วันพุธที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

การท่องเที่ยวจังหวัดเชียงราย

:: จังหวัดเชียงราย ::

" เหนือสุดแห่งสยาม ชายแดนสามแผ่นดิน ถิ่นวัฒนธรรมล้านนา "

จังหวัดเชียงราย :: ข้อมูลทั่วไป

เชียงราย เมืองเหนือสุดของไทยมีสถานที่น่าชมมากมาย ทั้งเมืองโบราณเก่าแก่ที่เชียงแสน และสบรวก ดินแดนแห่งามเหลี่ยมทองคำ อันลือชื่อ

เชียงราย มีเนื้อที่ ๑๑,๖๗๘.๓๖๙ ตารางกิโลเมตร อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ๗๘๕ กิโลเมตร แบ่งการปกครอง ออกเป็น ๑๖ อำเภอ ๒ กิ่งอำเภอ คือ อำเภอเมือง อำเภอเชียงของ อำเภอพาน อำเภอแม่จัน อำเภอเชียงแสน อำเภอแม่สาย อำเภอแม่สรวย อำเภอเวียงป่าเป้า อำเภอป่าแดด อำเภอเวียงชัย อำเภอพญาเม็งราย อำเภอเทิง อำเภอเวียงแก่น อำเภอแม่ฟ้าหลวง อำเภอขุนตาล อำเภอแม่ลาว กิ่งอำเภอเวียงเชียงรุ้ง และกิ่งอำเภอดอยหลวง


ดอกไม้ประจำจังหวัด พวงแสด
ต้นไม้ประจำจังหวัด กาสะลองคำ หรือ ปีบทอง


- ประวัติและความเป็นมา

เชียงราย เป็นเมืองที่ตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำกก จึงเป็นดินแดนที่มีผู้คนเข้ามาตั้งหลักแหล่ง ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ และมีความรุ่งเรืองสืบต่อกันมาหลายุคสมัย

จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ค้นพบในเขตที่ราบลุ่มรอบแม่น้ำกก สันนิษฐานได้ว่า บริเวณนี้เป็นศูนย์กลางของชุมชนมาแล้วตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ.1800 เพราะมีร่องรอยของซากเมืองที่มีความเจริญ ทางวัฒนธรรมและศิลปะ อยู่ตามริมแม่น้ำกก ซากเมืองโบราณที่ค้นพบในปัจจุบันมีถึง 27 เมือง ตั้งแต่ อ.ฝาง ของเชียงใหม่ ซึ่งเป็นต้นแม่น้ำกก มาจนถึงเมืองเชียงแสน ซึ่งโบราณสถานเหล่านี้ แสดงให้เห็นว่า มีชุมชนตั้งถิ่นฐานอยู่ในลุ่มแม่น้ำกก อย่างหนาแน่น และได้ขยายตัวสร้างบ้านแปงเมืองกันไม่ขาดสาย

ประวัติศาสตร์ของเมืองเชียงรายเริ่มต้นในสมัยต้นพุทธศตวรรษที่ 19 โดยพญามังราย (พ.ศ.1781 - 1860) ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์มังราย บุตรของพญาลาวเม็ง ผู้ครองนครหิรัญนครเงินยาง (เชียงแสนในปัจจุบัน) ได้ขึ้นครองราชย์แทนพญาลาวเม็ง ในปี พ.ศ.1802 และได้ย้ายราชธานี จากเมืองหิรัญนครเงินยาง มาสร้างราชธานีแห่งใหม่ ที่ริมฝั่งแม่น้ำกก เมื่อ พ.ศ.1805 และได้ขนานนามว่า เชียงราย หมายถึง "เมืองของพญามังราย"

จากนั้นจึงได้รวบรวมหัวเมืองต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเครือญาติสายเลือดลัวะจักราช เช่น เมืองเชียงไร เมืองไร เมืองปง เมืองเวียงคำ เชียงเงิน เชียงของ ฯลฯ เข้ามาไว้ในอำนาจ และแผ่อำนาจเข้าไปในเขตลุ่มน้ำปิง ปี พ.ศ.1839 ทรงย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำปิง ให้ชื่อราชธานีใหม่ว่า "นพบุรีศรีนครพิงค์ เชียงใหม่" และครองราชย์อยู่ที่เชียงใหม่ตลอด โดยให้ราชโอรส ไปครองเมืองเชียงรายแทน เชียงรายจึงกลายเป็นเมืองบริวารของเชียงใหม่ไป

เมื่อพญามังรายสวรรคตลง ภายในอาณาจักรล้านนาอันมีเมืองเชียงใหม่เป็นราชธานีเกิดความแตกแยก เจ้าผู้ครองนครแก่งแย่งชิงอำนาจกัน จนเกิดสงครามกลางเมือง พระเจ้าบุเรงนองฉวยโอกาส เข้าตีอาณาจักรล้านนาสำเร็จ พม่าได้ปกครองอาณาจักรล้านนาเป็นเวลากว่า 200 ปี และได้ฟื้นฟูเมืองเชียงแสนขึ้นเป็นเมืองสำคัญ ในการปกครองของหัวเมืองฝ่ายเหนือ

ต้นพุทธศตวรรษที่ 24 สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี พญากาวิละ เป็นผู้มีบทบาทสูง ในการเกลี้ยกล่อมให้บรรดาเมืองต่างๆ ในล้านนา ร่วมมือกันต่อสู้กับพม่า แต่ยังไม่สำเร็จ จนกระทั่งสมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ทรงส่งกำลังมาสนับสนุนพญากาวิละ ต่อสู้กับพม่าจนเป็นผลสำเร็จ ทรงสถาปนาให้เชียงใหม่เป็นประเทศราชของกรุงรัตนโกสินทร์ และแต่งตั้งพญากาวิละเป็น "พระเจ้ากาวิละ" ปกครองเมืองเชียงใหม่ ในปี พ.ศ.2347 พระเจ้ากาวิละ ทรงยกทัพไปตีเมืองเชียงแสน และกวาดต้อนผู้คนออกจากบริเวณเมืองจนหมด เมืองต่างๆ รวมทั้งเชียงราย จึงถูกทิ้งให้เป็นเมืองร้าง

ต่อมาในปี พ.ศ.2386 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 3 เชียงรายได้รับการบูรณะขึ้นอีกครั้ง ในฐานะเมืองบริวารของเชียงใหม่ โดยมีเชื้อพระวงศ์ชั้นผู้ใหญ่เป็นเจ้าปกครองนคร

ในสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงดำเนินนโยบายสร้างความเป็นเอกภาพทางการเมือง ประกาศจัดตั้งมณฑลพายัพขึ้น ในปี พ.ศ.2427 และยกเลิกหัวเมืองประเทศราชล้านนาไทย เมืองเชียงรายจึงจัดเป็นเมืองหนึ่งซึ่งขึ้นตรงต่อมณฑลพายัพ ในสมัยรัชกาลที่ 6 การปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลถูกยกเลิก เชียงรายจึงได้จัดตั้งขึ้นเป็นจังหวัดหนึ่งของสยามประเทศมานับแต่นั้น

- อาณาเขต

- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ประเทศพม่าและลาว
- ทิศใต้ ติดต่อกับ จังหวัดพะเยา และ จังหวัดลำปาง
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ จังหวัดเชียงใหม่ และประเทศพม่า

หมายเลขโทรศัพท์สำคัญ (รหัสทางไกล 053)

งานข่าวสารการท่องเที่ยว ททท.
02-694-1222 ต่อ 8 , 02-282-9773

ททท.ภาคเหนือ เขต 2
053-717-433 , 053-744-674-5

สำนักงานจังหวัด
053-711-632

ที่ว่าการอำเภอ
053-752-177 , 053-711-288

ประชาสัมพันธ์จังหวัด
053-711-870

สมาคมท่องเที่ยวเชียงราย
053-601-299

หน่วยบริการข้อมูลทางหลวง
053-714-440

ตำรวจท่องเที่ยว
053-717-779 , 1155

สภ.อ.เชียงราย
053-711-444 , 053-711-588

สภ.อ.ขุนตาล
053-657-031-4

สภ.อ.เชียงของ
053-791-426

สภ.อ.เชียงแสน
053-777-111 , 053-777-191

สภ.กิ่ง อ.ดอยหลวง
053-790-091 , 053-790-094

สภ.อ.เทิง
053-795-403

สภ.อ.ป่าแดด
053-761-012 , 053-761-191

สภ.อ.พญาเม็งราย
053-799-113

สภ.อ.พาน
053-721-515 , 053-721-191

สภ.อ.แม่ขะจาน
053-789-508

สภ.อ.แม่จัน
053-771-444

สภ.อ.แม่ฟ้าหลวง
053-767-109

สภ.อ.แม่ลาว
053-718-138

สภ.อ.แม่สรวย
053-786-004

สภ.อ.แม่สาย
053-731-444

สภ.อ.เวียงแก่น
053-608-081 , 053-608-191

สภ.อ.เวียงชัย
053-769-236-7

สภ.กิ่ง อ.เวียงเชียงรุ้ง
053-953-152-3

สภ.อ.เวียงป่าเป้า
053-781-466

รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์
053-711-300

รพ.เกษมราษฎร์ศรีบุรินทร์ (อ.เมือง)
053-717-499

รพ.ค่างเม็งรายมหาราช (อ.เมือง)
053-717-649-50

รพ.โอเวอร์บรู๊ค (อ.เมือง)
053-711-366 , 053-715-830-3

รพ.ขุนตาล
053-606-221-2

รพ.เชียงของ
053-791-007

รพ.เชียงแสน
053-777-017

รพ.เทิง
053-795-259

รพ.ป่าแดด
053-654-479-80

รพ.พญาเม็งราย
053-799-033

รพ.พาน
053-721-345

รพ.แม่จัน
053-771-300

รพ.แม่ฟ้าหลวง
053-765-402

รพ.แม่ลาว
053-666-035

รพ.แม่สรวย
053-786-017 , 053-786-063

รพ.แม่สาย
053-731-300

รพ.เวียงแก่น
053-608-153

รพ.เวียงเชียงรุ้ง
053-953-137-9

รพ.เวียงป่าเป้า
053-648-815

รพ.สมเด็จพระญาณสังวร (อ.เวียงชัย)
053-768-750-2


โรงแรม เชียงราย ที่พัก เชียงราย

โรงแรม วังทอง แม่สาย (Wang Thong Hotel Maesai) Chiang Rai
เดอะ ริเวอร์เฮ้าส์ รีสอร์ท แอนด์ สปา (The River House Resort & Spa) Chiang Rai-Rimkok
โรงแรม เชียงแสน ริเวอร์ ฮิลล์ (Chiang Saen River Hill Hotel) Chiang Saen
อนันตรา โกลเด้น ไตรแองเจิล (Anantara Golden Triangle) Chiang Saen
ริมกก รีสอร์ท (Rimkok Resort Hotel) Chiangrai-ThatornRoad
อิมพีเรียล โกลเด้น ไตรแองเจิล (Imperial Golden Triangle Resort) Golden Triangle
โกลเด้น ไตรแองเจิล พาราไดซ์ (Golden Triangle Paradise Resort) Golden Triangle
ทีค การ์เด้น สปา รีสอร์ท (Teak Garden Spa Resort) InternationalAirportRoad
เดอะ เลเจ้นด์ บูติค รีสอร์ท แอนด์ สปา (The Legend Boutique Resort & Spa) Kohloy Road
เกาะดุสิต รีสอร์ท (Dusit Island Resort) Kraisorasit Road
ภูใจใส รีสอร์ท แอนด์ สปา (Phu Chaisai Resort & Spa) Mae Chan
สวนทิพย์วนา รีสอร์ท (Suanthip Vana Resort) Mae Suay
โรงแรม เอส บี (S.B. Hotel) Muang
Starbright Hotel Muang
The Mantrini City Hotel & Art Gallery Muang
โกลเด้น ไพน์ รีสอร์ท แอนด์ สปา (Golden Pine Resort & Spa) Muang
โรงแรม ลิตเติ้ลดั๊ก (Little Duck Hotel) Paholyothin Road
Wiang Inn Hotel Paholyothin Road
โรงแรม วังคำ (Wangcome Hotel) Pemawibhata Road
Phowadol Resort & Spa, Chiangrai Rim Kok Sub district
Laluna Hotel & Resort Samambin Road


จังหวัดเชียงราย :: กิจกรรมท่องเที่ยวน่าสนใจ

- ล่องแก่งแม่กก ท่าตอน-เชียงราย

ท่าตอนเป็นหมู่บ้านริมแม่น้ำกก เหนือขึ้นไปจากอำเภอฝาง ๒๔ กิโลเมตร จากเชียงใหม่มีรถประจำทางออกจากประตูช้างเผือกไปลงที่ฝางใช้เวลาประมาณ ๔ ชั่วโมง จากนั้นมีรถสองแถววิ่งประจำระหว่างฝางกับท่าตอน ใช้เวลาประมาณ ๓๐ นาที และจากท่าตอนมีเรือหางยาวบริการถึงเชียงราย ออกจากท่าตอนเวลา ๑๒.๓๐ น. ถึงเชียงราย ๑๖.๓๐ น. และจากเชียงรายเวลา ๑๐.๓๐ น. ถึงท่าตอน ๑๕.๓๐ น. ระยะทาง ๘๐ กิโลเมตร ค่าโดยสารคนละ ๒๐๐ บาท ถ้าหากต้องการเช่าเรือเหมาลำราคา ๑,๖๐๐ บาท นั่งได้ ๘ คน ผู้สนใจสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานชมรมเรือบ้านท่าตอน โทร. ๐ ๕๓๔๕ ๙๔๒๗

นอกจากนี้ยังมีบริการล่องแพตามลำน้ำกกจากท่าตอนไปเชียงรายใช้เวลา ๓ วัน ๒ คืน รายละเอียดติดต่อร้านชาวแพ (ทิพย์แทรเวล) ๒๑๑ หมู่ ๓ ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ โทร. ๐ ๕๓๔๕ ๙๓๑๒ ที่ท่าตอนมีรีสอร์ทและเกสท์เฮ้าส์ ๔-๕ แห่ง หรือจะพักที่ฝาง (๒๒ กิโลเมตรจากท่าตอน)

จุดท่องเที่ยวทางน้ำ (จากท่าตอน จ.เชียงใหม่-ท่าเรือเชียงราย)

- พระธาตุสบฝาง (อำเภอฝาง) บ้านแม่สลัก (เขตแดนเชียงใหม่-เชียงราย) บ้านใหม่ (หมู่บ้านไทยใหญ่) บ้านเมืองงาม (หมู่บ้านกะเหรี่ยง) บ้านผาใต้ (หมู่บ้านมูเซอ) บ้านจะคือ (หมู่บ้านมูเซอ) บ้านผามูบใหม่ (หมู่บ้านมูเซอใหม่) โป่งน้ำร้อนห้วยหมากเลี่ยม บ้านกะเหรี่ยงรวมมิตร (หมู่บ้านกะเหรี่ยงมีบริการนั่งช้าง)

- การท่องเที่ยวชายแดนไทย-ลาว-พม่า

- จุดผ่านแดนจังหวัดเชียงรายมี ๓ จุด คือ

1. ด่านอำเภอเชียงแสน ฝั่งตรงข้ามคือด่านเมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว ห่างจากอำเภอเมืองเชียงราย ๖๐ กิโลเมตร ตั้งอยู่ที่บริเวณท่าเรือหน้าที่ว่าการอำเภอเชียงแสน เป็นจุดเดินทางท่องเที่ยวตามลำน้ำโขงโดยทางเรือไปถึงเชียงรุ้ง สิบสองปันนาจีนตอนใต้

2. ด่านอำเภอเชียงของ ฝั่งตรงข้ามคือด่านเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว ห่างจากอำเภอเมืองเชียงราย ๑๑๔ กิโลเมตร ตั้งอยู่บริเวณท่าเรือบั๊ค เป็นจุดข้ามไปท่องเที่ยวเมืองห้วยทราย และเดินทางตามลำน้ำโขงโดยทางเรือไปถึงหลวงพระบางและเวียงจันทน์ สปป.ลาว แล้วกลับเข้าประเทศไทยที่จังหวัดหนองคาย (เรือเร็วออกเดินทางช่วงเช้า นั่งได้ ๕ คน ๆ ละ ๘๐๐ บาท ใช้เวลา ๕ ชั่วโมง เรือสินค้าออกเดินทางช่วงบ่ายคนละ ๓๐๐ บาท ใช้เวลา ๒ วัน ๑ คืน)

3. ด่านอำเภอแม่สาย ฝั่งตรงข้ามคือด่านท่าขี้เหล็ก สหภาพพม่า ห่างจากอำเภอเมืองเชียงราย ๖๐ กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง ๑ ชั่วโมง ตั้งอยู่เชิงสะพานข้ามแดนไทย-พม่า เป็นตลาดชายแดนไทย-พม่า และเป็นจุดเดินทางท่องเที่ยวไปเชียงตุงได้ โดยทางรถยนต์

- หนังสือเดินทางสำหรับการเดินทางเข้าไปท่องเที่ยวในลาว-พม่า

1. หนังสือเดินทาง (Passport) สำหรับประชาชนทุกสัญชาติที่มีวีซ่า สปป.ลาว-สหภาพพม่า สามารถเดินทางท่องเที่ยวทั่วประเทศทั้งสองได้เป็นเวลา ๑๕ วัน

2. หนังสือผ่านแดนชั่วคราว (Temporary Border Pass) สำหรับประชาชนสัญชาติไทยที่มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทยใช้ผ่านแดนได้เพียงครั้งเดียว รวมทั้งให้บุตรที่อายุไม่เกิน ๑๒ ปี มีชื่อร่วมอยู่ในหนังสือผ่านแดนนี้ได้ด้วย อนุญาตให้พำนักอยู่ในพื้นที่ชายแดน แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว ได้ ๓ วัน และเข้าเมืองท่าขึ้เหล็ก สหภาพพม่าได้ ๗ วัน (เข้าจุดไหนต้องออกจุดนั้นและหากเดินทางออกนอกพื้นที่ชายแดนตามที่ได้ระบุไว้นี้ จะต้องได้รับโทษตามกฎหมายของ สปป.ลาวและสหภาพพม่า)

2.1 เอกสารที่ต้องใช้ สำเนาบัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน หรือบัตรอื่น ๆ ที่ทางราชการออกให้ ถ้าเข้าสปป.ลาว ต้องใช้รูปถ่ายขนาด ๑ นิ้ว จำนวน ๒ รูป และค่าแบบฟอร์ม ๑๕ บาท สำหรับสหภาพพม่าไม่ต้องใช้รูป

2.2 สถานที่ขอหนังสือฯ ขอได้ที่ ที่ว่าการอำเภอเชียงแสน อำเภอเชียงของ และสถานที่ที่จังหวัดกำหนด สำหรับอำเภอแม่สายขอได้ที่ทำการเอกชนที่ได้รับอนุญาตจากอำเภอแม่สายแล้ว หรือติดต่อชมรมบัตรผ่านแดนอำเภอแม่สาย โทร. ๐ ๕๓๖๔ ๒๖๓๖

- การท่องเที่ยวเชิงเกษตร

ยอดดอยกากผี อ.แม่สรวย เส้นทางท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

ศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย หมู่บ้านป่าก๊อ ตำบลรอบวียง อำเภอเมือง บนทางหลวงสายเด่นห้า-ดงมะดะ ห่างจากศาลากลางเชียงราย ๖.๕ กิโลเมตร พื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลเฉลี่ย ๔๑๕ เมตรเป็นสถานีวิจัยพืช ผัก ผลไม้ เมืองหนาว รายละเอียดติดต่อ โทร. ๐ ๕๓๗๑ ๕๒๐๐-๑

สถานีทดลองเกษตรที่สูงวาวี หมู่ที่ ๓ บ้านดอยช้าง อำเภอแม่สรวย ตั้งขึ้นจากความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร กับโครงการพัฒนาที่สูงไทย-เยอรมัน เมื่อ ปี ๒๕๒๘ สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๑,๓๐๐-๑,๗๐๐ เมตร มีสภาพอากาศหนาวเย็นตลอดปี โดยมีอุณหภูมิเฉลี่ย ๑๘-๑๙ องศาเซลเซียส อันเป็นพื้นที่เหมาะสมในการค้นคว้าและทดลองผลิตภัณฑ์พืชที่ปลูกบนที่สูง และต้องการอากาศหนาว เช่น มะคาเดเมีย ชาจีน กาแฟอาราบิก้า ไม้ผล พืชผัก ไม้ดอกเมืองหนาว ฯลฯ ภายในสถานีทดลองประกอบด้วย แปลงพืชผัก ไม้ดอก ไม้ประดับที่ออกดอกสวยงามตลอดทั้งปี นอกจากนี้ยังมีจุดที่น่าสนใจอีกจุดหนึ่งได้แก่ สวนพรรณไม้หอมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ รายละเอียดติดต่อ โทร. ๐ ๕๓๗๑ ๘๐๗๕, ๐ ๕๓๗๑ ๐๔๓๔


จังหวัดเชียงราย :: สถานที่ท่องเที่ยว อำเภอเมือง

- อนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งรายมหาราช
ตั้งอยู่บริเวณทางแยกไปอำเภอแม่จัน พ่อขุนเม็งรายเป็นกษัตริย์องค์ที่ ๒๕ แห่งราชวงศ์ลวะ เป็นโอรสของพญาลาวเม็ง และพระนางเทพคำขยาย หรือพระนางอั้วมิ่งจอมเมือง ประสูติเมื่อวันอาทิตย์ แรม ๙ ค่ำ เดือนอ้าย ปีกุน พุทธศักราช ๑๗๘๒ และเสด็จสวรรคตที่เมืองเชียงใหม่ในปี พ.ศ.๑๘๕๔ พ่อขุนเม็งรายได้สร้างเมืองเชียงรายขึ้นบนดอยทอง จากรากฐานเดิมที่เคยเป็นเมืองมาก่อน เมื่อปี พ.ศ.๑๘๐๕ ทรงเป็นปฐมกษัตริย์ แห่งราชวงศ์เม็งราย และรวบรวมบ้านเล็กเมืองน้อยเข้าเป็นอาณาจักรล้านนาไทยจนเจริญรุ่งเรืองถึงปัจจุบัน

- กู่พระเจ้าเม็งราย
ตั้งอยู่หน้าวัดงำเมือง บนดอยงำเมือง กู่นี้เป็นอนุสาวรีย์สำคัญแห่งหนึ่ง เพราะเป็นที่บรรจุอัฐิของพ่อขุนเม็งรายมหาราช ตามประวัติกล่าวว่าพระเจ้าไชยสงคราม ราชโอรสพระเจ้าเม็งราย เมื่อได้มอบราชสมบัติให้พระเจ้าแสนภูราชโอรส ให้ขึ้นครองนครเชียงใหม่แล้ว พระองค์ได้นำอัฐิพระราชบิดามาประทับอยู่ที่เมืองเชียงราย และได้โปรดเกล้าฯ สร้างกู่บรรจุอัฐิของพระราชบิดาไว้ ณ ดอยงำเมืองแห่งนี้

- วัดพระสิงห์
ถนนท่าหลวง ใกล้ศาลากลางจังหวัด เดิมเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์องค์ที่ประดิษฐานอยู่ ณ วิหารลายคำ วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่ในปัจจุบัน ตามประวัติเล่าว่า เจ้ามหาพรหมพระอนุชาของพระเจ้ากือนา กษัตริย์ผู้ครองนครเชียงใหม่ได้อัญเชิญพระพุทธสิงหิงค์มาจากเมืองกำแพงเพชร พระเจ้ากือนาได้โปรดฯ ให้ประดิษฐานไว้ ณ เมืองเชียงใหม่ ต่อมาพระเจ้ามหาพรหมทูลขอยืมพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานไว้ที่เมืองเชียงรายเพื่อหล่อจำลอง แต่เมื่อสิ้นบุญพระเจ้ากือนา และพระเจ้าแสนเมือง ราชนัดดาของพระองค์ได้เสด็จขึ้นครองเมืองเชียงใหม่ เจ้ามหาพรหมคิดจะชิงราชสมบัติ จึงยกกองทัพจากเชียงรายไปประชิดเมืองเชียงใหม่ แต่เจ้าแสนเมืองก็สามารถป้องกันเมืองได้อีก ทั้งยกทัพตีทัพเจ้ามหาพรหมมาถึงเชียงราย และครั้งนี้เองที่ทรงอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์คืนกลับไปประดิษฐานอยู่ที่วัดพระสิงห์เชียงใหม่สืบมา วัดพระสิงห์แห่งนี้ยังมีรอยพระพุทธบาทจำลองบนแผ่นศิลา สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยพระเจ้าเม็งรายมหาราช นอกจากนั้นบานประตูยังออกแบบโดย คุณถวัลย์ ดัชนี บอกเรื่องราวเกี่ยวกับดิน น้ำ ลม ไฟ แกะสลักโดยฝีมือช่างชาวเชียงราย

- วัดพระแก้ว
ถนนไตรรัตน์ เป็นวัดที่ค้นพบพระแก้วมรกต หรือพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรที่ประดิษฐานอยู่ ณ วัดพระแก้ว กรุงเทพฯ ในปัจจุบัน ตามประวัติเล่าว่าเมื่อปี พ.ศ. ๑๘๙๗ ในสมัยพระเจ้าสามฝั่งแกนเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่นั้น ฟ้าได้ผ่าเจดีย์ร้างองค์หนึ่ง และได้พบพระพุทธรูปลงรักปิดทองอยู่ภายในเจดีย์ ต่อมารักกะเทาะออกจึงได้พบว่าเป็นพระพุทธรูปสีเขียวสร้างด้วยหยก คือพระแก้วมรกตนั่นเอง ปัจจุบันวัดพระแก้วเชียงรายเป็นที่ประดิษฐานพระหยก ซึ่งสร้างขึ้นใหม่ในวโรกาสที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีพระชนมายุ ครบ ๙๐ พรรษา

- วัดพระธาตุดอยทอง
ถนนอาจอำนวย หลังศาลากลางจังหวัด บนดอยจอมทองริมฝั่งแม่น้ำกก ตามตำนานเล่าว่าเป็นพระธาตุเก่าแก่มีมาก่อนที่พ่อขุนเม็งราย จะทรงสร้างเมืองเชียงราย โดยเล่าว่าพระยาเรือนแก้วผู้ครองนครไชยนารายณ์ทรงสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๑๔๘๓ สันนิษฐานว่า เมื่อพ่อขุนเม็งรายทรงพบชัยภูมิที่สร้างเมืองเชียงรายจากดอยจอมทองนั้น คงจะมีการบูรณะองค์พระธาตุใหม่พร้อมๆ กับการสร้างเมืองเชียงราย

- สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ฯ เชียงราย
ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงรายประมาณ ๘ กิโลเมตร บนเส้นทางเชียงราย-แม่จัน เข้าไปทางด้านหลังสถาบันราชภัฏเชียงราย ภายในสวนมีทัศนียภาพสวยงาม บรรยากาศร่มรื่น มีหนองบัวกว้างถึง ๒๒๓ ไร่ เป็นสถานที่น่าพักผ่อนหย่อนใจ เพราะน้ำในหนองบัวใสเย็นและเต็มเปี่ยมตลอดปี บนพื้นที่รอบหนองบัวเป็นที่ตั้งของพลับพลา ศาลาสำหรับนั่งพักผ่อนและมีสวนปาล์ม สวนไผ่อยู่บนที่ลาดเนินเขา

- วนอุทยานน้ำตกขุนกรณ์
อยู่บนเทือกเขาดอยช้าง ตำบลแม่กรณ์ ห่างจากตัวเมืองตามทางหลวงหมายเลข ๑๒๑๑ ประมาณ ๑๘ กิโลเมตร เลี้ยวขวาเข้าไป ๑๑ กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข ๑๒๐๘ หรือไปตามทางหลวงหมายเลข ๑ สายเชียงราย-พะเยา ประมาณ ๑๕ กิโลเมตร จะมีป้ายแยกขวาไปอีก ๑๗ กิโลเมตร ถึงที่ทำการวนอุทยาน แล้วเดินเท้าไปยังตัวน้ำตกอีกประมาณ ๓๐ นาที ระยะทาง ๑,๒๐๐ เมตร น้ำตกขุนกรณ์เป็นน้ำตกสวยที่สูงที่สุดของจังหวัดเชียงราย ชาวบ้านเรียกว่า “น้ำตกตาดหมอก” มีความสูงถึง ๗๐ เมตร สองข้างทางที่เดินเข้าสู่น้ำตกเป็นป่าเขาธรรมชาติร่มรื่น

- หอวัฒนธรรมนิทัศน์
อยู่ที่ศาลากลางหลังเดิม เป็นพิพิธภัณฑ์แสดงโบราณวัตถุ เอกสารข้อมูลสำคัญทางประวัติศาสตร์ เรื่องราวความเป็นมาทั้งด้านวรรณกรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นของจังหวัดเชียงรายและพระราชกรณียกิจสมเด็จย่าที่ดอยตุง เปิดให้เข้าชมทุกวันพุธ-อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา ๐๘.๓๐-๑๕.๓๐ น. ค่าเข้าชม เด็ก นักเรียน นักศึกษา คนละ ๕ บาท ผู้ใหญ่ ๑๐ บาท

- แม่น้ำกก
เป็นแม่น้ำที่ไหลผ่านตัวเมืองเชียงราย มีความยาวรวมทั้งสิ้น ๑๓๐ กิโลเมตร นักท่องเที่ยวสามารถเช่าเรือจากท่าเรือริมแม่น้ำในตัวเมืองเพื่อเที่ยวชมทัศนียภาพของแม่น้ำกก สองฟากฝั่งเป็นป่าเขาที่สวยงามตามธรรมชาติ นอกจากนี้ยังสามารถแวะชมหมู่บ้านชาวเขาเผ่าต่าง ๆ เช่น อีก้อ ลีซอ กะเหรี่ยง หรือจะแวะปางช้างเพื่อนั่งช้างเที่ยวป่ารอบบริเวณนั้นก็ได้ อัตราค่าเช่าเรือ ๔๕๐ บาท สามารถนั่งได้ ๘ คน ใช้เวลาประมาณ ๒ ชั่วโมง ติดต่อเช่าเรือได้ตั้งแต่เวลา ๐๖.๐๐-๑๖.๐๐ น.

- พิพิธภัณฑ์อูบคำ
เลขที่ ๘๑/๑ ถนนหน้าค่าย ตำบลรอบเวียง ติดกับตลาดสดเด่นห้า เป็นศูนย์อนุรักษ์มรดกล้ำค่าของอาณาจักรล้านนาโบราณ ประกอบด้วยเครื่องใช้ในราชสำนักล้านนา เครื่องใช้ในราชสำนักคุ้มเจ้าแพร่ เครื่องใช้ในราชสำนักคุ้มเจ้าเชียงใหม่ ผ้าโบราณอายุ ๑๒๐ ปี เป็นซิ่นไหมคำจากราชสำนักมัณฑเลย์ และที่สำคัญไม่ควรพลาดชมคือ บัลลังก์กษัตริย์เป็นทองอร่าม อายุกว่า ๒๐๐ ปี แสดงถึงความยิ่งใหญ่ในอดีต โดยมีอาจารย์จุลศักดิ์ สุริยไชย เป็นผู้รวบรวม ผู้สนใจสามารถเข้าชมได้ตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๗.๐๐ น. ค่าเช้าชม ชาวไทย ผู้ใหญ่ ๑๐๐ บาท เด็ก ๕๐ บาท ชาวต่างประเทศ ผู้ใหญ่ ๒๐๐ บาท เด็ก ๑๐๐ บาท พิพิธภัณฑ์นี้เป็นความตั้งใจของผู้รวบรวม ที่จะเก็บของมีค่าสมัยล้านนาที่ไม่ได้อยู่ในแผ่นดินไทย ให้กลับมาอยู่ในผืนแผ่นดินไทย และเก็บไว้ให้ลูกหลานได้ศึกษาถึงความเป็นมา และความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรล้านนาในอดีต ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม โทร. ๐ ๕๓๗๑ ๓๓๔๙


:: อุทยานแห่งชาติดอยหลวง ::

:: ข้อมูลทั่วไป ::
อุทยานแห่งชาติดอยหลวง มีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่รอยต่อของ 3 จังหวัด คือ เชียงราย ลำปาง และพะเยา เป็นอุทยานแห่งชาติที่ได้ยกฐานะมาจากวนอุทยานน้ำตกจำปาทอง วนอุทยานน้ำตกผาเกล็ดนาค วนอุทยานน้ำตกปูแกง และวนอุทยานน้ำตกวังแก้ว รวม 4 แห่ง ที่มีพื้นที่ติดต่อเป็นผืนเดียวกัน มีสภาพธรรมชาติ และจุดเด่นเป็นแหล่งท่องเที่ยว ที่มีความสวยงามมากแห่งหนึ่งของภาคเหนือ มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 731,250 ไร่ หรือ 1,170 ตารางกิโลเมตร

กองอุทยานแห่งชาติได้มีหนังสือ ที่ กส 0708/3430 ลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2524 เสนอกรมป่าไม้ เพื่อขอยกฐานะวนอุทยานน้ำตกจำปาทอง วนอุทยานน้ำตกผาเกล็ดนาค อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา และวนอุทยานน้ำตกปูแกง อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกัน และอยู่ในป่าเทือกเขาดอยหลวงด้วยกัน เป็นอุทยานแห่งชาติดอยหลวง โดยได้มีคำสั่งกรมป่าไม้ ที่ 1578/2524 ลงวันที่ 1 ธันวาคม 2524 ให้ นายธวัชชัย เสถียรกาล นักวิชาการป่า 4 ไปทำการสำรวจเบื้องต้นและทำหน้าที่หัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยหลวง ซึ่งอุทยานแห่งชาติดอยหลวงได้มีหนังสือที่ กษ 0713(ดล)/5 ลงวันที่ 2 มิถุนายน 2525 ส่งรายงานการสำรวจ ปรากฏว่าพื้นที่ดังกล่าว มีจุดเด่นทางธรรมชาติที่สวยงามหลายแห่ง มีสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ เหมาะสมที่จะรวมวนอุทยานทั้งหมด จัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ

ต่อมาจังหวัดลำปาง และป่าไม้เขตลำปาง ได้ขอให้กรมป่าไม้จัดบริเวณวนอุทยาน น้ำตกวังแก้ว จังหวัดลำปาง เป็นอุทยานแห่งชาติเพื่อให้สอดคล้องกับมติคณะรัฐ เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2526 ที่กำหนดให้จังหวัดลำปางเป็นจังหวัดส่งเสริมการท่องเที่ยว ผลการสำรวจปรากฏว่า มีพื้นที่เป็นบริเวณติดต่ออยู่ในเทือกเขาดอยหลวง ซึ่งเป็นป่าผืนเดียวกันทั้งหมดและเป็นป่าต้นน้ำลำธารชั้นที่ 1 A ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2528 และเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญของลำห้วยหลายสายซึ่งไหลลงสู่กว้านพะเยา พื้นที่ที่สำรวจมีธรรมชาติและจุดเด่นที่สวยงามมากมาย เหมาะสำหรับการจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ

กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ ได้นำเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติมีมติในการประชุมครั้งที่ 4/2523 เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2528 เห็นชอบในหลักการ ที่จะให้ดำเนินการ ออกพระราชกฤษฎีกา กำหนดพื้นที่ดังกล่าว เป็นอุทยานแห่งชาติดอยหลวงต่อไปได้ ทั้งนี้ให้กันพื้นที่บริเวณที่ราษฎรถือครองออกเสียก่อน โดยให้ยึดถือแนวทางปฏิบัติ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2527 คือ ให้ยึดถือภาพถ่ายทางอากาศปี 2510 เป็นเกณฑ์พิจารณา

กองอุทยานแห่งชาติ จึงได้ติดต่อประสานงาน กับเจ้าหน้าที่ท้องที่ดำเนินการตรวจสอบ เพื่อดำเนินการออกประกาศพระราชกฤษฎีกา กำหนดบริเวณที่ดินป่าแม่ลาวฝั่งขวา ป่าแม่ส้าน และป่าแม่ใจ ในท้องที่ตำบลแม่สรวย ตำบลแม่พริก ตำบลศรีถ้อย ตำบลท่าก๊อ อำเภอแม่สรวย ตำบลธารทอง ตำบลทรายขาว ตำบลสันกลาง ตำบลป่าหุ่ง ตำบลม่วงคำ ตำบลแม่เย็น อำเภอพาน ตำบลสันสลี ตำบลเวียง ตำบลบ้านโป่ง ตำบลป่างิ้ว ตำบลหัวฝาย อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ตำบลป่าแฝก ตำบลเจริญราษฎร์ ตำบลศรีถ้อย ตำบลแม่สุก อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา ป่าขุนวัง แปลงที่สอง ป่าขุนวังแปลงที่สาม ป่าขุนวังแปลงที่หนึ่ง ป่าแม่โป่ง และป่าแม่งาวฝั่งซ้าย ในท้องที่ตำบลทุ่งฮั้ว ตำบลวังเหนือ ตำบลวังใต้ ตำบลร่องเคาะ อำเภอวังเหนือ และตำบลบ้านร้อง อำเภองาว จังหวัดลำปาง และป่าแม่ต้ำ ป่าแม่นาเรือ ในท้องที่ตำบลบ้านใหม่ ตำบลท่าจำปี ตำบลบ้านต้ำ ตำบลบ้านต๋อม ตำบลบ้านสาง ตำบลบ้านตุ่น ตำบลแม่นาเรือ อำเภอพะเยา จังหวัดพะเยา ให้เป็นอุทยานแห่งชาติดอยหลวง ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 107 ตอนที่ 61 ลงวันที่ 16 เมษายน 2533 มีพื้นที่ทั้งหมด 731,250 ไร่ เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 61 ของประเทศ


:: ลักษณะภูมิประเทศ ::
สภาพภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อนทอดตัวยาวตามแนวเหนือ-ใต้ โดยค่อนข้างสูงขึ้นจากทางเหนือลงมาทางใต้ โดยมีจุดสูงสุดคือ ยอดดอยหลวง ซึ่งมีความสูงประมาณ 1,694 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง และสภาพดินเป็นดินลูกรังผสมหินโดยเฉพาะบนยอดเขา ส่วนบริเวณหุบเขาจะมีดินสีดำอุดมไปด้วยแร่ธาตุ และหินมีลักษณะเป็นหินกรวดหรือหินปูนทราย เป็นป่าต้นน้ำของแม่น้ำวังและกว๊านพะเยา


:: ลักษณะภูมิอากาศ ::
ประกอบไปด้วยฤดูกาล 3 ฤดูกาล คือ ฤดูฝน ระหว่างเดือนมิถุนายน-ตุลาคม ฤดูหนาว ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-มกราคม ฤดูร้อน ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม


:: พรรณไม้และสัตว์ป่า ::
ประกอบด้วยป่าชนิดต่างๆ 5 ประเภท ได้แก่ ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง และป่าสนเขา มีพันธุ์ไม้ที่สำคัญ เช่น สัก เสลา อินทนิน มะขามป้อม มะกอกป่า มะม่วงป่า ตะเคียนหิน ตะเคียนทอง ชิงชัน ประดู่ กระบก ยมหิน ยมหอม บุนนาค เต็ง รัง เหียง พลวง ยางนา หว้า ก่อเดือย ก่อแป้น ก่อกำยาน สนสามใบ รวมถึงไผ่ขาว ไผ่บง กล้วยป่า เฟินก้านดำ ขิง ข่า กล้วยไม้ดิน ชายผ้าสีดา กระแตไต่ไม้ เอื้องผึ้ง หวายป่า เท้าสิงห์โต เอื้องหมายนา ค้างคาวดำ ดุสิตา แววมยุรา กระดุมเงิน

สัตว์ป่าประกอบด้วย เลียงผา เก้ง กวางป่า หมูป่า หมี อีเห็น ชะมด บ่าง ชะนี ลิงกัง เสือดาว แมวดำ หมาใน กระต่ายป่า กระรอกบิน ตะกวด เต่าปูลู งูชนิดต่างๆ รวมไปถึงไก่ป่า นกเงือก นกพญาไฟพันธุ์เหนือ นกปีกลายสก็อต นกกางเขนหัวขาวท้ายแดง นกศิวะปีกสีฟ้า และนกย้ายถิ่นหายาก เช่น นกกินปลีหางยาวคอสีดำ และนกอื่นมากมายกว่า 200 ชนิด นอกจากนี้ยังมีแมลงมากมายหลายชนิด เช่น ผีเสื้อกลางวัน ผีเสื้อกลางคืน กว่างห้าเขา ผีเสื้อใบไม้ใหญ่ ผีเสื้อหางติ่งปารีส ผีเสื้อถุงทอง เป็นต้น


:: ที่ตั้งและการเดินทาง ::
อุทยานแห่งชาติดอยหลวง
ต.แม่เย็น อ.พาน จ.เชียงราย อ. พาน จ. เชียงราย 57280
โทรศัพท์ : 0 5360 9042

- รถยนต์
ที่ทำการอุทยานแห่งชาติดอยหลวง อยู่บริเวณน้ำตกปูแกง อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย สามารถเดินทางไปได้ 2 ทาง

- เดินทางจากอำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย มาตามถนนสายเชียงราย-พะเยา ถึงบ้านปูแกงระยะทางประมาณ 56 กิโลเมตร แยกทางด้านขวามือเป็นทางเข้าสู่หมู่บ้านและอุทยานแห่งชาติดอยหลวง ระยะทาง 9.5 กิโลเมตร ก็จะถึงน้ำตกปูแกง

- เดินทางจากอำเภอเมือง จังหวัดพะเยา มาตามถนนสายเชียงราย-พะเยา ถึงบ้านปูแกงระยะทางประมาณ 40 กิโลเมตร แยกทางด้านซ้ายมือเป็นทางเข้าสู่หมู่บ้านและอุทยานแห่งชาติดอยหลวง ระยะทาง 9.5 กิโลเมตร ก็จะถึงน้ำตกปูแกง

:: แหล่งท่องเที่ยว :: ด้านธรรมชาติที่สวยงาม ::
น้ำตกปูแกง เป็นน้ำตกที่มีการทับถมของหินปูนที่ปนมากับน้ำ ทำให้เกิดหินงอกหินย้อย และถ้ำมากมายในบริเวณน้ำตก เป็นน้ำตกที่มีความสวยงามมากแห่งหนึ่ง มีจำนวน 9 ชั้น ตั้งอยู่บริเวณบ้านปูแกง อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย โดยปกติจะมีราษฎรในท้องถิ่นเดินทางไปเที่ยวพักผ่อนอยู่เป็นประจำ การเดินทางไปยังบริเวณน้ำตกมีทางลาดยาง แยกจากถนนสายเชียงราย-พะเยา เข้าไปถึงบริเวณน้ำตกระยะทางประมาณ 8 กิโลเมตร เส้นทางใช้ได้ตลอดทั้งปี


- น้ำตกจำปาทอง เป็นน้ำตกที่พบเห็นในสภาพป่าดิบชื้นทั่วๆ ไป มีลักษณะเป็นน้ำตกสูงชัน น้ำใสสะอาด มีทั้งหมด 7 ชั้น โดยมีชั้นที่ 2 และชั้นที่ 3 เป็นชั้นที่สูงและสวยที่สุด บางชั้นสายน้ำตกลงมามีลักษณะคล้ายงาช้างหรือหัวช้างบ้าง ซึ่งราษฎรในท้องถิ่นก็ตั้งชื่อชั้นของน้ำตกที่เห็นตามลักษณะของน้ำตกที่ปรากฏให้เห็น การเดินทางมีถนนลาดยางแยกจากถนนสายเชียงราย-พะเยา ตรงหลักกิโลเมตรที่ 7 ก่อนจะถึงตัวจังหวัดพะเยาเข้าไปประมาณ 16 กิโลเมตร ก็ถึงบริเวณน้ำตก


- น้ำตกวังแก้ว เป็นน้ำตกที่สวยงามมากของอุทยานแห่งชาติดอยหลวง เป็นน้ำตกที่เกิดจากการทับถมของหินปูนที่ปนมากับน้ำเช่นเดียวกับน้ำตกปูแกง แต่มีความสูงมากกว่า มีชั้นของน้ำตกถึงประมาณ 102 ชั้น น้ำตกนี้มีความสวยงามตลอดทั้งปี


- ถ้ำนางพญาปางดินไฟ เป็นถ้ำที่อยู่บริเวณทางน้ำตกวังแก้ว ซึ่งบริเวณดังกล่าวเป็นถ้ำไม่ลึกมากนัก ผนังถ้ำมีหินงอกและหินย้อยที่เกิดจากหินปูน บริเวณก่อนถึง ถ้ำพญาปางดินไฟนี้มีเนินเขาเตี้ยๆ


- น้ำตกแม่เหยี่ยน เป็นน้ำตกสูงชัน น้ำใสสะอาด ไหลตลอดทั้งปี น้ำตกไหลลงมาเป็นสายคล้ายงาช้าง ลดหลั่นกันมาเป็นชั้นๆ จำนวน 7 ชั้น มีความสูงประมาณ 1,000 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง สภาพป่าเป็นป่าดิบชื้น มีไม้ยางเป็นไม้เด่น


- ดอยหนอก อยู่ในเทือกเขาดอยหลวง มีลักษณะนูนขึ้นมาเป็นรูปรีคล้ายโหนกวัว เป็นภูเขาที่มีหน้าผาสูงชันสามารถมองเห็นได้จากเบื้องล่างทางทิศตะวันออกของกว๊านพะเยา ทิศเหนือถนนพหลโยธินไปจังหวัดเชียงราย การไปเที่ยวดอยหนอกเริ่มต้นจากหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติดอยหลวง ที่ 6 (น้ำตกจำปาทอง) ใช้เวลาเดินเท้าประมาณ 10 ชั่วโมง เพื่อไปชมโบราณสถานที่ครูบาศรีวิชัยเป็นผู้สร้างไว้ ชมพันธุ์ไม้ กล้วยไม้ป่า ที่หายาก นก ผีเสื้อ และแมลงต่างๆ ชมทิวทัศน์บริเวณกว๊านพะเยา และชมดวงอาทิตย์ขึ้นยามเช้าในสภาพอากาศที่หนาวเย็นปกคลุมด้วยม่านหมอก การเข้ามาท่องเที่ยวควรติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อนำทางด้วย



:: สิ่งอำนวยความสะดวก ::
ห้องสุขาชาย มีห้องสุขาชายให้บริการ


ห้องสุขาหญิง มีห้องสุขาหญิงให้บริการ


สถานที่กางเต็นท์/เต็นท์ อุทยานแห่งชาติจัดเตรียมสถานที่กางเต็นท์และเต็นท์ไว้ให้บริการนักท่องเที่ยว การสำรองที่พักเต็นท์สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดและสำรองที่พักเต็นท์ได้กับอุทยานแห่งชาติโดยตรง


สถานที่กางเต็นท์/เต็นท์ มีพื้นที่กางเต็นท์ พร้อมห้องน้ำ-ห้องสุขารวม ไว้ให้บริการ ท่านสามารถนำเต็นท์มากางเอง หรือติดต่อขอใช้บริการเต็นท์ของอุทยานแห่งชาติ ซึ่งมีค่าบริการอยู่หลายอัตราขึ้นอยู่กับชนิด ขนาดของเต็นท์ และอุปกรณ์ประกอบอื่นๆ รายละเอียดเกี่ยวกับที่พักเต็นท์ขอให้ติดต่อสอบถามกับอุทยานแห่งชาติโดยตรง


ที่จอดรถ มีลานจอดรถให้บริการแก่นักท่องเที่ยว


บริการอาหาร มีร้านอาหารไว้บริการนักท่องเที่ยว


ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว มีศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ให้บริการข้อมูลเกี่ยวกับอุทยานแห่งชาติ นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาขอรับบริการข้อมูลได้ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ ระหว่างเวลา 8.00 - 16.30 น.




ภูชี้ฟ้า จังหวัดเชียงราย

- ข้อมูลทั่วไป

ตั้งอยู่ บ้านร่มฟ้าไทย ต.ตับเต่า อ.เทิง เป็นหน้าผาหินที่ยื่นออกไปเหนือทะเลหมอก มีความสวยงามโดดเด่น ปัจจุบันจัดตั้งเป็นวนอุทยานภูชี้ฟ้า การเดินทางสะดวกสบาย เป็นทางลาดยางตลอดเส้นทาง จนถึงลานจอดรถ จากนั้นเดินเท้าอีกไม่เกิน 20 นาทีก็ถึงยอดภูชี้ฟ้า


ขึ้นไปชมทิวทัศน์ เวลา 04.30 - 18.30 น.
ที่ทำการวนอุทยานภูชี้ฟ้า โทร. 053-918-764 (ตู้สาธารณะ)
สอบถามรายละเอียดข้อมูลการเดินทางสู่ภูชี้ฟ้าได้ที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว อ.เทิง ที่ว่าการ อ.เทิง โทร.053-795-345
ทะเลหมอกที่ภูชี้ฟ้ามีทุกวันในช่วงหน้าฝน จนถึงหน้าหนาว แต่ช่วงเวลาที่ดีที่สุดคือ ตั้งแต่เดือน พ.ย.-ก.พ.


- ประวัติความเป็นมา

ภูชี้ฟ้า เป็นส่วนหนึ่งของเทือกดอยผาหม่น ที่เป็นพรมแดนไทย-ลาว ด้าน จ.เชียงราย-พะเยา ลักษณะเป็นหน้าผาหินตั้ง อยู่บนเส้นกั้นพรมแดนพอดี ในอดีต เป็นพื้นที่เคลื่อนไหวของ พคท. ด้วยสภาพภูมิประเทศที่สูงชัน จึงเป็นฐานที่มั่นที่สำคัญ ชาวลาวและชาวไทย ในพื้นที่เรียกผาหินที่ชี้เหยียดตรงขึ้นไปบนฟ้าว่าภูฟ้า เมื่อปัญหาด้านความมั่นคงคลี่คลาย มีการตัดถนนขนานแนวชายแดน ไทย-ลาว จากบ้านผาตั้ง ภูชี้ฟ้า ไปถึง อ.เชียงคำ ภูชี้ฟ้าจึงเริ่มเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยว ตั้งแต่ปี พ.ศ.2534 เป็นต้นมา

อย่างไรก็ตาม บนยอดภูชี้ฟ้า เป็นจุดที่ยื่นจากแนวเขตพรมแดน จึงไม่สามารถระบุชัดได้ว่า อยู่ในเขตไทยหรือลาว แต่ทางขึ้นสู่ยอดภูชี้ฟ้านั้นอยู่ในเขตไทย เคยมีการปักธงชาติไทยบนปลายสุดของหน้าผา แต่ในวันถัดมา ทหารลาวก็จะนำธงลาวมาปักเคียงคู่กันด้วย ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย จึงห้ามนักท่องเที่ยวพักแรมบนภูชี้ฟ้า

- การเดินทาง

ทางรถยนต์ส่วนตัว การเดินทางไปยังภูชี้ฟ้า ได้สองเส้นทาง คือ เส้นทางด้าน อ.เทิง และเส้นทางผ่าน อ.เชียงของ

เส้นทางแรกใกล้และสะดวก สภาพถนนดี รถเก๋งสามารถไปถึงได้ จากสี่แยกแม่กรณ์ตัวเมืองเชียงราย ใช้ทางหลวงหมายเลข 1020 (เชียงราย-เทิง) ระยะทาง 64 กม. ถึง อ.เทิง ใช้ทางหลวงหมายเลข 1021 (เทิง-เชียงคำ) อีก 6 กม. เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 1155 ที่หลัก กม.94 เป็นทางลาดยางแต่ค่อนข้างแคบ คดเคี้ยวไปตามไหล่เขา ผ่านปางคำ บ้านรักถิ่นไทย บ้านรักแผ่นดิน และบ้านแผ่นดินทอง เมื่อถึงหลัก กม.25 จะเป็นทางโค้งขึ้นเขาชัน มีแยกขวามือ เข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 1093 ซึ่งจะเลียบแนวชายแดนไทย-ลาว ไป อ.เชียงคำ จ.พะเยา ผ่านบ้านราษฎร์ภักดี (บ้านเช็งเม้ง) ซึ่งเป็นหมู่บ้านชาวม้ง ระยะทางรวม 11 กม. มีทางแยกซ้ายมือ มีป้ายบอกทางไปยังจุดชมวิวภูชี้ฟ้า ทางช่วงนี้ลาดยางเรียบ แต่สูงชันและคดเคี้ยว ระยะทาง 1.7 กม. ผ่านที่ทำการวนอุทยานภูชี้ฟ้า ไปสิ้นสุดที่ลานจอดรถ

หากมาจาก อ.เชียงของ ใช้ทางหลวงหมายเลข 1020 (เชียงของ-เทิง) ระยะทาง 15 กม. จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 1155 มีป้ายบอกทางไปภูชี้ฟ้า เห็นได้ชัดเจน ระยะทาง 95 กม. ขับรถตามทางหลวงหมายเลข 1155 ผ่าน อ.เวียงแก่น (กม.70) สามแยกบ้านปางหัด ทางแยกขึ้นดอยผาตั้ง (กม.52) เมื่อถึงหลัก กม.42 เป็นถนนลูกรังอัดแน่นไปจนถึงหลัก กม.28 จากนั้นถนนจะไปบรรจบกับทางหลวงหมายเลข 1093 ตรงหลัก กม.27 เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 1093 ไปภูชี้ฟ้า อีก 11 กม. เช่นเดียวกับเส้นทางจาก อ.เทิง

ถ้าไปเที่ยวชมดอยผาตั้ง ก็สามารถเดินทางต่อไปภูชี้ฟ้าได้ แต่ควรใช้รถกระบะ หรือรถขับเคลื่อนสี่ล้อ เพราะถนนค่อนข้างคดเคี้ยวสูงชัน บางช่วงเป็นลูกรักอัด โดยจากดอยผาตั้ง ใช้ทางหลวงหมายเลข 1093 ระยะทางประมาณ 20 กม. ผ่านหมู่บ้านตามแนวชายแดน คือ บ้านร่มฟ้าผาหม่น ร่มฟ้าไทยงาม ร่มฟ้าหลวง ศูนย์ศิลปาชีพบ้านร่มฟ้าทอง สภาพเส้นทางเป็นถนนลาดยาง สลับกับลูกรังอัดเป็นช่วงๆ ไปบรรจบกับทางแยกซ้ายทางหลวงหมายเลข 1093 (ไปบ้านฮวก , อ.เชียงคำ) ซึ่งผ่านทางแยกขึ้นภูชี้ฟ้า

รถประจำทาง นั่งรถบัสสีฟ้าขาว สายเชียงราย-เทิง-เชียงคำ หรือ เชียงราย-เทิง-เชียงของ จากนั้นต่อรถสองแถวสีฟ้าสายเทิง-ปางค่า ท่ารถอยู่หลังตลาด อ.เทิง เข้าทางเข้าวัดพระนาคแก้ว ด้านข้างที่ว่าการอำเภอมีรถตั้งแต่ 06.00 น. เวลาออกไม่แน่นอน ต้องถามคนขับว่า จะไปภูชี้ฟ้าหรือไม่ ค่ารถ 50 บาท หรือเช่ารถสองแถว คิวรถอยู่หลังตลาดเทิง หรือติดต่อที่ปั๊มบางจาก โทร.053-669-100

- สิ่งที่น่าสนใจ

- ผาชี้ฟ้า
เป็นยอดเขาสูงที่สุดในเทือกเขาดอยผาหม่น สูงจากระดับน้ำทะเล 1,628 เมตร ด้านที่ติดสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มีหน้าผาสูงชัน เป็นจุดชมวิวที่สวยที่สุด ในฤดูหนาวจะมีทิวทัศน์สวยงามเป็นพิเศษ นักท่องเที่ยวส่วนมากจะมาค้างแรมบริเวณบ้านร่มฟ้าทองทางห่างจากจุดชมวิวประมาณ 1.5 กิโลเมตร แล้วจะเดินขึ้นภูชี้ฟ้าเพื่อไปชมวิวตอนเช้ามืด ระหว่างทางจะพบแปลงปลูกป่านางพญาเสือ ออกดอกบานสะพรั่งสวยงาม (เดือนมกราคม - กุมภาพันธ์) และในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ต้นเสี้ยวดอกขาวรอบภูชี้ฟ้าจะออกดอกบานเต็มเชิงเขา

- ชมทะเลหมอก
จากภูชี้ฟ้า สามารถมองลงไปเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ในหุบเขา ในเขต ต.เชียงตอง ฝั่งลาว และเทือกเขาสลับซับซ้อน ไกลออกไปลิบๆ คือแม่น้ำโขง ที่ไหลขนานไปกับเทือกดอยผาหม่น ในช่วงเช้าตรู่ หุบเขาเบื้องล่างจะปกคลุมด้วยสายหมอก ทิวทัศน์จะยิ่งงดงาม เมื่อดวงอาทิตย์ขึ้น ภูชี้ฟ้าหันไปทางทิศตะวันออก จึงเป็นจุดชมพระอาทิตย์ที่ได้รับความนิยมมาก นักท่องเที่ยว จะออกจากที่พัก เริ่มเดินเท้าขึ้นไปยังจุดชมวิว ตั้งแต่ก่อนสว่าง


- บ้านพัก-บริการ

ภูชี้ฟ้า ไม่มีบ้านพักหรือค่ายพักแรมบริการแก่นักท่องเที่ยว หากนักท่องเที่ยวมีความประสงค์จะไปพักแรม โปรดนำเต็นท์ไปกางเอง โดยทางวนอุทยานได้จัดสถานที่ไว้ให้พร้อมกับห้องสุขา ส่วนเรื่องอาหารต้องจัดเตรียมไปเอง


ดอยหัวแม่คำ จังหวัดเชียงราย

- ข้อมูลทั่วไป

- ตั้งอยู่ที่ หมู่ 4 ต.แม่สลองใน อ.แม่ฟ้าหลวง ห่างจากบ้านเทอดไทย 35 กม. เป็นหมู่บ้านชาวเขาเผ่าอาข่าและลาหู่ ตั้งอยู่บนสันเขา ตะเข็บชายแดนไทย-พม่า มีทิวทัศน์สวยงาม พื้นที่ส่วนหนึ่งอยู่ในเขตวนอุทยานดอยหัวแม่คำ ช่วงปลายเดือน พ.ย.-ธ.ค. ดอกบัวตองจะบานเต็มดอย


- ช่วงเวลาที่เหมาะสม หน้าหนาว ตั้งแต่เดือน พ.ย.-ม.ค.
กางเต็นท์พักแรมได้ที่วนอุทยานดอยหัวแม่คำ
ติดต่อโครงการเกษตรที่สูงดอยหัวแม่คำ ตู้ ปณ.53 แม่จัน อ.แม่จัน จ.เชียงราย 57110 โทร.053-7652776 , 053-918-101

- บ้านเทอดไทย เป็นชุมชนชาวจีนฮ่อขนาดใหญ่ บนดอยสูงชายแดนไทย-พม่า เป็นศูนย์กลางของ อ.แม่ฟ้าหลวง ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพทำไร่ชา เดิมเป็นฐานที่มั่นของกองกำลังขุนส่า ซึ่งเป็นแหล่งผลิตยาเสพติดที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่ง ต่อมากองทัพไทยเข้าทำการผลักดันออกไปจนสำเร็จ ปัจจุบันบ้านเทอดไทย เป็นศูนย์กลางเช่าเหมารถ ซื้อหาเสบียงจุดสุดท้าย สำหรับไปเที่ยวดอยหัวแม่คำ


- ประวัติความเป็นมา

- เป็นหมู่บ้านชาวเขาที่อยู่ติดชายแดนไทย-พม่า ในอดีตมีปัญหาเรื่องกองกำลังชนกลุ่มน้อย และขบวนการค้ายาเสพติด ภายหลังมีการผลักดันกองกำลังขุนส่าออกไป จึงเริ่มกลับคืนสู่ความสงบ แต่ยังมีปัญหายาเสพติด แต่เนื่องจากมีทิวทัศน์สวยงาม จึงมีการประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวชม โดยเน้นที่ความเป็นทุ่งบัวตองแห่ง จ.เชียงราย

- การเดินทาง

- รถยนต์ส่วนตัว ใช้ถนน รพช. ผ่านบ้านเทอดไทย ไปประมาณ 1 กม. เลยทางแยกเข้า รพ.แม่ฟ้าหลวงไปเล็กน้อย มีทางแยกซ้ายมือไปดอยหัวแม่คำ ระยะทาง 35 กม. ผ่านบ้านสามัคคีพัฒนา บ้านปางมะหัน ช่วง 25 กม. แรก เป็นถนนลาดยาง แต่เป็นหลุมบ่อ และคดเคี้ยวขึ้นดอย จนถึงบ้านปางมะหัน ถนนเป็นลูกรังอัดแน่นอีก 10 กม. เส้นทางสูงชันและลื่นมาก ในหน้าฝน ช่วง 1 กม. สุดท้ายไปยังที่ทำการวนอุทยานดอยหัวแม่คำถนนชัน ต้องใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อ

- รถประจำทาง ใช้บริการรถสองแถวสีฟ้าสายป่าซาง-เทอดไทย ท่ารถอยู่ที่บ้านป่าซาง มีรถตั้งแต่ 08.00-17.00 น. ค่ารถ 50 บาท จากนั้นต้องเช่าเหมารถสองแถวที่ท่ารถตลาดบ้านเทอดไทย (ท่ารถเดียวกัน) มีรถไปเฉพาะหน้าหนาว ค่าเช่าเหมาไปกลับ 1 วันเต็ม 500-600 บาท หากค้างคืนต้องตกลงราคาใหม่

- สิ่งที่น่าสนใจ

- เที่ยวหมู่บ้านชาวเขา ละแวกบ้านหัวแม่คำเป็นหมู่บ้านชาวเขากระจัดกระจายจำนวนสี่เผ่า คือ อาข่า ลีซอ ลาหู่ และม้ง โดยยังคงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณี และเอกลักษณ์ของตนไว้อย่างเหนียวแน่น ระหว่างเดือน ธ.ค.-ม.ค. จะตรงกับการจัดงานปีใหม่ของแต่ละเผ่า ชาวเขาจะแต่งชุดประจำเผ่าที่สวยงาม

- ชมทุ่งบัวตอง และดอกไม้เมืองหนาว ดอยหัวแม่คำสูง 1,850 ม. จากระดับน้ำทะเล เป็นป่าเสื่อมโทรม ปกคลุมด้วยดอกบัวตอง ซึ่งจะบานทั่วขุนเขา ในช่วงปลายเดือน พ.ย.-ธ.ค.

นอกจากนี้ยังมีสถานีปลูกไม้เมืองหนาว มีไม้ตัดดอก เช่น คาเนชั่น แกลดิออรัส กุหลาบ ฯลฯ ให้ชมและเลือกซื้อด้วย

- น้ำตกหัวแม่คำใหญ่ อยู่สุดปลายเส้นทาง ห่างจากบ้านหัวแม่คำไปเล็กน้อย เป็นพื้นที่รับผิดชอบของวนอุทยานดอยหัวแม่คำ เส้นทางช่วงนี้ค่อนข้างชัน ต้องใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อ น้ำตกหัวแม่คำ ต้องเดินเท้าต่อไปอีกประมาณ 200 ม. เป็นน้ำตกขนาดกลาง สายน้ำไหลลดหลั่นลงมาจากหน้าผาสูง ประมาณ 20 ม. น้ำเย็นจัด เป็นแหล่งน้ำสำคัญของชุมชนในละแวกดอยหัวแม่คำ


จังหวัดเชียงราย :: การเดินทาง

- ทางรถยนต์

สามารถเดินทางเป็นวงรอบได้โดยใช้ทางหลวงหมายเลข ๑๑ จากอำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี ผ่านตากฟ้า-วังทอง-พิษณุโลก-อุตรดิตถ์-เด่นชัย-แพร่-ร้องกวาง แยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข ๑๐๓ ไปอำเภองาวแยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข ๑ ผ่านพะเยาไปจังหวัดเชียงราย ระยะทาง ๗๘๕ กิโลเมตร ขากลับใช้เส้นทางเชียงราย-เชียงใหม่ ผ่านอำเภอแม่สรวย-เวียงป่าเป้า-แม่กระจาน-ดอยสะเก็ด ทิวทัศน์สองข้างทางเป็นป่าเขาสวยงาม เมื่อเดินทางมาถึงเชียงใหม่แล้วจะมีทางหลวงหมายเลข ๑๑ ผ่านลำพูนมาลำปาง บรรจบกับทางหลวงหมายเลข ๑ เพื่อเดินทางกลับกรุงเทพฯ ได้

- รถโดยสารประจำทาง

มีรถโดยสารธรรมดาและรถโดยสารปรับอากาศ บ.ข.ส. และบริษัทเอกชน ออกจากสถานีขนส่งสายเหนือ ถนนกำแพงเพชร ๒ ไปเชียงรายทุกวัน สอบถามรายละเอียดที่สถานีขนส่งสายเหนือ โทร. ๐ ๒๙๓๖ ๒๘๕๒-๖๖ www.transport.co.th

- รถไฟ

จากสถานีรถไฟกรุงเทพ มีรถไฟไปลงที่จังหวัดลำปางหรือเชียงใหม่ แล้วเดินทางต่อโดยรถยนต์ ไปจังหวัดเชียงราย สอบถามรายละเอียดได้ที่หน่วยบริการเดินทางสถานีรถไฟกรุงเทพ โทร. ๐ ๒๒๒๐ ๔๓๓๔, ๐ ๒๒๐ ๔๔๔๔ สำรองตั๋วล่วงหน้า ๓ วันขึ้นไป แต่ไม่เกิน ๖๐ วัน หรือ www.railway.co.th

- เครื่องบิน

มีเที่ยวบินตรงเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงรายทุกวัน สอบถามรายละเอียดได้ที่
- แอร์ เอเชีย โทร. ๐ ๒๕๑๕ ๙๙๙๙ www.airasia.com
- โอเรียนท์ ไทย แอร์ไลน์ โทร. ๑๑๒๖, ๐ ๒๒๖๗ ๒๙๙๙ www.onetwo-go.com
- การบินไทย โทร. ๑๕๖๖, ๐ ๒๖๒๘ ๒๐๐๐ www.thaiairways.com
- ท่าอากาศยานเชียงราย โทร. ๐ ๕๓๗๙ ๓๐๔๘

- การเดินทางระหว่างจังหวัดเชียงราย กับจังหวัดใกล้เคียง

จากสถานีขนส่งเชียงราย มีรถโดยสารไปเชียงใหม่ พะเยา แพร่ น่าน ลำปาง แม่สอด พิษณุโลก พัทยา นครราชสีมา นครพนม อุดรธานี และขอนแก่น ติดต่อสถานีขนส่งเชียงราย โทร. ๐ ๕๓๗๑ ๑๒๒๔

- ระยะทางจากอำเภอเมืองไปอำเภอต่างๆ

อำเภอเวียงชัย ๑๒ กิโลเมตร
อำเภอแม่จัน ๒๐ กิโลเมตร
อำเภอพาน ๔๖ กิโลเมตร
อำเภอพญาเม็งราย ๔๘ กิโลเมตร
อำเภอป่าแดด ๕๒ กิโลเมตร
อำเภอแม่สรวย ๕๓ กิโลเมตร
อำเภอแม่ฟ้าหลวง ๕๕ กิโลเมตร
อำเภอเชียงแสน ๖๐ กิโลเมตร
อำเภอแม่สาย ๖๓ กิโลเมตร
อำเภอเทิง ๖๔ กิโลเมตร
อำเภอเวียงป่าเป้า ๙๑ กิโลเมตร
อำเภอเวียงแก่น ๑๒๗ กิโลเมตร
อำเภอเชียงของ ๑๔๑ กิโลเมตร
กิ่งอำเภอเวียงเชียงรุ้ง ๒๔ กิโลเมตร
กิ่งอำเภอดอยหลวง ๕๗ กิโลเมตร


จังหวัดเชียงราย :: ตัวอย่างโปรแกรมท่องเที่ยว

เที่ยวดอยแม่สลอง ดอยตุง สามเหลี่ยมทองคำ (3 วัน 2 คืน ไม่รวมวันเดินทาง)

- วันแรก จากเชียงรายเดินทางขึ้นดอยแม่สลอง แวะชมศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา เที่ยวไร่ชา หมู่บ้านสันติคีรี ไหว้พระบรมธาตุเจดีย์ จะพักค้างคืนบนดอยแม่สลองหรือกลับมาพักแถบ อ.แม่จัน ก็ได้

- วันที่ 2 จาก อ.แม่จัน ไปสามเหลี่ยมทองคำ เข้าชมหอฝิ่น อุทยานสามเหลี่ยมทองคำ ช่วงบ่ายจะล่องเรือเที่ยวแม่น้ำโขง หรือจะเลือกมาเที่ยวที่ อ.เชียงแสน ชมเมืองโบราณ ไหว้พระธาตุจอมกิตติ ช่วงเย็นไปนมัสการหลวงพ่อผาเงา และชมทิวทัศน์แม่น้ำโขงจากบริเวณพระบรมธาตุนิมิตรเจดีย์ หาอาหารเย็นกินริมโขง แล้วกลับมาพักแถบ อ.แม่จัน

- วันที่ 3 เช้าตรู่รีบขึ้นไปนมัสการพระธาตุดอยตุง เที่ยวพระตำหนักดอยตุง แล้วค่อยแวะชม แวะซื้อสินค้าชาวเขา เดินทางกลับเข้าตัวเมืองเชียงราย

ล่องแม่น้ำกก แก่งผาได เที่ยวภูชี้ฟ้า (3 วัน 2 คืน ไม่รวมวันเดินทาง)

- วันแรก สักการะอนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งราย แล้วไปท่าเรือ สะพานแม่ฟ้าหลวง ลงเรือล่องแม่น้ำกก ไปเที่ยวบ่อน้ำร้อนห้วยหมากเลี่ยม บ้านกะเหรี่ยงรวมมิตร ขี่ช้างไปเที่ยวน้ำตก

- วันที่ 2 จากเมืองเชียงรายไป อ.เชียงของ นั่งเรือข้ามฟากไปเที่ยวเมืองห้วยทราย กลับมาเลาะริมโขง ไป อ.เวียงแก่น เที่ยวแก่งผาได จากนั้นมุ่งหน้ามานอนกางเต็นท์ที่ภูชี้ฟ้า

- วันที่ 3 ตื่นมาชมทะเลหมอกตระการตา แวะเที่ยวศูนย์ส่งเสริมการเกษตรที่สูงดอยผาหม่น ก่อนกลับตัวเมืองเชียงราย


จังหวัดเชียงราย :: สถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ

อำเภอแม่จัน

- ลานทองวิลเลจ
ตั้งอยู่กิโลเมตรที่ ๑๒ บนทางหลวงหมายเลข ๑๐๘๙ สายแม่จัน-ท่าตอน ห่างจากตัวเมืองเชียงราย ๓๖ กิโลเมตร มีเนื้อที่กว่า ๔๐๐ ไร่ จัดเป็นหมู่บ้านวัฒนธรรม เพื่อแสดงถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนบริเวณลุ่มแม่น้ำโขง ท่ามกลางบรรยากาศที่เป็นหุบเขา และลำห้วยขุนน้ำแม่จัน มีอุทยานไม้ดอกไม้ประดับนานาพันธุ์ ห้อมล้อมด้วยไร่ชา และสวนดอกท้อ มีกิจกรรมที่น่าสนใจ ได้แก่ ขี่ช้าง นั่งเกวียน มีการแสดงของช้าง การสาธิตต่าง ๆ เช่น การทำเครื่องเงิน เครื่องจักสาน การทำกระดาษสา การปั่นฝ้ายทอผ้า งานเย็บปักถักร้อยของชาวเขาเผ่าต่าง ๆ และสาธิตวิธีชงชาตามแบบฉบับของยูนนาน มีการแสดงศิลปวัฒนธรรมจากประเทศไทย ลาว จีน(ตอนใต้) พม่า เวียดนาม และกัมพูชา ระหว่างเวลา ๑๒.๐๐-๑๓.๐๐ น. ค่าเข้าชม ชาวไทย/ ชาวต่างประเทศ ๑๘๐ บาท (รวมอาหาร) และยังมีฆ้องชัยที่ใหญ่ที่สุดในโลก ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางถึง ๕ เมตร ให้ชมอีกด้วย เปิดทุกวัน เวลา ๐๘.๐๐-๑๘.๐๐ น. สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. ๐ ๕๓๗๗ ๒๑๒๗, ๐ ๕๓๗๗ ๒๑๓๕ กรุงเทพฯ ๐ ๒๒๗๒ ๒๕๒๑-๗

อำเภอแม่ฟ้าหลวง

- ดอยแม่สลอง
เป็นที่ตั้งของหมู่บ้านสันติคิรี เดิมชื่อบ้านแม่สลองนอก เป็นชุมชนผู้อพยพจากกองพล ๙๓ ซึ่งอพยพจากประเทศพม่าเข้ามาในเขตไทย จำนวนสองกองพันคือ กองพันที่ ๓ เข้ามาอยู่ที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ และกองพันที่ ๕ อยู่ที่บ้านแม่สลองนอก ตั้งแต่ปี ๒๕๐๔ ในช่วงเดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์ ดอกนางพญาเสือโคร่ง ซึ่งเป็นซากุระพันธุ์ที่เล็กที่สุด สีชมพูอมขาว จะบานสะพรั่งตลอดแนวทางขึ้นดอยแม่สลอง เป็นพันธุ์ไม้ที่หาชมได้ยากในเมืองไทย เพราะจะเจริญเติบโตอยู่แต่เฉพาะในภูมิอากาศหนาวจัดเท่านั้น การเดินทาง ใช้เส้นทางเชียงราย-แม่จัน เลยจากอำเภอแม่จันไป ๑ กิโลเมตร จะมีทางแยกซ้ายไป ๑๒ กิโลเมตร ถึงศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาเลยจากศูนย์ฯ ไป ๑๑ กิโลเมตร เป็นหมู่บ้านผาเดื่อ ซึ่งเป็นจุดแวะชมและซื้อหัตถกรรมชาวเขา จากนั้นเดินทางจากบ้านเย้าถึงบ้านอีก้อสามแยก ทางขวาไปหมู่บ้านเทอดไทย ส่วนแยกซ้ายไปดอยแม่สลอง ระยะทาง ๑๘ กิโลเมตร รวมระยะทางจากเชียงราย ๔๒ กิโลเมตร เป็นทางลาดยางตลอดสาย และจากดอยแม่สลองมีถนนเชื่อมต่อไปถึงบ้านท่าตอน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ระยะทาง ๔๕ กิโลเมตร ในกรณีไม่ได้ขับรถมาเอง ให้ขึ้นรถประจำทางจากตัวเมืองเชียงราย ไปต่อรถสองแถวที่ปากทางขึ้นดอยแม่สลอง

- บ้านเทอดไทย
เดิมเรียกว่า “บ้านหินแตก” อยู่ห่างจากเชียงราย ๖๖ กิโลเมตร ในปี พ.ศ. ๒๕๑๑ ขุนส่าเคยเข้ามาใช้เป็นฐานที่มั่นในฐานะผู้นำกองทัพกู้ชาติไต “ขุน” เป็นคำที่ประชาชนในรัฐฉานเรียกบุคคลที่ให้ความเคารพนับถือ แต่ชาวโลกรู้จักขุนส่าดีในชื่อ “ราชาเฮโรอีน” ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๑๙-๒๕๒๕ ขุนส่าได้ใช้บ้านหินแตกเป็นฐานที่มั่นอย่างถาวร และกระทำการผิดกฎหมาย จนทางรัฐบาลไทยต้องใช้กำลังผลักดันให้ออกไปจากประเทศไทย คงทิ้งไว้แต่อดีตที่เหลืออยู่ เช่น บ้านพักที่ขุนส่าใช้เป็นศูนย์บัญชาการ นอกจากนี้บ้านเทอดไทยยังเป็นที่อยู่ของชุมชนชาวเขาหลายเผ่า ซึ่งสามารถพบเห็นได้ในตลาดยามเช้า

- ดอยหัวแม่คำ
จากเชียงรายใช้เส้นทางเดียวกับทางขึ้นดอยแม่สลอง แต่เมื่อเดินทางถึงหมู่บ้านอีก้อสามแยกแล้ว แยกเข้าเส้นทางที่ไปบ้านเทอดไทยจากนั้นจะพบทางแยกอีกครั้ง ให้เลี้ยวซ้ายเข้าบ้านห้วยอิ้น ระหว่างทางจะผ่านหมู่บ้านชาวเขาซึ่งตั้งอยู่เป็นระยะ บ้านหัวแม่คำอยู่เกือบสุดชายแดนพม่า เส้นทางเป็นทางลูกรังคดโค้งไปตามทิวเขา ใช้เวลาเดินทางราว ๓-๔ ชั่วโมง ดอยหัวแม่คำเป็นที่ตั้งหมู่บ้านชาวเขาขนาดใหญ่ ประกอบด้วยเผ่าลีซอ เป็นกลุ่มชนส่วนใหญ่ นอกจากนี้ยังมีอีก้อ ม้งและมูเซอ ในช่วงเวลาซึ่งตรงกับตรุษจีนของทุกปี ชาวลีซอจะจัดงานประเพณีกินวอ ซึ่งเปรียบเสมือนวันขึ้นปีใหม่ ในวันนั้นชาวลีซอจะแต่งกายสวยงาม มีการกินเลี้ยง เต้นระบำ ๗ วัน ๗ คืน และในเดือนพฤศจิกายน เป็นช่วงที่ดอยหัวแม่คำงดงามไปด้วยดอกบัวตองสีเหลืองสดใสสะพรั่งอยู่ทั่วไปตามแนวเขา

- พระตำหนักดอยตุง
อยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงราย ๖๐ กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข ๑๑๐ ไป ๔๕ กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวง ๑๑๔๙ ไปประมาณ ๑๕ กิโลเมตร เคยเป็นที่ประทับแปรพระราชฐานเพื่อทรงงานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีรูปทรงผสมผสานระหว่างศิลปะล้านนากับชาเลย์ของสวิส มีการแกะสลักไม้ตามกาแล เชิงชายและขอบหน้าต่างเป็นลวดลายต่าง ๆ โดยฝีมือช่างชาวเหนือ เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา ๐๗.๐๐-๑๘.๐๐ น. ค่าเข้าชมพระตำหนัก ๗๐ บาท มีเจ้าหน้าที่นำชมอธิบายความเป็นมาของพระตำหนัก พระตำหนักดอยตุงปิดในฤดูฝนคือ เดือนกรกฎาคม-กันยายนของทุกปี สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. ๐ ๕๓๗๖ ๗๐๑๕-๗

- สวนแม่ฟ้าหลวง
อยู่ด้านหน้าพระตำหนักดอยตุง มีเนื้อที่ประมาณ ๑๐ ไร่ เป็นสวนไม้ดอกไม้ประดับนานาพรรณ มีดอกไม้เมืองหนาว อาทิ ดอกซัลเวีย พิทูเนีย บีโกเนีย กุหลาบ ดอกลำโพง ไม้มงคลต่าง ๆ นอกจากนั้นยังมีไม้ยืนต้นและซุ้มไม้เลี้อยอีกมากกว่า ๗๐ ชนิด และยังมีรูปปั้นต่อเนื่อง ฝีมือปั้นของคุณมีเซียม ยิปอินซอย มีศาลาชมวิวและร้านจำหน่ายสินค้าของที่ระลึก โดยมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง สวนแม่ฟ้าหลวงสร้างโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เพื่อถวายสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา ๐๗.๐๐-๑๘.๐๐ น. ค่าเข้าชม ๘๐ บาท

- หอพระราชประวัติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
เป็นอาคารแสดงถึงพระราชประวัติสมเด็จพระศรีนครินทรทราบรมราชชนนี แบ่งเป็นห้องจัดแสดงนิทรรศการ ทั้งหมด ๘ ห้อง เปิดให้ผู้สนใจและนักท่องเที่ยวเข้าชมได้ทุกวัน เวลา ๐๗.๐๐ - ๑๘.๐๐ น.ค่าเข้าชม ๓๐ บาท

หมายเหตุ: นักท่องเที่ยวที่ต้องการเข้าชมทั้ง พระตำหนักดอยตุง สวนแม่ฟ้าหลวง และหอพระราชประวัติฯ จำหน่ายตั๋วรวมราคา ๑๕๐ บาท

- สถูปดอยช้างมูบ
บนดอยช้างมูบ ริมถนนสายพระธาตุดอยตุง บ้านผาหมี ห่างจากทางแยกวัดน้อยดอยตุงประมาณ ๔ กิโลเมตร เป็นจุดชมวิวที่สูงที่สุดของดอยตุง มีพระสถูปช้างมูบ เป็นเจดีย์ขนาดเล็ก ตั้งอยู่บนก้อนหินขนาดใหญ่ มีลักษณะเหมือนช้างหมอบอยู่ สภาพโดยรอบเป็นต้นโพธิ์ใหญ่ และต้นสนซึ่งใช้ปลูกเพื่ออนุรักษ์ดินและต้นน้ำ

- พระธาตุดอยตุง
ตั้งอยู่บริเวณ กม. ที่ ๑๗.๕ บนทางหลวงหมายเลข ๑๑๔๙ เป็นที่บรรจุพระรากขวัญเบื้องซ้าย (กระดูกไหปลาร้า) ของพระพุทธเจ้า นำมาจากมัธยมประเทศ นับเป็นครั้งแรกที่พระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ ได้มาประดิษฐานที่ล้านนาไทย เมื่อก่อสร้างพระสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุนี้ ได้ทำธงตะขาบ (ภาษาพื้นเมืองเรียกว่า ตุง) ใหญ่ยาวถึงพันวา ปักไว้บนยอดดอย ถ้าหากปลายธงปลิวไปไกลถึงเมืองไหน ก็จะกำหนดเป็นฐานพระสถูป เหตุนี้ดอยซึ่งเป็นที่ประดิษฐานปฐมเจดีย์แห่งล้านนาไทย จึงปรากฏนามว่า ดอยตุง พระธาตุดอยตุงเป็นปูชนียสถานที่สำคัญ เมื่อถึงเทศกาลนมัสการพระธาตุดอยตุงจะมีพุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทยและเพื่อนบ้านจากประเทศใกล้เคียง เช่น ชาวเชียงตุงในรัฐฉาน สหภาพพม่า ชาวหลวงพระบาง เวียงจันทน์ เดินทางเข้ามานมัสการทุกปี



อำเภอแม่สาย

- อำเภอแม่สาย
อยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงราย ๖๑ กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข ๑๑๐ เป็นอำเภอเหนือสุดของประเทศไทย ติดกับจังหวัดท่าขี้เหล็กของพม่า โดยมีแม่น้ำแม่สายเป็นพรมแดน มีสะพานเชื่อมเมืองทั้งสองเข้าด้วยกัน ทั้งชาวไทยและชาวพม่าเดินทางไปมาหาสู่ค้าขายกันได้โดยเสรี นักท่องเที่ยวชาวไทยนิยมเดินทางไปยังท่าขี้เหล็กของพม่า เพื่อซื้อสินค้าพื้นเมืองและสินค้าราคาถูก เช่น ตะกร้า เครื่องทองเหลือง สบู่พม่า สมุนไพร การข้ามไปท่าขี้เหล็ก นักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางเข้าเขตประเทศพม่าได้ทุกวัน ระหว่างเวลา ๐๖.๓๐-๑๘.๓๐ น. โดยใช้บัตรประชาชน หรือบัตรอื่น ๆ ที่ทางราชการออกให้ ค่าบริการคนละ ๑๕ บาท สำหรับชาวต่างประเทศ ๕ เหรียญสหรัฐ โดยนำหนังสือเดินทางไปติดต่อกับด่านตรวจคนเข้าเมืองแม่สาย

- พระธาตุดอยเวา
หมู่ที่ ๑ ตำบลแม่สาย บนดอยริมฝั่งแม่น้ำแม่สาย ตามประวัติกล่าวว่า พระองค์เวาหรือเว้าผู้ครองนครนาคพันธ์โยนก เป็นผู้สร้างเพื่อบรรจุพระเกศาธาตุองค์หนึ่งเมื่อ พ.ศ. ๓๖๔ นับเป็นพระบรมธาตุที่เก่าแก่องค์หนึ่ง รองมาจากพระบรมธาตุดอยตุง

- ถ้ำผาจม
หมู่ที่ ๑ ตำบลแม่สาย อยู่ห่างจากอำเภอแม่สายไปทางทิศเหนือประมาณ ๑.๕ กิโลเมตร ถ้ำผาจมตั้งอยู่บนดอยอีกลูกหนึ่ง ทางทิศตะวันตกของดอยเวา ติดกับแม่น้ำสาย เคยเป็นสถานที่ซึ่งพระภิกษุสงฆ์นั่งบำเพ็ญเพียรภาวนา เช่น พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ปัจจุบันมีรูปปั้นของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ประดิษฐานไว้บนดอยด้วย ภายในถ้ำผาจมมีหินงอกหินย้อยอยู่ตามผนังและเพดานถ้ำ สวยงามวิจิตรตระการตา

- ถ้ำปุ่ม ถ้ำปลา ถ้ำเสาหินพญานาค
ตั้งอยู่ที่ดอยจ้อง หมู่ ๑๑ ตำบลโป่งผา อำเภอแม่สาย ห่างจากอำเภอแม่สายไปทางทิศใต้ตามทางหลวงหมายเลข ๑๑๐ ประมาณ ๑๒ กิโลเมตร มีทางแยกเข้าไปอีกประมาณ ๒ กิโลเมตร ดอยจ้องเป็นภูเขาหินปูน จึงประกอบด้วย ถ้ำหินงอก หินย้อย และทางน้ำไหลมากมาย

- ถ้ำปุ่ม
อยู่สูงขึ้นไปบนยอดเขา ต้องปืนขึ้นไป ภายในถ้ำมืดมาก ต้องมีผู้นำทางเที่ยวชม

- ถ้ำปลา
เป็นถ้ำหนึ่งที่มีน้ำไหลภายในถ้ำ เคยมีปลาชนิดต่าง ๆ ทั้งใหญ่น้อยว่ายออกมาให้เห็นเป็นประจำ ภายในถ้ำยังมีพระพุทธรูปศิลปะพม่า สร้างขึ้นโดยพระภิกษุชาวพม่า ประชาชนทั่วไปเรียกว่า “พระทรงเครื่อง” เป็นที่เลื่อมใสของประชาชนในแถบนี้

- ถ้ำเสาหินพญานาค
อยู่ในบริเวณเดียวกัน เดิมต้องพายเรือข้ามน้ำเข้าไปชม ภายหลังได้สร้างทางเดินเชื่อมกับถ้ำปลา ระยะทาง ๑๕๐ เมตร ภายในถ้ำมีหินงอก หินย้อย และยังเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมด้วย

อำเภอเชียงแสน

- อำเภอเชียงแสน
เป็นอำเภอเล็ก ๆ ริมฝั่งแม่น้ำโขง ห่างจากตัวเมืองเชียงรายประมาณ ๕๙ กิโลเมตร โดยแยกจากทางหลวงหมายเลข ๑๑๐ ที่อำเภอแม่จัน ไปตามทางหลวงหมายเลข ๑๐๑๖ ประมาณ ๓๑ กิโลเมตร เชียงแสนเป็นเมืองเก่าแก่มากแห่งหนึ่งในภาคเหนือ เดิมชื่อ “เวียงหิรัญนครเงินยาง” แม้ปัจจุบันยังมีซากกำแพงเมืองโบราณ ๒ ชั้น และโบราณสถานหลายแห่งปรากฏอยู่ทั้งในและนอกตัวเมือง

- พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงแสน
เป็นแหล่งรวบรวมโบราณวัตถุ ที่ได้จากบริเวณเมืองโบราณเชียงแสนและพื้นที่ใกล้เคียง เช่น ลวดลายปูนปั้นฝีมือล้านนา พระพุทธรูปและศิลาจารึกจากเชียงแสนและจากจังหวัดพะเยา พร้อมทั้งให้ข้อมูลทางด้านวิชาการเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี การตั้งถิ่นฐานของชุมชน และประวัติการสร้างเมืองเชียงแสน นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงศิลปะพื้นบ้านของชาวไทยใหญ่ ไทยลื้อและชาวเขาเผ่าต่าง ๆ เช่น เครื่องเขิน เครื่องดนตรี เครื่องประดับ เป็นต้น เปิดวันพุธ-อาทิตย์ ยกเว้นวันจันทร์ อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ระหว่างเวลา ๐๙.๐๐-๑๖.๐๐ น. ค่าเข้าชมชาวไทย ๑๐ บาท ชาวต่างประเทศ ๓๐ บาท

- วัดพระธาตุเจดีย์หลวง
ตั้งอยู่ติดกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงแสน สร้างโดยพระเจ้าแสนภูเมื่อประมาณกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๙ โบราณสถานประกอบด้วยเจดีย์ประธานทรงระฆังแบบล้านนา เป็นเจดีย์ใหญ่ที่สุดในเชียงแสน นอกจากนี้ยังมีพระวิหารที่เก่ามากซึ่งพังทลายเกือบหมดแล้ว และเจดีย์รายแบบต่างๆ ๔ องค์

- วัดพระเจ้าล้านทอง
วัดนี้ตั้งอยู่ในเขตกำแพงเมือง เจ้าทองงั่ว ราชโอรสพระเจ้าติโลกราชเป็นผู้สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๐๓๒ ได้ทรงหล่อพระพุทธรูปองค์หนึ่งหนักล้านทอง (๑,๒๐๐ กิโลกรัม) ขนานนามว่า พระเจ้าล้านทอง เป็นพระประธาน ในวัดนี้ยังมีพระพุทธรูปอีกองค์หนึ่งได้มาจากวัดทองทิพย์ซึ่งเป็นวัดร้าง เรียกกันว่า พระเจ้าทองทิพย์ เป็นพระพุทธรูปทองเหลือง พระพักตร์งดงามมาก ลักษณะเป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย

- วัดป่าสัก
อยู่ห่างจากอำเภอเชียงแสนประมาณ ๑ กิโลเมตร เขตตำบลเวียง พระเจ้าแสนภูทรงสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๘๓๘ และให้ปลูกต้นสักล้อมกำแพงจำนวน ๓๐๐ ต้น จึงได้ชื่อว่า “วัดป่าสัก” ทรงตั้งพระพุทธโฆษาจารย์เป็นสังฆราชจำพรรษา ณ อารามแห่งนี้ ภายในวัดมีโบราณสถานที่สำคัญคือ เจดีย์ประธานทรงมณฑปยอดระฆัง ตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้นอันวิจิตร เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ กระดูกตาตุ่มข้างขวาจากเมืองปาฏลีบุตร

- วัดพระธาตุผาเงา
อยู่ห่างจากอำเภอเชียงแสนไปตามเส้นทางเชียงแสน-เชียงของ ประมาณ ๔ กิโลเมตร อยู่ตรงข้ามโรงเรียนสบคำ เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม มีเจดีย์ทรงระฆังขนาดเล็กตั้งอยู่บนหินก้อนใหญ่ วิหารปัจจุบันสร้างทับซากวิหารเดิม บนยอดเขาข้างหลังวัดเป็นที่ตั้งของพระบรมพุทธนิมิตเจดีย์ เป็นจุดที่มองเห็นทิวทัศน์สวยงามได้โดยรอบ

- วัดเจดีย์เจ็ดยอด
อยู่เหนือวัดพระธาตุผาเงาขึ้นไปบนดอยประมาณ ๑ กิโลเมตร ตัววัดหักพังหมดแล้ว เหลือแต่เพียงซากอิฐเก่าๆ แทบไม่เห็นรูปร่างเดิม อาจกล่าวได้ว่า วัดพระธาตุผาเงาและวัดเจดีย์เจ็ดยอดอยู่บนเขาลูกเดียวกัน มีบริเวณต่อเนื่องกันอย่างกว้างขวาง บริเวณร่มรื่นด้วยไม้ใหญ่ สมกับเป็นสถานปฏิบัติธรรม

- วัดพระธาตุจอมกิตติ
ตั้งอยู่บนถนนเลียบแม่น้ำเชียงแสน-เชียงของ ตามพงศาวดารกล่าวว่า พระเจ้าพังคราช โปรดเกล้าฯ ให้สร้าง เมื่อ พ.ศ. ๑๔๘๓ สมัยเดียวกับการสร้างพระธาตุจอมทอง เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองสมัยเชียงแสน ต่อมาพระเจ้าสุวรรณคำล้านได้บูรณะและปฏิสังขรณ์องค์พระธาตุใหม่

- วัดสังฆาแก้วดอนหัน
อยู่ถนนเลียบแม่น้ำเชียงแสน-เชียงของ ใกล้วัดพระธาตุจอมกิตติ มีประวัติตามตำนานว่า สร้างโดยพระเจ้าลวจักราช เมื่อต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๒ แต่หลักฐานที่พบแสดงว่ามีอายุอยู่ในช่วงไม่เกินพุทธศตวรรษที่ ๒๑ กรมศิลปากรได้ขุดพบหลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญมากมาย โดยเฉพาะภาพขูดขีดบนแผ่นอิฐเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับทศชาติตอนเวสสันดรชาดก เช่น พระเวสสันดรเดินป่า ชูชกเฝ้าพระเวสสันดร เป็นต้น ลักษณะของภาพเป็นการเขียนลงบนอิฐก่อนการเผา ที่น่าสนใจคือ อิฐดังกล่าวถูกนำมาก่อเป็นผนังและฉาบปูนปิดทับ คงเนื่องจากความศรัทธาของชาวบ้าน ผู้สร้างวัดถวายมากกว่าเจาะจงให้คนมาชม นอกจากนี้ยังพบชิ้นส่วนจิตรกรรมฝาผนังที่หลุดพังมาจากผนังวิหาร มีสภาพแตกหักแต่ยังคงเหลือลักษณะของสีและตัวภาพซึ่งใช้สีชาดและสีแดงเพียง ๒ สี นับได้ว่าเป็นการค้นพบที่สำคัญทางวิชาการอย่างยิ่ง


- ทะเลสาบเชียงแสน หรือหนองบงคาย
อยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงแสนตามทางหลวงหมายเลข ๑๐๑๖ สายเชียงแสน-แม่จัน ประมาณ ๕ กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายที่ กม.๒๗ เข้าไปอีก ๒ กิโลเมตร ในฤดูหนาวจะมีฝูงนกน้ำอพยพมาอาศัยที่ทะเลสาบแห่งนี้ และยังมีทิวทัศน์สวยงามมากเวลาพระอาทิตย์ตก

- สบรวก หรือ ดินแดนแห่งสามเหลี่ยมทองคำ
อยู่ห่างจากเชียงแสนไปทางทิศเหนือ ๙ กิโลเมตร ตามถนนเลียบริมแม่น้ำโขง สบรวกเป็นบริเวณที่แม่น้ำโขงซึ่งกั้นดินแดนระหว่างประเทศไทยและประเทศลาว มาพบกับแม่น้ำรวกซึ่งกั้นดินแดนระหว่างประเทศไทยและประเทศพม่า จากจุดนี้นักท่องเที่ยวจะมองเห็นดินแดนที่เรียกกันว่า สามเหลี่ยมทองคำ ซึ่งเชื่อมดินแดน ๓ ประเทศ คือไทย ลาว พม่า เข้าด้วยกัน ที่สบรวกมีบริการเรือให้เช่าเพื่อเดินทางไปชมทิวทัศน์บริเวณสามเหลี่ยมทองคำ ใช้เวลาเดินทาง ๒๐ นาที และยังสามารถเช่าเรือจากสบรวกไปยังเชียงแสนและเชียงของได้ ใช้เวลาในการเดินทาง ประมาณ ๔๐ นาที และ ๑ ชั่วโมงครึ่งตามลำดับ

- อุทยานสามเหลี่ยมทองคำและหอพิพิธนิทัศน์
เป็นสถานที่จัดแสดงถึงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของฝิ่นในสามเหลี่ยมทองคำ ต้นกำเนิดของฝิ่น สงครามฝิ่น ผู้นำฝิ่นเข้ามาในเอเชีย ผลกระทบของฝิ่น การยุติการดำรงชีวิตที่ต้องพึ่งพิงกับการปลูกฝิ่นและเสพฝิ่น การฟื้นฟูสภาพชีวิตของประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณใจกลางของสามเหลี่ยมทองคำของประเทศไทย เป็นการแสดงนิทรรศการพร้อมสัมผัสกับเรื่องราวต่างๆของฝิ่นแบบคล้ายจริง ใช้เวลาชมเรื่องราวต่าง ๆ ในหอพิพิธนิทัศน์ประมาณ ๒-๓ ชั่วโมง เปิดวันพฤหัสบดี-วันอาทิตย์ เวลา ๑๐.๐๐-๑๕.๓๐ น. ค่าเข้าชม ชาวไทย ๒๐๐ บาท ชาวต่างชาติ ๓๐๐ บาท เด็กอายุ ๑๒-๑๘ ปี ๕๐ บาท ผู้สูงอายุ ๖๐ ปีขึ้นไป ๕๐ บาท รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ โทร. ๐ ๕๓๖๕ ๒๑๕๑, ๐ ๕๓๗๖ ๗๐๑๕-๗ ต่อ ๒๓๐-๑ หรือ www.goldentrianglepark.com

- พระธาตุดอยปูเข้า
ตามเส้นทางเชียงแสน-สบรวก แยกซ้ายก่อนถึงสามเหลี่ยมทองคำเล็กน้อย รถยนต์สามารถขึ้นไปถึงยอดเขา หรือจะเดินขึ้นบันไดก็ได้ พระธาตุดอยปูเข้านี้ สร้างขึ้นบนดอยเชียงเมี่ยง ริมปากน้ำรวก เมื่อ พ.ศ. ๑๓๐๒ ในสมัยพระยาลาวเก้าแก้วมาเมือง กษัตริย์องค์ที่ ๒ แห่งเวียงหิรัญนครเงินยาง โบราณสถานประกอบด้วยพระวิหาร และกลุ่มเจดีย์ที่พังทลาย ก่อด้วยอิฐมีร่องรอยการตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้น นอกจากนี้บนดอยเชียงเมี่ยงยังเป็นจุดชมวิว สามารถมองเห็นสามเหลี่ยมทองคำได้ชัดเจน

อำเภอเชียงของ

- อำเภอเชียงของ
อยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงรายประมาณ ๑๔๑ กิโลเมตร ตามเส้นทางสายอำเภอเชียงแสน-เชียงของ ทางหลวงหมายเลข ๑๑๒๙ เป็นทางเลียบฝั่งโขง ห่างจากเชียงแสนประมาณ ๕๕ กิโลเมตร อีกเส้นทางหนึ่งคือ จากอำเภอแม่จัน ใช้เส้นทางแม่จัน-บ้านกิ่วพร้าว-บ้านแก่นทางหลวงหมายเลข ๑๐๙๘ บ้านแก่น-บ้านทุ่งงิ้ว ทางหลวงหมายเลข ๑๑๗๔ และบ้านทุ่งงิ้ว-เชียงของ รวมระยะทางจากเชียงรายประมาณ ๑๓๗ กิโลเมตร ทางลาดยางตลอดสาย

- ท่าเรือบั๊ค
จุดผ่านแดนถาวรระหว่างไทย-ลาว ริมฝั่งแม่น้ำโขง มองเห็นทิวทัศน์ของเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวได้ นักท่องเที่ยวชาวไทยสามารถข้ามไปฝั่งลาวได้โดยติดต่อที่ว่าการอำเภอเชียงของ พร้อมรูปถ่าย ๑ นิ้ว ๒ รูป สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน ๑ ชุด และค่าธรรมเนียม ๓๐ บาท สำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศต้องขอวีซ่าจากสถานทูต (ด่านเปิดทุกวัน เวลา ๐๖.๓๐-๑๘.๓๐ น.) จากจุดนี้สามารถเดินทางท่องเที่ยวโดยเรือไปถึงหลวงพระบาง สปป.ลาว และกลับเข้าประเทศไทยที่จังหวัดหนองคายได้

- บ้านหาดบ้าย
ตั้งอยู่ระหว่างเส้นทางเชียงแสน-เชียงของ ถนนเลียบริมแม่น้ำโขง เป็นหมู่บ้านของชาวไทยลื้อมีขนบธรรมเนียมประเพณีงดงามน่าสนใจ โดยเฉพาะฝีมือการทอผ้าพื้นเมืองที่มีชื่อเสียงจากอำเภอเชียงของ นักท่องเที่ยวสามารถนั่งเรือหางยาวไปยังบ้านหาดบ้าย โดยขึ้นเรือที่ท่าเรือบั๊ก ใช้เวลาประมาณ ๑ ชั่วโมง และยังได้ชมทัศนียภาพสองฝั่งโขงอันสวยงามอีกด้วย

อำเภอเวียงแก่น

- ดอยผาตั้ง
อยู่ในความดูแลของกองทัพภาคที่ ๓ เป็นจุดชมวิวไทย-ลาว และเที่ยวชมทะเลหมอกได้ตลอดปี ในเดือนธันวาคมถึงมกราคม มีดอกซากุระและดอกเสี้ยวบานสะพรั่งงดงาม เป็นที่ตั้งของหมู่บ้านชาวจีนฮ่อ ม้ง และเย้า โดยเฉพาะจีนฮ่อนั้น อดีตเคยเป็นส่วนหนึ่งของกองพล ๙๓ ซึ่งอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ดอยผาตั้งนี้ ปัจจุบันประกอบอาชีพทางการเกษตร ปลูกพืชเมืองหนาว เช่น บ๊วย ท้อ สาลี่ แอปเปิ้ล และชา การเดินทาง จากจังหวัดเชียงราย ใช้เส้นทางเชียงราย-เวียงชัย-พญาเม็งราย-บ้านต้า ทางหลวงหมายเลข ๑๒๓๓, ๑๑๗๓ และ ๑๑๕๒ ระยะทาง ๕๐ กิโลเมตร บ้านต้า-บ้านท่าเจริญ ทางหลวงหมายเลข ๑๐๒๐ ระยะทาง ๔๕ กิโลเมตร บ้านท่าเจริญ-เวียงแก่น-ปางหัด ทางหลวงหมายเลข ๑๑๕๕ ระยะทาง ๑๗ กิโลเมตร และปางหัด-ดอยผาตั้ง อีก ๑๕ กิโลเมตร แล้วเดินเท้าต่อไปอีกประมาณ ๑ กิโลเมตร จึงจะถึงจุดชมวิว ๑๐๓ สภาพเส้นทางบางช่วงสูงชัน บนดอยผาตั้งมีที่พัก สถานที่กางเต็นท์และร้านอาหาร

อำเภอเทิง

- ภูชี้ฟ้า
เป็นจุดชมวิวทะเลหมอกและพระอาทิตย์ขึ้น อยู่ห่างจากดอยผาตั้ง ๒๕ กิโลเมตร มีลักษณะเป็นยอดเขาที่แหลมชี้ขึ้นไปบนท้องฟ้า อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๑,๖๒๘ เมตร โดยมีหน้าผาเป็นแนวยาวยื่นไปทางฝั่งประเทศลาว บนยอดภูชี้ฟ้าเป็นทุ่งหญ้ากว้าง การเดินทาง ใช้เส้นทางเชียงราย-เทิง ระยะทาง ๖๔ กิโลเมตร และจากเทิง-ปางค่า ระยะทาง ๒๔ กิโลเมตร จากนั้นเป็นทางลูกรัง ถึงภูชี้ฟ้าระยะทาง ๑๙ กิโลเมตร หรือใช้เส้นทางหมายเลข ๑๐๒๑ สายเทิง-เชียงคำ ระยะทาง ๒๗ กิโลเมตร ก่อนถึงเชียงคำ ๖ กิโลเมตร มีทางแยกไปวนอุทยานน้ำตกภูซาง ตามทางหลวงหมายเลข ๑๐๙๓ สายบ้านฮวก อีก ๑๙ กิโลเมตร แล้วเดินทางต่อไปยังภูชี้ฟ้าอีก ๓๐ กิโลเมตร (ควรใช้รถจิ๊ปหรือกระบะ) แล้วเดินเท้าต่อไปจุดชมวิวอีกประมาณ ๑,๘๐๐ เมตร ทางเดินเท้ามีสภาพสูงชันมาก นอกจากนี้จากสถานีขนส่งเชียงรายมีรถโดยสารไปยังภูชี้ฟ้าและดอยผาตั้ง รถออกเวลา ๑๒.๓๐ น. รายละเอียดติดต่อ บริษัท สหกิจ จำกัด โทร. ๐ ๕๓๗๑ ๑๖๕๔

อำเภอพาน

- พระธาตุจอมแว่
อยู่บนภูเขาจอมแว่ หมู่ที่ ๒ ถนนจอมแว่ (สายเก่า) ตำบลเมืองพาน เป็นพระธาตุที่มีประชาชนชาวอำเภอพานและอำเภอใกล้เคียงนับถือกันว่าเป็นพระธาตุอันศักดิ์สิทธิ์ เมื่อถึงเดือน ๙ ขึ้น ๑๕ ค่ำ จะมีงานนมัสการองค์พระธาตุทุกปี

- อุทยานแห่งชาติดอยหลวง
มีพื้นที่ครอบคลุมอำเภอแม่สรวย อำเภอพาน อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง และอำเภอแม่ใจ อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา มีเนื้อที่ ๗๓๑,๒๕๐ ไร่ สภาพภูมิประเทศเป็นเขาสูง มีดอยหลวงเป็นยอดเขาที่สูงที่สุด ประกอบด้วยป่าเบญจพรรณ ป่าดิบชื้นและป่าเต็งรัง มีสัตว์ป่าและนกหลายชนิด การเดินทาง ใช้เส้นทางสายเชียงราย-พะเยา ไป ๕๘ กิโลเมตร ถึงบ้านปูแกง บริเวณ กม. ที่ ๗๗๓ เลี้ยวขวาอีก ๙ กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยาน สถานที่ท่องเที่ยวซึ่งอยู่ใกล้ที่ทำการอุทยานได้แก่ น้ำตกปูแกง เป็นน้ำตกขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงราย น้ำไหลจากภูเขาสูงสลับซับซ้อนก่อให้เกิดชั้นน้ำตกที่สวยงามถึง ๙ ชั้น บริเวณน้ำตกมีการทับถมของหินปูนที่ปนมากับน้ำ ทำให้เกิดหินงอกหินย้อยมากมาย อุทยานมีสถานที่ตั้งแค้มป์และบริการเดินป่า สอบถามรายละเอียด โทร. ๐ ๕๓๖๐ ๙๐๔๒ หรือ กรุงเทพฯ โทร. ๐ ๒๕๖๒ ๐๗๖๐ www.dnp.go.th

อำเภอเวียงป่าเป้า

- บ่อน้ำร้อนธรรมชาติ
อยู่ที่ตำบลแม่เจดีย์ใหม่ ถนนสายเชียงราย-เชียงใหม่ กม. ที่ ๖๔-๖๕ มีบ่อน้ำร้อนธรรมชาติ ๓ บ่อ บริเวณบ่อน้ำร้อนมีชาวบ้านนำไข่มาขายเพื่อให้นักท่องเที่ยวทดสอบต้มในบ่อน้ำร้อน

- อุทยานแห่งชาติขุนแจ
เดินทางไปตามเส้นทางสายเชียงใหม่-เชียงราย บนทางหลวงหมายเลข ๑๑๘ จะถึงที่ทำการอุทยาน ซึ่งอยู่ริมทางบริเวณ กม. ที่ ๕๕-๕๖ อุทยานแห่งชาติขุนแจตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๘ เป็นอุทยานที่มีความร่มรื่นสมบูรณ์ของป่า มีทรัพยากรธรรมชาติมากมาย มีสัตว์ป่าหลายชนิด ได้แก่ ชะมด หมูป่า เก้ง เม่น หมี ลิงลม นกต่าง ๆ เช่น นกแซงแซวสีเทา เหยี่ยวรุ้ง นกตีทอง นกเขียวก้านทองปีกสีฟ้า เป็นต้น


- พระธาตุดอยตุง จังหวัดเชียงราย

- ข้อมูลทั่วไป

ตั้งอยู่ ต.ห้วยไคร้ อ.แม่สาย บนดอยที่ระดับความสูง 1,415 ม. จากระดับน้ำทะเล มีอากาศเย็นสบาย เดิมเป็นจุดสำคัญของการท่องเที่ยว ก่อนที่จะมีโครงการพัฒนาดอยตุง เส้นทางขึ้นสู่องค์พระธาตุสูงชันและแคบมาก ต้องขับรถด้วยความระมัดระวัง

- พระธาตุศักดิ์สิทธิ์ประจำปีกุน
คนไทยโดยทั่วไป มีความเชื่อเรื่องปีนักษัตร ที่สัมพันธ์กับปีเกิด โดยเฉพาะทางภาคเหนือ ยังมีความเชื่อเรื่องปีเกิดกับการบูชาพระบรมธาตุด้วย ใครเกิดปีไหนก็ควรหาโอกาสเดินทางไปไหว้พระธาตุประจำปีเกิดของตน เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต เช่น คนเกิดปีฉลู ควรไปไหว้พระธาตุลำปางหลวง คนเกิดปีมะแม ไปไหว้พระธาตุดอยสุเทพ ฯลฯ

- พระธาตุดอยตุง เป็นพระธาตุของคนเกิดปีกุน มีคำบูชาพระธาตุ ว่า...

- อิมัสสะมิง ภัทกะกัปเป จะตุพุทธา พุชูฌะติตะวา กะกุสะนูระ โกนาคะมะนะ กัสสะปะ โคตะมะราชะคะเห จะระติปิณะฑายะ มิถิลา ยะนะคะเรสิ จะรัตติ ปิณะฑายะ อะตะตีตา พุทธาเน อิมัสะมิง ปัพพะตาคิริ ปะทะกังนะสิทิตะวา เมตเตยยะ อะนาคะเต จะระติปิณะฑายะ ราชะคะเห อิมัสะมิง ฐาเนนะสิทิสิริ สุภะปะวะรังมะคะโล ตะโมลากะถา มุนิราชะ สาตะระนะมามิหันตัง วะระชินะธาตุง อะหังวันทามิ สัพพะทานะตัง วิชิระธาตุโย อะระหังวันทามิ สัพพะทา

- ประวัติความเป็นมา

ตามตำนานระบุว่า พระธาตุดอยตุงเป็นเจดีย์แห่งแรกของล้านนา สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.1454 โดยพระมหากัสสะปะเถระ และพระเจ้าอุชุตราช กษัตริย์ผู้ครองนครโยนกนาคพันธุ์ (ปัจจุบันคือ เมืองล่ม อ.แม่จัน) ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ พระรากขวัญเบื้องซ้าย (กระดูกไหปลาร้า) บรรจุในพระเจดีย์ สถิตยังดอยแห่งนี้ และได้ปัก "ตุง" ขนาดใหญ่บูชา ความยาว 1,000 วา ปลายชายตุงปลิวสะบัดถึงที่ใด ให้หมายเป็นเขตศักดิ์สิทธิ์ ดอยลูกนี้จึงมีชื่อว่า "ดอยตุง" ตราบเท่าทุกวันนี้

ต่อมาในปี พ.ศ.2470 องค์พระธาตุทรุดโทรมมาก ครูบาศรีวิชัย ได้บูรณะขึ้นใหม่ โดยสร้างเป็นเจดีย์องค์ระฆังขนาดเล็กสององค์บนฐานแปดเหลี่ยม ตามศิลปะแบบล้านนา การบูรณะครั้งหลังสุด มีขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2516 โดยกระทรวงมหาดไทย ได้สร้างพระธาตุองค์ใหม่ขึ้นครอบพระเจดีย์เดิมไว้

- การเดินทาง

- รถยนต์ส่วนตัว ใช้ทางขึ้นดอยตุงสายใหม่ เมื่อผ่นทางแยกซ้ายไปพระตำหนักดอยตุง ถึงหลัก กม.14 จะมีทางแยกซ้าย ถ้าขับตรงไปจะขึ้นตรงสู่พระธาตุดอยตุง ทางค่อนข้างแคบและชันมาก ระยะทาง 3 กม. ถ้าไปทางแยกซ้ายมือ จะเป็นทางอ้อม ผ่านสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าดอยตุง ทางแยกไปดอยช้างมูบ อ.แม่สาย และวัดน้อยดอยตุง ตรงหลัก กม.23 ระยะทาง 10 กม. จากวัดน้อยดอยตุง ต้องขับขึ้นดอยไปตามทางชัน แคบและคดเคี้ยว อีก 1 กม. บริเวณนี้เรียกว่าสวนเทพารักษ์ ต้องขับด้วยความระมัดระวังเพราะอาจมีรถสวนลงมาได้

- สิ่งที่น่าสนใจ

- พระธาตุดอยตุง เป็นเจดีย์สีทองขนาดเล็กสององค์ สูงประมาณ 5 ม. บนฐานสี่เหลี่ยมย่อมุม มีซุ้มจระนำสี่ทิศ องค์ระฆังและปลียอดมีขนาดเล็ก พระธาตุดอยตุง อยู่บนดอยสูงแวดล้อมด้วยป่ารกครึ้ม เรียกว่า สวนเทพารักษ์ เชื่อกันว่า เป็นที่สถิตของเทพารักษ์และสิ่งศักดิ์สิทธิ์

- รอยปักตุง เป็นรอยแยกบนพื้น ยาวประมาณ 1 ฟุต อยู่ด้านหน้าพระธาตุ เชื่อกันว่า เป็นรอยแยกที่ใช้ปักฐานตุงบูชาพระธาตุ เมื่อ 1,000 ปีก่อน


ดอยผาตั้ง จังหวัดเชียงราย

- ข้อมูลทั่วไป

ตั้งอยู่ บ.ผาตั้ง หมู่ 14 ต.ปอ อ.เวียงแก่น เป็นชุมชนชาวจีนฮ่อ สังกัดกองทัพที่ 8 กองพล 93 และชาวเขาเผ่าม้ง และเย้า ที่มาตั้งถิ่นฐานอยู่บนเทือกดอยผาหม่น มีอาชีพด้านเกษตรกรรม ปลูกดอกไม้เมืองหนาว สาลี่ ท้อ และชา เหนือหมู่บ้านเป็นจุดสูงสุด ลักษณะเป็นสันเขาคดเคี้ยว มองเห็นทิวเขาสลับซับซ้อน ในช่วงเช้ามีทะเลหมอกที่สวยงาม ในหน้าหนาวดอกนางพญาเสือโคร่งจะบานสะพรั่ง ดอยผาตั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวชมทะเลหมอกที่ขึ้นชื่อของ จ.เชียงราย มานาน แต่การเดินทางค่อนข้างยากลำบาก


มีที่กางเต็นท์พักแรม ที่ลานจอดรถ ติดต่อ อบต.ปอ โทร.053-918-265 , 09-951-9830 มีเต็นท์ให้เช่า ขนาด 2 คน ราคา 200 บาท/คืน
มีที่พักเป็นเกสต์เฮ้าส์ ติดต่อที่นายอนันต์ บรรลุศักดิ์ โทร.053-918-265 , 09-851-8743 ราคา 400 บาท/คน/คืน รวมอาหารเช้า


- ประวัติ

ดอยผาตั้ง เดิมเป็นพื้นที่ที่รัฐบาล จัดสรรให้ทหารจีนสังกัดกองพล 93 มาตั้งถิ่นฐาน เช่นเดียวกับที่ดอยแม่สลอง ภายใต้การดูแลอย่างเข้มงวด ทหารกองพล 93 วางกำลังเป็นกองร้อย กระจายกำลังไปตามสันดอยต่างๆ เนื่องจากบริเวณดอยผาตั้ง มีช่องเขาที่ใช้ผ่านเข้าออกไปยังประเทศลาวเพียงช่องทางเดียว เรียกว่า ช่องประตูผาบ่อง ส่วนด้านอื่นของดอยผาหม่น เป็นหน้าผาสูงชัน ไม่สามารถผ่านเข้าออกได้ ที่นี่จึงเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในสมรภูมิดอยผาหม่น ทหารสังกัดกองพล 93 ได้เข้าเป็นอาสาสมัครร่วมรบ เคียงบ่าเคียงไหล่กับทหารไทย เมื่อสถานการณ์คลี่คลายมาตรการควบคุมทหารจีนเหล่านี้ก็ผ่อนปรนลง และเปิดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว

- การเดินทาง

- รถยนต์ส่วนตัว จาก อ.เชียงของ ใช้เส้นทางเชียงของ-เทิง จากนั้นเข้าทางหลวงหมายเลข 1155 ผ่าน อ.เวียงแก่น ไปจนถึงหลัก กม.52 เลี้ยวซ้ายที่สามแยกบ้านปางหัด ไปตามถนนขึ้นดอยผาตั้ง ระยะทาง 15 กม. สภาพถนนเป็นทางลาดยาง แต่มีหลุมบ่อ และสูงชัน ควรใช้รถกระบะแรงดี หรือรถขับเคลื่อนสี่ล้อเท่านั้น เมื่อถึงบ้านผาตั้ง จะพบสามแยก ให้เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 1093 (ไปภูชี้ฟ้า) ประมาณ 1 กม. มีทางแยกซ้ายมือขึ้นดอยชันไปยังจุดชมวิวดอยผาตั้ง บนยอดเนิน 103 และช่องประตูผาบ่อง ระยะทาง 1.5 กม. ถนนสิ้นสุดที่ฐาน ตชด. ต้องเดินเท้าขึ้นเนิน เพื่อชมทิวทัศน์อีก 200 ม.

- รถประจำทาง มีรถสองแถวใหญ่สีน้ำเงินสายเชียงของ - ผาตั้ง ท่ารถอยู่ที่ปั๊มเอสโซ่ ใกล้บ้านหาดไคร้ ค่าโดยสาร 60 บาท มีรถวันละ 2 เที่ยว เวลา 09.00 น. และ 15.00 น. ใช้เวลาเดินทาง 2-3 ชั่วโมง

- สิ่งที่น่าสนใจ

- ชมทะเลหมอก จุดชมทิวทัศน์ยอดดอยผาตั้งที่สวยที่สุด อยู่ที่ยอดเนิน 103 เพราะเดิมอยู่ในความดูแลของกองร้อยที่ 103 เป็นยอดดอยสูงประมาณ 1,800 ม. จากระดับน้ำทะเล หันหน้าไปทางทิศตะวันออกของฝั่งลาว ในช่วงเช้าจะปกคลุมด้วยทะเลหมอกที่กำเนิดจากแม่น้ำโขงในเขตลาว

- ก่อนถึงยอดเนิน 103 จะมีช่องเขา เรียกว่าช่องประตูผาบ่อง เป็นช่องเขาที่เป็นทางเดินเท้าผ่านไปยังประเทศลาว เคยมีการสู้รบดุเดือดในสมรภูมิดอยผาหม่น


ดอยช้าง จังหวัดเชียงราย

- ข้อมูลทั่วไป

ตั้งอยู่ บ้านดอยช้าง 140 หมู่ 3 ต.วาวี อ.แม่สรวย เป็นที่ตั้งของสถานีวิจัยเกษตรที่สูง ของหมู่บ้านชาวเขา อยู่บนระดับความสูงประมาณ 1,500 ม. อากาศเย็นสบาย บนดอยช้าง มีแปลงวิจัยปลูกดอกไม้เมืองหนาวและกาแฟ อาราบิกา มีโรงคั่วบด มีกาแฟคั่วบดใหม่ให้ชิม

- สถานีวิจัยเกษตรที่สูงดอยช้าง โทร.053-605-932 , 053-605-955 , 053-605-934
มีที่พักและที่กางเต็นท์
มีร้านกาแฟคั่วบดให้ชิมฟรี และมีเมล็ดกาแฟคั่วบดแบ่งขาย
ฤดูที่เหมาะสม ต.ค. - ก.พ.


- ประวัติ

- ดอยช้าง เป็นยอดดอยสูงในเทือกดอยวาวี เป็นแหล่งต้นน้ำแม่กรณ์ มีชาวเขาเผ่าต่างๆ มาอาศัยอยู่ จัดตั้งเป็นสถานีทดลองเกษตรที่สูงวาวี เพื่อส่งเสริมการปลูกพันธุ์ไม้เมืองหนาว ลดการทำไร่เลื่อนลอย เริ่มงานเมื่อปี พ.ศ.2529 มีพื้นที่ 3,646 ไร่ ต่อมาเปลี่ยนรูปแบบการทำงานเป็นศูนย์บริการวิชาการด้านพืชและปัจจัยการผลิต

- การเดินทาง

- รถยนต์ส่วนตัว จากตัวเมืองเชียงราย ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 มุ่งหน้าไปทาง อ.พาน ระยะทาง 22 กม. เมื่อถึงหลัก กม. 807 เลี้ยวขวาเขาทางหลวงหมายเลข 118 (แม่สรวย-เวียงป่าเป้า-ดอยสะเก็ด-เชียงใหม่) ไปอีก 23 กม. จนถึงหลัก กม.134 เป็นสามแยกดอยวาวี ปากทางเป็นย่านขายข้าวโพดหวานนับสิบเจ้า เลี้ยวขวาไปตามถนน รพช. บ้านตีนดอย - บ้านใหม่หมอกจ๋าม ผ่านทางเข้าเขื่อนแม่สรวย สภาพถนนเป็นทางลาดยาง คดเคี้ยวไปตามไหล่ดอย อีก 5 กม. มีทางแยกซ้ายมือขึ้นดอยชัน ไปตามทางดินอัด มีป้ายบอกทางไปบ้านดอยช้าง ระยะทาง 22 กม. ต้องใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อเท่านั้น

- รถประจำทาง มีรถสองแถวชาวบ้านดอยวาวีสองคัน จอดอยู่หน้าที่ว่าการ อ.แม่สรวย ออกในช่วงสาย ค่ารถ 50 บาท ต้องสอบถามจากชาวบ้านบริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอ หรือติดต่อสถานีให้จัดรถมารับ คิดค่าบริการไปรับและส่งกลับ 1,500 บาท

- สิ่งที่น่าสนใจ

- แปลงปลูกผลไม้เมืองหนาวและไร่กาแฟ เป็นแปลงปลูกผลไม้เมืองหนาว เช่า เกาลัด มะคาเดเมียนัต บ๊วย ท้อ พลับ พลัม กาแฟ ให้ผลผลิตในฤดูหนาว แต่ไม่มีจำหน่าย มีเจ้าหน้าที่พาชมแปลงปลูกพืชรอบพื้นที่ บริเวณดอยช้างมีอากาศดี และเย็นสบายเหมาะสำหรับการพักผ่อน

- ชิมกาแฟอาราบิกา เนื่องจากพื้นที่ดอยช้างอยู่ที่ระดับความสูงเกิน 1,000 เมตร เหมาะสำหรับปลูกกาแฟอาราบิกา จึงได้ผลผลิตดี ทางศูนย์ติดตั้งเครื่องคั่วบดกาแฟ เพื่อแปรรูปวัตถุดิบ มีกาแฟที่คั่วบดแล้วให้นักท่องเที่ยวได้ลองชิม

เชียงราย เชียงราย เชียงราย เชียงราย เชียงราย เชียงราย เชียงราย


จังหวัดเชียงราย :: เทศกาล งานประเพณี

- งานดอกเสี้ยวบานที่ภูชี้ฟ้า
จัดระหว่างวันที่ ๑๓-๑๕ มกราคม มีการแข่งขันกีฬาและการแสดงศิลปวัฒนธรรมชาวดอย ณ บ้านร่มฟ้าไทย อำเภอเทิง

- งานไหว้สาพญาเม็งราย
จัดวันที่ ๒๓ มกราคม - ๑ กุมภาพันธ์ มีพิธีบวงสรวงพ่อขุนเม็งรายมหาราช มีการออกร้าน จัดนิทรรศการของส่วนราชการและเอกชน และงานรื่นเริงอื่น ๆ

- งานอนุรักษ์มรดกไทยล้านนา
จัดในเดือนเมษายน มีการจัดนิทรรศการและการแสดงแบบไทยล้านนา สาธิตงานศิลปะ ณ หอวัฒนธรรมนิทัศน์ อำเภอเมือง

- งานประเพณีสงกรานต์และแข่งเรือเมืองเชียงแสน
อำเภอเชียงแสน จัดประมาณกลางเดือนเมษายน ในงานมีขบวนแห่และสรงน้ำพระเจ้าล้านทอง การแข่งเรือและมหรสพพื้นเมือง

- งานเทศกาลลิ้นจี่และของดีเมืองเชียงราย
จัดประมาณกลางเดือนพฤษภาคมของทุกปี มีการประกวดขบวนรถและธิดาลิ้นจี่ การออกร้านจำหน่ายสินค้าต่าง ๆ ณ สนามกีฬากลางจังหวัดเชียงราย

- งานเทศกาลดอกบัวตองบาน
จัดในเดือนพฤศจิกายน มีการแสดงของชาวเขาเผ่าต่าง ๆ ชมทุ่งบัวตอง น้ำตก และทะเลหมอก ณ บ้านหัวแม่คำ อำเภอแม่ฟ้าหลวง


จังหวัดเชียงราย :: ของฝาก ของที่ระลึก

- หยก ทับทิม ไพลิน
บริเวณตลาดชายแดนแม่สาย และสามเหลี่ยมทองคำ จะมีร้านค้าอัญมณีที่นำมาจากประเทศพม่าอยู่หลายร้าน เช่น ร้านเซาะงิ้ม 49 หมู่ 7 ต.แม่สาย อ.แม่สาย โทร. 0 5373 1994, 0 1900 3060 โทรสาร 0 5364 0689 ร้านหยกงาม (สามเหลี่ยมทองคำ) โทร. 0 5378 4065

- ไนท์ บาซาร์
ถนนพหลโยธิน ใกล้สถานีขนส่งจังหวัดเชียงราย หรือลานกลางเวียง เป็นที่จำหน่ายของที่ระลึกฝีมือชาวเขาและคนพื้นบ้านทั้งเสื้อผ้า เครื่องประดับ กระเป๋าหลากแบบของชาวเขา ผลิตภัณฑ์พื้นเมืองผ้าม่านผ้าลายปักฝีมือชาวเขาที่ชาวเขาจะมาจำหน่ายกันเองในราคาที่ไม่แพงนัก ของตกแต่งบ้านที่ทำจากไม้ จะเริ่มขายประมาณเวลา 19.00 น. – 24.00 น. ทุกวัน

- ของเล่นไม้ไผ่
จังหวัดเชียงรายมีของเล่นเด็กที่ผลิตจากไม้ไผ่ โดยพ่ออุ๊ยแม่อุ๊ยบ้านป่าแดด ตำบลป่าแดด อำเภอแม่สรวย อยู่ห่างจากตัวเมือง 50 กิโลเมตร เป็นของเล่นที่ผลิตจากภูมิปัญญาดั้งเดิมและใช้วัสดุพื้นบ้านเป็นหลัก มีถึง 80 ชนิด 100 กว่าแบบ แบ่งเป็นของเล่นของใช้ เช่น ครกตำข้าว ที่แกะเมล็ดข้าวโพด ของที่ระลึก เช่น ที่คั่นหนังสือรูปปลา กบ และของเล่นเด็ก ที่เหมาะกับเด็กอายุตั้งแต่ 1 ขวบขึ้นไป เช่น กับดักงู “อมรเทพ” ทำเป็นไม้ไผ่ดัดโค้ง เมื่อบีบไม้ไผ่แล้วตัวตุ๊กตานักยิมนาสติกจะกระโดดเหวี่ยงตามแรงที่บีบ สนใจสอบถามข้อมูล โทร. 0 5370 8070

- ชา
เป็นของฝากที่ขึ้นชื่อของเชียงราย นิยมปลูกบนดอยแม่สลอง มีรสดี กลิ่นหอม มีหลายพันธุ์ เช่น พันธุ์อัสสัม นิยมนำมาอบแห้งเป็นชาเขียว พันธุ์ชิง ชิง จะแบ่งเป็น “อูหลง” และ “ตง ฟัง เหม่ย หลิน” ซึ่งถือว่าเป็นชาที่หอมและอร่อยที่สุด พันธุ์เบอร์ 12 นิยมนำมาทำเป็นชาแดงหรือชาฝรั่ง และ พันธุ์ก้านอ่อน นำมาทำเป็นชาเปาจง ซึ่งคล้ายชาอูหลงแต่น้ำชามีสีเหลืองและกลิ่นหอมอ่อนกว่า สำหรับการเลือกซื้อชาควรจะชิมก่อนทุกครั้ง และควรดื่มชาที่ไม่ปรุงแต่งกลิ่นและรสใด ๆ ทั้งสิ้น

- ผลไม้
เชียงรายมีผลไม้เมืองหนาวหลายชนิด ให้เลือกซื้อกลับเป็นของฝาก เช่น สตรอเบอรี่ ท้อ สาลี่ ลิ้นจี่ และสับปะรดนางแล ผลไม้ขึ้นชื่ออีกชนิดหนึ่งมีรสหวานอร่อยไม่แพ้สับปะรดภาคอื่น ๆ จะมีมากในช่วงเดือนเมษายน-กรกฎาคม


- ร้านจำหน่ายสินค้าพื้นเมือง

อำเภอเมือง

สุจินต์หมูยอ 425/8 ถ.บรรพปราการ (อาหารพื้นเมือง แหนม หมูยอ) โทรศัพท์ : 0 5371 2477, 0 5371 5209 ไม้มุงเงิน 891 ถ.พหลโยธิน อ.เมือง (เครื่องเงิน เครื่องไม้) โทรศัพท์ : 0 5371 4877
กองหลวง 196/3 ถ.ธนาลัย (ผ้าไหม สินค้าไทลื้อ) โทรศัพท์ : 0 5371 2834
พิพิธภัณฑ์และหัตถกรรมชาวเขา 620/25 ถ.ธนาลัย (ผลิตภัณฑ์ชาวเขา ผ้าพื้นเมือง) โทรศัพท์ : 0 5371 9167, 0 5371 1475

- เครื่องปั้นดินเผา ดอยดินแดง ถนนสาย เชียงราย-แม่สาย ห่างจากตัวเมือง 12 กม. และห่างจากสนามบิน 6 กม. โทรศัพท์ : 0 5370 6128 email : doydindg@loxinfo.co.th url : www.dddpottery.com


อำเภอแม่จัน

กมลศิริ ถนนพหลโยธิน ตำบลแม่คำ โทร. 779044 (พรม ผ้าฝ้าย)
เบอร์รี่เฮ้า บ้านริมคำ อำเภอแม่จัน โทร. 779055 (ผ้าไหม ผ้าฝ้าย)
เรืองศรี 25 หมู่3 ตำบลแม่คำ โทร. (01) 952-6120 (ผ้าไหม ผ้าฝ้าย)

- อำเภอเวียงป่าเป้า

- เตาเผาเวียงกาหลง หมู่ 1 ตำบลป่างิ้ว โทร. 781056 (เครื่องปั้นดินเผา)


:: สารบัญเว็บไซท์ ::

:: ข้อมูล สถานที่ท่องเที่ยว แหล่งท่องเที่ยว จังหวัดเชียงราย ::

สารบัญเว็บไซท์ > ท่องเที่ยว > ข้อมูล และสถานที่ท่องเที่ยว > ภาคเหนือ > เชียงราย

ผลการค้นหา : [ แนะนำเว็บไซท์ได้ที่นี่ ]


โรงแรมในเชียงราย
บริการจองโรงแรม รีสอร์ท ที่พัก ราคาพิเศษ ในจังหวัดเชียงราย
http://www.hotelsthailand.name/chiangrai.php

โรงแรมในเชียงราย
บริการจองโรงแรม รีสอร์ท ที่พัก ในจังหวัดเชียงราย ราคาพิเศษ ลด 10-75%
http://www.relaxzy.com/hotel/hotel-chiangrai.html

จังหวัดเชียงราย
แนะนำข้อมูลทั่วไป สถานที่ท่องเที่ยว แหล่งท่องเที่ยว จองโรงแรม ที่พัก รีสอร์ท โรงแรม จังหวัดเชียงราย แผนที่ การเดินทาง ร้านอาหาร เทศกาล งานประเพณี ของฝาก ประวัติความเป็นมา คำขวัญประจำจังหวัด
http://www.relaxzy.com/province/chiangrai/

จังหวัดเชียงราย
ข้อมูลทั่วไปของจังหวัดเชียงราย ประวัติเมืองเชียงราย แหล่งประวัติศาสตร์ พระแสงราชศัสตรา ผู้บริหาร
http://www.chiangrai.go.th

ศูนย์บริหารจัดการการท่องเที่ยวจังหวัดเชียงราย
บริการให้ข้อมูลนักท่องเที่ยว ทั้งสถานที่ท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและมนุษย์สร้างขึ้น
http://www.tourismchiangrai.com

ศูนย์ปฏิบัติการจังหวัดเชียงราย
ข้อมูลทั่วไปของจังหวัดเชียงราย ข้อมูลด้านการบริหาร การท่องเที่ยว ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ สภาพอากาศ...
http://www.chiangrai.net/

เชียงแสน
ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงแสน ประวัติเมืองเชียงแสน ข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ และโบราณสถาน
http://www.chiangsaen.co.th

จังหวัดเชียงราย
ข้อมูลจังหวัดเชียงราย การศึกษา ศิลปวัฒนธรรม บุคลสำคัญพร้อมประวัติ และบทความที่น่าสนใจ
http://www.chiangrai.com/

จังหวัดเชียงรายดอทคอม
ข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจ และการท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงราย แนะนำสถานที่ท่องเที่ยว และรูปภาพสถานที่ท่...
http://www.chiangraiprovince.com

เชียงราย
ประตูสู่เชียงราย รวบรวมเว็บไซต์ของชาวเชียงราย รายละเอียดเกี่ยวกับจังหวัดเชียงราย ข่าวสารภายในจังห...
http://www.chiangraitoday.com/

แนเชอรัล โฟกัส
การแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิถีชีวิตและศิลปวัฒนธรรมประเพณีของชนเผ่าในภาคเหนือของไทย ร่วมเดินทางผจญภัยพร...
http://www.naturalfocusecotour.com

จังหวัดเชียงราย
ข้อมูลท่องเที่ยวจังหวัดเชียงราย ข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวแต่ละอำเภอของจังหวัดเชียงราย กิจกรรมท่องเที่ยว
http://www.e-chiangrai.com

อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย (รักแม่สาย)
ข้อมูลทั่วไปของอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ประวัติ ทำเนียบนายอำเภอ การเดินทาง แผนที่จังหวัดเชียงร...
http://www.geocities.com/lovemaesai/

ผาตั้งดอทคอม
แหล่งรวมข้อมูลการเดินทางท่องเที่ยว ภูชี้ฟ้า และผาตั้ง ซึ่งเป็นสถานที่มีชื่อเสียง ของจังหวัดเชียงราย
http://www.phatang.com

จังหวัดเชียงราย
ข้อมูลของจังหวัดเชียงราย การเตรียมตัวก่อนเที่ยว ของจังหวัดเชียงราย สถานที่ท่องเที่ยว ข้อมูลการท่อ...
http://www.chiangrai.50megs.com

อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย
เรื่องราวประวัติ วิถีชีวิต สถานที่ท่องเที่ยว แผนที่ การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษของอำเภอเชียงของ จังห...
http://www.chiangkhong.com

เชียงของดอทเน็ต
รวบรวมข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว ของกิน-ของฝากเมืองเชียงของ โรงแรม-ที่พัก หน่วยงานราชการ บริษัททัวร์...
http://www.chiangkhong.net

จังหวัดเชียงราย
ข้อมูลการท่องเที่ยวจังหวัดเชียงราย ประวัติ ประชากร เทสกาล ประเพณี วัฒนธรรม แนะนำแหล่งท่องเที่ยวใน...
http://www.geocities.com/chiangraimag

อุทยานสวนชา
สถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตร จัดให้มีบริเวณกางเต็นท์สำหรับผู้ที่ต้องการสัมผัสธรรมชาติ และเป็นสถานที...
http://www.centea.net

สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงราย
แหล่งข้อมูลท่องเที่ยวเชียงราย บริการข้อมูลฟรี 053-716519
http://www.cots.go.th


:: อุทยานแห่งชาติขุนแจ ::

:: ข้อมูลทั่วไป ::
อุทยานแห่งชาติขุนแจ เป็นชื่อเรียกตามชื่อของน้ำตกขุนแจ ตั้งอยู่ทางเหนือของจังหวัดเชียงใหม่ ใช้เวลาเดินทางจากเชียงใหม่ประมาณ 1 ชั่วโมง ตามทางหลวงสายเชียงใหม่-เชียงราย อุทยานแห่งชาติขุนแจ ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2538 ถือเป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญครอบคลุมเนื้อที่ถึง 270 ตารางกิโลเมตร ภายในอุทยานแห่งชาติ มีทรัพยากรธรรมชาติมากมายไม่ว่าจะเป็นป่าไม้ สัตว์ป่า น้ำตกและทิวทัศน์ที่งดงาม มีทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 118 (เชียงใหม่-เชียงราย) ตัดผ่านกลางพื้นที่ และแบ่งพื้นที่ออกเป็นสองส่วน

เนื่องจากสถานการณ์เกี่ยวกับ ทรัพยากรป่าไม้ของชาติ ในปัจจุบันที่ค่อนข้างวิกฤต ดังที่เกิดขึ้น โดยทั่วไปในฤดูกาลต่างๆ เช่น ฤดูฝนน้ำท่วม ฤดูร้อนมีอากาศร้อนอบอ้าวมาก และฤดูหนาวมีอากาศหนาวจัด เป็นต้น ซึ่งเป็นสาเหตุมาจากการใช้ทรัพยากรป่าไม้อย่างไม่ถูกหลักวิชาการ มีการใช้ประโยชน์ที่ดิน ป่าไม้และการยึดครอง ที่ดิน ตลอดจนการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ เพื่อนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ส่วนตัว โดยมิได้คำนึงถึงผลเสีย ที่เกิดติดตามมาภายหลัง รัฐบาลจึงได้ปิดป่าสัมปทานทั่วประเทศ และมีนโยบายที่จะ อนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ในรูปป่าอนุรักษ์ไว้ส่วนหนึ่ง และจัดเป็นป่าเศรษฐกิจอีกส่วนหนึ่ง เพื่อจะได้แยกการจัดการทรัพยากรให้เป็นไปตามหลัก วิชาการและบรรลุเป้าหมายโดยเร็ว ทางกรมป่าไม้พิจารณาแล้ว จึงเห็นควรที่จะ สนองนโยบายของรัฐบาล ที่จะอนุรักษ์ของชาติ ที่มีความอุดมสมบูรณ์ไว้ ในลักษณะของอุทยานแห่งชาติ จึงมีคำสั่งกรมป่าไม้ที่ 475/2532 ลงวันที่ 23 มีนาคม 2532 ให้ นายสุเมธ สิงห์ขวา นักวิชาการป่าไม้ 4 ปฏิบัติงานประจำอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง ไปดำเนินการสำรวจพื้นที่ป่า บริเวณน้ำตกขุนแจและพื้นที่ใกล้เคียง ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ปูนน้อย ป่าแม่ปูนหลวง และป่าห้วยโป่งเหม็น ในท้องที่อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย เพื่อจัดตั้งให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ต่อมาในปี พ.ศ. 2535

คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบในการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติขุนแจ และ ปี พ.ศ. 2538 มีการประกาศในพระราชกฤษฎีกากำหนดที่ดินให้เป็นอุทยานแห่งชาติ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา หน้า 28 เล่มที่ 112 ตอนที่ 33 ก. เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2538 มีชื่อว่า “ อุทยานแห่งชาติขุนแจ ”

:: ลักษณะภูมิประเทศ ::
สภาพพื้นที่อุทยานแห่งชาติขุนแจเป็นภูเขาสูงและที่ราบสลับเนินเขา ประกอบด้วยหิน 2 ชนิด คือ หินอัคนีและหินตะกอน พื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นหินแกรนิตซึ่งเป็นหินที่พบเห็นได้ทั่วไปตามภาคเหนือของไทย หินแกรนิตเกิดจากการหลอมละลาย ของชั้นหินภายใต้ผิวโลกและถูกแรงบีบคั้นจนไหลออกมาตามรอยแยกบนพื้นโลก และเย็นลงอย่างช้าๆ และ ปรากฏขึ้นบนผิวโลกโดยขบวนการพังทลาย หินแกรนิตจะดูคล้ายกับเกล็ดเกลือสะท้อนแสง และพริกไทยสีดำขนาดใหญ่ ส่วนที่เป็นสีขาวคล้ายเกลือนั้น คือ แร่ควอซ์ดและ เฟลสปา ส่วนที่เป็นสีดำ คือ ไมก้า หินอัคนีอีกชนิดหนึ่งที่พบในอุทยานแห่งชาติ เรียกว่า บะซอลท์ (basaltic) ซึ่งเกิดจากลาวาภูเขาไฟที่เย็นตัวลงอย่างรวดเร็ว เป็นหินสีเทาที่มีเนื้อละเอียด หินภูเขาไฟเหล่านี้สามารถพบทางแถบตะวันออกของอุทยานแห่งชาติ ส่วนหินตะกอน หินทราย และหินเชล เกิดจากการทับถมของตะกอนในแม่น้ำเวลานานเข้า จึงเกิดเป็นชั้นหินทรายที่พบในอุทยานแห่งชาติขุนแจ เป็นเม็ดทรายขนาดเล็กสีเทาทับถมเป็นชั้นๆ หินเชลมีสีเป็นสีเนื้ออ่อนและง่ายต่อการแตกหัก จุดสูงสุดคือยอดดอยลังกาหลวง มีความสูงถึง 2,031 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของแม่น้ำลาวซึ่งไหลลงสู่แม่น้ำกก

ภูมิประเทศของอุทยานแห่งชาติ ส่วนใหญ่เป็นหุบเหว ซึ่งเกิดจากการกระทำของกระแสน้ำกัดเซาะ จนทำให้เกิดน้ำตกมากมาย ปริมาณน้ำฝนที่มากจึงมีอัตราการพังทลายของดินที่สูง ทำให้เกิดภูมิประเทศที่เป็นหุบเหวลึกนี้


:: ลักษณะภูมิอากาศ ::
ฤดูแล้งในอุทยานแห่งชาติขุนแจ อยู่ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-กรกฎาคม มีอุณหภูมิประมาณ 2-29 องศาเซลเซียส ฤดูฝนเริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-กุมภาพันธ์ มีฝนตกเฉลี่ย 60 มิลลิเมตร/เดือน มีอุณหภูมิประมาณ 19-29 องศาเซลเซียส ส่วนฤดูร้อนตั้งแต่เดือนมีนาคม-มิถุนายน (เป็นช่วงที่มีการเกิดไฟไหม้) อุณหภูมิอยู่ระหว่าง 22-23 องศาเซลเซียส


:: พรรณไม้และสัตว์ป่า ::
อุทยานแห่งชาติขุนแจมีพันธุ์ไม้ที่เปลี่ยนแปลงไปตามระดับความสูงของพื้นที่จาก 300-800 เมตร จะเป็นป่าไผ่และป่าเบญจพรรณระดับความสูง 800-1,000 เมตร เป็นป่าดงดิบและป่าเต็งรัง มีความสูงระหว่าง 1,000-1,500 เมตร เป็นป่าดิบและป่าสน ส่วนสภาพป่าที่สูงกว่า 1,500 เมตรขึ้นไป เป็นป่าดิบเขาบริเวณหุบห้วย ปกคลุมไปด้วยต้นไม้หนาแน่น เขียวชอุ่ม ซึ่งเป็นไม้จำพวกยาง ชนิดของต้นไม้ที่พบ เป็นพืชชั้นล่างที่เด่น ได้แก่ กล้วยป่า เฟิน มอส และหญ้าที่ขึ้นตามชายน้ำ

สัตว์ป่าที่พบเห็นได้ในอุทยานแห่งชาติขุนแจ สามารถพบเห็นได้แตกต่างกัน ตามสภาพถิ่นที่อยู่อาศัย และช่วงเวลาระหว่างวัน ในหุบเขา ริมธาร และป่าชุ่มชื่น เป็นบริเวณที่มีพืชพันธุ์เขียวชอุ่ม ซึ่งพบเห็นสัตว์ป่าหลายชนิด ได้แก่ ชะมด หมูป่า เก้ง เม่น กระรอกหลายชนิด ทั้งที่อาศัยอยู่บนต้นไม้และพื้นดิน ค้างคาว กระต่ายป่า สัตว์ที่คาดว่าจะพบได้ในอุทยานแห่งชาติ เช่น หมี ลิงลม ชะนีธรรมดา แมวป่า เลียงผา นกต่างๆ เช่น นกแซงแซวสีเทา เหยี่ยวรุ้ง เหยี่ยวนกเขาซิครา นกจับแมลงหัวเทา นกตีทอง นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้า ไก่ป่า สัตว์เลื้อยคลานเช่น งูเขียวหางไหม้ งูจงอาง กิ้งก่าบิน ตุ๊กแก จิ้งเหลน เป็นต้น


:: ที่ตั้งและการเดินทาง ::
อุทยานแห่งชาติขุนแจ
ต.แม่เจดีย์ใหม่ อ. เวียงป่าเป้า จ. เชียงราย 57260
โทรศัพท์ : 0 5360 9262

- รถยนต์
ที่ทำการอุทยานแห่งชาติขุนแจ ตั้งอยู่ติดกับทางหลวงแผ่นดินสายเชียงใหม่–เชียงรายห่างจาก ตัวเมืองเชียงใหม่ 56 กิโลเมตร การเดินทางไปอุทยานแห่งชาติขุนแจ สามารถเดินทางได้ 2 เส้นทาง คือ

- จากเชียงใหม่ สามารถเดินทางได้โดยรถปรับอากาศและรถธรรมดาสายเชียงใหม่-ดอยสะเก็ด-เชียงราย จากสถานีขนส่งจังหวัดเชียงใหม่แห่งที่ 2 (อาเขต) หรือนั่งรถสองแถวเล็กสีเหลืองสายเชียงใหม่-เวียงป่าเป้า-ท่ารถถนนไทยวงศ์

- จากเชียงราย สามารถเดินทางโดยรถโดยสารประจำทาง และรถสองแถวเล็กซึ่งระยะทาง ห่างจากจังหวัดเชียงรายระยะทาง 129 กิโลเมตร

:: แหล่งท่องเที่ยว :: ด้านธรรมชาติที่สวยงาม ::
น้ำตกแม่โถ เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ที่มีความงดงาม มีน้ำไหลตลอดทั้งปี มีทั้งหมด 7 ชั้น และมีความสูงที่สุดประมาณ 40 เมตร ในฤดูฝนชั้นนี้จะสวยงามมาก การเดินทางโดยรถยนต์จากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ถึงทางขึ้นน้ำตก (บ้านแม่โถ) ใช้เวลาประมาณ 30-40 นาที ต่อจากนั้นเดินเท้าไปยังน้ำตกใช้เวลาชมน้ำตกทั้ง 7 ชั้น ประมาณ 2 ชั่วโมง


- น้ำตกขุนแจ เป็นน้ำตกขนาดเล็กที่มีความสวยงามและความโดดเด่น ประกอบด้วยน้ำตก 6 ชั้น บริเวณน้ำตกมีพื้นที่สำหรับตั้งแค็มป์และกางเต็นท์ ใช้เวลาเดินทางโดยรถยนต์จากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ประมาณ 2 ชั่วโมง จากนั้นเดินเท้าต่ออีก 1 ชั่วโมง เพื่อไปยังน้ำตก


- ดอยมด ความหนาแน่นของป่าดิบชื้นระหว่างทางเดินขึ้นสู่ยอดดอยมด ทำให้เกิดสังคมพืชหลากหลายชนิดปกคลุมแอ่งน้ำใสสะอาดเต็มไปด้วยพืชชั้นล่างมากมายรวมทั้งพืชชั้นต่ำ เช่น กล้วยไม้ดิน เฟิน มอส และพืชอื่นๆ ร่มรื่นและชุ่มชื่นอยู่ตลอดเวลา บนยอดดอยที่ระดับความสูง 1,700 เมตร รายรอบด้วยสภาพภูมิประเทศแปลกตาและป่าไม้อันอุดมสมบูรณ์ สามารถมองเห็นตัวเมืองเชียงใหม่ทางทิศตะวันตก ตัวเมืองเชียงรายทางทิศตะวันออก ยอดดอยลังกาทางทิศใต้และยอดดอยปางกอมทางทิศเหนือ นอกจากนี้บริเวณใกล้กับดอยมด ยังมียอดดอยหลวงและดอยผาช้าง ซึ่งเป็นสันปันน้ำที่สำคัญของจังหวัดเชียงใหม่ และเชียงรายอีกด้วย


- ดอยลังกา ความอลังการของยอดดอยลังกา มีความสูง 2,031 เมตรจากระดับน้ำทะเล สูงเป็นลำดับที่ 5 ของประเทศไทย ทำให้สามารถมองเห็นทิวทัศน์อันงดงามสลับซับซ้อนของเทือกเขาผีปันน้ำ และสภาพความหลากหลายของธรรมชาติของอุทยานแห่งชาติแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี ยอดดอยลังกาและดอยบริวารตั้งอยู่ทางใต้สุดของพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ซึ่งเป็นเขตติดต่อกับอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อนและอุทยานแห่งชาติแม่ตะไคร้ การเดินทางสู่ดอยลังกาต้องใช้เวลาเดินทางไป-กลับประมาณ 3 คืน 4 วัน บนยอดดอยปกคลุมด้วยทุ่งหญ้าและป่าสนเขา สภาพป่าโดยรอบเป็นป่าดิบเขาที่อุดมสมบูรณ์ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ต้นกุหลาบพันปีจะออกดอกบานสะพรั่ง


- อ่างเก็บน้ำแม่ฉางข้าว อยู่ใกล้กับหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ขจ.1 (แม่ฉางข้าว) เป็นอ่างเก็บน้ำที่เหมาะสำหรับการไปใช้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ หรือรับประทานอาหารกลางวันบนแพกลาง อ่างเก็บน้ำที่ใส สะอาดก็จะได้บรรยากาศที่ดีทีเดียว


- ดอยผาโง้ม เป็นเทือกเขาตอนกลางของพื้นที่ มีรูปร่างทอดตัวยาวในแนวตะวันตก-ตะวันออก โดยมีหน้าผาหินตัดโง้มลาดลงในทิศตะวันตก สภาพป่าเป็นป่าดิบเขาปนป่าเบญจพรรณ และป่าสนเขา เหมาะแก่การพักผ่อนหย่อนใจแบบไต่เขา หรือเดินป่าชมทิวทัศน์


- ต้นไทร ใกล้ๆ กับที่ทำการอุทยานแห่งชาติ มีต้นไทรที่มีความโดดเด่นเจริญเติบโตจากต้นไม้หลายๆ ลำต้นแตกกิ่งก้านสาขาออกไปมากมาย กว้างใหญ่ให้ร่มเงาครอบคลุมพื้นที่ถึง 1,600 ตารางเมตร และมีพืชอิงอาศัยอยู่มากมายหลายชนิด


- น้ำตกลำเกลียว เป็นน้ำตกขนาดกลาง ทีสวยงาม เหมาะแก่การลงเล่นน้ำ เดินศึกษาธรรมชาติ



:: สิ่งอำนวยความสะดวก ::
ห้องสุขาชาย มีห้องสุขาชายไว้บริการ


ห้องสุขาหญิง มีห้องสุขาหญิงไว้บริการ


ที่พักแรม/บ้านพัก มีบ้านพักให้บริการแก่นักท่องเที่ยว


สถานที่กางเต็นท์/เต็นท์ อุทยานแห่งชาติจัดเตรียมสถานที่กางเต็นท์และเต็นท์ไว้ให้บริการนักท่องเที่ยว การสำรองที่พักเต็นท์สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดและสำรองที่พักเต็นท์ได้กับอุทยานแห่งชาติโดยตรง


ที่จอดรถ มีลานจอดรถให้บริการแก่นักท่องเที่ยว


ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว มีศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ให้บริการข้อมูลเกี่ยวกับอุทยานแห่งชาติ นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาขอรับบริการข้อมูลได้ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ ระหว่างเวลา 8.00 - 16.30 น



ดอยตุง พระตำหนักดอยตุง จังหวัดเชียงราย

- ข้อมูลทั่วไป

ตั้งอยู่ ต.แม่ฟ้าหลวง อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาดอยตุง ตั้งอยู่บนสันเขาของเทือกดอยนางนอน ระดับความสูงประมาณ 1,200 ม. จากระดับน้ำทะเล มองเห็นทิวเขาสลับซับซ้อน คล้ายทิวทัศน์ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มีไม้ดอกไม้ประดับที่ผลิดอกสวยงามตลอดทั้งปี เป็นจุดศูนย์กลางของเส้นทางท่องเที่ยวดอยตุง


โทร.053-767-001 , 053-767-015-7 และ เว็บไซต์ http://www.doitung.org/
เปิดเวลา 07.30 - 17.30 น.
ไม่ควรใส่กางเกงขาสั้น หรือกระโปรงสั้นเกินงาม
ค่าธรรมเนียมเข้าชมพระตำหนัก 70 บาท ชมสวนแม่ฟ้าหลวง 80 บาท หอพระราชประวัติ 30 บาท บัตรรวมเข้าชมทั้งสามที่ 150 บาท มีที่พัก ติดต่อที่สำนักงานโครงการพัฒนาดอยตุง จ.เชียงราย เวลาราชการ โทร.053-767-015-7 ต่อ 230 และ 231
มีร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านจำหน่ายของที่ระลึก
แผงลอยจำหน่ายของพื้นเมืองของชาวเขาเผ่าอาข่า


- ประวัติความเป็นมา

พระตำหนักดอยตุง เริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2530 เมื่อสมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี มีพระชนมายุ 88 พรรษา โดยก่อนหน้านั้นมีพระราชกระแสว่า หลังพระชนมายุ 90 พรรษา จะไม่เสด็จไปประทับที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ สำนักงานราชเลขานุการในพระองค์ จึงได้เลือกดอยตุง ซึ่งมีทิวทัศน์สวยงาม ขณะเดียวกัน สมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี เมื่อทรงทอดพระเนตรพื้นที่ เมื่อต้นปี พ.ศ.2530 ก็ทรงพอพระราชหฤทัย และมีพระราชดำริจะสร้าง "บ้านที่ดอยตุง" พร้อมกันนี้ ยังมีพระราชกระแสรับสั่งว่าจะ " ปลูกป่าบนดอยสูง" จึงกำเนิดเป็นโครงการพัฒนาดอยตุงขึ้น

โครงการพัฒนาดอยตุงเริ่มดำเนินการโดยความร่วมมือจากหน่วยราชการทุกส่วน เช่น กรมป่าไม้ กรมชลประทาน หน่วยงานด้านปกครอง นอกจากทำการปลูกป่าฟื้นฟูสภาพพื้นที่แล้ว ยังมีการฝึกอาชีพเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวเขาบนดอยตุง ซึ่งประกอบด้วยชาวเขาเผ่าอาข่า ลาหู่ ไทยใหญ่ และจีนฮ่อ ขณะเดียวกันยังคงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีของตนไว้

- การเดินทาง

รถยนต์ส่วนตัว ใช้ทางขึ้นดอยตุงสายใหม่ ผ่านบ้านไทยใหญ่ร่มไทร กม.2 ผ่านจุดชมวิว กม.12 จากนั้นเลี้ยวซ้ายระหว่างหลัก กม.12 และ 13 ไปอีก 2 กม. จะถึงพระตำหนัก ระยะทาง 15 กม. หรือใช้ทางขึ้นสายเก่า โดยขับเลยแยกบ้านสันกอง ไปอีกราว 1 กม. เลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข 1149 ที่บ้านห้วยไคร้ ระหว่างหลัก กม.871-872 เป็นทางขึ้นดอยตุงสายเก่า เส้นทางสูงชันกว่าสายใหม่ แต่ระยะทางสั้นกว่าเล็กน้อย ถนนจะไปบรรจบกับทางขึ้นสายใหม่ใกล้ กม.6

รถรับจ้าง มีรถบริการนักท่องเที่ยวเป็นรถสองแถวสีม่วง ที่สถานีขนส่งท่องเที่ยวดอยตุง โทร.053-667-433 ค่าเช่า 720 บาท นั่งได้ 12 คน หรือค่าโดยสารคนละ 60 บาท ครบ 12 คน รถออก รถสองแถวจะพาไปยังพระธาตุดอยตุง ตลาดสินค้าพื้นเมืองชาวเขา หน้าศูนย์วิจัยพืชไร่ ใกล้อ่างเก็บน้ำ และพระตำหนักดอยตุง ใช้เวลาเดินทางและพาเที่ยว 3 ชม.

- สิ่งที่น่าสนใจ

อาคารพระตำหนักดอยตุง ทำพิธีลงเสาเอก เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2530 พระตำหนักแห่งนี้ ถือเป็นบ้านหลังแรกของสมเด็จย่า สร้างขึ้นโดยใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ โดยเน้นที่ความเรียบง่าย และการใช้ประโยชน์ ภายหลังการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จย่า พระตำหนักยังได้รับการอนุรักษ์ ไว้เป็นอย่างดี และเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าเที่ยวชม

สถาปัตยกรรมของพระตำหนักเป็นการผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมแบบล้านนากับบ้านพื้นเมืองของสวิส สร้างบนไหล่เนิน มองเห็นทิวทัศน์ได้ไกลสุดสายตา พระตำหนักมีสองชั้น และชั้นลอย ชั้นบนแยกเป็นสี่ส่วน แต่เชื่อมต่อกันเป็นอาคารหลังเดียว ที่โดดเด่นสะดุดตา คือ กาแล และไม้แกะสลักเป็นเชิงชายลายเมฆไหล ที่อ่อนช้อยโดยรอบ ภายในตำหนักล้วนใช้ไม้สน และไม้ลังที่ใส่สินค้า เป็นเนื้อไม้สีอ่อนที่สวยงาม จุดน่าสนใจอีกจุดคือ เพดานดาว ภายในท้องพระโรง แกะสลักขึ้นจากไม้สนภูเขา เป็นกลุ่มดาวต่างๆ ล้อมรอบระบบสุริยะ ชมได้อย่างไม่รู้เบื่อ ส่วนบริเวณผนังเชิงบันได แกะสลักเป็นพยัญชนะไทย พร้อมภาพประกอบ

- หอพระราชประวัติ เปิดเมื่อปี พ.ศ.2546 เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จย่า ภายในแบ่งเป็นห้องต่างๆ แปดห้อง

- ห้องแรก แผ่นดินไทยฟ้ามืด กล่าวถึงการเสด็จถวายพระเพลิงพระบรมศพ เมื่อวันที่ 10 มี.ค.2539

- ห้องที่ 2 ฉันจะเดินทางด้วยเรือลำนี้ แสดงถึงปรัชญาในการดำเนินพระชนม์ชีพ ที่ประกอบด้วยหลักเหตุผล และการสร้างสรรค์ทางศิลปะ

- ห้องที่ 3 ภูมิธรรม ประมวลความสนพระทัยในหลักธรรมคำสั่งสอน

- ห้องที่ 4 หนึ่งศตวรรษ เป็นการเทิดพระเกียรติสมเด็จย่า และเฉลิมฉลองในวาระ 100 ปีแห่งการพระราชสมภพ เมื่อปี พ.ศ.2443 ทั้งนี้ ทรงพระปรีชาชาญ ในการอภิบาลพระธิดา และพระโอรส ที่ต่อมาได้เถลิงถวัลยราชสมบัติ เป็นพระมหากษัตริย์ทั้งสองพระองค์ รวมทั้งทรงนำความรู้ใหม่ๆ มาใช้ในงานบำบัดทุกข์บำรุงสุข ของพสกนิกร จนองค์การยูเนสโก ได้ประกาศพระนามในปฏิทินบุคคลสำคัญของโลก

- ห้องที่ 5 เวลาเป็นของมีค่า กล่าวถึงงานฝีมือต่างๆ ของพระองค์ที่ใช้พระราชทานแก่บุคคลต่างๆ

- ห้องที่ 6 พระมารดาแห่งการแพทย์ชนบทและการสาธารณสุขไทย

- ห้องที่ 7 พระผู้อภิบาล บรรยายถึงความเป็นพระผู้อภิบาลธรรมชาติ

- ห้องที่ 8 ดอยตุงกับการพัฒนาที่ยั่งยืน กล่าวถึงโครงการพัฒนาดอยตุง ที่เป็นโครงการพัฒนาระยะยาว เน้นการอนุรักษ์ธรรมชาติ และคุณภาพชีวิตของประชาชน

- สวนแม่ฟ้าหลวง เป็นสวนดอกไม้เมืองหนาว ในหุบเขา สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2535 เดิมมีพื้นที่ 12 ไร่ มีการปลูกดอกไม้หมุนเวียนสลับให้ออกดอกไม่ซ้ำกันตลอดสามฤดู ล้อมรอบประติมากรรมชื่อ "ความต่อเนื่อง" เป็นรูปเด็กยืนต่อตัวที่กลางสวน นอกจากนี้ ยังจัดแต่งสวนหินซึ่งประดับด้วยหินภูเขากลมเกลี้ยงขนาดใหญ่ สวนน้ำอุดมด้วยไม้น้ำพันธุ์ต่างๆ บัว และสวนปาล์ม ที่รวบรวมปาล์มไว้มากมายในพื้นที่ 13 ไร่ สวนแม่ฟ้าหลวงจึงมีพื้นที่ทั้งสิ้น 25 ไร่



ดอยแม่สลอง จังหวัดเชียงราย

- ข้อมูลทั่วไป

ตั้งอยู่ ต.แม่สลองนอก อ.แม่ฟ้าหลวง เป็นชื่อเรียกรวมๆ ของชุมชนชาวจีนฮ่อ แห่งกองพล 93 ที่ตั้งหลักแหล่งบนดอยแห่งนี้มานานกว่า 40 ปี ปัจจุบันชุมชนชาวจีนบนดอยแม่สลอง มีชื่อว่า หมู่บ้านสันติคีรี ตั้งอยู่ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเล เฉลี่ย 1,200 ม. อากาศเย็นสบายตลอดปี รายได้หลัก มาจากการปลูกชาอู่หลง บ้านสันติคีรี เป็นชุมชนขนาดใหญ่ มีประชากร ประมาณ 800 หลังคาเรือน มีทั้งวัด โบสถ์คริสต์ มัสยิด ระบบไฟฟ้า โทรศัพท์ และธนาคารทหารไทย ที่ให้บริการอย่างสมบูรณ์แบบ

- ประวัติความเป็นมา

- ดอยแม่สลอง เป็นชุมชนของอดีตทหารจีนกองพล 93 สังกัดพรรคก๊กมินตั๋ง ของนายพลเจียงไคเช็ค ทำการรบอยู่ทางตอนใต้ของจีน ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ต่อมาเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในจีน เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์ นำโดยเหมาเจ๋อตุง ยึดอำนาจสำเร็จ พรรคก๊กมินตั๋ง จึงถอยร่นไปปักหลักที่เกาะไต้หวัน กองพล 93 กลายเป็นกองกำลังพลัดถิ่น ถูกกดดันอย่างหนัก จนถอยร่นเข้ามาในเขตพม่า แต่ถูกฝ่ายพม่าผลักดัน เกิดการปะทะกันหลายครั้ง จนต้องถอยร่นมาจนถึงเทือกดอยตุงชายแดนไทย

ฝ่ายพม่าได้ร้องเรียนไปยังสหประชาชาติ เมื่อปี พ.ศ.2496 และมีมติให้อพยพกองกำลังพลัดถิ่นไปยังประเทศไต้หวัน แต่ทหารสังกัดนายพลหลี่เหวินฝาน และนายพลต้วนซีเหวิน ราว 3 หมื่นคน ทำเรื่องขอลี้ภัยในประเทศไทย เนื่องจากไม่แน่ใจในอนาคต เพราะไต้หวันเป็นเพียงเกาะเล็กๆ รัฐบาลไทยอนุญาตโดยจัดสรรให้ทหารของนายพลหลี่เหวินฝาน ไปอยู่ที่ถ้ำง้อบ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ส่วนทหารสังกัดนายพลต้วนซีเหวิน 15,000 คน อยู่บนดอยแม่สลอง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2504 เพื่อใช้เป็นกันชนกับชนกลุ่มน้อย ทำให้ดอยแม่สลองในยุคแรก เป็นดินแดนลี้ลับต้องห้าม มีปัญหายาเสพติด และกองกำลังติดอาวุธมาตลอด ทางการไทยได้พยายามแก้ปัญหา โอนกองกำลังเหล่านี้มาอยู่ในความดูแลของกองบัญชาการทหารสูงสุด

กระทั่งปี พ.ศ.2515 ครม.มีมติรับทหารจีนคณะชาติให้อาศัยในแผ่นดินไทยอย่างเป็นทางการ ยุติการค้าฝิ่น ปลดอาวุธ และหันมาทำอาชีพเกษตรกรรม โดย พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ริเริ่มโครงการปลูกชา และปลูกสนสามใบ เพื่อทดแทนป่า ชุมชนบนดอยแม่สลองได้ชื่อใหม่ เป็นบ้านสันติคีรี มีการออกบัตรประชาชน ให้เมื่อปี พ.ศ.2521 ดอยแม่สลองคืนสู่ความสงบ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญนับแต่นั้นมา

- การเดินทาง

รถยนต์ส่วนตัว เดินทางไปยังดอยแม่สลอง ได้สองเส้นทาง จาก อ.เมืองเชียงราย ใช้ทางหลวงหมายเลข 10 มายัง อ.แม่จัน จากนั้นเลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข 1089 (แม่จัน - ท่าตอน) บริเวณหลัก กม.856 ก่อนถึงทางเข้าตัว อ.แม่จันเล็กน้อย ผ่านน้ำพุร้อนป่าตึง (กม.78) ลานทองวิลเลจ (ระหว่าง กม.73-74) และกม.55 ให้เลี้ยวขวา ไปตามเส้นทางขึ้นดอยคดเคี้ยว อีก 15 กม.

อีกเส้นทางคือ เส้นทางสายเก่า ใช้ทางหลวงหมายเลข 10 แยกซ้ายมือ มีป้ายบอกทางไปดอยแม่สลองชัดเจน เส้นทางสายนี้ ค่อนข้างแคบและคดเคี้ยว ผ่านหมู่บ้านชาวเขาเผ่าต่างๆ เป็นระยะๆ เมื่อถึงบ้านป่าเมี่ยง หลัก กม.10 จะเป็นสามแยกศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา แยกขวาเป็นทางหลวงหมายเลข 1338 ไปพระตำหนักดอยตุง ให้เลี้ยซ้ายตาามทางหลวง 1234 ระยะทาง 25 กม. ผ่านบ้านอีก้อสามแยก ตรงหลัก กม.9 ให้เลี้ยวซ้ายไปอีก 16 กม. จะถึงดอยแม่สลอง

รถประจำทาง นั่งรถสองแถวสีเขียวแก่ สายแม่จัน-ท่าตอน ท่ารถอยู่ในตลาดแม่จัน ลงรถที่ด่านตรวจกิ่วสะไต จากนั้นต่อรถสองแถวจากกิ่วสะไต ไปแม่สลอง เวลาออกไม่แน่นอน แต่จะมีรถมารอรับผู้โดยสารเป็นระยะๆ หรือรอโบกรถเข้าไปก็ได้ หรือใช้บริการรถสองแถวสีฟ้าสายป่าซาง-แม่สลอง บริเวณบ้านป่าซาง มีรถตั้งแต่เช้าตรู่ จนถึง 17.00 น. ขากลับจากแม่สลอง มีรถไม่แน่นอน รถจะรอผู้โดยสารด้านหน้าคุ้มนายพลรีสอร์ท

- สิ่งที่น่าสนใจ

- ชิมชาอู่หลง
ชาเป็นพืชเศรษฐกิจของบ้านสันติคีรี ในพื้นที่ปลูกหลายพันไร่ มีต้นชามากกว่า 2 ล้านต้น ที่นี่จึงมีไร่ชา โรงอบชา และร้านจำหน่ายชาหลายสิบร้านเรียงรายบนถนนสายหลัก ที่ผ่านกลางหมู่บ้าน ชาที่มีชื่อเสียงคือ ชาอู่หลง ซึ่งมีกลิ่นหอมพิเศษ ต้องมีวิธีการดื่มเฉพาะแบบชาวไต้หวัน ร้านจำหน่ายชาทุกร้าน เช่นวังพุดตาล ร้านชานายพลต้วน จะเชิญชวนให้ผู้มาเยือนได้ทดลองชิมชา พูดคุยสอบถามถึงวิธีการชงชา เลือกซื้อหาชา อุปกรณ์ชงชาแบบต่างๆ นอกจากนี้ยังสามารถไปชมไร่ชา การเก็บชา โดยไม่เสียค่าบริการได้อีกด้วย

- ชมดอกซากุระ
เส้นทางเข้าสู่หมู่บ้านสันติคีรี ทั้งด้านกิ่วสะไต และบ้านอีก้อสามแยก จะปลูกต้นนางพญาเสือโคร่งเรียงรายสองข้างทาง เป็นระยะทางกว่า 4 กม. ต้นนางพญาเสือโคร่งจะทิ้งใบจนหมด และผลิดอกสีชมพูพราวไปทั้งต้นในหน้าหนาว ดูราวกับดอกซากุระของญี่ปุ่น สวยงามมาก ต้นนางพญาเสือโคร่งเหล่านี้ เป็นไม้พื้นถิ่นบนดอยทางภาคเหนือ เป็นไม้โตเร็ว นางพญาเสือโคร่งบนดอยแม่สลองนำมาปลูกไว้ในช่วงปี พ.ศ.2525

ช่วงเวลาที่เหมาะสม ระหว่างเดือน ธ.ค. - ก.พ.

- สุสานนายพลต้วน
อยู่บนเนินเหนือหมู่บ้าน แยกขึ้นไปทางด้านข้างคุ้มนายพลรีสอร์ต ประมาณ 1 กม. สร้างเมื่อปี พ.ศ.2523 แท่นหินอ่อนบรรจุร่างนายพลต้วนซีเหวิน อยู่ภายในศาลาเก๋งจีนขนาดใหญ่ สีขาว พื้นปูหินอ่อน ด้านหลังแท่นบรรจุศพ มีภาพถ่ายเก่าแก่เกี่ยวกับประวัติและผลงาน ด้านหน้าเป็นลาดเนิน มีตัวอักษร "ต้วน" ภาษาจีน สีทองบนพื้นสีฟ้า

- สุสานนายพลต้วนอยู่บนเนินที่ระดับความสูงประมาณ 1,300 ม. สามารถมองเห็นบ้านสันติคีรีในหุบต่ำลงไปเบื้องล่าง เป็นจุดชมทิวทัศน์ของหมู่บ้านที่ดีจุดหนึ่ง ด้านหน้ามีร้านชาสองร้าน ซึ่งจะเชิญชวนให้ผู้มาเยือนได้ทดลองชิมชา

- พระบรมธาตุเจดีย์ศรีนครินทราสถิตมหาสันติคีรี
ตั้งอยู่บนยอดสูงสุดที่ระดับความสูง 1,500 ม. เหนือหมู่บ้านสันติคีรี ห่างจากหมู่บ้าน 4 กม. มีถนนลาดยางตัดขึ้นไปยังพระบรมธาตุฯ แต่ถนนสูงชัน คดเคี้ยวมาก

- พระบรมธาตุฯ สร้างแล้วเสร็จเมื่อราวปี พ.ศ.2539 เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จย่า เป็นเจดีย์แบบล้านนาประยุกต์ บนฐานสี่เหลี่ยมลดชั้น สูงประมาณ 30 ม. ฐานกว้าง ด้านละประมาณ 15 ม. ประดับกระเบื้องสีเทา มีซุ้มจระนำด้านละสามซุ้ม เรือนธาตุประดับพระพุทธรูปยืนสี่ทิศ องค์ระฆังประดับแผ่นทอง แกะสลักลวดลาย ใกล้กับองค์เจดีย์เป็นวิหารแบบล้านนาประยุกต์

- ที่ตั้งของพระบรมธาตุฯ เป็นจุดสูงสุดของเทือกดอยแม่สลองจึงชมทิวทัศน์ได้กว้างไกล โดยเฉพาะในยามเย็น ขณะเดียวกัน องค์พระธาตุยังเด่นเป็นสง่า มองเห็นแต่ไกล เป็นสัญลักษณ์อีกอย่างของดอยแม่สลอง


ดอยวาวี จังหวัดเชียงราย

- ข้อมูลทั่วไป

ตั้งอยู่ หมู่ 1 ต.วาวี อ.แม่สรวย เป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ ของชาวจีนฮ่อ สังกัดกองพล 93 บนไหล่ดอยระดับความสูง 1,000 เมตร ส่วนใหญ่มีอาชีพปลูกชา

- ประวัติความเป็นมา

เป็นหมู่บ้านที่ทหารกองทัพที่ 5 สังกัดกองพล 93 อพยพเข้ามาลงหลักปักฐานในช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่ดอยแม่สลอง เมื่อราว พ.ศ.2504 หมู่บ้านวาวีเป็นหมู่บ้านเล็กกว่าหมู่บ้านสันติคีรี บนดอยแม่สลอง แต่ยึดอาชีพปลูกชาพันธุ์พื้นเมืองมาก่อน เนื่องจากละแวกดอยวาวี มีชาป่าขึ้นกระจายอยู่ทั่วไป ชาป่าเป็นชาพันธุ์พื้นเมือง หรือที่เรียกว่า ชาพันธุ์อัสสัม คนเหนือนำไปหมัก ทำเมี่ยง หรือไปชงเป็นชาแดง แต่ไม่หอมเท่าชาอู่หลง และให้ผลผลิตไม่ดี อีกทั้งตั้งอยู่บนดอยห่างไกล ผลผลิตเมื่อนำออกสู่ตลาด จึงมีราคาสูง ส่งขายสู้คู่แข่งไม่ได้ ชาววาวีไม่น้อย จึงหันไปทำสวนผลไม้ ได้แก่ ลิ้นจี่และส้ม ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ชาพันธุ์ชิงชิง และชาเบอร์ 12 จากไต้หวันได้ถูกนำมาปลูกบนดอยแม่สลอง เพื่อผลิตเป็นชาอู่หลง และได้รับความนิยม ชาวบ้านบนดอยวาวี จึงเริ่มหันมาปลูกชาพันธุ์ใหม่แทนพันธุ์พื้นเมืองกันมากขึ้น

- การเดินทาง

- รถยนต์ส่วนตัว
ใช้เส้นทางเดียวกับทางไปดอยช้าง แต่ขับไปตามถนน รพช. บ้านตีนดอย - บ้านใหม่หมอกจ๋าม ระยะทาง 55 กม. ช่วง 22 กม. แรก เป็นทางลาดยาง คดเคี้ยวขึ้นดอย ผิวถนนเป็นหลุมบ่อ ผ่านทางแยกขึ้นดอยช้าง บ้านทุ่งพร้าว บ้านห้วยไคร้ จากนั้นเป็นถนนลูกรัง อีก 13 กม. จนถึงบ้างโป่งกลางน้ำ จากนั้น เป็นทางลาดยางอีก 20 กม. ผ่านด่านตรวจของ ตชด. ที่ 237 รร.วาวีวิทยาคม หมู่บ้านวาวีอยู่ซ้ายมือ เป็นชุมชนใหญ่เห็นได้ชัดเจน

- รถประจำทาง
มีรถสองแถวสีเหลืองสายแม่สรวย -วาวี ท่ารถอยู่หน้าที่ว่าการ อ.แม่สรวย มีรถตั้งแต่ 08.00-17.00 น. เวลาออกแล้วแต่จำนวนผู้โดยสาร ค่าโดยสาร 50 บาท เที่ยวกลับมีรถออกจากบ้านวาวี ท่ารถอยู่หน้าร้านชาศิริภัณฑ์ มีรถตลอดวัน

- สิ่งที่น่าสนใจ

- ชิมชา
ละแวกหมู่บ้านวาวี มีร้านจำหน่ายชาเพียงร้านเดียว คือห้างใบชาศิริภัณฑ์ (โทร.053-760-094) เจ้าของเป็นชาวจีนฮ่อ ที่มีอัธยาศัยดี ผู้มาเยือนมักใช้ร้านชาแห่งนี้เป็นที่พักผ่อน จิบน้ำชา และสอบถามข้อมูลท่องเที่ยวในละแวกดอยวาวี ชาอู่หลงจากดอยวาวีมีกลิ่นหอม แต่มีรสฝาดกว่าชาที่ดอยแม่สลองเล็กน้อย

นอกจากชาอู่หลงแล้ว ร้านใบชาศิริภัณฑ์ ยังมีไวน์จากชาอู่หลงจำหน่ายด้วย โดยหมักใบชากับน้ำผึ้ง ได้ไวน์ที่มีกลิ่นหอม สนนราคาขวดละ 150 บาท แต่มีปริมาณไม่มากนัก

- ดอยเลาลี
การเดินทาง ใช้ถนน รพช. ไปบ้านใหม่หมอกจ๋าม ผ่านบ้านวาวีไปอีก 4 กม. เป็นทางลูกรัง ผ่านไร่ชาบนภูเขา เลารีรีสอร์ตอยู่ขวามือ เป็นดอยเล็กๆ ระดับความสูงประมาณ 1,300 ม. จากระดับน้ำทะเล เป็นที่ตั้งของเลาลีรีสอร์ต ที่พักเพียงแห่งเดียวในละแวกดอยวาวี เลาลีเป็นชื่อของอดีตทหารสังกัดกองพล 93 ที่มาหักร้างถางพงบนที่ดินในหุบเขา และยอดดอยเตี้ยๆ ห่างจากบ้านวาวีประมาณ 4 กม. เพื่อทำไร่ชา บริเวณนี้มีไร่ชาปลูกลดหลั่นตามลาดเขา มีทิวทัศน์สวยงามมาก


ที่พัก เลาลี รีสอร์ต เลขที่ 15 หมู่ 20 ต.วาวี อ.แม่สรวย จ.เชียงราย 57180 โทร. 053-760151-2

- ชมทะเลหมอกดอยกาดผี
เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของ อ.แม่สรวย ดอยกาดผีเป็นชะง่อนผาที่ระดับความสูงประมาณ 1,500 ม. อยู่บนเทือกดอยช้าง ในหน้าหนาวอากาศเย็นจัดมองเห็นสายหมอก ก่อตัวที่หุบเบื้องล่าง มีทิวทัศน์สวยงามมาก ไม่แพ้จุดชมทะเลหมอกที่ภูชี้ฟ้า แต่เส้นทางไปค่อนข้างทุรกันดาร ระยะทางเกือบ 20 กม. จากดอยเลาลี ต้องใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อเท่านั้น วิธีที่สะดวกที่สุด คือ ติดต่อเลาลี รีสอร์ต ซึ่งมีทัวร์แบบวันเดียว ไปชมทะเลหมอกที่ดอยกาดผี และไร่ชากลางหุบเขาในฤดูหนาว เส้นทางไปยังดอยกาดผี จะผ่านบ้านชาวเขาเผ่าอาข่า และเผ่าเย้า ซึ่งยังคงขนบธรรมเนียมประเพณีของชนเผ่า


เชียงราย เชียงราย เชียงราย เชียงราย เชียงราย เชียงราย

0 ความคิดเห็น: