให้บริการ


ที่พักแรม/บ้านพัก มีบ้านพักให้บริการแก่นักท่องเที่ยว จำนวน 3 หลัง


สถานที่กางเต็นท์/เต็นท์ อุทยานแห่งชาติจัดเตรียมสถานที่กางเต็นท์ และเต็นท์ ไว้ให้บริการนักท่องเที่ยว การสำรองที่พักเต็นท์ สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียด และสำรองที่พักเต็นท์ได้กับอุทยานแห่งชาติโดยตรง


ค่ายเยาวชน มีสถานที่ไว้รองรับค่ายเยาวชนที่มาจัด


ที่จอดรถ มีลานจอดรถให้บริการแก่นักท่องเที่ยว


บริการอาหาร มีร้านอาหารไว้บริการนักท่องเที่ยว



จังหวัดแพร่ :: เทศกาล งานประเพณี

งานประเพณีนมัสการพระธาตุช่อแฮ
จัดขึ้นระหว่างวันขึ้น 11-15 ค่ำ เดือนสี่ มีการแห่ผ้าขึ้นไปห่มองค์พระธาตุ มีขบวนแห่แบบล้านนา โดยผู้ร่วมงานทุกคนจะแต่งกายแบบพื้นเมืองล้านนา มีมหรสพสมโภชทุกคืน รุ่งเช้าวันขึ้น 15 ค่ำ จะมีการทำบุญตักบาตร กลางคืนจะมีการเวียนเทียนรอบองค์พระธาตุและพระวิหาร

งานม่อฮ่อมล้อมสะโตก และสงกรานต์จังหวัดแพร่
จัดงานบริเวณสวนสุขภาพเฉลิมพระเกียรติ ร. 9 ระหว่างวันที่ 14-16 เมษายน ของทุกปี ในงานจะมีการแต่งกายด้วยชุดม่อฮ่อมล้อมวงกินขันโตก และเล่นสงกรานต์กัน

งานกิ๋นสลาก
คล้ายประเพณีถวายสลากภัตของภาคกลางนั่นเอง โดยชาวบ้านจะจัดเครื่องไทยทาน เขียนสลากชื่อของตนติดไว้แล้วนำไปรวมกันที่หน้าพระประธาน พระสงฆ์จะจับสลากขึ้นมาให้มรรคทายกประกาศ เจ้าของสลากก็จะนำเครื่องไทยทานของตนไปถวายแด่พระสงฆ์ โดยงานนี้จะจัดขึ้นตามวัดต่างๆ ช่วงเดือน 10 ของทุกปี


จังหวัดแพร่ :: ของฝาก ของที่ระลึก

ร้านขายของที่ระลึกและสินค้าพื้นเมือง

บ้านฝ้าย 57/6 ม. 1 ต. เวียงทอง อ. เมือง
ม่อฮ่อมแม่หนู 60 ถ. เจริญเมือง อ. เมือง
พ. วงศ์ไชยวัฒน์ 385 ถ. เจริญเมือง ข้างธนาคารกรุงเทพ
อาเนียร 36 ถ. เจริญเมือง
ปอแก้ว 64-66 ถ. เจริญเมือง
นกน้อย 6/3 ถ. ยันตรกิจโกศล อ. เมือง โทร. 521043, 511355
บ้านประทับใจ 81/1 ม. 7 ต. ป่าแมต อ. เมือง โทร. 511088, 511282
ม่อฮ่อมเพชรา 330/1 ม. 2 ต. ทุ่งโฮ้ง อ. เมือง โทร. 521783
ขนมครกแม่หล่าย 73 ม. 2 ต. แม่หล่าย อ. เมือง
บายศรีแฮนเพนต์บาติก 102 ถ. รอบเมือง อ. เมือง
สุจินต์ หมูยอ ถ. เจริญเมือง
อ. กาญจนประดิษฐ์ ถ. เจริญเมือง
มะขามแก้วมุกดา ถ. เจริญเมือง
ร้านดอกแก้ว ถ. ยันตรกิจโกศล
พาณี ถ. เจริญเมือง
โกมลผ้าโบราณ ตรงข้ามโรงเรียนลองวิทยา อ. ลอง
ศูนย์หัตถกรรมบ้านเพื่อนฝูง อ. เด่นชัย


:: สารบัญเว็บไซท์ ::

:: ข้อมูล สถานที่ท่องเที่ยว แหล่งท่องเที่ยว จังหวัดแพร่ ::

สารบัญเว็บไซท์ > ท่องเที่ยว > ข้อมูล และสถานที่ท่องเที่ยว > ภาคเหนือ > แพร่

จำนวนเว็บไซท์ในหมวดนี้ : 10 [ แนะนำเว็บไซท์ได้ที่นี่ ]


จังหวัดแพร่
แนะนำข้อมูลทั่วไป สถานที่ท่องเที่ยว แหล่งท่องเที่ยว จองโรงแรม ที่พัก รีสอร์ท โรงแรม จังหวัดแพร่ แผนที่ การเดินทาง ร้านอาหาร เทศกาล งานประเพณี ของฝาก ประวัติความเป็นมา คำขวัญประจำจังหวัด
http://www.relaxzy.com/province/phrae/

จังหวัดแพร่
ข้อมูลทั่วไปของจังหวัดแพร่ สภาพเศรษฐกิจ การเมือง ทำเนียบผู้บริหาร แหล่งท่องเที่ยว โรงแรม ที่พัก ร...
http://www.phrae.go.th

แพร่เน็ตดอทคอม
รวมรวมข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวของจังหวัดแพร่ ที่พัก และสินค้าพื้นเมือง
http://www.phraenet.com

จังหวัดแพร่ (แพร่ไทยแลนด์)
ข้อมูลประจำจังหวัดแพร่ แนะนำสถานที่ท่องเที่ยว หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ที่พัก ร้านอาหาร ร้านขายของ...
http://www.phraethailand.com

ตำบลวังหงษ์
รวมข้อมูลของตำบลวังหงษ์ เช่น ประวัติ ข้อมูลจำนวนประชากร แหล่งท่องเที่ยวของตำบลวังหงษ์
http://www.phrae1.net/wanghong

ดูแพร่
ข้อมูลท่องเที่ยวจังหวัดแพร่ ที่ตั้งและแผนที่ ปฏิทินท่องเที่ยว ข้อมูลที่พัก สินค้าพื้นเมือง และของฝาก
http://www.doophrae.com

น้ำแรมการ์เด้น รีสอร์ท
ตั้งอยู่เลขที่ 98/1 ถนนอุตรดิตถ์-เด่นชัย ตำบลห้วยทราย อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ 54110
http://www.namramgarden.com

อุทยานแห่งชาติดอยผากลอง
อุทยานแห่งชาติดอยผากลองอยู่ในท้องที่อำเภอลอง อำเภอเมือง และอำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ ประกอบด้วยพื้...
http://www.dnp.go.th/parkreserve/asp/style1/default.asp?npid=175&lg=1

อุทยานแห่งชาติแม่ยม
พื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่อำเภองาว จังหวัดลำปาง และอำเภอสอง จังหวัดแพร่ มีสภาพป่าอุดมสมบูรณ์เต็...
http://www.dnp.go.th/parkreserve/asp/style1/default.asp?npid=138&lg=1

เมืองแพร่วันนี้
ข้อมูลแนะนำจังหวัดแพร่ และสถานที่ท่องเที่ยว แก่งหลวง อุทยานแห่งชาติดอยผากลอง และเว็บ Link เมืองแพร่
http://www.phraetoday.com



:: อุทยานแห่งชาติดอยผากลอง ::

:: ข้อมูลทั่วไป ::
อุทยานแห่งชาติดอยผากลอง อยู่ในท้องที่อำเภอลอง อำเภอเมือง และอำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ ประกอบด้วยพื้นที่เป็นเขาสูงชัน บางแห่งพื้นที่ราบบนเขามีหินโผล่จากพื้นดินตามธรรมชาติ อย่างสลับซับซ้อน เป็นหินปูน และมีเอกลักษณ์ทางธรรมชาติที่สวยงาม คือ สวนหินมหาราช จะมีหินโผล่ซึ่งมาจากพื้นดินตามธรรมชาติอย่างสลับซับซ้อนน่าอัศจรรย์ ประกอบกับบรรยากาศร่มรื่นเย็นสบาย ปัจจุบันมีผู้เข้าไปเที่ยวชมเป็นจำนวนมาก และมีเทือกเขาดอยผากลองเด่นเป็นเอกลักษณ์ เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร อุทยานแห่งชาติดอยผากลองมีเนื้อที่ประมาณ 78,125 ไร่ หรือ 125 ตารางกิโลเมตร

เมื่อปี พ.ศ. 2530 สำนักงานป่าไม้เขตแพร่และจังหวัดแพร่ มีนโยบายจัดสวนหิน ซึ่งอยู่ในบริเวณป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ต้าฝั่งซ้าย ท้องที่ตำบลต้าผามอก อำเภอลอง จังหวัดแพร่ เป็นวนอุทยานสวนหินมหาราช เพื่อเป็นการเทอดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ และเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากกรมป่าไม้แล้ว โดยให้ประสานงานกับกองอุทยานแห่งชาติ และได้มีคำสั่งกรมป่าไม้ ที่ 475/2532 ลงวันที่ 23 มีนาคม 2532 ให้ดำเนินการสำรวจป่าห้วยขมิ้น ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ต้าฝั่งซ้าย ป่าห้วยเบี้ย-ห้วยบ่อทอง และป่าแม่แย้-แม่สาง ท้องที่ตำบลต้าผามอก อำเภอลอง ตำบลวังหงส์ ตำบลท่าข้าม ตำบลวังธง และตำบลป่าแมต อำเภอเมือง ตำบลเวียงทอง ตำบลร่องกาด และตำบลบ้านปง อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ เพื่อจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติต่อไป

กรมป่าไม้มีคำสั่งที่ 1627/2532 ลงวันที่ 19 ตุลาคม 2532 ให้นายประภาส อินทร์แก้ว ไปสำรวจเพิ่มเติมและจัดตั้งพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ต้าฝั่งซ้าย ป่าห้วยเบี้ย-ห้วยบ่อทอง และป่าแม่แย้-แม่สาง ในท้องที่จังหวัดแพร่ เป็นอุทยานแห่งชาติ ตามหนังสือที่ กษ 0713 (ผก) ลงวันที่ 19 มกราคม 2533 ว่า ได้พิจารณาจากสภาพป่าบริเวณ ดังกล่าวซึ่งมีเทือกเขาดอยผากลองเด่นเป็นเอกลักษณ์ เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร และมีถ้ำ ประชาชนโดยทั่วไปรู้จักจึงเห็นสมควรใช้ชื่ออุทยานแห่งชาติแห่งนี้ว่า “อุทยานแห่งชาติดอยผากลอง”

กองอุทยานแห่งชาติได้พิจารณาแล้ว เห็นชอบด้วยตามที่อุทยานแห่งชาติเสนอขออนุมัติใช้ชื่อ อุทยานแห่งชาติว่า “อุทยานแห่งชาติดอยผากลอง” และนายประภาส อินทร์แก้ว เจ้าหน้าที่ผู้สำรวจได้รายงานส่วนอุทยานแห่งชาติ ตามหนังสืออุทยานแห่งชาติดอยผา กลอง ด่วนที่สุด ที่ กษ 0712.3(ผก)/7 ลงวันที่ 13 มกราคม 2537 ว่า พื้นที่มีความเหมาะสมกำหนดเป็นอุทยานแห่งชาติ อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าบ่อทอง ป่าแม่ต้าฝั่งซ้าย และป่าแม่แย้ ป่าแม่สาง ในท้องที่ตำบลท่าขาม ตำบลวังธง ตำบลป่าแมต อำเภอเมืองแพร่ ตำบลผามอก อำเภอลอง ตำบลเวียงทอง ตำบลร่องกาด ตำบลบ้านปง ตำบลสบสาย อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ เนื้อที่ประมาณ 125 ตารางกิโลเมตร หรือ 78,125 ไร่ โดยไม่มีราษฎรเข้าไปบุกรุกยึดถือครอบครองอยู่อาศัยเป็นหมู่บ้านถาวรแต่อย่างใด

ส่วนอุทยานแห่งชาติได้พิจารณาแล้ว เห็นว่าสมควรกำหนดพื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็นอุทยาน แห่งชาติ ตามนัยมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ซึ่งปัจจุบันกำลังรวบรวมข้อมูล เพื่อประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติต่อไป


:: ลักษณะภูมิประเทศ ::
ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงชัน บางแห่งเป็นที่ราบบนภูเขามีหินโผล่จากพื้นดินตามธรรมชาติ และพื้นที่บางส่วนสำนักงานป่าไม้เขตแพร่ ได้ทำการปลูกป่าไม้สักเพื่อฟื้นฟูสภาพป่า บริเวณที่สำรวจเป็นต้นน้ำลำธารของแม่น้ำยม ซึ่งประกอบด้วยห้วยที่สำคัญคือ ห้วยขมิ้น ห้วยผาคำ ห้วยเบี้ย ห้วยน้ำริน ห้วยแม่ต้า และห้วยแม่สาง


:: ลักษณะภูมิอากาศ ::
เนื่องจากภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงชัน และมีพันธุ์ไม้นานาชนิด ฤดูหนาวจึงค่อนข้างหนาวจัด อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 8-12 องศาเซลเซียส ฤดูร้อนไม่ร้อนจัดอุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 30 องศาเซลเซียส ฤดูฝนมีฝนตกชุก ซึ่งเริ่มตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม และจะสิ้นสุดเดือนตุลาคม ยังไม่มีการเก็บข้อมูลทางด้านปริมาณน้ำฝน เฉลี่ยในเขตพื้นที่สำรวจ


:: พรรณไม้และสัตว์ป่า ::
สภาพป่าในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าผลัดใบ แบ่งได้ 2 ประเภทคือ ป่าเบญจพรรณ เป็นป่าที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจมาก พันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ ไม้สัก ไม้ประดู่ ไม้แดง ไม้มะค่าโมง ไม้กระพี้เขาควาย ชิงชัน กระเจาะ กระพี้จั่น ตะเคียนทอง ตะแบก โมกมัน และป่าเต็งรัง พันธุ์ไม้ที่มักพบอยู่เสมอคือ เต็ง รัง เหียง พลวง กระโดน ตะค้อ มะกอกป่า เป็นต้น

ส่วนสัตว์ป่าจากการสำรวจสภาพพื้นที่จริง และสอบถามราษฎรในท้องถิ่นใกล้เคียง พบว่ามีสัตว์ป่า อาศัยอยู่มากมาย ได้แก่ เลียงผา เก้ง กระจง หมูป่า ลิงลม อีเห็น กระต่าย กระรอก กระแต ตุ่น หนู งู นกชนิดต่างๆ และปลา


:: ที่ตั้งและการเดินทาง ::
อุทยานแห่งชาติดอยผากลอง
ต.ต้าผามอก อ. ลอง จ. แพร่ 54150
โทรศัพท์ : 0 5450 1145

รถยนต์
จากจังหวัดแพร่ เดินทางโดยรถยนต์ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1023 สายแพร่-อำเภอลอง เดินทางตามถนนสายนี้ จนถึงกิโลเมตรที่ 19-20 ระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร ก็จะถึงบริเวณสวนหินมหาราช ซึ่งเป็นที่ตั้งที่ทำการอุทยานแห่งชาติ เป็นถนนลาดยางทั้งหมด เส้นทางนี้สามารถใช้ได้ตลอดปี และมีรถยนต์โดยสารประจำทาง สายแพร่-อำเภอลองผ่าน


:: แหล่งท่องเที่ยว :: ด้านธรรมชาติที่สวยงาม ::
สวนหินมหาราช เป็นบริเวณที่มีหินโผล่ขึ้นมาจากพื้นดินตามธรรมชาติอย่างสลับซับซ้อนน่าอัศจรรย์ บ้างคล้ายจระเข้ ไดโนเสาร์ และสัตว์ดึกดำบรรพ์ มองแล้วทำให้เกิดจิตนาการเหมือนอยู่ในเทพนิยาย บางก้อนเป็นถ้ำเล็กๆ ลึกเข้าไปข้างใน หินก้อนใหญ่อยู่บนหินก้อนเล็ก ดูน่าหวาดเสียวคล้ายจะหล่น แต่ก็สามารถทานน้ำหนักได้ ประกอบกับบรรยากาศร่มรื่นเย็นสบาย การเดินทางสะดวก เพราะอยู่ติดกับทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1023 ที่ กม. 25 จากจังหวัดแพร่-อำเภอลอง


ถ้ำจันทร์ผา เป็นถ้ำค้างคาวมีขนาดใหญ่พอสมควร มีมูลค้างคาวเป็นจำนวนมาก อยู่ทางทิศเหนือ ของสวนหิน เป็นถ้ำหินงอกหินย้อยสวยงาม


ภูเขาหินปะการัง ภูหินปะการังหรือร่องหินแตก เป็นกลุ่มของแผ่นหินที่โผล่ขึ้นมาจากพื้นดิน อันเนื่องมาจากการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกในอดีต เมื่อผิวหินปูนถูกน้ำฝนกัดเซาเป็นเวลานาน จึงเกิดเป็นร่องแหลมคม แลดูคล้ายปะการังในทะเล และมีรูปทรงแตกต่างกันมากมาย ทางอุทยานแห่งชาติได้จัดเส้นทาง และสะพานเดินชมหินปะการังไปจนถึงยอดเขา ระหว่างทางมีพันธุ์ไม้ที่ขึ้นตามเขาหินปูนให้ชมหลายชนิด เช่น จันทน์ผา กระบองเพชร ฯลฯ บริเวณเชิงภูเขาหินปะการังมี ถ้ำผากลอง ซึ่งมีหินงอกหินย้อยสวยงาม


แก่งหลวง เป็นโขดหินกว้างกลางแม่น้ำยม ในฤดูฝนน้ำหลากสายน้ำจะไหลปะทะแก่งจนเกิดเสียงดัง ฝั่งตรงข้ามกับแก่งหลวง มีถ้ำเอราวัณ ซึ่งมีโถงถ้ำใหญ่กว้างขวางและมีหินงอกหินย้อยงดงาม บางก้อนมองดูคล้ายกับช้างเอราวัณ สามารถติดต่อเรือจากบ้านแก่งหลวงข้ามไปเที่ยวชมถ้ำได้ แก่งหลวงตั้งอยู่ที่บ้านแก่งหลวง มีทางแยกเข้ามาจากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 (เด่นชัย-ลำปาง) ไปประมาณ 8 กิโลเมตร ก็จะถึงแก่งหลวงริมลำน้ำยม



:: สิ่งอำนวยความสะดวก ::
ห้องสุขาชาย มีห้องสุขาชายให้บริการ


ห้องสุขาหญิง มีห้องสุขาหญิงให้บริการ


สถานที่กางเต็นท์/เต็นท์ มีพื้นที่กางเต็นท์ พร้อมห้องน้ำ-ห้องสุขารวม ไว้ให้บริการ ท่านสามารถนำเต็นท์มากางเอง หรือติดต่อขอใช้บริการเต็นท์ของอุทยานแห่งชาติ ซึ่งมีค่าบริการอยู่หลายอัตราขึ้นอยู่กับชนิด ขนาดของเต็นท์ และอุปกรณ์ประกอบอื่นๆ รายละเอียดเกี่ยวกับที่พักเต็นท์ ขอให้ติดต่อสอบถามกับอุทยานแห่งชาติโดยตรง


ที่จอดรถ มีลานจอดรถให้บริการแก่นักท่องเที่ยว


บริการอาหาร มีร้านอาหารไว้บริการนักท่องเที่ยว

0 ความคิดเห็น: